วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

ฮูโก พรัตต์ คาแรกเตอร์การ์ตูนเล่าเรื่อง



นักวาดการ์ตูนชาวอิตาเลียน ฮูโก พรัตต์ ผสานการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมอันเป็นเสน่ห์ของเขา ผ่านการถ่ายทอดทางคาแรกเตอร์ที่ชื่อว่า กอร์โต มัลเตเซ จนแทบจะกลายร่างเป็นตัวตนคนจริงๆ เพราะผู้คนที่เป็นแฟนๆ ของเขาเชื่อสนิทใจในเรื่องราวที่เขาเล่าขาน

ฮูโก ยูจีโน พรัตต์ เกิดที่ริมินีในเมือง โรมาญา เป็นลูกของโรลันโด พรัตต์ และเอเวลินา เจเนโร แต่เขาไปโตที่เมืองเวนิซ ท่ามกลางแวดล้อมของครอบครัวที่ผสมผสานกันหลายชาติหลายภาษา -- คุณปู่ของเขาที่เชื้อสายมาจากอังกฤษ ขณะที่คุณตาเป็นยิว ส่วนคุณยายมีเชื้อสายตุรกี แถมเขายังเป็นญาติกับนักแสดงดัง บอริส คาร์ลอฟฟ์ (เจ้าของบทบาทแฟรงเกนสไตน์) ที่ชื่อจริงคือ วิลเลียม เฮนรี พรัตต์ อีกด้วย

ในปี 1937 ฮูโกกับมารดาย้ายไปยัง เอธิโอเปีย (อะบิสสิเนียสมัยนั้น) เนื่องจากบิดาซึ่งเป็นนายทหารต้องไปประจำการที่นั่นหลังจากรัฐบาลฟาสซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินีเข้ายึดครอง บิดาของฮูโกถูกทหารอังกฤษจับในปี 1941 และเสียชีวิตในปีต่อมาหลังจากติดโรคร้ายขณะถูกขังอยู่ในค่ายเชลยสงคราม

ปีเดียวกับที่พ่อตาย เขาและแม่ถูกย้ายไปอยู่ในค่ายเชลยสงครามที่ดีเรดาอูในฐานะแพทย์ฝึกหัด ฮูโกขอซื้อหนังสือ การ์ตูนจากผู้คุมนักโทษ ก่อนที่เขาจะถูกส่งกลับอิตาลีโดยหน่วยกาชาดในไม่ช้า

ในปี 1944 เขาเกือบไม่ได้โตขึ้นมาเป็นนักวาดการ์ตูน เพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสปายชาวแอฟริกาใต้ และเกือบโดนทหารหน่วยเอสเอสของนาซีฆ่าตาย

อย่างไรก็ตาม เขารอดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ และไปปักหลักอยู่ที่เมือง เวนิซ อาศัยหาเลี้ยงชีพโดยการแสดงให้ทหารพันธมิตรชม หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เข้าร่วมกลุ่มกับนักวาดการ์ตูนชาวอิตาเลียน ซึ่งรวมทั้งคนดังๆ อย่าง อัลแบร์โต องกาโร และมาโร ฟาอุสติเนลลิ ด้วย

สำหรับฮูโก คนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา ก็มีทั้งเจมส์ โอลิเวอร์ เคอร์วูด เซน เกรย์ เคนเนธ โรเบิร์ตส์ ลีแมน ยัง วิล ไอส์เนอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิลตัน คานิฟฟ์

กลุ่มของเขาออกนิตยสารการ์ตูน Asso di Picche เล่มแรกในปี 1945 นอกจากฮูโกและเพื่อนคนสำคัญ 2 คนข้างต้นแล้ว ยังมีอัลโบ อูรากาโน การ์ตูนนิสต์ชื่อดังที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัย และนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ๆ อีกมากมาย ทั้ง ดีโน บัตตากลา รินัลโด ดามี และจอร์โจ เบลยาวีติส

