วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สาวบาร์และเอดูอาร์ด มาเนต์

ภาพต้นแบบของ Le Bar aux Folies-Bergere หนึ่งในผลงานที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของ เอดูอาร์ด มาเนต์ เตรียมเข้าสู่การประมูล ณ สถาบันโซเทอร์บีส์ กรุงลอนดอน ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าน่าจะมีมูลค่าราว 15-20 ล้านปอนด์ (หรือราว 780-1,080 ล้านบาท)

ภาพเขียนดังกล่าวเป็นสมบัติส่วนตัวของศิลปิน จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1883 โดย โปล ดูรองด์-รูเอล นายหน้าของเขาเป็นผู้คอยติดตามรักษาผลงานของเขาไว้ และภาพดังกล่าว ได้จัดแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี 1905 ในนิทรรศการรำลึกถึงเอดูอาร์ด มาเนต์ ณ กราฟตัน แกลเลอรี
กรุงลอนดอน ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นการนำพาความเป็นอิมเพรสชันนิสม์สู่ผู้ชื่นชอบศิลปะชาวอังกฤษ

ปัจจุบัน Le Bar aux Folies-Bergere ภาพจริงและภาพต้นแบบ จัดแสดงเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของหอศิลป์แห่งชาติอังกฤษ กรุงลอนดอน (National Gallery) ในนิทรรศการ Inventing Impressionism: Paul Durand-Ruel and the Modern Art Market ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 19-24 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ก่อนที่ภาพต้นแบบจะถูกประมูล

สำหรับ Le Bar aux Folies-Bergere เอดูอาร์ด ได้สร้างสรรค์ขึ้นจากบรรยากาศของกรุงปารีสสมัยใหม่ โดยเขาเริ่มวาดภาพในธีมของบาร์ คาเฟ่ และคอนเสิร์ตในเมืองหลวงของฝรั่งเศส ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1870 ซึ่งมามีไฮไลต์อยู่ที่บาร์ของโฟลีส์-แบร์กแชร์แห่งนี้เอง

ภาพต้นแบบของ Le Bar aux Folies-Bergere เป็นภาพสีน้ำมันขนาดเล็กๆ ก่อนที่เขาจะวาดภาพสีน้ำมันชื่อเดียวกันเป็นภาพขนาดใหญ่ จัดแสดงครั้งแรกในซาลงปี 1882 (ปัจจุบันเป็นสมบัติของคอร์ตโทลด์ แกลเลอรี กรุงลอนดอน) และได้รับความสำเร็จอย่างสูง

แม้ภาพ 2 ภาพ จะวาดในเนื้อหาเดียวกัน และมีองค์ประกอบของภาพใกล้เคียงกัน แต่ว่าเอดูอาร์ดเหมือนมีความตั้งใจที่จะวาดในสไตล์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยภาพที่วาดก่อนมีสีสันที่จัดจ้าน และอาศัยฝีแปรงที่ว่องไวกว่าในการวาด

ในกลางทศวรรษที่ 1980 มีการนำวิธีเอกซเรย์มาใช้ในการวิจัยความแตกต่างระหว่างภาพ 2 ภาพ พบว่า ในเบื้องแรก เอดูอาร์ดพยายามถ่ายทอดทุกองค์ประกอบของภาพต้นแบบไปสู่ผลงานขนาดใหญ่ แต่ดูเหมือนพอเวลาผ่านไป เขาได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง กว่าจะออกมาเป็น Le Bar aux Folies-Bergere ตัวจริงเสียงจริง เช่นว่า ขยับสาวบาร์จากการยืนเอียงหันไปทางขวาของภาพ ให้มาอยู่บริเวณกึ่งกลางและหันหน้าตรง

การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบภาพเพียงเล็กน้อย หากสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก ส่งผลให้ภาพนี้ออกมางดงามอย่างไม่น่าเชื่อ

สำหรับโฟลีส์-แบร์กแชร์ เป็นโรงละครในกรุงปารีส เปิดกิจการตั้งแต่ปี 1869 บนถนนริแชร์ก ที่นี่มีการแสดงหลากหลาย ตั้งแต่ละครใบ้ บัลเลต์ กายกรรม และดนตรี โดยภาพในมีบาร์หลายแห่งไว้คอยให้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาวบาร์แสนสวยไว้ดึงดูดลูกค้าหนุ่มๆ ในภาพของเอดูอาร์ด ก็จะเห็นว่า สาวบาร์หน้าละอ่อนรายนี้กำลังต้อนรับลูกค้าหนุ่มทั้งหลาย ดังเห็นได้จากภาพหนุ่มๆ ที่สะท้อนบนกระจกด้านหลัง

หลังจาก เอดูอาร์ด มาเนต์ เสียชีวิต ภาพต้นแบบดังกล่าวก็ตกเป็นของภรรยาม่ายของเขา ซูซานน์ ลีนอฟ มาเนต์ ซึ่งในปี 1884 เธอได้ยกให้กับ เอ็ดมงด์ บาซีร์ เพื่อนของอดีตสามีผู้ล่วงลับ ที่เป็นคนเขียนถึงผลงานชิ้นแรกของเขา หลังจากนั้นโปลดูรองด์-รูเอล ก็ได้ข่าวว่า ภาพนี้อยู่ในมือของนักสะสมชาวออสเตรีย ดร.เฮอร์มันน์ ไอส์เลอร์

กระทั่งราวปี 1928 ฟรันซ์ โคเอนิกส์ นักสะสมอีกคนหนึ่ง ได้ซื้อภาพนี้ผ่านนายหน้าในอัมสเตอร์ดัมจากพี่ชายของ ดร.เฮอร์มันน์ -- กอตฟรีด ไอส์เลอร์ ขณะที่ศิลปะในคอลเลกชั่นของฟรันซ์ ตกเป็นของพิพิธภัณฑ์บอยมันส์ในเมืองรอทเทอร์ดาม ทว่า ภาพนี้ยังคงเป็นสมบัติส่วนตัว จนกระทั่งปี 1994 ที่พวกเขาขายให้สถาบันประมูลโซเทอร์บีส์ กรุงลอนดอน ไป 4.4 ล้านปอนด์ (หรือราว 230 ล้านบาท)

Le Bar aux Folies-Bergere นับว่าเป็นภาพเขียนชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายของจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ชาวฝรั่งเศส โดยหลังจากที่เขาวาดเสร็จและจัดแสดงในซาลงเรียบร้อยแล้ว คนที่ซื้อไปประดับบ้าน คือวาทยากรชื่อ เอมมานูเอล ชาบริเยร์ เพื่อนบ้านของเอดูอาร์ดเองที่แขวนไว้เหนือเปียโนของเขา

ภาพนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงความตั้งใจของเอดูอาร์ด มาเนต์ ในการวาดภาพชีวิตสมัยใหม่ของกรุงปารีส ณ ขณะนั้น โดยเขาเป็นจิตรกรคนแรกๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวร่วมสมัยของผู้คน ณ ขณะนั้นออกมาบนผืนผ้าใบ โดยถ่ายทอดออกมาได้ละเอียดลออและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ จนกระทั่งบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายในยุคนั้นสุดแสนจะงงงวย และภาพนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการถกประเด็นด้านต่างๆ ในสังคมขึ้นมาอีกหลากหลาย

เทคนิคภาพสะท้อนบนกระจกได้รับการตีความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แม้จะเริ่มต้นง่ายๆ จากความศรัทธาที่เอดูอาร์ดมีต่อ ดิเอโก เบลาซเกซ ศิลปินมาสเตอร์ชาวสเปน ที่เขาขอยืมเทคนิคนี้จากภาพ Las Meninas มาใช้ในการวาดภาพสมัยใหม่ ซึ่งนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โมริซ แมร์กโล-ปงตี บอกว่า ภาพสะท้อนในกระจกเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ของจักรวาลที่สามารถเปลี่ยนมุมมองของภาพได้มากอย่างเหลือเชื่อ

“ดูภาพนี้แล้วเหมือนกับเราได้ไปยืนอยู่ตรงหน้าของสาวบาร์นางนั้นเองจริงๆ” โมริซ ว่าเอาไว้

ตามภาพเขียนกลับบ้าน

Seated Woman ภาพเขียนของ อองรี มาติสส์ ที่สูญหายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นานกว่า 75 ปี ในที่สุดก็ได้กลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้จริงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นคือ ทายาทของ พอล โรเซนเบิร์ก นักค้างานศิลปะที่ต้องหนีตายจากนาซีในปี 1940

เรื่องราวการตามหาภาพเขียนที่หายไปภาพนี้ ลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนเสียยิ่งกว่านิยายสืบสวนสอบสวน...

ในปี 2010 ระหว่างที่มีการตรวจเอกสารบนรถไฟที่กำลังจะข้ามประเทศ จากเมืองซูริก ของสวิตเซอร์แลนด์ สู่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ทางด่านลินเดา มีผู้เดินทางสูงวัยรายหนึ่งดูมีพฤติกรรมน่าสงสัย ทั้งตรวจพบว่าเขาขนเงินสดจำนวนมากติดตัวมาด้วย

ทางการเยอรมนีจึงได้สืบเกี่ยวกับชายคนนี้เพิ่มเติม ได้ความว่า เขาชื่อ คอร์เนลิอุส กูร์ลิท เมื่อตามไปถึงอพาร์ตเมนต์ของเขาก็พบสุดยอดภาพเขียนนับพันรูป ซุกอยู่ในลังไม้แบบที่ใช้ใส่ผัก เป็นผลงานของจิตรกร "บิ๊กเนม" ทั้งสิ้น ตั้งแต่ ปาโบล ปิกัสโซ อองรี มาติสส์ มาร์ก ชากัลล์ ออตโต ดิกซ์ พอล คลี เอดการด์ เดอกาส์ กุสตาฟว์ กูร์เบต์ แล้วก็ ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ คิดรวมมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ

สืบย้อนกลับไปอีกก็ได้ความว่า ฮิลเดบรันด์ กูร์ลิท บิดาของเขาเป็นนายหน้าค้างานศิลปะ ที่เมื่อกาลก่อนเคยช่วยนาซีขายและแลกเปลี่ยนงานศิลปะที่พวกเขาขโมยมาจากเศรษฐีชาวยิว ทว่าท่านผู้นำนั้นไม่ปลื้มศิลปะสมัยใหม่สักเท่าไร "ผลงานที่ซุกในลังเหล่านี้คือผลงานที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้เรื่องสำหรับนาซี" คริสโตเฟอร์ มาริเนลโล ซีอีโอของกลุ่มตามหาศิลปะที่หายไป กล่าว

