วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กูไต ศิลปินญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม


สำหรับชาวตะวันตก ศิลปะร่วมสมัยของชาวเอเชียอาจจะถูกมองว่า พัฒนาขึ้นเนื่องด้วยปัจจัยของโลกาภิวัตน์ ทว่า ถ้าจะพูดถึงประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่น กลับมีความเป็นมาที่ยาวนาน ทั้งมีการพัฒนาที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าจะมองง่ายๆ ว่าเพิ่งเกิดเมื่อยุคโลกาภิวัตน์เท่านั้น ถ้าจะมองให้ครบๆ ต้องตบเท้าไปดูตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการถูกปรมาณูถล่มฮิโรชิมา หลังกองทัพอเมริกันไปตั้งฐานทัพในดินแดนปลาดิบ
อาจเนื่องเพราะลูกอาทิตย์อุทัยปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่บอบช้ำจากสงคราม ทำให้ “ศิลปะ” เป็นสิ่งที่ไม่เพียงชาวตะวันตกเท่านั้นไม่ได้สนใจใยดี ทั้งๆ ที่มีการแสดงออกถึงการต่อต้านผู้รุกราน ความคั่งแค้น และความเป็นขบถทางความคิดอยู่มากมาย
ชาวอเมริกันและตะวันตก ไม่เคยมีโอกาสเห็นศิลปะเหล่านี้ กระทั่งมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินญี่ปุ่นหลังสงครามครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1994 ในนิทรรศการ Scream Against the Sky จัดโดย อเล็กซานดรา มันโร ผู้อำนวยการสมาคมญี่ปุ่นสมัยนั้น ซึ่งร่วมมือกับหอศิลป์กุกเกนไฮม์มิวเซียม (ซานฟรานซิสโก) หอศิลป์เอเชียนอาร์ตมิวเซียม แห่งซานฟรานซิสโก รวมทั้งเจแปนฟาวเดชัน เช่นเดียวกับนิทรรศการ Art, AntiArt, NonArt: Experimentations in the Public Sphere in Postwar  Japan, 1950–1970 ที่หอศิลป์เกตตีมิวเซียม ในลอสแองเจลิส
แม้ว่าทุกวันนี้ จะมีศิลปินเกิดใหม่มากมาย แต่เนื่องด้วยกุกเกนไฮม มิวเซียม นิวยอร์ก เพิ่งจะเปิด Gutai: Splendid Playground นิทรรศการพิเศษเพื่อเชิดชูและระลึกถึงศิลปินญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มกูไต (Gutai) ผู้นิยมอาศัยส่วนต่างๆ ของร่างกายในการวาดภาพ จัดโดยอเล็กซานดรา มันโร คนเดิม ด้วยความร่วมมือของ หมิงเทียมเปา ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ในกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา
Gutai: Splendid Playground นับว่า เป็นการจัดต่อเนื่องจากนิทรรศการ Tokyo 1955–1970: A New AvantGarde ที่หอศิลปะร่วมสมัย กรุงนิวยอร์ก (โมมา) โดยภัณฑารักษ์ดอร์ยุน จอง แล้วก็ยังมีนิทรรศการ Destroy the Picture: Painting the Void, 1949–1962 ที่หอศิลปะร่วมสมัยแคลิฟอร์เนีย (โมคา) ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินนานาชาติในยุคดังกล่าว รวมถึง กูไต ด้วย ขณะที่บลัม แอนด์ โป แกลเลอรี ในลอสแองเจลิสเอง ก็จัด Requiem for the Sun: The Art of Monoha ตั้งแต่ 25 ก.พ. ไปถึง 14 เม.ย. นี้ ไม่นับปีที่ผ่านมาที่มีการจัดนิทรรศการซึ่งมีผลงานของ กูไต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งมากมาย ทั้งที่ บาร์บารา แกลดสโตน ในนิวยอร์ก เฮาส์เนอร์ แอนด์ เวิร์ธ ในนิวยอร์กเช่นกัน ขณะที่นิทรรศการ Shinohara Pops! The AvantGarde Road, Tokyo/New York ที่นิว พัลต์ซ นิวยอร์ก โดยภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่น ฮิโรกิ อิเคกามิ และเรอิโกะ โทมิอิ ก็ขนผลงานอลังการงานสร้างของ กลุ่มกูไต มาเป็นไฮไลต์
กลุ่มกูไต ก่อตั้งโดย จิโร่ โยชิฮาระ ในปี ค.ศ. 1954 โดย โชโซ ชิมาโมโตะ เป็นคนแนะนำให้ตั้งชื่อกลุ่มว่า กูไต โดย กู ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง เครื่องมือ ส่วน ไต แปลว่า ร่างกาย
“ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ทาคาชิ มูราคามิ และนารา 2 ศิลปินร่วมสมัยญี่ปุ่นกลายเป็นที่ชื่นชอบในโลกศิลปะ แต่จริงๆ แล้วชาวตะวันตกยังไม่ได้เคยเห็นศิลปะร่วมสมัยแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นกันสักเท่าไร” ดอร์ยุน จอง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการล่าสุดที่โมมา นิวยอร์ก ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัยของทั้งจิตรกร สถาปนิก และกราฟฟิก ดีไซเนอร์ของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลก บอกอีกว่า ทุกวันนี้คนที่ชื่นชอบงานศิลปะมีแนวโน้มจะชื่นชอบผลงานที่ย้อนไปในอดีต “เรียกว่าต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในเชิงลึกมากกว่าจะดูแต่ศิลปะที่ร่วมสมัย โดยเฉพาะศิลปะที่หาดูยากจากญี่ปุ่น และกลุ่มที่รวมตัวกันเหนี่ยวแน่น อย่างกลุ่มกูไตนั้นมีผลงานที่น่าจับตา ส่วนหนึ่งก็เพราะเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่มีความกดดันทางด้านสังคมมากมาย”
ดอร์ยุน จอง ยังเชื่อว่า ศิลปินร่วมสมัยญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1950 – 1960 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก “พวกเขามีพัฒนาการอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับการฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่ จะว่าไป ศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่นที่หลุดจากรอบของศิลปะประเพณี น่าจะเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1870 นั่นเลยทีเดียว หลังจากที่ประเทศเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก เพราะเป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่นที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็ว
ดูอย่างเซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งมาจากตะวันตก ก็เข้ามาเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของศิลปินกลุ่มกูไต แม้ว่าหลังสงครามญี่ปุ่นจะปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูตัวเองก็ตาม และก็ไม่น่าแปลกใจที่ศิลปินรุ่นหลังๆ ทั้งโยโกะ โอโนะ (คนเดียวกับภรรยา จอห์น เลนนอน) และยาโยอิ คูซามะ จะได้การยอมรับในผลงานระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว และอยู่อย่างเติบโตได้สบายๆ ในสังคมตะวันตก”

กูไต มัลติมีเดีย ทัวร์
Guggenheim app แอพพลิเคชันให้ดาวน์โดหลดฟรี สำหรับ ไอโฟนและไอพอด ทัช (แอนดรอยด์ จะมีเร็วๆ นี้) ที่ไม่เพียงแต่พาทัวร์นิทรรศการพิเศษของศิลปินญี่ปุ่นผู้ใช้เท้าในการละเลงภาพเท่านั้น หากยังมีรายละเอียดต่างๆ ของกุกเกนไฮมมิวเซียม ทั้งอาคารสถานที่ และนิทรรศการที่เป็นไฮไลต์อื่นๆ ให้ชมกันทั้งภาพและเสียงด้วย
แอพพลิเคชันนี่เป็นลักษณะอินเตอร์แอคทีฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถฟังรายละเอียดในนิทรรศการต่างๆ จากหูฟังของตัวเองผ่านแอพฯ บนมือถือ (หรือสามารถขอยืมหูฟังได้ที่หน้าหอศิลป์) ไม่ว่าจะเป็น อาคารที่ออกแบบโดย แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ภาพและเสียงที่พาเยี่ยมชมแต่ละนิทรรศการ ปฏิทินนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด สมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษ ไกด์เสียงสำหรับผู้ทุพพลภาพ นิทรรศการพิเศษสำหรับเด็ก ฯลฯ
ไม่ต้องไปถึง กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก ก็ชมศิลปะกลุ่มกูไต ศิลปินกลุ่มก้าวหน้า (avantgarde) กลุ่มแรกของญีปุ่นได้ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.guggenheim.org/newyork/visit/tours/guggenheimapp)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น