วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ภาพถ่ายพอร์ตเทรต ของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน

ฟิลิปป์ อัลส์มัน คือ ช่างภาพ อเมริกันเชื้อสายลัตเวียน ภาพถ่ายชื่อดังที่สุดของเขา ก็คือ ภาพแนวเหนือจริง ชื่อ Dali Atomicus ซึ่งเป็นภาพที่ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ อย่าง ซัลวาดอร์ ดาลี กำลังกระโดด ร่วมกับแมวที่โผ ลงจากอากาศ กับกระป๋องน้ำที่ถูกโยนขึ้น อีกภาพหนึ่งที่ดัง ไม่แพ้กันก็คือ ภาพถ่ายหน้าตรงที่มากด้วยอารมณ์ความรู้สึกของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ โดยเบื้องหลังภาพนี้ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะกำลังพร่ำบ่นด้วยความเศร้าโศกเสียใจกับการค้นพบ ทางวิทยาศาสตร์ของตัวเอง ที่นำไปสู่การสร้างระเบิดปรมาณู ภายหลังภาพนี้นำมาใช้พิมพ์ลงแสตมป์ของสหรัฐในปี 1966

ระหว่างทศวรรษที่ 1940 ไปจนถึงทศวรรษที่ 1970 ภาพถ่ายพอร์ตเทรตรูปคนดังจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักแสดง นักคิด นักการเมือง ไฮโซ ไปจนถึงราชวงศ์ ฝีมือของ ฟิลิปป์ ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นปกหนังสือพิมพ์และนิตยสารชื่อดังของทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป อย่างเช่น นิตยสาร ลุค เอสไควร์ หนังสือพิมพ์ แซทเทอร์เดย์ อีฟนิ่ง โพสต์ แทบลอยด์ดัง อย่าง ปารีส์ มัตช์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิตยสาร ไลฟ์ นอกจากนั้น เขายังมีผลงานถ่ายภาพโฆษณาให้กับบริษัทใหญ่ๆ อย่าง เครื่องสำอางเอลิซาเบธ อาร์เดน เอ็นบีซี ไซมอน แอนด์ ชูสเตอร์ และฟอร์ด มอเตอร์

ในปี 1958 จากผลสำรวจฉบับหนึ่ง จัด ฟิลิปป์ อัลส์มัน ติดอันดับท็อปเทนช่างภาพที่ดีที่สุดของโลก พร้อมๆ กับช่างภาพคนดังๆ อย่าง เออร์วิง เพ็นน์ ริชาร์ด อเวดอน และแอนเซล อดัมส์ ฯลฯ

ชีวิตส่วนตัว

ฟิลิปป์ อัลส์มัน เกิดที่เมืองริกา ในประเทศลัตเวีย เขาศึกษาทางด้านวิศวกรรมที่เมืองเดรสเดน ในเยอรมนี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเขาได้เปิดสตูดิโอถ่ายภาพขึ้นในปี 1932

สไตล์ที่โดดเด่นในภาพถ่ายของเขาชนะใจผู้คนมากมายใน ไม่ช้า จึงไม่แปลกที่เขาจะได้งานถ่ายภาพคนเด่นคนดังขึ้นปกหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก และนิตยสารต่างๆ เป็นประจำ

หลังจากถ่ายภาพบุคคลหรือภาพพอร์ตเทรตจำนวนมากแล้ว ฟิลิปป์ ยังเริ่มจับงานถ่ายแฟชั่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฟชั่นหมวก รวมทั้งการรับจ้างถ่ายภาพส่วนตัวของลูกค้าไฮโซในเชิงแฟชั่น เพียง 4 ปีเท่านั้น เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นตากล้องภาพบุคคล ที่ดีที่สุดในฝรั่งเศส

ชีวิตมิใช่เรื่องง่ายๆ ช่างภาพอัจฉริยะอย่าง ฟิลิปป์ ก็เช่น คนธรรมดาที่มิใช่ข้อยกเว้น เมื่อกองทัพของนาซีเยอรมันบุกเข้ามายึดกรุงปารีส เป้าหมายของช่างภาพชื่อดังผู้นับถือศาสนายิวอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทว่า อเมริกาออกวีซ่าให้เพียงภรรยา ลูกสาว น้องสาว และน้องเขยของเขาที่ถือพาสปอร์ตฝรั่งเศส เท่านั้น ในขณะที่ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ผู้ถือพาสปอร์สลัตเวียหมดสิทธิ เขาจึงต้องหนีตายจากทหารนาซีมารออยู่ที่เมืองท่าอย่าง มาร์กเซยส์ ร่วมกับชาวยุโรปเชื้อสายยิวคนอื่นๆ ที่ถูกบีบ ให้ต้องออกจากยุโรป

ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเคยรู้จักกับน้องสาวของฟิลิปป์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 ช่างภาพชื่อดังจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศอเมริกาได้ เขาเดินทางมาถึงกรุงนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1940 โดยทั้งเนื้อทั้งตัวมีเพียงอุปกรณ์ถ่ายภาพเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น

ชีวิตใหม่ที่สดใส

จุดเปลี่ยนในชีวิตนอกจากจะเป็นการต้องเดินทางมาอเมริกาอย่างไม่ทันตั้งตัวแล้ว ยังต้องพูดถึงการที่ ฟิลิปป์ ได้พบกับ คอนนี ฟอร์ด นางแบบรุ่นใหม่ ไฟแรง และมีแนวคิดที่ไม่ เหมือนใคร เธอยอมให้เขาถ่ายรูปฟรี เพื่อแลกกับพอร์ตโฟลิโอส่วนตัวที่แปลกแหวกแนว

หลังจาก เอลิซาเบธ อาร์เดน เจ้าของเครื่องสำอางชื่อดัง ได้เห็นภาพถ่ายชุดนี้ ในพอร์ตโฟลิโอของ คอนนี ฟอร์ด โดยเฉพาะภาพที่เธอถ่ายคู่กับธงชาติอเมริกัน ทำให้ค่าย เครื่องสำอางชื่อดังแบรนด์อเมริกันได้ไอเดียใหม่ ออกแคมเปญลิปสติก วิคตอรี เร้ด ทำนองว่า ทาเพื่อชาติ อะไรประมาณนั้น (สีแดงสดเป็นที่นิยมมากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) และแน่นอนว่า ฟิลิปป์ และคอนนี กลายเป็นคู่ขวัญในการถ่ายภาพโฆษณาชุดดังกล่าว

ในปี 1942 นิตยสารชื่อดังของอเมริกาในขณะนั้น อย่าง ไลฟ์ จ้าง ฟิลิปป์ อัลส์มัน ถ่ายภาพแฟชั่นหมวกใหม่ล่าสุด เขาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพโคลสอัพนางแบบยิ้มกว้าง ภายใต้หมวกดีไซน์ล่าสุดซึ่งประดับด้วยขนนก ไลฟ์ ฉบับดังกล่าว ขายดิบขายดีจนกระทั่งนิตยสารดังฉบับนี้จ้างฟิลิปป์เป็นการถาวร โดยเขาได้ถ่ายภาพปกนิตยสารไลฟ์เล่มถัดๆ มาอีกกว่าร้อยฉบับ ก่อนที่นิตยสารจะเลิกออกเป็นรายสัปดาห์ในปี 1972

บุกเบิกมุมมองใหม่ในสายตาอเมริกันชน

ครั้งแรกที่ ฟิลิปป์ อัลส์มัน เริ่มทำงานให้นิตยสารไลฟ์นั้น หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกมาสู่ท้องตลาดได้เพียง 6 ปีเท่านั้น และการถ่ายภาพสไตล์ โฟโต้เจอร์นัลลิสม์ ก็ยังเป็นสิ่งใหม่มากที่อเมริกา

ก่อนหน้าที่จะมีนิตยสารไลฟ์ อเมริกันชนรู้เรื่องราวต่างๆ ของโลก จากหนังสือพิมพ์ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือรายงานข่าว ที่เหลือก็จากสื่อวิทยุ ทว่า การเกิดของนิตยสารเชิงข่าวสร้างมุมมองใหม่ให้พวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพถ่ายที่เข้ามาบอกเล่า ถ้อยคำนับพันที่ยากจะบรรยายเป็นความสละสลวยแห่งตัวอักษรได้ครบถ้วน

นอกจากนิตยสารไลฟ์จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง รวมไปถึงความเป็นไปต่างๆ ของโลกแล้ว ยังถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ต่างๆ ภาพแห่งความประทับใจ ภาพที่ยากจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ยังมีเรื่องราวของโลกบันเทิง ดารานักแสดง ศิลปินหลากหลาย ซึ่งคนที่ร่วมสมัยกล่าวว่า ไลฟ์ พูดถึง “โลก” ได้อย่างเหลือเกิน (so much of the world) อันเป็นสิ่งที่คนอเมริกันไม่เคยสัมผัสมาก่อน เมื่อมาพูดตอนนี้ คนในยุคเราอาจจะไม่เข้าใจ เนื่องเพราะปัจจุบันมีสื่อ มากมายที่ออกมาในทำนองคล้ายกัน เช่น นิตยสารไทม์ และนิวส์วีค และโฟโต้เจอร์นัลลิสม์ ก็กลายเป็นศาสตร์ที่คนจำนวนมากคุ้นเคยกันดี ต่างจากในสมัยแรกเริ่มของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คน ในแต่ละภาพที่เขาถ่ายขึ้นปกนิตยสาร ไลฟ์

อย่างไรก็ตาม หลายๆ ภาพก็ยังคงสร้างความประทับใจ มากระทั่งถึงทุกวันนี้

โฟโต้เจอร์นัลลิสม์และเซอร์เรียลลิสม์

สิ่งที่โดดเด่นในผลงานภาพถ่ายบุคคลของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน นอกจากความเป็น โฟโต้เจอร์นัลลิสม์ แล้ว งานจำนวนมาก ของเขายังมีวิธีคิดแบบ เซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งมิใช่เรื่องใหม่สำหรับช่างภาพชื่อดัง หลังจากได้พบกับ ซัลวาดอร์ ดาลี แต่อย่างใด

ย้อนไปเมื่อครั้งยังทำสตูดิโอถ่ายภาพอยู่ในกรุงปารีส เขา ได้ศึกษาภาพเขียนและภาพถ่ายของศิลปินชื่อดังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพของศิลปินในแนว เซอร์เรียลลิสม์ ซึ่ง ตัวเขาเองก็เชื่อและยึดวิถีแห่งแนวทางดังกล่าวด้วย เนื่องเพราะเขาต้องการจะสร้างความแปลกใหม่ และสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมผลงาน บางครั้งเทคนิคเซอร์เรียลลิสม์ที่เขานำมาใช้ในงานถ่ายภาพพอร์ตเทรตก็เพื่อจะทำให้ภาพถ่ายบุคคลธรรมดา รวมทั้งภาพถ่ายแฟชั่น กลายเป็นภาพที่เต็มไปด้วยอารมณ์แบบสุดโต่ง และได้ผลงานภาพถ่ายที่ดูเหมือนจะยิ่งเน้นบุคลิกภาพของนาง/นายแบบให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

ผลงานชิ้นหนึ่งที่เขาทดลองถ่ายด้วยวิธีการนี้ คือ ภาพของนักแสดงตลกคนหนึ่งจากค่ายเอ็นบีซี ที่เขาถ่ายกับฉากขาว เปล่าเปลือย ศิลปินตลกยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีสิ่งอื่นใดประดับเพิ่มเข้าไป ทว่า ความเรียบง่ายครั้งนั้น กลับสามารถ ดึงบุคลิกตลกๆ ของนักแสดงผู้นั้นออกมาอย่างโดดเด่น

อีกหลายคราวที่เขาใช้วิธีการของเซอร์เรียลลิสม์ค้นหาความเซ็กซี่จากภายใน คือ ภาพถ่ายของ มาริลีน มอนโร และบริจิตต์ บาร์โดต์ เซ็กซ์สตาร์ของอเมริกาและฝรั่งเศส ภาพทั้ง 2 ชุด แสดงออกทั้งความสง่างามอันโดดเด่น ความเซ็กซี่อันล้นเหลือ รวมทั้งพลังอำนาจจากภายในของเธอทั้งคู่

ไม่น่าแปลกเลย ที่เขาจะเป็นเพื่อนสนิทกับ ซัลวาดอร์ ดาลี และมีภาพถ่ายที่สร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ท่านนี้หลายภาพด้วยกัน นับจากการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ตั้งแต่ปี 1941 เป็นต้นมา โดยเฉพาะภาพ Dali Atomicus ที่กล่าวถึงไปแล้ว

ความเคลื่อนไหวในความนิ่ง

ตั้งแต่ปี 1950 สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี ได้จ้างให้ ฟิลิปป์ ถ่ายภาพนักแสดงตลกในสังกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มิลตัน เบอร์ลี เอ็ด วินน์ ซิด ซีซาร์ กรูโช มาร์กซ์ บ็อบ โฮป เร้ด สเกลตัน และอื่นๆ อีกมากมาย ต่างเดินทางมายังสตูดิโอ ถ่ายภาพของฟิลิปป์ ด้วยทีท่าหลากหลาย จากบทบาทโดดเด่นทางการแสดงของพวกเขา

ด้วยความสามารถพิเศษในตัวของศิลปินตลก ประกอบกับวิธีการถ่ายภาพแนวจิตวิทยาของ ฟิลิปป์ ทำให้เกิดชิ้นงานที่หลากหลาย แม้กระทั่งการถ่ายศิลปินเพียงคนเดียว ก็อาจจะทำให้เกิดผลงานจำนวนมากที่แตกต่างกัน โดยนักแสดงตลกส่วนใหญ่ มักจะชอบเคลื่อนไหวไปมาไม่หยุดนิ่ง โดยมักจะชอบกระโดดขณะถ่ายภาพ ทำให้ผลงานของฟิลิปป์ส่วนหนึ่งเต็มไปด้วยภาพคนกระโดด เช่นเดียวกับภาพซัลวาดอร์ ดาลี ที่เลื่องชื่อของเขา

เมื่อ ฟอร์ด มอเตอร์ มาจ้างให้เขาถ่ายภาพผู้บริหารในโอกาสครบรอบ 50 ปีของบริษัท ฟิลิปป์จึงลองให้ทั้งครอบครัวของเฮนรี่ ฟอร์ด กระโดดเพื่อถ่ายภาพพร้อมกัน โดยทั้งหมดเห็นด้วยกับไอเดียนี้ ทว่า เอ็ดเซล ฟอร์ด ภรรยาของ เฮนรี่ สงสัยเพียงว่า จะให้เธอกระโดดทั้งๆ ที่ใส่รองเท้าส้นสูงนี่เลย หรือ? หลังจากทดลองซ้อมโดดแล้ว ในที่สุด ก็ออกมาเป็น ภาพถ่ายที่น่าประทับใจ

หลังจากนั้น ฟิลิปป์ อัลส์มัน ยังขอให้ลูกค้าของเขาจำนวนมาก “กระโดด” ขณะถ่ายภาพ หลายคนปฏิเสธ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เห็นว่า ไม่เห็นจะเสียหายอะไร อย่าง ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ก็กระโดดให้เขาถ่ายภาพในทำเนียบขาว ขณะที่ อดีตกษัตริย์อังกฤษ อย่าง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ 8 ก็ทรงกระโดด ถ่ายภาพพร้อมกับคนรักชาวอเมริกันของพระองค์

เหตุที่ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ประทับใจภาพกระโดดเป็นพิเศษ จนกระทั่งนำมาเป็น “มุก” ในภาพถ่ายของเขาหลายๆ ครั้ง ก็เพราะเขาเห็นว่า คนจะแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาเมื่อยามที่เขากระโดด

