วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560

อูแชน อัตเชต์ ภาพถ่ายกรุงปารีส

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถ่ายทอดผ่านเลนส์ของ อูแชน อัตเชต์ ช่างภาพแห่งศตวรรษที่ 19 ผู้บุกเบิกภาพถ่ายเชิงสารคดีของโลก แต่ละภาพนั้นถ่ายทอดให้เห็นอาคารบ้านเรือนและท้องถนน ในช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโมเดิร์นนิสม์ (ราวทศวรรษที่ 1920)

อูแชน อัตเชต์ หรือชื่อเต็มๆ ว่า ชอง-อูแชน-โอกุสต์ อัตเชต์ ไม่ได้มีชีวิตอยู่เห็นความสำเร็จของตัวเอง ภาพถ่ายส่วนใหญ่ของเขา ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก โดย เบอเรอนีซ แอบบอตต์ ช่างภาพแนวสารคดีชาวอเมริกัน หลังจากที่ตัวเขาเองได้เสียชีวิตไปแล้ว ภาพเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินเซอร์เรียลิสม์ทั้งหลาย รวมทั้งจิตรกรแขนงอื่นๆ หลังจากนั้น

เขาเกิดเมื่อ 12 ก.พ. 1857 ที่เมืองลิบวร์น ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ชอง-อูแชน อัตเชต์ บิดาของเขา เป็นช่างสร้างรถม้า เสียชีวิตลงในปี 1862 ขณะที่มารดา กลารา-อเดอลีน (อูร์กลิเยร์) อัตเชต์ เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน เด็กชายกำพร้าพ่อแม่ต้องย้ายมาอยู่ในความปกครองของตายายในเมืองบอร์กโดซ์

หลังจากที่จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น อูแชน อัตเชต์ ก็เข้าไปทำงานกับพาณิชย์นาวี ปี 1878 เขาย้ายเข้ามายังกรุงปารีส มาสอบเข้าโรงเรียนการแสดง แต่เนื่องจากอูแชนยังคงรับราชการทหาร ทำให้ไม่อาจเข้าเรียนตรงเวลาได้ในที่สุดก็ถูกเชิญออก

กระนั้นเขายังคงปักหลักอยู่ในกรุงปารีส และเข้าร่วมกลุ่มกับนักแสดงละครเร่ ออกเดินทางไปเปิดการแสดงทั่วกรุงปารีสและเมืองใกล้เคียง จนพบรักกับนักแสดงสาว วาลองทีน เดอลาฟอสส์ กอมปานญง และกลายเป็นคู่ชีวิตกันจนวาระสุดท้าย

ในปี 1887 อูแชนต้องยุติชีวิตนักแสดงหลังจากติดเชื้อในกล่องเสียง เขาพยายามเบนเข็มไปวาดภาพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะหันมาจับกล้องถ่ายภาพในปี 1888 โดยเริ่มถ่ายเมืองอามียองส์และโบเวส์ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเป็นแห่งแรกๆ กระทั่งปี 1890 เขาย้ายกลับมายังกรุงปารีส ในฐานะช่างภาพมืออาชีพอย่างเต็มตัว ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพสารคดี เริ่มด้วยงานเก็บภาพเบื้องหลังการทำงานของจิตรกร สถาปนิก และนักออกแบบฉากละคร

อูแชน อัตเชต์ รับงานถ่ายภาพสารคดีให้พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเลต์ และหอจดหมายเหตุแห่งกรุงปารีส ในปี 1898 ที่นอกจากรับซื้อภาพถ่ายก่อนหน้านี้ของเขาเอาไว้แล้ว ยังมอบหมายให้เขาถ่ายภาพอาคารบ้านเรือนโบราณและถนนหนทางในกรุงปารีส เพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อูแชน อัตเชต์ เก็บผลงานของเขาเอาไว้อย่างดีที่ห้องใต้ดินในบ้านของตัวเอง นอกจากความสูญเสียเรื่อง เลออง ลูกชายของแฟนสาว วาลองทีน ที่เสียชีวิตจากการไปสู้รบที่แนวหน้าแล้ว ผลงานของเขาไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามเลย ยังคงอยู่ครบเซตแห่งบันทึกประวัติศาสตร์ โดยในปี 1920-1921 เขาขายฟิล์มทั้งหมดให้พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเลต์ และหอจดหมายเหตุแห่งกรุงปารีส ก่อนจะนำเงินทุนที่ได้รับ ไปถ่ายภาพสวนสวยของพระราชวังแวร์ซายล์ส เมืองแซงต์-คลูด์ และโซซ์ ชานกรุงปารีส รวมทั้งถ่ายภาพสารคดีชุดโสเภณีแห่งกรุงปารีส

อูแชน
เบอเรอนีซ แอบบอตต์ ช่างภาพสาวชาวอเมริกันที่ตอนนั้นทำงานให้กับจิตรกรเซอร์เรียลิสม์ชาติเดียวกัน แมน เรย์ ได้เจอกับอูแชน ในปี 1925 ซึ่งเป็น 2 ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เธอชื่นชอบผลงานของเขา นอกจากซื้อไปเป็นสมบัติส่วนตัวหลายภาพแล้ว ยังพยายามชักชวนให้คนอื่นเห็นดีเห็นงามด้วย โดยเฉพาะความพยายามเขียนถึง ช่วยจัดนิทรรศการ รวมทั้งนำไปรวมเล่มลงในหนังสือ ฯลฯ

ในช่วงเวลาที่อูแชนตัดสินใจยึดอาชีพช่างภาพ เมื่อทศวรรษที่ 1880 นั้น ยังไม่เคยมีอาชีพนี้มาก่อน จะมีก็แต่ช่างภาพมือสมัครเล่นเท่านั้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพทิวทัศน์ ดอกไม้รวมทั้งการร่วมงานกับศิลปินแขนงต่างๆ เรียกว่า เขาเป็นผู้บุกเบิกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคอลเลกชั่นกรุงปารีสเก่าของเขา

ภาพถ่ายกรุงปารีสยุคนู้น ถ่ายระหว่างปี 1897-1927 จากหลากหลายมุมมอง ทั้งถนนสายเล็กแคบ ตึกรามบ้านเรือนเก่าๆ ศูนย์กลางของเมือง ริมแม่น้ำแซน การตกแต่งภายในของอาคารต่างๆ ไปจนกระทั่งสวนหลังบ้านเล็กๆ ผ่านกล้องที่ทำด้วยกล่องไม้ขนาดใหญ่ โดยอาศัยเลนส์ชนิดที่เป็นเส้นตรง (Rapid Rectilinear Lens) ให้แสงผ่านเข้าไปยังกระจกขนาด 18x24 เซนติเมตรอย่างรวดเร็ว

บรรยากาศบ้านเมืองกรุงปารีสก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก่อนที่ยุคโมเดิร์นนิสม์จะทำให้อาคารโบราณหลายแห่งหายไปจากเมืองแสนโรแมนติก โชคดีที่อูแชนชื่นชอบรายละเอียดของการออกแบบอาคารบ้านเรือนโบราณเป็นการส่วนตัว ทำให้ไม่ลืมจะเก็บภาพช่องหน้าต่าง ราวบันได รวมทั้งรายละเอียดในการตกแต่งภายในอื่นๆ ผ่านแผ่นฟิล์ม (กระจก) เอาไว้แทบจะทุกซอกทุกมุม กลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่า

อูแชน ยังมีสไตล์ในการถ่ายภาพที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือ การถ่ายภาพในที่แสงน้อยด้วยการเปิดหน้ากล้องไว้นานๆ รวมทั้งการทิ้งพื้นที่กว้างๆ ในภาพให้เห็นบรรยากาศของบ้านเมืองแบบเต็มๆ มากกว่าจะจดจ่อถ่ายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ภาพของเขาส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่เวิ้งว้างร้างไร้ผู้คน นั่นคือสิ่งที่เขาตั้งใจ โดยเขามักจะแบกกล้องคู่ใจออกไปตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงผู้คนและรถรา แม้จะแสงน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะอาศัยการเปิดหน้ากล้องนานๆ ได้

“เป็นความตั้งใจของผม ที่จะเก็บบันทึกเมืองอันแสนยิ่งใหญ่นี้เอาไว้แบบที่มันเป็น” ภาพของเขากลายเป็นที่สนใจจากศิลปินยุคนั้นอย่าง อองเดร เดอแร็ง อองรี มาติสส์ และ ปาโบลปิกัสโซ และเมื่อ แมน เรย์ ขอตีพิมพ์ภาพของเขาใน La Revolution Surrealiste นิตยสารทางศิลปะ อูแชนก็บอกว่า ไม่ต้องใส่เครดิตชื่อของเขาลงไปหรอก “นี่เป็นแค่ภาพสารคดีบันทึกกรุงปารีสเท่านั้นเอง ไม่ใช่งานศิลปะอะไร”

