วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กูไต ศิลปินญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม


สำหรับชาวตะวันตก ศิลปะร่วมสมัยของชาวเอเชียอาจจะถูกมองว่า พัฒนาขึ้นเนื่องด้วยปัจจัยของโลกาภิวัตน์ ทว่า ถ้าจะพูดถึงประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่น กลับมีความเป็นมาที่ยาวนาน ทั้งมีการพัฒนาที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าจะมองง่ายๆ ว่าเพิ่งเกิดเมื่อยุคโลกาภิวัตน์เท่านั้น ถ้าจะมองให้ครบๆ ต้องตบเท้าไปดูตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการถูกปรมาณูถล่มฮิโรชิมา หลังกองทัพอเมริกันไปตั้งฐานทัพในดินแดนปลาดิบ
อาจเนื่องเพราะลูกอาทิตย์อุทัยปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่บอบช้ำจากสงคราม ทำให้ “ศิลปะ” เป็นสิ่งที่ไม่เพียงชาวตะวันตกเท่านั้นไม่ได้สนใจใยดี ทั้งๆ ที่มีการแสดงออกถึงการต่อต้านผู้รุกราน ความคั่งแค้น และความเป็นขบถทางความคิดอยู่มากมาย
ชาวอเมริกันและตะวันตก ไม่เคยมีโอกาสเห็นศิลปะเหล่านี้ กระทั่งมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินญี่ปุ่นหลังสงครามครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1994 ในนิทรรศการ Scream Against the Sky จัดโดย อเล็กซานดรา มันโร ผู้อำนวยการสมาคมญี่ปุ่นสมัยนั้น ซึ่งร่วมมือกับหอศิลป์กุกเกนไฮม์มิวเซียม (ซานฟรานซิสโก) หอศิลป์เอเชียนอาร์ตมิวเซียม แห่งซานฟรานซิสโก รวมทั้งเจแปนฟาวเดชัน เช่นเดียวกับนิทรรศการ Art, AntiArt, NonArt: Experimentations in the Public Sphere in Postwar  Japan, 1950–1970 ที่หอศิลป์เกตตีมิวเซียม ในลอสแองเจลิส
แม้ว่าทุกวันนี้ จะมีศิลปินเกิดใหม่มากมาย แต่เนื่องด้วยกุกเกนไฮม มิวเซียม นิวยอร์ก เพิ่งจะเปิด Gutai: Splendid Playground นิทรรศการพิเศษเพื่อเชิดชูและระลึกถึงศิลปินญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มกูไต (Gutai) ผู้นิยมอาศัยส่วนต่างๆ ของร่างกายในการวาดภาพ จัดโดยอเล็กซานดรา มันโร คนเดิม ด้วยความร่วมมือของ หมิงเทียมเปา ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ในกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา
Gutai: Splendid Playground นับว่า เป็นการจัดต่อเนื่องจากนิทรรศการ Tokyo 1955–1970: A New AvantGarde ที่หอศิลปะร่วมสมัย กรุงนิวยอร์ก (โมมา) โดยภัณฑารักษ์ดอร์ยุน จอง แล้วก็ยังมีนิทรรศการ Destroy the Picture: Painting the Void, 1949–1962 ที่หอศิลปะร่วมสมัยแคลิฟอร์เนีย (โมคา) ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินนานาชาติในยุคดังกล่าว รวมถึง กูไต ด้วย ขณะที่บลัม แอนด์ โป แกลเลอรี ในลอสแองเจลิสเอง ก็จัด Requiem for the Sun: The Art of Monoha ตั้งแต่ 25 ก.พ. ไปถึง 14 เม.ย. นี้ ไม่นับปีที่ผ่านมาที่มีการจัดนิทรรศการซึ่งมีผลงานของ กูไต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งมากมาย ทั้งที่ บาร์บารา แกลดสโตน ในนิวยอร์ก เฮาส์เนอร์ แอนด์ เวิร์ธ ในนิวยอร์กเช่นกัน ขณะที่นิทรรศการ Shinohara Pops! The AvantGarde Road, Tokyo/New York ที่นิว พัลต์ซ นิวยอร์ก โดยภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่น ฮิโรกิ อิเคกามิ และเรอิโกะ โทมิอิ ก็ขนผลงานอลังการงานสร้างของ กลุ่มกูไต มาเป็นไฮไลต์
