วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

คู่รักนักวาด

Detroit Industry โดย ดิเอโก ริเวรา
นิทรรศการ The Detroit Industry ในนครดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน แสดงภาพศิลปะบนผนังของจิตรกรชาวเม็กซิกัน ดิเอโก ริเวรา จากต้นทศวรรษที่ 1930 รวมทั้งผลงานของคู่ชีวิต อย่างฟรีดา คาห์โล ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึง 12 ก.ค. ณ สถาบันศิลปะดีทรอยต์ หรือดีไอเอ
Self-Portrait on the Borderline between Mexico and the United States 
คู่รักศิลปินทั้งสองมีประวัติศาสตร์คู่กับนครดีทรอยต์มาตั้งแต่ปี 1932 ที่ดิเอโก ได้รับการว่าจ้างให้ไปวาดภาพเขียนผนังบริเวณศูนย์อุตสาหกรรมของเมือง ซึ่งระหว่างที่ไปทำงานที่นั้น ฟรีด้าก็ตามเขาไปสร้างสรรค์ผลงานของตัวเธอเองที่นั่นด้วย The Detroit Industry จึงรวบรวมผลงานของทั้งคู่กว่า 60 ชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นขณะที่พำนักอยู่ในดีทรอยต์มาจัดแสดง

"การที่เรามีดิเอโกกับฟรีด้ามาอยู่ที่ดีทรอยต์นั้น เรียกว่า ได้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ของเมืองให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเมืองอุตสาหกรรมที่น่าเบื่อ" แกรห์ม ดับเบิลยู. เจ. ผู้อำนวยการสถาบัน ดีไอเอ กล่าวด้วยว่า เขายินดีที่จะนำเสนอเรื่องที่น่าภาคภูมิอย่างยิ่งของชาวดีทรอยต์ ผ่านนิทรรศการศิลปะที่ไม่ธรรมดาของคู่รักชาวเม็กซิกัน ซึ่งบ่งบอกประวัติศาสตร์ของความเป็นเมืองอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน

ผลงานของดิเอโก ริเวรา และฟรีด้า คาห์โล ที่นำมาจัดแสดง ล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี 1932 - 1933 ที่นอกจากได้รับอิทธิพลจากบชรรยากาศในยุคข้าวยากหมากแพงหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 1 (Great Depression) แล้ว ยังนับเป็นช่วงที่ฝีมือของพวกเขาพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วย เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่

ก่อนหน้าที่พวกเขาจะมาถึงดีทรอยต์ ทั้งคู่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเมือง ของชนชั้นล่างชาวเม็กซิโก ยิ่งมาเจอเรื่องราวของชนชั้นแรงงานในดีทรอยต์ ทำให้ดิเอโกและฟรีด้ายิ่งอินกับบรรยากาศ และสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมายราวเครื่องจักร อย่างผลงานจิตรกรรมบนกำแพง 27 ชิ้นของดิเอโก บริเวณลานสวนด้านในก็ทำให้สถานที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเดิม กลายเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และในที่สุดก็พัฒนามาเป็นสถาบันศิลปะดีทรอยต์ หรือดีไอเอในทุกวันนี้
ฟรีด้า-ดิเอโก

ขณะที่ฟรีด้า ซึ่งการมาอยู่ดีทรอยต์ทำให้เธอไร้สุขในเบื้องแรก หากเมื่อเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน ก็ยิ่งแสดงความเป็นตัวตนออกมาอย่างชัดเจน และกลายเป็นชิ้นงานเลื่องชื่อในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Henry Ford Hospital (1932) หรือ Self-Portrait on the Borderline between Mexico and the United States (1932) โดยในงานที่ยังนำเอาผลงานหลังจากนั้นของฟรีด้า อย่าง Self Portrait with Monkey (1945) The Wounded Deer (1946) ฯลฯ มาจัดแสดงด้วย

คู่รักนักวาด ดิเอโก ริเวรา กับฟรีด้า คาห์โล นับว่าเป็นคู่รักศิลปินที่โด่งดังที่สุดก็ว่าได้ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ขึ้นๆ ลงๆ เพราะว่าดิเอโกเป็นคนเจ้าชู้ พวกเขาแต่งงานกันในปี 1929 แล้วก็หย่ากันในปี 1939 ก่อนจะกลับมาแต่งงานกันอีกรอบในปีถัดมา ขณะที่ดิเอโกเคยเป็นศิลปินอันดับ 1 ของเม็กซิโกมาโดยตลอด ก่อนจะมาถูกแซงหน้าโดยภรรยาของเขาเอง