แผ่นฟิล์มของอูแชนที่ยังคงหลงเหลือ กระจัดกระจายไป 2 ชุด 2,000 แผ่น อยู่ที่หอจดหมายเหตุ กรุงปารีส ขณะที่อีกส่วน เบอเรอนีซ แอบบอตต์ เป็นผู้ซื้อไป ทั้งสองผู้ครอบครอง มีการนำภาพออกมาจัดแสดงเป็นวาระๆ ครั้งแรกในปี 1929 ที่มีการจัดแสดงภาพของเขาที่งานนิทรรศการ Film und Foto Werkbund ในเมืองสตุตการ์ต เยอรมนี ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย กรุงนิวยอร์ก ก็จัดแสดงรูปภาพกรุงปารีสเก่า ของอูแชน ปี 1968 หลังได้รับมาจาก เบอเรอนีซ แอบบอตต์

เฮอร์มัน ซาฟเทิลเฟน ภาพวาดพันธุ์พฤกษ์


หอศิลป์แห่งชาติ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เพิ่งได้รับภาพวาดสีน้ำ อันเป็นภาพที่วาดเพื่อประกอบการศึกษาเรื่องพฤกษศาสตร์ จากปี 1683 ผลงานของ เฮอร์มัน ซาฟเทิลเฟน จิตรกรชาวดัตช์ (มีชีวิตระหว่าง ปี 1609-1685) ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก แอ็กเนส บล็อก โดยส่วนใหญ่เป็นภาพของพันธุ์ไม้ ดอกไม้หน้าตาแปลกๆ ที่ในขณะนี้หลงเหลือมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเพียง 27 ภาพเท่านั้น

ผลงานของเขาแสดงให้เห็นความละเอียดลึกซึ้งในการวาดภาพพันธุ์ไม้แต่ละชนิด ซึ่งผลงานเด่นในชุดภาพวาดสีน้ำ ประกอบการศึกษาพฤกษศาสตร์ ได้แก่ Sticky Nightshade (Solanum sisymbriifolium) ภาพวาดสีน้ำขนาดใหญ่ ที่แสดงให้เห็นภาพไม้ผลเล็กๆ ที่มีเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกาเท่านั้น ตอนนี้อยู่ในคอลเลกชั่น ไอ.คิว. ฟาน เรจเทเรน อัลเทน่า ของสถาบันประมูลคริสตีส์

เฮอร์มัน ซาฟเทิลเฟน เริ่มต้นอาชีพทางด้านศิลปะของเขาในอูเทรชต์ โดยทำทั้งวาดภาพ เขียนแบบ ภาพพิมพ์ไม้แนวแลนด์สเคป เขาสร้างสรรค์ชิ้นงานอย่างขยันขันแข็ง โดยมีผลงานภาพวาดกว่า 300 ภาพ กราฟฟิกเป็นพันๆ ชิ้น แถมด้วยภาพพิมพ์แลนด์สเคปอีกจำนวนหนึ่ง

ภาพวาดสีน้ำประกอบการศึกษาพฤกษศาสตร์ เป็นชิ้นงานที่เขาเริ่มลงมือทำในช่วงบั้นปลายชีวิต โดย แอ็กเนส บล็อก นักพฤกษศาสตร์และนักออกแบบจัดสวน เป็นผู้ปิ๊งไอเดียว่า น่าจะมีการบันทึกเรื่องราวของพันธุ์ไม้แปลกๆ หายากต่างๆ เอาไว้เป็นรูปภาพสวยๆ หากผลงานชุดนี้เป็นมากกว่านั้น โดยได้รับการยกย่องให้เป็นภาพชุดศึกษาพฤกษศาสตร์ ที่โดดเด่นที่สุดของศตวรรษที่ 17 ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางด้านพฤกษศาสตร์ ด้านการเป็นศิลปะสีน้ำแล้ว ยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของการควบรวมศาสตร์แห่งศิลปะเข้ากับวิทยาศาสตร์อีกด้วย

สำหรับงานศิลปะเชิงพฤกษศาสตร์ กลายเป็นแฟชั่นที่ฮิตในหมู่นักวิทยาศาสตร์ และแวดวงนักออกแบบสวนในยุโรป ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์นั้น การวาดภาพเชิงพฤกษศาสตร์แบบนี้กลายเป็นธรรมเนียมเลยก็ว่าได้

แอ็กเนส บล็อก เป็นนักสะสมดอกไม้ โดยเฉพาะประเภทพันธุ์หายากทั้งหลาย ซึ่งผลงานจัดสวนของเธอจะเต็มไปด้วยดอกไม้หน้าตาแปลกๆ ในคอลเลกชั่นของเธอมีพันธุ์ไม้มากกว่า 500 สายพันธุ์ อย่างเช่นที่เห็นในสวนที่เธอจัดที่เมืองไวเวอร์ฮอฟ ชานกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่เธอให้เฮอร์มัน มาเก็บบันทึกเป็นศิลปะสีน้ำแสนสวยสุดคลาสสิก ในปี 1680 ก่อนที่เขาจะลาจากโลกในเวลาเพียงไม่นาน โดยเขาได้วาดภาพสีน้ำเชิงพฤกษศาสตร์เอาไว้เป็นร้อยๆ รูป ทว่า เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียงแค่ 27 รูปเท่านั้น ที่บอกได้ว่าเป็นผลงานของเขา

นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ศึกษาผลงานภาพสีน้ำของเฮอร์มันในชุดนี้ บอกว่า เขาอาศัยเทคนิค ทรอมป์-เลยล์ (Trompe-l’oeil) หรือการสร้างภาพลวงตาให้ภาพดูเสมือนจริง อันเป็นเทคนิคที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยบาโรก (ราวศตวรรษที่ 16)

เฮอร์มัน ซาฟเทิลเฟน วาดให้ดอกหรือผลซ้อนทับกับก้านใบ อาศัยความตัดกันของแสงเงา รวมทั้งวาดการผลิออกของดอกไม้ ที่มีให้เห็นทั้งดอกตูม ผลิออก ค่อยๆ บาน จนบานเต็มที่ ทำให้เกิดมิติที่เสมือนจริง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้วาดภาพจากสิ่งที่เห็นในเชิงสติลล์ไลฟ์ เนื่องจากว่าเป็นภาพวาดสำหรับการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ จึงต้องให้ข้อมูลความเป็นพันธุ์ไม้ชนิดนั้นครบถ้วนในภาพเดียว เขาต้องดึงเอาดอกตูมจากต้นหนึ่ง ดอกเพิ่งบาน และบานเต็มที่จากอีกต้นหรือ 2-3 ต้น มารวมไว้ราวกับมันเป็นชิ้นเดียวกันอย่างเนียนๆ

หอศิลป์แห่งชาติสวีเดน ได้รับภาพนี้มาผ่านกองทุนวีรอส ฟันด์ นอกจากภาพ Sticky Nightshade ที่เพิ่งมีมาให้ชมที่นี่แล้ว ภาพเด่นๆ ในชุดนี้ยังมี Madagascar Potato ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่บริติช มิวเซียม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ทิวทัศน์แห่งเวนิซ ของ โจเซฟ มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์


ผลงานมาสเตอร์พีซของ จอห์น มอลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ ทำลายสถิติในการประมูลของสถาบันคริสตีในกรุงนิวยอร์ก เมื่อปี 2010 ด้วยมูลค่า 35,856,000 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากจิตรกรรมชื่อ Giudecca, La Donna della Salute และ San Giorgio อันเป็นภาพทิวทัศน์บริเวณแกรนด์ คาแนล ในกรุงเวนิซ จะเต็มไปด้วยความงามแล้ว ส่วนหนึ่งที่ราคาได้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้น ก็เนื่องเพราะภาพเขียนชุดดังกล่าวไม่ได้ออกสู่สายตาสาธารณชนมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

ผู้ที่นำภาพเขียนชุดนี้ออกมาขายให้สถาบันคริสตี ได้แก่ สมาคมเซนต์ฟรานซิส ออฟ อัสซีซี ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่เก็บงานสะสมของชาวยุโรปเอาไว้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 และคอลเลคชั่นเวนิซของ เจ.เอ็ม.ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ นับว่าสมบูรณ์แบบ ที่สุด โดยเป็นชิ้นงานที่เคยนำออกแสดงที่รอยัล อคาเดมี ออฟ อาร์ต ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1841

