วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เจน แฟรงก์ หญิงเหล็กแวดวงศิลปศิลป์อเมริกัน



จิตรกร ประติมากร ศิลปินสื่อผสมนักออกแบบลายผ้าหญิงชาวอเมริกัน เจน แฟรงก์ ศิษย์เอกของ ฮันส์ ฮอฟมันน์ ศิลปินเยอรมัน-อเมริกัน ที่ผลงานศิลปะในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะงานจิตรกรรมในแนวแอบสแทรกต์ ที่ได้มักได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ แม้ว่าในภายหลังเจนจะหันมานิยมวาดภาพแนวแลนด์สเคปแบบตรงไปตรงมาก็ตาม แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เธอก็คือ ภาพแนวแอบสแทรกต์มากกว่า โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมและศิลปะสื่อผสม


เจน แฟรงก์ นับว่าเป็นศิลปินคนสำคัญของอเมริกา ผลงานของเธอได้รับการจัดแสดงไว้ที่หอศิ??ป์ของสถาบันสมิธโซเนียน หอศิลป์แห่งบัลติมอร์ (บ้านเกิดของเธอ) หอศิลป์จอห์นสันแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ฯลฯ

ชื่อเดิมของเจน แฟรงก์ คือเจน เชนธาล เธอมีความสนใจในศิลปะเป็นทุนเดิม ก่อนจะเข้าศึกษาอย่างเป็นแบบแผนที่สถาบันศิลปะในแมรีแลนด์ ในสาขานิเทศน์ศิลป์ เอกการออกแบบแฟชั่น ก่อนจะไปเรียนต่อที่พาร์สันสคูล ออฟ ดีไซน์ ในนิวยอร์ก โดยระหว่างนั้นเธอยังศึกษาทางด้านการละครไปด้วย

หลังศึกษาจบ เจนเข้าทำงานทางด้านการออกแบบแฟชั่นที่กรุงนิวยอร์กเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนจะย้ายกลับมายังบ้านเกิดในบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ แล้วเริ่มต้นสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างจริงจังราวปี 1940 มีหลักฐานเป็นจดหมายที่เธอเขียนถึง โธมัส โยเซลอฟ เล่าพื้นฐานของตัวเองที่มีมาทางพาณิชย์ศิลป์ ครั้นเมื่อตั้งใจจะเป็นศิลปินเต็มตัว เธอก็?ิ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเคยพากเพียรร่ำเรียนมาแล้ว เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

เจนเริ่มศึกษาเกี่ยวกับศิลปะแบบเพียวอาร์ต ตั้งแต่ศิลปะภาพเขียนสีในถ้ำยุคโบราณไปจนถึงศิลปะเรอเนสซองซ์ และสนใจเป็นพิเศษที่ผลงานของปอล เซซานน์ ปาโบล ปิกัสโซ และวิลเลม เด คูนิง เธอเพิ่มเติมไว้ในจดหมายว่า นิยมงานที่เป็นเล่นกับพื้นผิว (เทกซ์เจอร์) รวมทั้งภาพสีน้ำมันที่ดูแรงๆ

ทางด้านชีวิตส่วนตัวเธอสมรสกับเฮอร์มัน เบนจามิน แฟรงก์ ไม่นานหลังกลับมาปักหลักใน บัลติมอร์ และเมื่อเริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะเธอจึง เริ่มด้วยลายเซ็นบนผืนภาพว่า เจน แฟรงก์ ตลอดมา

สามีของเธอทำงานก่อสร้างอาคาร และเขาก็เป็นผู้สร้างสตูดิโอวาดภาพให้เธอด้วยตัวเอง นอกจากหันมาเป็นศิลปินเต็มตัวแล้ว เจนยังวาดภาพประกอบในหนังสือเด็ก แล้วยังเขียนหนังสือเองด้วย (Monica Mink)

เหตุหนึ่งที่ทำให้เจน แฟรงก์ หันมาทำงานศิลปะ ซึ่งเป็นอิสระจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน เนื่องเพราะปัญหาสุขภาพที่รุมเร้าทำให้เธอไม่สามารถที่จะนั่งทำงานได้ระยะเวลานานๆ หลังจากนั้นอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1952 ยังซ้ำเติมให้อาการหนักยิ่งกว่าเก่า แต่กระนั้นเธอก็ยังสามารถผลิตงานออกมาแสดงนิทรรศการเดี่ยวได้ในปี 1958 ที่หอศิลป์แห่งบัลติมอร์

