วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภาพชีวิตตกร่อง ของ ดีแอน อาร์บัส


ภาพยนตร์เรื่อง Fur เล่าเรื่องของช่างภาพสาวชื่อดังของอเมริกา ดีแอน อาร์บัส (เนเมรอฟ) ซึ่งโด่งดังในแง่ของการถ่ายภาพคนแปลก


ชื่อ Fur ในภาพยนตร์ชีวิตดีแอน น่าจะมาจากครอบครัวเดิมของเธอทางฝ่ายมารดา ที่ประกอบธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้าสุภาพสตรีนั่นเอง

เธอเกิดที่นิวยอร์ก ในครอบครัวชาวยิวที่ มั่งคั่ง ด้วยความเป็นผู้หญิง ดีแอน จึงโดนบดบังจากพี่ชายผู้เป็นกวี ฮาเวิร์ด เนเมรอฟ เธอหลงรักอนาคตนักแสดงหนุ่ม อัลลัน อาร์บัส ตั้งแต่อายุ 14 และแต่งงานกับเขาทันทีเมื่อเธออายุ 18 ตามความประสงค์ของพ่อแม่

เมื่ออัลลันเริ่มฝึกการถ่ายภาพในกองทัพสหรัฐ เขาก็สอนภรรยาให้ถ่ายรูปด้วย ทั้งสองสามี-ภรรยาร่วมกันรับจ้างถ่ายภาพ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในโลกแฟชั่น โดยช่วงแรกๆ อัลลันรับหน้าที่ตากล้อง ส่วนดีแอนเป็นสไตลิสต์ ก่อนที่ฝ่ายภรรยาจะต้องการลองถ่ายภาพเองบ้าง โดยไปเรียนเพิ่มเติมที่ ลิเส็ตต์ โมเดล ในนิวยอร์ก

ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน คือ ดูน อาร์บัส (นักเขียน/ อาร์ต ไดเร็กเตอร์) และ เอมี อาร์บัส (ช่างภาพ) ทว่า ในปี 1959 สามี-ภรรยาอาร์บัสกลับแยกทางกัน

หลังจากบอกศาลาจากสามี ดีแอนไปเรียนถ่ายรูปกับช่างภาพชื่อดัง อเล็กซีย์ โบรโดวิตช์ และริชาร์ด อเวดอน ในปี 1960 เธอก็เริ่มทำงานอย่างจริงจังในฐานะช่างภาพ ผลงานของเธอได้ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังมากมาย ตั้งแต่ Esquire, The New York Times Magazine, Harper's Bazaa, Sunday Times magazines และ ฯลฯ

ในช่วงแรกๆ เธอใช้กล้อง 35 มม. ทว่าในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เธอเริ่มหันมาใช้กล้องใหญ่แบบทวินเลนส์ยี่ห้อโรลลีเฟล็กซ์ รุ่นมีเดียม ซึ่งใช้ฟิล์มสี่เหลี่ยมที่ให้ภาพละเอียดกว่า ดีแอนเริ่มทดลองถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ เช่นว่า การใช้แฟลชในช่วงกลางวัน ซึ่งทำให้ได้ภาพของวัตถุที่ถ่ายโดดเด่นและแยกออกมาจากฉากหลังอย่างเห็นได้ชัด

ผลงานภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ศิลป์ของเธอ คว้ารางวัลกุกเกนไฮม์ถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือ ปี 1963 และ 1966 พอปีถัดมา พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย หรือ โมมา เชิญเธอไปเปิดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายครั้งแรกในชีวิต โดยร่วมกับ ช่างภาพชื่อดังคนอื่น อย่างเช่น แกร์รี วิโนแกรนด์ และ ลี ฟรีดแลนเดอร์ ดีแอน ยังมีโอกาสได้สอนวิชาการถ่ายภาพ ที่ พาร์สันส์ สกูล ออฟ ดีไซน์ ในนิวยอร์ก และแฮมเชอร์ คอลเลจ ในแอมเฮิร์สต์ รัฐแมสซาชูเส็ตต์ส

ในเดือนกรกฎาคม 1971 ดีแอน อาร์บัส ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในกรีนิช วิลเลจ ด้วยวัยเพียง 48 ปี โดยการเสพยาเกินขนาด ก่อนที่จะใช้มีดกรีดข้อมือตัวเอง มีข่าวลือว่า เธอถ่ายภาพขณะที่ตัวเองกำลังฆ่าตัวตายเอาไว้ด้วย ทว่า ตำรวจค้นไม่พบภาพในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด

นิตยสารภาพถ่าย Aperture ตีพิมพ์รูปและเรื่องราวชีวิตเพื่อเชิดชูความเป็นศิลปินของ ดีแอน อาร์บัส ขณะที่ ภัณฑารักษ์ของโมมา จอห์น ซาร์โคว์สกี เองก็ตั้งใจจะจัดพื้นที่แสดงงานของเธอ ในปี 1972 โดยรวบรวมจากสำนักพิมพ์ต่างๆ หากโดนปฏิเสธจากค่ายใหญ่ๆ มีเพียง Aperture เท่านั้น ที่จัดทำหนังสือเฉพาะกิจตีพิมพ์ภาพถ่ายของ ดีแอน ซึ่งกลายเป็นหนังสือรวมภาพถ่ายที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ถึง 12 ครั้งและขายได้มากกว่า 1 แสนเล่ม ภาพดังกล่าวจัดแสดงที่โมมาด้วย รวมทั้งเดินทางไปจัดแสดงยังที่ต่างๆ ในอเมริกาเหนือ ซึ่งคาดว่ามีผู้ที่เข้าชมกว่า 7 ล้านคนทีเดียว