เวลานั้น Giudecca ได้รับคำชื่นชมมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของความรุ่มรวยแห่งสีสัน เป็นภาพเขียนที่โดดเด่น เต็มไปด้วยจินตนาการและชีวิตชีวา น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสถาบันคริสตีได้ภาพนี้มา และประกาศออกไปว่าจะมีการประมูล ก็ได้เสียงตอบรับจากบรรดานักสะสมศิลปะมากมาย "นี่เป็นคอลเลคชั่นภาพเขียนที่ยอดเยี่ยม" นิโคลัส ฮอลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะมาสเตอร์พีซนานาชาติของสถาบันคริสตีกล่าวอีกว่า คอลเลคชั่นดังกล่าวเป็นภาพเขียนที่หายาก "ไม่แปลกเลยที่จะทำลายสถิติการประมูลภาพเขียนทั้งหลาย นอกจากนี้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม เทอร์เนอร์ก็เป็นหนึ่งในสุดยอดจิตรกรชาวอังกฤษด้วย"

หลังจากที่นำออกแสดงที่รอยัล อคาเดมี ออฟ อาร์ต ในกรุงลอนดอนในปี 1841 ภาพเขียนสีน้ำมันชื่อ Giudecca ในชุดดังกล่าวของ เจ.อ็ม.ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ ก็เปลี่ยนเจ้าของไป 9 ครั้ง โดยครั้งแรกขายไปในราคา 250 กีนี ให้ เอลฮานาน บิกเนลล์ ในปี 1841 ก่อนที่จะถูกขายกลับมายังสถาบัน คริสตีในปี 1863 ในมูลค่า 1,650 กีนี

ต่อมาปี 1897 สถาบันคริสตีได้ขายให้เซอร์โดนัลด์ เคอร์รี ไปในราคา 6,800 กีนี และหลานของเขาได้ขายให้วิลเลียม วู้ด พรินซ์ ไปในปี 1959 ผ่านทางแอ็กนิว เอเยนซี โดยไม่มีใครทราบตัวเลขในการซื้อขาย และภาพดังกล่าวก็กลับมายังแอ็กนิวอีกครั้งในปี 1992 และถูกขายให้กับนักสะสมผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง โดยภายหลังได้นำไปบริจาคให้สมาคมเซนต์ฟรานซิส ออฟ อัสซีซี

โจเซฟ มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ นับว่าเป็นจิตรกรนักวาดภาพแลนด์สเคปที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก ผลงานของเขาโดดเด่นขนาดได้แสดงนิทรรศการในรอยัล อคาเดมีตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ทั้งชีวิตเขาทุ่มเทให้งานศิลปะ ต่างจากศิลปินรุ่นเดียวกันในบ้านเกิด นั่นเป็นสาเหตุให้มีจิตรกรชาวอังกฤษไม่มากมายนักที่มีชื่อสียงในระดับนานาชาติ

เทอร์เนอร์ เกิดในลอนดอนเมื่อปี 1775 บิดาของเขาเป็นช่างตัดผม มารดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็กมาก เขาได้รับการศึกษาในระบบเพียงเล็กน้อย ศิลปะเป็นอย่างเดียวที่เขามีโอกาสศึกษาด้วยตัวเอง พออายุเพียง 13 ปี เขาก็เริ่มเขียนรูปอยู่ที่บ้าน นำออกแสดงและขายในร้านตัดผมของบิดานั่นเอง

ขณะที่เทอร์เนอร์อายุ 15 ปี เขาก็ได้รับเกียรติอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยได้รับเชิญให้ไปแสดงงานที่รอยัล อคาเดมี และอีก 3 ปีต่อมาเขาก็มีสตูดิโอวาดภาพเป็นของตัวอง เขามีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในรอยัล อคาเดมีตั้งแต่อายุยังน้อยอีกด้วย โดยในปี 1802 เทอร์เนอร์ก็กลายเป็นสมาชิกเต็มตัวของรอยัล อคาเดมี ด้วยวัยเพียง 27 เท่านั้น ก่อนที่เขาจะออกเดินทางไปทั่วยุโรป

ความงดงามของทิวทัศน์ในกรุงเวนิซ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย โดยเขาไปที่นั่นเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของทะเลและท้องฟ้าในทุกฤดูกาล 

นอกจากนั้น เขายังต้องศึกษาเรื่องโครงสร้างทางภูมิศาสตร์และวาดออกมาเป็นรูปกราฟฟิก เขาอยู่ที่เวนิซเป็นปีๆ พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างสรรค์เทคนิคในการวาดภาพของตัวเองขึ้น โดยนำความรู้สึกแสนโรแมนติกและ เจิดจ้าของเขา ถ่ายทอดลงไปในภูมิประเทศที่เขาเห็นจริง จดออกมาเป็นชิ้นงานที่โดดเด่น

เมื่อเขาอายุมากขึ้นดูเหมือนจะเริ่มกลายเป็นคนเพี้ยนๆ และแปลกแยก เขาไม่เคยมีเพื่อนสนิท ในชีวิตของเขามีแต่บิดา ซึ่งเขาอยู่ด้วยเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี เทอร์เนอร์ไม่อนุญาตให้ใครอยู่ด้วยเวลาที่เขาวาดภาพ และพักหลังๆ เขาก็เริ่มใช้ชีวิตออกห่างจากสังคมเรื่อยๆ เขาปฏิเสธที่จะเข้าประชุมในรอยัล อคาเดมี บางคนแทบไม่เจอเขาเป็นเดือนๆ เขายังคงเดินทาง...คนเดียว และจัดนิทรรศการภาพเขียนเป็นครั้งคราว แต่มักปฏิเสธที่จะขายรูป คราวใดที่เขาถูกตื๊อให้ขายไปสักรูปหนึ่ง เขาจะดูหดหู่ไปเป็นสัปดาห์ทีเดียว

ในปี 1850 เทอร์เนอร์แสดงงานภาพเขียนครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นอยู่ดีๆ เขาก็หายไปจากบ้าน คนดูแลบ้านพยายามตามหาเขาอยู่เป็นเดือนๆ ในที่สุดก็ไปพบเขาอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในย่านเชลซี และป่วยหนักโดยไม่มีใครดูแล

โจเซฟ มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ เสียชีวิตเพียง 1 วันหลังจากที่มีคนไปพบ ในปี 1851 คำสั่งเสียก่อนตายสำหรับเขาที่เรียกตัวเองว่า "ศิลปินหมดสภาพ" ก็คือ ภาพเขียนของเขาทุกชิ้นจะถูกยกให้เป็นสมบัติของประเทศอังกฤษ และขอให้ฝังร่างของเขาไว้ในโบสถ์เซนต์ปอล

แม้ว่าเทอร์เนอร์จะโด่งดังจากผลงานภาพเขียนสีน้ำมันจำนวนมาก หากเขายังได้รับยกย่องให้เป็น ผู้บุกเบิกการวาดภาพแลนด์สเคปด้วยสีน้ำ โดยมี ผลงานสำคัญๆ อย่าง Calais Pier, Dido Building Carthage, Rain, Steam and Speed, Burial at Sea, และ The Grand Canal, Venice

วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เอล เกรโก-โกยา ยอดศิลปะสเปนกลางลอนดอน

หากชื่นชอบผลงานมาสเตอร์พีซของจิตรกรชาวสเปน นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปราโด ในกรุงมาดริด ประเทศเจ้าตำรับแล้ว ก็เห็นจะต้องมาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เดอะ โบว์ส (The Bowes Museum) ในปราสาทบาร์นาร์ด ที่เมืองเดอร์แฮม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ ซึ่งระหว่างวันนี้-7 ม.ค. 2018 ได้ขนเอาคอลเลกชั่นสุดพิเศษของจิตรกรสเปนมาให้ชมกัน ณ หอศิลป์วอลเลซ คอลเลกชั่น กลางกรุงลอนดอน (Wallace Collection, London) กับนิทรรศการ El Greco to Goya - Spanish Masterpieces from The Bowes Museum

ในนิทรรศการนี้ ขนมาตั้งแต่สุดยอดผลงานของ “เดอะ กรีก” เอล เกรโก หรือ โดเมนิคอส เตโอโตโคปุลอส (มีชีวิตระหว่างปี 1541-1614) อย่าง The Tears of St Peter ไปจนถึง Interior of a Prison ของฟรานซิสโก เด โกยา (1746–1828) รวมทั้ง Mariana of Austria, Queen of Spain ของเคลาดิโอ โคเอลโย (1642–1693) และมาสเตอร์พีซของจิตรกรที่อาจชื่อไม่คุ้นหูคนอื่นๆ ซึ่งนับเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางศิลปะสเปน จากศตวรรษที่ 15-19 ได้เป็นอย่างดี เช่น Still life with Asparagus, Artichokes, Lemons and Cherries ของ บลาส เด เลเดสมา ที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงศิลปะสเปนราวปี 1602-1614 โดยไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาของเขาเลยด้วยซ้ำ มีเพียงผลงานจำนวนน้อยที่คงเหลือเป็นหลักฐานการมีอยู่ของเขา

