วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อาร์เตมิซา เกนติเลสคี จิตรกรหญิง แห่งยุคบาโรก



Susanna e i Vecchioni 

หอศิลป์สเปอโรนี เวสต์วอเตอร์ กรุงนิวยอร์ก จัดแสดง นิทรรศการ Italian Paintings from the 17th and 18th Centuries แสดงภาพเขียนอิตาเลียนยุคศตวรรษที่ 17 และ 18 อันประกอบไปด้วยผลงานของจิตรกรยุคหลังเรอเนสซองซ์ดังๆ ที่กลายเป็นรากฐานของชิ้นงานศิลปะยุคใหม่ตั้งแต่ กานาเลตโต หรือ โจวานนี อันโตโน กานาล (มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1697-1768) กาวาลิเยร์ ดาร์ปิโน หรือ จูเซปเป เชซารี (1568-1640) มิเคเล มาริเยสคี (1710-1743) 


ที่ฮือฮากันมากก็คือ ภาพเขียนชายนิรนาม Unidentified Man (วาดระหว่าง ค.ศ. 1630–1640) ที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อนของจิตรกรหญิงที่ได้รับการยอมรับที่สุดแห่งยุค บาโรก อาร์เตมิซา เกนติเลสคี (1593-1653)

ภาพเขียนชายนิรนาม Unidentified Man ของอาร์เตมิซา จัดแสดงเคียงคู่กับอีกหลายภาพที่เพิ่งจะค้นพบหลังทศวรรษที่ 1750 ไม่ว่าจะเป็น Portrait of Ferdinando Gonzaga, Duke of Mantua (1617) ของ ติเบโร ติติ และ Piazza San Marco, looking West, from the Campo di San Basso (1757–1758) ผลงานในยุคแรกๆ ของฟรันเชสโก การ์ดิ

ผลงานของอาร์เตมิซา เห็นได้ชัดว่าได้แรงบันดาลใจจาก มิเกลังเจโล การาวาจโจ ซึ่งแม้ว่าย้อนไปในยุคนั้น จิตรกรผู้หญิงยากที่จะได้การยอมรับ หากเธอก็เป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เข้าเป็นสมาชิกของสถาบันอัคคาเดเมีย ดิ อาร์เต เดล ดิเซโญ (Accademia di Arte del Disegno) ในกรุงฟลอเรนซ์ นอกจากนี้ อาร์เตมิซายัง เป็นจิตรกรหญิงรายแรก ที่วาดเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์และศาสนาอีกด้วย

ภาพเหมือนตัวเอง ของ อาร์เตมิซา
อาร์เตมิซา เกนติเลสคี เกิดที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 1593 เธอเป็นธิดาคนโตของจิตรกรชาวทัสคัน โอราโซ เกนติเลสคี เธอได้เปิดโลกของศิลปะในสตูดิโอของบิดา โดยแสดงให้ เห็นพรสวรรค์ที่โดดเด่นเหนือน้องชายทั้งหลาย ที่โตมากับศิลปะด้วยกัน บิดาของเธอเอง ก็ได้แรงบันดาลใจมากมายจากมิเกลังเจโล การาวาจโจ ซึ่งทำให้เป็นมรดกตกทอดมาถึง อาร์เตมิซาเช่นกัน

แค่ผลงานชิ้นแรก Susanna e i Vecchioni (Susanna and the Elders) ในวัยเพียง 17 ปี ก็สร้างความฮือฮาอย่างมากมาย ทั้งเนื้อหาของภาพที่วาดเกี่ยวกับหญิงสาวชื่อซูซานนา กำลังถูกล่วงเกินทางเพศจากชายสูงวัย 2 คน ซึ่งน่าจะวาดมาจากความรู้สึกของเธอเองที่เห็นว่า ผู้หญิงมักถูกกดขี่ ไม่เพียงทางความคิดหรือทางกาย เท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ก็บันทึกเอาไว้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เธอประสบกับตัวเองที่ถูกเพื่อนของ พ่อข่มเหงทางเพศ

อาร์เตมิซา แม้จะมากความสามารถ แต่เธอกลับถูกปฏิเสธการเข้าศึกษาต่อในสถาบันศิลปะหลากหลายแห่ง ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ไม่เคยมี ผู้หญิงเข้าศึกษาในสถาบันชั้นสูงเช่นนี้มาก่อน เคราะห์ดีที่บิดาของเธอเองก็เป็นจิตรกรมากฝีมือ หลังจากเขาได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานกับ อะกอสติโน ตัสซี ในการตกแต่งบางส่วนของพระราชวังปาลยาวิชีนี รอสปิโกลซี ในกรุงโรม เขาก็แอบจ้างอะกอสติโนให้มาสอนลูกสาวเป็นการส่วนตัว

อะกอสติโนไม่สอนเปล่า กลับข่มขืนเด็กสาวจนกลายเป็นเรื่องฟ้องร้องกันเกือบปี หลังชนะคดี พ่อจับเธอแต่งงานกับปีรันโตโน สตาตเตซี ทั้งคู่ย้ายไปยังฟลอเรนซ์ เพราะอาร์เตมิซาได้รับการว่าจ้างให้ไปวาดรูปที่คาซาบัวนาร์รอตติ

อาร์เตมิซา ประสบความสำเร็จอย่างสูงที่ ฟลอเรนซ์ เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ เข้าศึกษาในสถาบันอัคคาเดเมีย ดิ อาร์เต เดล ดิเซโญ และได้การยอมรับในผลงานอย่าง กว้างขวาง พร้อมๆ กับการเป็นจิตรกรประจำราชสำนัก และการได้รับจ้างวาดภาพประดับบ้านเศรษฐีมากมาย เธอก็สร้างสรรค์ผลงานที่ยังคงโด่งดังมาถึงทุกวันนี้

ไม่ว่าจะเป็น La Conversione della Maddalena (The Conversion of the Magdalene) หรือว่า Giuditta con la sua ancella (Judith and her Maidservant) ที่เธอวาดอีกเวอร์ชัน Giuditta che decapita Oloferne (Judith beheading Holofernes) ที่ใหญ่ขึ้นอีกด้วย โดยปัจจุบันผลงานเหล่านี้ประดับอยู่ตามผนังของพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญหลายแห่งในกรุงฟลอเรนซ์

ในปี 1621 อาร์เตมิซา เดินทางกลับมา ยังกรุงโรม และยังไม่หยุดสร้างงานศิลปะ แม้ว่ามิเกลังเจโล การาวาจโจ จะลาโลกไปกว่าทศวรรษแล้วในขณะนั้น แต่จิตรกรแห่งยุค มากมายก็ยังยึดแนวทางของเขาอยู่ ซึ่งก็ กลายเป็นเทรนด์ของโลกของศิลปะในกรุงโรม ที่จะย้ายเข้าสู่สไตล์บาโรกเข้าทุกทีๆ

สีสันจัดๆ โดดเด่น กับเนื้อหาในภาพอันเข้มข้น สุดดรามา คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจิตรกรรมยุคนี้ สถาบันศิลปะที่กรุงดีทรอยต์ยอมรับว่า เธอมีการใช้สีอ่อนและเข้มตัดกันอย่างรุนแรง ซึ่งนับว่าเป็นสเตอริโอไทป์ของศิลปะยุคนี้ ที่เห็นได้ชัดก็คือภาพ Giuditta con la sua ancella (Judith and her Maidservant) Venere Dormiente (The Sleeping Venus) และ Ester ed Assuero (Esther and Ahasuerus)

Giuditta con la sua ancella
เธอย้ายไปเนเปิลส์ ในปี 1630 โดยเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าไปวาดภาพในโบสถ์ซานเกนนาโร (Saint Januarius) อาร์เตมิซาวาด Nascita di San Giovanni Battista (Birth of Saint John the Baptist) Madonna e Bambino con rosario (Virgin and Child with a Rosary) และ Corisca e il satiro (Corisca and the satyr) ซึ่งผลงานที่แตกต่างออกไป นับเป็นการจัดระเบียบความคิดใหม่ๆ ให้จิตรกรหญิงเป็นอย่างมาก

