ภาพพิมพ์หินของ เอดูอารด์ ฟุยยารด์ กำลังจัดแสดง ณ พีนาโคเทค เดอร์ โมเดอร์เน เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี โดยเมื่อย้อนไปในปี 1889-1890 เขาและเพื่อนศิลปินหนุ่มๆ วัยเดียวกัน นำโดย ปิแอร์ บอนนารด์ รวมทั้ง โมริซ เดอนีส์ กับ โปล เซอรูซิเยร์ ฯลฯ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มนาบีส์ (Nabis) อันเป็นการรวมพวกหัวก้าวหน้า ทั้งสาขาจิตรกรรม กราฟฟิกอาร์ต และวรรณกรรมสมัยโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์เอาไว้ โดยคนกลุ่มนี้ รวมตัวกันสร้างสรรค์ศิลปะเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของธรรมชาติ
นิทรรศการในคอนเซ็ปต์ Staatliche Graphische Sammlun ไม่อาจจะแสดงความเป็นตัวตนและผลงานของ เอดูอารด์ ฟุยยารด์ ได้ทั้งหมด ทว่าสามารถเห็นเทคนิคพิเศษที่ไม่เหมือนใครของเขาที่ใช้ในงานภาพพิมพ์หิน ซึ่งแม้เขาจะสร้างสรรค์งานในรูปแบบนี้อยู่ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ไม่เกิน 8 ปี แต่นับว่ามีผลงานภาพพิมพ์หินเด็ดๆ ออกมามากมายทีเดียว
เอดูอารด์ ฟุยยารด์ มีผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนมุมต่างๆ ภายในบ้าน (Interiors) รวมทั้งภาพวาดในสวน (Park landscapes) ซึ่งในกลุ่มของนาบีส์นั้นถือว่าเขาเป็นคนที่ทำงานสุดแสนจะประณีตละเอียดลออสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้สีอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะภาพชุด Paysages et Interieurs ตั้งแต่ปี 1899
ผลงานภาพพิมพ์หินในยุคแรกๆ ของเขาออกมาเป็นสีขาว-ดำ โดยเป็นการออกแบบฉากละครของกลุ่มอาวองต์-การ์ด ในทศวรรษที่ 1890 ที่เขามีส่วนร่วมด้วยอยู่หลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นละครที่มีเนื้อหาไม่ธรรมดา และไม่ใช่ละครที่สร้างขึ้นสำหรับทุกคน
เอดูอารด์ยังพัฒนาเทคนิคในภาพพิมพ์ของเขาขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น โดยเฉพาะเทคนิคการพิมพ์สีของเขาเมื่อเริ่มเปลี่ยนมาทำภาพพิมพ์หินสี ที่กลายเป็นเรื่องใหม่ๆ ของแวดวงศิลปะขณะนั้น ซึ่งสำหรับศิลปินในยุคใกล้เคียงกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อย่าง อองรี เดอ ตูลูส-โลเทร็ก และ ปิแอร์ บอนนารด์ แล้ว เรื่องการใช้สีแบบซอฟต์ๆ เบลอๆ บนภาพพิมพ์ของเขากินขาด เช่นเดียวกับองค์ประกอบภาพซึ่งแปลกประหลาดไม่ธรรมดา
ชอง-เอดูอารด์ ฟุยยารด์ เกิดเมื่อ 11 พ.ย. 1868 เขาใช้ชีวิตวัยเด็กในเมืองกุยโซซ์ (ซาโอน-เอต์-ลัวร์) แคว้นบูร์กอญ (เบอร์กันดี) กระทั่งปี 1878 ครอบครัวย้ายมายังกรุงปารีสเพื่อชีวิตที่ดีกว่า หลังจากพ่อตายในปี 1884 เขายังได้ทุนการศึกษาและยังคงได้เรียนต่อที่โรงเรียนลีเซ กงดอร์เซต์ เอดูอารด์ได้พบกับเพื่อนร่วมรุ่น อย่าง แคร์ ซาวิเยร์ รุสเซล (ในอนาคตเป็นจิตรกรและพี่เขยของเขา) โมริซ เดอนีส์ (จิตรกร) ปิแอร์ แอร์กมองต์ (นักดนตรี) ปิแอร์ เฟแบร์ (นักเขียน) และ ออเรเลียง มารี ลูเญ (นักแสดงฉายา ลูเญ-โป)