ภาพถ่ายบุคคลเชิงจิตวิทยา

การเป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน มิใช่ได้มาด้วยการตั้งกล้องและกดชัตเตอร์เท่านั้น หากทว่า ในการ ถ่ายภาพพอร์ตเทรตของเขานั้น เต็มไปด้วยการตีความเข้าไปถึงความรู้สึกนึกคิดภายใจจิตใจของผู้เป็นแบบ รวมทั้ง การดึงเอาตัวตน และบุคลิกภาพที่แสดงความเป็นตัวของคนคนนั้นอย่างเปี่ยมล้น ถ่ายทอดลงในภาพถ่าย

ในปี 1952 ภาพของ มาริลีน มอนโร ที่ได้ตีพิมพ์ลงปกนิตยสารไลฟ์ สร้างชื่อเสียงมากมายให้ ฟิลิปป์ อีกครั้งหนึ่ง เขามอง มาริลีน ออกอย่างทะลุปรุโปร่ง กระทั่งสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายของเซ็กซี่สตาร์ ผู้กำลังถูกต้อนให้อยู่ใน มุมอับ ไม่อาจจะหนีออกไปจากสิ่งที่ผู้คนยกยอปอปั้น ผลักดันให้เธอมายืน ณ ตรงนี้ได้พ้น ภาพที่เธอยิ้ม ยั่วยวน และ หยอกล้อกับกล้อง ระหว่างกำแพง 2 ด้าน ด้านขาวและด้านดำนั้น ลึกๆ แล้วเต็มไปด้วยความเศร้า โดดเดี่ยว และไร้ทางออก

เหตุที่ ฟิลิปป์ มีวิธีคิดแบบนี้อาจเนื่องเพราะได้รับอิทธิพลจากนักคิดจำนวนมาก ในบรรยากาศบ้านเมือง และศิลปินที่ฝรั่งเศส

ขณะที่ฝั่งอเมริกา เพิ่งจะรู้จัก ตื่นเต้น และทดลองวิธีการ ทำงานแนวนี้ ก็กลายเป็นวิถีทางธรรมดาของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ไปแล้ว

ซัลวาดอร์ ดาลี 'ผมไม่ได้บ้า'

ว่ากันว่า อัจฉริยภาพ กับ ความบ้า มักจะมีเส้นบางๆ คั่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งบางครั้งก็ยากแสนยากที่จะแยกแยะว่า คนไหนกันแน่คืออัจฉริยะ และจริงๆ แล้วคนไหนเป็นคนบ้า

เช่นที่ ซัลวาดอร์ ดาลี บอกมาตลอดชีวิตว่า เขาไม่ได้บ้า แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะลบล้างภาพเดิมๆ ที่มีคนเคยเชื่อเรื่องศิลปินเซอร์เรียลลิสต์อัจฉริยะคนนี้ จริงๆ แล้วสติไม่ค่อยจะดี อย่างไรก็ตาม ซัลวาดอร์ก็เป็นศิลปินแถวหน้าสำหรับยามที่เราเอ่ยถึงศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสม์ ทว่า ขณะเดียวกันเขาก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มศิลปินประเภท "โกรแตสเกอ" หรือ ศิลปินวิตถาร เข้าไปอีก

*วัยเด็ก

ซัลวาดอร์ ดาลี เกิดเมื่อปี 1904 ที่ฟิเกอรัส ในประเทศสเปน ดูเหมือนว่าเขาจะใช้ชีวิตในโลกที่ไม่เป็นจริงมาตั้งแต่เป็นเด็ก พี่ชายของเขาเสียชีวิตก่อนที่ซัลวาดอร์จะเกิด 9 เดือน พ่อของเขา ซัลวาดอร์ ดาลี ซีเนียร์ เชื่อว่าเขาคือพี่ชายที่กลับมาเกิดใหม่ และพยายามทำให้เขาเชื่อตลอดมา เขาถูกพาไปที่หลุมศพของพี่ชายและได้รับการปฏิบัติราวกับราชาที่บ้านด้วยความเชื่อดังกล่าว และพวกเขากลัวจะสูญเสียบุตรชาย (ที่อุตส่าห์กลับมาเกิดใหม่) เป็นครั้งที่สอง

เขาเริ่มรู้ตัวว่ามีความสามารถทางด้านศิลปะตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ครั้งหนึ่งเขาไปเยี่ยมครอบครัว ปิชอต ที่เป็นศิลปินกันทั้งบ้าน โดย รามอน ปิชอต เป็นจิตรกร ส่วน ริคาร์ด ปิชอต เป็นนักเชลโล คนในครอบครัวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอย่างสูง กระทั่งภายหลังเขามีภาพเขียน ชื่อ Three Young Surrealists Women ออกมา

ในวัยเด็กเขาเริ่มต้นจากการวาดรูปทิวทัศน์ที่สวยงามในแคว้นคาตาลัน อันเป็นบ้านเกิด ภาพเหล่านี้ยังแสดงออกถึงความผูกพันกับถิ่นเกิด รวมทั้งครอบครัวของ ซัลวาดอร์ ดาลี

เขาศึกษาศิลปะกับอาจารย์ชื่อ ฆวน นูเยส ที่โรงเรียนมัลติเพิ่ล ดรออิง พื้นฐานของเขาดีมากแถมยังได้รับการสนับสนุนจากบิดาในการจัดนิทรรศการเดี่ยวภาพดรออิงให้ซัลวาดอร์ที่บ้านของตัวเองอีกด้วย แม้จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ แต่ก็พอที่จะทำให้ทุกคนต้องตื่นตะลึงกับความสามารถของเด็กน้อย

มารดาของซัลวาดอร์เสียชีวิตในปี 1921 ขณะนั้นเขาเรียกตัวเองว่า ศิลปินอิมเพรสชัน และยังคงได้แรงบันดาลใจจาก รามอน ปิชอต ในการเขียนภาพทิวทัศน์แห่งคาตาลัน บิดาของเขาสมรสครั้งใหม่กับน้องสาวมารดาเขาเองในเวลาไม่ช้า ในขณะที่ซัลวาดอร์เริ่มมีปัญหากับบุคลิกภาพของตัวเองขณะที่กำลังจะก้าวจากวัยรุ่นไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่เขาเริ่มจะไม่สนิทสนมกับบิดาและครอบครัวอีกต่อไป โดยเขาย้ายมาศึกษาต่อทางด้านศิลปะในกรุงมาดริด

ที่หอพักนักศึกษา ซัลวาดอร์ ในวัย 18 ได้เจอกับเพื่อนมากมายและกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญในกลุ่มหัวกะทิ กลุ่มของเขามีคนดังๆ อย่าง หลุยส์ บุนเนล (ภายหลังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง) และ เฟรเดอริโก การ์เซีย ลอร์กา (ภายหลังเป็นกวีชื่อดัง) ทั้ง 2 คนนิยมในแนวคิดแบบปัจเจกและมีอิทธิพลต่อความคิดและงานของซัลวาดอร์มากมาย

*ปูทางสู่เซอร์เรียลลิสม์

ในขณะที่เพื่อนร่วมสถาบันยังคงยึดมั่นในแนวทางของอิมเพรสชันนิสม์อยู่ ซัลวาดอร์ ดาลี เริ่มทดลองแนวทางแบบคิวบิสม์ ในปี 1923 เวลาทำงานเขามักจะขังตัวอยู่เพียงลำพังในห้อง ไม่ยอมสมาคมกับใครจนกว่างานจะเสร็จ ว่ากันว่าเขาเป็นหนึ่งในคนที่บุกเบิกศิลปะแนวฟิวเจอริสม์ อันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างคิวบิสม์ไปสู่เซอร์เรียลลิสม์ และเขาก็กลายเป็นศิลปินรุ่นเยาว์ในกลุ่มอาวองต์-การด์ไปโดยปริยาย

เขาถูกไล่ออกจากสถาบันศิลปะ เนื่องเพราะปฏิเสธที่จะเข้าสอบของการสอบปากเปล่า เมื่อบอกอาจารย์ว่า โปรเจ็กต์สำหรับจบการศึกษาของเขาจะเกี่ยวกับ Raphael กระนั้น เขาก็ไม่สนใจใบปริญญาแต่อย่างใด

ในปี 1928 ซัลวาดอร์ ได้พบกับ ปาโบล ปิกัสโซ ซึ่งส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อผลงานของเขา รวมทั้งการหันไปสนใจแนวทางเซอร์เรียลลิสม์อย่างจริงจัง ปีเดียวกันนี้เองที่ผลงานของเขาได้รับการนำไปจัดแสดงยังต่างประเทศ โดยภาพวาดสีน้ำมัน Basket of Bread ได้ไปอวดผู้คนที่คาร์เนกี อินเตอร์เนชันแนล เอ็กซ์โพสิชัน ในพิตต์สเบอร์ก เพนซิลวาเนีย ร่วมกับผลงานแนวเรียลลิสม์อื่นๆ จากทั่วโลก

*ยุคเซอร์เรียลลิสม์เต็มตัว

ในปี 1929 มี 2 สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ซัลวาดอร์ ดาลี สิ่งแรกคือการที่เขาได้พบกับ กาล่า เอลูอาร์ด ภรรยาของ พอล เอลูอาร์ด กวีชาวฝรั่งเศส เขารู้สึกว่าไม่อาจจะแยกจากเธอได้ จึงย้ายมาปักหลักอยู่ที่ฝรั่งเศสและคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในกรุงปารีส

ทว่า เขาไม่อาจจะอยู่อย่างไม่มีรายได้ในกรุงปารีส ซัลวาดอร์กับกาล่าจึงย้ายไปอยู่ในชนบทอย่างสันโดษเพียง 2 คน เขาสร้างงานศิลปะเพื่อที่จะดำรงชีพอยู่ได้ โดยจัดแสดงงานเพื่อที่จะขายรูปและนำเงินมาจุนเจือครอบครัว ทว่า วิญญาณเซอร์เรียลลิสม์ในตัวของเขาทวีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจัดนิทรรศการครั้งถัดไปๆ ก็ยิ่งจะมีความเป็นเซอร์เรียลลิสม์มากขึ้น ในที่สุดซัลวาดอร์ก็ไม่อาจจะกักเก็บความรู้สึกต้องการแสดงออกทางด้าน เซอร์เรียลลิสม์อย่างแรงกล้าที่อยู่ในใจของเขาได้ แม้ว่าเขาจะลาออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในกรุงปารีสมานานแล้วก็ตาม

ในปี 1934 ซัลวาดอร์ ดาลี ต้องการจะวาดภาพของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หัวหน้าพรรคนาซีเยอรมันออกมาในแนวเซอร์เรียลลิสม์มาก ทว่า การจะได้วาดภาพใบหน้าของเขาคงจะเป็นเรื่องยากเย็น ซัลวาดอร์จึงแสดงออกมาด้วยการวาดสัญลักษณ์เกี่ยวกับเขา เป็นฉากสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างฮิตเลอร์กับลอร์ดแชมเบอร์เลน เป็นภาพ Beach Scene with Telephone ที่เล่าเรื่องเหตุการณ์การลงสนธิสัญญาที่กรุงมิวนิค ในปี 1938

ซัลวาดอร์ ดาลี เคยแต่งตัวเป็นผู้หญิงแถมประดับศีรษะด้วยดอกไม้เพื่อโปรโมตนิทรรศการศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ของตัวเองที่หอศิลป์แห่งชาติสเปน แม้จะลงทุนถึงขนาดนั้น ทว่า ภาพเขียนแนวดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ขายออกยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอังกฤษที่มีศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์อยู่เพียงคนเดียว ก็คือ เอ็ดเวิร์ด เจมส์ และคนอังกฤษก็ไม่เคยนิยมแนวทางนี้มาก่อนเลย

Beach Scene with Telephone ที่เขาเขียนเสร็จในปี 1938 นั้นกลายเป็นภาพดังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องเพราะ ซัลวาดอร์ ดาลี ซึ่งเป็นผู้วาดขึ้นถูกนาซีตามล่าตัว เขาและกาล่าลี้ภัยไปหลบซ่อน ณ ชนบทของฝรั่งเศส แต่ภาพเขียนจำนวนมากในแนวเซอร์เรียลลิสม์ของเขาถูกทำลายไประหว่างสงคราม และภายหลังเจ้าตัวต้องหนีไปไกลถึงอเมริกา

*สูงสุดคืนสู่สามัญ

ซัลวาดอร์กลับคืนสู่ความเป็น "ดาลี" ยุคคลาสสิก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องเพราะข้าวยากหมากแพง รวมทั้งกาล่าก็บอกเขาว่า อย่าไปยึดติดกับเกียรติยศของเซอร์เรียลลิสม์เลย ลองหันมาวาดภาพที่เรียบง่ายและขายได้จะดีกว่า

ซัลวาดอร์เชื่อว่าเธอคิดถูกและเริ่มหันมาวาดภาพที่สะท้อนเนื้อหาความเป็นไปในสังคม โดยเฉพาะเรื่องของนิวเคลียร์หรือระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงหลังสงครามโลก

กระนั้น ภาพเขียนของเขาก็ยังคงมีกลิ่นอายของเซอร์เรียลลิสม์อยู่นิดหน่อย ภาพที่เด่นดังในยุคนี้ ได้แก่ Nature Morte Vivante (Still Life-Fast Moving)

*"ผมไม่ได้บ้า"

ไม่ว่าจะปฏิเสธอย่างไร หลายๆ คนก็ยังเชื่อว่า ซัลวาดอร์ ดาลี เป็นบ้า แม้เขาจะประสบความสำเร็จทางด้านศิลปะอย่างล้นเหลือ โดยนักวิจารณ์ศิลปะต่างพยายามที่จะพูดถึงเรื่องราวการสะท้อนความผิดปกติทางจิตที่ปรากฏออกมาในงานของเขา และต่างยังตั้งประเด็นให้ขบคิดกันว่า ภาพเขียนของเขานั้นเป็นงานศิลปะอันสูงส่ง หรือเป็นเพียงศิลปะวิตถารที่แสดงออกถึงความ "ไม่เต็ม" ในสมองของเขากันแน่

ความผิดปกติและความพิเศษก็คงแยกออกจากกันได้ยากลำบากพอๆ กับอัจฉริยะและความบ้า อย่างไรก็ตาม ความสามารถและความชำนาญในฝีแปรงที่สร้างสรรค์ให้เกิดรูปภาพที่มีสีสันสวยงาม ไม่ว่าเนื้อหาที่สื่อออกมาทางภาพจะเป็นเรื่องราวใดนั้น ปราศจากผู้ใดจะกังขาในฝีมือของเขา

ความคิดที่เบี่ยงเบนไปจากปกติ ผิดศีลธรรม และดูคล้ายจะเล่าถึงความรุนแรง เป็นสิ่งที่ยังคงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในเนื้อหาของผลงานของ ซัลวาดอร์ ดาลี ที่หลายคนบอกว่า บางครั้งมันก็รบกวนจิตใจในการที่จะรื่นรมย์กับผลงานเซอร์เรียลลิสม์ของศิลปินคนนี้

ในขณะที่คนที่เห็นไปเชิงที่ผลงานของซัลวาดอร์นั้นเลอเลิศเป็นพิเศษ ก็ว่าไปในทางตรงกันข้าม โดยบอกว่า ภาพเขียนเซอร์เรียลลิสม์ของ ซัลวาดอร์ ดาลี เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดอันลุ่มลึก รวมทั้งองค์ประกอบภาพและสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในภาพล้วนผ่านการกลั่นกรองและมาจากแรงบันดาลใจในส่วนลึก

ศิลปะอาจจะคล้ายกับแฟชั่นที่เป็นเรื่องของรสนิยม หลายคนอาจจะรื่นรมย์ในแนวทางที่แตกต่างกัน

