วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กุสตาฟว์ กูร์เบต์ สัจ(ไม่)นิยม

ภาพเขียนที่ถูกลืมเลือนของ กุสตาฟว์ กูร์เบต์ อย่าง La Bohemienne et ses enfants จากปี 1853 กำลังจะเป็นไฮไลต์ในเวทีประมูลของสถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก โดยคาดว่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

La Bohemienne et ses enfants เป็นหนึ่งในภาพเขียนชิ้นสำคัญที่หายไป โดยย้อนไปในปี 1853 ภาพเขียนชิ้นดังกล่าวซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ได้ถูกกล่าวถึงในจดหมายที่กุสตาฟว์เขียนถึงอัลเฟรด บรูยาส ว่า เขาต้องจัดการกับภาพในชุด Highway ของเขาชิ้นนี้ เนื่องเพราะถูกกดดันให้เขียน L’Atelier du peintre ซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กันให้เสร็จ ทำให้ La Bohemienne et ses enfants ไม่มีที่จะตั้ง จึงต้องไปเก็บเอาไว้ในห้องใต้หลังคาของเพื่อนบ้านในเมืองออร์นองส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส

เพื่อจะประหยัดพื้นที่ในห้องใต้หลังคา พวกเขาจึงซุกภาพนี้เอาไว้ใต้พื้นห้อง แล้วมันก็ถูกลืมไว้ที่นั่นจนกระทั่งปี 2001 จึงถูกค้นพบ และได้ถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์กูร์เบต์ทันที เพื่อตรวจสอบว่าเป็นของจริง

ฌอง เดซีเร กุสตาฟว์ กูร์เบต์ จิตรกรฝรั่งเศส มีชีวิตระหว่างปี 1819-1877 เขาเป็นผู้นำความเคลื่อนไหวทางศิลปะยุคสัจนิยม (Realism) ในศตวรรษที่ 19 โดยออกมาประกาศว่าจะสร้างสรรค์งานศิลปะเท่าที่ตาเห็นเท่านั้น พร้อมหันหลังให้สถาบันศิลปะและสตูดิโอทั้งหลายที่บรรดามาสเตอร์ยุคนั้นกำลังเผยแพร่งานในสไตล์โรแมนติกซิสม์

คำประกาศของเขาทำให้กุสตาฟว์มีพื้นที่พิเศษในศตวรรษที่ 19 ซึ่งโชคดีในความคิดผิดเพี้ยนจากยุคสมัยของเขา เนื่องเพราะมันมีอิทธิพลอย่างมากต่อยุคสมัยของศิลปะรุ่นต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นยุคอิมเพรสชันนิสม์ หรือยุคคิวบิสม์ก็ตาม

ท่ามกลางจินตนาการเพ้อฝัน และงานศิลปะสุดสวยหรูของยุคโรแมนติก ผลงานที่วาดภาพเป๊ะเวอร์อย่างตาเห็นของกุสตาฟว์เริ่มฉายแสงเป็นที่จดจำในปลายทศวรรษที่ 1840 ผู้คนเริ่มละสายตามาจากภาพความงามของเทวดา นางฟ้า สวนสวรรค์ หันมามองภาพของชาวนา กรรมกร คนร่อนเร่ กันบ้าง

กุสตาฟว์ กูร์เบต์ เกิดที่ออร์นองส์ ในครอบครัวชาวนาที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ของฝรั่งเศส โดยคุณตาของเขามีส่วนร่วมในการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 โซเอ เซลี และชูเลียตต์ พี่สาวของเขา เป็นนางแบบรุ่นแรกๆ ในการวาดภาพให้ โดยหลังย้ายมาอยู่ปารีส เขายังกลับบ้านที่ออร์นองส์เป็นประจำ เพื่อมาล่าสัตว์ รวมทั้งหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ

ที่ปารีส เขาไปทำงานที่ สตอยเบน แอนด์ เฮสเส สตูดิโอสไตล์ศิลปะโรแมกติก แต่อยู่ได้ไม่นาน ด้วยวิญญาณรักอิสระ เขาก็ลาออกเพื่อไปพัฒนาศิลปะตามแนวทางของตัวเอง ด้วยการไปศึกษาผลงานของโอลด์มาสเตอร์ชาวสเปน เฟลมิช และฝรั่งเศส โดยวาดภาพก๊อบปี้ผลงานของพวกเขาเหล่านั้น

Odalisque ผลงานชิ้นแรกของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของวิคตอร์ อูโก และภาพประกอบบนปกหนังสือของจอร์จ ซองด์ เรื่อง Lelia แต่ไม่นานเขาก็เลิกอาศัยแรงบันดาลใจจากวรรณกรรม หันมาเขียนภาพที่เขาเห็นด้วยตา ทั้งประกาศตัวว่าจะเขียนแต่ภาพที่เห็นและเป็นจริงเท่านั้น โดยเริ่มต้นผลงานในช่วงนี้ด้วยภาพเหมือนตัวเอง (Self-Portrait) มากมาย

การเดินทางไปเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมในปี 1846–1847 ยิ่งตอกย้ำความเชื่อในแนวทางตัวเอง ราวปี 1848 เขาก็รวบรวมคนหนุ่มที่มีแนวคิดสอดคล้องกันในแนวนีโอ-โรแมนติกและเรียลิสม์ ก่อตั้งขึ้นมาในชื่อ ชอมป์เฟลอรี (Champfleury) ตามนามปากกาของ ชูลส์ ฟรองซัวส์
เฟลิกซ์ เฟลอรี-อุสซง นักเขียนคนแรกที่ช่วยโปรโมทศิลปะแบบที่กุสตาฟว์สร้างสรรค์ขึ้น

After Dinner at Ornans (1849) ผลงานชิ้นแรกๆ ที่เริ่มสร้างชื่อเสียง นอกจากได้รางวัลเหรียญทองระดับประเทศแล้ว ยังถูกซื้อไปเป็นสมบัติชาติ การได้รางวัลเหรียญทองยังหมายถึงว่า ผลงานของเขาจากนี้ไปมีสิทธิที่จะจัดแสดงในซาลง (แกลเลอรี่) โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบคุณค่าทางศิลปะและความเหมาะควรจัดแสดงอีก

ปี 1849-1850 กุสตาฟว์วาด Stone-Breakers (ถูกทำลายจากระเบิดในเดรสเดน ปี 1945) ซึ่ง ปิแอร์-โชเซฟ พรูดง นักหนังสือพิมพ์และนักต่อสู้ฝ่ายเสรีนิยมเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตชนบท แถมยังชมอีกว่าเป็นภาพเขียนที่ดีที่สุดของกุสตาฟว์ ซึ่งจิตรกรบอกว่า ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เขาเห็นจริงๆ ข้างถนน

A Burial at Ornans (1849-1850) อีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่น และสร้างชื่อเสียงไม่แพ้ Stone-Breakers (แถมยังแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ดอร์เซย์ให้ได้ชมกันทุกวันนี้) ในภาพเป็นงานศพลุงแท้ๆ ของเขาเอง โดยคนที่ไปร่วมงานศพทุกคนได้รับเชิญมายังสตูดิโอเพื่อวาดภาพนี้ ที่กลายเป็นภาพเขียนเรียลลิสต์ขนาดยักษ์ที่แสดงวิถีชีวิตของชาวออร์นองส์ แม้นักวิจารณ์ที่กรุงปารีสจะไม่นิยมเท่าไร โดยติว่างานศพอะไรไม่มีอารมณ์ของภาพเศร้าโศกเลย ขณะที่กุสตาฟว์ออกมาโต้ตอบว่า ภาพดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของการฝังศิลปะแบบโรแมนติกที่นับวันจะเสื่อมถอยไปทุกทีๆ

The Artist’s Studio (L’Atelier du peintre) ผลงานอลังการงานสร้างชิ้นมหึมา ที่วาดบรรยากาศในสตูดิโอของเขาเอง ซึ่งเขาเรียกว่า ศาลาแห่งสัจนิยม (Pavillon du Realisme) ในภาพแสดงชีวิตศิลปินของเขา ที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนๆ และคนที่ชื่นชมงานศิลปะสไตล์นี้ ทั้งนักวิจารณ์ศิลปะ ชอมป์เฟลอรี ชาร์ลส์ โบเดอแลร์ กับนักสะสมงานศิลปะ อัลเฟรด บรูยาส ทางด้านซ้ายของภาพ เป็นคนที่เกี่ยวข้องในชีวิต ตั้งแต่พระ โสเภณี สัปเหร่อ ชาวนา และอื่นๆ

สำหรับรูปผู้ชายกับสุนัขทางซ้าย ผลจากการเอกซเรย์บอกว่าวาดขึ้นทีหลัง โดยเชื่อว่าชายหนวดโง้งนั้นคือภาพของนโปเลียนที่ 3 ซึ่งนิยมล่าสัตว์พร้อมกับสุนัข โดยผู้ที่ครอบครองภาพในสมัยนั้นถือว่า ต้องโทษถึงแก่ชีวิต (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ดอร์เซย์ กรุงปารีสเช่นกัน)

นอกจากไม่ยอมใครในแวดวงศิลปะ กุสตาฟว์ยังเป็นนักวิจารณ์ฝีปากกล้าทางด้านการเมือง เขามีส่วนเคลื่อนไหวให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยมที่สมบูรณ์แบบ ผ่านการพูดและการเขียน อันเป็นเหตุให้ต้องถูกจำคุกจากบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่ง และลี้ภัยไปยังสวิตเซอร์แลนด์




“ผมอายุ 50 และมีชีวิตอิสระมาโดยตลอด ผมก็ขอจบชีวิตแบบมีเสรีภาพ ถ้าผมตายไป ขอให้พูดถึงผมว่าไม่ขึ้นอยู่กับโรงเรียนใดๆ ศาสนาไหนๆ หรือสถาบันอะไรก็ตาม เช่นเดียวกับระบบการปกครองที่ผมยึดมั่น ก็คือระบบเสรีนิยมเท่านั้น” บันทึกของกุสตาฟว์ว่าเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น