"พวกนักค้างานศิลปะย่อมรู้อยู่แล้วว่าผลงานเหล่านี้มีมูลค่าขนาดไหน แต่ว่าในสายตาของนาซีมันคือผลงานตกกระป๋อง" คริสโตเฟอร์ว่า ในยุคเติร์ดไรซ์ มีเพียงผลงานเรอเนสซองซ์ และจิตรกรรมของมาสเตอร์ชาวดัตช์เท่านั้นที่เข้าตากรรมการ

สำหรับตระกูลโรเซนเบิร์ก เก็บรายละเอียดเรื่องคอลเลกชั่นงานศิลปะในครอบครองเอาไว้เป็นอย่างดี "เขามีเอกสาร ลิสต์รายชื่อ รูปภาพ บันทึกการแสดงงานต่างๆ ที่พิสูจน์ได้หมดว่า ภาพชิ้นไหนเป็นของเขาบ้าง" คริสโตเฟอร์ ที่ทำงานทวงคืนงานศิลปะร่วมกับทายาทตระกูลโรเซนเบิร์ก เล่า

เมื่อ Seated Woman ถูกค้นพบในกรุของคอร์เนลิอุส จึงไม่ยากเลยที่จะพิสูจน์ว่าเป็นของตระกูลโรเซนเบิร์กแน่นอน นอกจากนี้ ภาพของปาโบล ปิกัสโซ และอองรี มาติสส์ ชิ้นอื่นๆ ก็เป็นชิ้นที่จดจำได้ว่าเป็นของกลุ่มเพื่อนๆ นักค้างานศิลปะ เพราะหลายชิ้นก็เคยจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการเดียวกัน

ที่ผ่านมา ตระกูลโรเซนเบิร์กใช้เวลาหลายปีในการตามหาชิ้นงานศิลปะกว่า 400 ชิ้น ที่ถูกนาซีขโมยไป แต่เขาก็จบชีวิตลงเสียก่อนในปี 1959 อย่างไรก็ตาม ครอบครัวก็ไม่ได้หยุดตามหา

แอนน์ ซินแคลร์ หลานสาวของ พอล โรเซนเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ My Grandfather's Gallery บอกว่า การได้ Seated Woman คืนมาเป็นเรื่องปลื้มปริ่มสุดจะบรรยาย "ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าจะมีวันนี้จริงๆ ลองคิดดูสิ มันโดนขโมยไปตั้ง 74 ปี น่าเสียดายที่คุณตาของฉันไม่มีโอกาสได้เห็นตอนที่ได้คืนมา"

เธอเสริมว่า ยังมีอีกกว่า 60 ชิ้นงานที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งเธอและพี่น้องที่ช่วยกันทำทุกวิถีทางที่จะตามหานั้นก็ไม่ทราบว่าจะมีวิธีไหนที่ได้เจอภาพเขียนชิ้นอื่นๆ ที่หายไป "มันอาจจะยังอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ไหนสักแห่ง หรือไม่ก็ถูกทำลายไประหว่างสงครามแล้ว เราไม่อาจจะรู้ได้เลย" แอนน์ กล่าว

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื่อว่า มีผลงานศิลปะกว่า 6.5 แสนภาพ ที่ถูกนาซีกวาดเอาไปจากยุโรป เรียกว่าเป็นอาชญากรรมทางศิลปะครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะที่เจ้าของที่แท้จริงต่างพยายามตามหางานศิลปะอันเป็นสมบัติของครอบครัวอย่างเงียบๆ ทว่าข่าวคราวการพบเจอผลงาน 1,280 ชิ้น ที่บ้านของคอร์เนลิอุส ในหนังสือพิมพ์ Der Spiegel ก็หมือนเป็นการปลุกชีพเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่

ชายชราผมขาวโพลน ถือพาสปอร์ตของออสเตรีย รอล์ฟ นิโคลัส คอร์เนลิอุส กูร์ลิท เกิดที่เมืองฮัมบูร์ก ปี 1932 เขารายงานเจ้าหน้าที่ว่า เดินทางเข้าสวิตเซอร์แลนด์ไปเพื่อทำธุรกิจกับแกลเลอรี่ศิลปะที่กรุงเบิร์น ท่าทีเขามีพิรุธมาก เจ้าหน้าที่จึงเชิญเขาไปในห้องน้ำแล้วทำการตรวจค้น และพบเงินสดๆ แบงก์ยูโรใหม่ๆ ถึง 9,000 ยูโร

แม้คอร์เนลิอุสจะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เนื่องจากยังคงเป็นจำนวนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ (1 หมื่นยูโร) แต่ด้วยความที่เขาทำท่ามีพิรุธทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตามไปขุดคุ้ย โดยยิ่งสืบก็เหมือนตามล่าเงาของปิศาจ เขาบอกว่า มีอพาร์ตเมนต์อยู่ในมิวนิก ทว่าที่ที่เขาจ่ายภาษีกลับเป็นซัลซ์บูร์ก ประเทศออสเตรีย นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่าเขาอยู่ในมิวนิก หรือที่อื่นๆ ในเยอรมนีน้อยมาก

นอกจากนี้ ไม่มีหลักฐานการจ่ายค่าเช่าบ้านที่ไหนๆ ไม่มีประกันสุขภาพ หรือหลักฐานการจ้างงาน หรือบัญชีธนาคารของคอร์เนลิอุสเลย เรียกว่า คุณลุงรายนี้ไม่เคยมีงานมีการทำ ไม่มีแม้แต่รายชื่ออยู่ในสมุดโทรศัพท์ คือเป็นคนไม่มีตัวตนอยู่โดยแท้

ในที่สุด ทางการเยอรมนีก็หาจนเจอว่า เขาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ราคาร้อยล้านย่านชวาบิง ซึ่งเป็นย่านของมหาเศรษฐีในมิวนิก และหลังจากไล่เรียงไปยังต้นตระกูลกูร์ลิท จึงพบว่า เกี่ยวโยงกับคนใหญ่คนโตสมัยนาซีเรืองอำนาจ โดยชื่อของ ฮิลเดบรันด์ บิดาของเขา เป็นภัณฑารักษ์ในหอศิลป์ประจำย่านชาวยิวเลยทีเดียว

หนังสือพิมพ์ Der Spiegel รายงานว่า คนในย่านอพาร์ตเมนต์บนถนนอาร์เทอร์-คุทเชอร์-พลัทซ์ของคอร์เนลิอุส รู้ทั้งนั้นว่า เขามีงานศิลปะจำนวนมาก ทว่าเยอรมนีไม่มีกฎหมายที่จะมาเอาผิดคนที่ครอบครองงานศิลปะที่ถูกขโมยไปในยุคนาซี งานนี้ต้องให้สรรพากรยื่นมือเข้ามาจัดการ แต่ทางการเยอรมนีกลับมีท่าทีไม่แยแสเรื่องนี้สักเท่าไร และไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย

ไม่นานหลังจากนั้น คอร์เนลิอุสก็นำภาพ The Lion Tamer ของมักซ์ เบคมันน์ ออกมาขายผ่านสถาบันประมูลเลมเพิร์ตซ์ ในเมืองโคโลญ ได้เงินไป 1.17 ล้านเหรียญ รายงานข่าวว่า เงินถูกแบ่งเป็น 60:40 กับเอเยนต์ชาวยิว อัลเฟรด เฟลชท์ไฮม์ ที่ครอบครัวเขาเคยมีแกลเลอรี่หลายแห่งในเยอรมนี โดยในปี 1934 ภาพนี้ได้ถูกบังคับขายให้ฮิลเดบรันด์ ก่อนที่เจ้าของภาพจะหนีไปกรุงปารีสต่อด้วยกรุงลอนดอน และเสียชีวิตอย่างอดอยากในปี 1937 ซึ่งทายาทของพวกเขาพยายามที่จะทวง The Lion Tamer และภาพอื่นๆ ที่ถูกบังคับซื้อไปแต่ไม่เป็นผล

กว่าที่ทางการจะออกหมายค้น ก็ปาเข้าไปเดือน ก.พ. 2012 ที่เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องตะลึงกับงานศิลปะนับพัน ในอพาร์ตเมนต์ขนาดพันกว่าตารางเมตรของเขา

หนังสือพิมพ์ Der Spiegel รายงานว่า ระหว่าง 3 วันที่เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมหลักฐานงานศิลปะทั้งหลายออกไปจากอพาร์ตเมนต์ของเขา คอร์เนลิอุส ได้แต่นั่งเงียบ ไม่พูดไม่จาอะไรเลย

เบื้องหลังภาพแพงที่สุดในโลก The Women of Algiers (Version ‘O’)

ทุบสถิติโลกไปแล้ว สำหรับภาพวาดแนวคิวบิสม์ของ ปาโบล ปิกัสโซ The Women of Algiers (Version ‘O’) ซึ่งมีผู้ประมูลไปด้วยมูลค่าสูงถึง 179.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6,000 ล้านบาท โดยมหาเศรษฐีชาวซาอุดิอาระเบีย ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม

ก่อนหน้านี้ ภาพเขียนแนวแอบสแทรกต์ของ ฟรานซิส เบคอน Three Studies of Lucian Freud เคยเป็นเจ้าของสถิติภาพแพงที่สุดในโลกที่ 142.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4,700 ล้านบาท เมื่อปี 2013

ปาโบล ปิกัสโซ เขียนภาพที่แพงที่สุดในโลกขณะนี้ ในวันวาเลนไทน์ ปี 1955 ซึ่ง The Women of Algiers (Version ‘O’) นับเป็นภาพเวอร์ชั่นสุดท้ายที่เขาวาดสำหรับซีรี่ส์ดังกล่าว โดยเริ่มวาดมาหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่ปี 1954

ปาโบล เริ่มวาด The Women of Algiers หลังจากได้ข่าวว่าเพื่อนรักและคู่แข่งคนสำคัญ อย่าง อองรี มาติสส์ ได้ลาจากโลกนี้ไปเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว เพื่อที่จะระลึกถึงเพื่อนยอดศิลปินโพสต์อิมเพรสชันรายนี้ เขาจึงตัดสินใจวาดภาพในแนวที่เพื่อนถนัดและโด่งดัง อย่างภาพหญิงสาวนอนเอกเขนกในท่าที่สบายๆ มีกลิ่นอายตะวันออกนิดๆ หรือในแวดวงศิลปะ เรียกว่า ภาพสไตล์โอดาลิสก์ (Odalisques) ที่ให้อารมณ์ของหญิงสาวในฮาเร็มของตุรกี

