วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

คู่รักนักวาด

Detroit Industry โดย ดิเอโก ริเวรา
นิทรรศการ The Detroit Industry ในนครดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน แสดงภาพศิลปะบนผนังของจิตรกรชาวเม็กซิกัน ดิเอโก ริเวรา จากต้นทศวรรษที่ 1930 รวมทั้งผลงานของคู่ชีวิต อย่างฟรีดา คาห์โล ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึง 12 ก.ค. ณ สถาบันศิลปะดีทรอยต์ หรือดีไอเอ
Self-Portrait on the Borderline between Mexico and the United States 
คู่รักศิลปินทั้งสองมีประวัติศาสตร์คู่กับนครดีทรอยต์มาตั้งแต่ปี 1932 ที่ดิเอโก ได้รับการว่าจ้างให้ไปวาดภาพเขียนผนังบริเวณศูนย์อุตสาหกรรมของเมือง ซึ่งระหว่างที่ไปทำงานที่นั้น ฟรีด้าก็ตามเขาไปสร้างสรรค์ผลงานของตัวเธอเองที่นั่นด้วย The Detroit Industry จึงรวบรวมผลงานของทั้งคู่กว่า 60 ชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นขณะที่พำนักอยู่ในดีทรอยต์มาจัดแสดง

"การที่เรามีดิเอโกกับฟรีด้ามาอยู่ที่ดีทรอยต์นั้น เรียกว่า ได้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ของเมืองให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเมืองอุตสาหกรรมที่น่าเบื่อ" แกรห์ม ดับเบิลยู. เจ. ผู้อำนวยการสถาบัน ดีไอเอ กล่าวด้วยว่า เขายินดีที่จะนำเสนอเรื่องที่น่าภาคภูมิอย่างยิ่งของชาวดีทรอยต์ ผ่านนิทรรศการศิลปะที่ไม่ธรรมดาของคู่รักชาวเม็กซิกัน ซึ่งบ่งบอกประวัติศาสตร์ของความเป็นเมืองอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน

ผลงานของดิเอโก ริเวรา และฟรีด้า คาห์โล ที่นำมาจัดแสดง ล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี 1932 - 1933 ที่นอกจากได้รับอิทธิพลจากบชรรยากาศในยุคข้าวยากหมากแพงหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 1 (Great Depression) แล้ว ยังนับเป็นช่วงที่ฝีมือของพวกเขาพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วย เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่

ก่อนหน้าที่พวกเขาจะมาถึงดีทรอยต์ ทั้งคู่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเมือง ของชนชั้นล่างชาวเม็กซิโก ยิ่งมาเจอเรื่องราวของชนชั้นแรงงานในดีทรอยต์ ทำให้ดิเอโกและฟรีด้ายิ่งอินกับบรรยากาศ และสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมายราวเครื่องจักร อย่างผลงานจิตรกรรมบนกำแพง 27 ชิ้นของดิเอโก บริเวณลานสวนด้านในก็ทำให้สถานที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเดิม กลายเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และในที่สุดก็พัฒนามาเป็นสถาบันศิลปะดีทรอยต์ หรือดีไอเอในทุกวันนี้
ฟรีด้า-ดิเอโก

ขณะที่ฟรีด้า ซึ่งการมาอยู่ดีทรอยต์ทำให้เธอไร้สุขในเบื้องแรก หากเมื่อเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน ก็ยิ่งแสดงความเป็นตัวตนออกมาอย่างชัดเจน และกลายเป็นชิ้นงานเลื่องชื่อในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Henry Ford Hospital (1932) หรือ Self-Portrait on the Borderline between Mexico and the United States (1932) โดยในงานที่ยังนำเอาผลงานหลังจากนั้นของฟรีด้า อย่าง Self Portrait with Monkey (1945) The Wounded Deer (1946) ฯลฯ มาจัดแสดงด้วย

