วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว

เพิ่งครบรอบ 25 ปีแห่งการจากไปของ คีท แฮริ่ง ศิลปินสตรีทอาร์ตที่ฝากผลงานสุดป๊อปที่โลกไม่ลืมเลือน ก่อนจะจากไปในวัยเพียง 32 ปี ศิลปินผู้เอกอุมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ไม่นาน หรือแม้จะชีวิตยืนยาวเกือบร้อยปี ถึงอย่างไรชีวิตคนก็แสนสั้นแต่ศิลปะนั้นยืนยาว

อันดับหนึ่งในดวงใจ ฟินเซนต์ ฟาน โก๊กห์ (คนเดียวกับวินเซนต์ แวน โก๊ะ นั่นแหละ) ศิลปินชื่อดังที่มีผลงานจำนวนมากที่สุดในอันดับท็อปลิสต์ของงานศิลปะราคาแพงที่สุดของโลก ซึ่งประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ว่า เขาฆ่าตัวตายในวัย 37 ปี โดยใช้ปืนยิงไปที่หน้าอกของตัวเอง ทว่าหนังสือ Van Gogh : The Life ที่เขียนโดยสตีเฟน ไนเฟห์ และเกรกอรี ไวท์ สมิธ เมื่อ 2-3 ปีก่อน บอกว่า การตายของเขาอาจจะมาจากสาเหตุฆาตกรรม

เหตุการณ์ในตอนนั้น... ฟินเซนต์ยิงตัวเองที่บริเวณหน้าอกในกลางทุ่ง ก่อนจะซมซานกลับมายังที่พักซึ่งอยู่ไกลกว่าหนึ่งไมล์ แล้วเสียชีวิตในอีก 30 ชั่วโมงถัดมา ระหว่างนอนรอความตาย คนถามว่า เขาตั้งใจจะฆ่าตัวตายหรือ? ฟินเซนต์ตอบ... “อืม ผมคิดว่างั้น” ผู้คนก็เลยปักใจว่า เขายิงตัวเอง แต่ไม่มีใครพูดถึงขาตั้งและผ้าใบซึ่งถูกพบในที่เกิดเหตุ ทว่าไม่มีปืนสักกระบอก

สตีเฟนและเกรกอรี ยังชี้ว่า ฟินเซนต์ ฟาน โก๊กห์ เคยเข้าสถานบำบัดจิตมาก่อน ซึ่งทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิในการครอบครองปืน นอกจากนี้วิถีกระสุนก็ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่น่าจะอยู่ในตำแหน่งของการยิงตัวเอง

ฟินเซนต์ วิลเลม ฟาน โก๊กห์ (มีชีวิตระหว่างปี 1853-1890) ถือเป็นจิตรกรเอกในยุคปลายอิมเพรสชันนิสม์ ผลงานของศิลปินชาวดัตช์ ได้การยอมรับทางด้านความงามของฝีแปรงที่เป็นเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และมีสีสันที่โดดเด่น

แม้จะไม่ได้ยึดอาชีพจิตรกรกระทั่งอายุเกือบ 30 หากในชั่วเวลาเพียงทศวรรษเดียวเขาก็มีผลงานมากกว่า 2,000 ชิ้น โดยผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักมากๆ อยู่ในช่วง 2 ปีหลังก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

ว่ากันว่า แสงอาทิตย์ที่เจิดจ้าทางใต้ของฝรั่งเศส ส่งให้ผลงานของเขามีสีสันที่จัดจ้าน และเขายังพัฒนาฝีมือจนมีเอกลักษณ์ฝีแปรงที่เฉพาะตัว ซึ่งบรรดานักวิจารณ์ศิลปะรุ่นใหม่เชื่อว่า ผลงานที่โดดเด่นในบั้นปลายของวินเซนต์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่แท้จริงของเขา

ศิลปินสตรีทอาร์ต และนักเคลื่อนไหวทางสังคม คีท อัลเลน แฮริ่ง (1958-1990) ผู้มีผลงานเข้มข้นอยู่ในทศวรรษที่ 1980 โดยเนื้อหาสาระมักเกี่ยวกับการเกิด การตาย เรื่องเพศ และสงคราม ผลงานของเขาส่วนใหญ่มุ่งหมายด้านการเมือง ซึ่งกราฟฟิกรูปร่างเหมือนคน (บ้างเรียกว่า ปีศาจตัวน้อย หรือโครงกระดูก) หลากสีสันของเขา ได้กลายเป็นภาษาภาพแห่งศตวรรษที่ 20

