วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

ทามาร่า เดอ เลมพิกคา กับรูปเหมือนสไตล์ อาร์ต เดโค


หากจะย้อนไปพูดถึง "ยุคสองศูนย์" หรือ ทศวรรษที่ 20 หลายคนก็อาจจะนึกถึงดนตรีแจ๊สขึ้นมาเป็นอันดับแรก

สิ่งที่โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำแห่งยุคสมัย ได้แก่ เสื้อผ้าและการออกแบบ สถาปัตยกรรม อย่าง ตึกไครสเลอร์ การออกแบบเรือสำราญสุดหรูนอร์ม็องดี รวมทั้งการตกแต่งภายในอันเป็นที่กล่าวขวัญของ เรดิโอ ซิตี้ มิวสิก ฮอลล์ ซึ่งเมื่อมองโดยภาพรวมแล้วล้วนเป็นศิลปะในยุค อาร์ต เดโค อันประกอบด้วยเหลี่ยมมุม และเส้นสายเรียบง่ายแต่เป็นเอกลักษณ์

อาร์ต เดโค นั้น ขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปี ค.ศ.1925-1935 โดยได้แรงบันดาลใจต่อเนื่องมาจากยุคคิวบิสม์และฟิวเจอริสม์ รวมทั้งการเปิดตัว เบาเฮาส์ หอศิลป์และการออกแบบ ณ กรุงเบอร์ลิน ในเยอรมนี ศิลปะแบบ อาร์ต เดโค หยั่งรากอย่างเหนียวแน่น ในกรุงปารีสระหว่างปี 1920-1930 และ ทามาร่า เดอ เลมพิกคา ก็เป็นศิลปินหญิงที่มีผลงานโดดเด่นแห่งยุค

เธอมีชื่อว่า มาเรีย กอร์สกา เมื่อแรกเกิดในช่วงการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษใหม่ในโปแลนด์ พ่อแม่ของเธอหย่าร้าง เธอจึงได้รับการเอาใจเป็นพิเศษจากคุณย่า ด้วยการให้เสื้อผ้าสวยๆ และพาเธอไปท่องเที่ยว

ตอนอายุ 14 เธอเข้ามาเรียนที่โลซานน์ ในสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปิดเทอมครั้งหนึ่งคุณป้า สเตฟานี และสามีมหาเศรษฐี พา ทามาร่า ไปเที่ยวกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บ้านของพวกเขาตกแต่งเอาไว้อย่างหรูหราด้วยเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำจากฝรั่งเศส ประสบการณ์ชีวิตอันฟุ้งเฟ้อหรูหรา ทำให้เด็กน้อยเริ่มวาดฝันถึงอนาคตของตัวเอง

ไม่นานหลังจากที่รัสเซียและเยอรมนีประกาศสงครามในปี 1914 ทามาร่าตกหลุมรักหนุ่มหล่อนักกฎหมายในวอร์ซอว์ ทาดูเอสซ์ เลมพิกคิ เธอหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องได้ผู้ชายคนนี้มาครอง อีก 2 ปีให้หลัง เธอก็เข้าพิธีแต่งงานอย่างหรูหรา ที่ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยคุณลุงนายธนาคารของเธอเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง ในขณะที่ ทาดูเอสซ์ เป็นพวกไส้แห้ง เขาไม่มีเงินเลย แต่ก็อยากจะแต่งงานกับสาวสวยวัย 16 คนนี้

ชีวิตคู่ผ่านไปเพียงปีเดียว ทาดูเอสซ์ ก็ถูกบอลเชวิคส์จับตัวไป ทามาร่า กล้าเผชิญหน้าต่อพวกปฏิวัติรัสเซียด้วยตัวเอง เพื่อที่จะให้สามีของเธอเป็นอิสระ ทั้งคู่ลี้ภัยไปปารีส ที่ซึ่งชื่อเสียงของ ทามาร่า เดอ เลมพิกคา กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เธอกลายเป็นที่รู้จักในฐานะชาวโปลอพยพ เป็นนักเรียนศิลปะ และทำงานไม่หยุดหย่อนทั้งกลางวันกลางคืน

ไม่นานนัก ทามาร่า ก็กลายเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักวาดภาพเหมือนสไตล์อาร์ต เดโค งานของเธอเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ผสมผสานด้วยความเซ็กซี่ และความหรูหรา ซึ่งนับว่า ถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ในชีวิตของ ทามาร่า เดอ เลมพิกคา และสะท้อนบุคลิกของเธออย่างแท้จริง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอได้วาดภาพเหมือนของนักเขียน นักแสดง ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปัญญาชนผู้ลี้ภัยชาวยุโรปตะวันออกทั้งหลายมากมายหลายคน ลูกสาวของเธอ คีแซ็ต เดอ เลมพิกคา-ฟอกซฮอลล์ เขียนถึงแม่เอาไว้ในหนังสือชีวประวัติ ทามาร่า เดอ เลมพิกคา ชื่อ Passion By Design...

