วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
กูไต ศิลปินญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม
สำหรับชาวตะวันตก ศิลปะร่วมสมัยของชาวเอเชียอาจจะถูกมองว่า พัฒนาขึ้นเนื่องด้วยปัจจัยของโลกาภิวัตน์ ทว่า ถ้าจะพูดถึงประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่น กลับมีความเป็นมาที่ยาวนาน ทั้งมีการพัฒนาที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าจะมองง่ายๆ ว่าเพิ่งเกิดเมื่อยุคโลกาภิวัตน์เท่านั้น ถ้าจะมองให้ครบๆ ต้องตบเท้าไปดูตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการถูกปรมาณูถล่มฮิโรชิมา หลังกองทัพอเมริกันไปตั้งฐานทัพในดินแดนปลาดิบ
อาจเนื่องเพราะลูกอาทิตย์อุทัยปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่บอบช้ำจากสงคราม ทำให้ “ศิลปะ” เป็นสิ่งที่ไม่เพียงชาวตะวันตกเท่านั้นไม่ได้สนใจใยดี ทั้งๆ ที่มีการแสดงออกถึงการต่อต้านผู้รุกราน ความคั่งแค้น และความเป็นขบถทางความคิดอยู่มากมาย
ชาวอเมริกันและตะวันตก ไม่เคยมีโอกาสเห็นศิลปะเหล่านี้ กระทั่งมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินญี่ปุ่นหลังสงครามครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1994 ในนิทรรศการ Scream Against the Sky จัดโดย อเล็กซานดรา มันโร ผู้อำนวยการสมาคมญี่ปุ่นสมัยนั้น ซึ่งร่วมมือกับหอศิลป์กุกเกนไฮม์มิวเซียม (ซานฟรานซิสโก) หอศิลป์เอเชียนอาร์ตมิวเซียม แห่งซานฟรานซิสโก รวมทั้งเจแปนฟาวเดชัน เช่นเดียวกับนิทรรศการ Art, AntiArt, NonArt: Experimentations in the Public Sphere in Postwar Japan, 1950–1970 ที่หอศิลป์เกตตีมิวเซียม ในลอสแองเจลิส
แม้ว่าทุกวันนี้ จะมีศิลปินเกิดใหม่มากมาย แต่เนื่องด้วยกุกเกนไฮม มิวเซียม นิวยอร์ก เพิ่งจะเปิด Gutai: Splendid Playground นิทรรศการพิเศษเพื่อเชิดชูและระลึกถึงศิลปินญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มกูไต (Gutai) ผู้นิยมอาศัยส่วนต่างๆ ของร่างกายในการวาดภาพ จัดโดยอเล็กซานดรา มันโร คนเดิม ด้วยความร่วมมือของ หมิงเทียมเปา ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ในกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา
Gutai: Splendid Playground นับว่า เป็นการจัดต่อเนื่องจากนิทรรศการ Tokyo 1955–1970: A New AvantGarde ที่หอศิลปะร่วมสมัย กรุงนิวยอร์ก (โมมา) โดยภัณฑารักษ์ดอร์ยุน จอง แล้วก็ยังมีนิทรรศการ Destroy the Picture: Painting the Void, 1949–1962 ที่หอศิลปะร่วมสมัยแคลิฟอร์เนีย (โมคา) ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินนานาชาติในยุคดังกล่าว รวมถึง กูไต ด้วย ขณะที่บลัม แอนด์ โป แกลเลอรี ในลอสแองเจลิสเอง ก็จัด Requiem for the Sun: The Art of Monoha ตั้งแต่ 25 ก.พ. ไปถึง 14 เม.ย. นี้ ไม่นับปีที่ผ่านมาที่มีการจัดนิทรรศการซึ่งมีผลงานของ กูไต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งมากมาย ทั้งที่ บาร์บารา แกลดสโตน ในนิวยอร์ก เฮาส์เนอร์ แอนด์ เวิร์ธ ในนิวยอร์กเช่นกัน ขณะที่นิทรรศการ Shinohara Pops! The AvantGarde Road, Tokyo/New York ที่นิว พัลต์ซ นิวยอร์ก โดยภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่น ฮิโรกิ อิเคกามิ และเรอิโกะ โทมิอิ ก็ขนผลงานอลังการงานสร้างของ กลุ่มกูไต มาเป็นไฮไลต์
กลุ่มกูไต ก่อตั้งโดย จิโร่ โยชิฮาระ ในปี ค.ศ. 1954 โดย โชโซ ชิมาโมโตะ เป็นคนแนะนำให้ตั้งชื่อกลุ่มว่า กูไต โดย กู ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง เครื่องมือ ส่วน ไต แปลว่า ร่างกาย
“ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ทาคาชิ มูราคามิ และนารา 2 ศิลปินร่วมสมัยญี่ปุ่นกลายเป็นที่ชื่นชอบในโลกศิลปะ แต่จริงๆ แล้วชาวตะวันตกยังไม่ได้เคยเห็นศิลปะร่วมสมัยแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นกันสักเท่าไร” ดอร์ยุน จอง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการล่าสุดที่โมมา นิวยอร์ก ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัยของทั้งจิตรกร สถาปนิก และกราฟฟิก ดีไซเนอร์ของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลก บอกอีกว่า ทุกวันนี้คนที่ชื่นชอบงานศิลปะมีแนวโน้มจะชื่นชอบผลงานที่ย้อนไปในอดีต “เรียกว่าต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในเชิงลึกมากกว่าจะดูแต่ศิลปะที่ร่วมสมัย โดยเฉพาะศิลปะที่หาดูยากจากญี่ปุ่น และกลุ่มที่รวมตัวกันเหนี่ยวแน่น อย่างกลุ่มกูไตนั้นมีผลงานที่น่าจับตา ส่วนหนึ่งก็เพราะเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่มีความกดดันทางด้านสังคมมากมาย”