“ต้องบอกว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เดอะ โบว์ส เป็นศูนย์รวมของศิลปะมาสเตอร์พีซของจิตรกรสเปนอย่างแท้จริง” ซาเวียร์ เบรย์ ผู้อำนวยการหอศิลป์วอลเลซ คอลเลกชั่น บอก เป็นเพราะว่าผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ อย่าง จอห์น และโจเซฟิน โบว์ส ชายชาวอังกฤษ ผู้สมรสกับภริยาชาวฝรั่งเศส มีใจรักในศิลปะ เธอตัดสินใจขายปราสาทที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดา (เอิร์ลแห่งสตราทมอร์ ที่ 3) เพื่อนำมาซื้อภาพเขียนล็อตใหญ่ โดยเฉพาะภาพของเอล เกรโก และฟรานซิสโก เด โกยา ซึ่งมีบันทึกเอาไว้ว่า ซื้อมาจากคอลเลกชั่นของ เคาน์เตส เด ควินโต ในสเปน ราวปี 1862

สำหรับ ซาเวียร์ เบรย์ ซึ่งอดีตเคยเป็นภัณฑารักษ์จิตรกรรมสเปน ณ หอศิลป์แห่งชาติอังกฤษ กรุงลอนดอน (National Gallery, London) บอกต้องยอมรับเลยว่า จะหาคอลเลกชั่นภาพพอร์เทรตผลงานของฟรานซิสโก เด โกยา ที่ดีกว่าที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เดอะ โบว์ส ไม่มีอีกแล้ว โดยที่นี่มีกระทั่งภาพพอร์เทรตของ ฆวน อันโตนิโอ เมเลนเดซ บัลเดส กวี นักกฎหมาย และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อนสนิทของจิตรกรดังรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ผลงานของ “เดอะ กรีก” เอล เกรโก ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เดอะ โบว์ส ก็ต้องบอกว่า รวมสุดยอดของผลงานที่ดีที่สุดไว้ในที่เดียว ไม่กระจัดกระจายเหมือนในสเปนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ The Tears of St Peter ซึ่งเป็นผลงานไฮไลต์ของนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงที่หอศิลป์วอลเลซ คอลเลกชั่นนี้ ที่เอล เกรโก วาดเอาไว้ถึง 6 เวอร์ชั่น “สำหรับผลงาน The Tears of St Peter พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เดอะ โบว์ส นับเป็นเวอร์ชั่นแรกที่เขาวาด” ผู้อำนวยการหอศิลป์วอลเลซ คอลเลกชั่น บอก

นับเป็นครั้งแรกที่ผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ได้มาปะทะสังสรรค์กับผลงานของศิลปินเล็กๆ แต่สุดยอดไม่แพ้กัน แถมยังเปิดโอกาสให้ชมกันฟรีๆ ไปจนถึงต้นปีหน้า กลางกรุงลอนดอนกันเลยทีเดียว โดยวอลเลซ คอลเลกชั่น ต้องการให้ได้บรรยากาศเหมือนกับได้ไปเยือนปราสาทบาร์นาร์ด ในเดอร์แฮมจริงๆ จึงได้จัดแสดงต่างจากนิทรรศการอื่นๆ แบบให้ความรู้สึกเหมือนเดินชมภาพเขียนในบ้าน นอกจากนี้ ยังจัดแสงแบบสลัวๆ ให้ได้ชมกันตามอารมณ์ภาพ ที่ส่วนใหญ่บอกเล่าเรื่องราวอิงคริสต์ศาสนา รวมทั้งเป็นภาพในโทนขรึมขลังอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การแสดงงานครั้งนี้ต้องการนำเสนอคุณค่าทางศิลปะเป็นหลัก แม้ว่าผลงานจำนวนมากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ก็ตาม ดังเช่น ผลงานของ โฆเซ อันโตลิเนซ (1635-1675) The Immaculate Conception ที่ซาเวียร์ เบรย์ บอกว่า ให้มองข้ามเรื่องความเลื่อมใส ไปโฟกัสที่ความเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยม

เช่นเดียวกับ The Tears of St Peter ในแง่ของศิลปะนั้น ไม่ได้คำนึงว่าเป็นเรื่องราวของนักบุญเปโตร ผู้ทรงสถิตอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า หรือผู้ซึ่งตรึงกุญแจสวรรค์ ทว่าเป็นเรื่องขององค์ประกอบภาพที่มอบอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ นักบุญเปโตรในเสื้อผ้าสีน้ำเงินเข้มตัดด้วยสีเหลืองมัสตาร์ด กับสีหน้าของท่านที่เต็มไปด้วยน้ำตา บนฉากหลังขมุกขมัวกับพายุที่โหมกระหน่ำ

“ผมว่าภาพนี้มาอยู่ในยุคแอบสแทรกต์ อิมเพรสชันนิสม์ได้อย่างเนียนๆ เลย” ซาเวียร์ เสริม

พอร์เทรตของ ฆวน อันโตนิโอ เมเลนเดซ บัลเดส แขวนอยู่ตรงข้ามกับ The Tears of St Peter ในนิทรรศการฯ โดย ฟรานซิสโก เด โกยา วาดภาพเพื่อนกวี-นักกฎหมายแก้มสีชมพูระเรื่อ ปากของเขาเผยอเล็กน้อย เหมือนต้องการจะพูดอะไรสักอย่าง นับเป็นภาพเขียนที่แตกต่างไปจากภาพอื่นๆ ของโกยา ที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะภาพไฮไลต์อย่าง Interior of a Prison ฉากตอนในคุกที่ดูไม่น่าอภิรมย์ กับภาพเงาเลือนรางของนักโทษที่ดูคล้ายปิศาจผอมโซ โดนตรึงอยู่ในโซ่ตรวน ขณะที่ภาพอื่นๆ ทั้งภาพเกี่ยวกับการสู้วัวกระทิง, ไฟไหม้โรงละคร รวมทั้งภาพนักเดินทาง ก็แตกต่างไปคนละอารมณ์

แน่นอนว่า ซีรี่ส์ผลงานของโกยา มากันครบถ้วนแบบยากที่จะเห็นที่ไหน ทั้งภาพพิมพ์ชุด Caprichos ไปจนถึง Black Paintings อันเป็นซีรี่ส์สุดท้ายก่อนที่เขาจะจบชีวิตลง

เอดวาร์ด มุงค์ ผลงาน 6 ทศวรรษ ที่ เดอะ เม็ต บรอยเออร์

Self Portrait: Between the Clock and the Bed (1940-43) 
เอดวาร์ด มุงค์ จิตรกรชาวนอร์วีเจียน (มีชีวิตระหว่างปี 1863-1944) สร้างชื่อเสียงในช่วงต้นๆ ของอาชีพจิตรกรของตัวเอง ด้วยภาพเขียนแนวแปลกๆ หลอนๆ เนื่องเพราะอิทธิพลแห่งยุคโมเดิร์น ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ในราวปี 1913 ซึ่งจะว่าไป เอดวาร์ด ตอนนั้นก็อายุอานาม 50 ปีไปแล้ว และตลอดเส้นทางในอาชีพ เขามักจะกลับไปนำเอาแรงบันดาลใจเก่าๆ มาสร้างความหลอนในรูปแบบใหม่อยู่เสมอ

Madonna (1894-1895) 
ภาพเซลฟ์พอร์เทรต Between the Clock and the Bed (1940-43) ผลงานช่วงบั้นปลายชีวิตจิตรกรเอกของนอร์เวย์ ซึ่งดูเหมือนเป็นตำนานบทใหม่ในผลงานศิลปะของเขา และตอนนี้ได้กลายมาเป็นชื่อของนิทรรศการ Edvard Munch: Between the Clock and the Bed จัดแสดงอยู่ที่ เดอะ เม็ต บรอยเออร์ (The Met Breuer) แกลเลอรี่สาขาของเดอะ เม็ต หรือ เดอะ เมโทรโพลิแทน มิวเซียม (The Met - The Metropolitan Museum) กรุงนิวยอร์ก สหรัฐ โดยนำเอาผลงาน 43 ชิ้น ตลอดช่วงชีวิตการสร้างสรรค์ผลงาน 6 ทศวรรษของเขา ซึ่งรวมทั้งภาพเซลฟ์พอร์เทรต 16 ชิ้นที่หาชมยาก และไม่เคยมีการจัดแสดงในสหรัฐมาก่อน

