วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560

อูแชน อัตเชต์ ภาพถ่ายกรุงปารีส

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถ่ายทอดผ่านเลนส์ของ อูแชน อัตเชต์ ช่างภาพแห่งศตวรรษที่ 19 ผู้บุกเบิกภาพถ่ายเชิงสารคดีของโลก แต่ละภาพนั้นถ่ายทอดให้เห็นอาคารบ้านเรือนและท้องถนน ในช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโมเดิร์นนิสม์ (ราวทศวรรษที่ 1920)

อูแชน อัตเชต์ หรือชื่อเต็มๆ ว่า ชอง-อูแชน-โอกุสต์ อัตเชต์ ไม่ได้มีชีวิตอยู่เห็นความสำเร็จของตัวเอง ภาพถ่ายส่วนใหญ่ของเขา ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก โดย เบอเรอนีซ แอบบอตต์ ช่างภาพแนวสารคดีชาวอเมริกัน หลังจากที่ตัวเขาเองได้เสียชีวิตไปแล้ว ภาพเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินเซอร์เรียลิสม์ทั้งหลาย รวมทั้งจิตรกรแขนงอื่นๆ หลังจากนั้น

เขาเกิดเมื่อ 12 ก.พ. 1857 ที่เมืองลิบวร์น ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ชอง-อูแชน อัตเชต์ บิดาของเขา เป็นช่างสร้างรถม้า เสียชีวิตลงในปี 1862 ขณะที่มารดา กลารา-อเดอลีน (อูร์กลิเยร์) อัตเชต์ เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน เด็กชายกำพร้าพ่อแม่ต้องย้ายมาอยู่ในความปกครองของตายายในเมืองบอร์กโดซ์

หลังจากที่จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น อูแชน อัตเชต์ ก็เข้าไปทำงานกับพาณิชย์นาวี ปี 1878 เขาย้ายเข้ามายังกรุงปารีส มาสอบเข้าโรงเรียนการแสดง แต่เนื่องจากอูแชนยังคงรับราชการทหาร ทำให้ไม่อาจเข้าเรียนตรงเวลาได้ในที่สุดก็ถูกเชิญออก

กระนั้นเขายังคงปักหลักอยู่ในกรุงปารีส และเข้าร่วมกลุ่มกับนักแสดงละครเร่ ออกเดินทางไปเปิดการแสดงทั่วกรุงปารีสและเมืองใกล้เคียง จนพบรักกับนักแสดงสาว วาลองทีน เดอลาฟอสส์ กอมปานญง และกลายเป็นคู่ชีวิตกันจนวาระสุดท้าย

ในปี 1887 อูแชนต้องยุติชีวิตนักแสดงหลังจากติดเชื้อในกล่องเสียง เขาพยายามเบนเข็มไปวาดภาพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะหันมาจับกล้องถ่ายภาพในปี 1888 โดยเริ่มถ่ายเมืองอามียองส์และโบเวส์ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเป็นแห่งแรกๆ กระทั่งปี 1890 เขาย้ายกลับมายังกรุงปารีส ในฐานะช่างภาพมืออาชีพอย่างเต็มตัว ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพสารคดี เริ่มด้วยงานเก็บภาพเบื้องหลังการทำงานของจิตรกร สถาปนิก และนักออกแบบฉากละคร

อูแชน อัตเชต์ รับงานถ่ายภาพสารคดีให้พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเลต์ และหอจดหมายเหตุแห่งกรุงปารีส ในปี 1898 ที่นอกจากรับซื้อภาพถ่ายก่อนหน้านี้ของเขาเอาไว้แล้ว ยังมอบหมายให้เขาถ่ายภาพอาคารบ้านเรือนโบราณและถนนหนทางในกรุงปารีส เพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อูแชน อัตเชต์ เก็บผลงานของเขาเอาไว้อย่างดีที่ห้องใต้ดินในบ้านของตัวเอง นอกจากความสูญเสียเรื่อง เลออง ลูกชายของแฟนสาว วาลองทีน ที่เสียชีวิตจากการไปสู้รบที่แนวหน้าแล้ว ผลงานของเขาไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามเลย ยังคงอยู่ครบเซตแห่งบันทึกประวัติศาสตร์ โดยในปี 1920-1921 เขาขายฟิล์มทั้งหมดให้พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเลต์ และหอจดหมายเหตุแห่งกรุงปารีส ก่อนจะนำเงินทุนที่ได้รับ ไปถ่ายภาพสวนสวยของพระราชวังแวร์ซายล์ส เมืองแซงต์-คลูด์ และโซซ์ ชานกรุงปารีส รวมทั้งถ่ายภาพสารคดีชุดโสเภณีแห่งกรุงปารีส

