วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

เบร์นาร์โด เบลลอตโต กานาเลตโตหมายเลข 2








สถาบันซอเธอบีส์ ในฮ่องกง เตรียมนำคอลเลกชั่นภาพเขียนจากปราสาทฮาวเวิร์ดในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่แต่งงานของป๊อปสตาร์ชาวไต้หวัน เจย์โจว รวมทั้งเป็นฉากในหนังฮอลลีวู้ด Brideshead Revisited ซึ่งนับเป็นที่รวมคอลเลกชั่นภาพเขียนเด็ดๆ เอาไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ

ในจำนวนดังกล่าว มีผลงานของมาสเตอร์ชาวอิตาเลียน (เวนิส) อย่าง เบร์นาร์โด เบลลอตโต ผู้มีฉายาว่าเป็น “กานาเลตโต” หมายเลข 2 ยอดจิตรกรจากศตวรรษที่ 18 อันเป็นสมบัติเก่าแก่ของตระกูลฮาวเวิร์ดเจ้าของปราสาทมากว่า 300 ปี

เบร์นาร์โด เบลลอตโต (มีชีวิตระหว่างปี 1722-1780) เป็นลูกศิษย์ และเป็นหลานชายของ กานาเลตโต (โจวานนี อันโตนิโอ กานาล) เขาเป็นผู้ช่วยคุณลุงจิตรกรชื่อดังในการสร้างสรรค์งานมาโดยตลอด โดยเฉพาะภาพวาดทิวทัศน์ของเมืองเวนิสอันโด่งดัง

ส่วนหนึ่งของภาพเขียนในคอลเลกชั่นจากปราสาทฮาวเวิร์ด คือภาพเขียนสีน้ำมันบริเวณแกรนด์คาแนล อย่าง A View of The Grand Canal Looking South From The Palazzo Foscari and Palazzo Moro-Lin Towards The Church of Santa Maria Della Carita, With Numerous Gondolas and Barges ซึ่งคาดว่าจะมีราคาราว 2.5-3.5 ล้านปอนด์ หรือราว 121-170 ล้านบาท

ภาพนี้เขียนขึ้นเมื่อเบร์นาร์โดอายุเพียง 16 ปี และยังคงทำงานเป็นผู้ช่วยอยู่ในสตูดิโอของกานาเลตโต (เริ่มทำอายุ 14) โดยฝีมือของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือในแนว เวดูติสตา (vedutista’s art) หรือภาพวาดแลนด์สเคปแล้ว

เบร์นาร์โด เบลลอตโต ออกจากเวนิสไปไปกรุงโรม ตั้งแต่อายุได้ 20 ปี เรียกว่าออกไปเผชิญโชคตั้งแต่ยังเด็กมากเช่นเดียวกับลุงของเขา

ขณะที่ยังทำงานในสตูดิโอเดียวกันนั้น ลุงกานาเลตโตกับหลานทำงานใกล้ชิดกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากออกไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองจากกรุงโรมกลับมา บรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่า มีภาพจำนวนหนึ่งที่เบร์นาร์โดเป็นคนวาด และกานาเลตโตเป็นผู้ลงสี

เขาจากบ้านเกิดไปอย่างถาวรตั้งแต่ปี 1746 และมีผลงานที่น่าจดจำทั้งในเดรสเดนและวอร์ซอว์ ซึ่งเบร์นาร์โดใช้ชื่อในการทำงานอาชีพ ว่า กานาเลตโต ซึ่งทำให้คนสับสนมาก โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์เมืองเวนิสที่ทั้งคู่ต่างสร้างสรรค์เอาไว้จำนวนมาก

11 ปี ในเดรสเดน เบร์นาร์โดเป็นจิตรกรประจำราชสำนักของพระเจ้าออกุสต์ที่ 3 แห่งแซกโซนี ซึ่งเขาได้รับพระบัญชาให้วาดภาพเมืองเดรสเดนและปีร์นา รวมถึงเมืองปราการ อย่าง ซอนเนนสไตน์และโคนิกสไตน์ ลงบนผืนผ้าใบขนาดมหึมา รวมแล้วเกือบๆ 30 ภาพ