เอเลน - วิลเลม เด คูนิง

นักวาดคู่อื่นๆ

เอเลน และวิลเลม เด คูนิง - คู่จิตรกรนักวาด ภาพสีน้ำมัน ในยุคแอ็บสแทร็กต์ เอกซ์เพรสชันนิสม์ ทั้งคู่เป็นกลุ่มศิลปินจากโรงเรียนนิวยอร์ก แต่งงานกันในปี 1943 ความสัมพันธ์แบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็ไม่เคยที่จะแยกทางจากกัน

ฟร็องซวส กีโลต์ และปาโบล ปิกัสโซ่
ฟร็องซวส กีโลต์ และปาโบล ปิกัสโซ่ - ตอนที่ฟร็องซวสพบศิลปินดังชาวคาตาลันในกรุงปารีส เธออายุเพียง 21 ปี ขณะที่เขาอายุ 61 ทั้งสองครองรักกันอยู่ 10 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน แต่ไม่เคยแต่งงานกัน

กาบริเอเล มุนเทอร์ และวาสสิลี คันดินสกี
กาบริเอเล มุนเทอร์ และวาสสิลี คันดินสกี - ตำนานรักระหว่างครูวาสสิลีและลูกศิษย์กาบริเอเล เริ่มต้นในมิวนิค เมื่อปี 1902 ขณะที่ฝ่ายอาจารย์นั้นแต่งงานมีภรรยาแล้ว แต่กลับกุ๊กกิ๊กไปไหนมาไหนกับศิษย์สาวคนเก่งเสมอๆ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยาวนานถึง 12 ปี โดยได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Der Blaue Reiter (The Blue Rider) และ Neue Kunstlervereinigung (New Artist's Association) ขึ้นมาด้วยกัน

ลี คราสเนอร์ และแจ๊กสัน พอลล็อก
ลี คราสเนอร์ และแจ๊กสัน พอลล็อก - ศิลปินคู่รักจากนิวยอร์กที่ได้ชื่อว่าช่วยกันทำมาหากินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อีกคู่หนึ่ง โดยคนมักจะนินทาคู่นี้ว่า ลี เคยดังและเก่งกว่าแจ๊กสัน หาว่าแจ๊กสันใช้ประโยชน์จากความเก่งของแฟนสาวเพื่อผลักดันตัวเองขึ้นมา แต่ทั้งคู่ไม่ได้สนใจอะไรมากกว่ามีกันและกัน

โดโรเทีย แทนนิง และมักซ์ แอร์นสต์
โดโรเทีย แทนนิง และมักซ์ แอร์นสต์ - จิตรกรดาดาและเซอร์เรียลลิสต์ 2 คนพบกัน ณ แกลเลอรีแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ตกหลุมรักกันหลังจากแข่งเดินหมากรุก แต่งงานแล้วก็ย้ายไปปักหลักที่กรุงปารีส ทั้งคู่เสริมส่งกันในการทำงาน ไม่แข่งกันดัง มักซ์เอาดีทางด้านเซอร์เรียลลิสม์ ขณะที่โดโรเทีย เปลี่ยนความสนใจไปทำงานประติมากรรมและภาพพิมพ์ในบั้นปลาย


วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

เปโร ดิ โกสิโม อิตาเลียนเรอเนสซองซ์นอกคอก

นิทรรศการรำลึกถึง เปโร ดิ โกสิโม Piero di Cosimo : The Poetry of Painting in Renaissance Florence กำลังจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์แห่งชาติสหรัฐ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันนี้ถึง 3 พ.ค. ก่อนที่จะย้ายไปแสดงที่หอศิลป์ในฟลอเรนซ์ (Galleria degli Uffizi) ระหว่าง 23 มิ.ย.-27 ก.ย.ศกนี้