อูแชน
เบอเรอนีซ แอบบอตต์ ช่างภาพสาวชาวอเมริกันที่ตอนนั้นทำงานให้กับจิตรกรเซอร์เรียลิสม์ชาติเดียวกัน แมน เรย์ ได้เจอกับอูแชน ในปี 1925 ซึ่งเป็น 2 ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เธอชื่นชอบผลงานของเขา นอกจากซื้อไปเป็นสมบัติส่วนตัวหลายภาพแล้ว ยังพยายามชักชวนให้คนอื่นเห็นดีเห็นงามด้วย โดยเฉพาะความพยายามเขียนถึง ช่วยจัดนิทรรศการ รวมทั้งนำไปรวมเล่มลงในหนังสือ ฯลฯ

ในช่วงเวลาที่อูแชนตัดสินใจยึดอาชีพช่างภาพ เมื่อทศวรรษที่ 1880 นั้น ยังไม่เคยมีอาชีพนี้มาก่อน จะมีก็แต่ช่างภาพมือสมัครเล่นเท่านั้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพทิวทัศน์ ดอกไม้รวมทั้งการร่วมงานกับศิลปินแขนงต่างๆ เรียกว่า เขาเป็นผู้บุกเบิกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคอลเลกชั่นกรุงปารีสเก่าของเขา

ภาพถ่ายกรุงปารีสยุคนู้น ถ่ายระหว่างปี 1897-1927 จากหลากหลายมุมมอง ทั้งถนนสายเล็กแคบ ตึกรามบ้านเรือนเก่าๆ ศูนย์กลางของเมือง ริมแม่น้ำแซน การตกแต่งภายในของอาคารต่างๆ ไปจนกระทั่งสวนหลังบ้านเล็กๆ ผ่านกล้องที่ทำด้วยกล่องไม้ขนาดใหญ่ โดยอาศัยเลนส์ชนิดที่เป็นเส้นตรง (Rapid Rectilinear Lens) ให้แสงผ่านเข้าไปยังกระจกขนาด 18x24 เซนติเมตรอย่างรวดเร็ว

บรรยากาศบ้านเมืองกรุงปารีสก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก่อนที่ยุคโมเดิร์นนิสม์จะทำให้อาคารโบราณหลายแห่งหายไปจากเมืองแสนโรแมนติก โชคดีที่อูแชนชื่นชอบรายละเอียดของการออกแบบอาคารบ้านเรือนโบราณเป็นการส่วนตัว ทำให้ไม่ลืมจะเก็บภาพช่องหน้าต่าง ราวบันได รวมทั้งรายละเอียดในการตกแต่งภายในอื่นๆ ผ่านแผ่นฟิล์ม (กระจก) เอาไว้แทบจะทุกซอกทุกมุม กลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่า

อูแชน ยังมีสไตล์ในการถ่ายภาพที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือ การถ่ายภาพในที่แสงน้อยด้วยการเปิดหน้ากล้องไว้นานๆ รวมทั้งการทิ้งพื้นที่กว้างๆ ในภาพให้เห็นบรรยากาศของบ้านเมืองแบบเต็มๆ มากกว่าจะจดจ่อถ่ายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ภาพของเขาส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่เวิ้งว้างร้างไร้ผู้คน นั่นคือสิ่งที่เขาตั้งใจ โดยเขามักจะแบกกล้องคู่ใจออกไปตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงผู้คนและรถรา แม้จะแสงน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะอาศัยการเปิดหน้ากล้องนานๆ ได้

“เป็นความตั้งใจของผม ที่จะเก็บบันทึกเมืองอันแสนยิ่งใหญ่นี้เอาไว้แบบที่มันเป็น” ภาพของเขากลายเป็นที่สนใจจากศิลปินยุคนั้นอย่าง อองเดร เดอแร็ง อองรี มาติสส์ และ ปาโบลปิกัสโซ และเมื่อ แมน เรย์ ขอตีพิมพ์ภาพของเขาใน La Revolution Surrealiste นิตยสารทางศิลปะ อูแชนก็บอกว่า ไม่ต้องใส่เครดิตชื่อของเขาลงไปหรอก “นี่เป็นแค่ภาพสารคดีบันทึกกรุงปารีสเท่านั้นเอง ไม่ใช่งานศิลปะอะไร”

แผ่นฟิล์มของอูแชนที่ยังคงหลงเหลือ กระจัดกระจายไป 2 ชุด 2,000 แผ่น อยู่ที่หอจดหมายเหตุ กรุงปารีส ขณะที่อีกส่วน เบอเรอนีซ แอบบอตต์ เป็นผู้ซื้อไป ทั้งสองผู้ครอบครอง มีการนำภาพออกมาจัดแสดงเป็นวาระๆ ครั้งแรกในปี 1929 ที่มีการจัดแสดงภาพของเขาที่งานนิทรรศการ Film und Foto Werkbund ในเมืองสตุตการ์ต เยอรมนี ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย กรุงนิวยอร์ก ก็จัดแสดงรูปภาพกรุงปารีสเก่า ของอูแชน ปี 1968 หลังได้รับมาจาก เบอเรอนีซ แอบบอตต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น