วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

Salvator Mundi ภาพแพงที่สุดในโลก

เพิ่งทุบสถิติ กลายเป็นภาพเขียนราคาแพงที่สุดในโลก จากการประมูลที่สถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก ไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง สำหรับภาพเขียน Salvator Mundi (Saviour of the World) ของยอดจิตรกรผู้เอกอุแห่งยุคเรอเนสซองซ์ เลโอนาร์โด ดา วินชี กับยอดประมูล 450.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท) แซงราคาที่เคยมีคนประมูลภาพ Interchange ของ วิลเลม เด คูนิง ไปเมื่อปีที่ผ่านมาแตกกระจาย

จะว่าไปแล้ว ขึ้นชื่อว่าเป็นภาพเขียนของเลโอนาร์โด ดา วินชี ก็แทบจะหามูลค่าไม่ได้อยู่แล้ว โดย Salvator Mundi เป็นหนึ่งในภาพเขียนของเขาที่คนคิดว่าสูญหายไปแล้ว ทว่า ได้กลับหวนคืนสู่แวดวงศิลปะอีกครั้ง ในปี 2005หลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นภาพเขียนแท้ๆ ของเลโอนาร์โด ดา วินชี จึงมีการบูรณะ และได้นำออกแสดงโชว์ครั้งแรกในปี 2011

Salvator Mundi เป็นภาพพระเยซูในฐานะผู้กอบกู้โลก คาดว่า เลโอนาร์โด ดา วินชี วาดขณะที่ทำงานอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส (ระหว่างปี 1506-1513) ภายหลังได้ตกเป็นสมบัติของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยมีบันทึกเป็นหลักฐานว่า เป็นหนึ่งคอลเลกชั่นศิลปะส่วนพระองค์ในปี 1649 ต่อมาได้ตกเป็นของดยุกแห่งบักกิงแฮมและนอร์มันบี ในปี 1763

Salvator Mundi เผยโฉมออกมาบนโลกนี้อีกครั้ง ในปี 1900 เมื่อ ฟรานซิส คุ้ก (ไวส์เคาน์คนแรกของมอนเซอร์ราเต) นักสะสมชาวอังกฤษ ออกมาซื้อเอาไว้เป็นคอลเลกชั่นส่วนตัว สภาพของภาพเขียนตอนนั้นเสียหายหนักมาก จากความพยายามในการบูรณะแบบไม่มีความรู้ ภายหลังในปี 1958 ทายาทของฟรานซิส คุ้ก จึงขายภาพเขียนนี้ไปในราคาเพียง 45 ปอนด์เท่านั้น

ในปี 2005 ภาพ Salvator Mundi ตกเป็นของสมาคมผู้ค้าศิลปะ โดยหนึ่งในสมาชิกสมาคม คือ โรเบิร์ต ไซม่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะโอลด์ มาสเตอร์ส (Old Masters) พวกเขารู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมาก ที่เห็นสภาพของภาพเขียนล้ำค่าของจิตรกร ที่อาจเรียกได้ว่าเอกอุที่สุดในโลกชิ้นนี้ โดยถึงกับบรรยายว่า เป็นความวินาศ ตกต่ำ และมืดมนถึงขีดสุด

เมื่อ Salvator Mundi ตกอยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญ ทำให้การบูรณะภาพเขียนล้ำค่า เพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพที่คงเดิม เมื่อครั้งที่จิตรกรตัวจริงวาดเอาไว้มากที่สุดได้เริ่มต้นขึ้น จนสามารถอวดโฉมในนิทรรศการ Leonardo da Vinci : Painter at the Court of Milan (ปี 2011-2012) ณ หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้ ด้วยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะโอลด์ มาสเตอร์ส และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เลโอนาร์โด ดา วินชี ทั้งหลาย ตั้งแต่ โรเบิร์ต ไซม่อน, มาร์ติน เคมพ์ และวอลเทอร์ ไอแซกสัน

ภาพเขียนบุตรของพระเจ้าผู้กอบกู้โลก มี ดีมิตรี ไรโบลอฟเลฟ ซื้อผ่าน อีฟส์ บูวิเยร์ นักค้าศิลปะชาวสวิสไปที่ราคา 127.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013 ก่อนที่จะนำมาออกประมูลจนกลายเป็นภาพเขียนราคาแพงที่สุดในโลกไปในที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อชั้นของความเป็น เลโอนาร์โด ดา วินชี นั้นมีส่วนเป็นอย่างมาก ที่ทำให้มูลค่าของงานศิลปะชิ้นนี้พุ่งทะลุเพดานประมูล แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ทรรศนะทางศิลปะถึงคุณค่าของภาพ Salvator Mundi ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ในผลงานของจิตรกรผู้เอกอุเอาไว้...