คนรักศิลปะตัวจริงเสียงจริง ในชีวิตนี้ต้องขอให้ได้ชมภาพเขียนของจิตรกรจากยุคเรอเนสซองซ์รายนี้กันสักครั้ง โดยครั้งนี้นับเป็นการจัดนิทรรศการใหญ่ที่รวบรวมผลงานแบบครบเครื่องครั้งแรกของ เปโร
ดิ โกสิโม กับ 44 ชิ้นงานเด่นระดับมาสเตอร์พีซ ที่ได้รวบรวมมาจากวิหารหลายแห่งในอิตาลี อย่างเช่น Madonna and Child Enthroned with Saints Elizabeth of Hungary, Catherine of Alexandria, Peter, and John the Evangelist with Angels (1493) ที่ขอยืมมาจากพิพิธภัณฑ์หอศิลป์อินโนเชนติ ในฟลอเรนซ์ (Museo degli Innocenti)

ขณะที่ภาพ The Visitation with Saint Nicholas and Saint Anthony Abbot (1489-1490) อันเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของเปโร นั้นเพิ่งผ่านการบูรณะมาสดๆ ร้อนๆ

เปโร ดิ โกสิโม ได้ชื่อว่าเป็นจิตรกรนอกคอกในยุคเรอเนสซองซ์ ด้วยผลงานการสร้างสรรค์ที่แปลกแตกต่างจากศิลปินร่วมสมัย โดยเฉพาะบรรดาสิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาดในจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นในภาพ

แม้ว่าผลงานหลายชิ้นจะได้รับอิทธิพลอย่างมากมายมาจากเลโอนาร์โด ดา วินชี อย่าง Madonna and Child with Two Musician Angels (1504-1507) ทว่า เปโรก็สร้างความต่างด้วยการเสกสิ่งมีชีวิตที่ดูราวหลุดออกมาจากตำนาน ให้กลายเป็นตราสัญลักษณ์ของตัวเอง เขามีผลงานมากมายในโบสถ์ที่ฟลอเรนซ์ ตั้งแต่วิหารกัปโปนี่ไปถึงวิหารของสตรอซซี่ ซึ่งหากจะค้นหาความหมายที่แท้ของแต่ละภาพ บรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งหลายยังกุมศีรษะและส่ายหัว

ภาพที่ดูเหมือนจะเป็นซีรี่ส์เดียวกัน เช่น Perseus Rescuing Andromeda (1510-1513) The Discovery of Honey (1500) The Misfortunes of Silenus (1500) และ The Hunt and The Return from the Hunt (1485-1500) แสดงความยากลำบากของมนุษย์ ซาตาน และสัตว์โลกชนิดอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ล้วนมีความเจ็บปวดไม่แตกต่างกัน


ศิษย์เอกของโกสิโม รอซเซลลิ แห่งโรงเรียนศิลปะฟลอเรนติน เริ่มต้นเขียนภาพเป็นอาชีพตั้งแต่ปี 1480 รุ่นใกล้เคียงกับจิตรกรชื่อดังแห่งเรอเนสซองซ์ ทั้งซานโดร บอตติเชลลี เลโอนาร์โด ดา วินชี แล้วก็ มีเกลันเจโล แม้มีผลงานไม่ขี้เหร่ แต่ด้วยความที่เขานิยมสร้างสรรค์ตัวประหลาดในผลงานที่เข้าใจยาก ทำให้กลายเป็นเรอเนสซองซ์ที่ออกจะนอกคอก หรือบางทีอาจเป็นเพราะว่า เขาอาจจะก้าวล้ำไปสู่ยุคแอบสแทรกต์ก่อนใครๆ


ภาพเขียนที่แปลกประหลาด ทำให้เปโรมีภาพเป็นจิตรกรจอมเพี้ยน หาก จอร์โจ วาซารี นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนแรกของโลก ที่รวบรวมประวัติของจิตรกรเอกในยุคเรอเนสซองซ์ ตั้งข้อสังเกตว่า เปโรพร้อมที่จะเปลี่ยนเทคนิคและรูปแบบในผลงานของเขา จากภาพหนึ่งไปยังอีกภาพอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย

ขณะที่จิตรกรเรอเนสซองซ์คนอื่นๆ วาดภาพพอร์เทรตที่สวยเนี้ยบ เต็มไปด้วยความงามแห่งยุคสมัย หรือรับใช้ศาสนาคริสต์อย่างไร้ที่ติ เปโร ดิ โกสิโม เลือกที่จะขุดเอาสัตว์โบราณจากในตำนานก่อนประวัติศาสตร์มาวิ่งเล่นอยู่ภาพเขียนอารมณ์ประหลาด ที่แสดงความเหนือจริง ดูๆ ไปก็ให้ความรู้สึกเสียดสีและมีอารมณ์ขันอยู่ในที