ในปีเดียวกัน แม้ ดีแอน อาร์บัส จะเสียชีวิตไปแล้ว เธอยังเป็นช่างภาพอเมริกันคนแรกที่มีผลงานเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะเวนิซ เบียนนาเลอีกด้วย ภาพเด็กแฝดกลายเป็นสัญลักษณ์ในภาพถ่ายของเธอ และยังเป็นภาพถ่ายราคาแพงที่สุดในโลกเป็นอันดับ 7 (สถิติปี 2004) โดยขายได้ถึง478,400 เหรียญสหรัฐ

ดีแอน อาร์บัส เป็นที่รู้จักกันในทุกวันนี้ กับภาพถ่ายของคนเคระ ยักษ์ โสเภณี คนเร่ร่อน รวมทั้งคนที่สติไม่ค่อยจะสมบูรณ์ หรือคนปกติธรรมดาที่เธอนำมาจัดถ่ายให้ได้อารมณ์เสียดสีประชดประชันสังคม

เจเน็ต มัลคอล์ม นักเขียนประจำ “The New Yorker” วิจารณ์ผลงานของดีแอนว่า เป็นการถ่ายภาพแบบเก่าๆ “เธออาศัยแบบแผนเดิมๆ มาเล่าเรื่องราวที่เห็นในปัจจุบัน”

ลักษณะการถ่ายภาพตามขนบเดิม หรือ “Traditional forms” ที่โดดเด่นในผลงานของดีแอน อาร์บัส ก็คือ การใช้เลนส์ไวด์แองเกิล ที่จะทำให้ได้อารมณ์ของภาพในแบบที่เธอต้องการ เธอมักจัดให้วัตถุอยู่ตรงกลางภาพ ซึ่งดูเหมือนว่าเธอจะสนใจในเรื่องของอารมณ์ในการถ่ายภาพขณะนั้นมากกว่า ที่จะคิดถึงเรื่ององค์ประกอบภาพ หรือคอมโพสิชั่น

เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว่ว่า เธอเองไม่รู้หรอกว่า องค์ประกอบภาพคืออะไร บางทีการจัดองค์ประกอบของเธอก็อาจจะหมายถึงการทำให้ภาพสว่างขึ้น หรือเหลือพื้นที่บนภาพให้ได้พักสายตากันมากขึ้น “บางทีมันก็เกิดจากความผิดพลาดบางอย่างขณะที่ถ่าย แต่กลับได้ภาพสวยขึ้นมา ฉันว่าบางที่การทำถูกก็อาจ กลายเป็นผิด และบางครั้งฉันก็ชอบที่จะทำถูกๆ บางทีก็ชอบถ่ายแบบผิดๆ เหมือนกันนะ”

การที่เธอชอบใช้แฟลชในการถ่ายภาพกลางแจ้งเวลากลางวัน ซึ่งทำให้คนหรือวัตถุที่อยู่ในภาพดูเด่นเด้งขึ้นมาเตะตา แสดงให้เห็นอารมณ์ในตัวของเธอเอง ที่อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว ชอบอยู่คนเดียวในโลกของตัวเอง ทำให้เกิดความคิดแบบเกินเลยจากความเป็นจริง (เซอร์เรียล) ไปได้

ภาพถ่ายที่โดดเด่นของ ดีแอน ประกอบด้วย...

Child with Toy Hand Grenade in Central Park

ภาพนี้ถ่ายที่กรุงนิวยอร์ก ปี 1962 เด็กชายตัวผอมแกร็น รูปร่างดูผิดแผก แขนข้างหนึ่งหงิกงอ ส่วนอีกข้างหนึ่งถือของเล่นที่มีลักษณะเหมือนลูกระเบิดเอาไว้ ดีแอนถ่ายรูปนี้ โดยให้เด็กชายยืนอยู่ในลักษณะที่เห็น แล้วเธอก็เดินรอบๆ ตัวเขาถ่ายทุกมุมแบบ 360 องศา กว่าจะได้มุมนี้ พร้อมแสงเงา และอารมณ์อย่างที่เธอถูกใจที่สุดนั้น เด็กชายก็โวยวายว่า ถ่ายเสียที จนกลายเป็นอารมณ์ที่ได้ในภาพนี้นั่นเอง

Identical Twins

ภาพนี้ถ่ายในปี 1967 เด็กหญิงฝาแฝดในชุดกระโปรงผ้าลูกฟูก คนหนึ่งยิ้มคนหนึ่งบึ้ง ภาพนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “เครื่องหมายการค้า” ของ ดีแอน แล้วยังเป็นแรงบันดาลใจให้ สแตนลีย์ คูบริก นำการโพสท่าของฝาแฝดไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง The Shining ของเขาด้วย

Jewish Giant at Home with His Parents in The Bronx

ภาพของ เอดดี คาร์เมล “ยักษ์ชาวยิว” ถ่ายในอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวคาร์เมล โดยมีพ่อและแม่ของเอดดี ซึ่งดูตัวเล็กมาก เมื่อยืนอยู่กับเขา ภาพดังกล่าวถ่ายในปี 1970 ทำให้เกิดการตีความไปต่างๆ นานา บางคนก็ว่า แม้เอดดีจะมีรูปร่างผิดปกติ แต่เขาก็ไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข ขณะที่บางคนก็จับตาไปที่พ่อแม่ขอเอดดี ว่า มีกิริยาแปลกๆ ท่าทางตื่นเต้น คล้ายกับเพิ่งเคยเห็นเอดดีเป็นครั้งแรกในชีวิตอย่างนั้นแหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น