ดอร์ยุน จอง ยังเชื่อว่า ศิลปินร่วมสมัยญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1950 – 1960 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก “พวกเขามีพัฒนาการอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับการฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่ จะว่าไป ศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่นที่หลุดจากรอบของศิลปะประเพณี น่าจะเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1870 นั่นเลยทีเดียว หลังจากที่ประเทศเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก เพราะเป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่นที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็ว
ดูอย่างเซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งมาจากตะวันตก ก็เข้ามาเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของศิลปินกลุ่มกูไต แม้ว่าหลังสงครามญี่ปุ่นจะปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูตัวเองก็ตาม และก็ไม่น่าแปลกใจที่ศิลปินรุ่นหลังๆ ทั้งโยโกะ โอโนะ (คนเดียวกับภรรยา จอห์น เลนนอน) และยาโยอิ คูซามะ จะได้การยอมรับในผลงานระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว และอยู่อย่างเติบโตได้สบายๆ ในสังคมตะวันตก”
กูไต มัลติมีเดีย ทัวร์
Guggenheim app แอพพลิเคชันให้ดาวน์โดหลดฟรี สำหรับ ไอโฟนและไอพอด ทัช (แอนดรอยด์ จะมีเร็วๆ นี้) ที่ไม่เพียงแต่พาทัวร์นิทรรศการพิเศษของศิลปินญี่ปุ่นผู้ใช้เท้าในการละเลงภาพเท่านั้น หากยังมีรายละเอียดต่างๆ ของกุกเกนไฮมมิวเซียม ทั้งอาคารสถานที่ และนิทรรศการที่เป็นไฮไลต์อื่นๆ ให้ชมกันทั้งภาพและเสียงด้วย
แอพพลิเคชันนี่เป็นลักษณะอินเตอร์แอคทีฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถฟังรายละเอียดในนิทรรศการต่างๆ จากหูฟังของตัวเองผ่านแอพฯ บนมือถือ (หรือสามารถขอยืมหูฟังได้ที่หน้าหอศิลป์) ไม่ว่าจะเป็น อาคารที่ออกแบบโดย แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ภาพและเสียงที่พาเยี่ยมชมแต่ละนิทรรศการ ปฏิทินนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด สมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษ ไกด์เสียงสำหรับผู้ทุพพลภาพ นิทรรศการพิเศษสำหรับเด็ก ฯลฯ
ไม่ต้องไปถึง กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก ก็ชมศิลปะกลุ่มกูไต ศิลปินกลุ่มก้าวหน้า (avantgarde) กลุ่มแรกของญีปุ่นได้ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.guggenheim.org/newyork/visit/tours/guggenheimapp)
ลายเส้น The Americans โดย ซาอูล สไตน์แบร์ก
The Americans ภาพลายเส้นขนาดยาวต่อกันถึง 75 เมตร ที่ดูเหมือนจิตรกรรมฝาผนัง ของ ซาอูล สไตน์แบร์ก นักวาดการ์ตูนเชื้อสายยิวโรมาเนียน – อเมริกัน สร้างสรรค์ครั้งแรกเพื่อประดับส่วนแสดงสินค้าของสหรัฐ ในงานบรัสเซล เวิลด์ แฟร์ ปี ค.ศ. 1958 กระทั่งขณะนี้จึงได้รับการจัดแสดงเต็มๆ ในรูปแบบเดิมอีกครั้งเป็นหนแรก ณ มิวเซียม ลุดวิก เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี (ระหว่าง 23 มี.ค. – 23 มิ.ย.)
นิทรรศการ The Americans ยังรวบรวมภาพวาดลายเส้นของซาอูลที่เกี่ยวข้องกัน จากทศวรรษที่ 1950 รวมทั้งบทความในแมกกาซีนต่างๆ ที่เขาเขียนเองด้วย
ซาอูล เอริค สไตน์แบร์ก มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1914 – 1999 เขาเป็นชาวยิวที่เกิดในโรมาเนีย ซาอูล ได้รับการศึกษาทางด้านสถาปัตย์ที่กรุงมิลาน ก่อนที่จะต้องอพยพหนีตายไปยังสหรัฐในปี 1942 เนื่องเพราะการลุกฮือของลัทธิต่อต้านยิวในยุโรป ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่สหรัฐ เขาได้ถิ่นฐานอยู่ในกรุงนิวยอร์ก และได้วาดภาพปก และภาพประกอบส่วนใหญ่ ให้กับนิตยสาร The New Yorker นอกจากนั้นยังมีนิตยสารอื่นๆ อีก 2 – 3 เล่ม แล้วก็ยังทำงานศิลปะเพ่อจัดแสดงยังแกลเลอรีต่างๆ ด้วย (ผลงานที่สร้างชื่อที่สุดคือ View of the World from 9th Avenue จากปี 1976)
สำหรับงานบรัสเซล เวิลด์ แฟร์ ในปี 1958 นับเป็นงานแสดงสินค้าระดับโลกครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในงานเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งสงครามเย็น ระหว่างคู่แข่งตัวฉกาจอย่างสหรัฐและโซเวียต ภาพลายเส้นที่ขนาดยาวต่อกันถึง 75 เมตร แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวอเมริกันในยุคนั้นในแบบพาโนรามา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคนใจกลางเมือง ไปถึงคนในชนบท
ในภาพเดียวนี้ ซาอูล อาศัยเทคนิคหลากหลาย และแรงบันดาลใจจากสื่อกับวัสดุที่แตกต่างกัน ทั้งภาพร่างดรอว์อิง ภาพถ่าย ภาพประดับฝาผนัง กระดาษกล่อง แล้วก็ภาพการ์ตูน
The Americans คือมุมมองของเขาเกี่ยวกับชีวิตของคนอเมริกัน ที่ดูแล้วเจืออารมณ์ขัน แล้วก็มองโลกในแง่ดี โดยปราศจากความคิดในด้านมืด แม้ว่าตัวซาอูลเองจะเพิ่งผ่านประสบการณ์อพยพหนีตายมายังสหรัฐได้ไม่นาน ทว่า รูปนี้ยังมีกลิ่นอายของการเป็นคนนอกที่มองเข้าไปในสังคมใหม่อย่างตื่นตาตื่นใจ
หลังจากการแสดงงานฉบับเต็มในบรัสเซล เวิลด์ แฟร์ ในปี 1958 ภาพขนาดยาว 75 เมตร ได้นำไปจัดแสดงที่ มูเซ รัวโยซ์ เดส์ โบซาร์ตส์ ที่กรุงบรัสเซลส์ เสร็จแล้วก็ได้รับการตัดแบ่งเป็น 84 ส่วน เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และการเก็บรักษา อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็ยากที่จะหาสถานที่ที่จะจัดแสดงในแบบเต็มๆ เช่นนั้นอีกจนกระทั่งวันนี้