ปี 1638 เธอเดินทางไปร่วมงานกับบิดาที่ลอนดอน กับการเป็นศิลปินในราชสำนักของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 โดยพระองค์รับสั่งให้เรียกตัวอาร์เตมิซาเข้ามาเอง เธอได้รับผิดชอบงานสำคัญคือ งานประดับประดาเพดาน ซึ่งเธอได้วาดภาพ Trionfo della pace e delle Arti (Triumph of the peace and the Arts) ไว้ที่เพดานของตำหนักของพระนางเฮนเรียตตา มาเรีย ในกรีนิช และยังมีผลงานที่พระเจ้าชาร์ลส์โปรดมาก และกลายเป็นสมบัติของท้องพระคลังอังกฤษ ได้แก่ Autoritratto in veste di Pittura (Self-Portrait as the Allegory of Painting) หรือภาพพอร์เทรตตัวเธอเอง

มาอยู่ที่ลอนดอนเพียงปีเดียว บิดาของเธอก็ลาจากโลก ทำให้เธอได้รับช่วงเป็นจิตรกรประจำราชสำนักอย่างเต็มตัว กระทั่งปี 1642 เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ อาร์เตมิซา จึงเดินทางกลับมาที่เนเปิลส์ และทำงานให้เศรษฐีท้องถิ่นอย่างเงียบเชียบ โดยคาดว่าเธออาจจะเสียชีวิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกับศิลปินท้องถิ่นคนอื่นๆ (ราว 1652–1653) เนื่องจากเกิด กาฬโรคระบาด

เจน แฟรงก์ หญิงเหล็กแวดวงศิลปศิลป์อเมริกัน



จิตรกร ประติมากร ศิลปินสื่อผสมนักออกแบบลายผ้าหญิงชาวอเมริกัน เจน แฟรงก์ ศิษย์เอกของ ฮันส์ ฮอฟมันน์ ศิลปินเยอรมัน-อเมริกัน ที่ผลงานศิลปะในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะงานจิตรกรรมในแนวแอบสแทรกต์ ที่ได้มักได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ แม้ว่าในภายหลังเจนจะหันมานิยมวาดภาพแนวแลนด์สเคปแบบตรงไปตรงมาก็ตาม แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เธอก็คือ ภาพแนวแอบสแทรกต์มากกว่า โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมและศิลปะสื่อผสม


เจน แฟรงก์ นับว่าเป็นศิลปินคนสำคัญของอเมริกา ผลงานของเธอได้รับการจัดแสดงไว้ที่หอศิ??ป์ของสถาบันสมิธโซเนียน หอศิลป์แห่งบัลติมอร์ (บ้านเกิดของเธอ) หอศิลป์จอห์นสันแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ฯลฯ

ชื่อเดิมของเจน แฟรงก์ คือเจน เชนธาล เธอมีความสนใจในศิลปะเป็นทุนเดิม ก่อนจะเข้าศึกษาอย่างเป็นแบบแผนที่สถาบันศิลปะในแมรีแลนด์ ในสาขานิเทศน์ศิลป์ เอกการออกแบบแฟชั่น ก่อนจะไปเรียนต่อที่พาร์สันสคูล ออฟ ดีไซน์ ในนิวยอร์ก โดยระหว่างนั้นเธอยังศึกษาทางด้านการละครไปด้วย

หลังศึกษาจบ เจนเข้าทำงานทางด้านการออกแบบแฟชั่นที่กรุงนิวยอร์กเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนจะย้ายกลับมายังบ้านเกิดในบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ แล้วเริ่มต้นสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างจริงจังราวปี 1940 มีหลักฐานเป็นจดหมายที่เธอเขียนถึง โธมัส โยเซลอฟ เล่าพื้นฐานของตัวเองที่มีมาทางพาณิชย์ศิลป์ ครั้นเมื่อตั้งใจจะเป็นศิลปินเต็มตัว เธอก็?ิ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเคยพากเพียรร่ำเรียนมาแล้ว เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

เจนเริ่มศึกษาเกี่ยวกับศิลปะแบบเพียวอาร์ต ตั้งแต่ศิลปะภาพเขียนสีในถ้ำยุคโบราณไปจนถึงศิลปะเรอเนสซองซ์ และสนใจเป็นพิเศษที่ผลงานของปอล เซซานน์ ปาโบล ปิกัสโซ และวิลเลม เด คูนิง เธอเพิ่มเติมไว้ในจดหมายว่า นิยมงานที่เป็นเล่นกับพื้นผิว (เทกซ์เจอร์) รวมทั้งภาพสีน้ำมันที่ดูแรงๆ

ทางด้านชีวิตส่วนตัวเธอสมรสกับเฮอร์มัน เบนจามิน แฟรงก์ ไม่นานหลังกลับมาปักหลักใน บัลติมอร์ และเมื่อเริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะเธอจึง เริ่มด้วยลายเซ็นบนผืนภาพว่า เจน แฟรงก์ ตลอดมา

สามีของเธอทำงานก่อสร้างอาคาร และเขาก็เป็นผู้สร้างสตูดิโอวาดภาพให้เธอด้วยตัวเอง นอกจากหันมาเป็นศิลปินเต็มตัวแล้ว เจนยังวาดภาพประกอบในหนังสือเด็ก แล้วยังเขียนหนังสือเองด้วย (Monica Mink)

เหตุหนึ่งที่ทำให้เจน แฟรงก์ หันมาทำงานศิลปะ ซึ่งเป็นอิสระจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน เนื่องเพราะปัญหาสุขภาพที่รุมเร้าทำให้เธอไม่สามารถที่จะนั่งทำงานได้ระยะเวลานานๆ หลังจากนั้นอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1952 ยังซ้ำเติมให้อาการหนักยิ่งกว่าเก่า แต่กระนั้นเธอก็ยังสามารถผลิตงานออกมาแสดงนิทรรศการเดี่ยวได้ในปี 1958 ที่หอศิลป์แห่งบัลติมอร์

ระหว่างที่เยียวยาอาการบาดเจ็บ ในปี 1956 เจนเข้าเรียนกับศิลปินเอกเพรสชันนิสต์ชาวเยอรมัน-อเมริกัน ฮันส์ ฮอฟมันน์ ที่โพรวินซ์ทาวน์ รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของเธอดีกว่าจะศึกษาด้วยตัวเอง ด้วยเพราะอาจารย์ศิลปินช่วยเสริมความเชื่อมั่น ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นอย่างดี จนทำให้เธอสามารถสร้างสรรค์งานแสดงในนิทรรศการเดี่ย?ครั้งแรกในปี 1958 ดังกล่าว รวมทั้งมีโอกาสทัวร์แสดงงานไปยังหอศิลป์ต่างๆ หลายแห่ง ทั้งแกลเลอรีศิลปะคอร์โคแรน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในปี 1962 รวมทั้งแกลเลอรีบ็อดลีย์ ที่กรุงนิวยอร์ก ในปี 1963 และห้องนิทรรศการของกูเชอร์คอลเลจ ที่บัลติมอร์ในปีเดียวกัน

ในปี 1962 เจน แฟรงก์ ได้ทุนของไรน์ฮาร์ต เฟลโลว์ชิป ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ วิลเลียม เฮนรี ไรน์ฮาร์ต ประติมากรชาวแมรีแลนด์ อันเป็นโอกาสให้เธอได้ศีกษากับนอร์แมน คาร์ลเบิร์ก ที่โรงเรียนประติมากรรมไรน์ฮาร์ต ในสถาบันศิลปะแมรีแลนด์ ซึ่งทำให้เจนได้โอกาสทดลองสร้างสรรค์งานในสายใหม่ คือ ประติมากรรมในภายหลัง โดยนับว่าเป็นอีกสายงานที่เธอได้สร้างสรรค์เอาไว้มากพอตัว ถึงขนาดที่สามารถให้ ฟีบี บี. สแตนตัน รวมเล่มได้สบายๆ (The Sculptural Landscape of Jane Frank) ในปี 1968

