Pop's Eye View by ฌองวิเยร์
คำถามป๊อปๆ ที่ผู้ใหญ่ (ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน) ชอบถามเด็ก...
"โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?"
เด็กๆ ยุคนู้น (ไม่รู้อยากตอบหรือเปล่า? แต่ก็) มักมีคำตอบป๊อปๆ มาบอกผู้ใหญ่...
"ถ้าโตขึ้น...หนูอยากเป็นหมอ อยากเป็นครู อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ อยากเป็นนักบินอวกาศ ฯลฯ"
อาชีพที่ "ป๊อป" ที่สุดในแวดวงเยาวชน ยุคก่อน คืออาชีพที่ลำบากยากเย็น แล้วก็ต้องฉลาด เป็นเด็กหัวกะทิที่เก่งกว่าใครๆ รวมทั้งเป็นอาชีพที่ช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ให้สังคม อย่าง อาชีพหมอและอาชีพครู
แต่ในยุคนี้ ลองให้ผู้ใหญ่เอาคำถามป๊อปๆ ไปถามเด็กๆ ดูเหอะ...
"โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?"
โอมายก็อด... นอกจากคำตอบขำๆ ที่เคยได้ยินมาว่า "โตขึ้นหนูอยากเป็นสาว" แล้ว จากผลสำรวจล่าสุด ในเยาวชนที่เกิดหลังจาก ปี 2535 เป็นต้นมา อาชีพยอด "ป๊อป" ของเด็กยุคนี้ คือ...
"ถ้าโตขึ้น...หนูอยากเป็น "ดารา" รองลงมาอาจมี นักธุรกิจ พิธีกร นักข่าวโทรทัศน์ ฯลฯ
อาชีพ หมอ ทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะอาชีพครูที่ทำงานรับใช้สังคม กลายเป็นอาชีพรั้งท้ายไปเสียแล้ว
สิ่งที่กลายเป็นของ "ป๊อป" แห่งยุคสมัย ได้แก่ การงานที่อาศัยภาพลักษณ์ หน้าตา ความสามารถในการแสดงออก ที่สำคัญ ก็คือ เป็นอาชีพที่จะ นำมาซึ่ง "เงิน" มหาศาลกับความมั่งคั่งเฉพาะตัว
เดี๋ยวนี้ต่างจากสมัยเก่าก่อนที่สาวงามกว่าจะขึ้นเวทีประกวดนางงามที มักจะโดนกีดกันจากทางบ้าน ทั้งไม่เป็นที่ยอมรับกันเท่าที่ควร บางคนเคยมาประกวดขาอ่อน อันเป็นบันไดดาวใน ยุคนู้นแท้ๆ พอมามีชื่อเสียงจริงๆ ในภายหลัง กลับไม่ยอมรับเสียอย่างงั้นแหละว่าเป็นตัวเอง... แปลกแต่จริง
ทว่าการประสบความสำเร็จของเวทีประกวดแนว "เรียลิตีโชว์" ต่างๆ ทุกวันนี้ เป็นหลักฐานยืนยันความ "ป๊อป" ของอาชีพดารา/นักร้องได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเวทีแนวไฮโซ เวทีเกรดบี เกรดซี เวทีกะเฬวรากอย่างไร เด็กๆ จำนวน มากมายก็ยังมุ่งหน้าเข้ามาสมัครประกวดประขันแบบยืดอก เพราะล้วนต้องการเป็นนักร้อง นักแสดงกันทั้งนั้น
เพียงบันไดขั้นแรกๆ คนที่ผิดหวังต้องเสียใจก็มีมากมายกว่าคนที่สมปรารถนา อย่าว่าแต่จะต้องไปเผชิญหน้ากับชีวิตจริงๆ ของการเป็น "คนหน้ากล้อง" อย่าง "ดารา" เลย
ชีวิตจริงนั้นยิ่งกว่าหนังดราม่าหรือหนักเข้าขั้นเมโลดรามาเสียอีก เด็กๆ ที่ฝันอยากเป็นดารา ต้องการเป็นคนดังอาจจะคิดว่า เพียงแค่อาศัยต้นทุนที่พ่อแม่ให้มา (หน้าตารูปร่างดี) หรือมี พรสวรรค์ที่พระเจ้าประทาน (ร้องเพลงเพราะ มีความสามารถทางการเต้น เล่นดนตรี) ก็น่า จะผ่านเส้นทางชีวิตไปสู่ระดับสูงๆ มีชื่อเสียง มีรายได้มหาศาลอย่างง่ายดาย คล้ายเส้นทางได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ
จะมีสักกี่คนที่ตระหนักว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น...