"เมื่ออองรีตาย สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ให้ผมคือ ภาพโอดาลิสก์" ปาโบล พูดติดตลกเอาไว้ในช่วงนั้น ทว่าสิ่งนี้ปรากฏในผลงานของเขาจริงๆ ในช่วงปี 1955-1956

จิตรกรคิวบิสม์ เห็นความเหมือนระหว่างผลงานของ อูแชน เดอลาครัวซ์ จิตรกรยุคศตวรรษที่ 19 กับ อองรี มาติสส์ เขาจึงเลือกภาพของอูแชน ที่เป็นภาพมาสเตอร์พีซชื่อดังบนผนังพิพิธภัณฑ์ลูฟร์เป็นแรงบันดาลใจ นั่นคือภาพเขียนปี 1834 ชื่อ Femmes d'Alger dans leur appartement (Women of Algiers in their Apartment) คล้ายเช่นที่เขาเคยวาดภาพผลงานมาสเตอร์ทั้งหลายออกมาในสไตล์ของตัวเอง อย่าง Las Meninas ของ ดิเอโก เบลาซเกซ ก็ทำมาแล้ว

ปาโบล ปิกัสโซ สุดแสนจะ "อิน" มากกับการวาดภาพในซีรี่ส์นี้ ถึงขนาดทำอะไรที่มันเวอร์วัง อย่างการซื้อวิลลาสไตล์ย้อนยุค (Belle-Epoque) ลา กาลิฟอร์นี (La Californie) ในเมืองกานส์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ในปี 1955 เพื่อสร้างบรรยากาศในการวาดภาพ The Women of Algiers ของเขาทีเดียว


นอกจากจะสร้างสรรค์ไอเดียเด็ดสำหรับซีรี่ส์ The Women of Algiers แล้ว บรรยากาศการตกแต่งและการจัดแสงในวิลลาสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน ที่มีสวนสวยแสนมหัศจรรย์อันเป็นกลิ่นอายแบบตะวันออกแล้ว ยังเป็นใจให้เขาได้วาดภาพแนวโอดาลิสก์อีกหลายภาพ

อัลเฟรด บาร์ ภัณฑารักษ์ชื่อดังรายหนึ่งบอกว่า ผลงานที่สร้างสรรค์ ณ ลา กาลิฟอร์นี ถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตของจิตรกรคิวบิสม์ทีเดียวในความคิดของเขา

สำหรับภาพวาดในซีรี่ส์ The Women of Algiers ชิ้นที่โดดเด่น ก็มีอย่าง "Version H" ที่ ปาโบล ปิกัสโซ วาดเสร็จเมื่อ 24 ม.ค. 1955 โดยในปี 1997 ภาพนี้มีผู้ประมูลไปจากสถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก ในราคา 7.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ในคอลเลกชั่นนาห์หมัด (ของนักค้างานศิลปะและมหาเศรษฐีชาวเลบานอน) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเพิ่งถูกยืมมาโชว์ ณ เทต แกลเลอรี่ เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เมื่อต้นเดือน พ.ค. ปีนี้

"Version J" ได้รับการนำออกประมูลที่สถาบันโซเทอบีส์ กรุงลอนดอน เมื่อปี 2006 และปิดประมูลที่ราคา 18.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตกเป็นสมบัติของคอลเลกชั่นนาห์หมัดเช่นกัน

ขณะที่ "Version K" มีผู้ประมูลไปจากสถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก ด้วยราคา 6.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน "Version L" นั้นขายให้กับพิพิธภัณฑ์หอศิลป์แบร์กกรุน (Berggruen Museum) ในกรุงเบอร์ลิน ประทศเยอรมนี ไปที่ราคา 11.4 ล้านหรียญสหรัฐ ไปเมื่อปี 2011

มาถึง "Version M" นั้นก็ได้มีผู้ประมูลไปจากสถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก ที่ราคา 10 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมๆ กับ "Version H" ด้าน "Version N" ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์หอศิลป์มิลเดรด เลน เคมเปอร์ (Mildred Lane Kemper Art Museum) ในมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี จากการบริจาคของกองทุนสไตน์แบร์ก ตั้งแต่ปี 1960

เรื่องเล่าในบ้านและสวน เอดูอารด์ ฟุยยารด์

ภาพพิมพ์หินของ เอดูอารด์ ฟุยยารด์ กำลังจัดแสดง ณ พีนาโคเทค เดอร์ โมเดอร์เน เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี โดยเมื่อย้อนไปในปี 1889-1890 เขาและเพื่อนศิลปินหนุ่มๆ วัยเดียวกัน นำโดย ปิแอร์ บอนนารด์ รวมทั้ง โมริซ เดอนีส์ กับ โปล เซอรูซิเยร์ ฯลฯ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มนาบีส์ (Nabis) อันเป็นการรวมพวกหัวก้าวหน้า ทั้งสาขาจิตรกรรม กราฟฟิกอาร์ต และวรรณกรรมสมัยโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์เอาไว้ โดยคนกลุ่มนี้ รวมตัวกันสร้างสรรค์ศิลปะเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของธรรมชาติ

นิทรรศการในคอนเซ็ปต์ Staatliche Graphische Sammlun ไม่อาจจะแสดงความเป็นตัวตนและผลงานของ เอดูอารด์ ฟุยยารด์ ได้ทั้งหมด ทว่าสามารถเห็นเทคนิคพิเศษที่ไม่เหมือนใครของเขาที่ใช้ในงานภาพพิมพ์หิน ซึ่งแม้เขาจะสร้างสรรค์งานในรูปแบบนี้อยู่ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ไม่เกิน 8 ปี แต่นับว่ามีผลงานภาพพิมพ์หินเด็ดๆ ออกมามากมายทีเดียว

เอดูอารด์ ฟุยยารด์ มีผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนมุมต่างๆ ภายในบ้าน (Interiors) รวมทั้งภาพวาดในสวน (Park landscapes) ซึ่งในกลุ่มของนาบีส์นั้นถือว่าเขาเป็นคนที่ทำงานสุดแสนจะประณีตละเอียดลออสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้สีอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะภาพชุด Paysages et Interieurs ตั้งแต่ปี 1899

ผลงานภาพพิมพ์หินในยุคแรกๆ ของเขาออกมาเป็นสีขาว-ดำ โดยเป็นการออกแบบฉากละครของกลุ่มอาวองต์-การ์ด ในทศวรรษที่ 1890 ที่เขามีส่วนร่วมด้วยอยู่หลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นละครที่มีเนื้อหาไม่ธรรมดา และไม่ใช่ละครที่สร้างขึ้นสำหรับทุกคน

เอดูอารด์ยังพัฒนาเทคนิคในภาพพิมพ์ของเขาขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น โดยเฉพาะเทคนิคการพิมพ์สีของเขาเมื่อเริ่มเปลี่ยนมาทำภาพพิมพ์หินสี ที่กลายเป็นเรื่องใหม่ๆ ของแวดวงศิลปะขณะนั้น ซึ่งสำหรับศิลปินในยุคใกล้เคียงกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อย่าง อองรี เดอ ตูลูส-โลเทร็ก และ ปิแอร์ บอนนารด์ แล้ว เรื่องการใช้สีแบบซอฟต์ๆ เบลอๆ บนภาพพิมพ์ของเขากินขาด เช่นเดียวกับองค์ประกอบภาพซึ่งแปลกประหลาดไม่ธรรมดา

ชอง-เอดูอารด์ ฟุยยารด์ เกิดเมื่อ 11 พ.ย. 1868 เขาใช้ชีวิตวัยเด็กในเมืองกุยโซซ์ (ซาโอน-เอต์-ลัวร์) แคว้นบูร์กอญ (เบอร์กันดี) กระทั่งปี 1878 ครอบครัวย้ายมายังกรุงปารีสเพื่อชีวิตที่ดีกว่า หลังจากพ่อตายในปี 1884 เขายังได้ทุนการศึกษาและยังคงได้เรียนต่อที่โรงเรียนลีเซ กงดอร์เซต์ เอดูอารด์ได้พบกับเพื่อนร่วมรุ่น อย่าง แคร์ ซาวิเยร์ รุสเซล (ในอนาคตเป็นจิตรกรและพี่เขยของเขา) โมริซ เดอนีส์ (จิตรกร) ปิแอร์ แอร์กมองต์ (นักดนตรี) ปิแอร์ เฟแบร์ (นักเขียน) และ ออเรเลียง มารี ลูเญ (นักแสดงฉายา ลูเญ-โป)

ปีถัดมาเขาก็ออกจากโรงเรียนกลางคัน ตามคำแนะนำของแคร์ เพื่อนสนิท โดยไม่ได้ไปร่วมกับกองทัพ แต่ไปฝึกงานในสตูดิโอศิลปะของ ดิโอแชน ไมล์ยารต์ เขานำพื้นฐานศิลปะที่เรียนจากจิตรกรอาชีพ ไปสอบเข้าโรงเรียนศิลปะ เอกอน เดส์ โบซาร์ตส์ แม้ต้องสอบถึง 3 ปี แต่ก็ไม่ละความพยายามจนได้เข้าเรียนในที่สุด

ราวปี 1890 ที่เขาได้เจอกับ ปิแอร์ บอนนารด์ และ โปล เซรุสิเยร์ เขาก็เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนาบีส์ตามคำชวน กลุ่มนักเรียนศิลปะในยุคโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ ที่เริ่มต้นด้วยการสร้างสรรค์งานตามหลักการ Synthetism อย่างที่ โปล โกแก็ง นิยมทำ เพื่อสร้างความแตกต่างจากจิตรกรในยุคอิมเพรสชันนิสม์ โดยมีกฎว่าจะต้องวาดสิ่งที่เป็นรูปทรงธรรมชาติ ต้องวาดความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อสิ่งที่วาด และมีการพิจารณาความงามอันพิสุทธิ์ของเส้นสาย สีสัน และรูปทรงในภาพที่ออกมา

เอดูอารด์ ฟุยยารด์ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อร่วมแสดงในนิทรรศการของกลุ่มนาบีส์อย่างสม่ำเสมอ โดยภายหลัง พวกเขานั่งทำงานในสตูดิโอเดียวกัน (กับ ปิแอร์ บอนนารด์ และ โมริซ เดอนีส์) และหลังจากนั้นก็ได้ไปร่วมงานออกแบบฉากละครให้กับ เตอาร์ตร์ เดอ เลิฟร์ ของลูเญ-โป