การได้เรียนรู้และสร้างสรรค์งานประติมากรรม ทำให้เจนก้าวข้ามไปอีกขั้น นั่นคือ เริ่มทำงานออกมาด้วยเทคนิคศิลปะสื่อผสม ซึ่งปรากฏให้เห็นในผลงานหลังจากปี 1962 อย่างเด่นชัด โดยในผลงานสื่อผสมของเธอเน้นเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของศิลปะพื้นผิว หรือเทกซ์เจอร์อย่างที่เธอชอบและสนใจมาตั้งแต่ต้น เจนอาศัย "สื่อ" หรือ "วัสดุ" มากมายมาผสมผสานออกเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น ของฝากจากทะเล เศษหอย เม็ดทราย รวมทั้งซากเรือ ไม้ผุ แล้วก็เศษแก้ว ทั้งไม่ลังเลที่จะหยิบวัสดุที่ไม่ใช่ธรรมชาติสร้าง อย่าง แผ่นซิลิกา มาใช้ด้วย ซึ่งผลงานในช่วงนี้ยิ่งขับเน้นให้เธอกลายเป็นศิลปินแอบสแทรกต์ เอกซ์เพรสชันนิสต์อย่างเต็มตัว โดยเธอจัดแสดงนิทรรศการ สื่อผสมเป็นครั้งแรกที่บัลติมอร์ในปี 1965

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอยังสร้างสรรค์ ผืนผ้าใบของตัวเองมิให้คิดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมอีก ต่อไป หากคิดค้นผ้าใบที่เรียกว่า "มีทรวดทรง" (Shaped Canvas) ซึ่งดูเหมือนว่า นอกจากอิทธิพลของประติมากรรมแล้ว ก็ยังเป็นสิ่งที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่ครั้งเรียกแฟชั่นดีไซน์นั่นเอง

Shaped Canvas ทำให้การสร้างสรรค์ศิลปะ สื่อผสมของเธอกลายเป็นรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งสร้าง ชื่อเสียงให้เจน แฟรงก์เป็นอย่างมาก

หลังจากทศวรรษแห่งประติมากรรมและ สื่อผสม เจน แฟรงก์ เรียกได้ว่าเป็นสูงสุดคืนสู่สามัญ เมื่อกลับมาให้ความสนใจต่อการเขียนภาพแลนด์ สเคปแนว "มุมสูง" หรือ Aerial Landscape ซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดสีสันตามธรรมชาติจริงๆ แม้จะแอบติดกับความเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือแอบสแทรกต์อยู่เล็กน้อยก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้มีเบื้องหลังบันทึกเอาไว้ว่า เป็นเพราะเจนเริ่มหันมาสนใจเรื่องศาสนา และมีความเชื่อว่าเธอเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดินแมรีแลนด์ จึงต้องการวาดภาพเชิงธรรมชาติ ด้วยการถ่ายทอดเป็นภาพแลนด์สเคปมุมสูง ด้วยการวาดให้มีสีสันใกล้เคียงธรรมชาติของสถานที่มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทิวทัศน์ของบัลติมอร์ในแมรีแลนด์

ในปี 1986 เจน แฟรงก์ เสียชีวิตที่บ้านของตัวเองในบัลติมอร์ แมรีแลนด์ ด้วยวัย 68 ปี หลังทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์งานแทนคุณแผ่นดิน เป็นภาพวาดทิวทัศน์มุมสูงจำนวนมากมาย

ภาพชีวิตตกร่อง ของ ดีแอน อาร์บัส


ภาพยนตร์เรื่อง Fur เล่าเรื่องของช่างภาพสาวชื่อดังของอเมริกา ดีแอน อาร์บัส (เนเมรอฟ) ซึ่งโด่งดังในแง่ของการถ่ายภาพคนแปลก


ชื่อ Fur ในภาพยนตร์ชีวิตดีแอน น่าจะมาจากครอบครัวเดิมของเธอทางฝ่ายมารดา ที่ประกอบธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้าสุภาพสตรีนั่นเอง

เธอเกิดที่นิวยอร์ก ในครอบครัวชาวยิวที่ มั่งคั่ง ด้วยความเป็นผู้หญิง ดีแอน จึงโดนบดบังจากพี่ชายผู้เป็นกวี ฮาเวิร์ด เนเมรอฟ เธอหลงรักอนาคตนักแสดงหนุ่ม อัลลัน อาร์บัส ตั้งแต่อายุ 14 และแต่งงานกับเขาทันทีเมื่อเธออายุ 18 ตามความประสงค์ของพ่อแม่

เมื่ออัลลันเริ่มฝึกการถ่ายภาพในกองทัพสหรัฐ เขาก็สอนภรรยาให้ถ่ายรูปด้วย ทั้งสองสามี-ภรรยาร่วมกันรับจ้างถ่ายภาพ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในโลกแฟชั่น โดยช่วงแรกๆ อัลลันรับหน้าที่ตากล้อง ส่วนดีแอนเป็นสไตลิสต์ ก่อนที่ฝ่ายภรรยาจะต้องการลองถ่ายภาพเองบ้าง โดยไปเรียนเพิ่มเติมที่ ลิเส็ตต์ โมเดล ในนิวยอร์ก

ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน คือ ดูน อาร์บัส (นักเขียน/ อาร์ต ไดเร็กเตอร์) และ เอมี อาร์บัส (ช่างภาพ) ทว่า ในปี 1959 สามี-ภรรยาอาร์บัสกลับแยกทางกัน

หลังจากบอกศาลาจากสามี ดีแอนไปเรียนถ่ายรูปกับช่างภาพชื่อดัง อเล็กซีย์ โบรโดวิตช์ และริชาร์ด อเวดอน ในปี 1960 เธอก็เริ่มทำงานอย่างจริงจังในฐานะช่างภาพ ผลงานของเธอได้ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังมากมาย ตั้งแต่ Esquire, The New York Times Magazine, Harper's Bazaa, Sunday Times magazines และ ฯลฯ

ในช่วงแรกๆ เธอใช้กล้อง 35 มม. ทว่าในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เธอเริ่มหันมาใช้กล้องใหญ่แบบทวินเลนส์ยี่ห้อโรลลีเฟล็กซ์ รุ่นมีเดียม ซึ่งใช้ฟิล์มสี่เหลี่ยมที่ให้ภาพละเอียดกว่า ดีแอนเริ่มทดลองถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ เช่นว่า การใช้แฟลชในช่วงกลางวัน ซึ่งทำให้ได้ภาพของวัตถุที่ถ่ายโดดเด่นและแยกออกมาจากฉากหลังอย่างเห็นได้ชัด

ผลงานภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ศิลป์ของเธอ คว้ารางวัลกุกเกนไฮม์ถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือ ปี 1963 และ 1966 พอปีถัดมา พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย หรือ โมมา เชิญเธอไปเปิดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายครั้งแรกในชีวิต โดยร่วมกับ ช่างภาพชื่อดังคนอื่น อย่างเช่น แกร์รี วิโนแกรนด์ และ ลี ฟรีดแลนเดอร์ ดีแอน ยังมีโอกาสได้สอนวิชาการถ่ายภาพ ที่ พาร์สันส์ สกูล ออฟ ดีไซน์ ในนิวยอร์ก และแฮมเชอร์ คอลเลจ ในแอมเฮิร์สต์ รัฐแมสซาชูเส็ตต์ส