Asso di Picche (หรือ 1 โพธิ์ดำ) ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศอาร์เจนตินา ที่ฮูโกได้รับเชิญไปในปี 1949

ฮูโก ยูจีโน พรัตต์
ช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 นี่เอง เขาย้ายไปยังบัวโนสไอเรส ไปทำงานกับสำนักพิมพ์อาบริล ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับ โฆเซ ลูอิส ซาลีนาส อัลเบร์โต เบรกเซีย และโซลาโน โลเปซ ขณะที่สำนักพิมพ์ฟรอนเตราได้ตีพิมพ์ผลงานสำคัญๆ มากมายของฮูโกออกมา ไม่ว่าจะเป็น Sgt. Kirk, Ernie Pike และ Ticonderoga (บทประพันธ์ของ เอคตอร์ เกร์มัน โอเอสเตร์เฮลด์) รวมทั้ง Junglemen ที่อัลเบร์โต องกาโร เป็นคนเขียนเรื่อง

นอกจากนี้ เขายังสอนการวาดภาพที่สถาบันศิลปะ Escuela Panamericana de Arte ของเอนริเก ลิปส์ซิกด้วย

ยามว่าง ฮูโก พรัตต์ มักจะเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอเมริกาใต้ ทั้งป่าอะเมซอนและมาตู โกรซู และนั่นก็เป็นแรงบันดาลใจสู่การ์ตูนเล่มแรกที่ทั้งเขียนและวาดเอง Anna della jungla ตามด้วย Capitan Cormorant และ Wheeling

ฤดูร้อนปี 1959 เขากลับมายุโรป โดยแวะไปอยู่ที่อังกฤษ 1 ปีเต็มก่อนจะกลับบ้านเกิดที่อิตาลี เขาทำงานให้สำนักพิมพ์ฟลีตเวย์ ร่วมกับนักเขียนชาวอังกฤษ เนื่องด้วยอาร์เจนตินาประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เขาจึงกลับอิตาลีในปี 1962 และเริ่มทำงานกับสำนักพิมพ์ที่สร้างสรรค์นิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็ก Il Corriere dei Piccoli โดยฮูโกได้นำนิยายคลาสสิกหลายเรื่องมาเล่าใหม่ในรูปแบบการ์ตูน อย่างเช่น เรื่อง Treasure Island ของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน

ในปี 1967 ฟลอนเรนโซ อิวาดี ชวนเขาทำแมกกาซีนการ์ตูน โดยตั้งชื่อตามฮีโร่ของเขา Sgt. Kirk อันเป็นคาแรกเตอร์จากเรื่องราวของนักเขียนชาวอาร์เจนไตน์ เอคตอร์ โอเอสเตร์เฮลด์ – คาแรกเตอร์ชื่อดังของฮูโก กอร์โต มัลเตเซ ตีพิมพ์ครั้งแรกที่นี่ กับตอนที่ชื่อว่า Una ballata del mare salato ซึ่งกลายเป็นเรื่องขายดีพอๆ กับเริ่มโด่งดังเป็นพลุแตก

ซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากในอิตาลีแล้ว ยังตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนของฝรั่งเศส Pif ด้วย

เนื่องด้วยความที่ฮูโก พรัตต์ เป็นส่วนผสมของหลายเชื้อชาติศาสนา เรื่องราวที่ปรากฏในซีรีส์กอร์โต มัลเตเซของเขา จึงมักมีสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับประวัติของบรรพบุรุษหลายสาย ทั้งอังกฤษ ทั้งยิว และตุรกี หลายๆ ครั้งที่เรื่องราวของ กอร์โตอิงกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เช่น การอ้างถึงสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในปี 1755 ที่ติกอนเดโรกา สงครามแย่งอาณานิคมในแอฟริกา สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เป็นอาทิ

เสน่ห์อย่างหนึ่งของซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ คือการสืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดแม่นยำ ก่อนจะมาเล่าเป็นเรื่องราวที่ โลดแล่นอย่างสมจริง

