วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555
อันโตนี ตาปีเอส ผู้ไม่มีใครเหมือน
หลังจากจิตรกรชื่อดังชาวสเปน อันโตนี ตาปีเอส เสียชีวิตลงด้วยวัย 88 ปี หนังสือพิมพ์ประจำกรุง บาร์เซโลนา เอล เปริโอดิโก ก็ขนานเขาว่าเป็น “ศิลปินผู้ไม่มีใครเหมือน”
อันโตนี ถือว่าเป็นกำลังสำคัญและเป็นฮีโร่ ในการนำศิลปะสเปนยุคหลังสงคราม ให้โดดเด่นเป็นที่รู้จักของชาวโลก
สไตล์ของเขาจัดอยู่ในความเป็นแอบสแทรกต์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ถือเป็นมรดกตกทอดมาหลังจากยุคปาโบล ปิกัสโซ และโฆอาน มีโร ในผลงานของเขากอปรไปด้วยความเชื่อของกาตาลันจากยุคกลาง จิตวิญญาณตะวันออก ไปจนถึงความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ และความรู้สึกต่อต้านเผด็จการ
ผลงานของอันโตนี ตาปีเอส เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มชาวสเปนซึ่งรักประชาธิปไตย ตั้งแต่สมัยที่ยังปกครองแบบเผด็จการฟาสต์ซิส โดยนายพลฟรังโก
ขณะที่ศิลปินรายอื่นๆ ต่างพากันหนีออกนอกประเทศกันหมด แต่ดูเหมือนการสร้างสรรค์ผลงานแอบสแทรกต์ต่อต้านเผด็จการของเขา จะก่อร่างสร้างฐานมั่นคงได้เป็นอย่างดี อันโตนีได้ใจสาธารณชนฝ่ายประชาธิปไตยไปเต็มๆ เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มหนุ่มสาวหัวคิดก้าวหน้า ที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันเพื่อเผยแพร่ผลงานผ่านระบบมูลนิธิ ซึ่งนอกจากจะได้มีโอกาสเผยแพร่ ผลงานศิลปะกับวัฒนธรรมแล้ว ยังเท่ากับได้ทำงานอย่างมีระบบระเบียบ ทั้งมีความสม่ำเสมอด้วย
“ช่วงนั้นผมยังหนุ่มๆ รู้สึกเหมือนเป็นผู้เผยแผ่ศาสนา” อันโตนีให้สัมภาษณ์เอาไว้ในปี 1990 ด้วยว่า ยุคนั้นแวดวงศิลปะรายล้อมไปด้วยชิ้นงานจากแอฟริกา โอเชียเนีย และจากหลายๆ แห่งทั่วโลก
อันโตนี ตาปีเอส เกิดในครอบครัวคนชั้นกลาง เมื่อปี 1923 เขาเริ่มต้นวาดภาพขณะที่ป่วยหนัก ช่วงปี 1942–1943 โดยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นอกจากศิลปะแล้วสิ่งที่เขาทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยก็คือ อ่านหนังสือ โดยสนใจเป็นพิเศษทางด้านฟิสิกส์ พุทธศาสนา ศาสนานิกายเซน และลัทธิเต๋า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีอิทธิพลต่องานศิลปะของเขาอย่างสูง เช่นเดียวกับความฝันจินตนาการอันเพริศแพร้ว และงานศิลปะของ โฆอาน มีโร กับพอล คลี
ในที่สุด เขาก็ได้แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1953 ณ หอศิลป์มาร์ธา แจ็กสัน แกลเลอรี ด้วยเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาเอง ในผลงานของเขาประกอบไปด้วยผงฝุ่น หินอ่อน ผงชอล์ก รวมทั้งของใช้ในบ้านอื่นๆ อย่างถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ แม้แต่ขยะก็ยังมี นอกจากนี้ยังประกอบด้วยตัวอักษรในภาพ ไม่ว่าจะเป็นแบบชื่อสั้นๆ คำบรรยายภาพ ไปจนถึงบทกวีและสุภาษิต คล้ายๆ กับเป็นกราฟฟิตี
อ่านคำบรรยายแล้วอาจจะเห็นเป็นเรื่องขำๆ ในการเล่นแร่แปรธาตุของอันโตนี ทว่า แดน คาเมรอน ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ออเรนจ์ เคาน์ตี บอกว่า ศิลปินอย่าง แจนนิส คูเนลลิส ชาวกรีก เห็นว่ามันเวิร์กมากและนำมาใช้ในงานของตัวเองบ้าง
มานูเอล บอร์ฆา-วิลเลล ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอันโตนี ตาปีเอส ในบาร์เซโลนา และผู้อำนวยการหอศิลป์เรนา โซเฟีย ในมาดริด บอกว่า อันโตนีนับเป็นสะพานเชื่อมระหว่างศิลปะยุคอาวองต์-การด์ อันเป็นตำนานมาสู่คนรุ่นใหม่ๆ “จะว่าไป เขาไม่ได้อยู่ในยุคโมเดิร์น แล้วก็ไม่ได้เป็นโพสต์โมเดิร์นด้วย ด้วยความที่เขาเป็นตัวของตัวเองมากๆ ทำให้เขาน่าสนใจ ถ้าหากคุณไม่เคยเรียนรู้วัฒนธรรมสเปนมาก่อน คุณสามารถเรียนรู้ได้จาก ผลงานของเขา”
ขณะนี้มูลนิธิทำหน้าที่สานต่อปณิธานของเขา ในการเผยแพร่ผลงานศิลปะของอันโตนีไปทั่วโลก โดย ลอเรนซ์ ราสเซล ผู้อำนวยการมูลนิธิ วางแผนจะจัดแสดงผลงานช่วง 12 ปีสุดท้ายของชีวิตศิลปิน ภายใต้ธีม “ศิลปะไม่มีวันตาย” ตั้งแต่ก่อนอันโตนีจะลาจากโลกไป โดยมี มิเกล ตาปีเอส ศิลปินชาวสเปน ลูกชายของอันโตนี เข้ามาเป็นเรี่ยวแรงแข็งขัน โดยจะจัดขึ้น ณ กรุงบาร์เซโลนา บ้านเกิดของศิลปินเอง รวมถึงกรุงมาดริด ก่อนจะย้ายไปจัด ณ ย่านแวดดิงตัน กรุงลอนดอน เลอลอง กรุงปารีส รวมทั้ง เพซ กรุงนิวยอร์ก
นอกจากนี้ เทต โมเดิร์น แกลเลอรี โดยภัณฑารักษ์มือฉมัง อย่าง วิเชนเต โตดอเล ยังวางแผนจะนำผลงานชุดเดียวกันนี้ รวมทั้งผลงานส่วนตัวที่เขาสะสมไว้ ออกมาจัดแสดงด้วยในปีหน้า
สำหรับนาทีนี้ ชมที่แกลเลอรี “Art of My Life” ไปพลางๆ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น