ผลงานของ ซัลวาดอร์ ดาลี อาจไม่ใช่ชิ้นงานโรแมนติกที่มีสีสันหวานๆ ชวนรื่นรมย์ หรือเป็นผลงานสูงส่งที่พูดถึงเทพเจ้าองค์ต่างๆ ทว่า เขาก็เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญในการนำพาแวดวงศิลปะตะวันตกให้เข้าสู่ฟิวเจอริสม์และเซอร์เรียลลิสม์อย่างเต็มรูปแบบ

อาร์ตเดโค ความงาม ณ ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่อิทธิพลของศิลปะจากต้นศตวรรษที่ 20 หรือที่รู้จักกันดีว่า ทศวรรษที่ 20 กลับมามีอิทธิพลต่อสังคมร่วมสมัย อาจจะด้วยเพราะสไตล์ที่ดูสง่างามและเรียบง่าย ทำให้ความงามของ "อาร์ตเดโค" ยังคงใช้การได้และเป็นที่นิยมข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน

lรู้จัก "อาร์ตเดโค"

"อาร์ตเดโค" คือ ยุคแห่งศิลปะที่เต็มไปด้วยสไตล์ที่งามสง่า ศิลปะ "อาร์ตเดโค" เฟื่องฟูอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 20 ถึงทศวรรษที่ 30 นับว่าเป็นช่วงต่อเนื่องจากงานศิลปะลวดลายวิจิตรแบบ "อาร์ตนูโว" ลายเครือเถาอันวิจิตรอ่อนช้อยค่อยคลี่คลายเป็นเส้นสายที่เรียบง่ายขึ้น คล้ายๆ กับลวดลายกราฟฟิกในยุคสมัยของ "อาร์ตเดโค" นี้

"อาร์ตเดโค" จัดอยู่ในศิลปะยุคโมเดิร์น โดยเป็นศิลปะในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งชิ้นงานที่เด่นๆ มักจะเป็นเรื่องที่ย้อนกลับมาใกล้ตัว หรือเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นงานศิลปะที่จับต้อง ใช้สอยได้ มากกว่าจะเป็นศิลปะที่ได้เพียงแต่ชื่นชมความงามด้วยสายตาเท่านั้น นอกจากชิ้นงานศิลปะแบบเพียวอาร์ต หรือไฟน์อาร์ตแล้ว "อาร์ตเดโค" ยังโดดเด่นสอดแทรกอยู่ในงานสถาปัตยกรรม และงานดีไซน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานออกแบบทางสายแฟชั่น ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และลายพิมพ์บนผืนผ้าต่างๆ ล้วนยังเป็นแรงบันดาลใจให้วงการแฟชั่นหลายยุคหลายสมัย มาจนถึงปัจจุบันทีเดียว

ศิลปะหลักๆ ในยุค "อาร์ตเดโค" นั้น ได้รับการสร้างสรรค์ระหว่างช่วงต่อของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยมีวิวัฒนาการมาจากศิลปินในยุคเริ่มต้นของยุคสมัย ซึ่งสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมาตอบสนองการปฏิวัติของวงการวิทยาศาสตร์ สังคม และเหตุการณ์ต่างๆ ทาง การเมืองในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

"อาร์ตเดโค" ต่างจากการเคลื่อนไหวของศิลปะในช่วงอื่นๆ เท่าที่เคยมีมา "อาร์ตเดโค" แพร่หลายสู่สังคมโลกในวงกว้างอย่างรวดเร็ว คล้ายๆ กับเป็นป๊อปอาร์ตของช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทุกวันนี้ ศิลปะ "อาร์ตเดโค" ยังคงได้รับการนำกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ ทั้งสไตล์ในงานปั้น งานแฟชั่น รวมทั้งลายพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นเพียงวิธีคิดและวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยอันเป็นจุดกำเนิดเท่านั้น ทว่า ยังคงมีอิทธิพลต่อยุคสมัยต่อๆ มาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะในแวดวงแฟชั่นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ครั้งแรกที่ "อาร์ตเดโค" กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังจากช่วงยุคสมัยของตัวเอง ก็คือ เมื่อปี 1966 โดยกลับมาในงานออกแบบ เครื่องตกแต่งบ้านในงานแสดงสินค้าตกแต่งบ้านย้อนยุคไปในปี 1925 ที่ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่บัดนั้น ศิลปะ "อาร์ตเดโค" ก็กลับมาโดดเด่นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

ศิลปะแบบ "อาร์ตเดโค" ส่วนมากออกมาในรูปแบบของโปสเตอร์ภาพพิมพ์ภาพโฆษณายุคแรกๆ โปสเตอร์ภาพยนตร์ หรือใบปิดหนังในช่วงทศวรรษที่ 20 นั้นล้วนเป็นอิทธิพลจาก "อาร์ตเดโค" เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น เช่น อาคารไครส์เลอร์ในอเมริกา ในฝั่งของแฟชั่น ก็วนเวียนอยู่ตั้งแต่ พอล ปัวเรต์ แอร์เต้ รวมไปถึงงานออกแบบฉากของ เซดดริก กิบบอน ในด้านงานจิตรกรรมที่มีสไตล์ของ "อาร์ตเดโค" ได้แก่ ผลงานของ ทามาร่า เลมปิกคา ฯลฯ


lประวัติศาสตร์ และอิทธิพลต่อ "อาร์ตเดโค"

ในยุคสมัยแห่งการกำเนิด "อาร์ตเดโค" จริงๆ นั้น ตัวตนของ "อาร์ตเดโค" เองไม่ได้เป็นสิ่งที่คนในยุคนั้นเชื่อถือว่าเป็น "ศิลปะ" สักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเรียกกันมาว่า เป็น "สไตล์" ของยุคสมัยเสียมากกว่า ความจริงแล้วในการออกแบบสถาปัตยกรรม เสื้อผ้า ภาพพิมพ์ รวมทั้งจิตรกรรมทั้งหลายนั้น ล้วนมีอิทธิพลของศิลปะยุคโมเดิร์น สำหรับชื่อเรียกว่า "อาร์ตเดโค" นั้นก็ได้มาจากงานแสดงสินค้าตกแต่งบ้านย้อนยุค ปี 1925 ที่จัดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อปี 1966 นั่นเอง

"อาร์ตเดโค" คือศิลปะที่แสดงความผสมผสานระหว่างงานในทศวรรษที่ 20 และทศวรรษที่ 30 โดยเฉพาะอิทธิพลของ "เกย์" ที่เริ่ม มีการเปิดเผยตัวตนในสังคมมากขึ้น และส่วนใหญ่พวกชาวเกย์มักจะมีอิทธิพลในแวดวงบันเทิงและแฟชั่น นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าว ยังเป็นยุคสมัยแห่งความฟุ้งเฟ้อ และความเหลวไหลไร้สาระ

พร้อมๆ กับจุดพลิกผันทางสังคมที่ผู้หญิงทั้งหลายลุกขึ้นมาสลัด คอร์เส็ท หรือเครื่องรัดทรง กับกระโปรงทรงสุ่มทิ้งไป หันมานิยมใส่กางเกง หรือไม่ก็กระโปรงทรงหลวมสบาย ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิมีเสียง และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น สามารถที่จะสวมกระโปรงสั้นโชว์หัวเข่า และ สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ สำหรับอิทธิพลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็นับว่ามีอิทธิพลต่อศิลปะที่เรียกในภายหลังว่า "อาร์ตเดโค" ไม่น้อย ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในโลกของการทำงาน เนื่องจากผู้ชายต้องออกไปรบ แม้เมื่อสงครามสงบลงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ช่วงเวลาแห่งความอึมครึมหลังสงครามโลก มิใช่เพียงอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม ยังมีการ ล่มสลายของตลาดหุ้นวอลสตรีท ที่เพิ่มความขมุกขมัวและเคร่งเครียดให้บรรยากาศของสังคมยุคนั้นเข้าไปอีก ตึกรามบ้านช่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตึกระฟ้าที่สวยงามตระการตาจำนวนมาก คือการระบายออกถึงความเครียดแห่งยุคสมัย

ผู้คนส่วนใหญ่เกิดมาในยุคที่ไม่เคยมีกระแสไฟฟ้าและโทรศัพท์ใช้ มาก่อน ทั้ง 2 สิ่งนี้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างของช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษที่ 20 และ 30 วิถีชีวิตผู้คนที่ผันเปลี่ยน จากการมีเครื่องบินที่สามารถพาตัวเองข้ามทวีปได้ในระยะเวลาอันสั้น โทรศัพท์กลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน แล้วยังมีเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรทัศน์ ที่เป็นผลผลิตจากการมีกระแสไฟฟ้านั่นเอง


lสง่างามแบบ "อาร์ตเดโค" สไตล์

เนื่องเพราะส่วนมาก "อาร์ตเดโค" มักจะแพร่หลายในงานออกแบบตกแต่งบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ สไตล์ของ "อาร์ตเดโค" เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากและความหม่นมัวของสงครามและเศรษฐกิจอันตกต่ำ อาคาร บ้านเรือนจึงมักเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเรียบๆ ไม่มีลวดลายประดับประดาที่วิจิตรอ่อนช้อย ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเหมือนเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ที่เกิด ขึ้นมาจากอุตสาหกรรมและการมีกระแสไฟฟ้า

หากว่าเราจะมองกันในแง่ของศิลปะ "อาร์ตเดโค" ได้แรงบันดาลใจจากความเคลื่อนไหวของศิลปะยุคใหม่หลายๆ สไตล์ประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น คิวบิสม์ ฟิวเจอริสม์ รวมทั้ง คอนสตรัคทีฟิสม์ อย่างไรก็ตาม สไตล์ของ "อาร์ตเดโค" บางอย่างก็ดูคล้ายกับลวดลายเรขาคณิตสมัยโบราณ อย่างเช่น ลวดลายโบราณของอียิปต์ แอสซีเรีย กับเปอร์เชีย อีกด้วย

ศิลปิน "อาร์ตเดโค" อาศัยรูปทรงแบบขั้นบันได ความโค้งมนของมุม การประดับประดาด้วยรูปทรงสามเหลี่ยมและเส้นสายลายทาง สีที่นิยมใช้กันมากก็คือ สีดำ ที่สะท้อนให้เห็นความหม่นมัวแห่งยุคสมัย


ในยุคของ "อาร์ตเดโค" แวดวงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้แก่ ไฟน์อาร์ตสาขาต่างๆ รวมทั้ง การออกแบบทางอุตสาหกรรม ในส่วนของไฟน์อาร์ตนั้น ไม่ว่าจะเป็น ประติมากรรม ภาพเขียน หรือแม้แต่ หัตถศิลป์ ล้วนแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างสูง ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นงานที่เรียบง่าย เส้นสายสะอาดสะอ้าน สีสันมีชีวิตชีวา แสดงออกถึงความสง่างาม ทางด้านการออกแบบอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น การออกแบบรถยนต์ เรือโดยสารขนาดใหญ่ โทรทัศน์ ซึ่งล้วนสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากโดยเครื่องจักรกล

"อาร์ตเดโค" มีอิทธิพลต่อทุกสิ่งทุกอย่าง และด้วยความที่ส่วนมากจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน อย่างเช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ และกราฟฟิกดีไซน์ นั่นคงคือสาเหตุหนึ่งที่ "อาร์ตเดโค" ยังสามารถกลับมาได้อีกแทบทุกยุคทุกสมัย

ความงามอย่างจิตรกรรมไทย


งามอย่างไทย มักเป็นคำที่ใช้บรรยายคุณลักษณะของหญิงสาวที่มีทีท่าอ่อนช้อย งดงาม ตามแบบเบญจกัลยาณี ความงามในลักษณะอื่นๆ ของไทยนั้นก็คงไม่น่าจะห่างไกลกันสักเท่าไร โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องสื่อสาร ออกมาถึงเรื่องราวของ “ความงาม” เป็นหลัก เช่น ศิลปะจิตรกรรมไทย

ความหมายของศิลปะไทย

ศิลปะไทยนั้น หมายถึง รูปแบบของศิลปะชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะเป็นของตัวเอง เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นศิลปะของไทย ซึ่งบางครั้ง เราก็เรียกว่าเป็น เอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะเป็น ลวดลายกระหนก หรือ เรื่องราวเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา

ศิลปะ “จิตรกรรม” ไทย

จิตรกรรมไทย คือ ศิลปะแขนงหนึ่งในศิลปะไทย โดยเป็นแขนงที่เกี่ยวกับการวาด การเขียนในแบบไทย งานจิตรกรรมของไทยมีรากเหง้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ย้อนกลับไปถึงสมัยหินที่ยังเป็นลวดลายเขียนสีนู่นเลย โดยในยุคแรกๆ ลวดลายแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ลายเรขาคณิต และลายก้านขด โดยใช้สีดำกับสีแดงในการวาด นอกจากนี้ ยังมีแผ่นอิฐเขียนสี ในลวดลายลักษณะเดียวกัน แต่อาศัยสีแดงกับสีขาวในการเขียน

ถัดมาในสมัยศรีวิชัย (พ.ศ.13-14) จิตรกรรมย้ายเข้ามาอยู่บนผนังถ้ำ โดยพบภาพเขียนสีเป็นภาพพระพุทธรูปปางมารวิชัยเขียนแค่อก ด้านซ้ายของพระพุทธรูปเป็นนางเงือก บ้างก็มีรูปอุบาสก อุบาสิกา อยู่ที่เบื้องซ้ายและเบื้องขวา รูปชาวบ้านในภาพจิตรกรรมไทยสมัยนั้น มีลักษณะเหมือนภาพหนังตะลุง คือเป็นภาพด้านข้างท่าทางตลกๆ นอกจากนั้น ยังมีรูปวาดเทพธิดา มีเครื่องประดับเศียร เอี้ยวกายในลักษณะอ่อนช้อย

ครั้นย่างเข้าสมัยสุโขทัย (พ.ศ.19-20) จิตรกรรมไทยเริ่มย้ายเข้ามาอยู่ตามผนังวัด เป็นภาพเขียนสีฝุ่นผสมกาวแบบเอกรงค์ โดยใช้สีแดงและสีดำที่ฝาผนังเจดีย์ สีที่ใช้ส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น ดิน ยางไม้ อย่างสีดินแดง สีดินเหลือง และดินดำ ลักษณะภาพเป็นเส้นและสี ระบายพื้นสีแดง ตัดเส้นด้วยสีดำ ผิวเนื้อขาว ลวดลายมีสีเหลืองบ้างเล็กน้อย

ส่วนสมัยอยุธยา (พ.ศ.20-23) นับว่าเป็นสมัยที่เจริญรุ่งเรืองมากสมัยหนึ่ง ทำให้งานศิลปะมีความเจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย จุดเด่นของจิตรกรรมไทยสมัยอยุธยา คือการเริ่มต้นของการเป็นจิตรกรรมบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ เริ่มมีสีสันหลากหลาย และเริ่มมีการใช้ “ทอง” ปิดลงบนรูปและลวดลาย และเริ่มมีอิทธิพลของภาพเขียนจีนเข้ามาปะปนอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทว่า เป็นการเขียนภาพฝาผนังที่เต็มรูปแบบทางศิลปะมากยิ่งขึ้น คือ แม้จะยังเป็นภาพในเชิง 2 มิติ ตามเอกลักษณ์ไทย รวมทั้ง เอกลักษณ์ของอิทธิพลภาพเขียนจีน ก็ยังมีการเขียนภาพให้มีมิติลดหลั่น ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยในภาพประกอบด้วยพระพุทธรูป ภาพคน สัตว์ ลวดลายไทย ดอกไม้ ส่วนสมุดภาพไตรภูมิพระร่วงนั้น เขียนภาพเรื่องราวไตรภูมิและ เรื่องชาดก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทศชาติครบทั้ง 13 กัณฑ์ โดยเป็นภาพที่ใช้หลากหลายสีในการระบาย

ล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.24-25) ภาพจิตรกรรมไทยยังคงคล้ายๆ กับสมัยอยุธยาตอนปลาย ทว่า หลังจากรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อมีการติดต่อกับต่างประเทศ จึงเริ่มมีอิทธิพลของต่างชาติเข้ามาปะปนอยู่ในจิตรกรรมไทย

ลักษณะร่วมของจิตรกรรมไทย

จิตรกรรมไทย หรือภาพไทย โดยทั่วไปจะมีลักษณะที่เป็นพิเศษของไทยโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดองค์ประกอบ สีสัน และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาพแต่ละภาพ ที่สำคัญคือจะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ประเพณี และการแต่งกายในยุคสมัยต่างๆ หรือไม่ก็เป็นเรื่องราวในพุทธชาดก รวมทั้งเรื่องราวที่บ่งบอกถึงลักษณะพิเศษของท้องถิ่น

จิตรกรรมไทยมีลักษณะร่วม คือ...