แม้ฮูโกจะสร้างสรรค์ซีรีส์ดังๆ อย่าง Gli scorpioni del deserto และ Jesuit Joe ด้วย แต่หลักๆ แล้ว เป็นสิบๆ ปีทีเดียวที่เขาอยู่กับคาแรกเตอร์หลัก อย่าง กอร์โต เพียงตัวเดียว โดยนอกจากได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารแล้ว ยังมีการรวมเล่มออกมาเป็นตอนๆ หลายเล่มด้วยกัน และซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ ได้รับการแปลไปเป็นกว่า 15 ภาษาทั่วโลก

ในบั้นปลายของชีวิต ฮูโกใช้เวลาไปกับการเดินทาง จากแคนาดาไปพาตาโกเนีย จากแอฟริกาไปแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในเดือน ส.ค. 1995

หลังจากที่เขาเสียชีวิต The Scorpions of the Desert เรื่องเล่าที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งได้รับการตีพิมพ์ในอังกฤษ และในปี 2005 อันเป็นการฉลองครบรอบทศวรรษแห่งการจากไปของฮูโก พรัตต์ ซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ 6 เล่มพิมพ์ออกมาในเวอร์ชันภาษาฝรั่งเศส และประกาศว่า ตอนต่อซีรีส์เล่มที่ 7 Le chemin de fievre จะออกวางแผงในเดือนมี.ค. 2008 โดยมี ปิแอร์ วาซีม เป็นผู้วาดภาพ

เช่นเดียวกับการสานต่อซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ ที่สำนักพิมพ์ของฝรั่งเศสบอกว่า จะยังออกซีรีส์พิเศษเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี

ผลงาน ณ บั้นปลาย ของ ซัลวาดอร์ ดาลิ



Salvador Dali : The Late Work รวบรวมผลงานในช่วงปลายของชีวิต ศิลปินเซอร์เรียลิสต์ชาวสเปน ซัลวาดอร์ ดาลิ จัดแสดงครั้งล่าสุดอยู่ที่หอศิลป์ ไฮ มิวเซียม ออฟ อาร์ต (High Museum of Art) ในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา โดยนับว่าเป็นชิ้นงานที่ไม่เคยจัดแสดงต่อสาธารณชนที่อเมริกา มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

ซัลวาดอร์นับเป็นจิตรกรเซอร์เรียลิสต์แถวหน้า โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงและโดดเด่นในแนว “เหนือจริง” อย่างภาพนาฬิกาหลอมละลายใน The Persistence of Memory ทำให้เขากลายเป็น “ไอคอน” ของวงการ ทว่า หลังจากสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางนี้มาเป็นสิบๆ ปี เขาก็แยกตัวออกจากวงการไปสร้างสรรค์งานในรูปแบบอื่นๆ ทั้งด้วยเหตุผลทางด้านศิลปะและการเมือง

สำหรับผลงานที่จัดแสดงที่หอศิลป์ไฮ มิวเซียม ออฟ อาร์ต เป็นผลงานในช่วงหลังของชีวิต คือตั้งแต่ปี 1940 ถึง 1983 ซึ่งภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการนี้ อย่าง เอลเลียต คิง บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจในการศึกษาผลงานศิลปะของซัลวาดอร์ ดาลิ อีกช่วงหนึ่งเช่นกัน

“เราได้เห็นผลงานของเขาตลอดศตวรรษที่ 20 แต่ว่า ดูเหมือนผู้คนจะโฟกัสไปในงานแนวเซอร์เรียลิสม์ในช่วงทศวรรษที่ 1930 มากที่สุด และเมื่อเขาเปลี่ยนแนวในการสร้างสรรค์ผลงาน ก็คล้ายกับซัลวาดอร์ได้ตายไปเลยตั้งแต่ปี 1940” เอลเลียต กล่าว