ช่วงทศวรรษที่ 1990 เขาเดินทางไปหลายแห่ง ทั้งเวนิซ ฟลอเรนซ์ ลอนดอน มิลาน เบรอตาญ (บริตตานี) นอร์มองดี และหลายแห่งในสเปน โดยได้แสดงผลงานเดี่ยว ณ ซาลง เดส์ แองเดปองดองต์ ในปี 1991 และซาลงโดตอมน์ ปี 1903 ช่วงเวลาเดียวกัน เขายังได้เจอ อเล็กซองดร์ และ ตาดี นาตองซง พี่น้องที่ร่วมก่อตั้ง ลา เครอวู บล็องช์ นิตยสารศิลปะชื่อดัง ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานเด่นๆ ของจิตรกรแห่งยุคเอาไว้

เอดูอารด์มีผลงานศิลปะบนฝาผนังบ้านชิ้นแรก (Apartment frescoes) ในบ้านของมาดามเดส์มาเรส์ หลังจากนั้นใครๆ ก็อยากให้ศิลปินดังไปละเลงฝาบ้านอีกหลายหลัง ตั้งแต่บ้านของ อเล็กซองดร์ นาตองซง โคล้ด อะเนต์ และเลยไปถึงโรงละคร เตอาร์ตร์ เดส์ ชอมป์เซลิเซส์ ปาเลส์ เดอ ไชโยต์ ในกรุงปารีส (ปิแอร์ บอนนารด์ ร่วมวาดด้วย) แล้วก็ ปาเลส์ เดส์ นาซิยงส์ ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ร่วมกับ โมริซ เดอนีส์, แคร์ ซาวิเยร์ รุสเซล, และนักประวัติศาสตร์ศิลป์ อองเดร ชาสเตล)

ภาพเขียนมุมต่างๆ ภายในบ้าน ภาพท้องถนน และภาพวาดในสวน เป็นผลงานส่วนใหญ่ของเขาที่เต็มไปด้วยมุขขำแบบเบาๆ ภาพเขียนแสนละเอียดลออในสีอ่อนๆ และออกเบลอๆ เป็นเอกลักษณ์ที่เห็นในภาพรวม ชีวิตสุดแปลกของเขาคือ อาศัยอยู่กับแม่ที่เป็นช่างตัดเสื้อจนกระทั่งอายุ 60 ปี

เอดูอารด์ไม่เคยวาดภาพพอร์เทรตใครเลย จนกระทั่งปี 1912 ที่เริ่มวาด Theodore Duret in his Study (อยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน) หลังจากนั้นการวาดภาพบุคคลถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา

ในบั้นปลาย เอดูอารด์เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินรางวัลบลูมองตัล (Prix Blumenthal) ที่มอบให้ศิลปินยอดเยี่ยมทั้งสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม การตกแต่ง ภาพพิมพ์ วรรณกรรม และดนตรี

กุสตาฟว์ กูร์เบต์ สัจ(ไม่)นิยม

ภาพเขียนที่ถูกลืมเลือนของ กุสตาฟว์ กูร์เบต์ อย่าง La Bohemienne et ses enfants จากปี 1853 กำลังจะเป็นไฮไลต์ในเวทีประมูลของสถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก โดยคาดว่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

La Bohemienne et ses enfants เป็นหนึ่งในภาพเขียนชิ้นสำคัญที่หายไป โดยย้อนไปในปี 1853 ภาพเขียนชิ้นดังกล่าวซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ได้ถูกกล่าวถึงในจดหมายที่กุสตาฟว์เขียนถึงอัลเฟรด บรูยาส ว่า เขาต้องจัดการกับภาพในชุด Highway ของเขาชิ้นนี้ เนื่องเพราะถูกกดดันให้เขียน L’Atelier du peintre ซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กันให้เสร็จ ทำให้ La Bohemienne et ses enfants ไม่มีที่จะตั้ง จึงต้องไปเก็บเอาไว้ในห้องใต้หลังคาของเพื่อนบ้านในเมืองออร์นองส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส

เพื่อจะประหยัดพื้นที่ในห้องใต้หลังคา พวกเขาจึงซุกภาพนี้เอาไว้ใต้พื้นห้อง แล้วมันก็ถูกลืมไว้ที่นั่นจนกระทั่งปี 2001 จึงถูกค้นพบ และได้ถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์กูร์เบต์ทันที เพื่อตรวจสอบว่าเป็นของจริง

ฌอง เดซีเร กุสตาฟว์ กูร์เบต์ จิตรกรฝรั่งเศส มีชีวิตระหว่างปี 1819-1877 เขาเป็นผู้นำความเคลื่อนไหวทางศิลปะยุคสัจนิยม (Realism) ในศตวรรษที่ 19 โดยออกมาประกาศว่าจะสร้างสรรค์งานศิลปะเท่าที่ตาเห็นเท่านั้น พร้อมหันหลังให้สถาบันศิลปะและสตูดิโอทั้งหลายที่บรรดามาสเตอร์ยุคนั้นกำลังเผยแพร่งานในสไตล์โรแมนติกซิสม์

คำประกาศของเขาทำให้กุสตาฟว์มีพื้นที่พิเศษในศตวรรษที่ 19 ซึ่งโชคดีในความคิดผิดเพี้ยนจากยุคสมัยของเขา เนื่องเพราะมันมีอิทธิพลอย่างมากต่อยุคสมัยของศิลปะรุ่นต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นยุคอิมเพรสชันนิสม์ หรือยุคคิวบิสม์ก็ตาม

ท่ามกลางจินตนาการเพ้อฝัน และงานศิลปะสุดสวยหรูของยุคโรแมนติก ผลงานที่วาดภาพเป๊ะเวอร์อย่างตาเห็นของกุสตาฟว์เริ่มฉายแสงเป็นที่จดจำในปลายทศวรรษที่ 1840 ผู้คนเริ่มละสายตามาจากภาพความงามของเทวดา นางฟ้า สวนสวรรค์ หันมามองภาพของชาวนา กรรมกร คนร่อนเร่ กันบ้าง

กุสตาฟว์ กูร์เบต์ เกิดที่ออร์นองส์ ในครอบครัวชาวนาที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ของฝรั่งเศส โดยคุณตาของเขามีส่วนร่วมในการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 โซเอ เซลี และชูเลียตต์ พี่สาวของเขา เป็นนางแบบรุ่นแรกๆ ในการวาดภาพให้ โดยหลังย้ายมาอยู่ปารีส เขายังกลับบ้านที่ออร์นองส์เป็นประจำ เพื่อมาล่าสัตว์ รวมทั้งหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ

ที่ปารีส เขาไปทำงานที่ สตอยเบน แอนด์ เฮสเส สตูดิโอสไตล์ศิลปะโรแมกติก แต่อยู่ได้ไม่นาน ด้วยวิญญาณรักอิสระ เขาก็ลาออกเพื่อไปพัฒนาศิลปะตามแนวทางของตัวเอง ด้วยการไปศึกษาผลงานของโอลด์มาสเตอร์ชาวสเปน เฟลมิช และฝรั่งเศส โดยวาดภาพก๊อบปี้ผลงานของพวกเขาเหล่านั้น

Odalisque ผลงานชิ้นแรกของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของวิคตอร์ อูโก และภาพประกอบบนปกหนังสือของจอร์จ ซองด์ เรื่อง Lelia แต่ไม่นานเขาก็เลิกอาศัยแรงบันดาลใจจากวรรณกรรม หันมาเขียนภาพที่เขาเห็นด้วยตา ทั้งประกาศตัวว่าจะเขียนแต่ภาพที่เห็นและเป็นจริงเท่านั้น โดยเริ่มต้นผลงานในช่วงนี้ด้วยภาพเหมือนตัวเอง (Self-Portrait) มากมาย

การเดินทางไปเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมในปี 1846–1847 ยิ่งตอกย้ำความเชื่อในแนวทางตัวเอง ราวปี 1848 เขาก็รวบรวมคนหนุ่มที่มีแนวคิดสอดคล้องกันในแนวนีโอ-โรแมนติกและเรียลิสม์ ก่อตั้งขึ้นมาในชื่อ ชอมป์เฟลอรี (Champfleury) ตามนามปากกาของ ชูลส์ ฟรองซัวส์
เฟลิกซ์ เฟลอรี-อุสซง นักเขียนคนแรกที่ช่วยโปรโมทศิลปะแบบที่กุสตาฟว์สร้างสรรค์ขึ้น

After Dinner at Ornans (1849) ผลงานชิ้นแรกๆ ที่เริ่มสร้างชื่อเสียง นอกจากได้รางวัลเหรียญทองระดับประเทศแล้ว ยังถูกซื้อไปเป็นสมบัติชาติ การได้รางวัลเหรียญทองยังหมายถึงว่า ผลงานของเขาจากนี้ไปมีสิทธิที่จะจัดแสดงในซาลง (แกลเลอรี่) โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบคุณค่าทางศิลปะและความเหมาะควรจัดแสดงอีก

ปี 1849-1850 กุสตาฟว์วาด Stone-Breakers (ถูกทำลายจากระเบิดในเดรสเดน ปี 1945) ซึ่ง ปิแอร์-โชเซฟ พรูดง นักหนังสือพิมพ์และนักต่อสู้ฝ่ายเสรีนิยมเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตชนบท แถมยังชมอีกว่าเป็นภาพเขียนที่ดีที่สุดของกุสตาฟว์ ซึ่งจิตรกรบอกว่า ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เขาเห็นจริงๆ ข้างถนน

A Burial at Ornans (1849-1850) อีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่น และสร้างชื่อเสียงไม่แพ้ Stone-Breakers (แถมยังแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ดอร์เซย์ให้ได้ชมกันทุกวันนี้) ในภาพเป็นงานศพลุงแท้ๆ ของเขาเอง โดยคนที่ไปร่วมงานศพทุกคนได้รับเชิญมายังสตูดิโอเพื่อวาดภาพนี้ ที่กลายเป็นภาพเขียนเรียลลิสต์ขนาดยักษ์ที่แสดงวิถีชีวิตของชาวออร์นองส์ แม้นักวิจารณ์ที่กรุงปารีสจะไม่นิยมเท่าไร โดยติว่างานศพอะไรไม่มีอารมณ์ของภาพเศร้าโศกเลย ขณะที่กุสตาฟว์ออกมาโต้ตอบว่า ภาพดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของการฝังศิลปะแบบโรแมนติกที่นับวันจะเสื่อมถอยไปทุกทีๆ