การแสดงออกทางความคิดทางสังคมและการเมือง มีแรงผลักดันมาจากเรื่องส่วนตัวล้วนๆ กราฟฟิกหลากสีสันนั้น ดูน่ารักก็ไม่ใช่ น่ากลัวก็ไม่เชิง ทว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ออกไปในด้านมืด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ อันเป็นความตั้งใจของคีทที่ต้องการส่งสารในฐานะตัวแทนของชาวโฮโมเซ็กชวล ว่าพวกเขาไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย สังคมต้องยอมรับในความมีอยู่แบบเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีเอดส์ที่กลายเป็นประเด็นหลัก ให้คีทออกมาเรียกร้องว่ารัฐจะเมินเฉยไม่ได้

หลังเห็นคนรอบข้างล้มตายด้วยโรคเอดส์ ในที่สุดเขาเองก็ตรวจพบเชื้อเอชไอวี ในปี 1987 ซึ่งผลงานหลังจากนั้น เขายิ่งไม่เล่าเรื่องอื่น อย่างเช่น Untitled (cat. no. 27) ผลงานขนาดใหญ่ที่เป็นภาพสเปิร์มตัวเขื่องสีขาวบนแบ็กกราวด์สีดำ คล้ายการเล่าเรื่องชีวิตของเขาเอง หรือภาพ Silence=Death ที่เขาวาดให้กราฟฟิกรูปปีศาจตัวเล็กๆ ของเขาอยู่ในอิริยาบถปิดหู ปิดตา ปิดปาก ฯลฯ

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เซลฟ์-พอร์เทรต เซลฟี่ผ่านงานจิตรกรรม

การถ่ายภาพเซลฟี่ หรือเดี๋ยวนี้จิตแพทย์เรียกว่าเป็น “โรคเซลฟี่” (Selfie) เมื่อคนที่ถ่ายภาพตัวเองไปโพสต์แล้วหวังให้คนกดไลค์ หรือให้เพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์มาเขียนข้อความแสดงความเห็นกันให้มากๆ นั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ภาพแบบนี้ก็มีปรากฏอยู่แล้ว เพียงมิใช่ผ่านกระบวนการผลิตโดยกล้องหน้า กล้องหลัง ทว่า เป็นเซลฟี่ที่ถ่ายทอดผ่านปลายพู่กัน (ดินสอเครยอง ภาพพิมพ์ หรืองานปั้น) ที่เรียกกันว่า เซลฟ์-พอร์เทรต (Self-portrait)

จิตรกรและประติมากรนั้นวาด (เขียนและปั้น) “เซลฟี่” มาแต่ไหนแต่ไร มีทั้งการนำรูปหน้าตัวเองมาวาดเป็นตัวเด่นในภาพวาดทางศาสนา ทั้งบนเครื่องประดับแทนบูชา หรือวาดประกอบพระคัมภีร์ไบเบิล บ้างก็จัดภาพวาดตัวเองจากที่เห็นในกระจกเงา ส่วนช่วงที่เริ่มรุ่มรวยมากๆ คือในกลางศตวรรษที่ 15 โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินในยุโรปเหนือ ภาพดังอย่าง Portrait of a Man in a Turban (1433) ของแยน ฟาน ไอก์ น่าจะเป็นภาพแรกๆ ที่โลกได้รู้จักคำจำกัดความของภาพเซลฟ์-พอร์เทรต กันเลยทีเดียว

