Seated Woman ภาพเขียนของ อองรี มาติสส์ ที่สูญหายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นานกว่า 75 ปี ในที่สุดก็ได้กลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้จริงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นคือ ทายาทของ พอล โรเซนเบิร์ก นักค้างานศิลปะที่ต้องหนีตายจากนาซีในปี 1940
เรื่องราวการตามหาภาพเขียนที่หายไปภาพนี้ ลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนเสียยิ่งกว่านิยายสืบสวนสอบสวน...
ในปี 2010 ระหว่างที่มีการตรวจเอกสารบนรถไฟที่กำลังจะข้ามประเทศ จากเมืองซูริก ของสวิตเซอร์แลนด์ สู่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ทางด่านลินเดา มีผู้เดินทางสูงวัยรายหนึ่งดูมีพฤติกรรมน่าสงสัย ทั้งตรวจพบว่าเขาขนเงินสดจำนวนมากติดตัวมาด้วย
ทางการเยอรมนีจึงได้สืบเกี่ยวกับชายคนนี้เพิ่มเติม ได้ความว่า เขาชื่อ คอร์เนลิอุส กูร์ลิท เมื่อตามไปถึงอพาร์ตเมนต์ของเขาก็พบสุดยอดภาพเขียนนับพันรูป ซุกอยู่ในลังไม้แบบที่ใช้ใส่ผัก เป็นผลงานของจิตรกร "บิ๊กเนม" ทั้งสิ้น ตั้งแต่ ปาโบล ปิกัสโซ อองรี มาติสส์ มาร์ก ชากัลล์ ออตโต ดิกซ์ พอล คลี เอดการด์ เดอกาส์ กุสตาฟว์ กูร์เบต์ แล้วก็ ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ คิดรวมมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ
สืบย้อนกลับไปอีกก็ได้ความว่า ฮิลเดบรันด์ กูร์ลิท บิดาของเขาเป็นนายหน้าค้างานศิลปะ ที่เมื่อกาลก่อนเคยช่วยนาซีขายและแลกเปลี่ยนงานศิลปะที่พวกเขาขโมยมาจากเศรษฐีชาวยิว ทว่าท่านผู้นำนั้นไม่ปลื้มศิลปะสมัยใหม่สักเท่าไร "ผลงานที่ซุกในลังเหล่านี้คือผลงานที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้เรื่องสำหรับนาซี" คริสโตเฟอร์ มาริเนลโล ซีอีโอของกลุ่มตามหาศิลปะที่หายไป กล่าว
"พวกนักค้างานศิลปะย่อมรู้อยู่แล้วว่าผลงานเหล่านี้มีมูลค่าขนาดไหน แต่ว่าในสายตาของนาซีมันคือผลงานตกกระป๋อง" คริสโตเฟอร์ว่า ในยุคเติร์ดไรซ์ มีเพียงผลงานเรอเนสซองซ์ และจิตรกรรมของมาสเตอร์ชาวดัตช์เท่านั้นที่เข้าตากรรมการ
สำหรับตระกูลโรเซนเบิร์ก เก็บรายละเอียดเรื่องคอลเลกชั่นงานศิลปะในครอบครองเอาไว้เป็นอย่างดี "เขามีเอกสาร ลิสต์รายชื่อ รูปภาพ บันทึกการแสดงงานต่างๆ ที่พิสูจน์ได้หมดว่า ภาพชิ้นไหนเป็นของเขาบ้าง" คริสโตเฟอร์ ที่ทำงานทวงคืนงานศิลปะร่วมกับทายาทตระกูลโรเซนเบิร์ก เล่า
เมื่อ Seated Woman ถูกค้นพบในกรุของคอร์เนลิอุส จึงไม่ยากเลยที่จะพิสูจน์ว่าเป็นของตระกูลโรเซนเบิร์กแน่นอน นอกจากนี้ ภาพของปาโบล ปิกัสโซ และอองรี มาติสส์ ชิ้นอื่นๆ ก็เป็นชิ้นที่จดจำได้ว่าเป็นของกลุ่มเพื่อนๆ นักค้างานศิลปะ เพราะหลายชิ้นก็เคยจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการเดียวกัน
ที่ผ่านมา ตระกูลโรเซนเบิร์กใช้เวลาหลายปีในการตามหาชิ้นงานศิลปะกว่า 400 ชิ้น ที่ถูกนาซีขโมยไป แต่เขาก็จบชีวิตลงเสียก่อนในปี 1959 อย่างไรก็ตาม ครอบครัวก็ไม่ได้หยุดตามหา
แอนน์ ซินแคลร์ หลานสาวของ พอล โรเซนเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ My Grandfather's Gallery บอกว่า การได้ Seated Woman คืนมาเป็นเรื่องปลื้มปริ่มสุดจะบรรยาย "ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าจะมีวันนี้จริงๆ ลองคิดดูสิ มันโดนขโมยไปตั้ง 74 ปี น่าเสียดายที่คุณตาของฉันไม่มีโอกาสได้เห็นตอนที่ได้คืนมา"
เธอเสริมว่า ยังมีอีกกว่า 60 ชิ้นงานที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งเธอและพี่น้องที่ช่วยกันทำทุกวิถีทางที่จะตามหานั้นก็ไม่ทราบว่าจะมีวิธีไหนที่ได้เจอภาพเขียนชิ้นอื่นๆ ที่หายไป "มันอาจจะยังอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ไหนสักแห่ง หรือไม่ก็ถูกทำลายไประหว่างสงครามแล้ว เราไม่อาจจะรู้ได้เลย" แอนน์ กล่าว