ในเดือนกรกฎาคม 1971 ดีแอน อาร์บัส ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในกรีนิช วิลเลจ ด้วยวัยเพียง 48 ปี โดยการเสพยาเกินขนาด ก่อนที่จะใช้มีดกรีดข้อมือตัวเอง มีข่าวลือว่า เธอถ่ายภาพขณะที่ตัวเองกำลังฆ่าตัวตายเอาไว้ด้วย ทว่า ตำรวจค้นไม่พบภาพในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด

นิตยสารภาพถ่าย Aperture ตีพิมพ์รูปและเรื่องราวชีวิตเพื่อเชิดชูความเป็นศิลปินของ ดีแอน อาร์บัส ขณะที่ ภัณฑารักษ์ของโมมา จอห์น ซาร์โคว์สกี เองก็ตั้งใจจะจัดพื้นที่แสดงงานของเธอ ในปี 1972 โดยรวบรวมจากสำนักพิมพ์ต่างๆ หากโดนปฏิเสธจากค่ายใหญ่ๆ มีเพียง Aperture เท่านั้น ที่จัดทำหนังสือเฉพาะกิจตีพิมพ์ภาพถ่ายของ ดีแอน ซึ่งกลายเป็นหนังสือรวมภาพถ่ายที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ถึง 12 ครั้งและขายได้มากกว่า 1 แสนเล่ม ภาพดังกล่าวจัดแสดงที่โมมาด้วย รวมทั้งเดินทางไปจัดแสดงยังที่ต่างๆ ในอเมริกาเหนือ ซึ่งคาดว่ามีผู้ที่เข้าชมกว่า 7 ล้านคนทีเดียว

ในปีเดียวกัน แม้ ดีแอน อาร์บัส จะเสียชีวิตไปแล้ว เธอยังเป็นช่างภาพอเมริกันคนแรกที่มีผลงานเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะเวนิซ เบียนนาเลอีกด้วย ภาพเด็กแฝดกลายเป็นสัญลักษณ์ในภาพถ่ายของเธอ และยังเป็นภาพถ่ายราคาแพงที่สุดในโลกเป็นอันดับ 7 (สถิติปี 2004) โดยขายได้ถึง478,400 เหรียญสหรัฐ

ดีแอน อาร์บัส เป็นที่รู้จักกันในทุกวันนี้ กับภาพถ่ายของคนเคระ ยักษ์ โสเภณี คนเร่ร่อน รวมทั้งคนที่สติไม่ค่อยจะสมบูรณ์ หรือคนปกติธรรมดาที่เธอนำมาจัดถ่ายให้ได้อารมณ์เสียดสีประชดประชันสังคม

เจเน็ต มัลคอล์ม นักเขียนประจำ “The New Yorker” วิจารณ์ผลงานของดีแอนว่า เป็นการถ่ายภาพแบบเก่าๆ “เธออาศัยแบบแผนเดิมๆ มาเล่าเรื่องราวที่เห็นในปัจจุบัน”

ลักษณะการถ่ายภาพตามขนบเดิม หรือ “Traditional forms” ที่โดดเด่นในผลงานของดีแอน อาร์บัส ก็คือ การใช้เลนส์ไวด์แองเกิล ที่จะทำให้ได้อารมณ์ของภาพในแบบที่เธอต้องการ เธอมักจัดให้วัตถุอยู่ตรงกลางภาพ ซึ่งดูเหมือนว่าเธอจะสนใจในเรื่องของอารมณ์ในการถ่ายภาพขณะนั้นมากกว่า ที่จะคิดถึงเรื่ององค์ประกอบภาพ หรือคอมโพสิชั่น

เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว่ว่า เธอเองไม่รู้หรอกว่า องค์ประกอบภาพคืออะไร บางทีการจัดองค์ประกอบของเธอก็อาจจะหมายถึงการทำให้ภาพสว่างขึ้น หรือเหลือพื้นที่บนภาพให้ได้พักสายตากันมากขึ้น “บางทีมันก็เกิดจากความผิดพลาดบางอย่างขณะที่ถ่าย แต่กลับได้ภาพสวยขึ้นมา ฉันว่าบางที่การทำถูกก็อาจ กลายเป็นผิด และบางครั้งฉันก็ชอบที่จะทำถูกๆ บางทีก็ชอบถ่ายแบบผิดๆ เหมือนกันนะ”

การที่เธอชอบใช้แฟลชในการถ่ายภาพกลางแจ้งเวลากลางวัน ซึ่งทำให้คนหรือวัตถุที่อยู่ในภาพดูเด่นเด้งขึ้นมาเตะตา แสดงให้เห็นอารมณ์ในตัวของเธอเอง ที่อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว ชอบอยู่คนเดียวในโลกของตัวเอง ทำให้เกิดความคิดแบบเกินเลยจากความเป็นจริง (เซอร์เรียล) ไปได้

ภาพถ่ายที่โดดเด่นของ ดีแอน ประกอบด้วย...

Child with Toy Hand Grenade in Central Park

ภาพนี้ถ่ายที่กรุงนิวยอร์ก ปี 1962 เด็กชายตัวผอมแกร็น รูปร่างดูผิดแผก แขนข้างหนึ่งหงิกงอ ส่วนอีกข้างหนึ่งถือของเล่นที่มีลักษณะเหมือนลูกระเบิดเอาไว้ ดีแอนถ่ายรูปนี้ โดยให้เด็กชายยืนอยู่ในลักษณะที่เห็น แล้วเธอก็เดินรอบๆ ตัวเขาถ่ายทุกมุมแบบ 360 องศา กว่าจะได้มุมนี้ พร้อมแสงเงา และอารมณ์อย่างที่เธอถูกใจที่สุดนั้น เด็กชายก็โวยวายว่า ถ่ายเสียที จนกลายเป็นอารมณ์ที่ได้ในภาพนี้นั่นเอง

Identical Twins

ภาพนี้ถ่ายในปี 1967 เด็กหญิงฝาแฝดในชุดกระโปรงผ้าลูกฟูก คนหนึ่งยิ้มคนหนึ่งบึ้ง ภาพนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “เครื่องหมายการค้า” ของ ดีแอน แล้วยังเป็นแรงบันดาลใจให้ สแตนลีย์ คูบริก นำการโพสท่าของฝาแฝดไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง The Shining ของเขาด้วย

Jewish Giant at Home with His Parents in The Bronx

ภาพของ เอดดี คาร์เมล “ยักษ์ชาวยิว” ถ่ายในอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวคาร์เมล โดยมีพ่อและแม่ของเอดดี ซึ่งดูตัวเล็กมาก เมื่อยืนอยู่กับเขา ภาพดังกล่าวถ่ายในปี 1970 ทำให้เกิดการตีความไปต่างๆ นานา บางคนก็ว่า แม้เอดดีจะมีรูปร่างผิดปกติ แต่เขาก็ไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข ขณะที่บางคนก็จับตาไปที่พ่อแม่ขอเอดดี ว่า มีกิริยาแปลกๆ ท่าทางตื่นเต้น คล้ายกับเพิ่งเคยเห็นเอดดีเป็นครั้งแรกในชีวิตอย่างนั้นแหละ

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?