ซัลวาดอร์ ดาลิ ออกมาประกาศว่า ตัวเขาคือจิตรกรประเภทคลาสสิกในปี 1941 และเริ่มสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางที่ประกาศออกมานับจากนั้น ทำให้บรรดานักวิจารณ์ออกมาดูหมิ่นดูแคลน และกล่าวหาว่า งานของเขาเหมือนกำลังเย็บปักถักร้อย หรือบางชิ้นก็มุ่งเชิงพาณิชย์มากเกินไป “ผมว่าบางทีคนทั่วไปก็อาจจะมองความแตกต่างของผลงานทั้งสองช่วงไม่ออกด้วยซ้ำ”

ภัณฑารักษ์คนเดิมให้ความเห็นต่อว่า แม้การเปลี่ยนแนวของซัลวาดอร์จะเป็นต้นเหตุของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ “แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจในผลงานของเขาช่วงท้ายนี้”

เอลเลียต ว่า ในนิทรรศการครั้งนี้จะสร้างความรับรู้ในหลายระดับ สำหรับคนที่เพิ่งจะศึกษาผลงานของซัลวาดอร์ ดาลิ ก็จะสามารถได้ข้อมูลขั้นต้นในด้านจินตนาการลึกๆ และความรักการแสดงออกของศิลปินสแปนิช ขณะที่คนซึ่งรู้จักซัลวาดอร์ดีอยู่แล้ว ก็สามารถมาศึกษาความคิดในการงานสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้ง อีกหลายอย่างที่อาจไม่เคยเห็นในการแสดง ที่อื่นมาก่อน

นิทรรศการเบิกโรงด้วยภาพหนวดยาวอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินสเปน ถ่ายโดยช่างภาพอเมริกัน ฟิลิปป์ ฮัลส์แมน ตามด้วยผลงาน ในอดีตของซัลวาดอร์พอหอมปากหอมคอ เพื่อ “เท้าความ” สำหรับคนที่ไม่เคยชมผลงานของเขามาก่อน ก่อนที่จะเริ่มเข้าถึงผลงานช่วงหลังจากปี 1940 ทั้ง Nuclear Mysticism ที่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของเขาเอง คือ การกลับเข้าเป็นชาวคริสต์อีกครั้ง และเรื่องราวเกี่ยวกับนิวเคลียร์ที่เขากำลังสนใจ

ภาพที่ต่อเนื่องกันคือ The Madonna of Port-Lligat เป็นภาพขนาดใหญ่รูปพระแม่ มารีทรงอุ้มพระบุตร รายรอบด้วยกรอบเฟรมภาพที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ภาพนี้ขอยืมมาจาก หอศิลป์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เคยจัดแสดงในอเมริกามาตั้งแต่ปี 1951

อีกภาพที่โดดเด่นมาก ได้แก่ Santiago El Grande (Homage to Saint James) เป็นภาพของนักบุญเจมส์ ซึ่งถือว่าเป็นนักบุญผู้พิทักษ์ประเทศสเปน ในภาพยังมีพระเยซูถูกตรึงกางเขน ส่วนนักบุญเจมส์อยู่บนหลังม้าที่ทะยานขึ้นบนกลุ่มควันของระเบิดปรมาณู ภาพดังกล่าวขอยืมมาจากบีเวอร์บรูก อาร์ต แกลเลอรี ในเมือง นิวบรุนสวิก ประเทศแคนาดา ซึ่งไม่เคยให้ ใครยืมออกนอกสถานที่เลย นับแต่ได้ภาพนี้ไว้ ในครอบครองเมื่อปี 1959 เอลเลียตจึงเสริมว่าได้จัดแสดงเอาไว้ในที่สูง และต้องแหงนหน้า ชมกันนิดหน่อยเพื่อความปลอดภัยของภาพ

Christ of St. John of the Cross คือภาพดังอีกภาพ แสดงให้เห็นพระเยซูบนไม้กางเขน อยู่เหนือทุกสรรพสิ่งบนโลก ข้างๆ ภาพดังกล่าว แสดงให้เห็นภาพศิลปินสเปนถ่ายรูปคู่กับบ๊อบบี เคนเนดี หน้าภาพเขียนเดียวกันเมื่อครั้งนำมาจากสกอตแลนด์ เพื่อมาแสดงในอเมริกาครั้งล่าสุดเมื่อปี 1965