ชีวิตจริงของเขาก็แปลกประหลาดพอดู ลูกชายของช่างทำเครื่องมือ กลายเป็นนักเรียนศิลปะของโกสิโม รอซเซลลิ ซึ่งเลี้ยงเขามาแบบลูกชายตั้งแต่อายุ 11 เขาช่วยอาจารย์วาดภาพศิลปะบนผนังโบสถ์
ซิสทินไม่รู้กี่ชิ้นต่อกี่ชิ้น แต่ไม่เคยมีชื่อในผลงานนั้นๆ กระทั่งอายุ 18 ที่เป็นศิลปินเต็มตัว เขาไม่เคยวาดเฟรสโกอีกเลย เพราะนิยมเขียนภาพสีน้ำมันบนแผ่นไม้มากกว่า แถมบางครั้งไม่ใช้พู่กันหากนิยมใช้นิ้วมือ (จากบันทึกของจอร์โจ วาซารี)

Madonna and Child (1515-1518) ผลงานชิ้นสุดท้ายของเปโร ดูลดดีกรีความแรงลงมาก เป็นภาพสีหวาน ไม่ใช่สดๆ แรงๆ เหมือนที่เคยทำ ซึ่งเหมือนกับสีสันในผลงานของลูกศิษย์เขา อย่าง อันเดรีย เดล ซาร์โต และจาโคโป ดา ปอนตอร์โม ที่ต่างเริ่มเปลี่ยนจากยุคไฮเรอเนสซองซ์ไปสู่ยุคแมนเนอริสม์กันแล้ว

นั่นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เขาพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่เสมอ ในทุกวันของชีวิต

ปิแอร์ บอนนารด์ สิงห์หนุ่มแห่งโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์

จิตรกรที่มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์สุดโดดเด่นของศตวรรษที่ 20 ปิแอร์ บอนนารด์ ศิลปินนัดวาดและพิมพ์ภาพ หนึ่งในสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งกลุ่มนาบีส์ (Les Nabis) ที่รวมเอากลุ่มศิลปินก้าวหน้าแห่งยุคโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์เอาไว้

ปิแอร์ นิยมสร้างสรรค์งานจากความทรงจำ เขามักอาศัยภาพดรออิงที่สเกตช์แบบเอาไว้เป็นตัวช่วยแทนที่แบบตัวเป็นๆ โดยมักมีโน้ตเกี่ยวกับสีสันที่จะใช้เขียนกำกับไว้

ภาพส่วนใหญ่ของเขามักเป็นเรื่องราวง่ายๆ ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาดของภรรยา มาร์ต เดอเมอลินญี

ความโดดเด่นในผลงานของปิแอร์ บอนนารด์ อยู่ที่การไม่ยึดติดองค์ประกอบภาพแบบเดิมๆ หันไปเน้นเรื่องของสีสัน และสร้างเรื่องราวในภาพราวบทกวี หรือความเรียงที่ให้ข้อคิด ตั้งแต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่แวดวงศิลปะต่างก็ยอมรับในผลงานที่มีสีสันแปลกไม่ซ้ำใคร รวมทั้งเต็มไปด้วยจินตนาการสุดซับซ้อน

โรเบอร์ตา สมิธ นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกันบอกว่า การเลือกใช้สีของเขาไม่ใช่เพียงความแตกต่างที่เห็นได้ด้วยตา ทว่า เปี่ยมไปด้วยความร้อนแรงแห่งอารมณ์ ที่ห่มคลุมไปด้วยม่านสีสุดนวลเนียนแต่ร้อนแรง ผสานกับองค์ประกอบที่คาดไม่ถึง และรูปทรงอันแปลกประหลาด

ปิแอร์ เกิดที่ฟงเตอเนย์-โอซ์-โรส ชานกรุงปารีสทางตอนเหนือของแม่น้ำแซน เมื่อ 3 ต.ค. 1867 ในครอบครัวอำมาตย์ บิดาของเขาเป็นถึง รมว.กระทรวงสงคราม เขาเรียนกฎหมายตามใจพ่อจนจบและพร้อมว่าความ หากก็ศึกษาศิลปะที่เขาสนใจเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งในที่สุดแล้วเขาก็เลือกที่จะเป็นจิตรกร