The Artist’s Studio (L’Atelier du peintre) ผลงานอลังการงานสร้างชิ้นมหึมา ที่วาดบรรยากาศในสตูดิโอของเขาเอง ซึ่งเขาเรียกว่า ศาลาแห่งสัจนิยม (Pavillon du Realisme) ในภาพแสดงชีวิตศิลปินของเขา ที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนๆ และคนที่ชื่นชมงานศิลปะสไตล์นี้ ทั้งนักวิจารณ์ศิลปะ ชอมป์เฟลอรี ชาร์ลส์ โบเดอแลร์ กับนักสะสมงานศิลปะ อัลเฟรด บรูยาส ทางด้านซ้ายของภาพ เป็นคนที่เกี่ยวข้องในชีวิต ตั้งแต่พระ โสเภณี สัปเหร่อ ชาวนา และอื่นๆ

สำหรับรูปผู้ชายกับสุนัขทางซ้าย ผลจากการเอกซเรย์บอกว่าวาดขึ้นทีหลัง โดยเชื่อว่าชายหนวดโง้งนั้นคือภาพของนโปเลียนที่ 3 ซึ่งนิยมล่าสัตว์พร้อมกับสุนัข โดยผู้ที่ครอบครองภาพในสมัยนั้นถือว่า ต้องโทษถึงแก่ชีวิต (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ดอร์เซย์ กรุงปารีสเช่นกัน)

นอกจากไม่ยอมใครในแวดวงศิลปะ กุสตาฟว์ยังเป็นนักวิจารณ์ฝีปากกล้าทางด้านการเมือง เขามีส่วนเคลื่อนไหวให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยมที่สมบูรณ์แบบ ผ่านการพูดและการเขียน อันเป็นเหตุให้ต้องถูกจำคุกจากบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่ง และลี้ภัยไปยังสวิตเซอร์แลนด์




“ผมอายุ 50 และมีชีวิตอิสระมาโดยตลอด ผมก็ขอจบชีวิตแบบมีเสรีภาพ ถ้าผมตายไป ขอให้พูดถึงผมว่าไม่ขึ้นอยู่กับโรงเรียนใดๆ ศาสนาไหนๆ หรือสถาบันอะไรก็ตาม เช่นเดียวกับระบบการปกครองที่ผมยึดมั่น ก็คือระบบเสรีนิยมเท่านั้น” บันทึกของกุสตาฟว์ว่าเอาไว้

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

เบร์นาร์โด เบลลอตโต กานาเลตโตหมายเลข 2








สถาบันซอเธอบีส์ ในฮ่องกง เตรียมนำคอลเลกชั่นภาพเขียนจากปราสาทฮาวเวิร์ดในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่แต่งงานของป๊อปสตาร์ชาวไต้หวัน เจย์โจว รวมทั้งเป็นฉากในหนังฮอลลีวู้ด Brideshead Revisited ซึ่งนับเป็นที่รวมคอลเลกชั่นภาพเขียนเด็ดๆ เอาไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ

ในจำนวนดังกล่าว มีผลงานของมาสเตอร์ชาวอิตาเลียน (เวนิส) อย่าง เบร์นาร์โด เบลลอตโต ผู้มีฉายาว่าเป็น “กานาเลตโต” หมายเลข 2 ยอดจิตรกรจากศตวรรษที่ 18 อันเป็นสมบัติเก่าแก่ของตระกูลฮาวเวิร์ดเจ้าของปราสาทมากว่า 300 ปี

เบร์นาร์โด เบลลอตโต (มีชีวิตระหว่างปี 1722-1780) เป็นลูกศิษย์ และเป็นหลานชายของ กานาเลตโต (โจวานนี อันโตนิโอ กานาล) เขาเป็นผู้ช่วยคุณลุงจิตรกรชื่อดังในการสร้างสรรค์งานมาโดยตลอด โดยเฉพาะภาพวาดทิวทัศน์ของเมืองเวนิสอันโด่งดัง

ส่วนหนึ่งของภาพเขียนในคอลเลกชั่นจากปราสาทฮาวเวิร์ด คือภาพเขียนสีน้ำมันบริเวณแกรนด์คาแนล อย่าง A View of The Grand Canal Looking South From The Palazzo Foscari and Palazzo Moro-Lin Towards The Church of Santa Maria Della Carita, With Numerous Gondolas and Barges ซึ่งคาดว่าจะมีราคาราว 2.5-3.5 ล้านปอนด์ หรือราว 121-170 ล้านบาท

ภาพนี้เขียนขึ้นเมื่อเบร์นาร์โดอายุเพียง 16 ปี และยังคงทำงานเป็นผู้ช่วยอยู่ในสตูดิโอของกานาเลตโต (เริ่มทำอายุ 14) โดยฝีมือของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือในแนว เวดูติสตา (vedutista’s art) หรือภาพวาดแลนด์สเคปแล้ว

เบร์นาร์โด เบลลอตโต ออกจากเวนิสไปไปกรุงโรม ตั้งแต่อายุได้ 20 ปี เรียกว่าออกไปเผชิญโชคตั้งแต่ยังเด็กมากเช่นเดียวกับลุงของเขา

ขณะที่ยังทำงานในสตูดิโอเดียวกันนั้น ลุงกานาเลตโตกับหลานทำงานใกล้ชิดกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากออกไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองจากกรุงโรมกลับมา บรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่า มีภาพจำนวนหนึ่งที่เบร์นาร์โดเป็นคนวาด และกานาเลตโตเป็นผู้ลงสี

เขาจากบ้านเกิดไปอย่างถาวรตั้งแต่ปี 1746 และมีผลงานที่น่าจดจำทั้งในเดรสเดนและวอร์ซอว์ ซึ่งเบร์นาร์โดใช้ชื่อในการทำงานอาชีพ ว่า กานาเลตโต ซึ่งทำให้คนสับสนมาก โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์เมืองเวนิสที่ทั้งคู่ต่างสร้างสรรค์เอาไว้จำนวนมาก

11 ปี ในเดรสเดน เบร์นาร์โดเป็นจิตรกรประจำราชสำนักของพระเจ้าออกุสต์ที่ 3 แห่งแซกโซนี ซึ่งเขาได้รับพระบัญชาให้วาดภาพเมืองเดรสเดนและปีร์นา รวมถึงเมืองปราการ อย่าง ซอนเนนสไตน์และโคนิกสไตน์ ลงบนผืนผ้าใบขนาดมหึมา รวมแล้วเกือบๆ 30 ภาพ

ที่เดรสเดน ทำให้เห็นพัฒนาการอย่างใหญ่หลวงของเบร์นาร์โด โดยเฉพาะความแม่นยำในเรื่องของผังเมือง การจัดองค์ประกอบแสง และการคำนวณเพอร์สเปกทีฟได้สุดเป๊ะ เบร์นาร์โดไม่ต้องอาศัยการขีดเครื่องหมายลงบนภาพเช่นที่ลุงของเขาทำ หากมีมุมมองของการคำนวณที่แม่นยำ ซ้ำฝีแปรงก็ยังเพิ่มความดุดันยิ่งกว่าอาจารย์ลุงอีกด้วย

ไม่แปลกเลยที่ภาพวาดทิวทัศน์ในสไตล์ของเบร์นาร์โด เบลลอตโต จะดูมีบรรยากาศและอารมณ์ที่เหนือจริงไปบ้าง ด้วยความที่เขาวาดจากสิ่งที่เห็น โดยเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปด้วยอีกนิดหน่อย

เบร์นาร์โดหนีสงครามจากเดรสเดนไปกรุงเวียนนา หลังสงคราม 7 ปี ในเดรสเดน จิตรกรชาวเวนิสกลับไปยังเมืองหลวงของแซกโซนี ซึ่งไม่เหลือสภาพบ้านเมืองแบบเดิมแล้ว ราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะว่าจ้างจิตรกรประจำราชสำนักอีกต่อไป แต่พวกเขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้านศิลปะขึ้นมา (Akademie) และได้รวบรวมศิลปินดังในยุคนั้นไว้ เบร์นาร์โด สร้างผลงานที่เป็นแฝดกับที่เขาเคยวาดเอาไว้ช่วงก่อนสงคราม เป็นภาพในมุมเดิม หากวาดสภาพบ้านเมืองที่ปรักหักพัง อย่างที่เห็นและเป็นอยู่แทน

ไม่นานเขาก็ได้นายใหม่ในกรุงวอร์ซอว์ พระเจ้าสตานิสลอส โปนิยาทาวสกี ต้องการบรรยากาศวัฒนธรรมสมัยใหม่แบบตะวันตกในโปแลนด์ ในพระราชวังหลายๆ แห่งของราชวงศ์วีลาเนา ตกแต่งด้วยภาพนิวทัศน์ของกรุงโรม ขณะที่เบร์นาร์โด เบลลอตโต เข้ามาสร้างสรรค์ภาพทิวทัศน์กรุงวอร์ซอว์ ประดับไว้ ณ กานาเลตโต ฮอลล์ ในพระราชวังวอร์ซอว์

ความต่างระหว่างกานาเลตโต หมายเลข 1 กับหมายเลข 2 อยู่ตรงที่ อาจารย์ลุงสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์เมืองเวนิสในมุมต่างๆ ขณะที่ผู้หลานมุ่งสร้างงานสำหรับประดับผนังพระราชวังและแกลเลอรี่ สำหรับลุงเน้นสีสันที่สดใสสวยงาม สีสันบนงานของหลานจะออกหม่นๆ มืดทึบ ซึ่งผลงานในช่วงหลังออกจากอิตาลีแล้วยิ่งชัดเจนในด้านการให้แสงในภาพ รวมทั้งสไตล์ที่นำเอาศิลปะสถาปัตย์และการตกแต่งเข้ามาใช้

ผลงานส่วนตัวของเบร์นาร์โด เบลลอตโต เพิ่งจะปรากฏตัวตนให้โลกรู้ว่า มีกานาเลตโตคนที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คนคนเดียวกัน ก็เมื่อเข้าศตวรรษที่ 20 มาแล้วนี่เอง