กลุ่มกูไต ก่อตั้งโดย จิโร่ โยชิฮาระ ในปี ค.ศ. 1954 โดย โชโซ ชิมาโมโตะ เป็นคนแนะนำให้ตั้งชื่อกลุ่มว่า กูไต โดย กู ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง เครื่องมือ ส่วน ไต แปลว่า ร่างกาย
“ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ทาคาชิ มูราคามิ และนารา 2 ศิลปินร่วมสมัยญี่ปุ่นกลายเป็นที่ชื่นชอบในโลกศิลปะ แต่จริงๆ แล้วชาวตะวันตกยังไม่ได้เคยเห็นศิลปะร่วมสมัยแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นกันสักเท่าไร” ดอร์ยุน จอง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการล่าสุดที่โมมา นิวยอร์ก ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัยของทั้งจิตรกร สถาปนิก และกราฟฟิก ดีไซเนอร์ของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลก บอกอีกว่า ทุกวันนี้คนที่ชื่นชอบงานศิลปะมีแนวโน้มจะชื่นชอบผลงานที่ย้อนไปในอดีต “เรียกว่าต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในเชิงลึกมากกว่าจะดูแต่ศิลปะที่ร่วมสมัย โดยเฉพาะศิลปะที่หาดูยากจากญี่ปุ่น และกลุ่มที่รวมตัวกันเหนี่ยวแน่น อย่างกลุ่มกูไตนั้นมีผลงานที่น่าจับตา ส่วนหนึ่งก็เพราะเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่มีความกดดันทางด้านสังคมมากมาย”
ดอร์ยุน จอง ยังเชื่อว่า ศิลปินร่วมสมัยญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1950 – 1960 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก “พวกเขามีพัฒนาการอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับการฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่ จะว่าไป ศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่นที่หลุดจากรอบของศิลปะประเพณี น่าจะเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1870 นั่นเลยทีเดียว หลังจากที่ประเทศเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก เพราะเป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่นที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็ว
ดูอย่างเซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งมาจากตะวันตก ก็เข้ามาเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของศิลปินกลุ่มกูไต แม้ว่าหลังสงครามญี่ปุ่นจะปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูตัวเองก็ตาม และก็ไม่น่าแปลกใจที่ศิลปินรุ่นหลังๆ ทั้งโยโกะ โอโนะ (คนเดียวกับภรรยา จอห์น เลนนอน) และยาโยอิ คูซามะ จะได้การยอมรับในผลงานระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว และอยู่อย่างเติบโตได้สบายๆ ในสังคมตะวันตก”

กูไต มัลติมีเดีย ทัวร์
Guggenheim app แอพพลิเคชันให้ดาวน์โดหลดฟรี สำหรับ ไอโฟนและไอพอด ทัช (แอนดรอยด์ จะมีเร็วๆ นี้) ที่ไม่เพียงแต่พาทัวร์นิทรรศการพิเศษของศิลปินญี่ปุ่นผู้ใช้เท้าในการละเลงภาพเท่านั้น หากยังมีรายละเอียดต่างๆ ของกุกเกนไฮมมิวเซียม ทั้งอาคารสถานที่ และนิทรรศการที่เป็นไฮไลต์อื่นๆ ให้ชมกันทั้งภาพและเสียงด้วย
