วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฮาเวิร์ด ไพลี นักวาดภาพประกอบศตวรรษที่ 19



นอกจากเป็นนักวาดภาพประกอบคนสำคัญแล้ว ฮาเวิร์ด ไพลี ยังเป็นนักเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่โดดเด่น คนหนึ่ง

เขาเกิดที่วิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา ไม่ปรากฏว่าเขาศึกษาเล่าเรียนศิลปะมาจากไหน ทว่าในปี 1894 เขาเริ่มสอนวาดรูปในสถาบันศิลปะ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมเดร็กเซล (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยเดร็กเซล) ที่ฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย พอปี 1900 ฮาเวิร์ดก็ได้ฤกษ์ตั้งโรงเรียนสอนศิลปะและการวาดภาพประกอบของตัวเอง ชื่อว่า โรงเรียนศิลปะภาพประกอบฮาเวิร์ด ไพลี (Howard Pyle School of Illustration Art)

ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นโรงเรียนแบรนดีไวน์ (Brandywine School) เมื่อศิลปินนักวาดภาพประกอบท้องถิ่นแบรนดีไวน์ อย่าง ครอบครัวไวเอธมาเข้าร่วม โดยได้ผลิตศิลปินที่มีชื่อเสียงออกมาหลายคน ไม่ว่าจะเป็น โอลีฟ รัช เอ็น. ซี. ไวเอธ แฟรงก์ ชูนโนเวอร์ เอเลนอร์ แอบบ็อตต์ แล้วก็ เจสซี วิลล์คอกซ์ สมิธ

ในปี 1883 ฮาเวิร์ดได้สร้างผลงานสุดคลาสสิก The Merry Adventures of Robin Hood ซึ่งยังมีการพิมพ์ออกจำหน่ายอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับหนังสือที่เขาเขียน โดยส่วนมากจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับยุโรปในยุคกลาง เช่น King Arthur หนังสือชุด 4 เล่มเกี่ยวกับกษัตริย์อาร์เธอร์ และ Otto of the Silver Hand ฯลฯ

ฮาเวิร์ดเดินทางไปยังเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อที่จะศึกษาการวาดภาพเขียนผนัง ในขนบแบบการวาดภาพทางศาสนา ในปี 1910 แต่เรียนอยู่ได้ปีเดียว เขาก็เสียชีวิตจากโรคไตวายเฉียบพลัน

ผลงานส่วนใหญ่ของฮาเวิร์ด ไพลี มีให้ชมทั้งที่หอศิลป์แบรนดีไวน์และหอศิลป์เดลาแวร์ ส่วนที่เห็นในภาพนี้เป็นภาพวาดประกอบบางส่วนในชุด History of American People ทั้งหมด 22 ภาพ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประชาชน เนวิลล์ ในเบย์เคาน์ตี เมืองกรีนเบย์ รัฐวิสคอนซิน

ภาพประกอบชุดนี้เคยอยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์อเมริกันชน และบทความในหนังสือฮาร์เปอร์ส ของ วู้ดโรว์ วิลสัน สมัยที่ยังสอนอยู่มหาวิทยาลัยพรินซ์สัน ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

ฮาเวิร์ดอาศัยเทคนิคโมโนโครม (ภาพโทนสีเดียวไล่เฉดขาว เทา ดำ) อันเป็นเทคนิคที่นิยมกันในภาพวาดสมัยยุโรปยุคกลาง และยังเป็นผลดีต่อการพิมพ์หนังสือ โดยสามารถพิมพ์ซ้ำได้หลายๆ ครั้ง

ระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่ ฮาเวิร์ดได้การยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องของการเป็นนักวาดภาพประกอบ รวมทั้งจิตรกรมากฝีมือคนหนึ่ง โดยมีผลงานมากมายในนิตยสารและพ็อกเกตบุ๊กส์ ของค่ายฮาร์เปอร์สหลายฉบับ แม้กระทั่งจิตรกรร่วมสมัยเดียวกับเขา คือ วินเซนต์ ฟาน โกห์ ยังต้องพูดถึงฮาเวิร์ดในจดหมายถึงเธโอ พี่ชายของเขาเลย ...

"ผมชื่นชอบงานของเขาจริงๆ"

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สติลไลฟ์สีจาง ของ จอร์โจ โมรันดิ



ถ้าให้จัดอันดับ 10 สุดยอดภาพเขียนของศิลปินศตวรรษที่ 20 ซึ่งคนมีรสนิยม (ดี) ทางศิลปะในโลกนี้ต้องการเป็นเจ้าของ 1 ใน 10 ภาพนั้นจะต้องบรรจุ รายนามของ ภาพสติลไลฟ์ (Still Life) ฝีมือศิลปินอิตาเลียน จอร์โจ โมรันดิ เอาไว้ อย่างแน่นอน

ศิลปินระดับมาสเตอร์ของศตวรรษที่ 20 โด่งดังไม่แพ้ โปล เซซาน และ ฌอง-บัปติสต์ ซิเมยง ชาร์แดง โดยเฉพาะภาพสติลไลฟ์และแลนด์สเคป

เขาเกิดในปี 1890 ที่เมืองโบโลนยาของอิตาลี มีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก และได้รับการศึกษาในสถาบันศิลปะชั้นดี อย่าง อะคาเดเมีย ดิ แบลเล อาร์ติ ผลงานในช่วงแรกๆ ที่จอร์โจผลิตออกสู่โลกศิลปะแสดงชื่อชั้นของเขาให้เห็นความสามารถระดับยอดศิลปินแห่งยุค อย่าง โปล เซซาน และมีแนวโน้มจะข้ามไปสู่คิวบิสม์ ด้วยกลิ่นอายในสไตล์แบบฟิวเจอริสม์

ในปี 1914 จอร์โจได้งานสอนวาดรูปให้เด็กประถมในโบโลนยา ซึ่งเขาทำอยู่จนกระทั่งปี 1929 ปัจจุบันสตูดิโอของเขาในโรงเรียนประถมแห่งดังกล่าว จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงบรรยากาศการทำงานสอนหนังสือของจิตรกรชาวอิตาเลียนเลื่องชื่อรายนี้ด้วย

จอร์โจถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารในปี 1915 แต่ได้รับบาดเจ็บจนต้องกลับมารักษาตัว และไม่สามารถกลับไปรับใช้ชาติได้อีกต่อไป ระหว่างนั้น เขากลับมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างจริงจังอีกครั้ง

จอร์โจไม่วาดอะไรนอกจากสติลไลฟ์ ผลออกมาเป็นภาพซึ่งมีรายละเอียดที่เหมือนจริงน้อยลงทุกที ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดในภาพ สีสัน หรือการจัดวางองค์ประกอบของภาพ แทนที่จะเป็นภาพเหมือนสิ่งของหรือผลไม้อย่างที่เคยเห็นกัน กลายเป็นภาพที่แสดงรูปทรง โครงร่าง ในสีสันอันซีดจาง อันเป็นสไตล์ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร

ภายหลัง จอร์โจ โมรันดิ เปลี่ยนมาทดลองวาดภาพในแนวเมตาฟิสิคอล อันเป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่สำคัญในสายเซอร์เรียลลิสม์ของศิลปะอิตาเลียน ที่เรียกว่า ปิตตูรา เมตาฟิสิกา (Pittura Metafisica) เป็นลักษณะภาพเหนือจริงที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในความฝัน ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างจากภาพสติลไลฟ์สีหม่นปนเทาของเขาสักเท่าไร

จอร์โจเป็นศิลปินคนสำคัญในเทศกาลโนเวเชนโต อิตาเลียโน ในปี 1926 และ 1929 แต่ที่โดดเด่นกว่าก็คือ ผลงานที่รวมกลุ่มกับศิลปินท้องถิ่น สตราปาเอเซ เมื่อปลายทศวรรษที่ 1930 ณ ยุครุ่งเรืองของรัฐบาลฟาสซิสต์

ระหว่างปี 1930–1956 จอร์โจ โมรันดิ เป็นศาสตราจารย์ด้านภาพพิมพ์หินอยู่ที่อะคาเดเมีย ดิ แบลเล อาร์ติ ที่เดียวกับที่เขาจบการศึกษา ในปี 1948 เขาได้รับรางวัลทางด้านภาพเขียนเป็นครั้งแรกในชีวิต จาก เวนิซเบียนนาเล

จอร์โจเดินทางไปปารีสครั้งแรกในปี 1956 แม้จะเคยได้รับการเชื้อเชิญจากศิลปินฝรั่งเศสบ่อยครั้ง โดยเฉพาะจาก โปล เซซาน และ อองรี รุสโซ ที่ชื่นชอบผลงานของเขา และปีต่อมาเขาได้รางวัลสูงสุดของเทศกาลศิลปะเซาเปาโล เบียนนาเล ไปอีกรางวัล

ตลอดชีวิตบนเส้นทางศิลปะ เขาสร้างสรรค์ภาพสติลไลฟ์และแลนด์สเคปไว้มากมาย พอๆ กับภาพที่เรียกว่าเป็นงาน "หาเลี้ยงชีพ" โดยเป็นภาพพิมพ์หิน กับอีกส่วนน้อยที่เป็นภาพพอร์เทรต

สิ่งที่โดดเด่นมากในภาพสติลไลฟ์ของเขาก็คือการเล่นกับโทนสี รูปทรง และ องค์ประกอบที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้ภาพของเขาดูน่าสนใจ มากไปกว่าการเป็นแค่ขวดและแจกันใบเดิมๆ

สไตล์ของศิลปินอิตาเลียนคนดัง มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า มินิมัลลิสม์ (Minimalism) ในเวลาต่อมา

แยน ฟาน เดอร์ ฮีย์เดน ดา วินชี แห่งฮอลแลนด์


เมื่อไม่นานมานี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในรอบ 70 ปี ของศิลปินชาวดัตช์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "Dutch Da Vinci" หรือ ดา วินชี ชาวดัตช์ขึ้นที่ หอศิลป์ริกส์มิวเซียม กลางกรุงอัมสเตอร์ดัม นับจากปี 1937 ที่มีการจัดแสดงงานของศิลปินผู้นี้เป็นครั้งสุดท้าย

เหตุที่ แยน ฟาน เดอร์ ฮีย์เดน ได้รับการยกย่องประหนึ่งจิตรกรเอกของโลก อย่าง ลีโอ นาร์โด ดา วินชี ก็เป็นเพราะว่า เขาคือศิลปินที่ โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 17 โดยผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเขา ถ่ายทอดภาพบ้านเมืองและภาพชีวิตของชาวดัตช์ในยุคนั้นออกมาทางภาพแลนด์สเคป โดยเฉพาะในช่วงที่ แยน มีชีวิตอยู่ (ระหว่าง 1637-1712) นั้น ภาพแลนด์สเคปของแยนได้บันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองเนเธอร์แลนด์ในช่วงยุคทองเอาไว้มากมาย ภาพศูนย์กลางเมืองในอดีต รวมถึงทัศนียภาพ คู คลองต่างๆ นอกจากจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นงานจิตรกรรมที่ประเมิณค่าไม่ได้

สิ่งที่ทำให้ แยน ฟาน เดอร์ ฮีย์เดน มีส่วนพ้องกับ ลีโอนาร์โด ดา วินชี อีกอย่างก็คือ การที่เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จด้วย ซึ่งจุดนี้ทำให้แยนกลายเป็นเศรษฐี โดยสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างชื่อให้เขาก็คือ อุปกรณ์ดับเพลิง ที่ช่วยให้พนักงานดับเพลิงสามารถรับมือกับเพลิงไหม้บ้านที่สร้างไม้ได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา นอกจากนี้ เขายังเป็น ผู้ออกแบบโคมไฟ ซึ่งปัจจุบันยังคงประดับประดาถนนในกรุงอัมสเตอร์ดัมให้สวยงาม และสว่างไสว

"ไฟ" นี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวดัตช์รุ่นหลัง นำภาพเขียนสำคัญของแยนมาจัดนิทรรศการเดี่ยว "Fire!".