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558

โกล้ด โมเนต์ : ภาพเขียนที่เพิ่งค้นพบ

นักวิจัยจากภาควิชาคณิตศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยยีวาสกีลา ประเทศฟินแลนด์ ค้นพบภาพเขียนในกลุ่ม Haystack อีกภาพหนึ่งของโกล้ด โมเนต์ จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีร่องรอยของสีน้ำมันที่ทาทับลายเซ็นศิลปินเอาไว้ ทำให้แม้เขาจะสร้างสรรค์ภาพกองฟางลักษณะนี้เอาไว้หลายภาพ แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าเป็นผลงานของเขาจริง เพราะไม่เห็นลายเซ็นที่ซ่อนอยู่

นอกจากนี้ หลังจากการตรวจสอบด้วยกล้อง hyperspectral หรือเครื่องกวาดภาพช่วงคลื่นละเอียดสูง ซึ่งสร้างสรรค์โดย SPECIM ทำให้ได้ข้อสรุปว่าภาพดังกล่าวว่าโกล้ดน่าจะวาดขึ้นในปี 1891

ภาพเขียนดังกล่าวเป็นสมบัติของมูลนิธิจิตรกรรม กอสตา เซอร์ลาชิอุส มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 ซึ่งพวกเขาสงสัยมาตลอดว่าเป็นภาพเขียนของโกล้ด โมเนต์ แต่ไม่ได้รับการยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ

ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามที่จะพิสูจน์หลายครั้ง เพราะหากเป็นภาพวาดเลียนแบบมันก็ดูสวยเกินไป อย่างมหาวิทยาลัยในเรเซนาร์ต โดยศูนย์วิจัยศิลปะผสมผสานในเมืองมันต์ตา ประเทศฟินแลนด์ ก็เคยเข้าตรวจสอบภาพนี้ด้วยกล้อง hyperspectral พร้อมทั้งเครื่องระบบเอกซเรย์ แบบ XRF ที่ทำการสแกนภาพในหลายๆ มุมไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

“กล้อง hyperspectral จะถ่ายภาพออกมาให้เห็นเป็นแนวคลื่นแสงที่แตกต่างกัน 256 ภาพต่อหนึ่งครั้งที่กดชัตเตอร์ ซึ่งใกล้เคียงกับการใช้อินฟราเรด คลื่นแสงที่ออกมาเป็นภาพนี้ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยจะทำให้เห็นถึงสีทุกสี ทุกชั้นที่อยู่บนภาพๆ นั้น”

อิลกา โปโลเนน ผู้ทำวิจัยคณะล่าสุด กล่าวต่อว่า กล้องจะทำหน้าที่คล้ายสแกนเนอร์ โดยจะสแกนเป็นแนวระนาบทีละเส้นๆ จนครบทั้งภาพ “ผลที่ได้ออกมาจะเป็นโครงสร้างของแสงสีออกมาเป็นคลื่นแสง ซึ่งคราวนี้ก็แล้วแต่การออกแบบของนักวิจัยแต่ละท่านที่จะถอดรหัสคลื่นแสงออก มาเป็นการอ่านค่าได้อย่างไร”

สำหรับทีมของอิลกาได้สแกนภาพเขียน Haystacks at Giverny the Evening Sun ด้วยกล้อง hyperspectral ของ SPECIM ตามขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลเป็นคลื่นแสงจำนวนมาก ขณะที่ลายเซ็นของโกล้ด โมเนต์ อาศัยคนละวิธีในการค้นหา โดยเป็นศาสตร์หลากหลายที่มีคนพยายามทดลองทำมาก่อนหน้า นำมาผสมผสานกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“วิธีการที่เรียกว่า Spectral imaging ที่มักใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของภาพต้นแบบดั้งเดิม เช่นว่ามีสีสันที่เพี้ยนไปจากของเก่ามั้ย เป็นวิธีการยอดนิยมในการตรวจสอบภาพเขียนที่มีมูลค่ามานานแล้ว กรณีนี้เคยมีการใช้วิจัยภาพ Haystack ภาพนี้มาแล้ว แต่อาจทำไม่ละเอียดพอ หรือจำเพาะเจาะจงไปไม่ตรงจุดที่เป็นลายเซ็นของศิลปิน ไม่ก็อ่านค่าไม่ถูกต้อง สำหรับครั้งนี้เราอาศัยศาสตร์อื่นๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์การแพทย์ การสำรวจสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ อะไรอีกมากมาย ที่ช่วยให้เราค้นพบลายเซ็นที่ซ่อนอยู่ใต้ชั้นสี” เพคคา นีททานมากิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยยีวาสกีลา เล่า

สำหรับ ออสการ์-โกล้ด โมเนต์ ถือได้ว่าเป็นจิตรกรผู้บุกเบิกศิลปะยุคอิมเพรสชันนิสม์เลยก็ว่าได้ โดยภาพ Impression, Sunrise ปี 1873 ของเขา กลายมาเป็นชื่อเรียกยุคสมัยความเคลื่อนไหวของศิลปะ
สมัยเด็กๆ บิดาของเขาต้องการให้สานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ในจิตใจของโกล้ดมีแต่ศิลปะ และมุ่งมั่นต้องการเป็นจิตรกรอาชีพ

โกล้ด โมเนต์ เข้าโรงเรียนศิลปะที่เลอ อาฟร์ ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ซึ่งแค่ชั้นมัธยมต้น เขาก็สามารถสร้างรายได้จากการวาดภาพเหมือนให้คนนั้นคนนี้ โดยคิดภาพละ 10-20 ฟรังก์

5 ปีหลังเข้าเรียนศิลปะ เขาก็ได้พบกับศิลปินอย่าง อูแชน บูลแด็ง ซึ่งสอนเทคนิควาดภาพกลางแจ้งที่เรียกว่า en plein air ให้ ทั้งคู่กลายเป็นศิษย์-อาจารย์ กระทั่งอายุ 16 โกล้ดลาออกจากโรงเรียนมุ่งหน้าสู่กรุงปารีส แทนที่จะไปนั่งวาดภาพศึกษาจากศิลปะของโอลด์มาสเตอร์เช่นคนอื่นๆ เขากลับนั่งริมหน้าต่างแล้ววาดสิ่งที่เขามองเห็นจากหน้าต่างห้องแทน
ในวัย 21 เขาเข้าร่วมกองทัพไปประจำการที่แอลจีเรีย จริงๆ แล้วต้องรับใช้ชาติถึง 7 ปี ทว่าพอเข้าปีที่ 2 เขาก็ป่วยเป็นไทฟอยด์จึงต้องปลดประจำการ และกลับมาเรียนศิลปะต่อ ณ กรุงปารีส โดยศึกษาเข้มข้นในแนว en plein air กับเพื่อนๆ ในรุ่นใกล้เคียงกัน อย่าง ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ เฟรเดริก บาซิลล์ และอัลเฟรด ซิสลีย์

ระหว่างนั้นได้เกิดสงครามฟร็องโก-ปรัสเซีย ทำให้โกล้ดอพยพไปอยู่ที่อังกฤษชั่วคราว ที่นั่นเขาได้ศึกษาผลงานของจอห์น สเตเบิล และโจเซฟ มัลลอร์ด เทอร์เนอร์ โกล้ดไม่เพียงได้เรียนรู้ด้านการวาดภาพแนวแลนด์สเคปซึ่งทั้งคู่เอกอุเท่า นั้น หากยังได้อิทธิพลเรื่องการใช้สีมาด้วย

พอสงครามสงบเขากลับมากรุงปารีส และใช้ชีวิตแบบชาวปารีเซียงทำกัน คือ ออกมาปิกนิกในสวนวันอาทิตย์ นอกจากเพื่อนๆ ศิลปินรุ่นเดียวกันที่กล่าวไปแล้ว เขายังสนิทกับเอดูอาร์ด มาเนต์ และภรรยา พวกเขาออกไปปิกนิกวันอาทิตย์ด้วยกันบ่อยๆ และเป็นที่มาของภาพเขียนจำนวนหนึ่งที่วาดในสวนท่ามกลางบรรยากาศปิกนิก

ศิลปินหนุ่มในกลุ่มก๊วนรวมตัวกันจัดนิทรรศการอิมเพรสชันนิสม์ครั้งแรก ณ เลขที่ 35 บูเลอวาร์ด เดส์ กาปูชีนส์ กรุงปารีส ในปี 1874 โดยจริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจจะนำเสนอวิธีการวาดภาพแนวใหม่ ทว่าต้องการแสดงอิสระทางความคิดของพวกเขามากกว่า เนื่องจากว่า ซาลง เดอ ปารีส ปฏิเสธการจัดแสดงผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพ Impression, Sunrise (1873) Luncheon (1868) และรูปอื่นๆ เขายังวาด Boulevard des Capucines เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่

ท่ามกลางภาพเขียนของเพื่อนร่วมกลุ่มรวม 165 ภาพ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าชมกว่า 3,500 คน และภาพก็ขายได้ดี แม้บางภาพราคาจะดูสูงเกินจริง

หลังการจากไปของกามิลล์ ภรรยาของเขาซึ่งป่วยเป็นวัณโรค ฐานะทางการเงินของโกล้ดก็ดูจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ก็มีอย่างไม่หยุดหย่อน ในปี 1890 เขาซื้อบ้านหลังใหญ่ที่มีสวนสวย ผลงานดีๆ ในบั้นปลายจึงเต็มไปด้วยภาพวาดในสวน ซึ่งเขาเป็นคนออกแบบเองโดยศึกษาจากหนังสือพฤกษศาสตร์ ว่ากันว่า เขาจ้างคนสวนทีเดียวถึง 7 คน เพื่อให้ได้สวนในแบบที่ต้องการ

เมื่อออสการ์-โกล้ด โมเนต์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด มิเชล โมเนต์ ลูกชายคนเดียวที่เหลืออยู่ของเขา ปรับปรุงบ้านของพ่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปเข้าชม รวมทั้งในส่วนของสวนสวยด้วย

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

คู่รักนักวาด

Detroit Industry โดย ดิเอโก ริเวรา
นิทรรศการ The Detroit Industry ในนครดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน แสดงภาพศิลปะบนผนังของจิตรกรชาวเม็กซิกัน ดิเอโก ริเวรา จากต้นทศวรรษที่ 1930 รวมทั้งผลงานของคู่ชีวิต อย่างฟรีดา คาห์โล ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึง 12 ก.ค. ณ สถาบันศิลปะดีทรอยต์ หรือดีไอเอ
Self-Portrait on the Borderline between Mexico and the United States 
คู่รักศิลปินทั้งสองมีประวัติศาสตร์คู่กับนครดีทรอยต์มาตั้งแต่ปี 1932 ที่ดิเอโก ได้รับการว่าจ้างให้ไปวาดภาพเขียนผนังบริเวณศูนย์อุตสาหกรรมของเมือง ซึ่งระหว่างที่ไปทำงานที่นั้น ฟรีด้าก็ตามเขาไปสร้างสรรค์ผลงานของตัวเธอเองที่นั่นด้วย The Detroit Industry จึงรวบรวมผลงานของทั้งคู่กว่า 60 ชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นขณะที่พำนักอยู่ในดีทรอยต์มาจัดแสดง