นอกเหนือจากเทคนิคที่ปลายพู่กันของจิตรกรแต่ละราย ภาพเซลฟ์-พอร์เทรต ยังทำหน้าที่แสดงตัวตนของพวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสไตล์ ฝีแปรง มุมมองความคิด หรือองค์ประกอบของภาพ ศิลปินหลายคนอาศัยภาพเซลฟ์-พอร์เทรตนี่แหละ เป็นการฝึกฝนฝีมือให้ก้าวล้ำ เพราะภาพที่วาดให้
ผู้จ้างมักจะมีคำเรียกร้องต่างๆ หากเซลฟ์-พอร์เทรตเป็นสิ่งที่จิตรกรสามารถจัดเต็มในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำหรือทดลอง ส่วนบางคนก็ใส่ภาพหน้าตัวเองเอาไว้ในงานของพวกเขาอย่างแนบเนียน เช่น The Four Philosophers (1611–1612) ของพอล รูเบนส์ หรือ ดิเอโก เบลาซเกซ ก็ใส่หน้าตัวเองไว้ในภาพเขียนอันเอกอุ อย่าง Las Meninas (1656)

จิตรกรหญิงเป็นกลุ่มที่ชอบวาดภาพตัวเองมากเช่นกัน ตั้งแต่ คาเทอรีน่า ฟาน เฮเมสเซ่น เอลิซาเบธ วิเก-เลอบรุน ไปจนถึงฟรีดา คาห์โล อย่างเอลิซาเบธนั้น เธอวาดเซลฟ์-พอร์เทรตมากถึงเกือบ 40 ภาพ ขณะที่ฟรีดาไม่วาดรูปอื่นใดนอกจากรูปของเธอ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องเพราะต้องการที่จะเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ในอดีตนั้น จิตรกรสตรีไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับสักเท่าไร หลายคนแอบเรียนวาดภาพ โดยพวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้วาดภาพนู้ดจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ทำให้ไม่ได้ฝึกฝนการวาดภาพหุ่นนิ่งที่มีองค์ประกอบภาพขนาดเท่าคนจริงมาก่อน การวาดภาพตัวเองถือเป็นฝึกฝนฝีมือได้ดีอย่างหนึ่ง

ภาพเซลฟ์-พอร์เทรตที่ถือได้ว่าเป็นการวาดภาพแบบ “โปรไฟล์” เห็นจะต้องยกให้อัลเบรชท์ ดูเรอร์ จิตรกรชาวเยอรมันผู้นี้เรียกว่ามาแรงแซงโค้ง ในด้านการวาดภาพเหมือนตัวเองมากกว่าจิตรกรคนก่อนๆ โดยเขามีภาพเซลฟ์-พอร์เทรตถึง 22 ภาพ อย่างเช่น Carnation (1493) The Madrid self-portrait (1498) และพอร์เทรตภาพสุดท้ายในชีวิต ปี 1500 ที่เขาวาดให้ตัวเองดูเหมือนพระเยซู ขณะที่ เรมบรานดท์ ฟาน ไรน์ จิตรกรชาวดัตช์ชื่อดัง ก็ใช้ภาพเซลฟ์-พอร์เทรตจำนวนมาก ทดลอง ฝึกฝน อะไรใหม่ๆ มาตั้งแต่เป็นจิตรกรรุ่นเยาว์

ไม่พูดถึงวินเซนต์ ฟาน โกห์ ก็คงไม่ได้ เพราะเขามีภาพเหมือนตัวเองจำนวนมากมายไม่แพ้ใครอื่น นับจากปี 1886-1889 เขาวาดรูปตัวเองมากถึง 37 ชิ้น ด้าน เอกอน ชีเล จิตรกรชาวออสเตรีย นอกจากชอบวาดภาพนู้ดหญิงสาวแล้ว ยังชอบวาดภาพนู้ดตัวเองอีกต่างหาก

เซลฟี่จากปลายพู่กันจิตรกร อาจเป็นได้ทั้งการมุ่งหวังจะโปรโมทตัวเอง โดยนักวิจารณ์ศิลปะและนักจิตวิเคราะห์ จัด แยน ฟาน ไอก์ อัลเบรชท์ ดูเรอร์ กับปาโบล ปิกัสโซไว้ในหมวดหมู่นี้ ที่อาศัยภาพเหมือนตัวเองเป็นพื้นที่โฆษณาความสามารถว่าทำอะไรได้บ้าง

