The Message of the Forest |
ณ หอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์
เมืองเอดินบะระ จัดแสดงนิทรรศการถาวรของจิตรกรเซอร์เรียลิสม์ในตำนาน “ตัวย็อง”
(Toyen) ฉายาของ มารี เชอร์มิโนว่า จิตรกรชาวเช็ก
ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในอังกฤษ หลังจากที่ได้แสดงผลงาน The
Message of the Forest ที่วาดในปี 1936
มารี เชอร์มิโนว่า เกิดในปี 1902
นับว่าเป็นจิตรกรเซอร์เรียลิสม์แถวหน้าของเช็ก
โดยใช้ชีวิตสร้างสรรค์งานศิลปะส่วนใหญ่ในกรุงปราก
ซึ่งเป็นศูนย์รวมของบรรดาศิลปินเซอร์เรียลิสม์ตัวกลั่นมากมายนับตั้งแต่ทศวรรษที่
1930
ในปี 1923 ขณะที่นั่งอยู่ในร้านกาแฟ
มารี ก็ลุกขึ้นมาประกาศว่า นับจากนี้ไปเธอต้องการจะเป็นที่รู้จักกันในนาม ตัวย็อง
ไม่ใช่ มารี เชอร์มิโนว่า อีกต่อไป เธอไม่ได้บอกเหตุผล แต่ใครๆ
ในแวดวงก็รู้กันอยู่ว่า ตัวย็องต้องการให้คนรู้จักตัวตนของเธอในฐานะ “ชายหนุ่ม”
มากกว่าจะเป็น “หญิงสาว” ตามเพศกำเนิดที่แท้จริง
ที่เธอผุดคำว่า ตัวย็อง เพราะนึกถึงคำว่า Citoyen
(ซิตัวย็อง = ประชาชน) ในภาษาฝรั่งเศสขึ้นมา
โดยหากใช้คำนี้ก็หมายความว่าเธอเป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีเพศเป็นชายหรือหญิง
ขณะที่เมื่อเทียบคำ Toyen เข้ากับภาษาเช็กบ้านเกิด ก็จะได้เป็น To
je on ที่หมายถึง It is he (นี่คือเขา)
ซึ่งเป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า ต้องการที่จะให้คนจดจำเธอในมาดสาวหล่อ
ดังเช่นลุคของเธอตลอดระยะเวลา ก็จะมาในมาดผมสั้น ใส่สูท สวมกางเกงแบบผู้ชาย
ตัวย็อง |
The Message of the Forest เป็นภาพของนกสีฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางฉากหลังสีทึบทึม
ดูลึกลับ ประหนึ่ง “ป่า” ตามชื่อภาพ
เท้าข้างหนึ่งของนกถูกตัดขาดไป
ขณะที่กรงเล็บของเท้าข้างที่เหลือกำลังเกาะกุมศีรษะของหญิงสาว
ตัวย็องวาดภาพตัวนกและฉากป่าข้างหลังให้สีโดดเด่นและมีพื้นผิวที่หนาหนัก
ตัดกับหน้าตาซีดๆ ของหญิงสาวที่ดูเหมือนจริง ซึ่งตรงกับสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อคือ
ธรรมชาตินั้นมีอานุภาพเหนือมนุษย์
สิ่งที่มักปรากฏในภาพเขียนของตัวย็อง ได้แก่
ความแห้งแล้ง สิ่งตายซาก ทิวทัศน์แปลกๆ ที่เหมือนหลุดออกมาจากฝัน
ผู้หญิงที่ดูโดดเดี่ยว บอบบาง รวมทั้งภาพนก ก็เป็นสิ่งที่เธอวาดบ่อยๆ
ธีมเหล่านี้มาจากผลงานวาดภาพประกอบหนังสือเด็กของเธอในอดีต
ทว่าพอยิ่งวาดผลงานยิ่งแปลกประหลาดไปเรื่อยๆ และเริ่มไม่เหมาะสำหรับเด็ก
ตัวย็องระวังเนื้อระวังตัวมาก
โดยส่วนใหญ่เธอจะไม่อธิบายเบื้องหลังความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น
ทว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมงานตีความเอง ตามประสบการณ์ ความคิด ของแต่ละคน
ซึ่งส่วนมากผลงานของเธอตอบโจทย์ของเรื่องราวเกี่ยวกับความฝันและฝันร้าย
โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดัง
ระหว่างปี 1925-1928 ตัวย็องและเพื่อนสนิท แยน
สไตร์สกี ไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสร้างสาขาของศิลปินเช็กสายเซอร์เรียลิสม์ที่นั่น
โดยสนิทสนมใกล้ชิดกับกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ชาวฝรั่งเศส อย่างกลุ่มของ อองเดร เบรอตง
ที่เชื่อมโยงถึงบรรดาจิตรกรแนวเหนือจริงแห่งยุคทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น มักซ์
แอร์นสต์, อีฟส์ ต็องกี หรือ ซัลวาดอร์ ดาลิ
สำหรับหอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์
เป็นหอศิลป์ชื่อดังทางสายเซอร์เรียลิสม์ของโลก
ที่นั่นมีผลงานแนวเหนือจริงมากมายของทั้ง โฆอัน มีโร, มักซ์
แอร์นสต์, เรอเน มากริตต์, อัลแบร์โต
จาโกเมตติ และอีกมากมาย
โดยเฉพาะกลุ่มจิตรกรเซอร์เรียลิสม์สายที่มาโด่งดังในฝรั่งเศสทั้งหลาย
เป็นที่น่าเสียดายที่พวกเขาแทบไม่มีผลงานของกลุ่มศิลปินเซอร์เรียลิสม์ชาวเช็กเลย
ทั้งที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคเฟื่องฟูของศิลปะแนวนี้ที่ปารีสด้วยซ้ำ
ทำให้พวกเขาต้องนำผลงานของ ตัวย็อง ออกมาเจิมในต้น พ.ศ. นี้
ภาพเด่นอย่าง The Message of the Forest
เคยเป็นสมบัติของ รอยและแมรี คัลเลน นักสะสมชาวอเมริกัน
ที่มีภาพศิลปะเซอร์เรียลิสม์ของศิลปินเช็กภาพอื่นอยู่ในครอบครองมากมาย
หลังจากที่รอยเสียชีวิตในปี 2014 งานศิลปะหลายชิ้นถูกนำออกมาขาย รวมทั้ง The
Message of the Forest ที่หอศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติสกอตแลนด์ เจรจาซื้อมาได้ผ่านทางสถาบันคริสตี้
โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อศิลปะวัลตัน
ครอบครัวนักสะสมงานศิลปะในเอดินบะระ