"แม่วาดรูปทุกคน ทั้งคนรวย คนประสบความสำเร็จ คนดัง คนที่โดดเด่นในสังคมทั้งนั้น มีหลายคนที่แม่หลับนอนด้วย ผลงานของแม่ได้เสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ดูเหมือนมันจะสะท้อนความร่ำรวยหรูหรา ประมาณว่า เป็นแวดวงของไฮโซฯ น่ะ"

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอย้ายไปอเมริกาพร้อมกับสามีคนที่ 2 บารอน ราอูล คัฟฟ์เนอร์ ทั้งคู่ไปอยู่ในย่านเบเวอร์ลีย์ฮิลล์ และทามาร่าก็กลายเป็นศิลปินขวัญใจของเหล่าดาราฮอลลีวู้ด ก่อนที่ในปี 1943 บารอน ราอูล และ ทามาร่า จะย้ายฝั่งไปอยู่นิวยอร์ก ที่ที่กลายเป็นสตูดิโอวาดภาพในสไตล์เดิมๆ อยู่พักใหญ่

จากนั้น เธอเริ่มหันมาสนใจการตกแต่งบ้าน โดยเริ่มจากการนำของเก่าจากบ้านเกิดของบารอน ราอูล ในฮังการี พอสงครามสงบ เธอยังตกแต่งอพาร์ตเมนต์ในกรุงปารีสอย่างหรูหราด้วยสไตล์ ร็อกโคโค

หลังจากที่สามีเสียชีวิตในปี 1962 ทามาร่า เดอ เลมพิกคา เริ่มเปลี่ยนมาใช้ เกรียง (palette knife) ในการวาดรูป ซึ่งนับว่า เป็นเทคนิคที่นิยมมากในสมัยนั้น ทว่า เมื่อนำภาพเขียนแนวใหม่ออกแสดงในนิวยอร์ก ภาพของเธอกลับไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิจารณ์ แถมยังขายได้น้อยมาก ทามาร่า สาบานว่า เธอจะไม่แสดงงานอีกต่อไปแล้วในชีวิต นอกจากนี้ เมื่อโลกศิลปะเข้าสู่ยุค แอ็บสแตร็กต์ เอกซ์เพรสชันนิสม์ ก็ยิ่งทำให้เธอเหมือนนั่งวาดรูปเล่นไปวันๆ

ในปี 1966 มูเซ เดส์ อาร์ต เดคอเรทีฟส์ จัดนิทรรศการชื่อ "Les Annees '25" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมศิลปะยุค อาร์ต เดโค มาแสดงเอาไว้อย่างมากมาย งานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มน้อย อแล็ง บลงเดล เปิด แกลเลอรี่ลักเซมเบิร์ก ขึ้น และงานศิลปะของ ทามาร่า เดอ เลมพิกคา คือจุดขาย เป็นดาวเด่นของหอศิลป์แห่งนี้

ชื่อของเธอคล้ายว่า ถูกปลุกให้ฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้ง แกลเลอรี่ น็อดเลอร์ ในนิวยอร์ก ต้องการแสดงผลงานของ ทามาร่า พวกเขาติดต่อของานมาแสดงโดยตรง แต่ด้วยเพราะความที่ไม่อยากแสดงงาน และความจู้จี้ของเธอ ทำให้คูเรเตอร์ทนไม่ไหวต้องบอกศาลา หลังจากนั้น ชื่อของเธอก็เลือนหายไปจากความเคลื่อนไหวของศิลปะ

สาวสวยอย่าง ทามาร่า ทนให้ใครๆ เห็นสังขารความชราของเธอไม่ได้ ในปี 1978 เธอจึงหลบไปซื้อบ้านอยู่เงียบๆ ในเม็กซิโก

แล้ววันที่ 18 มีนาคม 1980 ทามาร่า เดอ เลมพิกคา เสียชีวิตไปด้วยอาการหลับไหล โดยมี คีแซ็ตต์ ลูกสาวนั่งอยู่ข้างเตียง

คำสั่งเสียสุดท้ายของเธอคือ ปรารถนาให้เถ้ากระดูกได้ไปโปรย ณ ยอดภูเขาไฟ โปโปคาเตเพ็ตติ ในเม็กซิโก