ขณะที่ศิลปินบางส่วนก็ต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่อยู่ภายในใจ ดังเช่น ฟรีดา คาห์โล ที่นอกจากใส่หน้าตาของตัวเองไว้ในรูปทุกรูปแล้ว ยังบ่งบอกเรื่องราวความเจ็บปวดทางกายและใจเอาไว้ในทุกๆ รูป นักวิเคราะห์ภาพเขียน ยังจัดกรุ๊ปให้วินเซนต์ ฟาน โกห์ กับเอกอน ชีเล อยู่ในพวกมีปัญหาทางจิต โดยดูจากภาพเขียนหลายๆ ภาพ โดยเฉพาะรายหลังนี้ที่มีภาพวาดขณะช่วยตัวเองคงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย

จิม นัตต์ กับสารพัดคาแรกเตอร์ (ส)

เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่ เจมส์ ที. นัตต์ หรือที่รู้จักกันในแวดวงศิลปะอเมริกันว่า จิม นัตต์ ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ชาวอเมริกัน สร้างสรรค์งานศิลปะเป็นภาพคาแรกเตอร์ต่างๆ มากมาย

งานศิลปะของจิม มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ศิลปะของอเมริกันชน แม้จะยึดมั่นในแนวทางเซอร์เรียลิสม์ ทว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยที่เขาจะได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากวัฒนธรรมป๊อปของกลางศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือการ์ตูนขายดีของ ดี.ซี. คอมิกส์ ภาพปิดโฆษณา ตู้เพลงจุกซ์บอกซ์ รวมถึงศิลปะตู้เกมพินบอล แล้วก็ป้ายโฆษณาบิลบอร์ด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับมรดกทางความคิดจากยุคสมัยใหม่มากมาย แต่จิมก็ยังยึดมั่นในเทคนิคทางศิลปะแบบโบราณ โดยเฉพาะสไตล์เดิมๆ จากยุโรปเหนือ ทั้งแบบแผนทางด้านเทคนิคและสีสันของจิตรกรจากศตวรรษที่ 15–16 รวมทั้ง ศิลปะอเมริกันยุคเก่าๆ ศิลปินดังที่เป็นที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา อย่างเช่น อองรี มาติสส์ และโฆอัน มิโร

นอกจากนี้ จิมยังศึกษาผลงานของศิลปินผู้มีตัวตนปัจเจกไม่ซ้ำใคร ไม่ว่าจะเป็น จอห์น แกรห์ม มักซ์ แอร์นส์ต อาร์ชิเล กอร์กี้ หรือแม้กระทั่ง ศิลปินภาพพิมพ์และสถาปนิก เอช. ซี. เวสเตอร์แมนน์

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ผลงานของเขาเน้นหนักไปที่คาแรกเตอร์ของผู้หญิง อันเป็นภาพที่จัดแสดงส่วนใหญ่ในนิทรรศการที่มี ลีนน์ วอร์เรน เป็นภัณฑารักษ์ครั้งนี้

ภาพเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งผลงานจากยุคเริ่มแรก จนเข้ามาถึงผลงานในยุค "คาแรกเตอร์ของผู้หญิง" ในนิทรรศการยังจัดทำในส่วนของการวิเคราะห์ผลงานของศิลปินคนดัง ให้เห็นพัฒนาการในผลงานของเขาด้วย โดยเฉพาะโครงสร้างของภาพพอร์เทรตรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า The Imaginary Portraits ของเขา ซึ่งเริ่มสร้างสรรค์ออกมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980

ทุกๆ คนที่ไปชมนิทรรศการ จะได้ร่วมกันศึกษาลายเส้น สีสัน และรายละเอียดต่างๆ กว่าจะมาเป็น Imaginary Portraits แต่ละภาพ รวมทั้งเบื้องหลังเบื้องลึกทางความคิดของแต่ละภาพที่มีคาแรกเตอร์ซึ่งแตกต่างกันไปอย่างมากด้วย
จิม นัตต์

จิม นัตต์ เกิดที่แมสซาชูเซตส์ เมื่อปี ค.ศ. 1938 เขาศึกษาศิลปะที่มหาวิทยาลัยแห่งแคนซัส ก่อนจะมาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย ในเซนต์หลุยส์ ตามด้วยสถาบันศิลปะในชิคาโก

