วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

เบร์นาร์โด เบลลอตโต กานาเลตโตหมายเลข 2








สถาบันซอเธอบีส์ ในฮ่องกง เตรียมนำคอลเลกชั่นภาพเขียนจากปราสาทฮาวเวิร์ดในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่แต่งงานของป๊อปสตาร์ชาวไต้หวัน เจย์โจว รวมทั้งเป็นฉากในหนังฮอลลีวู้ด Brideshead Revisited ซึ่งนับเป็นที่รวมคอลเลกชั่นภาพเขียนเด็ดๆ เอาไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ

ในจำนวนดังกล่าว มีผลงานของมาสเตอร์ชาวอิตาเลียน (เวนิส) อย่าง เบร์นาร์โด เบลลอตโต ผู้มีฉายาว่าเป็น “กานาเลตโต” หมายเลข 2 ยอดจิตรกรจากศตวรรษที่ 18 อันเป็นสมบัติเก่าแก่ของตระกูลฮาวเวิร์ดเจ้าของปราสาทมากว่า 300 ปี

เบร์นาร์โด เบลลอตโต (มีชีวิตระหว่างปี 1722-1780) เป็นลูกศิษย์ และเป็นหลานชายของ กานาเลตโต (โจวานนี อันโตนิโอ กานาล) เขาเป็นผู้ช่วยคุณลุงจิตรกรชื่อดังในการสร้างสรรค์งานมาโดยตลอด โดยเฉพาะภาพวาดทิวทัศน์ของเมืองเวนิสอันโด่งดัง

ส่วนหนึ่งของภาพเขียนในคอลเลกชั่นจากปราสาทฮาวเวิร์ด คือภาพเขียนสีน้ำมันบริเวณแกรนด์คาแนล อย่าง A View of The Grand Canal Looking South From The Palazzo Foscari and Palazzo Moro-Lin Towards The Church of Santa Maria Della Carita, With Numerous Gondolas and Barges ซึ่งคาดว่าจะมีราคาราว 2.5-3.5 ล้านปอนด์ หรือราว 121-170 ล้านบาท

ภาพนี้เขียนขึ้นเมื่อเบร์นาร์โดอายุเพียง 16 ปี และยังคงทำงานเป็นผู้ช่วยอยู่ในสตูดิโอของกานาเลตโต (เริ่มทำอายุ 14) โดยฝีมือของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือในแนว เวดูติสตา (vedutista’s art) หรือภาพวาดแลนด์สเคปแล้ว

เบร์นาร์โด เบลลอตโต ออกจากเวนิสไปไปกรุงโรม ตั้งแต่อายุได้ 20 ปี เรียกว่าออกไปเผชิญโชคตั้งแต่ยังเด็กมากเช่นเดียวกับลุงของเขา

ขณะที่ยังทำงานในสตูดิโอเดียวกันนั้น ลุงกานาเลตโตกับหลานทำงานใกล้ชิดกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากออกไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองจากกรุงโรมกลับมา บรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่า มีภาพจำนวนหนึ่งที่เบร์นาร์โดเป็นคนวาด และกานาเลตโตเป็นผู้ลงสี

เขาจากบ้านเกิดไปอย่างถาวรตั้งแต่ปี 1746 และมีผลงานที่น่าจดจำทั้งในเดรสเดนและวอร์ซอว์ ซึ่งเบร์นาร์โดใช้ชื่อในการทำงานอาชีพ ว่า กานาเลตโต ซึ่งทำให้คนสับสนมาก โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์เมืองเวนิสที่ทั้งคู่ต่างสร้างสรรค์เอาไว้จำนวนมาก

11 ปี ในเดรสเดน เบร์นาร์โดเป็นจิตรกรประจำราชสำนักของพระเจ้าออกุสต์ที่ 3 แห่งแซกโซนี ซึ่งเขาได้รับพระบัญชาให้วาดภาพเมืองเดรสเดนและปีร์นา รวมถึงเมืองปราการ อย่าง ซอนเนนสไตน์และโคนิกสไตน์ ลงบนผืนผ้าใบขนาดมหึมา รวมแล้วเกือบๆ 30 ภาพ

ที่เดรสเดน ทำให้เห็นพัฒนาการอย่างใหญ่หลวงของเบร์นาร์โด โดยเฉพาะความแม่นยำในเรื่องของผังเมือง การจัดองค์ประกอบแสง และการคำนวณเพอร์สเปกทีฟได้สุดเป๊ะ เบร์นาร์โดไม่ต้องอาศัยการขีดเครื่องหมายลงบนภาพเช่นที่ลุงของเขาทำ หากมีมุมมองของการคำนวณที่แม่นยำ ซ้ำฝีแปรงก็ยังเพิ่มความดุดันยิ่งกว่าอาจารย์ลุงอีกด้วย