ขณะที่ภาพ Assumpta Corpuscularia Lapilazulina คล้ายเป็นการกล่อมเกลาจิตใจ ซัลวาดอร์ ดาลิเอง ภาพนี้เป็นสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งไม่เคยออกแสดงต่อสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 1959 เช่นกัน เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ แสดงภาพใบหน้าของ กาลา ภรรยาของเขาเองในฐานะพระแม่มารีกำลังสวดส่งพระวิญญาณของ พระเยซูไปสู่สรวงสวรรค์

ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการศิลปะ Salvador Dali : The Late Work บอกว่า ภาพแต่ละภาพในยุคนี้ ราวกับเรากำลังเดินทางแสวงบุญไปพร้อมกับผลงานของเขา

สำหรับส่วนแสดงงานสุดท้าย เอลเลียตเรียกว่า “ผลงานป๊อปอาร์ตของดาลิ” ซึ่งนับว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปินแนวนี้มากมาย ทั้งแอนดี วอร์ฮอล และเจฟฟ์ คูนส์

ภาพร่างระดับโลกบนกระดาษ กราฟฟิก คอลเลกชัน ราชวงศ์เดนมาร์ก

คริสโตเฟอร์ วิลเฮล์ม เอกเคอร์เบิร์ก
At a Window in the Artist's Studio

The Royal Collection of Graphic Art เซกชันเล็กๆ ในนิทรรศการแสดงศิลปะ The Royal Collections ณ สตาเทน มิวเซียม ฟอร์ คุนสท์ หรือ หอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก “ขโมยซีน” ทุกนิทรรศการงานศิลป์สุดอลังการ

แม้ว่า The Royal Collections ที่จัดแสดงอยู่จะกอปรไปด้วยสุดยอดแห่งงานศิลปะยุโรป กว่า 2.4 แสนชิ้น ทั้งดรอว์อิง ภาพสีน้ำ ภาพพิมพ์หิน ภาพแกะไม้ ประติมากรรม ฯลฯ นับตั้งแต่ 700 ปีที่เริ่มมีศิลปะที่เรียกว่า Fine Arts ไม่ว่าจะเป็นเซกชัน European Art 1300 – 1800 อันเต็มไปด้วยผลงานของจิตรกร/ประติมากรเลื่องชื่อทั้งหลาย เช่น โจวานนี ปิซาโน ลูคัส ครานากซ์ ติซาโน เวเชลโล ปีเตอร์ บรูเอเกล เอล เกรโก เพเทอร์ พอล รูเบนส์ และเรมบรานต์ ฟาน ไรน์ ฯลฯ

ขณะที่ เซกชัน Danish and Nordic Art 1750-1900 ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเป็นการรวมศิลปินท้องถิ่นแดนิชและนอร์ดิกผลงานไม่ธรรมดา (ก็นี่เป็นคอลเลกชันราชสำนักเชียวนะ) โดยกินเวลาระหว่างยุคนีโอคลาสสิก มาจนถีงปลายอิมเพรสชันนิสม์เลยทีเดียว

โยฮานน์ ไฮน์ริกซ์ ฟูสซีลิ Woman Sitting Curled up
เช่นเดียวกับส่วนของ Art After 1900 อันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ระหว่างอิมเพรสชันนิสม์ไปสู่ศิลปะยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เอกซ์เพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ โฟวิสม์ หรือเซอร์เรียลิสม์ ก็ตาม ราชสำนักเดนมาร์กมีคอลเลกชันโดดเด่นของศิลปินอย่าง เอมิล โนลเด มักซ์ แอร์นส์ต เกร์ฮาร์ด ริกซ์เตอร์ อองเดร เดอแร็ง อมาเดโอ โมดิกลานี อองรี มาติสส์ จัดแสดงร่วมกับศิลปินชาวเดนิชจากยุคสมัยเดียวกัน