นอกจากภาพพาโนรามายาว 75 เมตรแล้ว ยังมีภาพวาดลายเส้น ภาพคอลลาจ แล้วก็หน้ากากที่ทำจากถุงกระดาษอันเลื่องชื่อ ของซาอูล สไตน์แบร์ก จัดแสดงเอาไว้พร้อมกันที่มิวเซียมลุดวิกครั้งนี้ด้วย
หลายๆ แกลเลอรีและหอศิลป์ในสหรัฐ มีผลงานของซาอูลอยู่ในคอลเลกชันของพวกเขา เช่นเดียวกับบางแห่งในยุโรป มิวเซียมลุดวิก รวบรวมผลงานเด่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานหลักๆ The Americans เอาไว้มากที่สุด พร้อมๆ กับจัดแสดงผลงานศิลปะแนวป๊อปอาร์ต และงานศิลปะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยศิลปินรายอื่นๆ ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ด้วย
(รายละเอียดเพิ่มเติม www.museumludwig.de)
ประติมากรรมร่วมสมัย รอน มิวเอค
นิทรรศการประติมากรรมร่วมสมัย ผลงานใหม่ล่าสุดของประติมากรชาวออสซี รอน มิวเอค จัดแสดงอยู่ที่ มูลนิธิส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยการ์ติเยร์ (Fondation Cartier pour l’art contemporain) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่ง 29 ก.ย. 2013 โดยเป็นการแสดงงานประติมากรรมแบบเต็มสตรีมของเขาครั้งแรกบนผืนแผ่นดินยุโรป
ชื่อของ รอน มิวเอค อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูคนเสพย์ศิลปะมากมายนัก เพราะเขาเพิ่งจะผุดขึ้นมาในโลกประติมากรรมอย่างช้าๆ นอกจากนี้ ประติมากรรมในสไตล์ของเขาก็อาจจะไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบกันในวงกว้าง
หลังจากปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเขาได้มีส่วนในนิทรรศการครั้งหนึ่งของหอศิลป์ที่มูลนิธิแห่งเดียวกันนี้ ชาวปารีเซียงก็มีโอกาสได้ชมประติมากรรมแนวไฮเปอร์เรียลิสติก หรือพูดภาษาชาวบ้านก็ได้ว่า “โค-ตะ-ระ” เหมือนจริง (เลย) กันแบบเต็มๆ อีกครั้งหนึ่ง
ไฮไลต์ได้แก่ชิ้นงานอย่าง Young Couple, Woman with Shopping Bags และ Couple under an Umbrella ที่แต่ละชิ้นงานแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์หลากรูปแบบในสังคมปัจจุบัน อย่าง Young Couple รอนถ่ายทอดความสัมพันธ์ของคู่รักวัยรุ่น ที่นับวันอายุเฉลี่ยจะน้อยลงทุกที
ขณะที่ Woman with Shopping Bags เรื่องราวของหญิงสาวยุคใหม่ที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในคราวเดียว เมื่อไปช็อปปิง เธอก็ยังต้อง (พก) พาลูกน้อยใส่ไว้ในเสื้อโค้ตด้านหน้าด้วย ส่วน Couple under an Umbrella นั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักสูงวัย ที่ชายชรานอนตักภรรยาอยู่ใต้ร่มชายหาด
เหตุที่ชิ้นงานทั้งสามกลายเป็นไฮไลต์ในนิทรรศการประติมากรรมครั้งนี้ เนื่องจากปกติแล้วที่ผ่านมา รอน มิวเอค มักจะปั้นรูปมนุษย์สไตล์ไฮเปอร์เรียลิสติกของเขาเป็นบุคคลโดดเดี่ยวเสียมากกว่า แต่ครั้งนี้ประติมากรรมมนุษย์สุดจะเหมือนจริงของเขา กลับเพิ่มประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนขึ้นมาด้วย
รอน มิวเอค เป็นชาวออสเตรเลียนเชื้อสายเยอรมัน ปัจจุบันเขาอาศัยและสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นอาชีพจากการทำโมเดลให้รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ก่อนที่จะพัฒนาไปทำให้การถ่ายทำโฆษณาสินค้า โดยทำเต็มรูปแบบก็คือ ทำหุ่น จัดพร็อพ และถ่ายทำภาพเคลื่อนไหวสไตล์แอนิเมชันไปด้วย
รอนฝึกฝนจนเชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเส้นผมให้เหมือนผมจริง ร่องรอยบนใบหน้าจากการยิ้ม รวมถึงการจัดท่วงท่าต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคน เมื่อมาสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมในรูปแบบศิลปะเต็มตัว ความสามารถในการปั้นมนุษย์สุดจะเหมือนจริงแบบเป๊ะเวอร์ จึงทำให้ผู้เข้าชมตะลึงไปตามๆ กัน โดยเฉพาะการแสดงอารมณ์ชนิด “ล้นเหลือ” ออกทางสีหน้าของหุ่นแต่ละตัวยิ่งทำให้ผู้คนทึ่ง
สำหรับในนิทรรศการแบบเต็มรูปแบบ ณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยการ์ติเยร์ครั้งนี้ มีโกติเยร์ เดอบลงด์ ช่างภาพชาวฝรั่งเศสมาเพิ่มสีสัน ด้วยการทำสารคดี Still Life: Ron Mueck at Work ความยาว 50 นาที ที่จะฉายให้เห็นเบื้องหลังของผลงานต่างๆ ที่จัดแสดงเอาไว้ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ภาพสเก็ตช์ มาจนเป็นแม่พิมพ์ซีลีโคน กระทั่งออกมาเป็นชิ้นงานได้อย่างไร
ผลงานเด่นในอดีต
-ปี 1996 เขาเริ่มทำประติมากรรมเพื่อจัดแสดงจริงจัง โดยร่วมกับ พอล่า เรโก แม่ยายของเขาเอง สร้างหุ่นรูปคนตัวเล็กๆ แสดงที่เฮย์เวิร์ด แกลเลอรี ย่านเซาธ์แบงก์ กรุงลอนดอน งานนั้นถูกใจชาร์ลส์ ซาชิ เจ้าของเอเยนซีโฆษณาชื่อดังมาก ถึงกับเริ่มทำตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ และสะสมงานของรอน มิวเอค
-ปีเดียวกัน ประติมากรรม Dead Dad เป็นร่างไร้วิญญาณของพ่อรอนในลักษณะมิกซ์มีเดีย โดยเขาใช้ผมของตัวเองสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีขนาดเล็กกว่าตัวจริงราว 2 ส่วน 3 ออกโชว์ในนิทรรศการ Sensation ร่วมกับประติมากรท่านอื่นๆ ณ หอศิลป์ของรอยัล อคาเดมี