การจัดแสดงภาพในนิทรรศการ Edvard Munch: Between the Clock and the Bed แสดงให้เห็นภาพที่ เอดวาร์ด มุงค์ วาดแล้วนำกลับมาวาดใหม่ในเวอร์ชั่นต่างๆ ภาพไหนวาดไว้มากที่สุดก็จะจัดเอาไว้เป็นกลุ่มเป็นก้อนใหญ่ในนิทรรศการ ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นศิลปินที่ฉีกกฎเกณฑ์ของศตวรรษที่ 20 ในฐานะจิตรกรผู้โดดเด่นแห่งยุคซิมโบลิสม์ (Symbolism) หรือยุคศิลปะสัญลักษณ์ อย่างชัดเจน

แนวคิดและใจความสำคัญของผลงานศิลปะชิ้นสุดท้ายของ เอดวาร์ด มุงค์ สามารถที่จะเชื่อมโยงกลับไปถึงจิตรกรรมในช่วงก่อนหน้าของเขาได้มากมาย โดยในนิทรรศการได้จัดแสดงภาพเขียนหลายๆ ยุคเอาไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้เข้าชมสามารถจะจับเอาเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ประกอบภาพ รวมทั้งเทคนิควิธีการที่ไม่เหมือนใครของจิตรกรผู้เอกอุ

ภาพแรกที่เราจะได้เห็นเมื่อเข้าไปในนิทรรศการ ไม่ใช่ภาพดังอย่าง The Scream (1893) Madonna (1894-1895) หรือ Puberty (1895) หากเป็นภาพจากช่วงสุดท้ายในชีวิตของเขา ที่นำมาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการ Self Portrait: Between the Clock and the Bed ซึ่งบอกเล่า “มู้ด แอนด์ โทน” ของนิทรรศการที่จะได้ชมต่อไปนี้ว่า ไม่ธรรมดา และแตกต่างจากการรวบรวมผลงานของเอดวาร์ด มุงค์ ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

The Scream (1893) 
ภาพเขียนชิ้นนี้แสดงให้เห็นห้องนอนของจิตรกรนอร์วีเจียน ที่มีประตูเปิดไปสู่สตูดิโอวาดภาพของเขาที่ด้านหลัง ตัวของศิลปินเองยืนตรงทำหน้าตาไร้อารมณ์ ระหว่างนาฬิกาตั้งพื้นแบบโบราณ กับเตียงนอน ภาพดูไม่บ่งบอกกาลเวลา เหมือนกับว่าเล่าเรื่องทั้งชีวิตของเอดวาร์ด มุงค์ ที่วนเวียนอยู่ในห้องๆ นี้ และสตูดิโอของเขา

ขณะที่ภาพเซลฟ์พอร์เทรตอีก 15 ภาพ ก็นับว่าเป็นกลุ่มภาพที่ เอดวาร์ด วาดอยู่บ่อยๆ โดยมีตั้งแต่ภาพวัยหนุ่ม ไปจนถึงวัยชรา ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นการวาดเพื่อพิเคราะห์ความเป็นตัวเอง (Self-scrutinies) ในหลากหลายแง่มุม โดยส่วนตัวแล้ว เอดวาร์ด มุงค์ บอกว่า ภาพเหล่านี้เป็นการบ่งบอกจุดเปลี่ยนของชีวิต เป็นอัตชีวประวัติ เป็นการสารภาพบาป เป็นการศึกษาสภาพทางจิต อีกทั้งยังเป็นวรรณกรรมแห่งชีวิตของเขาอีกด้วย

Puberty (1894)
นอกจากภาพเซลฟ์พอร์เทรตจำนวนมากที่ไม่เคยจัดแสดงในสหรัฐมาก่อนแล้ว ยังมีอีก 7 ภาพจิตรกรรมของจิตรกรดังชาวนอร์วีเจียน ที่ชาวอเมริกันยังไม่เคยได้ชื่นชมเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ Lady in Black (1891) Puberty (1894) Jealousy (1907) Death Struggle (1915) Man with Bronchitis (1920) Self-Portrait with Hands in Pockets (1925-26) และ Ashes (1925)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลงานชิ้นสำคัญ Sick Mood at Sunset, Despair (1892) ที่ถือว่าเป็นปฐมบทของผลงานเลื่องชื่อที่สุดของเขา และเป็นสุดยอดผลงานที่น่าจดจำที่สุดในยุคศิลปะสมัยใหม่ อย่าง The Scream ซึ่งออกมาจัดแสดงนอกยุโรปเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้นในหน้าประวัติศาสตร์

Sick Mood at Sunset, Despair (1892)
นิทรรศการ Edvard Munch: Between the Clock and the Bed ได้นำเอาผลงานจากคอลเลกชั่นส่วนตัวของ เอดวาร์ด มุงค์ จาก มุงค์ มิวเซียม (Munch Museum) ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ รวมทั้งสถาบันศิลปะ และจากคอลเลกชั่นส่วนตัวของนักสะสมจากทั่วโลกมาจัดแสดงให้ครบสมบูรณ์ ทำให้เห็นความสามารถ ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะที่แท้ของจิตรกรชื่อดัง รวมทั้งวิธีคิดสุดแสนจะเสรีนิยมของเขาผ่านผลงานแต่ละชิ้น

ไปชมได้ตั้งแต่วันนี้-4 ก.พ. ศกหน้า ณ เดอะ เม็ต บรอยเออร์ ถนนเมดิสัน กรุงนิวยอร์ก สหรัฐ

Salvator Mundi ภาพแพงที่สุดในโลก

เพิ่งทุบสถิติ กลายเป็นภาพเขียนราคาแพงที่สุดในโลก จากการประมูลที่สถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก ไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง สำหรับภาพเขียน Salvator Mundi (Saviour of the World) ของยอดจิตรกรผู้เอกอุแห่งยุคเรอเนสซองซ์ เลโอนาร์โด ดา วินชี กับยอดประมูล 450.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท) แซงราคาที่เคยมีคนประมูลภาพ Interchange ของ วิลเลม เด คูนิง ไปเมื่อปีที่ผ่านมาแตกกระจาย

จะว่าไปแล้ว ขึ้นชื่อว่าเป็นภาพเขียนของเลโอนาร์โด ดา วินชี ก็แทบจะหามูลค่าไม่ได้อยู่แล้ว โดย Salvator Mundi เป็นหนึ่งในภาพเขียนของเขาที่คนคิดว่าสูญหายไปแล้ว ทว่า ได้กลับหวนคืนสู่แวดวงศิลปะอีกครั้ง ในปี 2005หลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นภาพเขียนแท้ๆ ของเลโอนาร์โด ดา วินชี จึงมีการบูรณะ และได้นำออกแสดงโชว์ครั้งแรกในปี 2011

Salvator Mundi เป็นภาพพระเยซูในฐานะผู้กอบกู้โลก คาดว่า เลโอนาร์โด ดา วินชี วาดขณะที่ทำงานอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส (ระหว่างปี 1506-1513) ภายหลังได้ตกเป็นสมบัติของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยมีบันทึกเป็นหลักฐานว่า เป็นหนึ่งคอลเลกชั่นศิลปะส่วนพระองค์ในปี 1649 ต่อมาได้ตกเป็นของดยุกแห่งบักกิงแฮมและนอร์มันบี ในปี 1763

Salvator Mundi เผยโฉมออกมาบนโลกนี้อีกครั้ง ในปี 1900 เมื่อ ฟรานซิส คุ้ก (ไวส์เคาน์คนแรกของมอนเซอร์ราเต) นักสะสมชาวอังกฤษ ออกมาซื้อเอาไว้เป็นคอลเลกชั่นส่วนตัว สภาพของภาพเขียนตอนนั้นเสียหายหนักมาก จากความพยายามในการบูรณะแบบไม่มีความรู้ ภายหลังในปี 1958 ทายาทของฟรานซิส คุ้ก จึงขายภาพเขียนนี้ไปในราคาเพียง 45 ปอนด์เท่านั้น

ในปี 2005 ภาพ Salvator Mundi ตกเป็นของสมาคมผู้ค้าศิลปะ โดยหนึ่งในสมาชิกสมาคม คือ โรเบิร์ต ไซม่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะโอลด์ มาสเตอร์ส (Old Masters) พวกเขารู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมาก ที่เห็นสภาพของภาพเขียนล้ำค่าของจิตรกร ที่อาจเรียกได้ว่าเอกอุที่สุดในโลกชิ้นนี้ โดยถึงกับบรรยายว่า เป็นความวินาศ ตกต่ำ และมืดมนถึงขีดสุด