Intimacy ผลงาน เอดการ์ เดอกาส์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซกชันที่ควรจะเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ French Art 1900-1930 อันเป็นยุคสุดรุ่งเรืองที่ฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะ

ทว่า จุดสนใจของนิทรรศการ The Royal Collections ณ หอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก กลับมาอยู่ที่ห้องจัดแสดงผลงาน Graphic Art (www.smk.dk/en/explore-the-art/the-royal-collections/graphic-art) ที่รวบรวมภาพสเก็ตช์บนกระดาษหาดูได้ยากของศิลปินชื่อดังทั่วยุโรป นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ไปจนถึง ทศวรรษที่ 1930 โดยภัณฑารักษ์ของหอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก บอกว่า เป็นภาพสเก็ตช์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป
Woman Lying on the Beach-เอดูอาร์ด มาเนต์
นอกจากความที่หาดูยากแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชม สัมผัสกับผลงานศิลปะอย่างใกล้ชิด ราวกับว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซีเอสอ กำลังตรวจพิสูจน์หลักฐานคดีฆาตกรรมกันเลยทีเดียว

สมุดรวมภาพดอกไม้
 (Gottorfer Codex)
ของ โยฮานเนส ซิมอน
โดยส่วนมากหากเราไปแกลเลอรีชมศิลป์ที่ไหนก็ตาม มักจะมีการกั้นพื้นที่เอาไว้ไม่ให้เราเข้าใกล้งานศิลปะล้ำค่า ทำให้ยากที่จะเห็นรายละเอียดความประณีตบรรจงของชิ้นงานที่ศิลปินสรรค์สร้าง โดยเฉพาะศิลปินระดับมาสเตอร์พีซทั้งหลาย ทว่า ในห้องแสดง Graphic Art อันเป็นทรัพย์สินของราชวงศ์เดนมาร์กนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้จับต้องสัมผัสผลงานภาพสเก็ตช์ของศิลปินชื่อก้องโลก อย่าง เรมบรานต์ ฟาน ไรน์ อัลเบรชต์ ดูเรอร์ เอดูอาร์ด มาเนต์ เอดการ์ เดอ กาส์ ปาโบล ปิกัสโซ อองรี เดอ ตูลูส-โลแทร็ก ฟรานซิสโก โกยา หลุยส์ บูร์ชัวส์ ฯลฯ อย่างใกล้ชิด ทั้งชิ้นงานจริง และจอมัลติทัชสกรีนที่สามารถขยายภาพชมรายละเอียด พร้อมคำอธิบายประกอบที่น่าสนใจอีกต่างหาก

ภาพ Venus ของศิลปินไม่ปรากฏชื่อ
ในขณะที่ห้องแสดงภาพสมบัติงานศิลป์อันล้ำค่าของราชวงศ์เดนมาร์กห้องอื่นๆ ที่ว่ามา แบ่งสรรจัดระเบียบตามลำดับของกาลเวลาและยุคสมัยแห่งประวัติศาสตร์ศิลป์ ในห้องแสดงผลงาน Graphic Art กลับเป็นการรวมศิลปินดังและผลงานภาพสเก็ตช์ของศิลปินทุกยุคทุกสมัยเหล่านั้นเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งหลายภาพเป็นปฐมบทของผลงานดังๆ ต่างๆ ของโลก และแม้แต่จิตรกรไร้ชื่อ (Ubekendt Kunstner) หรือภาพสเก็ตช์จากศิลปินท้องถิ่น ล้วนได้รับการเล่าผ่านการนำเสนอที่น่าสน

สตาเทน มิวเซียม ฟอร์ คุนสท์ เป็นสถานที่น่าไปที่สุดหากไปเยือนเดนมาร์ก เพราะ The Royal Collections เป็นนิทรรศการถาวรที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมเสียด้วยสิ แต่ถ้าไปไม่ถึงเข้าไปชมเป็นน้ำจิ้มรสชาติเข้มข้นได้ที่ www.smk.dk/en/explore-the-art/the-royal-collections