ภาพเขียน 2 มิติ


จิตรกรรมไทยเน้นให้ความสำคัญเรื่องเส้นและสี โดยที่ไม่ได้คำนึงถึง แสงเงา และระยะไกลใกล้ ภาพไทยจึงมักจะดูเป็นลักษณะ 2 มิติ หรือ เป็นภาพแบนๆ ไปตลอดทั้งภาพ

แสดงความรู้สึกด้วยเส้นและท่าทาง

สืบเนื่องมาจากการที่ภาพไทยเป็นภาพ 2 มิติ เป็นสีแบนๆ แล้วตัดเส้นนี่เอง ทำให้แสงและเงาไม่มีส่วนในการก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ หรือประทับใจแต่อย่างใด ทว่า ความรู้สึกของคนในภาพ ไม่ว่าจะเป็นความดีใจ เสียใจ โกรธ หรือกลัว ล้วนต้องแสดงออกด้วยเส้น แววตา และท่าทาง คล้ายๆ กับมหรสพไทยบางอย่าง เช่น ลิเก ที่ต้องมี ท่าทางบางอย่างในการแสดงอารมณ์ของ ตัวละครที่นอกเหนือจากการแสดงสีหน้า

แสดงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยสีและเครื่องแต่งกาย

ในภาพจิตรกรรมไทย มีลวดลายพื้นฐานอยู่เพียง 4 อย่างคือ กระหนก นารี กระบี่ และคช ฉะนั้น ภาพมนุษย์ เทวดา หรือยักษ์ มักจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน ในภาพเขียนไทยจึงอาศัยสีและเครื่องแต่งกายในการจำแนกความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยสี เช่น พระรามกายสีเขียว พระลักษณ์กายสีเหลือง หนุมานกายสีขาว และบางทีก็แสดงความแตกต่างเหล่านี้ด้วยเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และอาวุธ

ไม่คำนึงถึงส่วนสัดที่ต้องตรงกับ ความเป็นจริง

โดยเฉพาะส่วนที่ต้องการให้เป็นจุดเด่นของภาพนั้น มักจะวาดออกมาให้โดดเด่นเห็นชัดไปเลย โดยอาจจะลดส่วนประกอบอื่นๆ ลง และไม่คำนึงถึงสัดส่วนที่แท้จริงระหว่างคนกับสิ่งอื่นๆ ในภาพ แต่จะเน้นไปที่เรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสารออกมามากกว่าว่า ใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ความเป็นจริงไม่มีความสำคัญในภาพมากเท่ากับความสัมพันธ์ของเรื่องราวส่วนต่างๆ ที่จะพูดถึงในภาพ

เป็นภาพเขียนแบบเล่าเรื่อง

จิตรกรรมฝาผนัง และจิตรกรรมในช่วงแรกๆ ที่เป็นภาพไทยแนวคลาสสิกนั้น มักจะเป็นการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก รามเกียรติ์ วรรณคดี ฯลฯ โดยในภาพจะมีภาพธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา น้ำ เป็นเครื่องเชื่อมความสัมพันธ์กัน ให้ผู้ดูเข้าใจเรื่องราวได้เป็นตอนๆ

ทัศนียภาพแบบ “วิวตานก”

ศัพท์เทคนิคเรียกว่า Bird Eye View คนดูจะเห็นภาพแต่ละช่วง แต่ละตอนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน พระราชวัง ศาลา น้ำ ป่าเขา บุคคลที่ทำกิจกรรมต่างๆ ไปตามเรื่องราว ไม่ว่าคนจะอยู่ไกลหรือใกล้จะมีสัดส่วนเท่ากันหมด ลักษณะการเขียนภาพอย่างนี้คล้ายกับเวลาเรามองจากที่สูงลงมา ทำให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า ทัศนียภาพแบบ “วิวตานก” หรือ Bird Eye View นั่นเอง

แสดงออกถึงจินตนาการ

ด้วยความที่ภาพเขียนไทยแบบคลาสสิก รวมทั้งภาพไทยร่วมสมัยก็ตาม มักจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องของชาดก พุทธประวัติ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดี และประวัติศาสตร์ ภาพเขียนจึงมักเป็นการถ่ายทอดเรื่องราว เชิงนามธรรม และสอดแทรกจินตนาการของศิลปิน เช่น การเขียนภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพนรก สวรรค์ และส่วนประกอบอื่นๆ

lเป็นภาพเขียนที่ไม่แสดงเวลา

ภาพเขียนไทยมักจะไม่แสดงเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น จิตรกรสามารถใช้สีได้ อย่างมีอิสระตามความคิดสร้างสรรค์ เฉพาะตน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมการเขียนภาพทางตะวันตก ซึ่งมักจะเน้นอารมณ์ความเหมือนจริง ทำให้ต้องมีการระบายสี แสง เงา ที่แสดงเวลาได้ชัดเจน

ความงามในจิตรกรรมไทย

จิตรกรรมไทย จัดอยู่ในหมวดหมู่ของศิลปะโลกตะวันออก ซึ่งมีพื้นฐานที่มา แตกต่างจากโลกตะวันตก และแม้แต่ชาติในเอเชียเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย อินโดนีเชีย ซึ่งล้วนมีลักษณะเฉพาะในการแสดงออกทางศิลปะเฉพาะตนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสืบสานวัฒนธรรม แบบประเพณี การสืบสาน และการพัฒนา

จากลักษณะความงามของจิตรกรรมไทยแบบประเพณีนิยม เริ่มมาจากภาพเขียนสี ภาพเขียนผนังแบบ 2-3 สี มาเป็นภาพเขียนหลายสี และ ภาพเขียนสีแบบที่เป็นจิตรกรรมเต็มรูปแบบ สำหรับภาพเขียนไทยแนว ร่วมสมัย ได้อาศัยเทคนิคอันทันสมัยของสีสมัยใหม่ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สีอะครีลิก สีฝุ่น สีน้ำมัน เข้ามาผนวกกับลวดลายแบบไทย

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาพเขียนไทยแบบประเพณีนิยม ก็คือภายในภาพจะไม่เน้นการเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างในอดีตมากนัก รวมทั้งลักษณะภาพแบบ “วิวตานก” หรือลักษณะร่วมอื่นๆ อย่างการวาดเรื่องพุทธประวัติ ชาดก ฯลฯ อาจจะไม่หลงเหลือในภาพเขียนไทยร่วมสมัยมากนัก ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ ช่วง มูลพินิจ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หรือ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ล้วนไม่ได้พูดถึงเรื่องราวของพุทธประวัติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือเป็นบทเป็นตอน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำลวดลายความอ่อนช้อย งดงามอย่างไทยมาใช้ในชิ้นงานที่สร้างสรรค์ออกมาจากจินตนาการ ทว่า การสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องศาสนายังคงมีอยู่ แต่เป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ การวาดรูปนารี หรือรูปพระ-นาง ก็ต่างมีหน้าตาเปลี่ยนไป เป็นรูปแบบที่มีเอกลักษณะเฉพาะของจิตรกรแต่ละท่าน

คุณค่าในจิตรกรรมไทย

ความงามหรือสุนทรีย์ทางด้านคุณค่าของศิลปะจิตรกรรมไทย มีอยู่ มากมายด้วยกัน

คุณค่าทางความเชื่อ - เรื่องการทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว ภาพนรก สวรรค์ ในจิตรกรรมไทยแบบประเพณี รวมทั้งจิตรกรรมไทยร่วมสมัยบางส่วน จะมีเนื้อหาที่ตอบสนองด้านความเชื่อดังกล่าว

คุณค่าทางความงาม - จิตรกรรมไทยเน้นความงามเรื่องการใช้เส้น สี รูปร่าง รูปทรง และลวดลายที่อ่อนช้อย

คุณค่าทางประโยชน์ใช้สอย - จิตรกรรมไทยในอดีตเคยใช้สำหรับการตกแต่งสถาปัตยกรรม เช่น การเขียนภาพฝาผนัง บานประตู หน้าต่าง ล่วงมาถึงปัจจุบัน จิตรกรรมไทยได้รับการวาดออกมาเป็นรูปแบบเดียวกับภาพเขียนของทางตะวันตก คือเป็นรูปภาพในเฟรมขนาดต่างๆ ซึ่งก็ยัง มีประโยชน์ในการตกแต่งสถานที่เช่นเคย

คุณค่าทางความรู้สึก - ศิลปะจิตรกรรมไทยทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี บางคนมองภาพไทยแล้วรู้สึกดื่มด่ำ ภาพไทยร่วมสมัยบางภาพนั้นช่วยให้รู้สึกสงบ เลื่อมใสศรัทธา และมีจิตใจที่อ่อนโยน

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การ์ลส์ มานี ในความเหลวไหลไม่ไร้สาระ





นิทรรศการชั่วคราวภายในพิพิธภัณฑ์เกาดี้ ที่ห้องใต้ดินของสกราดา ฟามีเลีย กรุงบาร์เซโลนา แสดงผลงานประติมากรรมของ การ์ลส์ มานี หรือ การ์ลส์ มานี อี โรอิก ประติมากรชาวคาตาลัน

การ์ลส์ เกิดที่เมืองตาร์ราโกนา แคว้น คาตาลัน เขาเป็นเด็กยากจนแต่มีพรสวรรค์ จึงมีผู้อุปถัมภ์ให้ได้รับการศึกษาตั้งแต่ขั้นต้นที่กรุงบาร์เซโลนา เมืองหลวงแห่งแคว้น ก่อนจะไปศึกษาต่อที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของประเทศ และแล้วในปี 1894 เขาก็เดินทางไปยังเมืองหลวงแห่งศิลปะ (ยุคโน้น) ที่ชื่อว่า กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ณ เมืองน้ำหอม เขาตกหลุมรักประติมากรรมแนวใหม่ อันเป็นแนวทางของ ออกุสต์ โรแด็ง เข้าอย่างจัง ทั้งให้รู้สึกเสียอกเสียใจที่ประติมากรรมบ้านตัวเองยังไม่ก้าวหน้าไปไหน แต่ยังติดอยู่กับการสร้างสรรค์ในแบบดั้งเดิม (ส่วนมากเป็นประติมากรรมเชิดชูศาสนาคริสต์)

เมื่อกลับมายังตาร์ราโกนาและมาดริด เขาก็เริ่มต้นสร้างสรรค์งานจากแรงบันดาลใจใหม่ที่ได้รับมาจากกรุงปารีสทันที โดย ได้รับแรงผลักดันอันดีจากจิตรกรรุ่นเดียวกัน นิการ์นอร์ ปิญอล รวมทั้งกลุ่มนักเขียนหัว ก้าวหน้าที่เรียกตัวเองว่า “เจเนอเรชัน 98” (1898) อย่าง ปีปและริการ์โด บาโรฆา กามิโล บาร์กิเอลา และรามอน เดล บัลเยอินคลัน

แล้วผลงานสร้างสรรค์อันแสนบรรเจิดหลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ ของแวดวง ประติมากรรมสเปน ก็ออกมาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา

กระนั้นก็มิใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจศิลปะแนวใหม่ หรือ “รับได้” กับผลงานนั้น ประติมากรรมที่ออกมาในปี 1901 ของเขา ได้รับคำวิจารณ์อย่างเละเทะ โดยบอก ว่าทำให้ศิลปะเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อม โดยเฉพาะผลงานชุด The degenerated ประติมากรรมปูนพลาสเตอร์รูปนู้ดประเภทรบกวนจิตใจ และอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ศิลปะ “มนุษย์” จัดวาง อย่างเช่น ทำตัวซอมซ่อนอนอยู่กับพื้นแล้วให้แมลงวันตอม ฯลฯ -- ล้วนเป็นชิ้นงานที่พวก หัวอนุรักษ์ยากจะรับได้

บรรยากาศต่างกันเมื่อเขาย้ายเอานิทรรศการเดิมมาแสดงยังบาร์เซโลนา คนคาตาลันเปิดใจยอมรับในศิลปะสมัยใหม่ได้มากกว่า โดยเฉพาะที่นี่มีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ อย่าง อันโตนิโอ เกาดี้ ที่หยิบเอาพลังหนุ่มของการ์ลส์ มาช่วยเขาในงานสร้างสรรค์บ้านของครอบครัวบัตโย บ้านของครอบครัวมี ล่า ปาร์กกูเอลล์ และผลงานสุดอลังการ ซากราดา ฟามีเลีย แม้ว่าบาทหลวงกิล ปารีสจะไม่ปลื้มเท่าไร และพยายามคัดค้านอยู่บ้างก็ตาม

ในชั่วชีวิตของการ์ลส์ ต่อสู้มาตลอดเพื่อที่จะได้สร้างสุดยอดประติมากรรมฮีโร ผู้มี คุณูปการก่อตั้งบ้านเกิดของเขาในตาร์ราโก มาตั้งแต่ปี 1811 และในที่สุดเขาก็ทำให้เทศบาลเมืองยอมรับสำเร็จในปี 1910 เมืองตาร์ราโกนาพร้อมแล้วสำหรับอนุสาวรีย์ฮีโรทั้งหลายที่ประติมากรเอกอย่างเขาจะสร้างสรรค์ขึ้น ที่ไหนได้ผลงานกลับตกเป็นของ ฆูลิโอ อันโตนิโอ เนื่องเพราะเจ้าโปรเจกต์อย่าง การ์ลส์ เสียชีวิตอีก 4 วันต่อมา หลังการอนุมัติของเทศบาลเมือง

อย่างไรก็ตาม เมืองตาร์ราโกนา ยังให้เกียรติประติมากรผู้ยิ่งยงด้วยการนำผลงานจำนวนมากมาจัดแสดงเอาไว้ ทั้งนอกจาก ผลงานที่สร้างสรรค์ให้สกราดา ฟามีเลีย ปาร์กกูเอลล์ คาซาบัตโย และคาซามีลาแล้ว ยังมีในพิพิธภัณฑ์ของเมืองโอเรนเซ ซึ่งรวบรวมไว้ทั้งผลงานสเกตช์ชิ้นเล็กๆ จนกระทั่งถึงงานชิ้นมาสเตอร์พีซต่างๆ โดยผลงานส่วนใหญ่ของการ์ลส์แสดงออกถึงการก้าวข้ามมายังยุคเอกซ์เพรสชันนิสม์อย่างเต็มตัว

