วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อาร์เตมิซา เกนติเลสคี จิตรกรหญิง แห่งยุคบาโรก



Susanna e i Vecchioni 

หอศิลป์สเปอโรนี เวสต์วอเตอร์ กรุงนิวยอร์ก จัดแสดง นิทรรศการ Italian Paintings from the 17th and 18th Centuries แสดงภาพเขียนอิตาเลียนยุคศตวรรษที่ 17 และ 18 อันประกอบไปด้วยผลงานของจิตรกรยุคหลังเรอเนสซองซ์ดังๆ ที่กลายเป็นรากฐานของชิ้นงานศิลปะยุคใหม่ตั้งแต่ กานาเลตโต หรือ โจวานนี อันโตโน กานาล (มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1697-1768) กาวาลิเยร์ ดาร์ปิโน หรือ จูเซปเป เชซารี (1568-1640) มิเคเล มาริเยสคี (1710-1743) 


ที่ฮือฮากันมากก็คือ ภาพเขียนชายนิรนาม Unidentified Man (วาดระหว่าง ค.ศ. 1630–1640) ที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อนของจิตรกรหญิงที่ได้รับการยอมรับที่สุดแห่งยุค บาโรก อาร์เตมิซา เกนติเลสคี (1593-1653)

ภาพเขียนชายนิรนาม Unidentified Man ของอาร์เตมิซา จัดแสดงเคียงคู่กับอีกหลายภาพที่เพิ่งจะค้นพบหลังทศวรรษที่ 1750 ไม่ว่าจะเป็น Portrait of Ferdinando Gonzaga, Duke of Mantua (1617) ของ ติเบโร ติติ และ Piazza San Marco, looking West, from the Campo di San Basso (1757–1758) ผลงานในยุคแรกๆ ของฟรันเชสโก การ์ดิ

ผลงานของอาร์เตมิซา เห็นได้ชัดว่าได้แรงบันดาลใจจาก มิเกลังเจโล การาวาจโจ ซึ่งแม้ว่าย้อนไปในยุคนั้น จิตรกรผู้หญิงยากที่จะได้การยอมรับ หากเธอก็เป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เข้าเป็นสมาชิกของสถาบันอัคคาเดเมีย ดิ อาร์เต เดล ดิเซโญ (Accademia di Arte del Disegno) ในกรุงฟลอเรนซ์ นอกจากนี้ อาร์เตมิซายัง เป็นจิตรกรหญิงรายแรก ที่วาดเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์และศาสนาอีกด้วย

ภาพเหมือนตัวเอง ของ อาร์เตมิซา
อาร์เตมิซา เกนติเลสคี เกิดที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 1593 เธอเป็นธิดาคนโตของจิตรกรชาวทัสคัน โอราโซ เกนติเลสคี เธอได้เปิดโลกของศิลปะในสตูดิโอของบิดา โดยแสดงให้ เห็นพรสวรรค์ที่โดดเด่นเหนือน้องชายทั้งหลาย ที่โตมากับศิลปะด้วยกัน บิดาของเธอเอง ก็ได้แรงบันดาลใจมากมายจากมิเกลังเจโล การาวาจโจ ซึ่งทำให้เป็นมรดกตกทอดมาถึง อาร์เตมิซาเช่นกัน

แค่ผลงานชิ้นแรก Susanna e i Vecchioni (Susanna and the Elders) ในวัยเพียง 17 ปี ก็สร้างความฮือฮาอย่างมากมาย ทั้งเนื้อหาของภาพที่วาดเกี่ยวกับหญิงสาวชื่อซูซานนา กำลังถูกล่วงเกินทางเพศจากชายสูงวัย 2 คน ซึ่งน่าจะวาดมาจากความรู้สึกของเธอเองที่เห็นว่า ผู้หญิงมักถูกกดขี่ ไม่เพียงทางความคิดหรือทางกาย เท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ก็บันทึกเอาไว้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เธอประสบกับตัวเองที่ถูกเพื่อนของ พ่อข่มเหงทางเพศ

อาร์เตมิซา แม้จะมากความสามารถ แต่เธอกลับถูกปฏิเสธการเข้าศึกษาต่อในสถาบันศิลปะหลากหลายแห่ง ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ไม่เคยมี ผู้หญิงเข้าศึกษาในสถาบันชั้นสูงเช่นนี้มาก่อน เคราะห์ดีที่บิดาของเธอเองก็เป็นจิตรกรมากฝีมือ หลังจากเขาได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานกับ อะกอสติโน ตัสซี ในการตกแต่งบางส่วนของพระราชวังปาลยาวิชีนี รอสปิโกลซี ในกรุงโรม เขาก็แอบจ้างอะกอสติโนให้มาสอนลูกสาวเป็นการส่วนตัว