แอพพลิเคชันนี่เป็นลักษณะอินเตอร์แอคทีฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถฟังรายละเอียดในนิทรรศการต่างๆ จากหูฟังของตัวเองผ่านแอพฯ บนมือถือ (หรือสามารถขอยืมหูฟังได้ที่หน้าหอศิลป์) ไม่ว่าจะเป็น อาคารที่ออกแบบโดย แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ภาพและเสียงที่พาเยี่ยมชมแต่ละนิทรรศการ ปฏิทินนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด สมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษ ไกด์เสียงสำหรับผู้ทุพพลภาพ นิทรรศการพิเศษสำหรับเด็ก ฯลฯ
ไม่ต้องไปถึง กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก ก็ชมศิลปะกลุ่มกูไต ศิลปินกลุ่มก้าวหน้า (avantgarde) กลุ่มแรกของญีปุ่นได้ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.guggenheim.org/newyork/visit/tours/guggenheimapp)

ลายเส้น The Americans โดย ซาอูล สไตน์แบร์ก





The Americans ภาพลายเส้นขนาดยาวต่อกันถึง 75 เมตร ที่ดูเหมือนจิตรกรรมฝาผนัง ของ ซาอูล สไตน์แบร์ก นักวาดการ์ตูนเชื้อสายยิวโรมาเนียน – อเมริกัน สร้างสรรค์ครั้งแรกเพื่อประดับส่วนแสดงสินค้าของสหรัฐ ในงานบรัสเซล เวิลด์ แฟร์ ปี ค.ศ. 1958 กระทั่งขณะนี้จึงได้รับการจัดแสดงเต็มๆ ในรูปแบบเดิมอีกครั้งเป็นหนแรก ณ มิวเซียม ลุดวิก เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี (ระหว่าง 23 มี.ค. – 23 มิ.ย.)
นิทรรศการ The Americans ยังรวบรวมภาพวาดลายเส้นของซาอูลที่เกี่ยวข้องกัน จากทศวรรษที่ 1950 รวมทั้งบทความในแมกกาซีนต่างๆ ที่เขาเขียนเองด้วย
ซาอูล เอริค สไตน์แบร์ก มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1914 – 1999 เขาเป็นชาวยิวที่เกิดในโรมาเนีย ซาอูล ได้รับการศึกษาทางด้านสถาปัตย์ที่กรุงมิลาน ก่อนที่จะต้องอพยพหนีตายไปยังสหรัฐในปี 1942 เนื่องเพราะการลุกฮือของลัทธิต่อต้านยิวในยุโรป ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่สหรัฐ เขาได้ถิ่นฐานอยู่ในกรุงนิวยอร์ก และได้วาดภาพปก และภาพประกอบส่วนใหญ่ ให้กับนิตยสาร The New Yorker นอกจากนั้นยังมีนิตยสารอื่นๆ อีก 2 – 3 เล่ม แล้วก็ยังทำงานศิลปะเพ่อจัดแสดงยังแกลเลอรีต่างๆ ด้วย (ผลงานที่สร้างชื่อที่สุดคือ View of the World from 9th Avenue จากปี 1976)

สำหรับงานบรัสเซล เวิลด์ แฟร์ ในปี 1958 นับเป็นงานแสดงสินค้าระดับโลกครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในงานเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งสงครามเย็น ระหว่างคู่แข่งตัวฉกาจอย่างสหรัฐและโซเวียต ภาพลายเส้นที่ขนาดยาวต่อกันถึง 75 เมตร แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวอเมริกันในยุคนั้นในแบบพาโนรามา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคนใจกลางเมือง ไปถึงคนในชนบท
ในภาพเดียวนี้ ซาอูล อาศัยเทคนิคหลากหลาย และแรงบันดาลใจจากสื่อกับวัสดุที่แตกต่างกัน ทั้งภาพร่างดรอว์อิง ภาพถ่าย ภาพประดับฝาผนัง กระดาษกล่อง แล้วก็ภาพการ์ตูน