ระหว่างที่เยียวยาอาการบาดเจ็บ ในปี 1956 เจนเข้าเรียนกับศิลปินเอกเพรสชันนิสต์ชาวเยอรมัน-อเมริกัน ฮันส์ ฮอฟมันน์ ที่โพรวินซ์ทาวน์ รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของเธอดีกว่าจะศึกษาด้วยตัวเอง ด้วยเพราะอาจารย์ศิลปินช่วยเสริมความเชื่อมั่น ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นอย่างดี จนทำให้เธอสามารถสร้างสรรค์งานแสดงในนิทรรศการเดี่ย?ครั้งแรกในปี 1958 ดังกล่าว รวมทั้งมีโอกาสทัวร์แสดงงานไปยังหอศิลป์ต่างๆ หลายแห่ง ทั้งแกลเลอรีศิลปะคอร์โคแรน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในปี 1962 รวมทั้งแกลเลอรีบ็อดลีย์ ที่กรุงนิวยอร์ก ในปี 1963 และห้องนิทรรศการของกูเชอร์คอลเลจ ที่บัลติมอร์ในปีเดียวกัน

ในปี 1962 เจน แฟรงก์ ได้ทุนของไรน์ฮาร์ต เฟลโลว์ชิป ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ วิลเลียม เฮนรี ไรน์ฮาร์ต ประติมากรชาวแมรีแลนด์ อันเป็นโอกาสให้เธอได้ศีกษากับนอร์แมน คาร์ลเบิร์ก ที่โรงเรียนประติมากรรมไรน์ฮาร์ต ในสถาบันศิลปะแมรีแลนด์ ซึ่งทำให้เจนได้โอกาสทดลองสร้างสรรค์งานในสายใหม่ คือ ประติมากรรมในภายหลัง โดยนับว่าเป็นอีกสายงานที่เธอได้สร้างสรรค์เอาไว้มากพอตัว ถึงขนาดที่สามารถให้ ฟีบี บี. สแตนตัน รวมเล่มได้สบายๆ (The Sculptural Landscape of Jane Frank) ในปี 1968

การได้เรียนรู้และสร้างสรรค์งานประติมากรรม ทำให้เจนก้าวข้ามไปอีกขั้น นั่นคือ เริ่มทำงานออกมาด้วยเทคนิคศิลปะสื่อผสม ซึ่งปรากฏให้เห็นในผลงานหลังจากปี 1962 อย่างเด่นชัด โดยในผลงานสื่อผสมของเธอเน้นเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของศิลปะพื้นผิว หรือเทกซ์เจอร์อย่างที่เธอชอบและสนใจมาตั้งแต่ต้น เจนอาศัย "สื่อ" หรือ "วัสดุ" มากมายมาผสมผสานออกเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น ของฝากจากทะเล เศษหอย เม็ดทราย รวมทั้งซากเรือ ไม้ผุ แล้วก็เศษแก้ว ทั้งไม่ลังเลที่จะหยิบวัสดุที่ไม่ใช่ธรรมชาติสร้าง อย่าง แผ่นซิลิกา มาใช้ด้วย ซึ่งผลงานในช่วงนี้ยิ่งขับเน้นให้เธอกลายเป็นศิลปินแอบสแทรกต์ เอกซ์เพรสชันนิสต์อย่างเต็มตัว โดยเธอจัดแสดงนิทรรศการ สื่อผสมเป็นครั้งแรกที่บัลติมอร์ในปี 1965

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอยังสร้างสรรค์ ผืนผ้าใบของตัวเองมิให้คิดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมอีก ต่อไป หากคิดค้นผ้าใบที่เรียกว่า "มีทรวดทรง" (Shaped Canvas) ซึ่งดูเหมือนว่า นอกจากอิทธิพลของประติมากรรมแล้ว ก็ยังเป็นสิ่งที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่ครั้งเรียกแฟชั่นดีไซน์นั่นเอง

Shaped Canvas ทำให้การสร้างสรรค์ศิลปะ สื่อผสมของเธอกลายเป็นรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งสร้าง ชื่อเสียงให้เจน แฟรงก์เป็นอย่างมาก

หลังจากทศวรรษแห่งประติมากรรมและ สื่อผสม เจน แฟรงก์ เรียกได้ว่าเป็นสูงสุดคืนสู่สามัญ เมื่อกลับมาให้ความสนใจต่อการเขียนภาพแลนด์ สเคปแนว "มุมสูง" หรือ Aerial Landscape ซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดสีสันตามธรรมชาติจริงๆ แม้จะแอบติดกับความเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือแอบสแทรกต์อยู่เล็กน้อยก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้มีเบื้องหลังบันทึกเอาไว้ว่า เป็นเพราะเจนเริ่มหันมาสนใจเรื่องศาสนา และมีความเชื่อว่าเธอเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดินแมรีแลนด์ จึงต้องการวาดภาพเชิงธรรมชาติ ด้วยการถ่ายทอดเป็นภาพแลนด์สเคปมุมสูง ด้วยการวาดให้มีสีสันใกล้เคียงธรรมชาติของสถานที่มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทิวทัศน์ของบัลติมอร์ในแมรีแลนด์

ในปี 1986 เจน แฟรงก์ เสียชีวิตที่บ้านของตัวเองในบัลติมอร์ แมรีแลนด์ ด้วยวัย 68 ปี หลังทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์งานแทนคุณแผ่นดิน เป็นภาพวาดทิวทัศน์มุมสูงจำนวนมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น