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื่อว่า มีผลงานศิลปะกว่า 6.5 แสนภาพ ที่ถูกนาซีกวาดเอาไปจากยุโรป เรียกว่าเป็นอาชญากรรมทางศิลปะครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์
ขณะที่เจ้าของที่แท้จริงต่างพยายามตามหางานศิลปะอันเป็นสมบัติของครอบครัวอย่างเงียบๆ ทว่าข่าวคราวการพบเจอผลงาน 1,280 ชิ้น ที่บ้านของคอร์เนลิอุส ในหนังสือพิมพ์ Der Spiegel ก็หมือนเป็นการปลุกชีพเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่
ชายชราผมขาวโพลน ถือพาสปอร์ตของออสเตรีย รอล์ฟ นิโคลัส คอร์เนลิอุส กูร์ลิท เกิดที่เมืองฮัมบูร์ก ปี 1932 เขารายงานเจ้าหน้าที่ว่า เดินทางเข้าสวิตเซอร์แลนด์ไปเพื่อทำธุรกิจกับแกลเลอรี่ศิลปะที่กรุงเบิร์น ท่าทีเขามีพิรุธมาก เจ้าหน้าที่จึงเชิญเขาไปในห้องน้ำแล้วทำการตรวจค้น และพบเงินสดๆ แบงก์ยูโรใหม่ๆ ถึง 9,000 ยูโร
แม้คอร์เนลิอุสจะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เนื่องจากยังคงเป็นจำนวนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ (1 หมื่นยูโร) แต่ด้วยความที่เขาทำท่ามีพิรุธทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตามไปขุดคุ้ย โดยยิ่งสืบก็เหมือนตามล่าเงาของปิศาจ เขาบอกว่า มีอพาร์ตเมนต์อยู่ในมิวนิก ทว่าที่ที่เขาจ่ายภาษีกลับเป็นซัลซ์บูร์ก ประเทศออสเตรีย นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่าเขาอยู่ในมิวนิก หรือที่อื่นๆ ในเยอรมนีน้อยมาก
นอกจากนี้ ไม่มีหลักฐานการจ่ายค่าเช่าบ้านที่ไหนๆ ไม่มีประกันสุขภาพ หรือหลักฐานการจ้างงาน หรือบัญชีธนาคารของคอร์เนลิอุสเลย เรียกว่า คุณลุงรายนี้ไม่เคยมีงานมีการทำ ไม่มีแม้แต่รายชื่ออยู่ในสมุดโทรศัพท์ คือเป็นคนไม่มีตัวตนอยู่โดยแท้
ในที่สุด ทางการเยอรมนีก็หาจนเจอว่า เขาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ราคาร้อยล้านย่านชวาบิง ซึ่งเป็นย่านของมหาเศรษฐีในมิวนิก และหลังจากไล่เรียงไปยังต้นตระกูลกูร์ลิท จึงพบว่า เกี่ยวโยงกับคนใหญ่คนโตสมัยนาซีเรืองอำนาจ โดยชื่อของ ฮิลเดบรันด์ บิดาของเขา เป็นภัณฑารักษ์ในหอศิลป์ประจำย่านชาวยิวเลยทีเดียว
หนังสือพิมพ์ Der Spiegel รายงานว่า คนในย่านอพาร์ตเมนต์บนถนนอาร์เทอร์-คุทเชอร์-พลัทซ์ของคอร์เนลิอุส รู้ทั้งนั้นว่า เขามีงานศิลปะจำนวนมาก ทว่าเยอรมนีไม่มีกฎหมายที่จะมาเอาผิดคนที่ครอบครองงานศิลปะที่ถูกขโมยไปในยุคนาซี งานนี้ต้องให้สรรพากรยื่นมือเข้ามาจัดการ แต่ทางการเยอรมนีกลับมีท่าทีไม่แยแสเรื่องนี้สักเท่าไร และไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย
ไม่นานหลังจากนั้น คอร์เนลิอุสก็นำภาพ The Lion Tamer ของมักซ์ เบคมันน์ ออกมาขายผ่านสถาบันประมูลเลมเพิร์ตซ์ ในเมืองโคโลญ ได้เงินไป 1.17 ล้านเหรียญ รายงานข่าวว่า เงินถูกแบ่งเป็น 60:40 กับเอเยนต์ชาวยิว อัลเฟรด เฟลชท์ไฮม์ ที่ครอบครัวเขาเคยมีแกลเลอรี่หลายแห่งในเยอรมนี โดยในปี 1934 ภาพนี้ได้ถูกบังคับขายให้ฮิลเดบรันด์ ก่อนที่เจ้าของภาพจะหนีไปกรุงปารีสต่อด้วยกรุงลอนดอน และเสียชีวิตอย่างอดอยากในปี 1937 ซึ่งทายาทของพวกเขาพยายามที่จะทวง The Lion Tamer และภาพอื่นๆ ที่ถูกบังคับซื้อไปแต่ไม่เป็นผล
กว่าที่ทางการจะออกหมายค้น ก็ปาเข้าไปเดือน ก.พ. 2012 ที่เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องตะลึงกับงานศิลปะนับพัน ในอพาร์ตเมนต์ขนาดพันกว่าตารางเมตรของเขา
หนังสือพิมพ์ Der Spiegel รายงานว่า ระหว่าง 3 วันที่เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมหลักฐานงานศิลปะทั้งหลายออกไปจากอพาร์ตเมนต์ของเขา คอร์เนลิอุส ได้แต่นั่งเงียบ ไม่พูดไม่จาอะไรเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น