คู่รักนักวาด ดิเอโก ริเวรา กับฟรีด้า คาห์โล นับว่าเป็นคู่รักศิลปินที่โด่งดังที่สุดก็ว่าได้ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ขึ้นๆ ลงๆ เพราะว่าดิเอโกเป็นคนเจ้าชู้ พวกเขาแต่งงานกันในปี 1929 แล้วก็หย่ากันในปี 1939 ก่อนจะกลับมาแต่งงานกันอีกรอบในปีถัดมา ขณะที่ดิเอโกเคยเป็นศิลปินอันดับ 1 ของเม็กซิโกมาโดยตลอด ก่อนจะมาถูกแซงหน้าโดยภรรยาของเขาเอง


เอเลน - วิลเลม เด คูนิง

นักวาดคู่อื่นๆ

เอเลน และวิลเลม เด คูนิง - คู่จิตรกรนักวาด ภาพสีน้ำมัน ในยุคแอ็บสแทร็กต์ เอกซ์เพรสชันนิสม์ ทั้งคู่เป็นกลุ่มศิลปินจากโรงเรียนนิวยอร์ก แต่งงานกันในปี 1943 ความสัมพันธ์แบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็ไม่เคยที่จะแยกทางจากกัน

ฟร็องซวส กีโลต์ และปาโบล ปิกัสโซ่
ฟร็องซวส กีโลต์ และปาโบล ปิกัสโซ่ - ตอนที่ฟร็องซวสพบศิลปินดังชาวคาตาลันในกรุงปารีส เธออายุเพียง 21 ปี ขณะที่เขาอายุ 61 ทั้งสองครองรักกันอยู่ 10 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน แต่ไม่เคยแต่งงานกัน

กาบริเอเล มุนเทอร์ และวาสสิลี คันดินสกี
กาบริเอเล มุนเทอร์ และวาสสิลี คันดินสกี - ตำนานรักระหว่างครูวาสสิลีและลูกศิษย์กาบริเอเล เริ่มต้นในมิวนิค เมื่อปี 1902 ขณะที่ฝ่ายอาจารย์นั้นแต่งงานมีภรรยาแล้ว แต่กลับกุ๊กกิ๊กไปไหนมาไหนกับศิษย์สาวคนเก่งเสมอๆ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยาวนานถึง 12 ปี โดยได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Der Blaue Reiter (The Blue Rider) และ Neue Kunstlervereinigung (New Artist's Association) ขึ้นมาด้วยกัน

ลี คราสเนอร์ และแจ๊กสัน พอลล็อก
ลี คราสเนอร์ และแจ๊กสัน พอลล็อก - ศิลปินคู่รักจากนิวยอร์กที่ได้ชื่อว่าช่วยกันทำมาหากินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อีกคู่หนึ่ง โดยคนมักจะนินทาคู่นี้ว่า ลี เคยดังและเก่งกว่าแจ๊กสัน หาว่าแจ๊กสันใช้ประโยชน์จากความเก่งของแฟนสาวเพื่อผลักดันตัวเองขึ้นมา แต่ทั้งคู่ไม่ได้สนใจอะไรมากกว่ามีกันและกัน

โดโรเทีย แทนนิง และมักซ์ แอร์นสต์
โดโรเทีย แทนนิง และมักซ์ แอร์นสต์ - จิตรกรดาดาและเซอร์เรียลลิสต์ 2 คนพบกัน ณ แกลเลอรีแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ตกหลุมรักกันหลังจากแข่งเดินหมากรุก แต่งงานแล้วก็ย้ายไปปักหลักที่กรุงปารีส ทั้งคู่เสริมส่งกันในการทำงาน ไม่แข่งกันดัง มักซ์เอาดีทางด้านเซอร์เรียลลิสม์ ขณะที่โดโรเทีย เปลี่ยนความสนใจไปทำงานประติมากรรมและภาพพิมพ์ในบั้นปลาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น