Pop's Eye View by ฌองวิเยร์



คำถามป๊อปๆ ที่ผู้ใหญ่ (ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน) ชอบถามเด็ก...
"โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?"
เด็กๆ ยุคนู้น (ไม่รู้อยากตอบหรือเปล่า? แต่ก็) มักมีคำตอบป๊อปๆ มาบอกผู้ใหญ่...
"ถ้าโตขึ้น...หนูอยากเป็นหมอ อยากเป็นครู อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ อยากเป็นนักบินอวกาศ ฯลฯ"
อาชีพที่ "ป๊อป" ที่สุดในแวดวงเยาวชน ยุคก่อน คืออาชีพที่ลำบากยากเย็น แล้วก็ต้องฉลาด เป็นเด็กหัวกะทิที่เก่งกว่าใครๆ รวมทั้งเป็นอาชีพที่ช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ให้สังคม อย่าง อาชีพหมอและอาชีพครู

แต่ในยุคนี้ ลองให้ผู้ใหญ่เอาคำถามป๊อปๆ ไปถามเด็กๆ ดูเหอะ...
"โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?"
โอมายก็อด... นอกจากคำตอบขำๆ ที่เคยได้ยินมาว่า "โตขึ้นหนูอยากเป็นสาว" แล้ว จากผลสำรวจล่าสุด ในเยาวชนที่เกิดหลังจาก ปี 2535 เป็นต้นมา อาชีพยอด "ป๊อป" ของเด็กยุคนี้ คือ...
"ถ้าโตขึ้น...หนูอยากเป็น "ดารา" รองลงมาอาจมี นักธุรกิจ พิธีกร นักข่าวโทรทัศน์ ฯลฯ
อาชีพ หมอ ทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะอาชีพครูที่ทำงานรับใช้สังคม กลายเป็นอาชีพรั้งท้ายไปเสียแล้ว
สิ่งที่กลายเป็นของ "ป๊อป" แห่งยุคสมัย ได้แก่ การงานที่อาศัยภาพลักษณ์ หน้าตา ความสามารถในการแสดงออก ที่สำคัญ ก็คือ เป็นอาชีพที่จะ นำมาซึ่ง "เงิน" มหาศาลกับความมั่งคั่งเฉพาะตัว
เดี๋ยวนี้ต่างจากสมัยเก่าก่อนที่สาวงามกว่าจะขึ้นเวทีประกวดนางงามที มักจะโดนกีดกันจากทางบ้าน ทั้งไม่เป็นที่ยอมรับกันเท่าที่ควร บางคนเคยมาประกวดขาอ่อน อันเป็นบันไดดาวใน ยุคนู้นแท้ๆ พอมามีชื่อเสียงจริงๆ ในภายหลัง กลับไม่ยอมรับเสียอย่างงั้นแหละว่าเป็นตัวเอง... แปลกแต่จริง

ทว่าการประสบความสำเร็จของเวทีประกวดแนว "เรียลิตีโชว์" ต่างๆ ทุกวันนี้ เป็นหลักฐานยืนยันความ "ป๊อป" ของอาชีพดารา/นักร้องได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเวทีแนวไฮโซ เวทีเกรดบี เกรดซี เวทีกะเฬวรากอย่างไร เด็กๆ จำนวน มากมายก็ยังมุ่งหน้าเข้ามาสมัครประกวดประขันแบบยืดอก เพราะล้วนต้องการเป็นนักร้อง นักแสดงกันทั้งนั้น
เพียงบันไดขั้นแรกๆ คนที่ผิดหวังต้องเสียใจก็มีมากมายกว่าคนที่สมปรารถนา อย่าว่าแต่จะต้องไปเผชิญหน้ากับชีวิตจริงๆ ของการเป็น "คนหน้ากล้อง" อย่าง "ดารา" เลย
ชีวิตจริงนั้นยิ่งกว่าหนังดราม่าหรือหนักเข้าขั้นเมโลดรามาเสียอีก เด็กๆ ที่ฝันอยากเป็นดารา ต้องการเป็นคนดังอาจจะคิดว่า เพียงแค่อาศัยต้นทุนที่พ่อแม่ให้มา (หน้าตารูปร่างดี) หรือมี พรสวรรค์ที่พระเจ้าประทาน (ร้องเพลงเพราะ มีความสามารถทางการเต้น เล่นดนตรี) ก็น่า จะผ่านเส้นทางชีวิตไปสู่ระดับสูงๆ มีชื่อเสียง มีรายได้มหาศาลอย่างง่ายดาย คล้ายเส้นทางได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ
จะมีสักกี่คนที่ตระหนักว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น...

คนที่จะเป็นดารา/นักร้อง/นักแสดง ไม่ใช่เพียงอาศัยทุนรอนที่ติดตัวมาแต่เกิดแล้วจะไปได้ฉลุย แต่จริงๆ แล้ว ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ มากมาย อันไม่อาจจะกำหนดเป็นสูตรสำเร็จ หรือเป็นสูตรตายตัวได้
เพียงกฎข้อหนึ่งที่สำคัญของการเป็นดาราซึ่งได้การยอมรับกันทั่วโลก ก็คือ เรื่องการประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนด้วยกัน ส่วนมากคนเป็นดาราอาจจะผ่านด่านความสามารถไปได้ทุกด่าน ทว่าด่านความประพฤติมักยากจะผ่านได้ โดยเฉพาะคนที่เริ่มเข้ามาเดินบนเส้นทางของชื่อเสียงที่ดูเหมือนได้มาง่ายดายตั้งแต่อายุยังน้อย อาจจะยังมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอที่จะยอมรับความยั่วยวนและความซับซ้อนในแวดวงมายา
ตัวอย่างง่ายๆ คร่าวๆ ก็กรณีของ บริตนีย์ สเปียร์ส กับลินด์เซย์ โลฮาน – ทั้งคู่ประสบความสำเร็จสูงสุดตั้งแต่อายุยังไม่ขึ้นเลข 2 ด้วยซ้ำไป เงินตราและชื่อเสียงอาจทำให้พวกเธออยากได้อะไรก็ได้ทุกอย่าง
หากสิ่งที่พวกเธอไม่เคยได้ เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ฝันอยากเป็นดารา ทั้งที่ฝันกลายเป็นจริงและฝันค้างๆ อยู่อีกหลายๆ คน ก็คือ ความสุขที่แท้จริง

มองย้อนไปในอดีต คนที่เป็นดารา มีชื่อเสียงแบบดังไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เท่าที่เห็นคนที่มีความสุขที่แท้จริงนั้นน้อยมาก เผลอๆ คนที่ร่ำรวย คนที่ชื่อเสียงโด่งดัง ก็อาจจะสุขใจน้อยไปกว่าชาวนา/ชาวไร่
ตัวอย่างที่ชัดๆ กว่าเดิม อย่าง มาริลีน มอนโร ซึ่งเขียนบันทึกเอาไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ ของตัวเองทำนองที่ว่า ...เธอหลง "ติดกับ" อยู่ในมายาแห่ง "ชื่อเสียง" และ "บ่วง" นี้คงสลัดอย่างไรก็ไม่หลุด นอกจากเธอจะทำให้มันจบลง...
ไม่ต่างจาก ฟรีดา คาห์โล ศิลปินสาวเม็กซิกันชื่อดัง ที่มีคนนำเรื่องราวของเธอมาสร้างเป็นหนังเรื่อง Frida แม้เด็กๆ ต้องการเป็นหมอ แต่อุบัติเหตุพลิกชีวิตเธอให้กลายเป็นศิลปินดัง ที่เรียกได้ว่า โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะของเม็กซิโก "ชื่อเสียง" ดูเหมือนจะยิ่งทำให้เธอยิ่งเหงา โดดเดี่ยว และไร้สุข ในบั้นปลาย เธอเพียงหวังว่า จะไม่ต้องกลับมา (เกิด) อีก
เจ้าหญิงไดอะน่า เชื้อพระวงศ์สาวสวยผู้ทรงเพียบพร้อมไปทุกอย่าง เช่นเดียวกับ แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ ทั้งคู่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมาย โดยเฉพาะในแง่ของชื่อเสียง ลาภยศ ทว่าในใจลึกๆ ของพวกเธอนั้นเพียงต้องการมีความสุขเล็กๆ ส่วนตัว และมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับลูกๆ เพื่อเลี้ยงดูพวกเขาให้โตมาเป็นคนดีของสังคม

จะว่าไปแล้ว แต่ไหนแต่ไรมา การให้ความสำคัญกับ ความสุข ไม่เคยเป็นเรื่อง ป๊อป มาก่อนเลย นอกจากประเทศภูฏานแล้ว น้อยคนนัก ที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มากกว่าดัชนีความรุ่มรวยทางด้านทรัพย์สินเงินทอง

เวลาที่ผู้ใหญ่ถามคำถามป๊อปๆ ... "โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?"
ไม่เคยเห็นว่าเด็กๆ ยุคไหนๆ จะตอบว่า...