ผลงาน ณ บั้นปลาย ของ ซัลวาดอร์ ดาลิ





Salvador Dali : The Late Work รวบรวมผลงานในช่วงปลายของชีวิต ศิลปินเซอร์เรียลิสต์ชาวสเปน ซัลวาดอร์ ดาลิ จัดแสดงครั้งล่าสุดอยู่ที่หอศิลป์ ไฮ มิวเซียม ออฟ อาร์ต (High Museum of Art) ในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา โดยนับว่าเป็นชิ้นงานที่ไม่เคยจัดแสดงต่อสาธารณชนที่อเมริกา มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

ซัลวาดอร์นับเป็นจิตรกรเซอร์เรียลิสต์แถวหน้า โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงและโดดเด่นในแนว “เหนือจริง” อย่างภาพนาฬิกาหลอมละลายใน The Persistence of Memory ทำให้เขากลายเป็น “ไอคอน” ของวงการ ทว่า หลังจากสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางนี้มาเป็นสิบๆ ปี เขาก็แยกตัวออกจากวงการไปสร้างสรรค์งานในรูปแบบอื่นๆ ทั้งด้วยเหตุผลทางด้านศิลปะและการเมือง

สำหรับผลงานที่จัดแสดงที่หอศิลป์ไฮ มิวเซียม ออฟ อาร์ต เป็นผลงานในช่วงหลังของชีวิต คือตั้งแต่ปี 1940 ถึง 1983 ซึ่งภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการนี้ อย่าง เอลเลียต คิง บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจในการศึกษาผลงานศิลปะของซัลวาดอร์ ดาลิ อีกช่วงหนึ่งเช่นกัน

“เราได้เห็นผลงานของเขาตลอดศตวรรษที่ 20 แต่ว่า ดูเหมือนผู้คนจะโฟกัสไปในงานแนวเซอร์เรียลิสม์ในช่วงทศวรรษที่ 1930 มากที่สุด และเมื่อเขาเปลี่ยนแนวในการสร้างสรรค์ผลงาน ก็คล้ายกับซัลวาดอร์ได้ตายไปเลยตั้งแต่ปี 1940” เอลเลียต กล่าว

ซัลวาดอร์ ดาลิ ออกมาประกาศว่า ตัวเขาคือจิตรกรประเภทคลาสสิกในปี 1941 และเริ่มสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางที่ประกาศออกมานับจากนั้น ทำให้บรรดานักวิจารณ์ออกมาดูหมิ่นดูแคลน และกล่าวหาว่า งานของเขาเหมือนกำลังเย็บปักถักร้อย หรือบางชิ้นก็มุ่งเชิงพาณิชย์มากเกินไป “ผมว่าบางทีคนทั่วไปก็อาจจะมองความแตกต่างของผลงานทั้งสองช่วงไม่ออกด้วยซ้ำ”

ภัณฑารักษ์คนเดิมให้ความเห็นต่อว่า แม้การเปลี่ยนแนวของซัลวาดอร์จะเป็นต้นเหตุของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ “แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจในผลงานของเขาช่วงท้ายนี้”

เอลเลียต ว่า ในนิทรรศการครั้งนี้จะสร้างความรับรู้ในหลายระดับ สำหรับคนที่เพิ่งจะศึกษาผลงานของซัลวาดอร์ ดาลิ ก็จะสามารถได้ข้อมูลขั้นต้นในด้านจินตนาการลึกๆ และความรักการแสดงออกของศิลปินสแปนิช ขณะที่คนซึ่งรู้จักซัลวาดอร์ดีอยู่แล้ว ก็สามารถมาศึกษาความคิดในการงานสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้ง อีกหลายอย่างที่อาจไม่เคยเห็นในการแสดง ที่อื่นมาก่อน

นิทรรศการเบิกโรงด้วยภาพหนวดยาวอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินสเปน ถ่ายโดยช่างภาพอเมริกัน ฟิลิปป์ ฮัลส์แมน ตามด้วยผลงาน ในอดีตของซัลวาดอร์พอหอมปากหอมคอ เพื่อ “เท้าความ” สำหรับคนที่ไม่เคยชมผลงานของเขามาก่อน ก่อนที่จะเริ่มเข้าถึงผลงานช่วงหลังจากปี 1940 ทั้ง Nuclear Mysticism ที่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของเขาเอง คือ การกลับเข้าเป็นชาวคริสต์อีกครั้ง และเรื่องราวเกี่ยวกับนิวเคลียร์ที่เขากำลังสนใจ

ภาพที่ต่อเนื่องกันคือ The Madonna of Port-Lligat เป็นภาพขนาดใหญ่รูปพระแม่ มารีทรงอุ้มพระบุตร รายรอบด้วยกรอบเฟรมภาพที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ภาพนี้ขอยืมมาจาก หอศิลป์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เคยจัดแสดงในอเมริกามาตั้งแต่ปี 1951

อีกภาพที่โดดเด่นมาก ได้แก่ Santiago El Grande (Homage to Saint James) เป็นภาพของนักบุญเจมส์ ซึ่งถือว่าเป็นนักบุญผู้พิทักษ์ประเทศสเปน ในภาพยังมีพระเยซูถูกตรึงกางเขน ส่วนนักบุญเจมส์อยู่บนหลังม้าที่ทะยานขึ้นบนกลุ่มควันของระเบิดปรมาณู ภาพดังกล่าวขอยืมมาจากบีเวอร์บรูก อาร์ต แกลเลอรี ในเมือง นิวบรุนสวิก ประเทศแคนาดา ซึ่งไม่เคยให้ ใครยืมออกนอกสถานที่เลย นับแต่ได้ภาพนี้ไว้ ในครอบครองเมื่อปี 1959 เอลเลียตจึงเสริมว่าได้จัดแสดงเอาไว้ในที่สูง และต้องแหงนหน้า ชมกันนิดหน่อยเพื่อความปลอดภัยของภาพ

Christ of St. John of the Cross คือภาพดังอีกภาพ แสดงให้เห็นพระเยซูบนไม้กางเขน อยู่เหนือทุกสรรพสิ่งบนโลก ข้างๆ ภาพดังกล่าว แสดงให้เห็นภาพศิลปินสเปนถ่ายรูปคู่กับบ๊อบบี เคนเนดี หน้าภาพเขียนเดียวกันเมื่อครั้งนำมาจากสกอตแลนด์ เพื่อมาแสดงในอเมริกาครั้งล่าสุดเมื่อปี 1965

ขณะที่ภาพ Assumpta Corpuscularia Lapilazulina คล้ายเป็นการกล่อมเกลาจิตใจ ซัลวาดอร์ ดาลิเอง ภาพนี้เป็นสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งไม่เคยออกแสดงต่อสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 1959 เช่นกัน เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ แสดงภาพใบหน้าของ กาลา ภรรยาของเขาเองในฐานะพระแม่มารีกำลังสวดส่งพระวิญญาณของ พระเยซูไปสู่สรวงสวรรค์

ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการศิลปะ Salvador Dali : The Late Work บอกว่า ภาพแต่ละภาพในยุคนี้ ราวกับเรากำลังเดินทางแสวงบุญไปพร้อมกับผลงานของเขา

สำหรับส่วนแสดงงานสุดท้าย เอลเลียตเรียกว่า “ผลงานป๊อปอาร์ตของดาลิ” ซึ่งนับว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปินแนวนี้มากมาย ทั้งแอนดี วอร์ฮอล และเจฟฟ์ คูนส์

นิทรรศการศิลปะ Salvador Dali : The Late Work ที่หอศิลป์ไฮ มิวเซียม ออฟ อาร์ต รัฐ แอตแลนตา จัดร่วมกับซัลวาดอร์ ดาลิ มิวเซียม ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐฟลอริดา และฟุนดาซิโอ กาลา-ซัลวาดอร์ ดาลิ ในเมืองฟิเกเรส ประเทศสเปน ตั้งแต่วันนี้ถึงเดือน ม.ค. 2011

รายละเอียดเพิ่มเติม : www.high.org

เข้มข้น ค้นศิลปะ อองรี มาติสส์



Matisse : Radical Invention, 1913–1917 ผลงานศิลปะของ จิตรกรฝรั่งเศส อองรี มาติสส์ ใน ช่วงเข้มข้นสุด คือระหว่างปี 1913-1917 ร่วม 120 ชิ้น ทั้งงานเพนติงเชิงเอกซ์เพอริเมนทอล ประติมากรรม ภาพดรออิง และภาพพิมพ์ ในช่วงเวลาที่เป็น "สุโค่ย" ของเขา รวมทั้งภาพเขียน อันเลื่องลือ อย่าง Bathers by a River และ The Moroccans จัดแสดงที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ตามด้วยพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ร่วมสมัย กรุงนิวยอร์ก หรือโมมา ไปหมาดๆ

นับเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมผลงานเอาไว้เป็นพิเศษ ให้เห็นแง่มุมในด้านลึกเกี่ยวกับตัวตนของอองรี โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนเข้าสู่ศิลปะสมัยใหม่

อองรี มาติสส์ ใช้เวลาในแวดวงศิลปะตลอดชีวิตถึง 60 ปี ทว่าช่วงที่เป็น "ตัวกลั่น" ที่สุดอยู่ระหว่างปี 1913-1917 วัดได้จากผลงานดังๆ อันเป็นที่ยอมรับนั้น มาตกอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

"นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของ บิดาแห่งสีสัน นี่เป็นช่วงที่เขาลดการใช้สี หันมาใส่ใจกับรูปทรง" สเตฟานี ดาเลสซานโดร ภัณฑารักษ์ผู้จัด Matisse : Radical Invention, 1913–1917 ให้อรรถาธิบาย

ห้องแสดงนิทรรศการแคบๆ เล็กๆ ของสถาบันศิลปะแห่งชิคาโกอาจจะไม่เคยฮอตฮิตมาก่อน ทว่าผลงาน 117 ชิ้นของอองรี มาติสส์ ที่หยิบยืมมาจากหอศิลป์และคอลเลกชันส่วนตัวทั่วโลก จะทำให้หัวบันไดไม่แห้งก็คราวนี้ แน่นอนว่า ศูนย์กลางความสนใจคงจะอยู่ที่ 2 ภาพเขียนชื่อดัง โดยเฉพาะ Bathers by a River ซึ่งอองรีเคยกล่าวไว้เองว่า เป็น 1 ใน 5 ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

อาจด้วยความที่เป็นหอศิลป์ในสถาบันศิลปะ สถานศึกษาแห่งนี้ได้นำเอาเทคนิคเอกซเรย์มาใช้ในการวิเคราะห์เทคนิคการวาดภาพของอองรี... อะไรอยู่ภายใต้สีสันอันสดใส เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงจากยุคธรรมชาตินิยมไปสู่ความเป็นคิวบิสม์ จนมีผลงานใกล้เคียงกับภาพ Les Demoiselles d'Avignon ของปาโบล ปิกัสโซ แทนที่จะเป็นกูรูที่เขาชื่นชม อย่าง โปล เซซานน์ ได้อย่างไร

"เขาเป็นคนที่ปฏิวัติตัวเองได้เร็วมาก เรียกว่าตั้งแต่ปี 1913 ที่เขาเริ่มวาด Bathers by a River ออกมาในโทนสีหม่นสุดๆ ผลงานหลังจากนั้นของเขาก็เปลี่ยนไป" จอห์น เอลเดอร์ฟิลด์ ภัณฑารักษ์จากโมมา กล่าว

อองรี มาติสส์ ทะยานเข้าสู่แวดวงศิลปะในฐานะของกลุ่มศิลปินโฟฟ (Fauve) ก่อนที่จะเปลี่ยนตัวเองมาสร้างสรรค์งานในสไตล์คิวบิสม์ ทั้งที่แรกๆ ก็ต่อต้าน ก่อนจะปลดพันธนาการแห่งความยึดมั่นถือมั่น มาเอาดีทางคิวบิสม์ จะว่าไปหลักการของทั้งสองความเคลื่อนไหวทางศิลปะก็ไม่ต่างกันนัก ด้านหนึ่งใช้สีสันเป็นสัญลักษณ์ อีกฝ่ายก็ใช้รูปทรงเรขาคณิตแทน

"ในยุคที่เราจัดผลงานมาให้ชมจะได้เห็นการหลุดจากบ่วงพันธนาการของเขา" สเตฟานี บอกอีกว่า อองรีแสดงให้เห็นในงานว่า เขากระหายที่จะทดลองงานแบบอาวองต์-การด์ ขนาดไหน

ภาพดรออิงในนิทรรศการโชว์ฝีมือการวาดภาพสวยๆ ได้เพียงลากเส้นเครยง ไม่แพ้ปาโบล ปิกัสโซ ขณะเดียวกัน จากภาพเขียน อย่าง Portrait of Olga Merson ก็ทำให้เห็นว่าเขาเองก็วาด ภาพให้มีเพอร์สเปกทีฟได้ ซ้ำยังสามารถปั้นดินเป็นประติมากรรมขนาดเท่าคนจริงก็ได้เหมือนกัน

สำหรับภาพเขียนชิ้นสำคัญของเขา Bathers by a River มีการวิเคราะห์ซ้ำๆ หลายครั้งว่าศิลปินต้องการจะบอกอะไร โดยครั้งสุดท้ายในปี 1953 ก่อนที่อองรีจะเสียชีวิตในปีถัดมา

สิ่งที่ยังเป็นปริศนาสำหรับหลายๆ คนก็คือ ทำไมจึงต้องวาดหางของปีศาจอยู่ตรงกลางภาพด้านล่างด้วย?