เมื่อ Salvator Mundi ตกอยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญ ทำให้การบูรณะภาพเขียนล้ำค่า เพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพที่คงเดิม เมื่อครั้งที่จิตรกรตัวจริงวาดเอาไว้มากที่สุดได้เริ่มต้นขึ้น จนสามารถอวดโฉมในนิทรรศการ Leonardo da Vinci : Painter at the Court of Milan (ปี 2011-2012) ณ หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้ ด้วยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะโอลด์ มาสเตอร์ส และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เลโอนาร์โด ดา วินชี ทั้งหลาย ตั้งแต่ โรเบิร์ต ไซม่อน, มาร์ติน เคมพ์ และวอลเทอร์ ไอแซกสัน

ภาพเขียนบุตรของพระเจ้าผู้กอบกู้โลก มี ดีมิตรี ไรโบลอฟเลฟ ซื้อผ่าน อีฟส์ บูวิเยร์ นักค้าศิลปะชาวสวิสไปที่ราคา 127.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013 ก่อนที่จะนำมาออกประมูลจนกลายเป็นภาพเขียนราคาแพงที่สุดในโลกไปในที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อชั้นของความเป็น เลโอนาร์โด ดา วินชี นั้นมีส่วนเป็นอย่างมาก ที่ทำให้มูลค่าของงานศิลปะชิ้นนี้พุ่งทะลุเพดานประมูล แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ทรรศนะทางศิลปะถึงคุณค่าของภาพ Salvator Mundi ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ในผลงานของจิตรกรผู้เอกอุเอาไว้...


ลูกแก้ว

หากภาพนี้วาดราวๆ ปี 1500 เลโอนาร์โด ก็น่าจะอายุราวๆ 48 ปี ซึ่งวอลเทอร์ ไอแซกสัน ผู้เขียนอัตชีวประวัติของ เลโอนาร์โด ดา วินชี บอกว่า เป็นช่วงที่เขากำลังมุ่งมั่นกับการศึกษาเรื่องเลนส์ การหักเหของแสง และวิชาฟิสิกส์ ซึ่งมักจะมาปรากฏในภาพเขียนด้วย

การหักเหของแสงผ่านลูกแก้วคริสตัล น่าจะเกิดแสงเงาลงบนเสื้อผ้าด้านหลัง เช่นเดียวกับเงาของมือ ก็น่าจะปรากฏลงบนลูกแก้ว รายละเอียดที่ไม่เหมือนจริงตรงนี้ ดูคล้ายเป็นจุดบอดของภาพเขียนหากไม่ได้พะยี่ห้อเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่วอลเทอร์ ไอแซกสัน บอกว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นการแสดงออกถึงปาฏิหาริย์แห่งพระเยซูคริสต์


ตำแหน่งร่างกาย

ไม่เคยมีภาพเขียนของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ภาพไหน ที่วาดแบบให้หันหน้าตรง อยู่ตรงกลางภาพ เป็นรูปติดบัตรแบบนี้มาก่อนเลย ลักษณะการวางตำแหน่งร่างกายที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย เป็นเครื่องหมายการค้าของจิตรกร โดยเฉพาะแบบที่ดูลึกลับ มีการเอี้ยวคอ เอียงไหล่ กลับไม่ปรากฏในภาพนี้ จนถึงขั้นที่มีการลือกันไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องไม่ใช่ผลงานของเลโอนาร์โดอย่างแน่นอน คาดว่าเป็นผลงานของผู้ช่วยที่ทำงานเคียงข้างเขา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้มีการพิสูจน์เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เป็นผลงานของยอดศิลปินเรอเนสซองส์หนึ่งเดียวกันนี้อย่างแน่นอน ไมเคิล ดาลีย์ ผู้อำนวยการของอาร์ตวอทช์ แห่งสหราชอาณาจักร อธิบายว่า การจัดวางตำแหน่งร่างกายบุตรของพระเจ้าใน Salvator Mundi ให้เป็นแบบหน้าตรงเรียบๆ แบนๆ แสดงความเป็น “รูปบูชา” ซึ่งต่างจากวิธีการวาดภาพนาย/นางแบบของเลโอนาร์โดโดยสิ้นเชิง


ที่มาที่ไป

ภาพวาดน้อยกว่า 20 ชิ้น ที่ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นผลงานที่แท้จริงของ เลโอนาร์โด ดา วินชี และก่อนหน้านี้ Salvator Mundi ไม่ได้อยู่ในรายชื่อนั้นอยู่เป็นเวลานาน ความสับสนส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่ เวนเซสลอส ฮอลลาร์ จิตรกรจากศตวรรษที่ 17 ได้สร้างสรรค์ภาพพิมพ์ก๊อบปี้ โดยอาศัยภาพนี้เป็นแบบออกมา

หลังจากสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ภาพนี้ก็อันตรธานหายไป ก่อนจะโผล่มาอีกครั้งในปี 1900 ซึ่งตอนนั้นกลายเป็นว่า Salvator Mundi ภาพนี้วาดโดยแบร์นาร์ดิโน ลุยนิ ผู้ติดตามของเลโอนาร์โด อีกที กว่าจะเคลียร์สถานะตัวเองได้ ก็ปาเข้าไปในปี 2005 ที่ภาพผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ว่า วาดขึ้นในขณะที่เลโอนาร์โด ยังมีชีวิตอยู่ รวมทั้งเทคนิควิธีการวาดที่ไม่เหมือนใคร เช่น เม็ดสีที่ใช้ การเลือกแผ่นวอลนัทมาวาดภาพ หรือการนิยมใช้นิ้วหรือส่วนหนึ่งของร่างกายกดลงไปในภาพ ฯลฯ


การบูรณะภาพ

แม้จะได้รับการพิสูจน์แล้วว่า Salvator Mundi เป็นผลงานที่แท้ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ทว่าก่อนปี 2011 นั้น ภาพนี้แทบไม่เหลือสภาพความเป็นภาพเขียนอันทรงคุณค่า ถึงขนาดผ่านการขายที่ราคาเพียง 45 ปอนด์มาแล้ว

การปรากฏขึ้นในโลกศิลปะอีกครั้งในปี 2005 นั้นแทบไม่เหลือคราบของความเป็นผลงานของยอดจิตรกรแห่งยุคเรอเนสซองซ์ ต้องขอบคุณผู้เชี่ยวชาญทุกท่าน และที่สุดของที่สุด คือ ผลงานของนักบูรณะภาพเขียน ดิแอนน์ ดอว์เยอร์ โมเดสตินี ผู้เชี่ยวชาญการบูรณะภาพเขียนโอลด์ มาสเตอร์ส ที่ไม่เพียงอาศัยความเชี่ยวชาญบูรณะภาพตรงหน้าเท่านั้น หากต้องศึกษาเทคนิคและฝีแปรงของจิตรกรแต่ละท่านอย่างละเอียด

ดิแอนน์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลักการของเธอ คือ ต้องไม่ทำให้รู้สึกว่า ไปทำลายต้นฉบับของภาพเขียน ต้องไม่เอาตัวเองใส่ลงไปในนั้น “ฉันจึงไม่ทำอะไรมากมาย เพราะภาพเขียนของโอลด์ มาสเตอร์ส ต้องคงความเก่าของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนไหนที่แตกหักก็ต้องปล่อยทิ้งเอาไว้อย่างนั้น หากไปทำให้เนี้ยบก็จะกลายเป็น ‘ภาพทำใหม่’ ไม่ใช่การ ‘บูรณะ’ ภาพเขียน”

ท้ายที่สุดแล้ว Salvator Mundi ก็คล้ายกับการค้นพบ Mona Lisa อีกภาพหนึ่งก็ไม่ปาน

วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560

อันโตนิโอ เกาดี้ บันดาลใจจากธรรมชาติ

อันโตนี ปลาซิด กูอิลเยม เกาดี้ อี กอร์เนต หรือที่รู้จักกันดีใน แวดวง ศิลปะสถาปัตย์ ภายใต้ชื่อ อันโตนิโอ เกาดี้ สถาปนิกชาวคาตาลัน และ ศิลปินแห่งยุคโมเดิร์นนิสม์ (อาร์ตนูโว) ผู้มีเอกลักษณ์ในผลงานการออกแบบที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

ผลงานการสร้างสรรค์ของเขาทุกชิ้น ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกโลก” ของ องค์การยูเนสโก โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงบาร์เซโลนา แคว้นกาตาโลเนีย ประเทศสเปน