ในปี 1891 เขาได้เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการประจำปีของกลุ่มศิลปินอิสระ อย่างโซซิเอเต เดส์ อาร์ติสต์ส แองเดปองด็องต์ส (Société des Artistes Indépendants) และปีเดียวกัน ยังได้ร่วมงานกับนิตยสาร La Revue Blanche ซึ่งเขาและเอดูอารด์ ฟุยยารด์ ได้ช่วยกันออกแบบปกของนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะและกวีฉบับนี้

ในวัยต้น 20 เขาและเพื่อนศิลปินหนุ่มๆ วัยเดียวกัน อย่าง เอดูอารด์ ฟุยยารด์ โมริซ เดอนีส์ ฯลฯ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มนาบีส์โดยเป็นการรวมพวกหัวก้าวหน้า ทั้งสาขาจิตรกรรม กราฟฟิกอาร์ต และวรรณกรรม สมัยโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ นอกจากวัยใกล้เคียงแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ยังจบการศึกษาจากโรงเรียนศิลปะเอกชน โรโดล์ฟ ชูเลียง กรุงปารีสช่วงทศวรรษที่ 1880 อีกด้วย

กลุ่มนาบีส์ รวมตัวกันสร้างสรรค์ศิลปะเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของธรรมชาติ นอกเหนือจากผลงานจิตรกรรมแล้ว เขายังมีภาพวาดโปสเตอร์ ภาพประกอบในหนังสือ ภาพสเก็ตช์การออกแบบฉากละครเวที รวมทั้งภาพพิมพ์

ปิแอร์ ออกจากกรุงปารีสไปอาศัยที่ตอนใต้ของฝรั่งเศสในปี 1910 จากบันทึกของเพื่อนๆ และนักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างบอกว่า เขาเป็นคนที่เงียบ รักสันโดษ และมีโลกส่วนตัวสูงมาก ด้วยความที่เกิดในตระกูลร่ำรวย เขาจึงปราศจากความเครียดทั้งปวง การสร้างสรรค์งานศิลปะของเขาราวกับเป็นหนทางสู่ปัญญา เป็นเครื่องมือแห่งความหลุดพ้น

ปิแอร์ บอนนารด์ เป็นที่รู้จักด้านการใช้สีที่จัดจ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ฝีแปรงเล็กๆ กอปรกันขึ้นจนเป็นจุดเด่นในภาพ ภาพของเขามักจะมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน อย่างเช่นภาพแสงอาทิตย์ส่องจากสวนเข้ามาในห้องที่มีสมาชิกครอบครัวหรือ เพื่อนฝูงนั่งกันอยู่เต็ม ภาพทั้งภาพเหมือนการเล่าเรื่องอัตชีวประวัติของตัวเขาเอง

ภาพวาด มาร์ต ภรรยาของเขาเอง เป็นชิ้นงานที่โดดเด่นอยู่หลายทศวรรษ ไม่ว่าจะป็นภาพที่เธอนั่งในครัวบริเวณโต๊ะที่มีอาหารเหลือๆ หรือภาพนู้ดของเธอในอ่างอาบน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ ปิแอร์ ยังวาดภาพเหมือนตัวอง ภาพแลนด์สเคป ภาพฉากบนท้องถนน รวมถึงภาพหุ่นนิ่งอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปผลไม้และดอกไม้

หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 1947 ดูเหมือนว่าจะเอาผลงานและชื่อเสียงที่สร้างมาลงหลุมไปด้วย กว่าจะหวนคืนบัลลังก์ศิลปะอีกครั้งก็ปาเข้าไปปี 1998 ที่มีการจัดนิทรรศการรำลึกถึงเขา 2 ครั้ง ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงนิวยอร์ก สหรัฐ และหลังจากนิทรรศการ Pierre Bonnard : The Late Interiors ที่เดอะ เม็ตส์ กรุงนิวยอร์ก ซึ่ง เจด เพิร์ล นักวิจารณ์ศิลปะได้เขียนอวยเขามากมาย ผลงานของเขากลายเป็นที่จับตาของนักสะสม

ภาพ Terrasse à Vernon สร้างสถิติที่สถาบันประมูลคริสตีไปในราคา 8.5 ล้านยูโร (หรือราว 300 ล้านบาท) โดยในปี 2014 มีการเจอภาพ La Femme aux Deux Fauteuils (Woman with Two Armchairs) มูลค่า 6 แสนยูโร (ราว 20 ล้านบาท) ซึ่งถูกขโมยไปจากลอนดอน ปี 1970 ที่อิตาลี พร้อมกับภาพเขียนของโปล โกแกง Fruit on a Table with a Small Dog โดยพนักงานบริษัท เฟียต ผู้ครอบครองภาพ เล่าว่า ซื้อมาจากตลาดของเก่าในปี 1975