ที่เดรสเดน ทำให้เห็นพัฒนาการอย่างใหญ่หลวงของเบร์นาร์โด โดยเฉพาะความแม่นยำในเรื่องของผังเมือง การจัดองค์ประกอบแสง และการคำนวณเพอร์สเปกทีฟได้สุดเป๊ะ เบร์นาร์โดไม่ต้องอาศัยการขีดเครื่องหมายลงบนภาพเช่นที่ลุงของเขาทำ หากมีมุมมองของการคำนวณที่แม่นยำ ซ้ำฝีแปรงก็ยังเพิ่มความดุดันยิ่งกว่าอาจารย์ลุงอีกด้วย

ไม่แปลกเลยที่ภาพวาดทิวทัศน์ในสไตล์ของเบร์นาร์โด เบลลอตโต จะดูมีบรรยากาศและอารมณ์ที่เหนือจริงไปบ้าง ด้วยความที่เขาวาดจากสิ่งที่เห็น โดยเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปด้วยอีกนิดหน่อย

เบร์นาร์โดหนีสงครามจากเดรสเดนไปกรุงเวียนนา หลังสงคราม 7 ปี ในเดรสเดน จิตรกรชาวเวนิสกลับไปยังเมืองหลวงของแซกโซนี ซึ่งไม่เหลือสภาพบ้านเมืองแบบเดิมแล้ว ราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะว่าจ้างจิตรกรประจำราชสำนักอีกต่อไป แต่พวกเขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้านศิลปะขึ้นมา (Akademie) และได้รวบรวมศิลปินดังในยุคนั้นไว้ เบร์นาร์โด สร้างผลงานที่เป็นแฝดกับที่เขาเคยวาดเอาไว้ช่วงก่อนสงคราม เป็นภาพในมุมเดิม หากวาดสภาพบ้านเมืองที่ปรักหักพัง อย่างที่เห็นและเป็นอยู่แทน

ไม่นานเขาก็ได้นายใหม่ในกรุงวอร์ซอว์ พระเจ้าสตานิสลอส โปนิยาทาวสกี ต้องการบรรยากาศวัฒนธรรมสมัยใหม่แบบตะวันตกในโปแลนด์ ในพระราชวังหลายๆ แห่งของราชวงศ์วีลาเนา ตกแต่งด้วยภาพนิวทัศน์ของกรุงโรม ขณะที่เบร์นาร์โด เบลลอตโต เข้ามาสร้างสรรค์ภาพทิวทัศน์กรุงวอร์ซอว์ ประดับไว้ ณ กานาเลตโต ฮอลล์ ในพระราชวังวอร์ซอว์

ความต่างระหว่างกานาเลตโต หมายเลข 1 กับหมายเลข 2 อยู่ตรงที่ อาจารย์ลุงสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์เมืองเวนิสในมุมต่างๆ ขณะที่ผู้หลานมุ่งสร้างงานสำหรับประดับผนังพระราชวังและแกลเลอรี่ สำหรับลุงเน้นสีสันที่สดใสสวยงาม สีสันบนงานของหลานจะออกหม่นๆ มืดทึบ ซึ่งผลงานในช่วงหลังออกจากอิตาลีแล้วยิ่งชัดเจนในด้านการให้แสงในภาพ รวมทั้งสไตล์ที่นำเอาศิลปะสถาปัตย์และการตกแต่งเข้ามาใช้

ผลงานส่วนตัวของเบร์นาร์โด เบลลอตโต เพิ่งจะปรากฏตัวตนให้โลกรู้ว่า มีกานาเลตโตคนที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คนคนเดียวกัน ก็เมื่อเข้าศตวรรษที่ 20 มาแล้วนี่เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น