ไม่แปลกเลยที่ภาพวาดทิวทัศน์ในสไตล์ของเบร์นาร์โด เบลลอตโต จะดูมีบรรยากาศและอารมณ์ที่เหนือจริงไปบ้าง ด้วยความที่เขาวาดจากสิ่งที่เห็น โดยเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปด้วยอีกนิดหน่อย

เบร์นาร์โดหนีสงครามจากเดรสเดนไปกรุงเวียนนา หลังสงคราม 7 ปี ในเดรสเดน จิตรกรชาวเวนิสกลับไปยังเมืองหลวงของแซกโซนี ซึ่งไม่เหลือสภาพบ้านเมืองแบบเดิมแล้ว ราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะว่าจ้างจิตรกรประจำราชสำนักอีกต่อไป แต่พวกเขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้านศิลปะขึ้นมา (Akademie) และได้รวบรวมศิลปินดังในยุคนั้นไว้ เบร์นาร์โด สร้างผลงานที่เป็นแฝดกับที่เขาเคยวาดเอาไว้ช่วงก่อนสงคราม เป็นภาพในมุมเดิม หากวาดสภาพบ้านเมืองที่ปรักหักพัง อย่างที่เห็นและเป็นอยู่แทน

ไม่นานเขาก็ได้นายใหม่ในกรุงวอร์ซอว์ พระเจ้าสตานิสลอส โปนิยาทาวสกี ต้องการบรรยากาศวัฒนธรรมสมัยใหม่แบบตะวันตกในโปแลนด์ ในพระราชวังหลายๆ แห่งของราชวงศ์วีลาเนา ตกแต่งด้วยภาพนิวทัศน์ของกรุงโรม ขณะที่เบร์นาร์โด เบลลอตโต เข้ามาสร้างสรรค์ภาพทิวทัศน์กรุงวอร์ซอว์ ประดับไว้ ณ กานาเลตโต ฮอลล์ ในพระราชวังวอร์ซอว์

ความต่างระหว่างกานาเลตโต หมายเลข 1 กับหมายเลข 2 อยู่ตรงที่ อาจารย์ลุงสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์เมืองเวนิสในมุมต่างๆ ขณะที่ผู้หลานมุ่งสร้างงานสำหรับประดับผนังพระราชวังและแกลเลอรี่ สำหรับลุงเน้นสีสันที่สดใสสวยงาม สีสันบนงานของหลานจะออกหม่นๆ มืดทึบ ซึ่งผลงานในช่วงหลังออกจากอิตาลีแล้วยิ่งชัดเจนในด้านการให้แสงในภาพ รวมทั้งสไตล์ที่นำเอาศิลปะสถาปัตย์และการตกแต่งเข้ามาใช้

ผลงานส่วนตัวของเบร์นาร์โด เบลลอตโต เพิ่งจะปรากฏตัวตนให้โลกรู้ว่า มีกานาเลตโตคนที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คนคนเดียวกัน ก็เมื่อเข้าศตวรรษที่ 20 มาแล้วนี่เอง

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558

โกล้ด โมเนต์ : ภาพเขียนที่เพิ่งค้นพบ

นักวิจัยจากภาควิชาคณิตศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยยีวาสกีลา ประเทศฟินแลนด์ ค้นพบภาพเขียนในกลุ่ม Haystack อีกภาพหนึ่งของโกล้ด โมเนต์ จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีร่องรอยของสีน้ำมันที่ทาทับลายเซ็นศิลปินเอาไว้ ทำให้แม้เขาจะสร้างสรรค์ภาพกองฟางลักษณะนี้เอาไว้หลายภาพ แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าเป็นผลงานของเขาจริง เพราะไม่เห็นลายเซ็นที่ซ่อนอยู่

นอกจากนี้ หลังจากการตรวจสอบด้วยกล้อง hyperspectral หรือเครื่องกวาดภาพช่วงคลื่นละเอียดสูง ซึ่งสร้างสรรค์โดย SPECIM ทำให้ได้ข้อสรุปว่าภาพดังกล่าวว่าโกล้ดน่าจะวาดขึ้นในปี 1891