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

หรือเฟอร์เมียร์มีนัยน์ตาเหยี่ยว

ภาพเขียนจากศตวรรษที่ 17 ของโยฮันเนส (ยาน) เฟอร์เมียร์ ที่วาดได้ละเอียดชัดเจนราวกับภาพถ่ายส่วนใหญ่เป็นภาพวาดชีวิตผู้คนในบ้าน ซึ่งเป็นฉากซ้ำๆ นางแบบ/นายแบบหน้าเดิมๆ โดยในยุคสมัยของเขานั้นไม่ประสบความสำเร็จ (ทางด้านรายได้) สักเท่าไร ขณะที่เขาจากไปได้ทิ้งหนี้สินจำนวนมากไว้ให้ภรรยาและลูก

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ยาน เฟอร์เมียร์ สร้างสรรค์งานไว้จำนวนน้อยนิดเท่านั้นเอง เขาค่อยๆ บรรจงจรดฝีแปรงลงในแต่ละภาพอย่างเชื่องช้า ละเอียดลออ นอกจากใส่ใจกับรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งเหลี่ยมมุมสุดเป๊ะของภาพ อีกทั้งแสงเงาเสมือนจริงมากๆ แล้ว เขายังนิยมใช้สีสันจัดจ้าน อีกทั้งสีที่หายาก ราคาแพง อย่างเช่น สีน้ำเงินอมม่วงของลาพิส ลาซูลี หรือสีเหลืองอินเดียน

ความก้าวล้ำในผลงานศิลปะของยาน เฟอร์เมียร์ ถูกค้นพบในขณะที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว (ด้วยวัยเพียง 40 กว่าปีเท่านั้น) นานกว่า 2 ศตวรรษทีเดียว โดยในยุคสมัยของเขานั้น ยาน ไม่ได้นับเป็นศิลปินดัตช์ตัวกลั่น  กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีคนค้นพบและเริ่มศึกษาผลงานของเขาอย่างจริงจัง ว่ามันมีคุณค่าแห่งความเนี้ยบ ละเอียดลออ ประณีตขนาดไหน
ยาน เฟอร์เมียร์

กุสตาฟ ฟรีดริกซ์ วาเกน และเตโอฟิล ตอเร่-เบอร์เกอร์ เป็นคนที่ค้นพบภาพเขียนของเขาในศตวรรษที่ 19 และนำ 66 ภาพนั้นมาตีพิมพ์ร่วมกับความเรียงของพวกเขา (ที่ได้การยอมรับว่าเป็นผลงานจริงของเขามีเพียง 34 ภาพ) นับแต่นั้นมา ยาน เฟอร์เมียร์ จึงเป็นที่รู้จักกันในฐานะศิลปินเอกคนหนึ่ง ในยุครุ่งเรืองของศิลปะดัตช์

อย่างไรก็ตาม พวกเรารู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและงานของยาน เฟอร์เมียร์น้อยมาก เพราะแทบไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเขาหลงเหลืออยู่เลย ทุกคนรู้เพียงแต่ว่าเขาเกิด อาศัย และทำงานอยู่ที่เมืองเดลฟต์ ทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ แค่นั้นเอง จน เตโอฟิล ตั้งฉายาให้เขาว่า The Sphinx of Delft หรือผู้ลึกลับแห่งเดลฟต์ นั่นเอง

บางสิ่งที่ลึกลับยิ่งมีหลากหลายคนต้องการจะค้นหา ยาน เฟอร์เมียร์ ได้รับการกล่าวถึงในนิยาย บทเพลง และภาพยนตร์ของยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนิยายของอกาธา คริสตี้ เรื่อง After the Funeral หรือ In Search of Lost Time ของมาร์เซล เพราสต์ รวมทั้งในนิยายเรื่อง Hannibal ของโทมัส แฮร์ริส แต่ที่ป๊อปปูลาร์ของยุคนี้ ต้องยกให้หนังและหนังสือ Girl with a Pearl Earring ที่ทำให้ชื่อของจิตรกรดัตช์โด่งดังไปทั่วโลก
แม้ จะเริ่มต้นการเขียนภาพแบบธรรมดาๆ เช่นเดียวกับจิตรกรคนอื่นๆ แต่จุดหักเหของยาน เฟอร์เมียร์ อยู่ตรงที่เขาเริ่มเลือกใช้สีที่แตกต่าง