The Americans คือมุมมองของเขาเกี่ยวกับชีวิตของคนอเมริกัน ที่ดูแล้วเจืออารมณ์ขัน แล้วก็มองโลกในแง่ดี โดยปราศจากความคิดในด้านมืด แม้ว่าตัวซาอูลเองจะเพิ่งผ่านประสบการณ์อพยพหนีตายมายังสหรัฐได้ไม่นาน ทว่า รูปนี้ยังมีกลิ่นอายของการเป็นคนนอกที่มองเข้าไปในสังคมใหม่อย่างตื่นตาตื่นใจ
หลังจากการแสดงงานฉบับเต็มในบรัสเซล เวิลด์ แฟร์ ในปี 1958 ภาพขนาดยาว 75 เมตร ได้นำไปจัดแสดงที่ มูเซ รัวโยซ์ เดส์ โบซาร์ตส์ ที่กรุงบรัสเซลส์ เสร็จแล้วก็ได้รับการตัดแบ่งเป็น 84 ส่วน เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และการเก็บรักษา อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็ยากที่จะหาสถานที่ที่จะจัดแสดงในแบบเต็มๆ เช่นนั้นอีกจนกระทั่งวันนี้
นอกจากภาพพาโนรามายาว 75 เมตรแล้ว ยังมีภาพวาดลายเส้น ภาพคอลลาจ แล้วก็หน้ากากที่ทำจากถุงกระดาษอันเลื่องชื่อ ของซาอูล สไตน์แบร์ก จัดแสดงเอาไว้พร้อมกันที่มิวเซียมลุดวิกครั้งนี้ด้วย
หลายๆ แกลเลอรีและหอศิลป์ในสหรัฐ มีผลงานของซาอูลอยู่ในคอลเลกชันของพวกเขา เช่นเดียวกับบางแห่งในยุโรป มิวเซียมลุดวิก รวบรวมผลงานเด่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานหลักๆ The Americans เอาไว้มากที่สุด พร้อมๆ กับจัดแสดงผลงานศิลปะแนวป๊อปอาร์ต และงานศิลปะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยศิลปินรายอื่นๆ ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ด้วย
(รายละเอียดเพิ่มเติม www.museumludwig.de)

ประติมากรรมร่วมสมัย รอน มิวเอค


นิทรรศการประติมากรรมร่วมสมัย ผลงานใหม่ล่าสุดของประติมากรชาวออสซี รอน มิวเอค จัดแสดงอยู่ที่ มูลนิธิส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยการ์ติเยร์ (Fondation Cartier pour l’art contemporain) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่ง 29 ก.ย. 2013 โดยเป็นการแสดงงานประติมากรรมแบบเต็มสตรีมของเขาครั้งแรกบนผืนแผ่นดินยุโรป
ชื่อของ รอน มิวเอค อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูคนเสพย์ศิลปะมากมายนัก เพราะเขาเพิ่งจะผุดขึ้นมาในโลกประติมากรรมอย่างช้าๆ นอกจากนี้ ประติมากรรมในสไตล์ของเขาก็อาจจะไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบกันในวงกว้าง
หลังจากปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเขาได้มีส่วนในนิทรรศการครั้งหนึ่งของหอศิลป์ที่มูลนิธิแห่งเดียวกันนี้ ชาวปารีเซียงก็มีโอกาสได้ชมประติมากรรมแนวไฮเปอร์เรียลิสติก หรือพูดภาษาชาวบ้านก็ได้ว่า “โค-ตะ-ระ” เหมือนจริง (เลย) กันแบบเต็มๆ อีกครั้งหนึ่ง
ไฮไลต์ได้แก่ชิ้นงานอย่าง Young Couple, Woman with Shopping Bags และ Couple under an Umbrella ที่แต่ละชิ้นงานแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์หลากรูปแบบในสังคมปัจจุบัน อย่าง Young Couple รอนถ่ายทอดความสัมพันธ์ของคู่รักวัยรุ่น ที่นับวันอายุเฉลี่ยจะน้อยลงทุกที
ขณะที่ Woman with Shopping Bags เรื่องราวของหญิงสาวยุคใหม่ที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในคราวเดียว เมื่อไปช็อปปิง เธอก็ยังต้อง (พก) พาลูกน้อยใส่ไว้ในเสื้อโค้ตด้านหน้าด้วย ส่วน Couple under an Umbrella นั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักสูงวัย ที่ชายชรานอนตักภรรยาอยู่ใต้ร่มชายหาด