"การที่เรามีดิเอโกกับฟรีด้ามาอยู่ที่ดีทรอยต์นั้น เรียกว่า ได้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ของเมืองให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเมืองอุตสาหกรรมที่น่าเบื่อ" แกรห์ม ดับเบิลยู. เจ. ผู้อำนวยการสถาบัน ดีไอเอ กล่าวด้วยว่า เขายินดีที่จะนำเสนอเรื่องที่น่าภาคภูมิอย่างยิ่งของชาวดีทรอยต์ ผ่านนิทรรศการศิลปะที่ไม่ธรรมดาของคู่รักชาวเม็กซิกัน ซึ่งบ่งบอกประวัติศาสตร์ของความเป็นเมืองอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน

ผลงานของดิเอโก ริเวรา และฟรีด้า คาห์โล ที่นำมาจัดแสดง ล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี 1932 - 1933 ที่นอกจากได้รับอิทธิพลจากบชรรยากาศในยุคข้าวยากหมากแพงหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 1 (Great Depression) แล้ว ยังนับเป็นช่วงที่ฝีมือของพวกเขาพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วย เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่

ก่อนหน้าที่พวกเขาจะมาถึงดีทรอยต์ ทั้งคู่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเมือง ของชนชั้นล่างชาวเม็กซิโก ยิ่งมาเจอเรื่องราวของชนชั้นแรงงานในดีทรอยต์ ทำให้ดิเอโกและฟรีด้ายิ่งอินกับบรรยากาศ และสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมายราวเครื่องจักร อย่างผลงานจิตรกรรมบนกำแพง 27 ชิ้นของดิเอโก บริเวณลานสวนด้านในก็ทำให้สถานที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเดิม กลายเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และในที่สุดก็พัฒนามาเป็นสถาบันศิลปะดีทรอยต์ หรือดีไอเอในทุกวันนี้
ฟรีด้า-ดิเอโก

ขณะที่ฟรีด้า ซึ่งการมาอยู่ดีทรอยต์ทำให้เธอไร้สุขในเบื้องแรก หากเมื่อเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน ก็ยิ่งแสดงความเป็นตัวตนออกมาอย่างชัดเจน และกลายเป็นชิ้นงานเลื่องชื่อในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Henry Ford Hospital (1932) หรือ Self-Portrait on the Borderline between Mexico and the United States (1932) โดยในงานที่ยังนำเอาผลงานหลังจากนั้นของฟรีด้า อย่าง Self Portrait with Monkey (1945) The Wounded Deer (1946) ฯลฯ มาจัดแสดงด้วย

คู่รักนักวาด ดิเอโก ริเวรา กับฟรีด้า คาห์โล นับว่าเป็นคู่รักศิลปินที่โด่งดังที่สุดก็ว่าได้ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ขึ้นๆ ลงๆ เพราะว่าดิเอโกเป็นคนเจ้าชู้ พวกเขาแต่งงานกันในปี 1929 แล้วก็หย่ากันในปี 1939 ก่อนจะกลับมาแต่งงานกันอีกรอบในปีถัดมา ขณะที่ดิเอโกเคยเป็นศิลปินอันดับ 1 ของเม็กซิโกมาโดยตลอด ก่อนจะมาถูกแซงหน้าโดยภรรยาของเขาเอง


เอเลน - วิลเลม เด คูนิง

นักวาดคู่อื่นๆ

เอเลน และวิลเลม เด คูนิง - คู่จิตรกรนักวาด ภาพสีน้ำมัน ในยุคแอ็บสแทร็กต์ เอกซ์เพรสชันนิสม์ ทั้งคู่เป็นกลุ่มศิลปินจากโรงเรียนนิวยอร์ก แต่งงานกันในปี 1943 ความสัมพันธ์แบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็ไม่เคยที่จะแยกทางจากกัน

ฟร็องซวส กีโลต์ และปาโบล ปิกัสโซ่
ฟร็องซวส กีโลต์ และปาโบล ปิกัสโซ่ - ตอนที่ฟร็องซวสพบศิลปินดังชาวคาตาลันในกรุงปารีส เธออายุเพียง 21 ปี ขณะที่เขาอายุ 61 ทั้งสองครองรักกันอยู่ 10 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน แต่ไม่เคยแต่งงานกัน

กาบริเอเล มุนเทอร์ และวาสสิลี คันดินสกี
กาบริเอเล มุนเทอร์ และวาสสิลี คันดินสกี - ตำนานรักระหว่างครูวาสสิลีและลูกศิษย์กาบริเอเล เริ่มต้นในมิวนิค เมื่อปี 1902 ขณะที่ฝ่ายอาจารย์นั้นแต่งงานมีภรรยาแล้ว แต่กลับกุ๊กกิ๊กไปไหนมาไหนกับศิษย์สาวคนเก่งเสมอๆ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยาวนานถึง 12 ปี โดยได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Der Blaue Reiter (The Blue Rider) และ Neue Kunstlervereinigung (New Artist's Association) ขึ้นมาด้วยกัน

ลี คราสเนอร์ และแจ๊กสัน พอลล็อก
ลี คราสเนอร์ และแจ๊กสัน พอลล็อก - ศิลปินคู่รักจากนิวยอร์กที่ได้ชื่อว่าช่วยกันทำมาหากินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อีกคู่หนึ่ง โดยคนมักจะนินทาคู่นี้ว่า ลี เคยดังและเก่งกว่าแจ๊กสัน หาว่าแจ๊กสันใช้ประโยชน์จากความเก่งของแฟนสาวเพื่อผลักดันตัวเองขึ้นมา แต่ทั้งคู่ไม่ได้สนใจอะไรมากกว่ามีกันและกัน

โดโรเทีย แทนนิง และมักซ์ แอร์นสต์
โดโรเทีย แทนนิง และมักซ์ แอร์นสต์ - จิตรกรดาดาและเซอร์เรียลลิสต์ 2 คนพบกัน ณ แกลเลอรีแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ตกหลุมรักกันหลังจากแข่งเดินหมากรุก แต่งงานแล้วก็ย้ายไปปักหลักที่กรุงปารีส ทั้งคู่เสริมส่งกันในการทำงาน ไม่แข่งกันดัง มักซ์เอาดีทางด้านเซอร์เรียลลิสม์ ขณะที่โดโรเทีย เปลี่ยนความสนใจไปทำงานประติมากรรมและภาพพิมพ์ในบั้นปลาย


วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

เปโร ดิ โกสิโม อิตาเลียนเรอเนสซองซ์นอกคอก

นิทรรศการรำลึกถึง เปโร ดิ โกสิโม Piero di Cosimo : The Poetry of Painting in Renaissance Florence กำลังจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์แห่งชาติสหรัฐ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันนี้ถึง 3 พ.ค. ก่อนที่จะย้ายไปแสดงที่หอศิลป์ในฟลอเรนซ์ (Galleria degli Uffizi) ระหว่าง 23 มิ.ย.-27 ก.ย.ศกนี้

คนรักศิลปะตัวจริงเสียงจริง ในชีวิตนี้ต้องขอให้ได้ชมภาพเขียนของจิตรกรจากยุคเรอเนสซองซ์รายนี้กันสักครั้ง โดยครั้งนี้นับเป็นการจัดนิทรรศการใหญ่ที่รวบรวมผลงานแบบครบเครื่องครั้งแรกของ เปโร
ดิ โกสิโม กับ 44 ชิ้นงานเด่นระดับมาสเตอร์พีซ ที่ได้รวบรวมมาจากวิหารหลายแห่งในอิตาลี อย่างเช่น Madonna and Child Enthroned with Saints Elizabeth of Hungary, Catherine of Alexandria, Peter, and John the Evangelist with Angels (1493) ที่ขอยืมมาจากพิพิธภัณฑ์หอศิลป์อินโนเชนติ ในฟลอเรนซ์ (Museo degli Innocenti)

ขณะที่ภาพ The Visitation with Saint Nicholas and Saint Anthony Abbot (1489-1490) อันเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของเปโร นั้นเพิ่งผ่านการบูรณะมาสดๆ ร้อนๆ

เปโร ดิ โกสิโม ได้ชื่อว่าเป็นจิตรกรนอกคอกในยุคเรอเนสซองซ์ ด้วยผลงานการสร้างสรรค์ที่แปลกแตกต่างจากศิลปินร่วมสมัย โดยเฉพาะบรรดาสิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาดในจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นในภาพ

แม้ว่าผลงานหลายชิ้นจะได้รับอิทธิพลอย่างมากมายมาจากเลโอนาร์โด ดา วินชี อย่าง Madonna and Child with Two Musician Angels (1504-1507) ทว่า เปโรก็สร้างความต่างด้วยการเสกสิ่งมีชีวิตที่ดูราวหลุดออกมาจากตำนาน ให้กลายเป็นตราสัญลักษณ์ของตัวเอง เขามีผลงานมากมายในโบสถ์ที่ฟลอเรนซ์ ตั้งแต่วิหารกัปโปนี่ไปถึงวิหารของสตรอซซี่ ซึ่งหากจะค้นหาความหมายที่แท้ของแต่ละภาพ บรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งหลายยังกุมศีรษะและส่ายหัว

ภาพที่ดูเหมือนจะเป็นซีรี่ส์เดียวกัน เช่น Perseus Rescuing Andromeda (1510-1513) The Discovery of Honey (1500) The Misfortunes of Silenus (1500) และ The Hunt and The Return from the Hunt (1485-1500) แสดงความยากลำบากของมนุษย์ ซาตาน และสัตว์โลกชนิดอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ล้วนมีความเจ็บปวดไม่แตกต่างกัน