ภาพเขียนดังกล่าวเป็นสมบัติของมูลนิธิจิตรกรรม กอสตา เซอร์ลาชิอุส มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 ซึ่งพวกเขาสงสัยมาตลอดว่าเป็นภาพเขียนของโกล้ด โมเนต์ แต่ไม่ได้รับการยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ

ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามที่จะพิสูจน์หลายครั้ง เพราะหากเป็นภาพวาดเลียนแบบมันก็ดูสวยเกินไป อย่างมหาวิทยาลัยในเรเซนาร์ต โดยศูนย์วิจัยศิลปะผสมผสานในเมืองมันต์ตา ประเทศฟินแลนด์ ก็เคยเข้าตรวจสอบภาพนี้ด้วยกล้อง hyperspectral พร้อมทั้งเครื่องระบบเอกซเรย์ แบบ XRF ที่ทำการสแกนภาพในหลายๆ มุมไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

“กล้อง hyperspectral จะถ่ายภาพออกมาให้เห็นเป็นแนวคลื่นแสงที่แตกต่างกัน 256 ภาพต่อหนึ่งครั้งที่กดชัตเตอร์ ซึ่งใกล้เคียงกับการใช้อินฟราเรด คลื่นแสงที่ออกมาเป็นภาพนี้ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยจะทำให้เห็นถึงสีทุกสี ทุกชั้นที่อยู่บนภาพๆ นั้น”

อิลกา โปโลเนน ผู้ทำวิจัยคณะล่าสุด กล่าวต่อว่า กล้องจะทำหน้าที่คล้ายสแกนเนอร์ โดยจะสแกนเป็นแนวระนาบทีละเส้นๆ จนครบทั้งภาพ “ผลที่ได้ออกมาจะเป็นโครงสร้างของแสงสีออกมาเป็นคลื่นแสง ซึ่งคราวนี้ก็แล้วแต่การออกแบบของนักวิจัยแต่ละท่านที่จะถอดรหัสคลื่นแสงออก มาเป็นการอ่านค่าได้อย่างไร”

สำหรับทีมของอิลกาได้สแกนภาพเขียน Haystacks at Giverny the Evening Sun ด้วยกล้อง hyperspectral ของ SPECIM ตามขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลเป็นคลื่นแสงจำนวนมาก ขณะที่ลายเซ็นของโกล้ด โมเนต์ อาศัยคนละวิธีในการค้นหา โดยเป็นศาสตร์หลากหลายที่มีคนพยายามทดลองทำมาก่อนหน้า นำมาผสมผสานกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“วิธีการที่เรียกว่า Spectral imaging ที่มักใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของภาพต้นแบบดั้งเดิม เช่นว่ามีสีสันที่เพี้ยนไปจากของเก่ามั้ย เป็นวิธีการยอดนิยมในการตรวจสอบภาพเขียนที่มีมูลค่ามานานแล้ว กรณีนี้เคยมีการใช้วิจัยภาพ Haystack ภาพนี้มาแล้ว แต่อาจทำไม่ละเอียดพอ หรือจำเพาะเจาะจงไปไม่ตรงจุดที่เป็นลายเซ็นของศิลปิน ไม่ก็อ่านค่าไม่ถูกต้อง สำหรับครั้งนี้เราอาศัยศาสตร์อื่นๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์การแพทย์ การสำรวจสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ อะไรอีกมากมาย ที่ช่วยให้เราค้นพบลายเซ็นที่ซ่อนอยู่ใต้ชั้นสี” เพคคา นีททานมากิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยยีวาสกีลา เล่า

สำหรับ ออสการ์-โกล้ด โมเนต์ ถือได้ว่าเป็นจิตรกรผู้บุกเบิกศิลปะยุคอิมเพรสชันนิสม์เลยก็ว่าได้ โดยภาพ Impression, Sunrise ปี 1873 ของเขา กลายมาเป็นชื่อเรียกยุคสมัยความเคลื่อนไหวของศิลปะ
สมัยเด็กๆ บิดาของเขาต้องการให้สานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ในจิตใจของโกล้ดมีแต่ศิลปะ และมุ่งมั่นต้องการเป็นจิตรกรอาชีพ

โกล้ด โมเนต์ เข้าโรงเรียนศิลปะที่เลอ อาฟร์ ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ซึ่งแค่ชั้นมัธยมต้น เขาก็สามารถสร้างรายได้จากการวาดภาพเหมือนให้คนนั้นคนนี้ โดยคิดภาพละ 10-20 ฟรังก์