เหตุที่ชิ้นงานทั้งสามกลายเป็นไฮไลต์ในนิทรรศการประติมากรรมครั้งนี้ เนื่องจากปกติแล้วที่ผ่านมา รอน มิวเอค มักจะปั้นรูปมนุษย์สไตล์ไฮเปอร์เรียลิสติกของเขาเป็นบุคคลโดดเดี่ยวเสียมากกว่า แต่ครั้งนี้ประติมากรรมมนุษย์สุดจะเหมือนจริงของเขา กลับเพิ่มประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนขึ้นมาด้วย
รอน มิวเอค เป็นชาวออสเตรเลียนเชื้อสายเยอรมัน ปัจจุบันเขาอาศัยและสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นอาชีพจากการทำโมเดลให้รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ก่อนที่จะพัฒนาไปทำให้การถ่ายทำโฆษณาสินค้า โดยทำเต็มรูปแบบก็คือ ทำหุ่น จัดพร็อพ และถ่ายทำภาพเคลื่อนไหวสไตล์แอนิเมชันไปด้วย
รอนฝึกฝนจนเชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเส้นผมให้เหมือนผมจริง ร่องรอยบนใบหน้าจากการยิ้ม รวมถึงการจัดท่วงท่าต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคน เมื่อมาสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมในรูปแบบศิลปะเต็มตัว ความสามารถในการปั้นมนุษย์สุดจะเหมือนจริงแบบเป๊ะเวอร์ จึงทำให้ผู้เข้าชมตะลึงไปตามๆ กัน โดยเฉพาะการแสดงอารมณ์ชนิด “ล้นเหลือ” ออกทางสีหน้าของหุ่นแต่ละตัวยิ่งทำให้ผู้คนทึ่ง
สำหรับในนิทรรศการแบบเต็มรูปแบบ ณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยการ์ติเยร์ครั้งนี้ มีโกติเยร์ เดอบลงด์ ช่างภาพชาวฝรั่งเศสมาเพิ่มสีสัน ด้วยการทำสารคดี Still Life: Ron Mueck at Work ความยาว 50 นาที ที่จะฉายให้เห็นเบื้องหลังของผลงานต่างๆ ที่จัดแสดงเอาไว้ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ภาพสเก็ตช์ มาจนเป็นแม่พิมพ์ซีลีโคน กระทั่งออกมาเป็นชิ้นงานได้อย่างไร

ผลงานเด่นในอดีต
-ปี 1996 เขาเริ่มทำประติมากรรมเพื่อจัดแสดงจริงจัง โดยร่วมกับ พอล่า เรโก แม่ยายของเขาเอง สร้างหุ่นรูปคนตัวเล็กๆ แสดงที่เฮย์เวิร์ด แกลเลอรี ย่านเซาธ์แบงก์ กรุงลอนดอน งานนั้นถูกใจชาร์ลส์ ซาชิ เจ้าของเอเยนซีโฆษณาชื่อดังมาก ถึงกับเริ่มทำตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ และสะสมงานของรอน มิวเอค
-ปีเดียวกัน ประติมากรรม Dead Dad เป็นร่างไร้วิญญาณของพ่อรอนในลักษณะมิกซ์มีเดีย โดยเขาใช้ผมของตัวเองสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีขนาดเล็กกว่าตัวจริงราว 2 ส่วน 3 ออกโชว์ในนิทรรศการ Sensation ร่วมกับประติมากรท่านอื่นๆ ณ หอศิลป์ของรอยัล อคาเดมี
-ปี 1999 รอนสร้างประติมากรรมที่เล่นกับขนาดสุดเวอร์ สูง 5 เมตรชื่อ Boy แสดงในมิลเลนเนียมโดม ย่านกรีนิช กรุงลอนดอน ก่อนย้ายไปแสดงที่เวนิส เบียนนาเล และปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ร่วมสมัยอารอส ในเดนมาร์ก
-ปีเดียวกันเขาได้แสดงงาน Mother and Child, Pregnant Woman, Man in a Boat และ Swadled Baby ร่วมกับศิลปินอังกฤษที่หอศิลป์แห่งชาติอังกฤษ ในกรุงลอนดอน โดยหอศิลป์ขอซื้อประติมากรรม Pregnant Woman ไปในราคา 8 แสนเหรียญออสเตรเลีย รั้งออทางต่างๆ