ศิษย์เอกของโกสิโม รอซเซลลิ แห่งโรงเรียนศิลปะฟลอเรนติน เริ่มต้นเขียนภาพเป็นอาชีพตั้งแต่ปี 1480 รุ่นใกล้เคียงกับจิตรกรชื่อดังแห่งเรอเนสซองซ์ ทั้งซานโดร บอตติเชลลี เลโอนาร์โด ดา วินชี แล้วก็ มีเกลันเจโล แม้มีผลงานไม่ขี้เหร่ แต่ด้วยความที่เขานิยมสร้างสรรค์ตัวประหลาดในผลงานที่เข้าใจยาก ทำให้กลายเป็นเรอเนสซองซ์ที่ออกจะนอกคอก หรือบางทีอาจเป็นเพราะว่า เขาอาจจะก้าวล้ำไปสู่ยุคแอบสแทรกต์ก่อนใครๆ


ภาพเขียนที่แปลกประหลาด ทำให้เปโรมีภาพเป็นจิตรกรจอมเพี้ยน หาก จอร์โจ วาซารี นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนแรกของโลก ที่รวบรวมประวัติของจิตรกรเอกในยุคเรอเนสซองซ์ ตั้งข้อสังเกตว่า เปโรพร้อมที่จะเปลี่ยนเทคนิคและรูปแบบในผลงานของเขา จากภาพหนึ่งไปยังอีกภาพอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย

ขณะที่จิตรกรเรอเนสซองซ์คนอื่นๆ วาดภาพพอร์เทรตที่สวยเนี้ยบ เต็มไปด้วยความงามแห่งยุคสมัย หรือรับใช้ศาสนาคริสต์อย่างไร้ที่ติ เปโร ดิ โกสิโม เลือกที่จะขุดเอาสัตว์โบราณจากในตำนานก่อนประวัติศาสตร์มาวิ่งเล่นอยู่ภาพเขียนอารมณ์ประหลาด ที่แสดงความเหนือจริง ดูๆ ไปก็ให้ความรู้สึกเสียดสีและมีอารมณ์ขันอยู่ในที

ชีวิตจริงของเขาก็แปลกประหลาดพอดู ลูกชายของช่างทำเครื่องมือ กลายเป็นนักเรียนศิลปะของโกสิโม รอซเซลลิ ซึ่งเลี้ยงเขามาแบบลูกชายตั้งแต่อายุ 11 เขาช่วยอาจารย์วาดภาพศิลปะบนผนังโบสถ์
ซิสทินไม่รู้กี่ชิ้นต่อกี่ชิ้น แต่ไม่เคยมีชื่อในผลงานนั้นๆ กระทั่งอายุ 18 ที่เป็นศิลปินเต็มตัว เขาไม่เคยวาดเฟรสโกอีกเลย เพราะนิยมเขียนภาพสีน้ำมันบนแผ่นไม้มากกว่า แถมบางครั้งไม่ใช้พู่กันหากนิยมใช้นิ้วมือ (จากบันทึกของจอร์โจ วาซารี)

Madonna and Child (1515-1518) ผลงานชิ้นสุดท้ายของเปโร ดูลดดีกรีความแรงลงมาก เป็นภาพสีหวาน ไม่ใช่สดๆ แรงๆ เหมือนที่เคยทำ ซึ่งเหมือนกับสีสันในผลงานของลูกศิษย์เขา อย่าง อันเดรีย เดล ซาร์โต และจาโคโป ดา ปอนตอร์โม ที่ต่างเริ่มเปลี่ยนจากยุคไฮเรอเนสซองซ์ไปสู่ยุคแมนเนอริสม์กันแล้ว

นั่นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เขาพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่เสมอ ในทุกวันของชีวิต

ปิแอร์ บอนนารด์ สิงห์หนุ่มแห่งโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์

จิตรกรที่มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์สุดโดดเด่นของศตวรรษที่ 20 ปิแอร์ บอนนารด์ ศิลปินนัดวาดและพิมพ์ภาพ หนึ่งในสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งกลุ่มนาบีส์ (Les Nabis) ที่รวมเอากลุ่มศิลปินก้าวหน้าแห่งยุคโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์เอาไว้

ปิแอร์ นิยมสร้างสรรค์งานจากความทรงจำ เขามักอาศัยภาพดรออิงที่สเกตช์แบบเอาไว้เป็นตัวช่วยแทนที่แบบตัวเป็นๆ โดยมักมีโน้ตเกี่ยวกับสีสันที่จะใช้เขียนกำกับไว้

ภาพส่วนใหญ่ของเขามักเป็นเรื่องราวง่ายๆ ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาดของภรรยา มาร์ต เดอเมอลินญี

ความโดดเด่นในผลงานของปิแอร์ บอนนารด์ อยู่ที่การไม่ยึดติดองค์ประกอบภาพแบบเดิมๆ หันไปเน้นเรื่องของสีสัน และสร้างเรื่องราวในภาพราวบทกวี หรือความเรียงที่ให้ข้อคิด ตั้งแต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่แวดวงศิลปะต่างก็ยอมรับในผลงานที่มีสีสันแปลกไม่ซ้ำใคร รวมทั้งเต็มไปด้วยจินตนาการสุดซับซ้อน

โรเบอร์ตา สมิธ นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกันบอกว่า การเลือกใช้สีของเขาไม่ใช่เพียงความแตกต่างที่เห็นได้ด้วยตา ทว่า เปี่ยมไปด้วยความร้อนแรงแห่งอารมณ์ ที่ห่มคลุมไปด้วยม่านสีสุดนวลเนียนแต่ร้อนแรง ผสานกับองค์ประกอบที่คาดไม่ถึง และรูปทรงอันแปลกประหลาด

ปิแอร์ เกิดที่ฟงเตอเนย์-โอซ์-โรส ชานกรุงปารีสทางตอนเหนือของแม่น้ำแซน เมื่อ 3 ต.ค. 1867 ในครอบครัวอำมาตย์ บิดาของเขาเป็นถึง รมว.กระทรวงสงคราม เขาเรียนกฎหมายตามใจพ่อจนจบและพร้อมว่าความ หากก็ศึกษาศิลปะที่เขาสนใจเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งในที่สุดแล้วเขาก็เลือกที่จะเป็นจิตรกร

ในปี 1891 เขาได้เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการประจำปีของกลุ่มศิลปินอิสระ อย่างโซซิเอเต เดส์ อาร์ติสต์ส แองเดปองด็องต์ส (Société des Artistes Indépendants) และปีเดียวกัน ยังได้ร่วมงานกับนิตยสาร La Revue Blanche ซึ่งเขาและเอดูอารด์ ฟุยยารด์ ได้ช่วยกันออกแบบปกของนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะและกวีฉบับนี้

ในวัยต้น 20 เขาและเพื่อนศิลปินหนุ่มๆ วัยเดียวกัน อย่าง เอดูอารด์ ฟุยยารด์ โมริซ เดอนีส์ ฯลฯ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มนาบีส์โดยเป็นการรวมพวกหัวก้าวหน้า ทั้งสาขาจิตรกรรม กราฟฟิกอาร์ต และวรรณกรรม สมัยโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ นอกจากวัยใกล้เคียงแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ยังจบการศึกษาจากโรงเรียนศิลปะเอกชน โรโดล์ฟ ชูเลียง กรุงปารีสช่วงทศวรรษที่ 1880 อีกด้วย

กลุ่มนาบีส์ รวมตัวกันสร้างสรรค์ศิลปะเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของธรรมชาติ นอกเหนือจากผลงานจิตรกรรมแล้ว เขายังมีภาพวาดโปสเตอร์ ภาพประกอบในหนังสือ ภาพสเก็ตช์การออกแบบฉากละครเวที รวมทั้งภาพพิมพ์

ปิแอร์ ออกจากกรุงปารีสไปอาศัยที่ตอนใต้ของฝรั่งเศสในปี 1910 จากบันทึกของเพื่อนๆ และนักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างบอกว่า เขาเป็นคนที่เงียบ รักสันโดษ และมีโลกส่วนตัวสูงมาก ด้วยความที่เกิดในตระกูลร่ำรวย เขาจึงปราศจากความเครียดทั้งปวง การสร้างสรรค์งานศิลปะของเขาราวกับเป็นหนทางสู่ปัญญา เป็นเครื่องมือแห่งความหลุดพ้น

ปิแอร์ บอนนารด์ เป็นที่รู้จักด้านการใช้สีที่จัดจ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ฝีแปรงเล็กๆ กอปรกันขึ้นจนเป็นจุดเด่นในภาพ ภาพของเขามักจะมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน อย่างเช่นภาพแสงอาทิตย์ส่องจากสวนเข้ามาในห้องที่มีสมาชิกครอบครัวหรือ เพื่อนฝูงนั่งกันอยู่เต็ม ภาพทั้งภาพเหมือนการเล่าเรื่องอัตชีวประวัติของตัวเขาเอง

ภาพวาด มาร์ต ภรรยาของเขาเอง เป็นชิ้นงานที่โดดเด่นอยู่หลายทศวรรษ ไม่ว่าจะป็นภาพที่เธอนั่งในครัวบริเวณโต๊ะที่มีอาหารเหลือๆ หรือภาพนู้ดของเธอในอ่างอาบน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ ปิแอร์ ยังวาดภาพเหมือนตัวอง ภาพแลนด์สเคป ภาพฉากบนท้องถนน รวมถึงภาพหุ่นนิ่งอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปผลไม้และดอกไม้

หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 1947 ดูเหมือนว่าจะเอาผลงานและชื่อเสียงที่สร้างมาลงหลุมไปด้วย กว่าจะหวนคืนบัลลังก์ศิลปะอีกครั้งก็ปาเข้าไปปี 1998 ที่มีการจัดนิทรรศการรำลึกถึงเขา 2 ครั้ง ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงนิวยอร์ก สหรัฐ และหลังจากนิทรรศการ Pierre Bonnard : The Late Interiors ที่เดอะ เม็ตส์ กรุงนิวยอร์ก ซึ่ง เจด เพิร์ล นักวิจารณ์ศิลปะได้เขียนอวยเขามากมาย ผลงานของเขากลายเป็นที่จับตาของนักสะสม

ภาพ Terrasse à Vernon สร้างสถิติที่สถาบันประมูลคริสตีไปในราคา 8.5 ล้านยูโร (หรือราว 300 ล้านบาท) โดยในปี 2014 มีการเจอภาพ La Femme aux Deux Fauteuils (Woman with Two Armchairs) มูลค่า 6 แสนยูโร (ราว 20 ล้านบาท) ซึ่งถูกขโมยไปจากลอนดอน ปี 1970 ที่อิตาลี พร้อมกับภาพเขียนของโปล โกแกง Fruit on a Table with a Small Dog โดยพนักงานบริษัท เฟียต ผู้ครอบครองภาพ เล่าว่า ซื้อมาจากตลาดของเก่าในปี 1975