ณ ปัจจุบันมีอาคารไม้โบราณยังคงเหลือสืบทอดมาถึงลูกหลานชาวดัตช์เพียง 2 หลังเท่านั้น ภาพวาดเมืองเก่าจำนวนมากของแยน ฟาน เดอร์ ฮีย์เดน จึงมีคุณค่าอย่างมากต่อคนรุ่นหลังๆ ซึ่งภาพในชุดที่จัดแสดง นอกจากจะเป็นอาคารไม้ และอาคารอื่นๆ ที่สวยงามและทรงคุณค่า ยังมีภาพ ดรอว์อิง และเพนติงส่วนหนึ่งที่เล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญ อย่าง การเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในกรุงอัมสเตอร์ดัมด้วย

สำหรับในการทำงานแลนด์สเคป แยน มี แบบอย่างเป็นจิตรกรชาวเวนิซ (อิตาเลียน) อย่าง กานาเล็ตโต (โจวานนี อันโตโน กานาล) ซึ่ง วาดภาพแทบทุกกระเบียดนิ้วของกรุงเวนิซเอาไว้ เช่นเดียวกับภาพเมืองเก่าแห่งอัมสเตอร์ดัมแทบ ทุกมุมมอง ที่บันทึกเอาไว้ใต้ปลายพู่กันของ แยน ฟาน เดอร์ ฮีย์เดน ซึ่งในนิทรรศการเดี่ยว 70 ดังกล่าว ที่จัดวางตามผังเมืองหลวงของ เนเธอร์แลนด์นั้น สังเกตได้ว่า แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย ยกเว้นตึกรามบ้านช่องหลายแห่ง ที่หายไปในกองเพลิง

แยน ฟาน เดอร์ ฮีย์เดน เป็นศิลปินในยุค บาโร้ก จะว่าไปแล้ว การวาดภาพเหมือนจะเป็น งานอดิเรก หรือสิ่งที่เป็นส่วนประกอบในงาน นักประดิษฐ์ และงานออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ของเขาเสียมากกว่า เขาหัดวาดภาพส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะวาดเขียนเป็น และสามารถออกแบบ สิ่งประดิษฐ์ที่ต้องการออกมาได้ดั่งใจ

ด้วยความที่เขามีวิญญาณของศิลปิน และสถาปนิกอยู่ในตัว ทำให้เขาเริ่มจากการเพนต์อาคาร ก่อนที่จะมาสนใจบันทึกสิ่งเหล่านั้นลงบนผืนผ้าใบ

แยน ยังเป็นนักเดินทาง นอกจากอาคารสวยๆ ในอัมสเตอร์ดัมที่เขาบันทึกเอาไว้ในภาพจิตรกรรม เขายังได้วาดอาคาร สถานที่ รวมทั้งโบสถ์วิหาร ที่งดงามหลายแห่ง ในกรุงเฮก และเกนต์ของ เนเธอร์แลนด์ รวมทั้ง บรัสเซลส์ ของเบลเยียม แถมยังข้ามแม่น้ำไรน์ ไปวาดรูปของเมืองซานเทน และโคโลญ ที่เยอรมนีอีกด้วย

สิ่งที่ปรากฏในภาพเป็นแนวเสมือนจริง ตั้งแต่ท้องฟ้า เมฆ แสงอาทิตย์ที่ทาบทามายังอาคารสถานที่ รวมทั้ง ผู้คนที่อยู่ในภาพนั้นดูราวกับมีชีวิต และเคลื่อนไหวได้ คล้ายกับการจำลองชีวิตจริงๆ เอาไว้ในจิตรกรรมแต่ละชิ้นทีเดียว

ในนิทรรศการ Fire! นั้น ปีเตอร์ โรลอฟส์ ภัณฑารักษ์ของริกส์มิวเซียม บอกว่า ได้พยายามรวบรวมผลงานที่ดีที่สุดของแยน ฟาน เดอร์ ฮีย์เดน ที่จะสามารถหาได้จากทั่วโลกมารวมเอาไว้

ฌอง-บัปติสต์-กามิลล์ โกโรต์ ต้นตำรับ ภาพแลนด์สเคป



ในวัย 26 ปี ฌอง-บัปติสต์-กามิลล์ โกโรต์ ตัดสินใจทิ้งอาชีพเดิมที่ทำอยู่ เพื่อมาเป็นจิตรกร และก็สามารถสร้างความตื่นตะลึงให้วงการในทันใด ด้วยภาพเขียนแลนด์สเคปอันโดดเด่น จนกลายเป็น 1 ใน 5 หรือ 6 จิตรกรสาขาแลนด์สเคป ที่โลกต้องจารึก ร่วมกับ เมียนเดิร์ต ฮอบเบมา (ดัตช์) โคล้ด ลอร์แรน (ฝรั่งเศส) จอห์น มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ (อังกฤษ) จอห์น คอนสเตเบิล (อังกฤษ)

ฌอง เกิดที่กรุงปารีส ในปี 1796 ณ บริเวณที่ขณะนี้อยู่ติด หอไอเฟล ครอบครัวของเขาเป็น ขุนนาง และไม่ชื่นชมกับพรสวรรค์ในด้านศิลปะของเขาเท่าไรนัก

ตลอดทั้งชีวิต ฌองไม่เคยมีความรู้สึกต้องการทำอะไรเพื่อเงินมาก่อน หลังจบการศึกษาที่เมืองโครน เขาก็เข้ารับการฝึกให้เป็น พ่อค้า ทว่าเขารังเกียจเล่ห์กลโกงในแวดวงธุรกิจ และเมื่อบิดาของเขาเห็นชอบด้วยเขาจึงเบนเข็มไปฝึกฝนทางด้านศิลปะทันที

ฌองอาศัยอยู่ในกรุงปารีส ทว่าเขาเดินทางไปทั่วประเทศฝรั่งเศส เพื่อสเกตช์ภาพธรรมชาติ และนำกลับมาวาดให้สำเร็จเป็นรูปภาพ ณ สตูดิโอของเขา นอกจากการเดินทางไปทั่วฝรั่งเศสแล้ว เขายังไปเยือนอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลีหลายต่อหลายครั้ง ตลอดระยะเวลาของชีวิต มีคนเดียวที่คอยวิพากษ์วิจารณ์งานภาพเขียน ของเขา และทำให้องยอมรับได้ นั่นคือ อาชิลล์-เอตนา มิชัลยง ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เรียนอย่างเป็นแบบแผนมากนัก แต่อาศัยการศึกษาด้วยตัวเองมากกว่า

ฌองไม่เคยรู้สึกสบายเนื้อสบายตัวเมื่ออยู่บ้านในกรุงปารีส ด้วยเพราะอุดมคติที่ได้มาจากโรงเรียนสอนศิลปะแลนด์สเคป บาร์บิซง (โรงเรียนสอนศิลปะแลนด์สเคปอย่างไม่เป็นทางการ) ซึ่งนิยมจะหนีออกไปชื่นชมกับ ทิวทัศน์ในชนบทมากกว่าสังคมเมือง นอกจากนี้ เขายังนิยมขนบในโรงเรียนสอนศิลปะฝรั่งเศส มากกว่าอังกฤษ และฮอลแลนด์ ที่เริ่มจะเฟื่องฟูขึ้นในยุคนั้น

เขาไม่เคยหยุดสร้างสรรค์องค์ประกอบภาพ ขึ้นจากภาพสเกตช์ธรรมชาติที่ได้มาจากที่ต่างๆ จนกระทั่งทำให้เกิดเป็นภาพเขียนทิวทัศน์ หรือภาพแลนด์สเคปที่เป็นต้นแบบของศิลปะสมัยใหม่ ที่ดูแล้วคล้ายบทกวีมากกว่าที่จะเขียนเรื่องราวความเป็นไปของชีวิตที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง

ฌอง-บัปติสต์-กามิลล์ โกโรต์ เริ่มจัดแสดงงานของเขาในซาลงต่างๆ ตั้งแต่ปี 1827 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยเพราะรูปแบบ ที่แตกต่างจากศิลปินท่านอื่นๆ ผู้คนได้ย้อน รำลึกถึงภาพที่มีลักษณะเป็นแบบแผนเช่นในยุคโรแมนติก ภายใต้เทคนิคร่วมสมัย ที่สามารถสร้างสรรค์ภาพออกมามีความนุ่มนวล ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างคอนทราสต์ในภาพด้วยการใช้แสงจ้า ดึงความสนใจกลายเป็นจุดเด่นของ ภาพเขียน

ในช่วงปลายของชีวิตจิตรกรเอก เริ่มสนใจวาดภาพแลนด์สเคปในแนวจินตนาการ มากยิ่งขึ้น คล้ายกับว่าได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลก ของเทพนิยาย นอกจากนี้ ภาพนู้ดของผู้หญิงก็เต็มไปด้วยจินตนาการคล้ายเธอไม่มีอยู่จริง ผลงานในช่วงปลายของเขาไม่ค่อยเป็นที่นิยม มากนัก หากเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลัง ที่ชื่นชอบวาดภาพแนวแลนด์สเคป

ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ฌองไม่เพียงได้การยอมรับในฐานะศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น หากเขา ยังได้รับขนานนามว่า เป็นคนที่มีจิตใจดีมากๆ คนหนึ่ง นอกจากจะคอยให้ความช่วยเหลือภรรยาม่ายของ ฌอง-ฟร็องซัวส์ มิลเยต์ เพื่อนของเขา ที่โรงเรียนบาร์บิซงแล้ว เขายังยกกระท่อมหลังหนึ่งให้ ออนอเร โดมีเยร์ ที่ตาบอดและช่วยตัวเองไม่ได้อีกด้วย

หลังจากที่เขาเปลี่ยนแนวในการวาดภาพ และเริ่มไม่ได้การยอมรับ ไม่นานเขาก็เสียชีวิต ที่กรุงปารีส โดยร่างของเขาได้รับการฝังอยู่ที่สุสานแปร์ ลาแชส

ตำนานของเขายังไม่จบลงง่ายๆ ยังมีกลุ่มคนที่ดำเนินรอยตามวิธีการวาดภาพแลนด์สเคป โดยการเรียนด้วยตัวเอง ชื่อว่า กลุ่มนักเรียน โกโรต์ ต่อมาอีกหลายยุคหลายสมัย

แสงเงา ใน ภาพถ่าย ลูเซียง เคลิร์ก



ลูเซียง เคลิร์ก อายุเพียง 15 ปี ขณะที่เขาเริ่มต้นชีวิตการเป็นช่างภาพอาชีพในปี 1953 โดยบุคคลที่เขาถ่ายภาพให้เป็นคนแรก ก็คือ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน ปาโบล ปิกัสโซ โดยถ่ายทำกันที่โรมันอารีน่า ณ เมืองอาร์กเลส ประเทศฝรั่งเศส บ้านเกิดของลูเซียงเอง

ความสนิทสนมของเขาต่อศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้นี้ ดำเนินมาตลอดระยะเวลาแห่งชีวิตของยอดศิลปินในปี 1973

อาชีพช่างภาพของลูเซียง เคลิร์ก ดำเนินไป ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี ในปี 1955 เขาพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส ด้วยการถ่ายภาพซีรีส์คนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า โดยมีฉากหลังเป็นซากปรักหักพังของเมืองอาร์กเลส ที่นับว่าเสียหายอย่างยิ่งในสงครามมหาเอเชียบูรพา ถึง 1,500 ภาพ ซึ่งทำให้เขาเป็นที่จับตาในฐานะคลื่นลูกใหม่ไปด้วย

ปีต่อมา ลูเซียงเริ่มถ่ายสิ่งที่เขาอยากจะถ่าย ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา ได้แก่ ภาพนู้ดชายทะเล ซึ่งแสงเงาในภาพถ่ายของเขาทำให้เอวองค์ของหญิงสาวนั้นกลมกลืนราวกับเป็นเนินทรายของชายหาด

Corps Memorables หนังสือรวมภาพถ่ายนู้ดชายทะเลของเขาออกมาในปี 1957 ในเล่มมีบทกวีของ ปอล เอลูอารด์ ประกอบภาพให้อ่านเพลิน