5 ปีหลังเข้าเรียนศิลปะ เขาก็ได้พบกับศิลปินอย่าง อูแชน บูลแด็ง ซึ่งสอนเทคนิควาดภาพกลางแจ้งที่เรียกว่า en plein air ให้ ทั้งคู่กลายเป็นศิษย์-อาจารย์ กระทั่งอายุ 16 โกล้ดลาออกจากโรงเรียนมุ่งหน้าสู่กรุงปารีส แทนที่จะไปนั่งวาดภาพศึกษาจากศิลปะของโอลด์มาสเตอร์เช่นคนอื่นๆ เขากลับนั่งริมหน้าต่างแล้ววาดสิ่งที่เขามองเห็นจากหน้าต่างห้องแทน
ในวัย 21 เขาเข้าร่วมกองทัพไปประจำการที่แอลจีเรีย จริงๆ แล้วต้องรับใช้ชาติถึง 7 ปี ทว่าพอเข้าปีที่ 2 เขาก็ป่วยเป็นไทฟอยด์จึงต้องปลดประจำการ และกลับมาเรียนศิลปะต่อ ณ กรุงปารีส โดยศึกษาเข้มข้นในแนว en plein air กับเพื่อนๆ ในรุ่นใกล้เคียงกัน อย่าง ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ เฟรเดริก บาซิลล์ และอัลเฟรด ซิสลีย์

ระหว่างนั้นได้เกิดสงครามฟร็องโก-ปรัสเซีย ทำให้โกล้ดอพยพไปอยู่ที่อังกฤษชั่วคราว ที่นั่นเขาได้ศึกษาผลงานของจอห์น สเตเบิล และโจเซฟ มัลลอร์ด เทอร์เนอร์ โกล้ดไม่เพียงได้เรียนรู้ด้านการวาดภาพแนวแลนด์สเคปซึ่งทั้งคู่เอกอุเท่า นั้น หากยังได้อิทธิพลเรื่องการใช้สีมาด้วย

พอสงครามสงบเขากลับมากรุงปารีส และใช้ชีวิตแบบชาวปารีเซียงทำกัน คือ ออกมาปิกนิกในสวนวันอาทิตย์ นอกจากเพื่อนๆ ศิลปินรุ่นเดียวกันที่กล่าวไปแล้ว เขายังสนิทกับเอดูอาร์ด มาเนต์ และภรรยา พวกเขาออกไปปิกนิกวันอาทิตย์ด้วยกันบ่อยๆ และเป็นที่มาของภาพเขียนจำนวนหนึ่งที่วาดในสวนท่ามกลางบรรยากาศปิกนิก

ศิลปินหนุ่มในกลุ่มก๊วนรวมตัวกันจัดนิทรรศการอิมเพรสชันนิสม์ครั้งแรก ณ เลขที่ 35 บูเลอวาร์ด เดส์ กาปูชีนส์ กรุงปารีส ในปี 1874 โดยจริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจจะนำเสนอวิธีการวาดภาพแนวใหม่ ทว่าต้องการแสดงอิสระทางความคิดของพวกเขามากกว่า เนื่องจากว่า ซาลง เดอ ปารีส ปฏิเสธการจัดแสดงผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพ Impression, Sunrise (1873) Luncheon (1868) และรูปอื่นๆ เขายังวาด Boulevard des Capucines เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่

ท่ามกลางภาพเขียนของเพื่อนร่วมกลุ่มรวม 165 ภาพ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าชมกว่า 3,500 คน และภาพก็ขายได้ดี แม้บางภาพราคาจะดูสูงเกินจริง

หลังการจากไปของกามิลล์ ภรรยาของเขาซึ่งป่วยเป็นวัณโรค ฐานะทางการเงินของโกล้ดก็ดูจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ก็มีอย่างไม่หยุดหย่อน ในปี 1890 เขาซื้อบ้านหลังใหญ่ที่มีสวนสวย ผลงานดีๆ ในบั้นปลายจึงเต็มไปด้วยภาพวาดในสวน ซึ่งเขาเป็นคนออกแบบเองโดยศึกษาจากหนังสือพฤกษศาสตร์ ว่ากันว่า เขาจ้างคนสวนทีเดียวถึง 7 คน เพื่อให้ได้สวนในแบบที่ต้องการ

เมื่อออสการ์-โกล้ด โมเนต์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด มิเชล โมเนต์ ลูกชายคนเดียวที่เหลืออยู่ของเขา ปรับปรุงบ้านของพ่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปเข้าชม รวมทั้งในส่วนของสวนสวยด้วย