อะกอสติโนไม่สอนเปล่า กลับข่มขืนเด็กสาวจนกลายเป็นเรื่องฟ้องร้องกันเกือบปี หลังชนะคดี พ่อจับเธอแต่งงานกับปีรันโตโน สตาตเตซี ทั้งคู่ย้ายไปยังฟลอเรนซ์ เพราะอาร์เตมิซาได้รับการว่าจ้างให้ไปวาดรูปที่คาซาบัวนาร์รอตติ

อาร์เตมิซา ประสบความสำเร็จอย่างสูงที่ ฟลอเรนซ์ เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ เข้าศึกษาในสถาบันอัคคาเดเมีย ดิ อาร์เต เดล ดิเซโญ และได้การยอมรับในผลงานอย่าง กว้างขวาง พร้อมๆ กับการเป็นจิตรกรประจำราชสำนัก และการได้รับจ้างวาดภาพประดับบ้านเศรษฐีมากมาย เธอก็สร้างสรรค์ผลงานที่ยังคงโด่งดังมาถึงทุกวันนี้

ไม่ว่าจะเป็น La Conversione della Maddalena (The Conversion of the Magdalene) หรือว่า Giuditta con la sua ancella (Judith and her Maidservant) ที่เธอวาดอีกเวอร์ชัน Giuditta che decapita Oloferne (Judith beheading Holofernes) ที่ใหญ่ขึ้นอีกด้วย โดยปัจจุบันผลงานเหล่านี้ประดับอยู่ตามผนังของพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญหลายแห่งในกรุงฟลอเรนซ์

ในปี 1621 อาร์เตมิซา เดินทางกลับมา ยังกรุงโรม และยังไม่หยุดสร้างงานศิลปะ แม้ว่ามิเกลังเจโล การาวาจโจ จะลาโลกไปกว่าทศวรรษแล้วในขณะนั้น แต่จิตรกรแห่งยุค มากมายก็ยังยึดแนวทางของเขาอยู่ ซึ่งก็ กลายเป็นเทรนด์ของโลกของศิลปะในกรุงโรม ที่จะย้ายเข้าสู่สไตล์บาโรกเข้าทุกทีๆ

สีสันจัดๆ โดดเด่น กับเนื้อหาในภาพอันเข้มข้น สุดดรามา คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจิตรกรรมยุคนี้ สถาบันศิลปะที่กรุงดีทรอยต์ยอมรับว่า เธอมีการใช้สีอ่อนและเข้มตัดกันอย่างรุนแรง ซึ่งนับว่าเป็นสเตอริโอไทป์ของศิลปะยุคนี้ ที่เห็นได้ชัดก็คือภาพ Giuditta con la sua ancella (Judith and her Maidservant) Venere Dormiente (The Sleeping Venus) และ Ester ed Assuero (Esther and Ahasuerus)

Giuditta con la sua ancella
เธอย้ายไปเนเปิลส์ ในปี 1630 โดยเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าไปวาดภาพในโบสถ์ซานเกนนาโร (Saint Januarius) อาร์เตมิซาวาด Nascita di San Giovanni Battista (Birth of Saint John the Baptist) Madonna e Bambino con rosario (Virgin and Child with a Rosary) และ Corisca e il satiro (Corisca and the satyr) ซึ่งผลงานที่แตกต่างออกไป นับเป็นการจัดระเบียบความคิดใหม่ๆ ให้จิตรกรหญิงเป็นอย่างมาก

ปี 1638 เธอเดินทางไปร่วมงานกับบิดาที่ลอนดอน กับการเป็นศิลปินในราชสำนักของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 โดยพระองค์รับสั่งให้เรียกตัวอาร์เตมิซาเข้ามาเอง เธอได้รับผิดชอบงานสำคัญคือ งานประดับประดาเพดาน ซึ่งเธอได้วาดภาพ Trionfo della pace e delle Arti (Triumph of the peace and the Arts) ไว้ที่เพดานของตำหนักของพระนางเฮนเรียตตา มาเรีย ในกรีนิช และยังมีผลงานที่พระเจ้าชาร์ลส์โปรดมาก และกลายเป็นสมบัติของท้องพระคลังอังกฤษ ได้แก่ Autoritratto in veste di Pittura (Self-Portrait as the Allegory of Painting) หรือภาพพอร์เทรตตัวเธอเอง

มาอยู่ที่ลอนดอนเพียงปีเดียว บิดาของเธอก็ลาจากโลก ทำให้เธอได้รับช่วงเป็นจิตรกรประจำราชสำนักอย่างเต็มตัว กระทั่งปี 1642 เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ อาร์เตมิซา จึงเดินทางกลับมาที่เนเปิลส์ และทำงานให้เศรษฐีท้องถิ่นอย่างเงียบเชียบ โดยคาดว่าเธออาจจะเสียชีวิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกับศิลปินท้องถิ่นคนอื่นๆ (ราว 1652–1653) เนื่องจากเกิด กาฬโรคระบาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น