ปีถัดมาเขาก็ออกจากโรงเรียนกลางคัน ตามคำแนะนำของแคร์ เพื่อนสนิท โดยไม่ได้ไปร่วมกับกองทัพ แต่ไปฝึกงานในสตูดิโอศิลปะของ ดิโอแชน ไมล์ยารต์ เขานำพื้นฐานศิลปะที่เรียนจากจิตรกรอาชีพ ไปสอบเข้าโรงเรียนศิลปะ เอกอน เดส์ โบซาร์ตส์ แม้ต้องสอบถึง 3 ปี แต่ก็ไม่ละความพยายามจนได้เข้าเรียนในที่สุด
ราวปี 1890 ที่เขาได้เจอกับ ปิแอร์ บอนนารด์ และ โปล เซรุสิเยร์ เขาก็เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนาบีส์ตามคำชวน กลุ่มนักเรียนศิลปะในยุคโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ ที่เริ่มต้นด้วยการสร้างสรรค์งานตามหลักการ Synthetism อย่างที่ โปล โกแก็ง นิยมทำ เพื่อสร้างความแตกต่างจากจิตรกรในยุคอิมเพรสชันนิสม์ โดยมีกฎว่าจะต้องวาดสิ่งที่เป็นรูปทรงธรรมชาติ ต้องวาดความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อสิ่งที่วาด และมีการพิจารณาความงามอันพิสุทธิ์ของเส้นสาย สีสัน และรูปทรงในภาพที่ออกมา
เอดูอารด์ ฟุยยารด์ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อร่วมแสดงในนิทรรศการของกลุ่มนาบีส์อย่างสม่ำเสมอ โดยภายหลัง พวกเขานั่งทำงานในสตูดิโอเดียวกัน (กับ ปิแอร์ บอนนารด์ และ โมริซ เดอนีส์) และหลังจากนั้นก็ได้ไปร่วมงานออกแบบฉากละครให้กับ เตอาร์ตร์ เดอ เลิฟร์ ของลูเญ-โป
ช่วงทศวรรษที่ 1990 เขาเดินทางไปหลายแห่ง ทั้งเวนิซ ฟลอเรนซ์ ลอนดอน มิลาน เบรอตาญ (บริตตานี) นอร์มองดี และหลายแห่งในสเปน โดยได้แสดงผลงานเดี่ยว ณ ซาลง เดส์ แองเดปองดองต์ ในปี 1991 และซาลงโดตอมน์ ปี 1903 ช่วงเวลาเดียวกัน เขายังได้เจอ อเล็กซองดร์ และ ตาดี นาตองซง พี่น้องที่ร่วมก่อตั้ง ลา เครอวู บล็องช์ นิตยสารศิลปะชื่อดัง ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานเด่นๆ ของจิตรกรแห่งยุคเอาไว้
เอดูอารด์มีผลงานศิลปะบนฝาผนังบ้านชิ้นแรก (Apartment frescoes) ในบ้านของมาดามเดส์มาเรส์ หลังจากนั้นใครๆ ก็อยากให้ศิลปินดังไปละเลงฝาบ้านอีกหลายหลัง ตั้งแต่บ้านของ อเล็กซองดร์ นาตองซง โคล้ด อะเนต์ และเลยไปถึงโรงละคร เตอาร์ตร์ เดส์ ชอมป์เซลิเซส์ ปาเลส์ เดอ ไชโยต์ ในกรุงปารีส (ปิแอร์ บอนนารด์ ร่วมวาดด้วย) แล้วก็ ปาเลส์ เดส์ นาซิยงส์ ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ร่วมกับ โมริซ เดอนีส์, แคร์ ซาวิเยร์ รุสเซล, และนักประวัติศาสตร์ศิลป์ อองเดร ชาสเตล)
ภาพเขียนมุมต่างๆ ภายในบ้าน ภาพท้องถนน และภาพวาดในสวน เป็นผลงานส่วนใหญ่ของเขาที่เต็มไปด้วยมุขขำแบบเบาๆ ภาพเขียนแสนละเอียดลออในสีอ่อนๆ และออกเบลอๆ เป็นเอกลักษณ์ที่เห็นในภาพรวม ชีวิตสุดแปลกของเขาคือ อาศัยอยู่กับแม่ที่เป็นช่างตัดเสื้อจนกระทั่งอายุ 60 ปี
เอดูอารด์ไม่เคยวาดภาพพอร์เทรตใครเลย จนกระทั่งปี 1912 ที่เริ่มวาด Theodore Duret in his Study (อยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน) หลังจากนั้นการวาดภาพบุคคลถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา
ในบั้นปลาย เอดูอารด์เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินรางวัลบลูมองตัล (Prix Blumenthal) ที่มอบให้ศิลปินยอดเยี่ยมทั้งสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม การตกแต่ง ภาพพิมพ์ วรรณกรรม และดนตรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น