หลังจากนั้น ลูเซียงหันไปทดลองถ่ายภาพสิ่งอื่นๆ ที่เขาสนใจ อย่าง การชนวัว ถ่ายภาพสัตว์ตาย รวมทั้งดินแดนอันรกร้างของแคว้นโปรวองซ์ กระทั่งปี 1970 เขากลับมาถ่ายภาพนู้ดอีกครั้ง คราวนี้ฉากหลังเป็นป่า ดูเหมือนภาพนู้ดจะกลายเป็นสิ่งที่เขาสนใจและกลายเป็นสัญลักษณ์ของเขาไปแล้ว ในปี 1975 เขาเปลี่ยนฉากหลังเป็นเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองที่ดูทันสมัย ซึ่งลูเซียงอาศัยภาพสะท้อนของอาคารกระจก และพื้นผิวโลหะสร้างเมืองที่ดูคล้ายกับจินตนาการ

การได้รู้จักคบหากับ ปาโบล ปิกัสโซ มีส่วนช่วยลูเซียงมากทีเดียว นอกจากปาโบลจะแนะนำเขามากมายในมุมมองของการถ่ายภาพแล้ว ยังแนะนำให้เขาได้รู้จักกับศิลปินร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส อย่าง อง ค็อกโต ซึ่งทำให้ทั้งคู่ได้ร่วมงานกันแถมยังได้สร้างเครือข่ายศิลปินด้วยกันออกไป อีกมาก

ลูเซียง เคลิร์ก เข้าเรียนวิชาดนตรี และต่อปริญญาเอกทางด้านภาษาฝรั่งเศส ณ มหาวิทยาลัยโปรวองซ์ ในมาร์กเซยล์ส หลังจากนั้นเขาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแห่งโปรวองซ์และในนิวยอร์ก นอกจากนั้น เขายังสอนและจัดเวิร์กช็อปวิชาถ่ายภาพให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก พร้อมๆ ไปกับการแสดงผลงานงานเดี่ยวกว่า 120 นิทรรศการ รวมทั้งที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย หรือโมมา และพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งกรุงนิวยอร์ก หรือเดอะ เม็ต เช่นเดียวกับที่ โมเดิร์น มูซีต กรุงสต็อกโฮล์ม ศูนย์ศิลปะ ร่วมสมัยปอมปิดู กรุงปารีส สถาบันศิลปะ กรุงชิคาโก อิล ดาฟรัมมา ในมิลาน ชาได แกลเลอรี ในโตเกียว ฯลฯ

เขาได้ร่วมงานถ่ายภาพยนตร์ของ ฌอง ค็อกโต เรื่อง Le Testamend d'Orphee โดย ในปี 1965 ลูเซียง เริ่มสร้างภาพยนตร์อาร์ตผลงานตัวเอง โดยมีผลงาน อย่าง Manitas de Plata (1968), Picasso, de Guernica aux Mousquetaires (1969) และ La Foret Calcinee (1970) ออกมา

ในปี 1969 ลูเซียงก่อตั้งแผนกภาพถ่าย ที่พิพิธภัณฑ์เรตตู ในอาร์กเลส บ้านเกิดของตัวเอง ร่วมกับ ชี. แอม. รูแกตต์ ด้วยหวังให้เป็น ศูนย์กลางแห่งศิลปะภาพถ่ายของโลก โดยได้จัดเทศกาลแห่งภาพถ่าย เทศกาล Les Recontres Internationales de la Photographie ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความตั้งใจของเขา

ลูเซียงได้ชื่อเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเทศกาลศิลปะนานาชาติเมืองอาร์กเลส พร้อมๆ กับการฉลอง 30 ปีในการก่อตั้งแผนกภาพถ่ายขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เรตตู และเทศกาลภาพถ่ายนานาชาติ Les Recontres Internationales de la Photographie ในปี 1999

นอกจากรางวัลเชิดชูเกียรติของประเทศฝรั่งเศสแล้ว เขายังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับท้องถิ่นจากเมืองอาร์กเลสในปี 2003 อันเป็นรางวัลที่มอบให้ในนามของกระทรวงวัฒนธรรม สืบเนื่องมาตั้งแต่ ปี 1802 ในสมัยจักรพรรดิ นโปเลียน โดยช่างภาพร่วมสมัยที่ได้รางวัลนี้มีไม่มากนัก อย่าง อองรี การ์ติเยร์-เบรสซง และ อองเดร แคร์กเตสซ์

เทศกาล Les Recontres Internationales de la Photographie ปัจจุบันเป็นเทศกาลแสดงภาพถ่ายที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

ทิวทัศน์แห่งเวนิซ ของ จอห์น มอลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์





ผลงานมาสเตอร์พีซของ จอห์น มลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ ทำลายสถิติในการประมูลของสถาบันคริสตีในกรุงนิวยอร์กด้วยมูลค่า 35,856,000 เหรียญสหรัฐ

นอกจากจิตรกรรมชื่อ Giudecca, La Donna della Salute และ San Giorgio อันเป็นภาพทิวทัศน์บริเวณแกรนด์ คาแนล ในกรุงเวนิซ จะเต็มไปด้วยความงามแล้ว ส่วนหนึ่งที่ราคาได้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้น ก็เนื่องเพราะภาพเขียนชุด ดังกล่าวไม่ได้ออกสู่สายตาสาธารณชนมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

ผู้ที่นำภาพเขียนชุดนี้ออกมาขายให้สถาบันคริสตี ได้แก่ สมาคมเซนต์ฟรานซิส ออฟ อัสซีซี ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่เก็บงานสะสมของชาวยุโรปเอาไว้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 และคอลเลคชั่นเวนิซของ เจ.เอ็ม.ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ นับว่าสมบูรณ์แบบ ที่สุด โดยเป็นชิ้นงานที่เคยนำออกแสดงที่รอยัล อคาเดมี ออฟ อาร์ต ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1841

ณ เวลานั้น Giudecca ได้รับคำชื่นชมมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของความรุ่มรวยแห่งสีสัน เป็นภาพเขียนที่โดดเด่น เต็มไปด้วยจินตนาการและชีวิตชีวา น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสถาบันคริสตีได้ภาพนี้มา และประกาศออกไปว่าจะมีการประมูล ก็ได้เสียงตอบรับจากบรรดานักสะสมศิลปะมากมาย "นี่เป็นคอลเลคชั่นภาพเขียนที่ยอดเยี่ยม" นิโคลัส ฮอลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะมาสเตอร์พีซนานาชาติของสถาบันคริสตีกล่าวอีกว่า คอลเลคชั่น�ังกล่าวเป็นภาพเขียนที่หายาก "ไม่แปลกเลยที่จะทำลายสถิติการประมูลภาพเขียนทั้งหลาย นอกจากนี้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม เทอร์เนอร์ก็เป็นหนึ่งในสุดยอดจิตรกรชาวอังกฤษด้วย"

หลังจากที่นำออกแสดงที่รอยัล อคาเดมี ออฟ อาร์ต ในกรุงลอนดอนในปี 1841 ภาพเขียนสีน้ำมันชื่อ Giudecca ในชุดดังกล่าวของ เจ.อ็ม.ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ ก็เปลี่ยนเจ้าของไป 9 ครั้ง โดยครั้งแรกขายไปในราคา 250 กีนี ให้ เอลฮานาน บิกเนลล์ ในปี 1841 ก่อนที่จะถูกขายกลับมายังสถาบัน คริสตีในปี 1863 ในมูลค่า 1,650 กีนี

ต่อมาปี 1897 สถาบันคริสตีได้ขายให้เซอร์โดนัลด์ เคอร์รี ไปในราคา 6,800 กีนี และหลานของเขาได้ขายให้วิลเลียม วู้ด พรินซ์ ไปในปี 1959 ผ่านทางแอ็กนิว เอเยนซี โดยไม่มีใครทราบตัวเลขในการซื้อขาย และภาพดังกล่าวก็กลับมายังแอ็กนิวอีกครั้งในปี 1992 และถูกขายให้กับนักสะสมผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง โดยภายหลังได้นำไปบริจาคให้สมาคมเซนต์ฟรานซิส ออฟ อัสซีซี

จอห์น มอลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ นับว่าเป็นจิตรกรนักวาดภาพแลนด์สเคปที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก ผลงานของเขาโดดเด่นขนาดได้แสดงนิทรรศการในรอยัล อคาเดมีตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ทั้งชีวิตเขาทุ่มเทให้งานศิลปะ ต่างจากศิลปินรุ่นเดียวกันในบ้านเกิด นั่นเป็นสาเหตุให้มีจิตรกรชาวอังกฤษไม่มากมายนักที่มีชื่อสียงในระดับนานาชาติ

เทอร์เนอร์ เกิดในลอนดอนเมื่อปี 1775 บิดาของเขาเป็นช่าง ตัดผม มารดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็กมาก เขาได้รับการศึกษาในระบบเพียงเล็กน้อย ศิลปะเป็นอย่างเดียวที่เขามีโอกาสศึกษาด้วยตัวเอง พออายุเพียง 13 ปี เขาก็เริ่มเขียนรูปอยู่ที่บ้าน นำออกแสดงและขายในร้านตัดผมของบิดานั่นเอง

ขณะที่เทอร์เนอร์อายุ 15 ปี เขาก็ได้รับเกียรติอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยได้รับเชิญให้ไปแสดงงานที่รอยัล อคาเดมี และอีก 3 ปีต่อมาเขาก็มีสตูดิโอวาดภาพเป็นของตัวอง เขามีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในรอยัล อคาเดมีตั้งแต่อายุยังน้อยอีกด้วย โดยในปี 1802 เทอร์เนอร์ก็กลายเป็นสมาชิกเต็มตัวของรอยัล อคาเดมี ด้วยวัยเพียง 27 เท่านั้น ก่อนที่เขาจะออกเดินทางไปทั่วยุโรป

ความงดงามของทิวทัศน์ในกรุงเวนิซเป็นแรง บันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย โดยเขาไปที่นั่นเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของทะเลและท้องฟ้าในทุกฤดูกาล นอกจากนั้น เขายังต้องศึกษาเรื่องโครงสร้างทางภูมิศาสตร์และวาดออกมาเป็นรูปกราฟฟิก เขาอยู่ที่เวนิซเป็นปีๆ พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างสรรค์เทคนิคในการวาดภาพของตัวเองขึ้น โดยนำความรู้สึกแสนโรแมนติกและ เจิดจ้าของเขาถ่ายทอดลงไปในภูมิประเทศที่เขาเห็นจริงจดออกมาเป็นชิ้นงานที่โดดเด่น

เมื่อเขาอายุมากขึ้นดูเหมือนจะเริ่มกลายเป็น คนเพี้ยนๆ และแปลกแยก เขาไม่เคยมีเพื่อนสนิท ในชีวิตของเขามีแต่บิดา ซึ่งเขาอยู่ด้วยเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี เทอร์เนอร์ไม่อนุญาตให้ใครอยู่ด้วยเวลาที่เขาวาดภาพ และพักหลังๆ เขาก็เริ่มใช้ชีวิตออกห่างจากสังคมเรื่อยๆ เขาปฏิเสธที่จะเข้าประชุมในรอยัล อคาเดมี บางคนแทบไม่เจอเขาเป็นเดือนๆ เขายังคงเดินทาง...คนเดียว และจัดนิทรรศการภาพเขียนเป็นครั้งคราว แต่มักปฏิเสธ ที่จะขายรูป คราวใดที่เขาถูกตื้อให้ขายไปสักรูปหนึ่ง เขาจะดูหดหู่ไปเป็นสัปดาห์ทีเดียว

ในปี 1850 เทอร์เนอร์แสดงงานภาพเขียนครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นอยู่ดีๆ เขาก็หายไปจากบ้าน คนดูแลบ้านพยายามตามหาเขาอยู่เป็นเดือนๆ ในที่สุดก็ไปพบเขาอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในเชลซี และป่วยหนักโดยไม่มีใครดูแล

จอห์น มอลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ เสียชีวิตเพียง 1 วันหลังจากที่มีคนไปพบ ในปี 1851 คำสั่งเสียก่อนตายสำหรับเขาที่เรียกตัวเองว่า "ศิลปินหมดสภาพ" ก็คือ ภาพเขียนของเขาทุกชิ้นจะถูกยกให้เป็นสมบัติของประเทศอังกฤษ และขอให้ ฝังร่างของเขาไว้ในโบสถ์เซนต์ปอล