-ปี 1999 รอนสร้างประติมากรรมที่เล่นกับขนาดสุดเวอร์ สูง 5 เมตรชื่อ Boy แสดงในมิลเลนเนียมโดม ย่านกรีนิช กรุงลอนดอน ก่อนย้ายไปแสดงที่เวนิส เบียนนาเล และปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ร่วมสมัยอารอส ในเดนมาร์ก
-ปีเดียวกันเขาได้แสดงงาน Mother and Child, Pregnant Woman, Man in a Boat และ Swadled Baby ร่วมกับศิลปินอังกฤษที่หอศิลป์แห่งชาติอังกฤษ ในกรุงลอนดอน โดยหอศิลป์ขอซื้อประติมากรรม Pregnant Woman ไปในราคา 8 แสนเหรียญออสเตรเลีย รั้งออทางต่างๆ
-ปี 2007 นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่หอศิลป์ร่วมสมัยฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส ในสหรัฐ จัดแสดงผลประติมากรรมชิ้นเอกกว่า 13 ผลงาน เช่น Untitled (Seated Woman) Dead Dad, In Bed, Untitled (Big Man), Two Women, Crouching Boy in Mirror, Spooning Couple, Mask II, Mask III, Wild Man แล้วก็ A Girl จากนั้นมี Ron Mueck at The Andy Warhol Museum ที่หอศิลป์แอนดี วอร์ฮอล ในพิตส์เบิร์ก สหรัฐ รอนคัดผลงานชิ้นเอก อย่าง A Girl, In Bed,Wild Man, Spooning Couple, Man in a Boat, Mask II และ Mask III
-ปี 2009 ได้รับเชิญไปแสดงงานครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ณ หอศิลป์ร่วมสมัยคาวาซาวะ ผลงานเด่นคือ A Girl พร้อมหนังสั้นเกี่ยวกับตัวเขา 2 เรื่อง ฉายในนิทรรศการครั้งนั้น
-ปี 2010 รอน รวบรวมผลงานเกือบทั้งหมด จัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติวิคตอเรีย ในบ้านเกิดของเขาที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
พลิกตำนาน โรมารี แบร์เดน A Black Odyssey
เมื่อปี ค.ศ. 1977 ศิลปินหนุ่มแอฟริกัน – อเมริกัน โรมารี แบร์เดน (มีชีวิตระหว่าง ปี ค.ศ. 1911 – 1988) สร้างสรรค์ผลงานคอลลาจและสีน้ำ ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมคลาสสิกอันเลื่องลือของโฮเมอร์ The Odyssey ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า A Black Odyssey โดยเนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องส่วนต่อขยายของงานศิลปะก่อนหน้านี้ของเขา ที่เท้าความไปถึงประวัติศาสตร์แห่งเผ่าพันธุ์ ของคนผิวสีในอเมริกา ซึ่งคล้ายว่าเป็นผลงานที่เล่าเรื่องบรรพบุรุษของเขาเองก็ไม่ปาน
ระหว่างวันนี้ – 11 ส.ค. สถาบันสมิธโซเนียน ผู้เป็นเจ้าของผลงานศิลปะดังกล่าว จัดนิทรรศการ Romare Bearden: A Black Odyssey ณ หอศิลปะอเมริกัน แอมอน คาร์เตอร์ ในฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส รวบรวมกว่า 50 ชิ้นงาน ที่นำเอาเทพปกรณัม ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้ายมาแปลงกายเป็นชาวผิวสี นอกจากนี้ ยังได้แปลงเรื่องราวจากบทกวี The Odyssey มาเป็นเรื่องราวสุดเสียดสี ที่ดูมีความเป็นสากลประกอบเอาไว้ด้วย
โรมารี เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ทางด้านศิลปะหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ดนตรี หรือศิลปะการแสดง นอกจากนี้ เขายังล้ำเลิศทางด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์อีกต่างหาก จึงไม่แปลกที่เขาจะหลอมรวมความสามารถทั้งหมด แล้วสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานที่ว่ามา
ว่าที่จิตรกรผิวสีเริ่มศึกษาที่มหาวิทยาลัยลินคอล์น ก่อนที่จะย้ายหน่วยกิตไปยังมหาวิทยาลัยบอสตัน แต่สุดท้ายไปศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ทางด้านการศึกษา โดยขณะที่เรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กนั้น เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านศิลปะไปพร้อมๆ กัน แถมยังได้งานเขียนการ์ตูน และเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของหนังสือรายเดือน The Medley โดยก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ให้ Beanpot นิตยสารแนวขบขันของมหาวิทยาลัยบอสตันมาแล้ว
หลังจากเรียนเสริมทางด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กอยู่ 1 ปี ก็เกิดติดใจ จึงไปเรียนเพิ่มอีกที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังศึกษาจบ ในปี ค.ศ. 1935 โรมารี เข้าทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ให้กับหนังสือ Baltimore Afro-American ทำอยู่ 2 ปีเต็ม เขาก็เริ่มออกมารวมกลุ่มกับศิลปินด้วยกัน โดยสังกัดฮาร์เล็ม อาร์ทิสต์ กิลด์
โรมารี หันมาทำงานและศึกษาเรื่องศิลปะอย่างเต็มตัว จากศิลปินระดับมาสเตอร์ชาวยุโรป ตั้งแต่ระดับ ดุคโช เด ลูกา จอตโต ดิ บอนโดเน และปีเตอร์ เด ฮุช ไปจนถึง โปล เซซานน์ ปาโบล ปิกัสโซ และอองรี มาติสส์ รวมไปถึงศิลปะแอฟริกัน (ประติมากรรม หน้ากาก และผ้าทอ) ศิลปะโมเสกไบเซนไทน์ รวมไปจนถึงภาพพิมพ์ญี่ปุ่น แล้วก็ภาพวาดแลนด์สเคปของจีน โดยระหว่างทศวรรษที่ 1930 – 1960 เขาทำงานกลายวันที่เทศบาลเมืองนิวยอร์ก ส่วนตอนกลางคืนและวันเสาร์-อาทิตย์ มีไว้ศึกษาและทำงานศิลปะ