"ถ้าโตขึ้น...หนู (ก็แค่) อยากเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความสุข" สักยุคเดียว

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สีสันชีวิตศิลปินโบฮีเมียน


โรเบิร์ต เดอ นีโร ซีเนียร์ ชื่อแสนคุ้นเคยอย่างนี้ บอกเลยแล้วกันว่าเขาคือบิดาผู้ล่วงลับของนักแสดงออสการ์ชื่อเดียวกัน โรเบิร์ต เดอ นีโร ซึ่งแม้หน้าตาจะหล่อเหลาดูดี ไม่แพ้ลูกชาย นักแสดง แต่ทั้งชีวิตผู้พ่อทุ่มเทให้งานศิลปะล้วนๆ

สตูดิโอในย่านโซโห กรุงนิวยอร์ก คงเก็บทุกอย่างเอาไว้เช่นวันสุดท้ายที่ โรเบิร์ต เดอ นีโร ซีเนียร์ (ปี 1922-1993) ยังมีชีวิตอยู่ แม้เวลาจะล่วงผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้วก็ตาม – ใครที่ได้มีโอกาสไปชม จะได้เห็นบรรยากาศของศิลปินสไตล์โบฮีเมียนจากยุคทศวรรษที่ 1950 ไม่ว่าจะเป็นกรงนกรูปไข่ หรืออุปกรณ์สกีจากยุคนู้น

ขณะที่ฝาผนังของสตูดิโอสไตล์ลอฟต์ ประดับประดาไปด้วยผ้าทอมือและหน้ากากหลากสีสันและสไตล์จากแอฟริกา ภาพใบปิดสไตล์โฟล์กอาร์ต ภาพดรออิงไร้สีตัดกับภาพวาดสีน้ำสดใส

บริเวณระเบียงอัดแน่นไปด้วยเฟรมผ้าใบวางพิงซ้อนๆ กัน คู่กับแจกันสีสดตั้งยาวเป็นแถว นำทางสู่ด้านในของสตูดิโอขนาดใหญ่ ที่มีขาตั้งเฟรมสำหรับวาดรูปอยู่ 3 ตัว – ขาตั้งตัวหนึ่งยึดครองพื้นที่โดยภาพแลนด์สเคป สไตล์โฟวิสต์ ที่ โรเบิร์ต เดอ นีโร ซีเนียร์ วาดไว้ในปี 1977 ใกล้ๆ กัน หลอดสีน้ำมันอ้วนพองและระเบิดออกตามกาลเวลา ปล่อยสีให้เลอะเทอะอยู่บนโต๊ะวาดรูป

ที่แห่งนั้นหาได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศิลปิน ซึ่งลูกชายนักแสดงออสการ์เคยบอกไว้ว่า จะเก็บรักษาไว้อย่างนี้จนวันสุดท้ายของชีวิตเขาเอง เพื่อลูกๆ จะได้รู้จักคุณปู่ยอดศิลปิน

โรเบิร์ต เดอ นีโร จูเนียร์ กับ ซีเนียร์
ณ ตอนนี้ แม้จะมิใช่ญาติสนิทมิตรสหายของ โรเบิร์ต เดอ นีโร (นักแสดง) ก็สามารถจะเรียนรู้เรื่องราวของ โรเบิร์ต เดอ นีโร ซีเนียร์ ได้ที่ ดีซี มอร์ แกลเลอรี กรุงนิวยอร์ก ในนิทรรศการ Robert De Niro, Sr. : Paintings and Drawings 1960-1993 ซึ่งจัดแสดง ผลงานทั้งชีวิตของศิลปินอเมริกัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนเชื่อมโลกศิลปะโมเดิร์นนิสม์ของยุโรป เข้ากับศิลปะแอบสแทรกต์ เอกซ์เพรสชันนิสม์ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเบ่งบานที่ฝั่งอเมริกา ระหว่างวันนี้ – 28 เม.ย.

นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะเต็ม รูปแบบนอกบ้านของศิลปิน (Estate of Robert De Niro, Sr.) อันเป็นสถานที่จัดแสดงหลัก ประกอบด้วย ภาพหุ่นเปลือย (Figure Painting) ภาพแลนด์สเคป ภาพสติลไลฟ์ รวมทั้ง ชาร์โคล ดรออิง อันเป็นผลงานจากช่วงชีวิตการทำงานเข้มข้น ระหว่างปี 1960-1993

แต่ละภาพแสดงให้เห็นการใช้เส้น การวาดโครงร่างนาง/นายแบบอย่างมีเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ยังแสดง อิทธิพลอย่างสูงที่ได้รับจากศิลปินระดับมาสเตอร์ชาวยุโรป อย่าง อูแชน เดอลาครัวซ์ ไปจนถึง อองรี มาติสส์

ด้วยพื้นฐานทางศิลปะที่แน่นปึก ผสมผสานกับบรรยากาศจากแวดวงศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก นอกจากนี้ ยังได้ศึกษากับครูดี เช่น ฮันส์ ฮอฟแมนน์ ที่โรงเรียนศิลปะนิวยอร์ก และโพรวินซ์ทาวน์ แล้วยังจะมี โจเซฟ อัลเบอร์ส แห่งแบล็กเมาเทน คอลเลจ ที่นอร์ทแคโรไลนาอีก

ทศวรรษที่ 1930 โรเบิร์ต เดอ นีโร ซีเนียร์ ได้ไปฝึกงานที่พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ของ ฮิลลา เรเบย์ ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางศิลปะ แน่นอนว่า เขาสร้างสรรค์ ทดลองศิลปะในสไตล์ของตัวเองควบคู่ไปด้วย และได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงศิลปะ Art of This Century in New York ปี 1945 ณ เพกกี กุกเกนไฮม์ แกลเลอรี ซึ่งขณะนั้นนับว่าเริ่ดที่สุด เป็นศูนย์รวมของศิลปะเด็ดๆ ของยุโรปที่ทะลักเข้ามา รวมถึงเป็นที่ "ปล่อยของ" ของศิลปินไฟแรงชาวอเมริกัน ไล่มาตั้งแต่ แจ็กสัน พอลล็อก มาร์ก รอธโก โรเบิร์ต มาเธอร์เวลล์ และคลีฟฟอร์ด สติล เป็นอาทิ

ปีถัดมา โรเบิร์ตจัดนิทรรศการเดี่ยวเป็นครั้งแรก โดยผลงานส่วนใหญ่เป็นงานสไตล์แอบสแทรกต์ กับภาพวาดสีน้ำมันหุ่นเปลือย น่าเสียดายที่ผลงานในช่วงนี้ได้ถูกทำลายไปจากเหตุไฟไหม้สตูดิโอในปี 1949

นับจากปี 1950 ยอดศิลปินโบฮีเมียนก็มีผลงานแสดงเดี่ยวที่นั่นที่นี่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งผลงานแสดงร่วมกับศิลปินชื่อดังของอเมริกาขณะนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น วิลเลม เดอ คูนิง ฟรานซ์ ไคลน์ ฟิลิป กัสตัน และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญๆ ก็อย่างเช่น งานแสดงศิลปะประจำปีของวิตนีย์ มิวเซียม งานแสดงศิลปะประจำปีที่สเตเบิล แกลเลอรี งานแสดงศิลปะรวมหัวกะทิโรงเรียนศิลปะนิวยอร์ก : รุ่นที่สอง รวมถึงงานแสดงศิลปะฉลองปี 1957 ของ จิววิช มิวเซียม ฯลฯ