แม้ว่าเทอร์เนอร์จะโด่งดังจากผลงานภาพเขียน สีน้ำมันจำนวนมาก หากเขายังได้รับยกย่องให้เป็น ผู้บุกเบิกการวาดภาพแลนด์สเคปด้วยสีน้ำ โดยมี ผลงานสำคัญๆ อย่าง Calais Pier, Dido Building Carthage, Rain, Steam and Speed, Burial at Sea, และ The Grand Canal, Venice

เดวิด ฮอคนีย์ ราชาป๊อปอาร์ตฝั่งอังกฤษ


ภาพวาดชิ้นหนึ่งใน 3 ชิ้นจากชุด The Splash ของ เดวิด ฮอคนีย์ ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอังกฤษกำลังจะนำออกประมูล ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ณ สถาบันซอเธบี ภาพดังกล่าวเป็นซีรีส์ภาพ อันดับที่ 2 ในทั้งหมด 3 ภาพชุดที่แสดงการกระจายของน้ำในสระที่มีคนกระโดดลงไป

The Splash ของ เดวิด แสดงออกอย่างชัดเจนถึงสไตล์ มินิมัลลิสต์ของเขา ซึ่งภาพนี้ไม่ได้ออกสู่สายตาสาธารณชนมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 หลังจากตกเป็นสมบัติส่วนตัวของมหาเศรษฐี ชาวแคลิฟอร์เนียมาร่วม 20 ปีแล้ว

ย้อนไปในยุคบุปผาชน ภาพเขียนชื่อ Mr. and Mrs. Clark and Percy ของเขาถือว่าเป็นตัวแทนจิตรกรรมแห่งยุคสมัยของอังกฤษ โดยภาพเขียนดังกล่าวได้รับยกย่องให้เป็นภาพเขียนที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของศิลปะเมืองผู้ดี จะแพ้ก็เพียงภาพทิวทัศน์แห่งเวนิซ The Fighting Temeraire ของ จอห์น มิลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์เท่านั้นเอง

เดวิด ฮอคนีย์ นอกจากจะเป็นศิลปินป๊อปอาร์ต ซึ่งโดดเด่น ในเชิงมินิมัลลิสม์แล้ว ยังได้รับฉายาว่าเป็น “เพลย์บอย” แห่งแวดวงศิลปะ เนื่องเพราะเขามักจะมีความสัมพันธ์กับคนนั้นคนนี้มากมาย (ทุกคนล้วนเป็นเพศชาย) เขายังเป็นศิลปินที่จัดอยู่ในกลุ่มแปลก และค่อนข้างเพี้ยนอยู่นิดหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาลงมือสร้างสรรค์งานศิลปะ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่เคยเหน็ดเหนื่อย

หลังจบการศึกษาจากรอยัลอคาเดมีในอังกฤษ เดวิด ฮอคนีย์ ก็ย้ายไปยังลอส แองเจลิส และปักหลักทำงานอยู่ที่นั่น ตลอดชีวิตการทำงานศิลปะของเขาไม่เคยตกต่ำ หรือล้มเหลวสะดุดหยุดชะงักมาก่อนเลย ตรงกันข้าม เดวิดได้เฉลิมฉลองกับความสำเร็จและเสียงชื่นชมเสมอมา หลายคนสงสัยว่า ศิลปินผู้นี้เคยเศร้าเสียใจกับเรื่องอะไรบ้างมั้ยนี่

เดวิด ฮอคนีย์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1937 ที่เมือง แบรดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวคนชั้นกรรมกร ซึ่ง ต้องการให้ลูกของพวกเขาได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ลอรา แม่ของ เดวิด เลี้ยงลูกอย่างเคร่งครัดกฎระเบียบสุดๆ ลูกๆ ของเธอห้าม แตะต้องสุราและบุหรี่เด็ดขาด และของเหล่านั้นก็จะไม่ปรากฏในบ้านของครอบครัวฮอคนีย์ด้วยเช่นกัน

เดวิด ฮอคนีย์ คือตัวประหลาดแห่งแบรดฟอร์ด แต่เขามีบุคลิกของความเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก เขาไม่เคยสนใจว่าใครจะคิด อย่างไรกับเขา เดวิดเพียงกระทำตัวในแบบที่ตัวเองมุ่งมาดปรารถนาเขาใช้เวลาที่โรงเรียนบ่ายวันอาทิตย์วาดการ์ตูนเกี่ยวกับพระเจ้า นอกจากนั้น เขายังสนใจเรื่องโอเปร่าเป็นพิเศษ หลังจากได้ชม การแสดงเรื่อง La Boheme ของ คาร์ล โรซ่า

ในปี 1948 เดวิด ได้ทุนการศึกษาของโรงเรียนแบรดฟอร์ด แกรมมา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดของเมืองแบรดฟอร์ด ความสามารถทางศิลปะของเขาฉายแววโดดเด่นที่นี่ โดยเขาเองก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าต้องการเป็นจิตรกร 2 ปีต่อมาเขาจึงขอย้ายไปเรียนในวิทยาลัยศิลปะท้องถิ่นของแบรดฟอร์ด ก่อนที่ในปี 1953 จะสอบเข้าโรงเรียนศิลปะได้ และเริ่มจับพู่กันวาดภาพสีน้ำมันเป็นครั้งแรก

เดวิดไม่รู้สึกแปลกแยกจากสังคมอีกต่อไป ตรงกันข้ามที่วิทยาลัยศิลปะแห่งนี้ทำให้เขามีเพื่อนฝูงมากมาย ในปี 1957 เขาได้โอกาส เดินทางมาลอนดอนเพื่อแสดงงานศิลปะสำหรับจบการศึกษา ผลงานของเขาทำให้ได้เข้าเรียนในรอยัลอคาเดมี และเริ่มสร้างชื่อเสียงในฐานะศิลปินระดับประเทศ

รอยัลอคาเดมีคล้ายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเดวิด เขาไม่คิดถึงบ้านเลยแม้แต่น้อยเมื่อได้ลงมือสร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งตัวเขาเองและเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน มักหมกตัวฝึกฝีแปรงอยู่ในสตูดิโออย่าง ไม่รู้จักเหนื่อยหน่าย โดยในปีแรกๆ ที่รอยัลอคาเดมี ศิลปะแห่งยุคคือแอบสแตร็กต์ ก่อนที่จะคลี่คลายไปมีลักษณะง่ายขึ้น ในแนว ป๊อปอาร์ต เดวิดเริ่มค้นหาแนวทางของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดรสนิยมความเป็นคนรักเพศเดียวกันของเขาออกมา ในงานศิลปะ ซึ่งสมัยที่อยู่ในแบรดฟอร์ดเป็นสิ่งไม่ค่อยสะดวกใจ จะพูดถึง ต่างจากที่ลอนดอนซึ่งเขามีเพื่อนฝูงร่วมรสนิยมเดียวกันจำนวนมาก

ฤดูร้อนปี 1961 เดวิด ฮอคนีย์ เดินทางไปนิวยอร์กครั้งแรก เขาประสบความสำเร็จในการขายภาพศิลปะ และยังได้เพื่อนร่วมเพศเดียวกันอีกกลุ่มใหญ่ และในที่สุดเขาก็เห็นทางสว่าง ด้วยการย้าย ถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ในอเมริกา โดยเข้ากลุ่มก๊วนเดียวกับศิลปิน คลื่นลูกใหม่ อย่างแอนดี วอร์ฮอล แถมด้วยเดนนิส ฮอปเปอร์ นักแสดงภาพยนตร์

บ้านใหม่ของเดวิด อยู่ในย่านเบเวอร์ลี ฮิลส์ และที่แห่งนี้เอง กลายเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานเด่นๆ จำนวนมาก เริ่มจาก Man in Shower in Beverly Hills (1964) เช่นเดียวกับ The Splash ทั้ง 3 ภาพ ที่แสดงความเป็นมินิมัลลิสต์ที่เรียบง่าย ใส เคลียร์ แนวแนเชอรัลอิสม์ และเรียลลิสติก อันเป็นสไตล์ ของเดวิด ฮอคนีย์ ที่หลายคนรู้จักกันดี

ภาพที่แสดงสไตล์แนวแนเชอรัลอิสม์ได้เด่นชัดที่สุด ก็คือ สุดยอดภาพชื่อ Mr. and Mrs. Clark and Percy (1970-1971) ของเขานั่นเอง

ในทศวรรษที่ 80 เดวิด ฮอคนีย์ หันมาสนใจงานแนวคอลลาจ โดยนำเอากล้องโพลารอยด์เข้าเป็นอุปกรณ์เสริม ขณะที่ เขาก็หันมาเล่นเทคนิคมุมมองใหม่ๆ เช่น มองผ่านช่องหน้าต่าง ฯลฯ โดยเดวิดยังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เสมอ อย่างในทศวรรษที่ 90 นั้น เขาก็นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทดลองใช้กับงานศิลปะของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำภาพเขียนเก่าๆ ของเขามาผลิตด้วยเทคนิคใหม่ มากมาย ซึ่งผลงานช่วงหลังๆ ของเขา นับเป็นการสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวที่ต้องการสร้างสรรค์ศิลปะจริงๆ ไม่ได้หวังว่า ภาพเหล่านั้นจะขายได้แต่อย่างใด

ดอกไม้ในแวดวงศิลป์อเมริกัน จอร์เจีย โอคีฟ


จอร์เจีย ตอตโต โอคีฟ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ จอร์เจีย โอคีฟ ศิลปินหญิงอเมริกันที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ในแนวทางโมเดิร์นนิสม์

จอร์เจีย โอคีฟ มีบทบาทสำคัญ เป็นดอกไม้ประดับแวดวงศิลปะของอเมริกันนานกว่า 70 ปี ผลงานส่วนใหญ่ของเธอเป็นภาพวาดดอกไม้หลาก สีสัน หลายชนิด ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงด้วยภาพระยะใกล้ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับภาพวาดกระดูกสัตว์ และภาพทิวทัศน์ ที่สื่อความหมายในเชิงแอ็บสแตร็กต์

ภาพวาดรูปดอกไม้ขนาดใหญ่ของเธอ มักสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่มิใช่เพียงรูปดอกไม้�รรมดา แต่คล้ายว่าเป็นการถ่ายทอดภาพประหนึ่งอวัยวะเพศหญิงในนั้น

จอร์เจีย โอคีฟ เกิดที่รัฐวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1887 เธอเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวของชาวนา ที่มีลูก 7 คน จอร์เจีย เข้าเรียนในโรงเรียนทาวน์ฮอลล์ วิสคอนซิน โดยศึกษาวิชาศิลปะกับ ซาราห์ มานน์ นักวาดสีน้ำประจำท้องถิ่น ครอบครัวของเธอย้ายไปยังวิลเลียมส์เบิร์ก รัฐจอร์เจีย ทว่า จอร์เจีย ยังอาศัยอยู่กับป้าที่วิสคอนซินกระทั่งศึกษาจบไฮสกูล

ในปี 1905 เธอเดินทางไปยังชิคาโก เพื่อศึกษาต่อทางด้านศิลปะที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก เพียง 2 ปีถัดมา จอร์เจียสอบเข้าที่โรงเรียนศิลปะกรุงนิวยอร์กได้ โดยเธอได้เรียนกับศิลปินชื่อดังของอเมริกา อย่าง วิลเลียม แมร์ริต เชส โดยในปี 1908 จอร์เจีย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดภาพเขียน สติลล์-ไลฟ์ สีน้ำมัน รางวัลที่เธอได้รับถือเป็นทุนการศึกษาต่อในภาคฤดูร้อน ซึ่งจะไปเรียนกันกลางแจ้ง ณ ทะเลสาบจอร์จ กรุงนิวยอร์ก ระหว่างนั้น ชื่อเสียงในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงของจอร์เจีย โอคีฟ ก็ขจรขจาย โดยเฉพาะที่แกลเลอรี 291 ของสามีในอนาคต อัลเฟรด สติกลิตซ์