ที่ชิคาโกนี่เอง ที่เขาได้พบกับภรรยา แกลดีส์ นีลส์สัน ซึ่งจิมได้เป็นโต้โผตั้งกลุ่มทางศิลปะ แฮรี ฮู (Hairy Who) ขึ้นมา เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางเซอร์เรียลิสม์ ที่สมาชิกก็มีเขากับภรรยาคู่ชีวิต ดอน โบม ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะไฮด์ปาร์ก ในชิคาโก นอกจากนั้น ก็ยังมีศิลปินร่วมยุคสมัยเดียวกัน อย่าง คอสโม คัมโปลิ จอร์จ โคเฮน โดมีนิก ดิ เมโอ เลออน โกลับ เตโอดอร์ ฮัลคิน จูน ลีฟ ฯลฯ โดยมีศาสตราจารย์วิตนีย์ ฮอลสตีด อาจารย์ที่สถาบันศิลปะชิคาโกเป็นที่ปรึกษา

แม้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ป๊อปอาร์ต" เช่นผลงานของ แอนดี วอร์ฮอล หรือ รอย ลิกเตนสไตน์ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ทั้งรับและส่งอิทธิพลไป-มากับศิลปะป๊อปอาร์ตอย่างแรง

ลีนน์ วอร์เรน ภัณฑารักษ์ ให้ฉายาจิมว่า เป็น "ต้นตระกูล" ของป๊อปอาร์ตอเมริกัน




ฟรีดา คาห์โล เมื่อ 200 ปีแห่งชาติเม็กซิโก

ว่ากันว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเหมาะในการฉลอง 200 ปี ของประเทศเม็กซิโกได้ดีกว่านิทรรศการศิลปะของ ฟรีดา คาห์โล ไม่เพียงเพราะการที่เธอได้สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกเท่านั้น ตลอดทั้งชีวิตของเธอยังเกี่ยวพันกับการเมือง และต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของประชาชนชาวเม็กซิโกมาโดยตลอด

Frida Kahlo y su mundo หรือโลกของฟรีดา คาห์โล จึงกลายเป็น 1 ใน 5 นิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นในเทศกาลเม็กซิกัน Imagenes del mexicano ณ พิพิธภัณฑ์โบซาร์ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยได้นำภาพวาดผลงานศิลปินหญิงเม็กซิกันจำนวน 19 ภาพ นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพพิมพ์ ภาพวาดลายเส้น และภาพถ่ายอีกจำนวนหนึ่งจากพิพิธภัณฑ์โดโลเรส โอลเมโด ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะที่รวบรวมผลงานและข้าวของส่วนตัวของฟรีดาเอาไว้มากที่สุดในโลก

นับตั้งแต่อุบัติเหตุรถรางตอนอายุ 17 ปี นอกจากจะต้องผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่แล้ว ก็นับว่าชีวิตของเธอได้รับการผ่าตัดครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน

ฟรีดา คาห์โล เปรียบดัง วินเซนต์ ฟาน โกะห์ ฝ่ายหญิง เธอถ่ายทอดความคิดความรู้สึกของตัวเองออกมาทางภาพพอร์เทรตที่งดงาม มีพลัง และไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ชีวิตคู่แบบลุ่มๆ ดอนๆ ของเธอ และสามี ศิลปินดัง ดิเอโก ริเวรา การเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ฯลฯ

โดโลเรส โอลเมโด เป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งของฟรีดามาตั้งแต่ที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งคู่เป็นผู้หญิงที่เติบโตมาคนละแบบ โดโลเรสโตมาในแวดล้อมยุคสมัยใหม่ ขณะที่ฟรีดาถูกเลี้ยงดูมาแบบเม็กซิกันดั้งเดิม หลังจากที่ฟรีดาเสียชีวิตลงเมื่อปี 1954 ดิเอโก ริเวรา ได้ติดต่อโดโลเรส ซึ่งแต่งงานกับอเลฆันโดร โกเมซ อารีอัส อดีตแฟนหนุ่มของฟรีดาในวัยเด็ก ที่ได้ดิบได้ดีทางการเมือง เพื่อที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เอาไว้เก็บ ผลงานของศิลปินหญิงเม็กซิกันผู้ยิ่งยง