ลูกแก้ว

หากภาพนี้วาดราวๆ ปี 1500 เลโอนาร์โด ก็น่าจะอายุราวๆ 48 ปี ซึ่งวอลเทอร์ ไอแซกสัน ผู้เขียนอัตชีวประวัติของ เลโอนาร์โด ดา วินชี บอกว่า เป็นช่วงที่เขากำลังมุ่งมั่นกับการศึกษาเรื่องเลนส์ การหักเหของแสง และวิชาฟิสิกส์ ซึ่งมักจะมาปรากฏในภาพเขียนด้วย

การหักเหของแสงผ่านลูกแก้วคริสตัล น่าจะเกิดแสงเงาลงบนเสื้อผ้าด้านหลัง เช่นเดียวกับเงาของมือ ก็น่าจะปรากฏลงบนลูกแก้ว รายละเอียดที่ไม่เหมือนจริงตรงนี้ ดูคล้ายเป็นจุดบอดของภาพเขียนหากไม่ได้พะยี่ห้อเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่วอลเทอร์ ไอแซกสัน บอกว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นการแสดงออกถึงปาฏิหาริย์แห่งพระเยซูคริสต์


ตำแหน่งร่างกาย

ไม่เคยมีภาพเขียนของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ภาพไหน ที่วาดแบบให้หันหน้าตรง อยู่ตรงกลางภาพ เป็นรูปติดบัตรแบบนี้มาก่อนเลย ลักษณะการวางตำแหน่งร่างกายที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย เป็นเครื่องหมายการค้าของจิตรกร โดยเฉพาะแบบที่ดูลึกลับ มีการเอี้ยวคอ เอียงไหล่ กลับไม่ปรากฏในภาพนี้ จนถึงขั้นที่มีการลือกันไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องไม่ใช่ผลงานของเลโอนาร์โดอย่างแน่นอน คาดว่าเป็นผลงานของผู้ช่วยที่ทำงานเคียงข้างเขา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้มีการพิสูจน์เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เป็นผลงานของยอดศิลปินเรอเนสซองส์หนึ่งเดียวกันนี้อย่างแน่นอน ไมเคิล ดาลีย์ ผู้อำนวยการของอาร์ตวอทช์ แห่งสหราชอาณาจักร อธิบายว่า การจัดวางตำแหน่งร่างกายบุตรของพระเจ้าใน Salvator Mundi ให้เป็นแบบหน้าตรงเรียบๆ แบนๆ แสดงความเป็น “รูปบูชา” ซึ่งต่างจากวิธีการวาดภาพนาย/นางแบบของเลโอนาร์โดโดยสิ้นเชิง


ที่มาที่ไป

ภาพวาดน้อยกว่า 20 ชิ้น ที่ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นผลงานที่แท้จริงของ เลโอนาร์โด ดา วินชี และก่อนหน้านี้ Salvator Mundi ไม่ได้อยู่ในรายชื่อนั้นอยู่เป็นเวลานาน ความสับสนส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่ เวนเซสลอส ฮอลลาร์ จิตรกรจากศตวรรษที่ 17 ได้สร้างสรรค์ภาพพิมพ์ก๊อบปี้ โดยอาศัยภาพนี้เป็นแบบออกมา

หลังจากสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ภาพนี้ก็อันตรธานหายไป ก่อนจะโผล่มาอีกครั้งในปี 1900 ซึ่งตอนนั้นกลายเป็นว่า Salvator Mundi ภาพนี้วาดโดยแบร์นาร์ดิโน ลุยนิ ผู้ติดตามของเลโอนาร์โด อีกที กว่าจะเคลียร์สถานะตัวเองได้ ก็ปาเข้าไปในปี 2005 ที่ภาพผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ว่า วาดขึ้นในขณะที่เลโอนาร์โด ยังมีชีวิตอยู่ รวมทั้งเทคนิควิธีการวาดที่ไม่เหมือนใคร เช่น เม็ดสีที่ใช้ การเลือกแผ่นวอลนัทมาวาดภาพ หรือการนิยมใช้นิ้วหรือส่วนหนึ่งของร่างกายกดลงไปในภาพ ฯลฯ


การบูรณะภาพ

แม้จะได้รับการพิสูจน์แล้วว่า Salvator Mundi เป็นผลงานที่แท้ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ทว่าก่อนปี 2011 นั้น ภาพนี้แทบไม่เหลือสภาพความเป็นภาพเขียนอันทรงคุณค่า ถึงขนาดผ่านการขายที่ราคาเพียง 45 ปอนด์มาแล้ว

การปรากฏขึ้นในโลกศิลปะอีกครั้งในปี 2005 นั้นแทบไม่เหลือคราบของความเป็นผลงานของยอดจิตรกรแห่งยุคเรอเนสซองซ์ ต้องขอบคุณผู้เชี่ยวชาญทุกท่าน และที่สุดของที่สุด คือ ผลงานของนักบูรณะภาพเขียน ดิแอนน์ ดอว์เยอร์ โมเดสตินี ผู้เชี่ยวชาญการบูรณะภาพเขียนโอลด์ มาสเตอร์ส ที่ไม่เพียงอาศัยความเชี่ยวชาญบูรณะภาพตรงหน้าเท่านั้น หากต้องศึกษาเทคนิคและฝีแปรงของจิตรกรแต่ละท่านอย่างละเอียด

ดิแอนน์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลักการของเธอ คือ ต้องไม่ทำให้รู้สึกว่า ไปทำลายต้นฉบับของภาพเขียน ต้องไม่เอาตัวเองใส่ลงไปในนั้น “ฉันจึงไม่ทำอะไรมากมาย เพราะภาพเขียนของโอลด์ มาสเตอร์ส ต้องคงความเก่าของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนไหนที่แตกหักก็ต้องปล่อยทิ้งเอาไว้อย่างนั้น หากไปทำให้เนี้ยบก็จะกลายเป็น ‘ภาพทำใหม่’ ไม่ใช่การ ‘บูรณะ’ ภาพเขียน”

ท้ายที่สุดแล้ว Salvator Mundi ก็คล้ายกับการค้นพบ Mona Lisa อีกภาพหนึ่งก็ไม่ปาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น