จอร์เจีย กลับไปที่ชิคาโก และทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบ พร้อมๆ กับสร้างสรรค์งานศิลปะส่วนตัว ทว่าในปี 1910 เธอต้องยุติงานทั้งปวงเนื่องจากป่วยหนักอยู่ 2 ปีด้วยกัน ก่อนที่จะเข้าเรียนต่อทางด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย เพื่อที่จะหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะอีกครั้ง

อิทธิพลของศิลปะก้าวหน้า จากอาร์เทอร์ เวสลีย์ โดว์ อาจารย์พิเศษในห้องเรียนของอัลลอน เบเมนต์ ทำให้เธอได้เรียนรู้ในเรื่องการขับเน้นชิ้นงานศิลปะ โดยการสร้างสรรค์สัญลักษณ์แบบแอ็บสแตร็กต์ ด้วยเส้นสาย สีสัน พื้นผิว การทำซ้ำๆ และการสร้างสัดส่วนที่ตอบรับกัน บทเรียนครั้งนั้น ประทับใจ จอร์เจีย โอคีฟ มาก ถึงขนาดที่เก็บเอามาสอนในโรงเรียน อมาริลโล รัฐเท็กซัส

ขณะที่มาอาศัยอยู่ในเท็กซัส จอร์เจีย โอคีฟ สร้างสรรค์งานศิลปะจำนวนมากโดยเฉพาะอย่าง ผลงานสีน้ำกว่า 50 ชิ้น รวมทั้งผลงานแอ็บสแตร็กต์จากแท่งชาร์โคลอีกหลายชุดด้วยกัน หนึ่งในนั้น มี ผลงานชาร์โคลที่เธอวาดรูปของแอนิต้า พอลลิตเซอร์ ซึ่งภายหลังตกเป็นของอัลเฟรด สติกลิตซ์ ที่ประทับใจในผลงานของเธอมาก เขาจึงเริ่มติดต่อเจรจาให้เธอมาแสดงงานแกลเลอรี 291 ในนิวยอร์ก

จอร์เจีย อนุญาตให้เขาจัดแสดงภาพดรออิ้งจากชาร์โคลที่อัลเฟรด ได้รับไปก่อนหน้านี้ ประมาณ 10 ภาพ ทว่า การเปิดแสดงผลงานศิลปะของเธออย่างเป็นทางการ เริ่มครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 1917 โดยส่วนใหญ่เป็นผลงานสีน้ำระหว่างที่เธออาศัยอยู่ในเท็กซัสนั่นเอง

หลังจากนั้น เธอรับคำเชิญเข้าไปอาศัยในนิวยอร์ก เพื่อทำงานศิลปะสำหรับแสดงในแกลเลอรีของอัลเฟรด สติกลิตซ์ ซึ่งจัดให้เธออยู่ที่อพาร์ตเมนต์ที่ไม่ได้ใช้ของหลานสาวของเขา ปีเดียวกันนั้นเอง อัลเฟรดก็เลิกกับภรรยาของเขามาอยู่กับจอร์เจีย และเริ่มถ่ายภาพนู้ดของภรรยาใหม่เขาจำนวนมาก ในไม่ช้าก็นำไปจัดแสดง ร่วมกับภาพถ่ายอื่นๆ ในคอลเลคชั่นของเขาที่ แอนเดอร์สัน แกลเลอรี ในปี 1921

ปีแรกๆ ในนิวยอร์ก จอร์เจีย โอคีฟ สนิทสนมกลุ่มศิลปินโมเดิร์นนิสต์ชาวอเมริกัน อย่าง ชาร์ลส์ เดอมัท อาร์เทอร์ โดฟ มาร์สเดน ฮาร์ตลีย์ จอห์น มาริน พอล สแตรนด์ และเอ็ดเวิร์ด สไตเชน ซึ่งมักจะมานั่งพูดคุย ถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในสังคม รวมทั้งเรื่องแนวโน้มศิลปะ ที่แกลเลอรีของอัลเฟรด สติกลิตซ์ โดยเฉพาะช่างภาพแนว สถาปัตย์และแลนด์สเคป อย่าง พอล สแตรนด์ นั้น เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานให้จอร์เจีย อย่างสูง เธอพัฒนางานภาพถ่ายของพอลมาเป็นภาพวาดของเธอ และเริ่มที่จะวาดภาพสีน้ำมากขึ้น บนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ขึ้น และเน้นภาพระยะใกล้ หรือภาพโคลส-อัพ

ระหว่างทศวรรษที่ 1920 จอร์เจีย โอคีฟ ศึกษาเกี่ยวกับด้านแลนด์สเคปและพืชพรรณต่างๆ มากขึ้น และเริ่มวาดภาพดอกไม้ขนาดใหญ่ในปี 1924 ซึ่งมีทั้งดอกไอริส ดอกลิลลีชนิดต่างๆ ดอกแมรีโกลด์ ฯลฯ ก่อนที่จะแสดงผลงานดอกไม้ในปีถัดมา และกลายเป็นชิ้นงานที่สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงศิลปะเป็นอย่างยิ่ง โดยผลงานรูปดอกคาลล่า ลิลลี่ ของเธอ 6 ชิ้น ขายได้ชิ้นละไม่ต่ำกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐ หลังจากนั้น เธอเริ่มวาดภาพแลนด์สเคป กับตึกระฟ้า โดยมีธีมเป็น ช่วงเวลาต่างๆ ของวัน ซึ่งให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไป

ฤดูร้อนปี 1929 จอร์เจีย โอคีฟ เดินทางไป ซานตาเฟ และทาออส ในนิวเม็กซิโก ร่วมกับรีเบกกา สแตรนด์ หลังจากนั้น ในระหว่าง 1929-1949 เธอต้องเดินทางไปที่นั่นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มเขียนภาพกระดูกสัตว์ต่างๆ อันเป็นอีกคอลเลคชั่นของเธอที่อยู่ในความทรงจำของแวดวงศิลปะ ก่อนที่เธอจะเริ่มมีอาการทางประสาท และต้องได้รับการเยียวยาจนกระทั่งไม่สามารถทำงานได้ไปกระทั่งมกราคมปี 1934

Ram's Head White Hollyhock and Little Hills ผลงานรูปกระดูกศีรษะแพะประดับดอกไม้ เป็นภาพเขียนที่เลื่องชื่ออีกภาพหนึ่งของเธอ ซึ่งจอร์เจียวาดที่โกสต์ แรนช์ หลังทุเลาจากอาการทางจิต

เมื่ออัลเฟรด สติกลิตซ์ เสียชีวิต จอร์เจีย โอคีฟ ย้ายมาอยู่ในนิวเม็กซิโกอย่างถาวร ทว่า เธอปราศจาก แรงบันดาลใจมากมายในการสร้างสรรค์งานศิลปะเช่นเก่าก่อน ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เธอวาดภาพฝาผนังบ้านตัวเองในอบิคิว และถัดมาในปี 1958 จอร์เจียวาด Ladder to the Moon เป็นภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวนอกอเมริกาเป็นครั้งแรก เนื่องจากการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกของเธอเช่นกัน ในงานชุดเดียวกันนี้ ยังมี Sky above Clouds ซึ่งเธอวาดจากทิวทัศน์ที่มองจากช่องหน้าต่างเครื่องบิน

ในปี 1962 เธอได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกแห่งหอ เกียรติยศ 50 ศิลปินของสถาบันศิลปะและวรรณกรรมแห่งอเมริกา สายตาของจอร์เจีย เริ่มพร่ามัว จนกระทั่งปี 1972 เธอก็แทบจะมองไม่เห็นอะไรเลย

ฮวน แฮมิลตัน ช่างทำเซรามิก อาสาเข้ามาช่วยเหลือเธอในทุกสิ่งทุกอย่าง และภายหลังกลายมาเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของเธอในบั้นปลายชีวิต เขาช่วยเธอสร้างสรรค์งานศิลปะ ช่วยเธอเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ ชื่อ Georgia O’Keeffe ออกมาในปี 1976

ในปี 1984 จอร์เจีย โอคีฟ ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของฮวนในซานตาเฟ เพื่อที่จะอยู่ใกล้โรงพยาบาลมากขึ้น ฮวนยังจัดการให้เธอเพิ่มเติมในพินัยกรรมว่า จะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้เขา

จอร์เจีย เสียชีวิตในโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ ที่ซานตาเฟ ในวันที่ 6 มีนาคม 1986 ร่างของเธอฌาปนกิจด้วยการเผา โดยเถ้ากระดูกของศิลปินหญิงที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกาในศตวรรษที่ 20 ได้รับการโปรยที่โกสต์ แรนช์ สถานที่สุดโปรดของเธอนั่นเอง

คริส แวร์ เล่าเรื่องในอาคาร


ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาหลายฉบับ เริ่มต้นเพิ่มยอดขายด้วยเนื้อหาประเภทการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า มังก้า เข้าไป ทำให้น่าสงสัยนักว่า การ์ตูนสไตล์เก๋ๆ แบบ อเมริกันกำลังจะถูกลืมหรืออย่างไร

คงไม่เป็นเช่นนั้นแน่ เนื่องเพราะผลงานของ การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง อย่าง คริส แวร์ ซึ่งเคยเป็นจุดขายของปกหนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์หลายฉบับในอดีต ได้กลายเป็นงานที่มีค่าทางศิลปะ และกำลังจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์โมกา (Museum of Contemporary Art) เมืองลอส แองเจลิส ร่วมกับผลงานของการ์ตูนนิสต์ระดับปรมาจารย์ท่านอื่นๆ ในนิทรรศการศิลปะ America: masters of American comics โดยการรวบรวมผลงานชื่อดังๆ ที่ได้รับความนิยม เป็นมาสเตอร์พีซของการ์ตูนนิสต์แต่ละท่านตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 20 กว่า 500 ชิ้นด้วยกัน

สำหรับ คริส แวร์ ผู้มีผลงานเด่นๆ เป็นเรื่องราวของคนในอาคาร หรือชุด Building stories ซึ่ง เป็นลักษณะของการ์ตูนช่องที่บอกเล่าเรื่องราวของ คนในสังคมเมือง นับเป็นชิ้นงานที่โดดเด่นที่สุดในนิทรรศการครั้งนี้ ชื่อจริงนามสกุลเต็มของเขาคือ แฟรงคลิน คริสเตนสัน แวร์ เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1967 เริ่มเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีกับ การ์ตูนชุด Acme Novelty Library นอกจากนั้น ยังมีนวนิยายกราฟฟิกชื่อดังของเขา Jimmy Corrigan, the Smartest Kid on Earth

คริส เกิดที่โอมาฮา รัฐเนแบรสกา ก่อนที่จะย้ายมาโตที่โอ๊ก พาร์ก รัฐอิลลินอยส์ ในการทำงานของเขา ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวรอบๆ ตัว นอกจากนี้ เขายังมีความสนใจและฝึกฝนทั้งด้านการวาดการ์ตูน กับกราฟฟิกดีไซน์ไปพร้อมๆ กัน ด้วยความสามารถของเขาอาจจะพัฒนาไปในด้านการเป็นจิตรกรเอกได้ไม่ยากนัก ทว่า เขากลับเลือกที่จะสร้างสรรค์งานในแนวทางป๊อปอาร์ต ทว่าเป็นศิลปะป๊อปแนวใหม่ ที่อาจจะเรียกให้เก๋ๆ ว่าเป็น เอ็กเพอริเมนทัล ป๊อป หรือป๊อปอาร์ตแนวทดลอง ออกมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไป ในสังคมด้วยสัญลักษณ์ง่ายๆ