ไม่มีจิตรกรในศตวรรษที่ 17 คนไหนใช้สีจากหินลาพิส ลา ซูลี ที่มอบสีน้ำเงินแบบเจิดจ้า นอกจากนี้ ผลงานจำนวนมากที่เขาสร้างสรรค์ภายในห้องๆ เดียวนั้น มีการผสมผสานทั้งอินทีเรียร์ดีไซน์ (ก่อนจะถึงยุคอาร์ตเดโค) และเรียลลิสม์ โดยนอกจากเขาจะพยายามใช้สีสันที่เหมือนจริงของสิ่งนั้นๆ มากที่สุดแล้ว เขายังไม่มองข้ามรายละเอียด ไม่ว่าจะเล็กๆ น้อยๆ เพียงใด ไม่ว่าจะเป็นแสงเงาที่สาดลงบนผนังห้อง เสื้อผ้า หน้า ผม เงาสะท้อนของทุกสิ่งบนวัตถุที่เป็นเงามัน ฯลฯ จนเป็นภาพเขียนที่ออกมาเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย

นักวิจารณ์/วิจัยศิลปะสงสัยกันมากว่า ยาน เฟอร์เมียร์ สร้างสรรค์ผลงานแบบนั้นออกมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่า เขาศึกษาทางด้านศิลปะกับครูบาอาจารย์คนไหนมา และแทบไม่มีหลักฐานเป็นผลงานภาพสเกตช์ก่อนหน้านี้ของเขาเลย
ใน ปี 2001 เดวิด ฮอคนีย์ จิตรกรดังชาวอังกฤษ ออกหนังสือ Secret Knowledge: Rediscovering the Lost Techniques of the Old Masters และพูดถึงทั้งยาน เฟอร์เมียร์ รวมถึงจิตรกรเรอเนสซองซ์์หลายคนอย่าง ฮันส์ โฮลไบน์ และดิเอโก เบลาซเกซ ว่าคงต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเป็นกระจกโค้ง ร่วมกับคาเมรา ออบสคูร่า และคาเมรา ลูซีดา (อุปกรณ์ที่ใช้หลักการสะท้อนภาพผ่านเลนส์ก่อนจะพัฒนาเป็นกล้องถ่ายรูปทำให้ เห็นภาพชัด และขยายดูด้วยกระจกโค้ง ทำให้เห็นรายละเอียดชัดยิ่งขึ้น)  

ในปี 2008 นักลงทุนที่ไม่ได้มีความรู้ทางด้านศิลปะ ทิม เจนิสัน เชื่อมั่นในทฤษฎีของเดวิด ได้จัดการสร้างห้องๆ หนึ่งที่เหมือนกับภาพเขียนของยาน เฟอร์เมียร์ พร้อมทั้งใช้อุปกรณ์อย่างที่ว่า ลองวาดภาพ The Music Lesson หรือ A Lady at the Virginals with a Gentleman ออกมา (ขั้นตอนการทำงานอยู่ในหนังสารคดี Tim’s Vermeer ปี 2013) ซึ่งมีหลายๆ จุดพิสูจน์ให้น่าเชื่อได้ว่า จิตรกรเอกชาวดัตช์ใช้อุปกรณ์ที่ว่าเป็นตัวช่วยในการวาดภาพจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของลำแสงฟรุ้งฟริ้งที่ตกกระทบกำแพงห้องในภาพ และยังมีเงาสะท้อนใบหน้าของเด็กสาวบนเปียโน ซึ่งทิมได้ไปถามความเป็นของผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาและการมองเห็น ว่าเป็นไปได้ไหมที่คนเราจะมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ แบบนี้ แล้ววาดออกมาเป็นภาพได้

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า คงต้องมีสายตาแบบเหยี่ยวเท่านั้นหละครับ...

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ยังเป็นที่ถกเถียง โยฮันเนส หรือยาน เฟอร์เมียร์ ยังคงเป็น สฟิงซ์แห่งเดลฟต์ ที่มีคนรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับตัวเขาน้อยมากอยู่ดี