ในที่สุด โรมารี แบร์เดนก็มีนิทรรศการศิลปะครั้งแรกในฮาร์เล็ม กรุงนิวยอร์ก ในราวๆ ปี ค.ศ. 1940 ตามด้วยที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในปี ค.ศ. 1944 และหลังจากนั้นอีกหลายครั้งทั่วสหรัฐและทวีปยุโรป ทั้งในรูปแบบคอลลาจ ภาพสีน้ำ สีน้ำมัน ภาพโฟโต้มอนทาจ (นำภาพถ่ายมาปะต่อให้ได้องค์ประกอบและเรื่องราวใหม่) รวมทั้งศิลปะสื่อผสมที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ดนตรี และศิลปะไปพร้อมๆ กัน
ทศวรรษที่ 1970 โรมารี ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เซนต์มาร์ติน ในหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา หลังจากนั้นผลงานศิลปะของเขามักถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชาวเกาะและมีฉากส่วนใหญ่เป็นท้องทะเล
โรมารี แบร์เดน ได้รับการจดจำว่าเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ที่สุดของศตวรรษที่ 20 อาจเนื่องเพราะเขาสร้างสรรค์งานไว้มากมายหลากหลายแขนง โดยเฉพาะผลงานคอลลาจที่ดูเหมือนลายผ้าทอของแอฟริกัน ที่มี 2 ชิ้นได้ขึ้นปกนิตยสาร Fortune และ Time ในปี ค.ศ. 1968
ปัจจุบัน มีผลงานของเขาแสดงอยู่ในหอศิลป์ต่างๆ มากมาย ในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น โมมา นิวยอร์ก วิทนีย์ มิวเซียม หอศิลป์ฟิลาเดลเฟีย หอศิลป์บอสตัน สถาบันศิลปะดีทรอยต์ และแน่นอน ที่สตูดิโอมิวเซียม ในฮาร์เล็ม และหอศิลป์แห่งชาติ กรุงวอชิงตัน ดีซี ฯลฯ
สำหรับนิทรรศการนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันสมิธโซเนียน มูลนิธิโรมารี แบร์เดน ดีซีมอร์ แกลเลอรี โดยได้ภัณฑารักษ์จากสถาบันภาษาและวรรณคดีอังกฤษ เดอะ โซรา นีลี แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รวมทั้งความสนับสนุนจากมูลนิธิสตาฟรอส นิอาร์คอส
----------
ไปชมภาพของ โรมารี แบร์เดน ได้ที่
www.nga.gov/feature/bearden/img-list.shtm และ www.cartermuseum.org/exhibitions/romare-bearden-a-black-odyssey/artworks/28795
วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ค้นหาแก่นมาติสส์
The Gulf of Saint-Tropez |
ในแวดวงศิลปะ ไม่มีใครไม่รู้จัก อองรี มาติสส์ (มีชีวิตระหว่าง ค.ศ.1869 - 1954) ศิลปินที่โดดเด่นที่สุดแห่งต้นศตวรรษที่ 20
ตลอดชีวิตการทำงานของเขาเต็มไปด้วยมาตรฐานและการตรวจสอบตัวเอง
เคลเมนต์ กรีนเบิร์ก นักวิจารณ์ศิลปะรุ่นเดียวกับศิลปิน บอกว่า อองรี รู้จักการวาดภาพพอๆ กับรู้วิธีหายใจ “ตลอดชีวิตการทำงาน เขาตั้งคำถามกับงานของตัวเอง วาดใหม่จนกว่าจะพอใจ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลงานของเขาได้มากเสมอ
ผลงานที่วาดเสร็จแล้วเป็นอุปกรณ์ชั้นเลิศของเขา ที่มีไว้ปรับปรุง แก้ไของค์ประกอบภาพ เพิ่มเทคนิค มุมมองใหม่ๆ ลงไป ให้ได้ภาพเขียนที่ลุ่มลึกกว่าเก่า”
Le Luxe I |
ในนิทรรศการ Matisse: In Search of True Painting ระหว่างวันนี้ – 17 มี.ค. ณ ชั้น 1 ด้านลีล่า เอชสัน วอลเลซ วิง ของโมมา นิวยอร์ก (The Metropolitan Museum of Art) ทุกคนสามารถไปค้นหาตัวตนที่ลึกซึ้งของจิตรกรฝรั่งเศสรายนี้ได้ จากภาพเขียน 49 ภาพ ที่ได้รับความร่วมมือจาก หอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก (Statens Museum for Kunst) กรุงโคเปนเฮเกน และศูนย์ศิลปะสมัยใหม่ซองเทรอ ปอมปิดู (Centre Pompidou, Musee National d’Art Moderne) กรุงปารีส
Young Sailor I |
อองรี ศึกษาจากการวาดภาพก๊อปปี้ผลงานระดับปรมาจารย์ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ไม่ว่าจะเป็น โปล
เซซานน์ (1839 - 1906) หรือ โปล ซีญัค (1863 - 1935) โดยในช่วงปี 1904 – 1905 เขาเริ่มวาดภาพแนวสติลไลฟ์ (Still Life) โดยก๊อปปี้จาก 2 มาสเตอร์ที่ว่า ด้วยการทำออกมาคราวละ 2 แบบ 2 สไตล์
ชิ้นหนึ่งวาดตามระบอบของโอลด์มาสเตอร์ที่เขาชื่นชอบ ส่วนอีกชิ้นใส่สีสันสดๆ เช่นว่า สีเขียว สีม่วง กับฝีแปรงแนวขวางๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองลงไป
Interior with Violin (Room at Beau-Rivage) |
อองรี มาติสส์ อธิบายภายหลังว่า การทำงานออกมาหลายๆ เวอร์ชั่นดังกล่าว ก็เพื่อที่จะถ่ายทอดความเข้มข้นของเส้นสี และอารมณ์ของแต่ละภาพอย่างที่เขาต้องการ
ในที่สุดก็พัฒนาออกมาเป็นสีสันในสไตล์ของตัวเอง อันสุดแสนจะจัดจ้าน ร้อนแรง จนได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกรูปแบบศิลปะ สไตล์โฟวิสม์ (Fauvism) ที่เริ่มเห็นได้ชัดในชิ้นงาน Young Sailor I และ Young Sailor II ปี 1906 และ Le Luxe I ปี 1907 กับ Le Luxe II ปี 1907 – 8
Still Life with Magnolia |
Meditation (Portrait of Laurette) |
หลังจากเริ่มทดลองวาดภาพ 2 สไตล์ในคราวเดียวกันเป็นเวลา 10 ปี อองรี มาติสส์ หันมาวาดภาพขนาดใหญ่ โดยมีแรงบันดาลใจเป็นศิลปะในยุคอิมเพรสชันนิสม์