-ปี 2007 นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่หอศิลป์ร่วมสมัยฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส ในสหรัฐ จัดแสดงผลประติมากรรมชิ้นเอกกว่า 13 ผลงาน เช่น Untitled (Seated Woman) Dead Dad, In Bed, Untitled (Big Man), Two Women, Crouching Boy in Mirror, Spooning Couple, Mask II, Mask III, Wild Man แล้วก็ A Girl จากนั้นมี Ron Mueck at The Andy Warhol Museum ที่หอศิลป์แอนดี วอร์ฮอล ในพิตส์เบิร์ก สหรัฐ รอนคัดผลงานชิ้นเอก อย่าง A Girl, In Bed,Wild Man, Spooning Couple, Man in a Boat, Mask II และ Mask III
-ปี 2009 ได้รับเชิญไปแสดงงานครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ณ หอศิลป์ร่วมสมัยคาวาซาวะ ผลงานเด่นคือ A Girl พร้อมหนังสั้นเกี่ยวกับตัวเขา 2 เรื่อง ฉายในนิทรรศการครั้งนั้น
-ปี 2010 รอน รวบรวมผลงานเกือบทั้งหมด จัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติวิคตอเรีย ในบ้านเกิดของเขาที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

พลิกตำนาน โรมารี แบร์เดน A Black Odyssey


เมื่อปี ค.ศ. 1977 ศิลปินหนุ่มแอฟริกัน – อเมริกัน โรมารี แบร์เดน (มีชีวิตระหว่าง ปี ค.ศ. 1911 – 1988) สร้างสรรค์ผลงานคอลลาจและสีน้ำ ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมคลาสสิกอันเลื่องลือของโฮเมอร์ The Odyssey ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า A Black Odyssey โดยเนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องส่วนต่อขยายของงานศิลปะก่อนหน้านี้ของเขา ที่เท้าความไปถึงประวัติศาสตร์แห่งเผ่าพันธุ์ ของคนผิวสีในอเมริกา ซึ่งคล้ายว่าเป็นผลงานที่เล่าเรื่องบรรพบุรุษของเขาเองก็ไม่ปาน
ระหว่างวันนี้ – 11 ส.ค. สถาบันสมิธโซเนียน ผู้เป็นเจ้าของผลงานศิลปะดังกล่าว จัดนิทรรศการ Romare Bearden: A Black Odyssey ณ หอศิลปะอเมริกัน แอมอน คาร์เตอร์ ในฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส รวบรวมกว่า 50 ชิ้นงาน ที่นำเอาเทพปกรณัม ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้ายมาแปลงกายเป็นชาวผิวสี นอกจากนี้ ยังได้แปลงเรื่องราวจากบทกวี The Odyssey มาเป็นเรื่องราวสุดเสียดสี ที่ดูมีความเป็นสากลประกอบเอาไว้ด้วย
โรมารี เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ทางด้านศิลปะหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ดนตรี หรือศิลปะการแสดง นอกจากนี้ เขายังล้ำเลิศทางด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์อีกต่างหาก จึงไม่แปลกที่เขาจะหลอมรวมความสามารถทั้งหมด แล้วสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานที่ว่ามา
ว่าที่จิตรกรผิวสีเริ่มศึกษาที่มหาวิทยาลัยลินคอล์น ก่อนที่จะย้ายหน่วยกิตไปยังมหาวิทยาลัยบอสตัน แต่สุดท้ายไปศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ทางด้านการศึกษา โดยขณะที่เรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กนั้น เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านศิลปะไปพร้อมๆ กัน แถมยังได้งานเขียนการ์ตูน และเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของหนังสือรายเดือน The Medley โดยก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ให้ Beanpot นิตยสารแนวขบขันของมหาวิทยาลัยบอสตันมาแล้ว