คนที่จะเป็นดารา/นักร้อง/นักแสดง ไม่ใช่เพียงอาศัยทุนรอนที่ติดตัวมาแต่เกิดแล้วจะไปได้ฉลุย แต่จริงๆ แล้ว ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ มากมาย อันไม่อาจจะกำหนดเป็นสูตรสำเร็จ หรือเป็นสูตรตายตัวได้
เพียงกฎข้อหนึ่งที่สำคัญของการเป็นดาราซึ่งได้การยอมรับกันทั่วโลก ก็คือ เรื่องการประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนด้วยกัน ส่วนมากคนเป็นดาราอาจจะผ่านด่านความสามารถไปได้ทุกด่าน ทว่าด่านความประพฤติมักยากจะผ่านได้ โดยเฉพาะคนที่เริ่มเข้ามาเดินบนเส้นทางของชื่อเสียงที่ดูเหมือนได้มาง่ายดายตั้งแต่อายุยังน้อย อาจจะยังมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอที่จะยอมรับความยั่วยวนและความซับซ้อนในแวดวงมายา
ตัวอย่างง่ายๆ คร่าวๆ ก็กรณีของ บริตนีย์ สเปียร์ส กับลินด์เซย์ โลฮาน – ทั้งคู่ประสบความสำเร็จสูงสุดตั้งแต่อายุยังไม่ขึ้นเลข 2 ด้วยซ้ำไป เงินตราและชื่อเสียงอาจทำให้พวกเธออยากได้อะไรก็ได้ทุกอย่าง
หากสิ่งที่พวกเธอไม่เคยได้ เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ฝันอยากเป็นดารา ทั้งที่ฝันกลายเป็นจริงและฝันค้างๆ อยู่อีกหลายๆ คน ก็คือ ความสุขที่แท้จริง
มองย้อนไปในอดีต คนที่เป็นดารา มีชื่อเสียงแบบดังไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เท่าที่เห็นคนที่มีความสุขที่แท้จริงนั้นน้อยมาก เผลอๆ คนที่ร่ำรวย คนที่ชื่อเสียงโด่งดัง ก็อาจจะสุขใจน้อยไปกว่าชาวนา/ชาวไร่
ตัวอย่างที่ชัดๆ กว่าเดิม อย่าง มาริลีน มอนโร ซึ่งเขียนบันทึกเอาไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ ของตัวเองทำนองที่ว่า ...เธอหลง "ติดกับ" อยู่ในมายาแห่ง "ชื่อเสียง" และ "บ่วง" นี้คงสลัดอย่างไรก็ไม่หลุด นอกจากเธอจะทำให้มันจบลง...
ไม่ต่างจาก ฟรีดา คาห์โล ศิลปินสาวเม็กซิกันชื่อดัง ที่มีคนนำเรื่องราวของเธอมาสร้างเป็นหนังเรื่อง Frida แม้เด็กๆ ต้องการเป็นหมอ แต่อุบัติเหตุพลิกชีวิตเธอให้กลายเป็นศิลปินดัง ที่เรียกได้ว่า โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะของเม็กซิโก "ชื่อเสียง" ดูเหมือนจะยิ่งทำให้เธอยิ่งเหงา โดดเดี่ยว และไร้สุข ในบั้นปลาย เธอเพียงหวังว่า จะไม่ต้องกลับมา (เกิด) อีก
เจ้าหญิงไดอะน่า เชื้อพระวงศ์สาวสวยผู้ทรงเพียบพร้อมไปทุกอย่าง เช่นเดียวกับ แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ ทั้งคู่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมาย โดยเฉพาะในแง่ของชื่อเสียง ลาภยศ ทว่าในใจลึกๆ ของพวกเธอนั้นเพียงต้องการมีความสุขเล็กๆ ส่วนตัว และมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับลูกๆ เพื่อเลี้ยงดูพวกเขาให้โตมาเป็นคนดีของสังคม
จะว่าไปแล้ว แต่ไหนแต่ไรมา การให้ความสำคัญกับ ความสุข ไม่เคยเป็นเรื่อง ป๊อป มาก่อนเลย นอกจากประเทศภูฏานแล้ว น้อยคนนัก ที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มากกว่าดัชนีความรุ่มรวยทางด้านทรัพย์สินเงินทอง
เวลาที่ผู้ใหญ่ถามคำถามป๊อปๆ ... "โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?"
ไม่เคยเห็นว่าเด็กๆ ยุคไหนๆ จะตอบว่า...
"ถ้าโตขึ้น...หนู (ก็แค่) อยากเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความสุข" สักยุคเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น