แม้จะสร้างสรรค์ศิลปะอยู่ในยุคที่คาบเกี่ยวหลายๆ ความเคลื่อนไหวทางศิลปะของยุคใหม่ หาก โรเบิร์ต เดอ นีโร ซีเนียร์ นั้นมีความชัดเจนในตัวเองในการสร้างสรรค์ศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้สี รูปทรง ฝีแปรง และกระทั่งองศาโพสของแบบ

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต (ปี 1985-1993) ผลงานของเขาเน้นไปที่ภาพสติลไลฟ์ ซึ่งคล้ายปลุกจิตวิญญาณของศิลปะการตกแต่งสไตล์ฝรั่งเศสขึ้นมาใหม่ ภาพสติลไลฟ์ รูปมะนาว กุหลาบ เหยือกน้ำ และแมนโดลินบนโต๊ะ ซึ่งเขาวาดที่สตูดิโอในโซโห นับเป็นประจักษ์หลักฐานได้อย่างดี

อันโตนี ตาปีเอส ผู้ไม่มีใครเหมือน


หลังจากจิตรกรชื่อดังชาวสเปน อันโตนี ตาปีเอส เสียชีวิตลงด้วยวัย 88 ปี หนังสือพิมพ์ประจำกรุง บาร์เซโลนา เอล เปริโอดิโก ก็ขนานเขาว่าเป็น “ศิลปินผู้ไม่มีใครเหมือน”

อันโตนี ถือว่าเป็นกำลังสำคัญและเป็นฮีโร่ ในการนำศิลปะสเปนยุคหลังสงคราม ให้โดดเด่นเป็นที่รู้จักของชาวโลก

สไตล์ของเขาจัดอยู่ในความเป็นแอบสแทรกต์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ถือเป็นมรดกตกทอดมาหลังจากยุคปาโบล ปิกัสโซ และโฆอาน มีโร ในผลงานของเขากอปรไปด้วยความเชื่อของกาตาลันจากยุคกลาง จิตวิญญาณตะวันออก ไปจนถึงความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ และความรู้สึกต่อต้านเผด็จการ

ผลงานของอันโตนี ตาปีเอส เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มชาวสเปนซึ่งรักประชาธิปไตย ตั้งแต่สมัยที่ยังปกครองแบบเผด็จการฟาสต์ซิส โดยนายพลฟรังโก

ขณะที่ศิลปินรายอื่นๆ ต่างพากันหนีออกนอกประเทศกันหมด แต่ดูเหมือนการสร้างสรรค์ผลงานแอบสแทรกต์ต่อต้านเผด็จการของเขา จะก่อร่างสร้างฐานมั่นคงได้เป็นอย่างดี อันโตนีได้ใจสาธารณชนฝ่ายประชาธิปไตยไปเต็มๆ เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มหนุ่มสาวหัวคิดก้าวหน้า ที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันเพื่อเผยแพร่ผลงานผ่านระบบมูลนิธิ ซึ่งนอกจากจะได้มีโอกาสเผยแพร่ ผลงานศิลปะกับวัฒนธรรมแล้ว ยังเท่ากับได้ทำงานอย่างมีระบบระเบียบ ทั้งมีความสม่ำเสมอด้วย

“ช่วงนั้นผมยังหนุ่มๆ รู้สึกเหมือนเป็นผู้เผยแผ่ศาสนา” อันโตนีให้สัมภาษณ์เอาไว้ในปี 1990 ด้วยว่า ยุคนั้นแวดวงศิลปะรายล้อมไปด้วยชิ้นงานจากแอฟริกา โอเชียเนีย และจากหลายๆ แห่งทั่วโลก

อันโตนี ตาปีเอส เกิดในครอบครัวคนชั้นกลาง เมื่อปี 1923 เขาเริ่มต้นวาดภาพขณะที่ป่วยหนัก ช่วงปี 1942–1943 โดยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นอกจากศิลปะแล้วสิ่งที่เขาทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยก็คือ อ่านหนังสือ โดยสนใจเป็นพิเศษทางด้านฟิสิกส์ พุทธศาสนา ศาสนานิกายเซน และลัทธิเต๋า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีอิทธิพลต่องานศิลปะของเขาอย่างสูง เช่นเดียวกับความฝันจินตนาการอันเพริศแพร้ว และงานศิลปะของ โฆอาน มีโร กับพอล คลี

ในที่สุด เขาก็ได้แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1953 ณ หอศิลป์มาร์ธา แจ็กสัน แกลเลอรี ด้วยเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาเอง ในผลงานของเขาประกอบไปด้วยผงฝุ่น หินอ่อน ผงชอล์ก รวมทั้งของใช้ในบ้านอื่นๆ อย่างถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ แม้แต่ขยะก็ยังมี นอกจากนี้ยังประกอบด้วยตัวอักษรในภาพ ไม่ว่าจะเป็นแบบชื่อสั้นๆ คำบรรยายภาพ ไปจนถึงบทกวีและสุภาษิต คล้ายๆ กับเป็นกราฟฟิตี

อ่านคำบรรยายแล้วอาจจะเห็นเป็นเรื่องขำๆ ในการเล่นแร่แปรธาตุของอันโตนี ทว่า แดน คาเมรอน ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ออเรนจ์ เคาน์ตี บอกว่า ศิลปินอย่าง แจนนิส คูเนลลิส ชาวกรีก เห็นว่ามันเวิร์กมากและนำมาใช้ในงานของตัวเองบ้าง

มานูเอล บอร์ฆา-วิลเลล ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอันโตนี ตาปีเอส ในบาร์เซโลนา และผู้อำนวยการหอศิลป์เรนา โซเฟีย ในมาดริด บอกว่า อันโตนีนับเป็นสะพานเชื่อมระหว่างศิลปะยุคอาวองต์-การด์ อันเป็นตำนานมาสู่คนรุ่นใหม่ๆ “จะว่าไป เขาไม่ได้อยู่ในยุคโมเดิร์น แล้วก็ไม่ได้เป็นโพสต์โมเดิร์นด้วย ด้วยความที่เขาเป็นตัวของตัวเองมากๆ ทำให้เขาน่าสนใจ ถ้าหากคุณไม่เคยเรียนรู้วัฒนธรรมสเปนมาก่อน คุณสามารถเรียนรู้ได้จาก ผลงานของเขา”

ขณะนี้มูลนิธิทำหน้าที่สานต่อปณิธานของเขา ในการเผยแพร่ผลงานศิลปะของอันโตนีไปทั่วโลก โดย ลอเรนซ์ ราสเซล ผู้อำนวยการมูลนิธิ วางแผนจะจัดแสดงผลงานช่วง 12 ปีสุดท้ายของชีวิตศิลปิน ภายใต้ธีม “ศิลปะไม่มีวันตาย” ตั้งแต่ก่อนอันโตนีจะลาจากโลกไป โดยมี มิเกล ตาปีเอส ศิลปินชาวสเปน ลูกชายของอันโตนี เข้ามาเป็นเรี่ยวแรงแข็งขัน โดยจะจัดขึ้น ณ กรุงบาร์เซโลนา บ้านเกิดของศิลปินเอง รวมถึงกรุงมาดริด ก่อนจะย้ายไปจัด ณ ย่านแวดดิงตัน กรุงลอนดอน เลอลอง กรุงปารีส รวมทั้ง เพซ กรุงนิวยอร์ก

นอกจากนี้ เทต โมเดิร์น แกลเลอรี โดยภัณฑารักษ์มือฉมัง อย่าง วิเชนเต โตดอเล ยังวางแผนจะนำผลงานชุดเดียวกันนี้ รวมทั้งผลงานส่วนตัวที่เขาสะสมไว้ ออกมาจัดแสดงด้วยในปีหน้า