ผลงานโดดเด่นในช่วงนี้ อย่าง Meditation (Portrait of Laurette) ปี 1916 – 7 กับชิ้นงานจำนวนมาก ที่วาดขึ้นในฉากหลังเป็นโรงแรมโบ – รีวาจ ที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส โดยตั้งใจเขียนเป็นภาพประดับผนังโรงแรมแห่งเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดการปฏิวัติภาพศิลปะในโรงแรมหรูทั่วยุโรปไปอย่างสิ้นเชิง
Notre-Dame, 1914 |
ในการทำงาน อองรี จ้างช่างภาพมาถ่ายภาพนางแบบเอาไว้ ก่อนที่เขาจะสร้างสรรค์ชิ้นงานเหล่านั้นออกมาเป็นงานจิตรกรรม ซึ่งในปี 1945 ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงภาพในซีรีส์นี้ พร้อมทั้งภาพถ่ายกับบรรยากาศในสตูดิโอทำงานของอองรี แบบเคียงคู่กันชิ้นต่อชิ้น ที่แกลเลอรี แมห์ต กรุงปารีสด้วย ขึ้นมาแต่แฝงไว้ด้วยสไตล์แบบโอลด์มาสเตอร์
อองรี มาติสส์ ยังสร้างสรรค์ภาพแนวอินทีเรียร์ไว้อีกที่ วิลล่า เลอ เรฟ เมืองวองซ์ ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปี 1944 – 1948
เขาเคยเขียนจดหมายถึงลูกชาย ปิแอร์ มาติสส์ พูดถึงสีสันสดๆ จัดๆ ที่เขานิยมใช้นั้น ก็เพื่อต้องการจะสื่อสารให้ถึงตรง และใกล้ชิดกับผู้เสพย์ศิลปะ
วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556
ฮูโก พรัตต์ คาแรกเตอร์การ์ตูนเล่าเรื่อง
นักวาดการ์ตูนชาวอิตาเลียน ฮูโก พรัตต์ ผสานการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมอันเป็นเสน่ห์ของเขา ผ่านการถ่ายทอดทางคาแรกเตอร์ที่ชื่อว่า กอร์โต มัลเตเซ จนแทบจะกลายร่างเป็นตัวตนคนจริงๆ เพราะผู้คนที่เป็นแฟนๆ ของเขาเชื่อสนิทใจในเรื่องราวที่เขาเล่าขาน
ฮูโก ยูจีโน พรัตต์ เกิดที่ริมินีในเมือง โรมาญา เป็นลูกของโรลันโด พรัตต์ และเอเวลินา เจเนโร แต่เขาไปโตที่เมืองเวนิซ ท่ามกลางแวดล้อมของครอบครัวที่ผสมผสานกันหลายชาติหลายภาษา -- คุณปู่ของเขาที่เชื้อสายมาจากอังกฤษ ขณะที่คุณตาเป็นยิว ส่วนคุณยายมีเชื้อสายตุรกี แถมเขายังเป็นญาติกับนักแสดงดัง บอริส คาร์ลอฟฟ์ (เจ้าของบทบาทแฟรงเกนสไตน์) ที่ชื่อจริงคือ วิลเลียม เฮนรี พรัตต์ อีกด้วย
ในปี 1937 ฮูโกกับมารดาย้ายไปยัง เอธิโอเปีย (อะบิสสิเนียสมัยนั้น) เนื่องจากบิดาซึ่งเป็นนายทหารต้องไปประจำการที่นั่นหลังจากรัฐบาลฟาสซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินีเข้ายึดครอง บิดาของฮูโกถูกทหารอังกฤษจับในปี 1941 และเสียชีวิตในปีต่อมาหลังจากติดโรคร้ายขณะถูกขังอยู่ในค่ายเชลยสงคราม
ปีเดียวกับที่พ่อตาย เขาและแม่ถูกย้ายไปอยู่ในค่ายเชลยสงครามที่ดีเรดาอูในฐานะแพทย์ฝึกหัด ฮูโกขอซื้อหนังสือ การ์ตูนจากผู้คุมนักโทษ ก่อนที่เขาจะถูกส่งกลับอิตาลีโดยหน่วยกาชาดในไม่ช้า
ในปี 1944 เขาเกือบไม่ได้โตขึ้นมาเป็นนักวาดการ์ตูน เพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสปายชาวแอฟริกาใต้ และเกือบโดนทหารหน่วยเอสเอสของนาซีฆ่าตาย
อย่างไรก็ตาม เขารอดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ และไปปักหลักอยู่ที่เมือง เวนิซ อาศัยหาเลี้ยงชีพโดยการแสดงให้ทหารพันธมิตรชม หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เข้าร่วมกลุ่มกับนักวาดการ์ตูนชาวอิตาเลียน ซึ่งรวมทั้งคนดังๆ อย่าง อัลแบร์โต องกาโร และมาโร ฟาอุสติเนลลิ ด้วย
สำหรับฮูโก คนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา ก็มีทั้งเจมส์ โอลิเวอร์ เคอร์วูด เซน เกรย์ เคนเนธ โรเบิร์ตส์ ลีแมน ยัง วิล ไอส์เนอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิลตัน คานิฟฟ์
กลุ่มของเขาออกนิตยสารการ์ตูน Asso di Picche เล่มแรกในปี 1945 นอกจากฮูโกและเพื่อนคนสำคัญ 2 คนข้างต้นแล้ว ยังมีอัลโบ อูรากาโน การ์ตูนนิสต์ชื่อดังที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัย และนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ๆ อีกมากมาย ทั้ง ดีโน บัตตากลา รินัลโด ดามี และจอร์โจ เบลยาวีติส
Asso di Picche (หรือ 1 โพธิ์ดำ) ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศอาร์เจนตินา ที่ฮูโกได้รับเชิญไปในปี 1949
ฮูโก ยูจีโน พรัตต์ |
นอกจากนี้ เขายังสอนการวาดภาพที่สถาบันศิลปะ Escuela Panamericana de Arte ของเอนริเก ลิปส์ซิกด้วย
ยามว่าง ฮูโก พรัตต์ มักจะเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอเมริกาใต้ ทั้งป่าอะเมซอนและมาตู โกรซู และนั่นก็เป็นแรงบันดาลใจสู่การ์ตูนเล่มแรกที่ทั้งเขียนและวาดเอง Anna della jungla ตามด้วย Capitan Cormorant และ Wheeling
ฤดูร้อนปี 1959 เขากลับมายุโรป โดยแวะไปอยู่ที่อังกฤษ 1 ปีเต็มก่อนจะกลับบ้านเกิดที่อิตาลี เขาทำงานให้สำนักพิมพ์ฟลีตเวย์ ร่วมกับนักเขียนชาวอังกฤษ เนื่องด้วยอาร์เจนตินาประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เขาจึงกลับอิตาลีในปี 1962 และเริ่มทำงานกับสำนักพิมพ์ที่สร้างสรรค์นิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็ก Il Corriere dei Piccoli โดยฮูโกได้นำนิยายคลาสสิกหลายเรื่องมาเล่าใหม่ในรูปแบบการ์ตูน อย่างเช่น เรื่อง Treasure Island ของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน
ในปี 1967 ฟลอนเรนโซ อิวาดี ชวนเขาทำแมกกาซีนการ์ตูน โดยตั้งชื่อตามฮีโร่ของเขา Sgt. Kirk อันเป็นคาแรกเตอร์จากเรื่องราวของนักเขียนชาวอาร์เจนไตน์ เอคตอร์ โอเอสเตร์เฮลด์ – คาแรกเตอร์ชื่อดังของฮูโก กอร์โต มัลเตเซ ตีพิมพ์ครั้งแรกที่นี่ กับตอนที่ชื่อว่า Una ballata del mare salato ซึ่งกลายเป็นเรื่องขายดีพอๆ กับเริ่มโด่งดังเป็นพลุแตก
ซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากในอิตาลีแล้ว ยังตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนของฝรั่งเศส Pif ด้วย
เนื่องด้วยความที่ฮูโก พรัตต์ เป็นส่วนผสมของหลายเชื้อชาติศาสนา เรื่องราวที่ปรากฏในซีรีส์กอร์โต มัลเตเซของเขา จึงมักมีสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับประวัติของบรรพบุรุษหลายสาย ทั้งอังกฤษ ทั้งยิว และตุรกี หลายๆ ครั้งที่เรื่องราวของ กอร์โตอิงกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เช่น การอ้างถึงสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในปี 1755 ที่ติกอนเดโรกา สงครามแย่งอาณานิคมในแอฟริกา สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เป็นอาทิ
เสน่ห์อย่างหนึ่งของซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ คือการสืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดแม่นยำ ก่อนจะมาเล่าเป็นเรื่องราวที่ โลดแล่นอย่างสมจริง
แม้ฮูโกจะสร้างสรรค์ซีรีส์ดังๆ อย่าง Gli scorpioni del deserto และ Jesuit Joe ด้วย แต่หลักๆ แล้ว เป็นสิบๆ ปีทีเดียวที่เขาอยู่กับคาแรกเตอร์หลัก อย่าง กอร์โต เพียงตัวเดียว โดยนอกจากได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารแล้ว ยังมีการรวมเล่มออกมาเป็นตอนๆ หลายเล่มด้วยกัน และซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ ได้รับการแปลไปเป็นกว่า 15 ภาษาทั่วโลก
ในบั้นปลายของชีวิต ฮูโกใช้เวลาไปกับการเดินทาง จากแคนาดาไปพาตาโกเนีย จากแอฟริกาไปแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในเดือน ส.ค. 1995
หลังจากที่เขาเสียชีวิต The Scorpions of the Desert เรื่องเล่าที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งได้รับการตีพิมพ์ในอังกฤษ และในปี 2005 อันเป็นการฉลองครบรอบทศวรรษแห่งการจากไปของฮูโก พรัตต์ ซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ 6 เล่มพิมพ์ออกมาในเวอร์ชันภาษาฝรั่งเศส และประกาศว่า ตอนต่อซีรีส์เล่มที่ 7 Le chemin de fievre จะออกวางแผงในเดือนมี.ค. 2008 โดยมี ปิแอร์ วาซีม เป็นผู้วาดภาพ
เช่นเดียวกับการสานต่อซีรีส์กอร์โต มัลเตเซ ที่สำนักพิมพ์ของฝรั่งเศสบอกว่า จะยังออกซีรีส์พิเศษเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี
ผลงาน ณ บั้นปลาย ของ ซัลวาดอร์ ดาลิ
Salvador Dali : The Late Work รวบรวมผลงานในช่วงปลายของชีวิต ศิลปินเซอร์เรียลิสต์ชาวสเปน ซัลวาดอร์ ดาลิ จัดแสดงครั้งล่าสุดอยู่ที่หอศิลป์ ไฮ มิวเซียม ออฟ อาร์ต (High Museum of Art) ในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา โดยนับว่าเป็นชิ้นงานที่ไม่เคยจัดแสดงต่อสาธารณชนที่อเมริกา มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว
ซัลวาดอร์นับเป็นจิตรกรเซอร์เรียลิสต์แถวหน้า โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงและโดดเด่นในแนว “เหนือจริง” อย่างภาพนาฬิกาหลอมละลายใน The Persistence of Memory ทำให้เขากลายเป็น “ไอคอน” ของวงการ ทว่า หลังจากสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางนี้มาเป็นสิบๆ ปี เขาก็แยกตัวออกจากวงการไปสร้างสรรค์งานในรูปแบบอื่นๆ ทั้งด้วยเหตุผลทางด้านศิลปะและการเมือง
สำหรับผลงานที่จัดแสดงที่หอศิลป์ไฮ มิวเซียม ออฟ อาร์ต เป็นผลงานในช่วงหลังของชีวิต คือตั้งแต่ปี 1940 ถึง 1983 ซึ่งภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการนี้ อย่าง เอลเลียต คิง บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจในการศึกษาผลงานศิลปะของซัลวาดอร์ ดาลิ อีกช่วงหนึ่งเช่นกัน
“เราได้เห็นผลงานของเขาตลอดศตวรรษที่ 20 แต่ว่า ดูเหมือนผู้คนจะโฟกัสไปในงานแนวเซอร์เรียลิสม์ในช่วงทศวรรษที่ 1930 มากที่สุด และเมื่อเขาเปลี่ยนแนวในการสร้างสรรค์ผลงาน ก็คล้ายกับซัลวาดอร์ได้ตายไปเลยตั้งแต่ปี 1940” เอลเลียต กล่าว
ซัลวาดอร์ ดาลิ ออกมาประกาศว่า ตัวเขาคือจิตรกรประเภทคลาสสิกในปี 1941 และเริ่มสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางที่ประกาศออกมานับจากนั้น ทำให้บรรดานักวิจารณ์ออกมาดูหมิ่นดูแคลน และกล่าวหาว่า งานของเขาเหมือนกำลังเย็บปักถักร้อย หรือบางชิ้นก็มุ่งเชิงพาณิชย์มากเกินไป “ผมว่าบางทีคนทั่วไปก็อาจจะมองความแตกต่างของผลงานทั้งสองช่วงไม่ออกด้วยซ้ำ”
ภัณฑารักษ์คนเดิมให้ความเห็นต่อว่า แม้การเปลี่ยนแนวของซัลวาดอร์จะเป็นต้นเหตุของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ “แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจในผลงานของเขาช่วงท้ายนี้”