การตูนนิสต์คนนี้ ยังได้แรงบันดาลใจ จากนักวาดการ์ตูนอเมริกันรุ่นเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็น วินเซอร์ แมคเคย์ แห่งดิสนีย์ เจ้าของผลงาน Gertie the Dinosaur หรือ แฟรงค์ คิง ผู้สร้างสรรค์ Gasoline Alley ถ้าใครได้ติดตามผลงาน ของปรมาจารย์การ์ตูน 2 คนนี้มาก่อนหน้า จะเห็นว่าเป็นแบบอย่างในงานของ คริส อยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของโครงร่าง และการนำเสนอเรื่องราวออกมาในภาพวาด จะว่าไปแล้ว เมื่อมองในยุคสมัยของ คริส แวร์ ผลงานของเขามีอารมณ์แบบ “ย้อนยุค” อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เส้น เล่นสี หรือความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในช่อง สีเหลี่ยม (ชุดที่ดังที่สุดในสไตล์นี้ คือ the Emily Dickinson of comics)

คริสเริ่มวาดการ์ตูนให้กับหนังสือพิมพ์ The Daily Texan ของนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส ที่เมืองออสติน โดยเขียนเป็นการ์ตูนช่องแบบสตริปเป็นประจำทุกวัน ก่อนที่จะเริ่มเขียนการ์ตูนชุดเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ Floyd Farland: Citizen of the Future ให้กับนิตยสารรายสัปดาห์ และเรื่องนี้ ก็ได้กลายเป็นการ์ตูนรวมเล่มเรื่องแรกของคริสกับ เอคลิปส์ พับลิชชิง ในปี 1988

ไม่นาน ผลงานของคริส แวร์ ก็ไปเตะตา การ์ตูนนิสต์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และนักออกแบบชาวแมนแฮตตัน อย่าง อาร์ต สปีเกลแมน ซึ่งชวนเขามาวาดให้หนังสือเชิงศิลปะการออกแบบชื่อ RAW และที่นี่เองที่บ่มเพาะชื่อเสียงของเขาให้ขจรขจายกลายเป็นการ์ตูนนิสต์ชื่อดัง โดยเฉพาะเมื่อเขาออกหนังสือ การ์ตูนชุด Acme Novelty Library ซึ่งทำให้ผลงานเก่าๆ ของเขาที่ The Daily Texan ได้รับการนำกลับมาพิมพ์ใหม่เป็นหนังสือรวมการ์ตูนด้วย อย่างเช่น Quimby the Mouse ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ในรูปร่างตัวการ์ตูนหัวมันฝรั่ง เป็นอาทิ

เขาเริ่มทำงานให้หนังสือ New City ก่อนที่จะมาประจำการอย่างถาวรกับ the Chicago Reader ที่คล้ายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเขา ภายหลังเขาสามารถพิมพ์หนังสือการ์ตูนเล่มออกมาขายด้วยตัวเอง เช่น Lonely Comics และเรื่องอื่นๆ เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น คริส แวร์ก็มีหนังสือการ์ตูนรวมเล่มเรื่องต่างๆ ออกมามากมาย

ในการเขียนการ์ตูนของคริส สิ่งสำคัญคือการ สร้างคาแรคเตอร์ คล้ายๆ กับการแคสติ้งตัวละคร ในภาพยนตร์ Quimby the Mouse ของคริส กลายเป็นตัวละครเอก ที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของมนุษย์หัวมัน กับแมวชื่อ สปาร์กกี้ ภาพการ์ตูนช่อง Quimby the Mouse เรื่องนี้ คล้ายกับเรา ได้ชมภาพยนตร์เงียบในยุคเก่า ที่เล่าเรื่องราวโดย ไม่ต้องมีช่องไดอะล็อกคำพูด และผลงานส่วนใหญ่ของเขา ไม่ว่าจะเป็น Acme Novelty Library, Jimmy Corrigan, the Smartest Kid on Earth และ Building Stories ก็ออกมาในสไตล์ที่ใช้คำพูดน้อยมาก

ในปี 2001 Jimmy Corrigan, the Smartest Kid on Earth ได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยม รางวัล การ์เดียน เฟิร์สต์ บุค อะวอร์ด โดยเป็นหนังสือประเภทกราฟฟิกเล่มแรกที่ได้รับรางวัลใหญ่ทางด้านวรรณกรรมของอังกฤษไปครอง คริส แวร์ ยังได้ รับเชิญไปเปิดนิทรรศการแสดงผลงานของเขาครั้งแรกในปี 2002 ณ วิทนีย์ มิวเซียม กรุงนิวยอร์ก หลังจากนั้น เขายังได้รับเชิญไปแสดงงานอีกหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอเมริกาและในยุโรป เช่นเดียวกับซีรีส์ Building Stories ซึ่งมาจากงานเด่นของเขา ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน The Sunday New York Times Magazine ในปี 2005 นี่เอง

โฟล์คอาร์ต ศิลปะท้องถิ่น


ทุกๆ แห่งในโลกนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะท้องถิ่น หรือ โฟล์คอาร์ต (Folk Art) ทว่า ศิลปะท้องถิ่น ชนิดที่ได้การยอมรับไปทั่วโลกในแง่ของความเป็นศิลปะอันโดดเด่นที่แท้จริง ได้แก่ อเมริกัน โฟล์คอาร์ต ที่นับเป็นรากฐานของศิลปะแห่งชนชาติอเมริกันอย่างแท้จริง

ไม่น่าเชื่อที่ ศิลปะท้องถิ่นในอเมริกา กลับมีต้นกำเนิดอยู่ที่ใกล้ๆ กับเมืองใหญ่ โดยย้อนไปเมื่อราวๆ 1850 ณ กรุงนิวยอร์ก ชายหนุ่มผู้ข้นแค้นและใกล้ตายจากโรคร้าย แกะสลักรูปหญิงสาวแสนสวยจากไม้ เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของศีรษะที่เขาแกะสลักเอาไว้อย่างเหมือนจริงนับว่าเป็นงานศิลปะที่ไม่ธรรมดา โดยหญิงสาวคนดังกล่าวมีชีวิตอยู่จริง และอาจจะเป็นคนที่ชายหนุ่มหลงรัก เธอเป็นบุตรีของแพทย์แผนทางเลือกที่รักษาคนไข้ด้วยแนวทางวารีบำบัด ซึ่งชายหนุ่มเข้ารับการรักษา ภาพแกะสลักจากไม้เป็นรูปศีรษะของหญิงสาว โดยศิลปินอายุสั้นคนหนึ่ง นับเป็นสมบัติล้ำค่า และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปะโฟล์คอาร์ตของอเมริกันชนในรุ่นถัดๆ มา

โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงโฟล์คอาร์ต เรามักจะนึกถึงงานศิลปะเรียบง่าย ทว่า โดยเนื้อแท้ของศิลปะแขนงนี้ แม้จะแสดงออกมาอย่างง่ายดาย คล้ายไม่มีสิ่งใดซับซ้อน หากทว่า กลับบรรจุเอาไว้ซึ่งจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโฟล์คอาร์ตในอเมริกานั้น นับเป็นรากฐานอันสำ�ัญของศิลปะอเมริกันในศตวรรษที่ 20 แม้จะเป็นเพียงโฟล์คอาร์ตก็ตาม

โฟล์คอาร์ตของอเมริกันเริ่มเข้มแข็งขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีศิลปินท้องถิ่นหลากหลาย ทั้งในแขนงของจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ รวมไปถึงศิลปะการออกแบบตกแต่งหรือ decorative arts ซึ่งหมายรวมถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ฉากละคร ออกแบบแลนด์สเคป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หมายความว่า ศิลปะโฟล์คอาร์ตนั้นเริ่มต้นจากผู้คนก่อนที่จะมีวิวัฒนาการแยกออกจากความเป็นศิลปะท้องถิ่นธรรมดา กลายเป็นโฟล์คอาร์ตที่เป็นจิตรกรรม หรือ pure art อย่างแท้จริง โดยศิลปินหันมาสร้างสรรค์ศิลปะอย่างจริงจัง และอย่างลึกซึ้งในความคิดที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงนำเสนอออกมาในรูปแบบและเทคนิควิธีของโฟล์คอาร์ต

สีสันหลักๆ ในศิลปะท้องถิ่นอเมริกันมักจะหยิบมาจากความเป็นอเมริกันเอง อย่างเช่น สีสันของธงชาติ ดาวบนธงชาติ หรือไม่ก็มีการนำเอาธงชาตินั่นเองมาใส่เอาไว้ในผลงานทางศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เกิดสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ รวมทั้งสงครามกลางเมืองระหว่างเหนือใต้ ขณะเดียวกันในแต่ละท้องถิ่น ก็อาจจะได้รับอิทธิพลที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น อิทธิพลของอังกฤษในนิวอิงแลนด์ซึ่งมีชาวอังกฤษอพยพย้ายถิ่นฐานมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หมู่บ้านริมน้ำในคอนเน็กติกัต การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และบ้านเรือนส่วนใหญ่ ยังยึดขนบเดิมจากอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือเทคนิค รวมทั้งภาพวาดรูปดอกกุหลาบ และภาพวาดที่แสดงถึงวิถีชีวิตแบบอังกฤษ

ในส่วนของการออกแบบตกแต่งนั้น เริ่มต้นจากการออกแบบข้าวของเครืองใช้ภายในบ้านเรือน ที่โดดเด่นมากก็คือ อเมริกันคิลท์ หรือผ้าปะต่อแบบอเมริกันที่แสดงถึงความเป็นศิลปะท้องถิ่นอย่างสูง นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความเป็นอิสระและเสรีภาพจากการปกครองของอังกฤษ ซึ่งนอกจากอเมริกันคิลท์จะนิยมใช้เป็นผ้าปูโต๊ะ ผาคลุมเตียงแล้ว ในภายหลังยังมีการออกแบบประดิษฐ์อย่างสวยงาม ประหนึ่งภาพจิตรกรรมประดับผนังบ้านอีกด้วย

ในยุคสมัยของประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ็คสัน วงการศิลปะอเมริกันเรียกว่า ยุคสมัยแห่งความรู้สึกที่ดีๆ เนื่องเพราะบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในหลายๆ ทาง ขณะเดียวกันนอกจากชาวอังกฤษที่อพยพมามากมายแล้ว ยังมีอีกหลายเชื้อชาติที่อาศัยอเมริกาเป็นที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ ทั้งอิตาเลียน เยอรมัน กรีซ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานจนกลายเป็นศิลปะของอเมริกันเอง ทั้งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีบุคลิกใหม่ๆ รวมทั้งศิลปะแขนงจิตรกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม โดยมีศิลปินที่มีชื่อเสียงทางสายจิตรกรรม อย่างแอมมี ฟิลิปส์, เอราสทุส ซาลิสเบอรี ฟิลด์, โฮซี เฮย์เดน และจอห์น บรุนท์ ซึ่งกลายเป็นตำนานของอเมริกันโฟล์คอาร์ตไปแล้ว

การประกาศเลิกทาสของประธานธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น นับว่าส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อโฟล์คอาร์ต เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของศิลปินฝีมือดีหลายคน ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยตกอยู่ในสภาพของทาส อย่าง บิล เทรย์เลอร์ เมื่อได้รับอิสรภาพ ก็ลงมือสร้างสรรค์เรื่องราวชีวิตอันหดหู่ของตัวเขาออกมาจากภาพสเกตช์ เช่นเดียวกับศิลปินไร้ชื่อท่านหนึ่ง ซึ่งแกะสลักไม้เป็นรูปตึกระฟ้าจำนวนมาก ซึ่งผลงานของเขาได้รับการประดับอยู่ ณ ตึกเอ็มไพร์สเตท

เนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักชาติของอเมริกันมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากใน โฟล์คอาร์ต ของพวกเขา ไม่ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขหรือความเศร้า มีทั้งการแสดงออกแห่งเสรีภาพ ความหวัง การเฉลิมฉลอง รวมทั้งการแสดงออกแบบสลดหดหู่ จอห์น ฟานเดอร์ลิน เป็นศิลปินท้องถิ่นอเมริกันคนแรกที่สร้างจุดเปลี่ยนให้วงการ ด้วยการออกมาขายงานศิลปะของตัวเอง แม้ว่าจะเป็นงานท้องถิ่นที่ราคาถูก และไม่ได้มอบสุนทรียรสอันยิ่งใหญ่แบบศิลปินระดับโลกก็ตาม แต่กระนั้น ก็เป็นแรงกระเพื่อมให้วงการศิลปะท้องถิ่นเกิดการตื่นตัวมากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนเป้าหมายในการสร้างสรรค์งานเพื่อตอบสนองความเป็นศิลปะอย่างแท้จริง โดยเริ่มสลัดออกจากการทำงานศิลปะเพื่อใช้งานในบ้าน ซึ่งทำให้เกิดศิลปินท้องถิ่นอเมริกันตามมาอีกหลายคน ที่ต่างก็ถ่ายทอดลมหายใจ จิตวิญญาณ และประสบการณ์เฉพาะแบบอเมริกันชน