หลังจากเรียนเสริมทางด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กอยู่ 1 ปี ก็เกิดติดใจ จึงไปเรียนเพิ่มอีกที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังศึกษาจบ ในปี ค.ศ. 1935 โรมารี เข้าทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ให้กับหนังสือ Baltimore Afro-American ทำอยู่ 2 ปีเต็ม เขาก็เริ่มออกมารวมกลุ่มกับศิลปินด้วยกัน โดยสังกัดฮาร์เล็ม อาร์ทิสต์ กิลด์
โรมารี หันมาทำงานและศึกษาเรื่องศิลปะอย่างเต็มตัว จากศิลปินระดับมาสเตอร์ชาวยุโรป ตั้งแต่ระดับ ดุคโช เด ลูกา จอตโต ดิ บอนโดเน และปีเตอร์ เด ฮุช ไปจนถึง โปล เซซานน์ ปาโบล ปิกัสโซ และอองรี มาติสส์ รวมไปถึงศิลปะแอฟริกัน (ประติมากรรม หน้ากาก และผ้าทอ) ศิลปะโมเสกไบเซนไทน์ รวมไปจนถึงภาพพิมพ์ญี่ปุ่น แล้วก็ภาพวาดแลนด์สเคปของจีน โดยระหว่างทศวรรษที่ 1930 – 1960 เขาทำงานกลายวันที่เทศบาลเมืองนิวยอร์ก ส่วนตอนกลางคืนและวันเสาร์-อาทิตย์ มีไว้ศึกษาและทำงานศิลปะ
ในที่สุด โรมารี แบร์เดนก็มีนิทรรศการศิลปะครั้งแรกในฮาร์เล็ม กรุงนิวยอร์ก ในราวๆ ปี ค.ศ. 1940 ตามด้วยที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในปี ค.ศ. 1944 และหลังจากนั้นอีกหลายครั้งทั่วสหรัฐและทวีปยุโรป ทั้งในรูปแบบคอลลาจ ภาพสีน้ำ สีน้ำมัน ภาพโฟโต้มอนทาจ (นำภาพถ่ายมาปะต่อให้ได้องค์ประกอบและเรื่องราวใหม่) รวมทั้งศิลปะสื่อผสมที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ดนตรี และศิลปะไปพร้อมๆ กัน
ทศวรรษที่ 1970 โรมารี ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เซนต์มาร์ติน ในหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา หลังจากนั้นผลงานศิลปะของเขามักถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชาวเกาะและมีฉากส่วนใหญ่เป็นท้องทะเล
โรมารี แบร์เดน ได้รับการจดจำว่าเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ที่สุดของศตวรรษที่ 20 อาจเนื่องเพราะเขาสร้างสรรค์งานไว้มากมายหลากหลายแขนง โดยเฉพาะผลงานคอลลาจที่ดูเหมือนลายผ้าทอของแอฟริกัน ที่มี 2 ชิ้นได้ขึ้นปกนิตยสาร Fortune และ Time ในปี ค.ศ. 1968
ปัจจุบัน มีผลงานของเขาแสดงอยู่ในหอศิลป์ต่างๆ มากมาย ในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น โมมา นิวยอร์ก วิทนีย์ มิวเซียม หอศิลป์ฟิลาเดลเฟีย หอศิลป์บอสตัน สถาบันศิลปะดีทรอยต์ และแน่นอน ที่สตูดิโอมิวเซียม ในฮาร์เล็ม และหอศิลป์แห่งชาติ กรุงวอชิงตัน ดีซี ฯลฯ
สำหรับนิทรรศการนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันสมิธโซเนียน มูลนิธิโรมารี แบร์เดน ดีซีมอร์ แกลเลอรี โดยได้ภัณฑารักษ์จากสถาบันภาษาและวรรณคดีอังกฤษ เดอะ โซรา นีลี แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รวมทั้งความสนับสนุนจากมูลนิธิสตาฟรอส นิอาร์คอส

----------
ไปชมภาพของ โรมารี แบร์เดน ได้ที่
www.nga.gov/feature/bearden/img-list.shtm และ www.cartermuseum.org/exhibitions/romare-bearden-a-black-odyssey/artworks/28795