เอลเลียต ว่า ในนิทรรศการครั้งนี้จะสร้างความรับรู้ในหลายระดับ สำหรับคนที่เพิ่งจะศึกษาผลงานของซัลวาดอร์ ดาลิ ก็จะสามารถได้ข้อมูลขั้นต้นในด้านจินตนาการลึกๆ และความรักการแสดงออกของศิลปินสแปนิช ขณะที่คนซึ่งรู้จักซัลวาดอร์ดีอยู่แล้ว ก็สามารถมาศึกษาความคิดในการงานสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้ง อีกหลายอย่างที่อาจไม่เคยเห็นในการแสดง ที่อื่นมาก่อน
นิทรรศการเบิกโรงด้วยภาพหนวดยาวอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินสเปน ถ่ายโดยช่างภาพอเมริกัน ฟิลิปป์ ฮัลส์แมน ตามด้วยผลงาน ในอดีตของซัลวาดอร์พอหอมปากหอมคอ เพื่อ “เท้าความ” สำหรับคนที่ไม่เคยชมผลงานของเขามาก่อน ก่อนที่จะเริ่มเข้าถึงผลงานช่วงหลังจากปี 1940 ทั้ง Nuclear Mysticism ที่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของเขาเอง คือ การกลับเข้าเป็นชาวคริสต์อีกครั้ง และเรื่องราวเกี่ยวกับนิวเคลียร์ที่เขากำลังสนใจ
ภาพที่ต่อเนื่องกันคือ The Madonna of Port-Lligat เป็นภาพขนาดใหญ่รูปพระแม่ มารีทรงอุ้มพระบุตร รายรอบด้วยกรอบเฟรมภาพที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ภาพนี้ขอยืมมาจาก หอศิลป์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เคยจัดแสดงในอเมริกามาตั้งแต่ปี 1951
อีกภาพที่โดดเด่นมาก ได้แก่ Santiago El Grande (Homage to Saint James) เป็นภาพของนักบุญเจมส์ ซึ่งถือว่าเป็นนักบุญผู้พิทักษ์ประเทศสเปน ในภาพยังมีพระเยซูถูกตรึงกางเขน ส่วนนักบุญเจมส์อยู่บนหลังม้าที่ทะยานขึ้นบนกลุ่มควันของระเบิดปรมาณู ภาพดังกล่าวขอยืมมาจากบีเวอร์บรูก อาร์ต แกลเลอรี ในเมือง นิวบรุนสวิก ประเทศแคนาดา ซึ่งไม่เคยให้ ใครยืมออกนอกสถานที่เลย นับแต่ได้ภาพนี้ไว้ ในครอบครองเมื่อปี 1959 เอลเลียตจึงเสริมว่าได้จัดแสดงเอาไว้ในที่สูง และต้องแหงนหน้า ชมกันนิดหน่อยเพื่อความปลอดภัยของภาพ
Christ of St. John of the Cross คือภาพดังอีกภาพ แสดงให้เห็นพระเยซูบนไม้กางเขน อยู่เหนือทุกสรรพสิ่งบนโลก ข้างๆ ภาพดังกล่าว แสดงให้เห็นภาพศิลปินสเปนถ่ายรูปคู่กับบ๊อบบี เคนเนดี หน้าภาพเขียนเดียวกันเมื่อครั้งนำมาจากสกอตแลนด์ เพื่อมาแสดงในอเมริกาครั้งล่าสุดเมื่อปี 1965
ขณะที่ภาพ Assumpta Corpuscularia Lapilazulina คล้ายเป็นการกล่อมเกลาจิตใจ ซัลวาดอร์ ดาลิเอง ภาพนี้เป็นสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งไม่เคยออกแสดงต่อสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 1959 เช่นกัน เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ แสดงภาพใบหน้าของ กาลา ภรรยาของเขาเองในฐานะพระแม่มารีกำลังสวดส่งพระวิญญาณของ พระเยซูไปสู่สรวงสวรรค์
ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการศิลปะ Salvador Dali : The Late Work บอกว่า ภาพแต่ละภาพในยุคนี้ ราวกับเรากำลังเดินทางแสวงบุญไปพร้อมกับผลงานของเขา
สำหรับส่วนแสดงงานสุดท้าย เอลเลียตเรียกว่า “ผลงานป๊อปอาร์ตของดาลิ” ซึ่งนับว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปินแนวนี้มากมาย ทั้งแอนดี วอร์ฮอล และเจฟฟ์ คูนส์
ภาพร่างระดับโลกบนกระดาษ กราฟฟิก คอลเลกชัน ราชวงศ์เดนมาร์ก
คริสโตเฟอร์ วิลเฮล์ม เอกเคอร์เบิร์ก At a Window in the Artist's Studio |
The Royal Collection of Graphic Art เซกชันเล็กๆ ในนิทรรศการแสดงศิลปะ The Royal Collections ณ สตาเทน มิวเซียม ฟอร์ คุนสท์ หรือ หอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก “ขโมยซีน” ทุกนิทรรศการงานศิลป์สุดอลังการ
ขณะที่ เซกชัน Danish and Nordic Art 1750-1900 ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเป็นการรวมศิลปินท้องถิ่นแดนิชและนอร์ดิกผลงานไม่ธรรมดา (ก็นี่เป็นคอลเลกชันราชสำนักเชียวนะ) โดยกินเวลาระหว่างยุคนีโอคลาสสิก มาจนถีงปลายอิมเพรสชันนิสม์เลยทีเดียว
โยฮานน์ ไฮน์ริกซ์ ฟูสซีลิ Woman Sitting Curled up |
Intimacy ผลงาน เอดการ์ เดอกาส์ |
ทว่า จุดสนใจของนิทรรศการ The Royal Collections ณ หอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก กลับมาอยู่ที่ห้องจัดแสดงผลงาน Graphic Art (www.smk.dk/en/explore-the-art/the-royal-collections/graphic-art) ที่รวบรวมภาพสเก็ตช์บนกระดาษหาดูได้ยากของศิลปินชื่อดังทั่วยุโรป นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ไปจนถึง ทศวรรษที่ 1930 โดยภัณฑารักษ์ของหอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก บอกว่า เป็นภาพสเก็ตช์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป
Woman Lying on the Beach-เอดูอาร์ด มาเนต์ |
สมุดรวมภาพดอกไม้ (Gottorfer Codex) ของ โยฮานเนส ซิมอน |
ภาพ Venus ของศิลปินไม่ปรากฏชื่อ |
สตาเทน มิวเซียม ฟอร์ คุนสท์ เป็นสถานที่น่าไปที่สุดหากไปเยือนเดนมาร์ก เพราะ The Royal Collections เป็นนิทรรศการถาวรที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมเสียด้วยสิ แต่ถ้าไปไม่ถึงเข้าไปชมเป็นน้ำจิ้มรสชาติเข้มข้นได้ที่ www.smk.dk/en/explore-the-art/the-royal-collections
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)