ภาพนู้ด ดอกไม้ สติลไลฟ์ ของ แมททิว สมิธ


เมืองผู้ดีอย่างประเทศอังกฤษ มีนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงทางด้านฝีมือ และมุมมองทางศิลปะในแขนงของพวกเขาเองมากมาย ทว่า เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับประเทศที่มีสถาบันทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ อย่างลอนดอน อคาเดมี ออฟ อาร์ต เช่นนี้ จะหาจิตรกรที่มีชื่อเสียงก้องโลก และอยู่ในความทรงจำของผู้คนได้ยากเย็นจริงๆ สงสัยว่า พวกเขาคงจะไปเอาดีทางด้านอื่นกันหมด

แมททิว สมิธ หรือ เซอร์ แมททิว สมิธ ผู้มีชื่อเต็มๆ ตั้งแต่แรกเกิดว่า แมททิว อาร์โนลด์ เบรซี สมิธ เป็นจิตรกรชาวอังกฤษแท้ๆ ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นจิตรกรชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ เขายังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของ โรอัลด์ ดาห์ล ยอดนักเขียน ชาวอังกฤษให้รักและสะสมงานศิลปะหลังจาก ที่รู้จักสนิทสนมกับศิลปินผู้นี้

เขาเกิดที่ ฮัลลิแฟกซ์ ประเทศอังกฤษ บิดาของเขาเป็นปัญญาชน แมททิว ได้รับการตั้งชื่อตามกวี นักวิจารณ์ และนักการศึกษาชื่อดัง แมททิว อาร์โนลด์ ที่บ้านของเขาในวัยเด็กนั้นเต็มไปด้วยเครื่องหมายแสดงความเป็นมนุษย์ที่มีวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือดีๆ กว่า 5,000 เล่ม ในห้องสมุดส่วนตัวของบิดา ตั้งแต่บทกวีไปจนถึงหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เช่น ผลงานของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน

ก่อนที่เขาจะผันตัวมาเป็นจิตรกรที่โดดเด่นทางภาพนู้ด ภาพดอกไม้ ภาพสติลไลฟ์ และภาพแลนด์สเคปนั้น เขาเคยทำงานอย่างอื่นก๊อกๆ แก๊กๆ ก็เพื่อที่จะเก็บเงินส่งตัวเองเข้าศึกษาทางด้านศิลปะที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมนเชสเตอร์ แม้ว่าทางบ้านจะมีฐานะดีก็ตาม จากนั้น แมททิว เข้าศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ที่ เดอะ สเลด ในปี 1905 ที่ซึ่งเขาได้พบกับ เกว็นโดลิน แซลมอนด์ ในโรงเรียนศิลปะภาคฤดูร้อน ที่วิทบี ก่อนจะแต่งงานกันในเวลาต่อมา

ด้วยความมุ่งมั่นในการจะเป็นศิลปินวาดภาพ แมททิว เห็นว่า การจับเจ่าอยู่บนเกาะอังกฤษ ที่ซึ่งบรรยากาศไม่อบอวลเอื้อประโยชน์ให้งานศิลป์มากสักเท่าไร คงจะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตัวเองเป็นแน่แท้ เขาไม่รีรอที่จะเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส อันเป็นศูนย์รวมของศิลปินตัวกลั่น โดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในย่านปงต์-อาว็อง กรุงปารีส ระหว่างปี 1908-1914 ซึ่งในระหว่างนั้น เขาได้ เข้าเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะของ อองรี มาทิสส์ (อาเตลิเยร์ มาทิสส์) ในช่วงเวลาสั้นๆ

ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส เขาได้เดินทางไปยังเมืองท่าสำคัญๆ หลายแห่ง และเริ่มวาดภาพแลนด์สเคป ไม่ว่าจะเป็นที่ เมืองดีปป์ เอตาเปลอส์ ซูร์ก แมร์ รวมทั้งเมืองชานกรุงฝรั่งเศส อย่าง แกรซ-ซูร์ก-ลวงญ์

ในปี 1914 เขาต้องกลับไปรับราชการทหาร (ช่วงเดียวกับ โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งทำให้ทั้งคู่พบกัน) หากเมื่อปลดประจำการในปี 1919 เขาก็ได้เดินทาง กลับมายังกรุงปารีสและแกรซ-ซูร์ก-ลวงญ์ อีกครั้งหนึ่ง การกลับมาครั้งนี้ เขาได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากศิลปินชาวไอริช ดีแคลน โอคอนเนอร์ ซึ่งใช้ชื่อในการวาดภาพตามกษัตริย์องค์สุดท้ายของไอร์แลนด์ว่า ร็อดดริก โอคอนเนอร์

ช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเองสิ้นสุดลง เมื่อเขาเริ่มต้นวาดซีรีส์ภาพนู้ดของชู้รัก อย่าง เวรา คันนิงแฮม ในปี 1923 สีน้ำมันอันจัดจ้านเข้มข้น ซึ่งเขาใช้กับภาพชุดดังกล่าว กลายเป็นสไตล์อันโดดเด่นของเขาหลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยนักวิจารณ์ทางศิลปะหลายคนว่า เป็นการผสมผสานระหว่างแรงบันดาลใจจากศิลปินที่เขาชื่นชอบ และเป็นแรงบันดาลใจให้เขามากมาย ตั้งแต่ อองรี มาทิสส์ ปอล โกแก็ง ร็อดดริก โอคอนเนอร์ และ ฯลฯ

แมททิว และเวรา เดินทางไปด้วยกันทุกที่ ทั้งในฝรั่งเศส และอิตาลี โดยเฉพาะในปี 1929 ที่เขาเริ่มการเดินทางสำรวจฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยัง กาญส์-ซูร์ก-แมร์ และอิกซ์- ออง-โปรวองซ์ ที่ซึ่งเขาได้สร้างสตูดิโอวาดภาพขึ้นในปี 1937 และเขาก็เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างลอนดอนและโปรวองซ์

แมททิว เริ่มการแสดงเดี่ยวภาพเขียนของเขาตั้งแต่ปี 1911 ที่ซาลง เดส์ แองเดปองดองต์ส กรุงปารีส และอีกหลายๆ ครั้ง ต่อมาที่เมือง น้ำหอม หาก เขาเริ่มแสดงงานของตัวเองครั้งแรกในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ในกรุงลอนดอน ก็ปาเข้าไปในปี 1929 ที่เมเยอร์ แกลเลอรี่ หลังจากนั้น ผลงานของเขาก็ได้ไปติดแสดง บนผนังของแกลเลอรี่อีกหลายแห่งด้วยกันในประเทศอังกฤษ รวมทั้ง ลอนดอน แกลเลอรี่ ที่ซึ่งเขาได้เข้าเป็นสมาชิกถาวรในเวลาต่อมา

แมททิว สมิท ได้เข้าเป็นตัวแทนศิลปินชาวอังกฤษ ในเวนิส เบียนนาเล ปี 1938 และปี 1950 โดยผลงานส่วนใหญ่ของเขาอยู่ที่ เทต แกลเลอรี่ กรุงลอนดอน ตั้งแต่ปี 1953 ขณะที่รอยัล อคาเดมี เป็นผู้จัดนิทรรศการรำลึกถึง แมททิว สมิท ในปี 1960 หลังจากเขาเสียชีวิตได้ 1 ปี

เขาได้รับเครื่องราชชั้น ซีบีอี ในปี 1949 ก่อนจะได้เป็นอัศวินในปี 1954

ความงามใน...ภาพนู้ด


ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มที่ศิลปินรังสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมานั้น แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง "เซ็กซ์" ก็ได้สอกแทรกเป็นเรื่องหลักอยู่ในงานศิลปะเนิ่นนานมาแล้ว การศึกษาเรื่องร่างกาย หรือเรือนร่าง มีควบคู่มากับพัฒนาการทางศิลปะตะวันตก โดยเฉพาะในยุคกลาง ที่ศิลปะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางศาสนาเสียเป็นส่วนมาก ภาพเขียนบอกเล่าเรื่องตำนานจากพระคัมภีร์ไบเบิลหลายภาพ ก็แสดงออกในเชิงอีโรติก นำเสนอเรือนร่างที่ไร้อาภรณ์ปกคลุม อย่างเช่น ภาพเขียนที่เล่าตำนานของมนุษย์คู่แรก คือ อดัมกับอีฟ โดยภาพหญิงชายที่ไม่สวมเสื้อผ้าดังกล่าวกลับมิได้ถูกจัดให้เป็นภาพลามกอนาจารแต่อย่างใด

ในวัฒนธรรมโบราณ มักมีจินตนาการทางด้านอีโรติกอยู่มาก รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง "เซ็กซ์" และ "ร่างกาย" ของมนุษย์นั้นแสนจะ เด่นชัด เช่น รูปปั้นในศิลปะคลาสสิกสมัยกรีก-โรมัน อันเต็มไปด้วย ชิ้นงานที่แสดงเรือนร่างเปลือยเปล่าอันสวยงามของทั้งชายและหญิง

จิตรกรยุคเรอเนสซองซ์จำนวนมากก็มีผลงานชิ้นเด่นๆ ประเภทภาพนู้ดของหญิงสาวบนผืนผ้าใบ เช่นเดียวกับศิลปินยุคพรี-ราฟาเอไลต์ ในปลายทศวรรษที่ 1900 ก็คือการย้อนกลับมาของเรือนร่างสวยงามอันเปล่าเปลือยบนผืนผ้าใบ ก่อนที่จิตรกรรมภาพนู้ดที่เน้นเสนอภาพเรือนร่างเปลือยในเชิงศิลปะจะลดน้อยลงไปในช่วงยุคคิวบิสม์และเซอร์เรียลิสม์ และย้ายมาเป็นนู้ดในศิลปะภาพถ่ายแทน

ภาพนู้ดชื่อดังและสวยที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้น เห็นทีจะต้องยกให้เป็นของภาพ The Birth of Venus ของ ซานโดร บอตติเชลลิ (ค.ศ.1446-1510) ในศตวรรษที่ 15 จิตรกรรมซึ่งแสดงให้เห็นเรือนร่างเปลือยของหญิงสาว ที่ขึ้นชื่อว่า สวยที่สุดในตำนานของคริสเตียน ภาพเขียนภาพนี้ไม่เพียงจะถ่ายทอดความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่ว่าเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของตำนานคลาสสิกด้วย

The Birth of Venus สวยงามราวบทกวี ที่เป็นตัวแทนขับขานท่วงทำนองของศิลปินอิตาเลียนในยุคเรอเนสซองซ์ พวกเขาต้องการฟื้นฟูเกียรติยศเดิมๆ ในศิลปะสมัยกรีก-โรมันกลับมาอีกครั้ง ตำนานคลาสสิกสมัยกรีก-โรมัน จึงย้อนกลับมาเป็นสาระสำคัญในศิลปะยุคดังกล่าว เช่นเดียวกับเรือนร่างเปลือยเปล่า ของทั้งเทพบุตร เทพธิดา ที่กลายเป็นตัวเอกของงานจิตรกรรม