สำหรับนาทีนี้ ชมที่แกลเลอรี “Art of My Life” ไปพลางๆ

วันที่ยังมี "มนุษย์" -- ศิลปะจัดวางไม่ธรรมดา




 ใครผ่านไปผ่านมาแถวๆ ศูนย์วัฒนธรรม ของธนาคารแห่งบราซิล หรือซีซีบีบี ในเมือง รีโอเดจาเนโรตอนนี้ จะเห็นคล้ายเป็นเงาดำๆ ของกลุ่มคน นอนบ้าง นั่งบ้าง ยืนบ้าง เต็ม ไปหมด

โดยเฉพาะบริเวณล็อบบี้ อันเป็นที่จัดวาง ผลงานดัง Event Horizon อันเป็นศิลปะจัดวาง (Insallation) ที่มีกลุ่มคนนอนเกลื่อนกลาด อยู่กลางฟลอร์ อันเป็น 1 ใน 4 ชิ้นงาน ประติมากรรม/ศิลปะจัดวาง ของ อันโตนี กอร์มลีย์ ประติมากรชาวอังกฤษผู้มาใช้ชีวิตอยู่ ณ ประเทศบราซิล

“Corpos Presentes – Still Being” เริ่มต้นจัดแสดงที่ซีซีบีบี ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันที่ 23 ก.ย.นี้ และจะไปจัดแสดงที่ศูนย์ซีซีบีบี กรุงบราซิเลียต่อไป โดยก่อนหน้านี้ Event Horizon และผลงานอีก 3 ชิ้น คือ Amazonian Field, Critical Mass แล้วก็ Breathing Room ที่เคยจัดแสดงไปในกรุงนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2010 แบบอลังการงานสร้าง ด้วยผลงานประติ มากรรมขนาดเท่ามนุษย์จริงๆ ในอากัปกิริยาท่าทางต่างๆ กว่า 31 ชิ้น

นอกจาก 4 ชิ้นที่ซีซีบีบีแล้ว ประติมากรรมรูปร่างเหมือน/เท่ามนุษย์ ซึ่งทำจากเหล็กและไฟเบอร์กลาส ยังจัดแสดงเอาไว้ทั่วรีโอเดจาเนโร ทั้งบนหลังคาอาคารบ้านเรือน จัตุรัสน้อยใหญ่ รวมทั้งที่ฟุตปาทริมถนน ฯลฯ โดยศิลปินต้องการให้เรือนร่างของประติมากรรมเหล่านี้ดูเป็นส่วนหนึ่งของเมืองดังในบราซิล

ไม่ว่าจะเป็น Loss ซึ่งทำจากบล็อกสเตนเลสเล็กๆ หลายๆ อันรวมกันเป็นรูปร่างคน หรือ Mother’s Pride ที่อันโตนีนำร่างของตัวเองไปเจาะอยู่ท่ามกลางขนมปังที่ถูกสไลซ์เป็นแผ่นๆ และแปะอยู่บนกำแพง

สำหรับ Breathing Room ศิลปินมีเจตนาจะถ่ายทอดความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมของเขา ด้วยการนำหุ่นรูปร่างมนุษย์ไปใส่ไว้ท่ามกลางกรอบเฟรมเรืองแสงสีฟ้า ราวกับอยู่ในห้วงอวกาศ “ผมเล่นกับการรับรู้ทางสายตา ซึ่งได้ผลมากในการสื่อสารความคิดทางศิลปะ คนที่เดินมาเห็นจะสามารถเดินอยู่รอบๆ เฟรมเรืองแสงนับสิบที่รายรอบตัวหุ่นอยู่เท่านั้น ผมหวังให้เขาได้รับสารว่า รอบๆ กายเราเต็มไปด้วยอันตรายจริงๆ” อันโตนี ให้อรรถาธิบายเอาไว้

บราซิลสร้างแรงบันดาลใจให้ประติมากรชาวอังกฤษมากมาย ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เขาสร้างสรรค์ชิ้นงาน Amazonian Field ด้วยความช่วยเหลือของชาวหมู่บ้าน ปอร์โต เวลโฮ ในรอนดิเนียกว่าร้อยคนมาช่วยปั้นตุ๊กตาดินเผาเล็กๆ กว่า 2.4 หมื่นตัว (ได้แรงบันดาลใจจากตุ๊กตาดินเผาทหารจิ๋นซีในจีน) ทั้งยังให้พื้นที่ในการจัดแสดงงานทั้งหมู่บ้าน

อันโตนีเคยหอบหิ้ว Amazonian Field ทั้ง 2.4 หมื่นตัวไปจัดแสดงมาแล้วกว่า 4 ทวีป ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวีเดน ยุโรปกลาง รวมทั้งจีนและญี่ปุ่น

ณ โถงกลางของศูนย์วัฒนธรรมของธนาคารแห่งบราซิล จัดแสดงผลงานชิ้นเอก Critical Mass II ประกอบด้วยประติมากรรมรูปคน ทำจากเหล็ก 60 ตัว แต่ละตัวหนัก 630 กิโลกรัม อยู่ในอากัปกิริยาและตำแหน่งที่แตกต่าง หากที่เหมือนกันคือลักษณะอันห้อยต่องแต่ง บางตัวเป็นท่ากำลังร่วงจากที่สูง ส่วนที่ทำเหมือนพุ่งลงมาอย่างเต็มใจก็มี

อันโตนี กอร์มลีย์ หรือ อันโตนี มาร์ก เดวิด กอร์มลีย์ ประติมากรชาวอังกฤษ เริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สร้างสรรค์ผลงาน Angel of the North ทางตอนเหนือของอังกฤษ โดยได้รับการว่าจ้างในปี 1994 แต่กว่าจะเป็นประติมากรรมรูปคนที่ยืนกางแขนลักษณะเหมือนปีกเครื่องบินโบราณจะเสร็จ และตั้งขึ้นเป็นอนุสาวรีย์บนเขา ก็ปาเข้าไปในปี 1998

ประติมากรรมชื่อดังอีกชิ้นของเขา เป็นรูปคนเหม่อมองไปในทะเล ชื่อว่า Another Place อยู่ที่ชายหาดครอสบี บีช ใกล้ๆ เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ขณะที่ Event Horizon สร้างชื่อให้ตั้งแต่การจัดแสดงครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ในปี 2007 ทางกรุงนิวยอร์กต้องขอไปจัดแสดงบ้าง ณ เมดิสัน สแควร์ ในปี 2010 ตามด้วยเซาเปาโล ปี 2012 ก่อนจะมาจัดแสดงที่ซีซีบีบี เมืองรีโอเดจาเนโร นี้

อันโตนีเป็นบุตรคนสุดท้องของพี่น้องทั้งหมด 7 คน พ่อของเขาเป็นชาวไอริช ส่วนแม่เป็น ชาวเยอรมัน เขาเติบโตมาในครอบครัวคาทอลิกสุดมั่งคั่งที่ยอร์กเชอร์ตะวันตก

หลังจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ จากตรินิตี คอลเลจ เมืองเคมบริดจ์ (ระหว่าง 1968-1971) อันโตนีเดินทางไปหาประสบการณ์ยังอินเดียและศรีลังกา พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนาพุทธ (1971-1974) ก่อนจะกลับมาศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ที่วิทยาลัยศิลปะ และการออกแบบ เซ็นทรัล เซนต์มาร์ติน ใน ที่สุดก็จบด้านจิตรกรรม เอกประติมากรรม ที่โรงเรียนศิลปะสเลด แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (1974-1979)

นับตั้งแต่เริ่มแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรก ที่แกลเลอรีไวต์แชเปล กรุงลอนดอน ในปี 1981 เขาก็อาศัยประติมากรรมร่างมนุษย์เป็นชิ้นหลักในผลงานมาโดยตลอด โดยส่วนใหญ่จะสร้างด้วยเหล็กหรือวัสดุอื่นที่ใกล้เคียง ด้วยหวังจะ นำเสนอเรื่องราวที่ใกล้ตัวและศึกษาสิ่งลึกๆ ภายในตัวคนเรานั่นเอง