อองรี มาติสส์ เป็นทั้งจิตรกรที่มีคนพูดถึงมากที่สุด และขณะเดียวกันก็เงียบงันที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางสงครามโลกถึง 2 ครั้ง ตามด้วยยุคที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ

"เป็นไปได้ว่าสงครามเปลี่ยนความคิดของเขาบางส่วน" สเตฟานี ตั้งข้อสังเกตว่า Bathers by a River นั้น วาดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 "ตอนนั้นเขาอายุ 44 และสุขภาพไม่ดี"

ขณะที่ตัวอองรีอธิบายความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของเขาว่าเป็นเทคนิคในการวางรากฐานสู่ศิลปะสมัยใหม่ต่างหาก

อีกหนึ่ง เรอเนสซองซ์ ลูคัส ครานากซ์



นับเป็นครั้งแรกในอิตาลีที่มีโอกาสได้ต้อนรับภาพเขียนยุคเรอเนสซองซ์ของจิตรกรชาวเยอรมัน ลูคัส ครานากซ์ (คนพ่อ) ในนิทรรศการ "Lucas Cranach. The Other Renaissance" ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 13 ก.พ. 2011 ณ กาเยเรีย บอร์เกห์เซ (Galleria Borghese) ในกรุงโรม

งานนี้ผลงานของลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ อันเป็นหนึ่งในยุคเรอเนสซองซ์ แม้จะน่าสนใจใคร่ชมอยู่หลายส่วน แต่ก็ยังมีตัวช่วยที่คล้ายเป็นการอรรถาธิบายให้เห็นภาพของลูคัส ศิลปินเยอรมันผู้คล้ายดั่งคนปิดทองหลังพระ โดยแสดงงานร่วมกับศิลปินดังชาติเดียว/ยุคเดียวกัน อย่าง อัลแบรชต์ ดูเรอร์ ในแบบที่เรียกว่า ลูคัส เป็นพระเอก ส่วน อัลแบรชต์ เป็นน้ำจิ้ม

คือนอกจากจะเป็นการจัดแสดงผลงานของเขาครั้งแรกในอิตาลีแล้ว ยังเรียกว่ารวบรวมผลงานของเขาเอาไว้เกือบทั้งหมด ทั้งในยุคเรอเนสซองซ์ ผลงานที่ทำงานรับใช้ราชสำนักต่างๆ รวมทั้งผลงานที่ล้ำสมัย แบบที่ศิลปินชาวเฟลมิช (เช่น แยน ฟาน เมียร์) นิยมทำในยุคนั้น

ศาสตราจารย์แบร์นาร์ด ไอเคมา นักประวัติ ศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมันแห่งมหาวิทยาลัย เวโรนา คือภัณฑารักษ์สำหรับนิทรรศการ "Lucas Cranach - The Other Renaissance" ครั้งนี้ ร่วมกับ แอนนา โกลิวา ผู้อำนวยการ หอศิลป์กาเยรา บอร์เกห์เซ

ตามประวัติแล้ว ลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ รู้จักกันดีในฐานะเพื่อนและผู้สนับสนุน มาร์ติน ลูเธอร์ พระเยอรมันผู้เผยแผ่นิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งนับว่าเป็นนิกาย "นอกรีต" ในยุคกลาง ทั้งคู่ร่วมกันร่างทฤษฎีที่พวกเขาเรียกว่า "อิสรภาพแห่งคริสเตียน" จนกลายเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในยุคดังกล่าว

ลูคัสที่สร้างสรรค์งานส่วนใหญ่ของเขาใน สตูดิโอที่เมืองวิตเทนแบร์ก ผลงานของเขาได้ชื่อว่าแปลกใหม่ ล้ำสมัย ทั้งภาพเขียนนู้ด ภาพเชิงอีโรติก ภาพเหมือนคนจริงหรือพอร์เทรต (Portrait) แบบมีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ความ รู้สึก รวมทั้งงานสไตล์ก้าวล้ำอื่น จนกระทั่งได้ฉายา "เรอเนสซองซ์ที่แตกต่าง" (Another Renaissance) เพราะช่างไม่เหมือนกับสไตล์ เรอเนสซองซ์ตามขนบเดิมที่เคยทำกันมา

ผลงานของเขาแม้จะแสดงออกถึงความก้าวล้ำนำสมัย แตกต่างจากสไตล์ของ อัลแบรชต์ ดูเรอร์ หรือเรอเนสซองซ์แบบอิตาเลียนดั้งเดิมไปไกล กระนั้นก็แสดงให้เห็นถึงการผ่านการศึกษาในระบบมาอย่างเคร่งครัด ซึ่งการที่ลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ เป็นจิตรกรผู้ทำงานรับใช้ราชสำนัก หากยังสามารถสร้างสรรค์งานแบบก้าวหน้าได้ นับว่าหาได้ยากทีเดียว

ศาสตราจารย์แบร์นาร์ด ไอเคมา และ แอนนา โกลิวา ได้คัดสรรผลงาน 45 ชิ้นที่แสดงความเป็นลูคัสอย่างสูงมาจัดแสดง โดยส่วน ใหญ่มาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นสูง รวมทั้ง สมบัติส่วนตัวจากยุโรปและอเมริกา หลายชิ้น ทีเดียวที่นำออกจากฝาบ้านมาจัดแสดงสู่สาธารณชนครั้งแรก

ลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ ผู้ตั้งนามสกุลตามเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของเยอรมนีอันเป็นบ้านเกิดของเขา นับว่าเป็นศิลปินในยุคเรอเนสซองซ์ที่มีคนรู้จักน้อยมาก

เขาเริ่มชีวิตจิตรกรในกรุงเวียนนา ซึ่งส่วนใหญ่แวดล้อมไปด้วยนักมานุษยวิทยา และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนาในยุคเริ่มต้น

ที่นั่นเขาเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ เช่น ภาพเหมือนของโยฮานเนส คุสพีเนียน อาจารย์มหาวิทยาลัยเวียนนา และภริยา แอนนา (Portrait of Johannes Cuspinian, and his wife Anna)

จิตรกรรมเกี่ยวกับศาสนาเองก็ได้รับการกล่าวขานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านความงามของทิวทัศน์ อย่างที่ศิลปินสายศิลปะดานูปนิยม เช่นภาพ The Rest on the Flight into Egypt ภาพครอบครัวของพระเยซูกำลังพักผ่อนอยู่กลางป่าสนในเยอรมนี

เขาย้ายไปวิตเทนแบร์กเพื่อที่จะเป็นจิตรกรประจำราชสำนักของพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 3 ในปี 1504 ชีวิตที่วิตเทนแบร์กคือยุคทองของลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ อย่างแท้จริง นอกจากเป็นราษฎรชั้นหนึ่ง เป็นที่นับหน้าถือตาแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่สุดยอดเอาไว้มากมาย

โดยเฉพาะความสามารถพิเศษในการวาดภาพหญิงงาม ไม่ว่าจะเป็นชุด Reclining Nymph ซึ่งเป็นแนวอีโรติกและภาพนู้ด นอกจากนี้ยังมีภาพพอร์เทรตสตรียุคเรอเนสซองซ์ ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการจินตนาการพวกเธอให้เป็นตัวละครต่างๆ ในตำนาน หรือการวาดภาพเหมือนแบบเต็มตัว ที่ไม่มีศิลปินในยุคนั้นทำมาก่อน

ลูคัสยังคงสร้างสรรค์งานที่เกี่ยวกับศาสนา และนับเป็นจิตรกรรายแรกที่สร้างสรรค์ภาพเขียนจากคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธสัญญาใหม่ ในเวอร์ชันภาษาเยอรมัน และแน่นอนที่ภาพเหมือนของมาร์ติน ลูเธอร์ พระและเพื่อนของเขาก็กลายเป็นภาพดังภาพหนึ่ง

ปี 1550 เขาลี้ภัยตามเจ้านายไปยังอุกส์แบร์ก เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นบาวาเรีย นับว่าความเป็นอยู่ที่นี่เหมือนฟ้ากับเหว แต่ เขาก็ยังสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะการช่วยเหลือมาร์ติน ลูเธอร์ ก่อร่างสร้างนิกายใหม่ของศาสนาคริสต์

ในบั้นปลาย ลูคัสสอนศิลปะให้ลูกชาย ลูคัส ครานากซ์ เดอะ ยังเกอร์ ซึ่งโตมาเป็นจิตรกรคนสำคัญของวงการไม่แพ้บิดา

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เอล เกรโก ' เดอะ กรีก ' ผู้ยิ่งใหญ่



เขาชื่อว่า โดเมนิกอส เตโอโตโกปูลอส แต่ ชาวสเปน (และชาวโลก) แทบไม่มีใครรู้จักนามจริงๆ ของเขามากไปกว่านาม "เอล เกรโก" (หรือคนกรีก) แม้เขามักจะเซ็นชื่อเต็มๆ ภาษากรีกของเขาไว้ในภาพเขียนสมัยเรอเนสซองซ์ของเขาเสมอ

หลายๆ คนมุ่งหน้าไปชมผลงานสุดอลังการของ เอล เกรโก ที่พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ปราโด (Museo del Prado) กรุงมาดริด แต่หากต้องการชมผลงานระดับมาสเตอร์พีซจริงๆ ต้องตีตั๋วรถไฟไปชมที่เมืองหลวงเก่าอย่างโตเลโด

ที่ซานโต โตเม ในกรุงโตเลโด อันเป็นที่ฝังศพของเคานต์ออร์กาซ อดีตผู้ปกครองแคว้น คนจ่ายเงิน 2 ยูโรกว่าๆ หรือร้อยกว่าบาท เพื่อไปชมอภิมหาภาพย์เขียนเพียงภาพเดียว The Burial of Count Orgaz (ปี 1586–1588, สีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 480X360 ซม.) แต่ก็เป็นภาพที่ชมแล้วคุ้มสุดคุ้ม – ภาพเขียนขนาดใหญ่ สูงจากพื้นถึงเพดาน เล่าเรื่องฉากตอนการถึงแก่อนิจกรรมของเคานต์ออร์กาซ ผู้ทำคุณงามความดีเอาไว้มากมายขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อถึงแก่อนิจกรรมจึงมีทูตสวรรค์ลงมารับ และเหล่าเทพก็พากันช่วยส่งวิญญาณสู่อ้อมกอดของพระเจ้าบนสรวงสวรรค์

นั่นคือหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่รู้จักกันดีของจิตรกร ประติมากร และสถาปนิกผู้เลื่องชื่อชาวสเปนเชื้อสายกรีก

เอล เกรโก เกิดที่ครีต ในปี 1541 ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวนิซ และยังเป็นศูนย์กลางของศิลปะไบเซนไทน์ เขาได้รับการศึกษาและจบมาเป็นศิลปินชั้นเอกตามมาตรฐาน และเดินทางมายังกรุงเวนิซ ขณะที่อายุได้ 26 ปี ดังที่ศิลปินกรีกนิยมทำกันเมื่อศึกษาจบ

ในปี 1570 เอล เกรโก ย้ายมายังกรุงโรม โดยเปิดเวิร์กช็อปสอนนักศึกษาที่นั่น และสร้างสรรค์งานของตัวเองในสไตล์แมนเนอริสม์ และเรอเนสซองซ์แบบเวเนเซีย

อีก 7 ปีต่อมา เขาย้ายไปอยู่ที่กรุง โตเลโด ประเทศสเปน และปักหลักสร้างสรรค์งานชิ้นเอกอันเป็นที่รู้จักกันดีหลายชิ้น จนกระทั่งเสียชีวิตที่นั่นเอง

ผลงานของ เอล เกรโก มีความโดดเด่น และมีความเป็นเอกซ์เพรสชันนิสม์อยู่มาก ซึ่งในยุคสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้น อาจจะดู "ล้ำ" ไปสักหน่อยจนผู้คนยากจะเข้าใจหรือเห็นคุณค่า หากแต่กลายเป็นชิ้นงานสุดมหัศจรรย์และล้ำค่ายิ่งในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โดยเฉพาะคุณค่าที่เขาได้การยอมรับว่าเป็นแรงขับสำคัญในการเกิดของศิลปะแนวเอกซ์เพรสชันนิสม์ โรแมนติกซิสม์ และคิวบิสม์

นอกจากนั้น ด้วยบุคลิกภาพที่โดดเด่นพอๆ กับผลงานที่ไม่ธรรมดาของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กวีและนักเขียนหลายคนนำไปสร้างเป็นเรื่องราวแต่งแต้มโลกวรรณกรรม อาทิ เรเนอร์ มาเรีย ริลเค และ นิคอส คาซานต์ซาคิส ฯลฯ

สำหรับศิลปะยุคใหม่ เอล เกรโก เป็นศิลปินที่มีเอกเทศ มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวสูง เขาจึงไม่จัดอยู่ในศิลปินยุคใดเลย นอกจากยุคของตัวเขาเอง ผลงานของเขามักออกมาคล้ายภาพแห่งจินตนาการที่ไม่รู้จบ เหมือนอยู่ในความฝัน (ประหลาดๆ) โดยเขาได้ผสมผสานเอาศิลปะไบเซนไทน์ซึ่งเป็นพื้นฐานอันหนักแน่นของตัวเอง เข้ากับศิลปะตะวันตกออกมาได้อย่างมหัศจรรย์

จินตนาการอันล้นเหลือเป็นสิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้ในผลงานทุกชิ้นของ 'เดอะ กรีก' แม้ว่าเขาจะอยู่ในยุคสมัยสุดคลาสสิกอย่างยุคฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการก็ตาม หากศิลปินเชื้อสายกรีกผู้มาโด่งดังในสเปน กลับปฏิเสธที่จะเดินตามแนวทางคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็นครรลองของสีสัน เทคนิค โดยเฉพาะเนื้อหา เรื่องราวที่เล่าในภาพ

เอล เกรโก เขียนภาพรับใช้ศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ที่เขานับถือมากมาย เพียงล้วนเป็นภาพที่ไม่ธรรมดา และไม่อาจนำไปบวกรวมกับภาพเขียนแห่งศรัทธาของศิลปินท่านอื่นๆ ได้ แม้ความศรัทธาในศาสนาของเขาเองนั้นก็เปี่ยมล้นไม่แพ้ศิลปินกลุ่มนั้นๆ

ศิลปินสเปนเชื้อสายกรีก บอกว่า "สี" คือสิ่งสำคัญที่สุดในภาพเขียน นอกจากนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะควบคุมได้มากที่สุด สำหรับเขาแล้วสีสันจะมาก่อนรูปทรง รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ

ฟรานซิสโก ปาเชโก จิตรกรและนักทฤษฎีศิลปะ เคยไปพบ เอล เกรโก ในปี 1611 และบันทึกไว้ว่า ศิลปินคนดังนิยมใช้สีดิบๆ ไม่ผสม โดยเฉพาะสีเข้มๆ จากหมึกที่ต้องอาศัยความชำนิชำนาญเฉพาะตัวในการสร้างสรรค์ลงบนผืนผ้าใบ นอกจากนี้ เอล เกรโก ยังไม่เชื่อเรื่องการแต่งเสริมเติมสีใหม่ลงไปหลังภาพเสร็จแล้ว เพราะจะทำให้รูปออกมาไม่เป็นธรรมชาติ แต่ภาพจิตรกรรมที่ดีต้องเสร็จในการวาด (ลงสี) ครั้งเดียวเท่านั้น

ชื่อของ เอล เกรโก ถูกลืมจากเจเนอเรชันต่อจากเขาไปเสียสนิท เนื่องเพราะความไม่ get ศิลปะในแนวทางอันเป็นเอกเทศของเขานั่นเอง วิญญาณของเขาต้องรอกระทั่งต้นศตวรรษที่ 17 กว่าจะมีคนเห็นคุณค่า เนื่องเพราะปราศจากผู้ดำเนินตามรอยศิลปะแนวแมนเนอริสม์ มีแต่ลูกชายของเขาเอง ซึ่งไม่มีความสามารถมากพอที่จะสานต่อความยิ่งใหญ่ของผู้พ่อได้

ในช่วงศตวรรษที่ 17 ต่อ 18 แวดวงศิลปะสเปนมีการนำเอาผลงานของศิลปินที่ถูกลืมอย่าง เอล เกรโก มาประเมินคุณค่าใหม่ ซึ่งผลสรุปก็ยังแตกความเห็นไปต่างๆ กัน

นักวิจารณ์ศิลปะอย่าง อซิสโล อันโตนิโอ ปาโลมิโน เด กาสโตร อี เบลาสโก กับ เบร์มูเดซ เซอัน เบร์มูเดซ เห็นพ้องต้องกันว่า จิตรกรรมของ เอล เกรโก คือความ เหลวไหลไร้สาระ ประหลาด แสดงถึงความบ้า โดยความเห็นของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ 2 คนนี้ล้างสมองชาวสเปนต่อมาอีกหลายศตวรรษ

ต่างจากมุมมองของนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศส เตโอฟิล โกติเยร์ ที่เห็นว่าศิลปินเชื้อสายกรีกชาวสเปนผู้นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแรงขับเคลื่อนของศิลปะก่อนจะก้าวไปสู่ยุคโรแมนติก ไม่ว่าจะด้วยความแปลกและไม่ธรรมดาในชิ้นงานของเขา เตโอฟิล ยังชี้ให้เห็นว่า ความพิเศษเหนือธรรมดากับความบ้านั้นยากที่จะหาเส้นแบ่งแยกออกจากกันได้ชัดเจน

เนื่องด้วยฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะในขณะนั้น ในที่สุดสเปนก็มิอาจต้านกระแสด้วยการปฏิเสธคุณค่าในผลงานของ เอล เกรโก ได้ จึงมีการปัดฝุ่นให้ความสำคัญกับศิลปินเอก ด้วยการจัดพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสำคัญให้เขา แม้ในใจลึกๆ หลายคนยังเชื่ออยู่ว่าเป็นศิลปะแห่งความบ้าก็ตาม