ผู้ที่ว่าจ้างให้ ซานโดร บอตติเชลลิ วาดภาพนี้ คือตระกูลร่ำรวยของอิตาลี ชื่อ เมดิชี่ โจทย์ของเขาก็คือ กำเนิดวีนัสที่ผุดขึ้นมาจากท้องทะเล และเมื่อภาพจิตรกรรมชิ้นดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ ก็ไม่มีใครตั้งข้อกังขาหรือขัดแย้งแม้แต่น้อย The Birth of Venus ของ บอตติเชลลิ ทำให้คนเชื่อว่า นี่คือเทพธิดาวีนัสอย่างแท้จริง ต่างจากภาพวาดวีนัสก่อนหน้านี้ของศิลปินอย่าง ปอลล่าอีอูโล หรือ มาซาคโช ไม่ว่าจะเป็นด้านของเรือนร่างวีนัสในภาพ หรือสุนทรีย์แห่งสีสันในภาพ รวมทั้งดุลยภาพของ The Birth of Venus ภาพเชิงอีโรติกภาพนี้สวยงามเสียจนเราแทบไม่สนใจรายละเอียดของตัวเทพธิดา ที่อาจจะมีลำคอที่ยาวผิดสัดส่วนเกินไปเลย

ในการชื่นชมความงามของศิลปะภาพนู้ดหรือ อีโรติก โดยหลักการแล้วก็อาจมิได้แตกต่างจากการชมความงามของศิลปะโดยทั่วไปเท่าไรนัก นั่นก็คือ เราจะต้องพิจารณาว่าเรากำลังเห็นอะไรอยู่ ความงามของ ภาพนั้นอยู่ตรงไหน แยกแยะภาพเปลือยและภาพโป๊ออกจากกัน ค้นหาเบื้องหลังการทำงานของศิลปิน และความหมายในภาพวาด รวมทั้งสุดท้ายอย่าไปคำนึงถึงกฎตายตัว

คุณเห็นอะไรบ้าง

ภาพศิลปะบางภาพก็อาจจะนำเสนออย่างตรงไปตรงมา เช่น รูปของหญิงเปลือยนอนอยู่บนตั่งเตียง หากการพิจารณาความงามของภาพเขียนนั้น เราต้องมองอย่างพินิจพิเคราะห์ลงไปยิ่งกว่านั้น เส้นหรือรูปทรงหนึ่งบนภาพ อาจจะดูคล้ายเส้นผม หรืออาจจะเป็นลวดลายอะไรบางอย่าง นั่นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบในการจัดวาง ลงไปบนภาพ เมื่อเส้นรูปทรงคล้ายหนวด ไปประกอบอยู่กับ เส้นกรอบบางอย่าง ก็อาจจะกลายเป็นเพียงลายของเนคไทได้

โดยส่วนมากแล้ว การชื่นชมความงามของงานศิลปะ เรามักจะมองด้วยภาพรวมๆ มากกว่าจะมุ่งไปที่เส้น สี หรือขนาดของสิ่งใด สิ่งหนึ่งในภาพนั้น เช่น ตัวอย่างของภาพ The Birth of Venus ของ บอตติเชลลิ ที่สวยงามด้วยภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสัน หรือดุลยภาพ การทิ้งพื้นที่ว่าง ฯลฯ ที่กลมกลืนเสียจนไม่มีใครอาจจะติเรื่องลำคอ แขน หรือไหล่ที่ผิดปกติของวีนัสในภาพ

การตัดสินว่าภาพที่เราเห็นนั้นงามหรือเปล่าในเบื้องต้นนั้น ต้องสังเกตว่า ศิลปินได้ผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างกลมกลืนและลงตัวขนาดไหน โดยใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นสำคัญ งานชิ้นไหนที่คุณเดินไปพบแล้วสามารถสะกดสายตาของคุณได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นดวงตาของแบบในภาพ รอยยิ้ม หรือเรือนร่างที่ละมุนละไมก็ตาม

ความงาม

คราวนี้มาเริ่มต้นพิจารณาเรื่องความงามอย่างพินิจพิเคราะห์กันบ้าง โดย ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องการเจาะดูไปทีละส่วนของภาพ อาจจะเริ่มจากสิ่งที่ดึงดูดคุณมากที่สุด เช่น ดวงตาของแบบ ส่วนมากภาพเขียนที่เป็นที่ยอมรับว่าสวยงามนั้น นางแบบหรือนายแบบในภาพ มักจะมีดวงตาซึ่งเป็นธรรมชาติ

จากนั้นก็เริ่มพิจารณาไปถึง ความสมสัดส่วน สีสันของภาพที่กลมกลืน รูปทรงต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นภาพ รวมทั้งพื้นผิวของภาพด้วย จะสังเกตได้ว่า แม้ภาพเขียนที่มีความเก่าแก่นับพันๆ ปีแล้ว แต่พื้นผิวของภาพดังกล่าวก็ยังคงความสวยงามของสีสันอยู่ แสดงว่าศิลปินท่านนั้นไม่เพียงแต่เป็นจิตรกรฝีมือเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังมีเทคนิคที่เยี่ยมยอดอีกด้วย (ตัวอย่าง - งานของ ลีโอนาร์โด ดา วินชี "Lady with an Ermine" วาดไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1490 ตอนนี้ก็ยังมี พื้นผิวที่สวยงามอยู่)

ภาพที่จัดว่า ไม่งาม นั่นคือภาพที่เราดูแล้วรู้สึกว่า โป๊อย่างน่าเกลียด ไม่อยากดู กระอักกระอ่วน สะอิดสะเอียน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องราวในภาพ หรือการวาดที่โจ่งแจ้งในเรื่องเซ็กซ์จนเกินไปก็ตาม

ภาพเปลือยกับภาพโป๊

ภาพนู้ดหรือภาพเปลือยนั้น นางแบบในภาพอาจจะสวมเสื้อผ้าก็ได้ หากเมื่อเราดูแล้วภาพนี้ช่างให้อารมณ์อีโรติกเหลือเกิน ภาพนู้ดที่เรียกว่ามีศิลปะนั้นมักจะมุ่งไปที่อารมณ์แห่งความสุนทรีย์ วัตถุประสงค์ของภาพก็เพื่อจะแสดงเรือนร่างและกล้ามเนื้ออันสวยงามของหญิงและชาย โดยมิได้มีส่วนในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศแต่อย่างใด

การที่ภาพมนุษย์ไม่สวมเสื้อผ้าจะสื่อสารต่อผู้ชมอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับระดับที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารออกมาเป็นสำคัญ ภาพนู้ดส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยจินตนาการ ภาพโป๊เปลือยอาจจะเป็นเพียงภาพอีโรติกที่เต็มไปด้วยสุนทรีย์ หรืออาจจะกลายเป็นภาพแห่งความยั่วยวนยั่วยุทางเพศก็ได้ สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบของภาพ รวมทั้งประสบการณ์ของผู้ชมความงามในภาพดังกล่าวด้วยเช่นกัน ดังที่กล่าวมาข้างต้น ภาพนู้ดบางภาพอาจจะเป็นความงามเฉพาะกลุ่ม ไม่เป็นความงามแบบสากล เมื่อใดที่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจในการชมภาพ ภาพหนึ่ง หมายความว่า ภาพนั้นเริ่มกลายเป็นภาพโป๊ไปแล้วในสายตาของคุณ ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจจะชื่นชมว่า ภาพเดียวกันเป็นความงามทางศิลปะที่ลงตัว

จินตนาการเป็นสิ่งที่ยากจะควบคุม และจินตนาการก็เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนในการที่จะตัดสินว่า ภาพนั้นคือภาพโป๊หรือภาพเปลือย กันแน่

ความหมายในภาพ

ความหมายในภาพคือสิ่งสำคัญในการตัดสินความงามของศิลปะได้ที่ดีสุดอย่างหนึ่ง การที่เราได้รู้เบื้องหลังเบื้องลึกว่า ทำไม ศิลปินจึงปาดพู่กันสีนี้ลงไปตรงนี้ หรืออาศัยเทคนิคอื่นใดเติมเหลี่ยมมุมลงไปในภาพ เพื่อให้เกิดความรู้สึก ที่แตกต่างไปในภาพนั้น จะช่วยให้เราเข้าถึงความงามได้ง่ายขึ้นกว่าการตัดสิน ด้วยความรู้สึกของตัวเอง

ภาพเขียนชิ้นหนึ่งๆ จะไม่อาจจัดเป็นงานศิลปะได้เลย หากไม่มีการนำออกมาแสดง เสนอความคิดเห็นเบื้องหลังการวาดภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันด้วย

แม้ว่าการตีความจะเป็นเช่นเดียวกับรสนิยมและประสบการณ์ของแต่ละคน เช่นเดียวกับการชื่นชมความงามและการตัดสินว่า ภาพนั้นคือศิลปะหรือลามก อนาจาร แต่อย่างน้อยการได้รู้เบื้องหลังเบื้องลึกของชิ้นงานหนึ่งๆ ก็จะช่วยทำให้เราชื่นชมความงามได้ดียิ่งขึ้น และรู้ว่าศิลปินมีแรงบันดาลใจอย่างไร ขณะนั้น มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของศิลปิน จึงได้วาดภาพดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ชมความงามของภาพมีจินตนาการที่ย้อนรอยกลับไปยังยุคสมัยที่ศิลปินวาดภาพด้วย

ออกนอกกรอบ

ที่ว่ามาทั้งหมดทั้งมวลในการชื่นชมความงามของภาพเขียนโดยทั่วไป หรือความงามของภาพนู้ดนั้น สิ่งสำคัญก็ขึ้นอยู่กับรสนิยม ประสบการณ์ และวัฒนธรรมของคุณเองเป็นหลัก

บางคนก็อาจจะชื่นชมศิลปะในยุคเรอเนสซองซ์ ส่วนอีกคนก็อาจ จะชอบภาพนู้ดในยุคโมเดิร์นนิสม์ หรือนีโอ-โมเดิร์นมากกว่า และศิลปินของแต่ละยุคสมัยก็มีเทคนิค ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม และความ มุ่งหมายในการวาดภาพที่แตกต่างกัน เช่น ศิลปินในยุคเรอเนสซองซ์ อย่าง ซานโดร บอตติเชลลิ เน้นวาดภาพเกี่ยวกับตำนานทางศาสนา และการฟื้นฟูศิลปะในยุคกรีก-โรมันกลับมาใหม่ อาจให้ความงามในแง่ สุนทรียภาพ มากกว่าศิลปินอย่าง กุสตาฟ คลิมต์ หรือ เอกอน ชิเล ในสมัย นีโอ-โมเดิร์น ซึ่งวาดภาพถ่ายทอดชีวิตที่คับแค้น หรือศิลปินอเมริกัน เม็กซิกัน และแอฟริกัน ก็จะวาดหรือปั้นชิ้นงานด้วยวัตถุประสงค์และ สิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ดังนั้นกฎเกณฑ์ของที่หนึ่ง ก็อาจจะใช้ไม่ได้กับอีกที่หนึ่ง

ยอดจิตรกร อย่าง มิเคลังเจโล ลีโอนาร์โด ดา วินชี หรือศิลปินเรอเนสซองซ์คนอื่นๆ อาจจะทิ้งสไตล์ที่เขาเห็นในความเป็นจริง ด้วยความที่มุ่งทำงานตอบสนองการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และตอบสนองกับสาระทางด้านศาสนามากกว่า จะว่าด้วยเรื่องของผู้คนและสังคม

ส่วนศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ และโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ เช่น โคลด โมเนต์ ปิแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ เอ็ดการ์ เดอกาส์ ปอล เซซาน และ วินเซนต์ ฟาน โกะห์ กลับเป็นผลงานที่มีแนวทางตรงกันข้าม พวกเขาไม่วุ่นวายกับเรื่องศาสนาเลย แต่ย้อนกลับมาพูดถึงความเป็นไปในสังคมและผู้คนรอบๆ ตัวมากกว่า ซึ่งก็เป็นวิธีคิดที่แตกต่างไปจากศิลปินรุ่น อาวองต์-การด์ และ โมเดิร์นนิสม์ อีกนั่นเอง ที่คนกลุ่มนี้เน้นไปที่การนำเสนอสไตล์และภาพสัญลักษณ์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น อองรี มาทิส ปาโบล ปิกัสโซ ฯลฯ ที่ชิ้นงานนั้นเต็มไปด้วยไอเดียความคิด

ภาพนู้ดของพวกเขาอาจไม่มีความงามด้านสุนทรียภาพ หากทว่า ความงามอยู่ที่เบื้องหลังและความหมายในชีวิตของศิลปินเสียมากกว่า