อันโตนิโอ เกาดี้
ด้านหน้าสกราดา ฟามีเลีย
อันโตนี เกิดที่เมืองตาราโกนา ทางตอนใต้ของแคว้นกาตาโลเนียเมื่อปี 1852 เขาได้รับการศึกษาโดยตรงทางด้านสถาปัตย์ที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมในบาร์เซโลนา (Escola Tecnica Superior d’Arquitectura) ระหว่างปี 1879-1877 แม้ว่าเกรดเฉลี่ยในวิชาการด้านสถาปัตย์จะอยู่ในระดับกลางๆ ทว่า ที่ทำคะแนนได้สูงลิ่วก็คือ ผลงานด้านการวาดภาพ และไอเดียในการสร้างสรรค์โปรเจกต์ต่างๆ

เขาก็เริ่มสร้างชื่อในการเป็นสถาปนิกชั้นเอก ตั้งแต่ที่ยังเป็นนักศึกษา เริ่มจากปี 1878-1879 อันโตนีได้สร้างชื่อในการออกแบบโคมไฟประดับจัตุรัสเรอิยัล (Placa Reial) กลางกรุงบาร์เซโลนา และในปี 1878 ผลงานการออกแบบบริษัทผลิตถุงมือ โกเมลยา ก็ได้ไปออกงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส

นั่นคือเส้นทางที่ทำให้นักอุตสาหกรรม อย่าง เคานต์เออูเซบี กูเอลล์ ได้รู้จักสถาปนิกดาวรุ่งคนนี้ และกำลังจะกลายเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญในกาลต่อมา

ในปี 1878-1882 เขาออกแบบอาคารไม้ให้โรงงานทอผ้า โอเบรรา มาตาโรเนนเซ (Obrera Mataronense) ในมาตาโร ทว่า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับการสร้างออกมาเป็นอาคารจริง ในงาน ออกแบบดังกล่าว อันโตนี ได้นำเอาลักษณะของ เสา/หลังคาโค้งรูปไข่ (Parabolic Arches) มาใช้เป็นครั้งแรกในอาคารไม้

สกราดา ฟามีเลีย
คาซา วิเชนส์ (Casa Vicens) บ้านของครอบครัววิเชนส์ในบาร์เซโลนา ลักษณะเป็นอาคารสไตล์แขกมัวร์ ออกแบบและสร้างขึ้นระหว่างปี 1883-1885 ในช่วงเดียวกันนั้น เขายังรับงานที่ วิลล่าเอล กาปริโช (Villa El Capricho) ในแคว้นโกมิลยาส ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปนด้วย จึงไม่แปลกที่อาคารทั้งสองจะมีแบบสไตล์แขกมัวร์คล้ายๆ กัน

ในปี 1884 ผลงานชิ้นแรกที่เขาสร้างสรรค์ให้เคานต์เออูเซบี กูเอลล์ ได้แก่ ฟินกา กูเอลล์ (Finca Guell) ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามของโซนา อูนิเวร์ซิตาเรีย (Zona Universitaria) ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงตั้งแต่หน้าประตูโลหะไปจนกระทั่งสวนสวย และสถาปัตยกรรมอาคารด้านใน

อันโตนี เริ่มต้นผลงานสุดอลังการ และกลายเป็นสถานที่ที่ใครไปบาร์เซโลนาต้องไปเยือน นั่นคือ สกราดา ฟามีเลีย (Sagrada Familia หรือ The Sacred Family) วิหารที่ศักดิ์สิทธิ์แบบที่มีห้องใต้ดินสำหรับฝังพระศพของครอบครัวพระคริสต์ ตามความเชื่อของคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก โดย ฟรานซิสโก เดล บิลลาร์ หยุดทำไปเฉยๆ อันโตนีจึงเข้ามารับงานต่อ

ปาเลา กูเอลล์ (Palau Guell) ทาวน์เฮาส์ของครอบครัวกูเอลล์ กลางกรุงบาร์เซโลนา ได้รับการออกแบบและสร้างอย่างอลังการในปี 1885-1889 ระหว่างนั้นเขายังไปสร้างพระราชวังสไตล์ โกธิก เอปิสโกปาล พาเลซ (Episcopal palace) ที่ อัสตอร์กา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนด้วย

ผลงานชิ้นต่อมานับว่าแตกต่างไปจากที่ผ่านๆ มาอย่างสิ้นเชิง กับ โกเลจิโอ เตเรเซียโน (Colegio Teresiano หรือโรงเรียนเซนต์เทเรซา) ซึ่งนับเป็นการออกแบบอย่างเรียบง่าย ไม่มีลวดลายวิจิตรพิสดารเช่นที่เคย หากเป็นการเล่นกับเส้นสายโครงสร้างตัวอาคารมากกว่า

ในยุคหลังๆ ของอันโตนิโอ เกาดี้ เขามุ่งมั่นกับการรับใช้ศาสนา โดยเลิกรับงานอย่างอื่น หันไปทุ่มเทให้คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก โดยเฉพาะผลงานที่สร้างไม่ยอมเสร็จ อย่าง สกราดา ฟามีเลีย ซึ่งเขาออกแบบเอาไว้ให้มีหอระฆังถึง 18 แห่ง 12 หอที่สร้างเสร็จแล้ว เพื่อระลึกถึงสาวก 12 คนของพระเยซู ส่วนอีก 4 หอระฆังสำหรับ 4 ผู้เผยพระวจนะของพระองค์ ทั้ง 16 หอระฆังสูง 100 เมตร ออกแบบให้เชื่อมโยงกับโถงใหญ่ ที่จะนำมาสู่หอระฆังคู่ซึ่งสูงที่สุดบริเวณด้านหน้า (170 เมตร) ที่สร้างเพื่อสดุดีพระแม่มารีและพระเยซูคริสต์นั่นเอง

เวลาผ่านไป ผู้ร่วมงานของเขาก็ล้มหายตายจากไปทีละคนๆ ทำให้การก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นไปด้วยความล่าช้า ผนวกกับพิษเศรษฐกิจของบาร์เซโลนาที่ไม่ปรานีใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ อุปถัมภ์คนสำคัญของเขา เคานต์เออูเซบี เสียชีวิตลง

ดาดฟ้าคาซ่าบัตโย
ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ถูกรถรางชนจนปางตาย ด้วยความที่เขาอยู่ในเสื้อผ้าซอมซ่อ ทั้งในกระเป๋าสตางค์ก็ไม่มีเงินเลย รถแท็กซี่คันแล้วคันเล่าไม่ยอมพาไปส่งโรงพยาบาล แต่ในที่สุดเขาก็ถูกพาไปส่งที่โรงพยาบาลคนยาก ไม่มีใครจำได้เลยว่า นี่คือยอดศิลปินแห่งยุคโมเดิร์นนิสม์ จนกระทั่งเพื่อนของเขามาพบและพยายามให้ย้ายโรงพยาบาลที่ดีกว่า แต่อันโตนีก็ปฏิเสธ

เขาเสียชีวิตใน 3 วันต่อมา ผู้คนกว่าครึ่งค่อนเมืองบาร์เซโลนาออกมาไว้อาลัยจนทั่วท้องถนน ร่างอันไร้วิญญาณได้รับการบรรจุเอาไว้ ณ ใจกลางของสกราดา ฟามีเลีย นั่นเอง

คาซ่าบัตโย
แม้ว่า อันโตนิโอ เกาดี้ จะเขียนแบบพิมพ์เขียวของสกราดา ฟามีเลีย ใหม่ทั้งหมด ทว่าแบบแปลนชิ้นล่าสุดดังกล่าวได้ถูกทำลายไป ระหว่างการเถลิงอำนาจของรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโก ณ ปัจจุบัน จึงอาศัยตามแบบเก่าที่เขาคิดไว้แต่แรก ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งทุกวันนี้แล้วยังสร้างไม่เสร็จเสียที โดยเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดเป้าหมายอย่างจริงจัง ว่าการก่อสร้างส่วนที่เหลือจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2026

ใครที่ไปเยือนสกราดา ฟามีเลีย จะได้เห็นถึงอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของยอดสถาปนิก ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาคารสมัยโกธิก ผสมผสานกับขนบในการก่อสร้างอาคารแบบสเปนแท้ การออกแบบเสาเลียนแบบต้นไม้ การทดลองนำเอาถุงทรายเล็กๆ มาถ่วงน้ำหนัก เพื่อการออกแบบจัดวางเสา โค้งประตู/หลังคา ผนัง และห้องใต้ดิน ที่ผ่านการคำนวณมาแล้วอย่างแม่นยำ