เอดูอาร์ด มาเนต์ ศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมผลงานของ เอล เกรโก มาก โดยเฉพาะผลงาน Holy Trinity ทำให้ เอดูอาร์ด วาดภาพชิ้นสำคัญของเขาเอง The Angels at Christ's Tomb ศิลปินฝรั่งเศสชื่อดัง ถึงกับเดินทางไปสเปนเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เอล เกรโก ด้วยตัวเอง

ในปี 1908 มานูเอล บาร์โตโลเม กอสซิโอ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ เขียนในหนังสือของเขาว่า เอล เกรโก เป็นศิลปินคนแรกที่นำเอาจิตวิญญาณแห่งสเปนใส่ลงไปในงานศิลปะ ขณะที่ ยูลิอุส ไมเยอร์- กราเอเฟ ชาวเยอรมัน ก็ว่า จิตรกรรมไม่ธรรมดานี้มีความร่วมสมัย แม้จะล่วงมาจากศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 20 แล้วก็ตาม นอกจากนี้ กลุ่มโบลเอ รีเทอร์ (Blaue Reiter หรือ Blue Rider) ยังยึดให้ เอล เกรโก เป็นแนวทางสำคัญที่จะเอาตามอย่าง ส่วน โรเจอร์ ฟราย นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ ยกให้ศิลปินสเปนเชื้อสายกรีกเป็น "อัจฉริยะ"

ศิลปินคนสำคัญของโลกอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ ในยุค "สีฟ้า" (Blue Period) นั้นก็ได้แรงบันดาลใจสำคัญจาก เอล เกรโก มากพอๆ กับ โปล เซซาน ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าตำรับคิวบิสม์ชาวสเปนยังสารภาพว่า เอล เกรโก มีอิทธิพลต่อสไตล์ของเขาอย่างยิ่ง ขณะที่จะลองสิ่งใหม่ๆ และก้าวข้ามมาสู่ยุคสมัยของคิวบิสม์

จิตรกรรมชิ้นเอกโดยศิลปินอัจฉริยะ กับศิลปะแห่งความบ้านั้นยากจะแบ่งแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง อาจด้วยเพราะในความบ้าก็อาจจะมีคุณค่า ส่วนในสมองของอัจฉริยะก็อาจจะมีเสี้ยวแห่งความเพี้ยน

เพียงแรงบันดาลใจสำคัญที่ เอล เกรโก มีต่อศิลปินชั้นเอกมากมาย รวมทั้งแรงผลักดันให้เกิดศิลปะขึ้นมาอีกหลายยุคสมัยก็คงเพียงพอจะเป็นคำตอบได้ สำหรับคนที่ยังเห็นว่าคลุมเครือ

แอนดริว ไวเอธ กับแลนด์สเคปที่ไม่มีใครลืมเลือน


ภาพเขียนสีหม่นที่ดูเหงา เศร้า เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย โหยหา หรือบางครั้งเหมือนอยู่ในอันตราย เป็นผลงานของ แอนดริว ไวเอธ ที่แม้ว่าเพิ่งจากโลกนี้ไปไม่นาน แต่ก็ยังไม่มีใครลืมเลือนภาพเขียนที่ให้อารมณ์สุดแสนเศร้าของเขาไปได้

ขึ้นชื่อว่าเป็นจิตรกรอันเป็นที่รักและรู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา เขาเคยได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ในทำเนียบขาวเมื่อปี 1970 ท่านประธานาธิบดียังต้องขอชนแก้วด้วย ในฐานะที่เขาเป็น "ขวัญใจอเมริกา"

ครอบครัวของแอนดริวนั้นยังเรียกว่าเป็นศิลปิน 3 เจเนอเรชัน เริ่มตั้งแต่ เอ็น.ซี.ไวเอธ อาร์ติสต์ นักวาดภาพประกอบชื่อดัง สืบทอดมาถึงรุ่นของเขา ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์จิตรกรร
มแบบไฟน์อาร์ตมากกว่า ต่อเนื่องมาถึงรุ่นลูกชาย เจมส์ ไวเอธ (นิโคลัส ลูกชายอีกคนเป็นนักค้างานศิลปะ)

แม้ว่าคนรุ่นหลังๆ จะออกมาวิจารณ์งานของเขาว่าจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา ดูแล้วป่วย หรือแม้กระทั่งบอกว่าน่าเบื่อเหมือนรายการของมาร์ธา สจวร์ต – อะไรก็แล้วแต่ แอนดริวก็ยังคงทำงานต่อไปในขนบเดิมของตัวเองอย่างชิลชิล เนื่องด้วยยังมีอเมริกันชนอีกมากมายนิยมชมชื่นกับอารมณ์แอบสแทรกต์ที่มีอยู่ในจิตรกรรมของเขา

ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาและยังเป็นผลงานชื่อดังที่สุดชิ้นหนึ่งของศตวรรษที่ 20 คือ Christina's World (อยู่ที่ Museum of Modern Art หรือ โมมา กรุงนิวยอร์ก) เป็นภาพของผู้หญิงนั่งพับเพียบหันหลังอยู่บนเนินเขาที่เป็นทุ่งกว้าง ทำท่าตะเกียกตะกายจะไปให้ถึงโรงนาเบื้องหน้าให้ได้ เช่นเดียวกับ Brown Swiss ที่เป็นภาพของโรงนาอันห่างไกลตัวเมืองเช่นกัน ตรงกลางภาพแอนดริววาดเงาสีดำทาบทับอยู่บนตัวบ้าน ให้อารมณ์อึดอัด ไม่ธรรมดา

แอนดริว ไวเอธ ถือเป็นศิลปินยุคโมเดิร์นนิสม์ที่สอบตกกับโจทย์แห่งยุคสมัย เขาปรับตัวไม่ได้ที่จะก้าวข้ามความเป็นตัวตนเดิมๆ ออกมาสู่ยุคสมัยแห่งศิลปะที่เปลี่ยนไปในรุ่นของตัวเอง

"ถ้าจะพูดให้เต็มปาก ผมขอเรียกตัวเองว่าเป็นพวกแอบสแทรกต์นะ" แอนดริว ให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งในปี 1965 ด้วยว่า ความล้มเหลวของตัวเองคือ การใส่ใจรายละเอียดมากเกินไปในภาพเขียนของตัวเอง แต่อารมณ์แบบเรียลิสติกนี่เองที่ทำให้ชนะใจคนอเมริกันนับล้านๆ

แอนดริว ไวเอธ เกิดในแชดส์ฟอร์ดทาวน์ รัฐเพนซิลเวเนีย โดยมีบิดาเป็นนักวาดภาพประกอบชื่อดัง มีผลงานในหนังสือ อย่าง Treasure Island และ The Last of the Mohicans ฯลฯ จะว่าไปภาพประกอบของบิดาก็ล้วนเป็นสีหม่นทั้งนั้น ซึ่งอาจจะเป็นมรดกตกทอดมาทางสายเลือด

"ผมชอบงานของพ่อนะ มันดูเศร้าแล้วก็แสดงออกถึงความเจ็บปวดได้ดีมากเลย ทุกๆ ภาพล้วนสวยทั้งนั้น แล้วก็เศร้า ดูไร้ความหวัง" แอนดริว ว่าไว้

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพวกหลงยุค แต่แอนดริวก็ใช่ว่าจะต้องเดินอย่างเดียวดาย เพราะศิลปินชื่อดังๆ อีกหลายคน อย่าง เอดเวิร์ด ฮอปเปอร์ มาร์ก รอธโก เรื่อยเลยไปถึง เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และไมล์ส เดวิส ด้วยก็ได้ ที่ไม่ได้ดำเนินรอยตามขนบแห่งโมเดิร์นนิสต์หรือป๊อปอาร์ต – ยิ่งไปกว่านั้นคือ เจมส์ (เจมี) ไวเอธ บุตรชายของเขาก็รับมรดกทางสไตล์ของครอบครัว ในการสร้างงานศิลปะ

ในวัยเด็ก แอนดริวเป็นจอมขี้โรค เขาจึงเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ทุกๆ ฤดูร้อน ครอบครัวจะเดินทางไปยังเมืองคูชิง รัฐเมน ซึ่งในความรู้สึกของเด็กชายแอนดริวแล้วเหมือนกับอยู่ที่นั่นแต่ละครั้งยาวนานเป็นศตวรรษ

ขณะที่บิดาของเขาศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ของชาวนา เพื่อที่จะนำไปวาดภาพประกอบหนังสือนิทาน แอนดริวพยายามหลีกให้ไกลจากพื้นที่การทำงานของบิดา แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่มีมากมายทำให้เขาเริ่มจับพู่กันวาดสีน้ำ จนกระทั่งได้แสดงงานเดี่ยวของตัวเองครั้งแรกที่วิลเลียม แมคเบธ แกลเลอรี ในนิวยอร์ก ตอนอายุเพียง 20 ปี

หลังจากสีน้ำเขาเริ่มทดลองวาดด้วยเทคนิคเทมเปอราหรืออาศัยสีผสมไข่แดง อันเป็นเทคนิคที่มีมาตั้งแต่ยุคกลางและมีศิลปินยุคใหม่ๆ จำนวนไม่มากนักที่ทดลองใช้กัน แต่เขากลับติดอกติดใจจนใช้ไม่ยอมเลิก "มันให้อารมณ์ความรู้สึกแบบเหงาๆ สูญเสีย อย่างที่ผมต้องการเลย"

เอ็น.ซี.ไวเอธ เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถยนต์ที่มีเขาและลูกสาววัย 4 ขวบ อยู่ในนั้น "ผมเพิ่งเป็นศิลปินสีน้ำดาวรุ่งตอนที่พ่อตาย ตอนที่เริ่มลองเทมเปอรา จึงต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพราะพ่อไม่อยู่สอนผมแล้ว"

Winter 1946 ภาพของเด็กชายวิ่งลงมาจากเนินเขาในฤดูหนาว เล่าความเจ็บปวดของตัวเองในการสูญเสียบิดาอย่างไม่มีวันกลับ เด็กชายในภาพลื่นไถลอยู่บนเนินหญ้าแห้งๆ ในจินตนาการของแอนดริว ฝั่งตรงกันข้ามมีทางรถไฟอันเป็นจุดเกิดเหตุ

ในช่วงเวลาไล่ๆ กัน เขาเริ่มวาดคาร์ลและแอนนา คูเออร์เนอร์ เพื่อนบ้านชาวนา – คาร์ลเคยร่วมรบกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขามองคาร์ลในบุคลิกของพ่อ ภาพ Karl (1948) นั้น เขาว่าเป็นพอร์ตเทรตที่ดีที่สุดที่เคยวาด ภาพชื่อดังอีกภาพ อย่าง Groundhog Day ก็วาดจากครัวของบ้านคูเออร์เนอร์ในฤดูหนาว

ในปี 1940 เขาสมรสกับเบตซี เจมส์ ซึ่งเข้ามาจัดการทุกอย่างในบ้าน โดยที่แอนดริวไม่ต้องกังวลเรื่องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทอง แถมยังเป็นแบบให้เขาวาดภาพนู้ดได้อีกด้วย โดยสามีจิตรกร ตั้งชื่อให้เธอว่า Helga

ไม่มีใครรู้จักเบตซี และไม่มีใครรู้ว่าแอนดริวแต่งงาน พวกนักข่าวจึงไปลือกันอยู่หลายปีว่าเขาช่วยเหลือชาวเยอรมันอพยพ แลกกับการได้วาดภาพนู้ดของ เฮลกา เทสทอฟ แถมยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับเธออีก (ว่าเข้าไปนั่น...) แม้กระทั่งมีการเปิดตัว เบตซีในทศวรรษที่ 1970 แล้ว ก็ไม่วายที่คนยังลือกันเหมือนเดิม ค่าที่เชื่อว่าเธอคือเฮลกาตัวจริงอยู่ดี

กลับมาที่ภาพเขียนของเขา นอกจากสีสันที่หม่นเศร้าแล้ว สิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ จะมีการสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครขึ้นมาในงานทุกๆ ชิ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่าคนที่เป็นแบบให้เขามีน้อยมาก จึงต้องสร้างสรรค์ให้เกิดความแตกต่าง

ด้วยความที่เขาสืบทอดวิถีและอารมณ์การวาดภาพแบบครอบครัวไวเอธรุ่นต่อรุ่น ทำให้ภาพมีอารมณ์ของการ "หวนรำลึก" (Nostalgia) ผสมผสานกับจินตนาการแบบแฟนตาซี (ตามภาพประกอบหนังสือของบิดา) ในขณะที่มีความเป็นเรียลิสติกอยู่มาก

ผลงานของแอนดริว ไวเอธ เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักวิจารณ์ศิลปะ ส่วนใหญ่จะลงความเห็นกันในด้านลบ แต่คนที่ชอบก็มักจะเป็นเพราะว่าเป็นงานศิลปะที่มีอารมณ์อย่างล้นเหลือ รวมทั้งภาษาสัญลักษณ์และความเป็นแอบสแทรกต์ แต่ที่ลงความเห็นเดียวกันอย่างไม่มีเฉไฉก็คือ ความชำนาญในการใช้เทคนิคเทมเปอราของเขานั้นปราศจากข้อกังขา

ปัจจุบัน ผลงานของแอนดริวมากมายอยู่ใน หอศิลป์ใหญ่ๆ ในอเมริกา ตั้งแต่ โมมา กรุงนิวยอร์ก หอศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก หอศิลปะอเมริกันวิทนีย์ หอศิลป์ซินซินเนติ หอศิลป์สมิธโซเนียน รวมทั้งทำเนียบขาว

เหนือระดับของภาพถ่าย เซซิล บีตัน




นานๆ ที หอศิลป์คริส บีเทิลส์ แกลเลอรีในอังกฤษ ร่วมกับสถาบันซอเธอบีส์ จะมีโอกาสจัดนิทรรศการภาพถ่ายของช่างภาพชั้นแนวหน้าผู้ล่วงลับ เซซิล บีตัน โดยรวบรวมผลงานระดับมาสเตอร์พีซของช่างภาพชาวอังกฤษผู้เอกอุ ไม่ว่าจะเป็นภาพของ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง อย่าง มาริลีน มอนโร หรือออเดรย์ เฮปเบิร์น คู่ศิลปินดูโอ กิลเบิร์ต โปรเอสช์ และจอร์จ พาสมอร์ รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษ

นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี โดยได้รวบรวมผลงานระดับมาสเตอร์พีซของช่างภาพดังกว่า 70 ภาพ ซึ่งครอบคลุมในหลากหลายสาขาที่เขาเคยคลุกคลี และนับเป็นนิทรรศการครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยจัดแสดงผลงนของเซซิล

กิลส์ ฮักซ์ลีย์-พาร์เลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายภาพถ่ายของหอศิลป์คริส บีเทิลส์ แกลเลอรี กล่าวว่า เซซิล บีตัน นับเป็นบุคคลสำคัญในวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของอังกฤษ และของศตวรรษที่ 20 "เขาเป็นทั้งนักสร้างสรรค์และ ผู้จดบันทึกทางประวัติศาสตร์ เป็นทั้งช่างภาพ จิตรกร นักวาดภาพประกอบ นักเขียน ทั้งยังเป็นนักออกแบบฉากและเครื่องแต่งกายมือรางวัลออสการ์อีกด้วย"

เซซิล กลายเป็นศูนย์กลางแห่งแวดวงแฟชั่นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยผลงานโบแดงชิ้นแรกของเขาคือการสร้างชื่อเสียงให้ครอบครัวซิตเวลล์ (เอดิธ/ออสเบิร์ต และซาเชอเวลล์ ซิตเวลล์) ครอบครัวศิลปิน-นักเขียน ซึ่งช่างภาพคนดังได้ถ่ายทอดความไม่ธรรมดาของศิลปิน-นักเขียนรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน รวมทั้งนักคิดอย่าง สตีเฟน เทนแนต์ ภายใต้คอนเซปต์ Bright Young Things ตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำ ทั้ง Vogue, Tatler และ Vanity Fair

ผลงานของเซซิล ทำให้วงการการถ่ายภาพบุคคล รวมทั้งรูปแบบการถ่ายภาพแฟชั่น ต้องพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนไปเป็นยุคซึ่งนิยมภาพถ่ายลักษณะที่เน้นความหรูหรา สง่างาม และสติปัญญาของช่างภาพ ในการดึงความเป็นตัวตนของคนที่อยู่ในภาพออกมาให้ดีที่สุด

ด้วยเพราะหลงใหลในความงาม เซซิล บีตัน จึงมักจะคิดถึงเครื่องประกอบฉากทุกครั้งในการถ่ายภาพ และ เนื่องเพราะมีประสบการณ์ด้านการออกแบบเสื้อผ้าและอุปกรณ์ประกอบฉากในละครเวทีมาก่อน เขาจึงได้นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาใช้ในการถ่ายภาพคน โดยทดลองใช้วัสดุต่างๆ อย่างกระจก และข้าวของย้อนยุค รวมทั้งการจัดฉากแบบไม่ธรรมดาโดยอิงกับบุคลิกของผู้ที่เป็นแบบ

เขาเคยเป็นช่างภาพประจำนิตยสาร Vogue เวอร์ชันอังกฤษในปี 1931 ช่างภาพของ Vogue เวอร์ชันฝรั่งเศส จอร์กจ์ ออยนิเยน-อูเอน เดินทางมาอังกฤษ ทั้งคู่ได้ทำงานร่วมกันในโครงการ The Channel and the Atlantic อันเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ ช่างภาพของ Vogue ทั้งสองประเทศออกมาเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยสไตล์และไม่ธรรมดา

กล้องตัวแรกที่เซซิลใช้คือ โกดัก 3A รุ่นยืด หด และพับได้ (ลักษณะเหมือนแอกคอร์เดียน) เมื่อสถานะทางการเงินเริ่มมั่นคง เขาก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้กล้องที่ดี เสถียรขึ้น อย่างกล้อง โรลลีเฟล็กซ์ ทั้งตัวใหญ่และเล็ก อย่างไรก็ตาม เซซิลไม่ได้สร้างชื่อจากเทคนิคในการถ่ายภาพ ทว่า เป็นการสร้างสไตล์ให้กับภาพและการ ดึงเอาบุคลิกของแบบออกมาอย่างเยี่ยมยอด

ในปลายทศวรรษที่ 1930 ชื่อของเซซิลก็ติดลมบนในฐานะช่างภาพชั้นนำ เขาเป็นมือหนึ่งในการถ่ายภาพคนดังและนักแสดงทั้งหลายของ ทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ดังกระทั่งสำนักพระราชวังอังกฤษก็ยังเมินไม่ได้ ต้อง ให้เป็นผู้บันทึกพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และพระฉายาลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษพระองค์อื่นๆ ทั้งควีนมัม และเขานี่เองเป็นผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ อย่างพิธีอภิเษกสมรสของดยุกและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ ฯลฯ

ในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 แม้ว่าภาพถ่ายแนวหรูหราอาจจะดูซบเซา แต่เซซิลก็ยังได้โอกาสถ่ายภาพให้กระทรวงการสื่อสาร เป็นภาพชีวิตผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ทหารที่แนวหน้า ทั้งที่ประจำในและต่างประเทศ โดยมีภาพถ่ายชื่อดังเป็นรูปของเหยื่อสงครามวัย 3 ขวบ ไอลีน ดูน กับตุ๊กตาหมีของเธอ ขณะพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล

หลังจากที่ภาพดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ อเมริกา ซึ่งขณะนั้นยังไม่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้ง 2 ก็กระโจนเข้าสู่สนามรบในทันที

หลังสงครามนับว่าเขามีส่วนอย่างมาก ในการช่วยให้นักร้อง นักแสดง และศิลปินหลายคน โดดเด่นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น มิก แจ็กเกอร์ มาริลีน มอนโร หรือแอนดี วอร์ฮอล แถมยังสร้างช่างภาพรุ่นหลังขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทน อย่าง เดวิด เบลีย์ และแองกัส แม็กบีน ซึ่งล้วนกลายเป็นช่างภาพแถวหน้าของวงการภาพถ่ายบุคคลและวงการแฟชั่นของอังกฤษ

ในปี 1972 เซซิลได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นอัศวิน หลังจากนั้น 2 ปี เขาเกิดเส้นเลือดในสมองแตก และร่างกายด้านขวาขยับไม่ได้เลย ระหว่างต้องนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง เขาพยายามเรียนการเขียนหนังสือและวาดภาพเช่นเดียวกับการถ่ายภาพด้วยมือซ้าย แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยช่วยอะไรเท่าไหร่ เขาจึงขายภาพระดับมาสเตอร์พีซให้สถาบันซอเธอบีส์ เพื่อที่จะนำเงินมาเลี้ยงดูตัวเองในบั้นปลาย โดยสถาบันประมูลชื่อดังเปิดประมูลภาพถ่ายของเขามาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1977 และ ครั้งสุดท้ายในปี 1980 หลังจากที่เขาเสียชีวิต

รื่นรมย์ชมศิลปะคนเมือง

พอล บัลเมอร์ Cityscape

ขอตั้งตนเป็น "เวอร์ชวลคูเรเตอร์" (Virtual Curator) หรือ "ภัณฑารักษ์ตัวปลอม" จัดแสดงงานศิลปะแบบคนเมืองให้เยี่ยมชมกัน

ภาพแนว "ซิตีสเคป" (Cityscape) ก็เหมือนภาพแลนด์สเคป (Landscape) เพียงแต่ฉากที่ปรากฏบนภาพเป็นรูปของเมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึกรามบ้านเรือน หรือบางครั้งก็เรียกอีกอย่างว่า ภาพทาวน์สเคป (Townscape) หากว่า "เมือง" มีขนาดเล็กลง

ศิลปินดังๆ ที่วาดภาพแนวซิตีสเคป มีตั้งแต่ กานาเลตโต แยน ฟาน เมียร์ อัลเฟรด ซิสเลย์ กามิลล์ ปิสซาโร โปล ซีญัค เอดูอาร์ด เลออน กอร์เตส อิสซาค อิสราเอล ฯลฯ

ภาพศิลปะแนว "ซิตีสเคป" เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาพดรออิง จิตรกรรม ภาพพิมพ์ หรือภาพถ่าย ซิตีสเคปไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเป็นเรื่องเฉพาะของสังคมเมืองสมัยใหม่เท่านั้น นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีภาพ เฟรสโกฉากกรุงโรมสมัยนั้นชื่อ The Baths of Trajan ขณะที่ยุคกลางมีภาพพอร์เทรตและภาพทางศาสนาจำนวนมากที่มีฉากหลังเป็นเมืองใหญ่ และนับจากศตวรรษที่ 16–18 ก็มีภาพพิมพ์แผ่นทองแดงและภาพพิมพ์หินมากมายที่วาดเมืองในมุมสูง (Bird's Eye View) คล้ายวิธีคิดของการเขียนแผนที่

กลางศตวรรษที่ 17 ภาพแนวซิตีสเคปเริ่มปรากฏเด่นชัด กลายเป็น "รูปแบบ" ของการเขียนภาพอย่างหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะภาพ View of Delft (1660-1661) ของแยน ฟาน เมียร์ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงของเมืองอัมสเตอร์ดัม ฮาร์เล็ม และเฮก ให้โด่งดังไปทั่วยุโรป

พอล บัลเมอร์ New York City
ขณะที่เมืองอื่นๆ ในยุโรปก็โด่งดังตามมาติดๆ ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่วนเมืองเวนิส ในอิตาลีนั้นเป็น "ซิตีสเคป" ที่พีกสุดๆ ในศตวรรษที่ 18 ไม่เพียงศิลปินท้องถิ่น อย่าง กานาเลตโต หรือโจวานนี อันโตโน กานาล และฟรันเชสโก กูอาร์ดี เท่านั้น แต่ภายหลังยังมีศิลปินจากนานาชาติไปสร้างชื่อสถานที่แห่งนี้ให้โด่งดังในงานศิลปะ โดยเฉพาะยอดจิตรกรอังกฤษ โจเซฟ มัลลอร์ด เทอร์เนอร์

ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 19 ในยุคสมัยแห่ง อิมเพรสชันม์ ภาพซิตีสเคปเริ่มเน้นให้เห็นอารมณ์ความรู้สึก บรรยากาศ และความเคลื่อนไหวของชีวิตในเมือง เลยไปถึงเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เขตอุตสาหกรรม ตึกรามบ้านเรือน ทางรถไฟ ฯลฯ ล้วนกลายเป็นประเด็นที่บอกเล่าเอาไว้ในภาพซิตีสเคป ต่างจากศตวรรษที่ 20 ที่อิทธิพลแบบแอบสแทรกต์และคอนเซปชวลเข้ามามีอิทธิพล

ศิลปะในยุคศตวรรษที่ 21 ได้รับอิทธิพลจากหลากหลายยุคสมัยของศิลปะที่ผ่านมา ศิลปินแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกที่จะเลือกถ่ายทอดมุมมองของตัวเองในเทคนิคและสไตล์หลากหลาย บ้างก็ผสมผสานแรงบันดาลอันมากมายเข้าด้วยกัน

วันนี้ขอนำเสนอศิลปินซีตีสเคปร่วมสมัย 2 ราย – พอล บัลเมอร์ ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ที่ไปเติบโตยังประเทศออสเตรเลีย เขาจบโรงเรียนศิลปะในซิดนีย์ ก่อนที่จะไปต่อด้านกราฟฟิก ดีไซน์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์ หลังจากทำงานด้านการวาดภาพประกอบและโฆษณาทั้งในแอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกาอยู่หลายปี ในที่สุดก็ตัดสินใจหันมาสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างเต็มตัว

ความสนใจในศิลปะนำพาให้ชีพจรลงเท้าเขาไปยังยุโรป เขาตระเวนศึกษางานศิลปะทั่วยุโรป ตั้งแต่ศิลปะประเพณี ศิลปะแนวเรียลิสม์ ไปจนถึง แอบสแทรกต์ หลังศึกษาจนหนำใจ เขาย้ายไปปักหลักยังกรุงนิวยอร์ก ซึ่งชีพจรศิลปะแห่งยุคอยู่ที่นั่น

ผลงานของ ดิออน อาร์คิบัลด์
ในที่สุดซีรีส์ New York Cityscapes ก็คลอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสันที่จัดจ้าน รูปทรงของตึกที่แสดงความเป็นเมือง ล้วนโดดเด่นเตะตา นอกจากนี้ยังมีกลิ่นอายของความดิบแทรกอยู่ในภาพ ซึ่งแสดงเห็นถึงแรงบันดาลใจจากแอฟริกาและออสเตรเลียอันเป็นพื้นฐานวัยเด็กของเขา

ศิลปะที่ดูสวยงาม ไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรมากมาย ผลงานเล่นกับรูปทรง และดูโมเดิร์นมากๆ แสดงให้เห็นถึงการวางแผนของศิลปินที่มองถึงภาพรวมที่จะออกมาก่อนที่จะลงมือสร้างสรรค์ผลงาน

จากผลงานซิตีสเคปที่ดูล้ำสไตล์กราฟฟิกสุดขีด ข้ามมาชมฝีแปรงหนาๆ ที่ให้อารมณ์ผสมผสาน แบบอิมเพรสชันนิสม์นิดหน่อย ในผลงานของ ดิออน อาร์คิบัลด์

ดิออนสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ขณะที่เด็กคนอื่นไปวิ่งเล่นสนุกสนาน เขากลับมาหาความหฤหรรษ์กับการหัดวาดรูป แน่นอนว่า ต้องเริ่มจากการดรออิง แต่เมื่อเขาได้จับสีน้ำมันเป็นครั้งแรกตอนอายุ 15 เขาเฝ้าแต่บอกตัวเองว่า นี่ไง... ใช่เลย!

จากความรักกลายเป็นความหลงใหล และสุดท้ายกลายเป็นปรารถนาแห่งชีวิต เขาทดลองนั่น ทดลองนี่ นอกจากจะตื่นเต้นกับเอฟเฟกต์ต่างๆ ที่ทำให้อารมณ์ของสีเปลี่ยนไปแล้ว เขายังมักจะตื่นตาตื่นใจกับการทดลองเทคนิคใหม่ๆ เสมอ

หลังจากเห็นผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวออสเตรเลีย เบรตต์ ไวต์ลีย์ ทำให้โลกทัศน์ของของเขาได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่คิดแต่จะวาดภาพวิว ภาพชนบทไปเรื่อยๆ เบรตต์ทำให้เขาเห็นว่า ศิลปะมีอะไรมากกว่านั้น

ปาโบล ปิกัสโซ เป็นแรงบันดาลใจอย่างสูงให้เขาอีกคน เช่นเดียวกับวินเซนต์ ฟาน โกห์ "ปิกัสโซทำงานหลากหลายมาก เขามีพลังงานเหลือเฟือจริงๆ ผมจะเอาตาม ส่วนฟาน โกห์ผมก็ทึ่งในความทุ่มเทของเขา" เขาให้สัมภาษณ์เอาไว้

หลังจากการศึกษาด้านศิลปะจากเทฟ (TAFE) ในออสเตรเลียบ้านเกิด ก็เป็นเวลาที่จะต้องค้นหาตัวเอง ดิออนเห็นว่าคนที่ไม่ชอบงานของเขา ก็เหมือนกับอาจารย์ในวิทยาลัยที่มักจะมีแต่คำติมากกว่าคำชม ระหว่างสร้างสรรค์งานศิลปะไปด้วย เขาก็เข้ามหาวิทยาลัยไปเรียนต่อทางด้านประวัติศาสตร์และทฤษฎีทางศิลปะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีความสำคัญต่องานที่เขาจะสร้างสรรค์

ดิออนทำงานทั้งภาพสติลไลฟ์ ภาพพอร์เทรต แต่ที่โดดเด่นมากๆ ก็คือ ภาพแนวซิตีสเคป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุด Istanbul (Cityscape) 2002 หลังจากประทับใจในเสน่ห์แห่งเมืองอิสตันบูลของตุรกี เขาก็สร้างสรรค์งานชุดนี้อย่างไม่ลังเล โดยโทนสีของเมืองนี้ถ่ายทอดตามความประทับใจของเขาในโทน สีฟ้า-เทา ครีม และเหลืองคาราเมล

ขณะที่ซิตีสเคปเมืองแห่งความประทับใจอีกเมืองคือ นิวคาสเซิล ในอังกฤษ (The Bench (Newcastle) 2002) โดยเมืองนี้ใช้สีที่โดดเด่นเป็นสีแดงกับสีน้ำเงิน

นอกจากสีสันที่โดดเด่นแล้ว เทกซ์เจอร์ในผลงานภาพซิตีสเคปสีน้ำมันของดิออน อาร์คิบัลด์ ก็เป็น เรื่องที่ต้องพูดถึง ฝีแปรงหนาๆ ที่ปาดลงในภาพ สร้างเป็นเลเยอร์และเทกซ์เจอร์ ซึ่งนับเป็นสไตล์ที่เป็น ซิกเนเจอร์ของเขาด้วย

"ผมไม่กังวลที่ภาพวาดจะแสดงให้เห็นอารมณ์ ณ ขณะนั้น ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องมีในงานศิลปะ" ดิออนทิ้งท้าย