มองผ่านกระจกในคาซ่าบัตโย
ตลอดระยะเวลาในชีวิตของอันโตนี เขาใช้เวลามากมายไปกับการศึกษามุมมองต่างๆ และส่วนโค้งเว้าของธรรมชาติ ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงในผลงานการออกแบบของเขาทุกชิ้น (และอาคารทุกแห่ง) การนำธรรมชาติมาคำนวณด้วยหลักเรขาคณิต ออกมาเป็นอาคารสถานที่ เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ฯลฯ นับว่าเป็นเรื่องใหม่มากในยุคสมัยของเขา

เสาทุกต้นในสกราดา ฟามีเลีย เลียนแบบโครงร่างของต้นมะพร้าว โครงเหล็กประดับประตูของปาเลากูเอลล์ เลียนแบบรังของตัวต่อ รั้วปาร์กกูเอลล์ (Parc Guell) ลอกเลียนจากรูปทรงใบตาล หลังคาโรงเรียนเกาดี้ (หรือโรงเรียนสกราดา ฟามีเลีย) ออกแบบตามโค้งธรรมชาติของใบไม้ ฯลฯ

คาซา บัตโย (Casa Batllo) ทาวน์เฮาส์ของครอบครัวบัตโยกลางกรุงบาร์เซโลนา เป็นอีกหนึ่งผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ที่สามารถเห็นอัจฉริยภาพและแรงบันดาลใจจากธรรมชาติได้อย่างชัดเจน ในบ้านแสนมหัศจรรย์นี้ปราศจากเส้นตรง เพราะในธรรมชาติเองก็ไม่มีเส้นตรง ไม่ว่าจะเป็นกรอบประตู/หน้าต่าง ราวบันได กระจก ฯลฯ ล้วนกอปรขึ้นด้วยเส้นสายโค้งมนเลียนแบบธรรมชาติทั้งสิ้น

ที่น่าตื่นเต้นที่สุด ก็คือ การออกแบบกระจกใสให้มองผ่านไปแล้ว ราวกับกำลังเดินอยู่ ณ ใต้บาดาล

ภาพถ่ายและคำบรรยายทั้งหลายล้วนไม่ได้ครึ่งของการมีโอกาสได้ไปสัมผัสมรดกโลกเหล่านี้จริงๆ

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

‘ตัวย็อง’ มารี เชอร์มิโนว่า เซอร์เรียลิสม์ที่ถูกลืม

The Message of the Forest
ณ หอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์ เมืองเอดินบะระ จัดแสดงนิทรรศการถาวรของจิตรกรเซอร์เรียลิสม์ในตำนาน ตัวย็อง(Toyen) ฉายาของ มารี เชอร์มิโนว่า จิตรกรชาวเช็ก ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในอังกฤษ หลังจากที่ได้แสดงผลงาน The Message of the Forest ที่วาดในปี 1936

มารี เชอร์มิโนว่า เกิดในปี 1902 นับว่าเป็นจิตรกรเซอร์เรียลิสม์แถวหน้าของเช็ก โดยใช้ชีวิตสร้างสรรค์งานศิลปะส่วนใหญ่ในกรุงปราก ซึ่งเป็นศูนย์รวมของบรรดาศิลปินเซอร์เรียลิสม์ตัวกลั่นมากมายนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930

ในปี 1923 ขณะที่นั่งอยู่ในร้านกาแฟ มารี ก็ลุกขึ้นมาประกาศว่า นับจากนี้ไปเธอต้องการจะเป็นที่รู้จักกันในนาม ตัวย็อง ไม่ใช่ มารี เชอร์มิโนว่า อีกต่อไป เธอไม่ได้บอกเหตุผล แต่ใครๆ ในแวดวงก็รู้กันอยู่ว่า ตัวย็องต้องการให้คนรู้จักตัวตนของเธอในฐานะ ชายหนุ่มมากกว่าจะเป็น หญิงสาวตามเพศกำเนิดที่แท้จริง

ที่เธอผุดคำว่า ตัวย็อง เพราะนึกถึงคำว่า Citoyen (ซิตัวย็อง = ประชาชน) ในภาษาฝรั่งเศสขึ้นมา โดยหากใช้คำนี้ก็หมายความว่าเธอเป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีเพศเป็นชายหรือหญิง ขณะที่เมื่อเทียบคำ Toyen เข้ากับภาษาเช็กบ้านเกิด ก็จะได้เป็น To je on ที่หมายถึง It is he (นี่คือเขา) ซึ่งเป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า ต้องการที่จะให้คนจดจำเธอในมาดสาวหล่อ ดังเช่นลุคของเธอตลอดระยะเวลา ก็จะมาในมาดผมสั้น ใส่สูท สวมกางเกงแบบผู้ชาย

ตัวย็อง
The Message of the Forest เป็นภาพของนกสีฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางฉากหลังสีทึบทึม ดูลึกลับ ประหนึ่ง ป่าตามชื่อภาพ เท้าข้างหนึ่งของนกถูกตัดขาดไป ขณะที่กรงเล็บของเท้าข้างที่เหลือกำลังเกาะกุมศีรษะของหญิงสาว ตัวย็องวาดภาพตัวนกและฉากป่าข้างหลังให้สีโดดเด่นและมีพื้นผิวที่หนาหนัก ตัดกับหน้าตาซีดๆ ของหญิงสาวที่ดูเหมือนจริง ซึ่งตรงกับสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อคือ ธรรมชาตินั้นมีอานุภาพเหนือมนุษย์

สิ่งที่มักปรากฏในภาพเขียนของตัวย็อง ได้แก่ ความแห้งแล้ง สิ่งตายซาก ทิวทัศน์แปลกๆ ที่เหมือนหลุดออกมาจากฝัน ผู้หญิงที่ดูโดดเดี่ยว บอบบาง รวมทั้งภาพนก ก็เป็นสิ่งที่เธอวาดบ่อยๆ ธีมเหล่านี้มาจากผลงานวาดภาพประกอบหนังสือเด็กของเธอในอดีต ทว่าพอยิ่งวาดผลงานยิ่งแปลกประหลาดไปเรื่อยๆ และเริ่มไม่เหมาะสำหรับเด็ก

ตัวย็องระวังเนื้อระวังตัวมาก โดยส่วนใหญ่เธอจะไม่อธิบายเบื้องหลังความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น ทว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมงานตีความเอง ตามประสบการณ์ ความคิด ของแต่ละคน ซึ่งส่วนมากผลงานของเธอตอบโจทย์ของเรื่องราวเกี่ยวกับความฝันและฝันร้าย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดัง

ระหว่างปี 1925-1928 ตัวย็องและเพื่อนสนิท แยน สไตร์สกี ไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสร้างสาขาของศิลปินเช็กสายเซอร์เรียลิสม์ที่นั่น โดยสนิทสนมใกล้ชิดกับกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ชาวฝรั่งเศส อย่างกลุ่มของ อองเดร เบรอตง ที่เชื่อมโยงถึงบรรดาจิตรกรแนวเหนือจริงแห่งยุคทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น มักซ์ แอร์นสต์, อีฟส์ ต็องกี หรือ ซัลวาดอร์ ดาลิ

สำหรับหอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์ เป็นหอศิลป์ชื่อดังทางสายเซอร์เรียลิสม์ของโลก ที่นั่นมีผลงานแนวเหนือจริงมากมายของทั้ง โฆอัน มีโร, มักซ์ แอร์นสต์, เรอเน มากริตต์, อัลแบร์โต จาโกเมตติ และอีกมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มจิตรกรเซอร์เรียลิสม์สายที่มาโด่งดังในฝรั่งเศสทั้งหลาย เป็นที่น่าเสียดายที่พวกเขาแทบไม่มีผลงานของกลุ่มศิลปินเซอร์เรียลิสม์ชาวเช็กเลย ทั้งที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคเฟื่องฟูของศิลปะแนวนี้ที่ปารีสด้วยซ้ำ ทำให้พวกเขาต้องนำผลงานของ ตัวย็อง ออกมาเจิมในต้น พ.ศ. นี้


ภาพเด่นอย่าง The Message of the Forest เคยเป็นสมบัติของ รอยและแมรี คัลเลน นักสะสมชาวอเมริกัน ที่มีภาพศิลปะเซอร์เรียลิสม์ของศิลปินเช็กภาพอื่นอยู่ในครอบครองมากมาย หลังจากที่รอยเสียชีวิตในปี 2014 งานศิลปะหลายชิ้นถูกนำออกมาขาย รวมทั้ง The Message of the Forest ที่หอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์ เจรจาซื้อมาได้ผ่านทางสถาบันคริสตี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อศิลปะวัลตัน ครอบครัวนักสะสมงานศิลปะในเอดินบะระ