ในเบื้องแรกโดโลเรสยกบ้านที่อะคาปุลโกให้ดิเอโกได้สร้างอนุสรณ์แด่อดีตภรรยา ต่อมาพวกเขาซื้อบ้านของเอดูอาร์โด มอริลโย ซาฟา เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ทว่า ความฝันของดิเอโกเป็นจริงหลังจากเขาเสียชีวิต (ปี 1957) ไปแล้ว โดยโดโลเรสได้สร้างสถานที่แสดงงานของฟรีดา คาห์โล อย่างถาวรที่เมืองโซชิมิลโก ใกล้ๆ กับเม็กซิโก ซิตี สำเร็จในทศวรรษที่ 1990 โดย โดโลเรสรับหน้าที่บริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยตัวเอง กระทั่งเสียชีวิตในปี 2002

ในเทศกาลเม็กซิโก หรือ Imagenes del mexicano สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ 200 ปีของเม็กซิโก ตั้งแต่สมัยพรี-โคลัมเบียน หรือก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบทวีปอเมริกา มาจนถึงเมื่อครั้งที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน และหลังได้รับอิสรภาพ นำเสนอผ่านภาพถ่ายและจิตรกรรมของช่างภาพและศิลปินชื่อดัง นอกจากผลงานของฟรีดาแล้ว ก็ยังมีผลงานของดิเอโก ริเวรา เอร์เมเนกิลโด บุสตอส ดาวิด อัลฟาโร ซิเกอิรอส ผลงานของช่างภาพหญิง ทีนา โมดอตติ รวมทั้งภาพยนตร์ของ เซอร์เกย์ ไอเซนสไตน์

Mundos Mexicanos เป็นส่วนนิทรรศการที่รวบรวมช่างภาพร่วมสมัย 25 คน โดยสร้างธีมให้ช่างภาพเหล่านี้ไปถ่ายภาพที่แสดงจิตวิญญาณของเม็กซิโก อย่างโรงงานยาสูบสมัยอาณานิคม ซึ่งต่างสะท้อนออกมาในมุมมองของตัวเอง

อีกส่วนหนึ่งเป็นนิทรรศการแสดงเม็กซิโกสมัยใหม่ หรือ Mexican Modernisms โดยมีหลุยส์ บาร์รากาน สถาปนิกชาวเม็กซิกันเป็นเป็นตัวแทนถ่ายทอดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเม็กซิกันแท้ๆ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมหลังสงครามที่เป็นแบบร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการภาพถ่าย The Mole's Horizon โดยหลากหลายช่างภาพคนดังที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมจากมุมต่างๆ ของเม็กซิโกทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการแสดงเวที ทั้งคอนเสิร์ต การอ่านบทกวีประกอบลีลา รวมถึงคอนเทมโพรารีแดนซ์

อนิช คาปูร์ เจ้าของรางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ ปี 1991

เจ้าของรางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ปี 1991 อนิช คาปูร์ ถือว่าเป็นประติมากรผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ได้มากมายนัก

คราวนี้ที่รอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ กรุงลอนดอน เขาเป็นศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่คนแรกที่ได้พาผลงานชิ้นสำคัญๆ มาจัดแสดง ณ หอศิลป์แห่งชาติอังกฤษแห่งนี้

ผลงานชิ้นที่คุ้นเคยจากหนัง Source Code
นอกจากผลงานชิ้นสำคัญๆ ตลอดระยะเวลาการทำงานประติมากรรมของเขาแล้ว ยังได้นำเอา ชิ้นงานที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อนมาโชว์เป็นครั้งแรกด้วย ไฮไลต์ชิ้นสำคัญๆ อย่างเช่น Svayambh เป็นประติมากรรมเชิงอนุสรณ์สถาน ซึ่งตั้งชื่อ เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง การแบ่งตัว โดยจะมี Svayambh ให้เห็นตลอดช่วงแห่งการแสดง นิทรรศการที่อาคารเบอร์ลิงตันเฮาส์ แห่งรอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์

นิทรรศการหลักๆ อีกชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า Shooting into the Corner เป็นผลงานที่ผสมผสานการแสดงเข้าไปด้วย โดยอนิชได้ก่อประติมากรรมประกบกำแพงแกลเลอรี ก่อนที่จะสาธิตการยิงใส่ให้งานศิลปะของเขาถล่มลงมากองกับพื้น

ขณะที่ Tall Tree and the Eye เป็นประติ มากรรมชิ้นใหม่ สดๆ ซิงๆ ของเขา จัดแสดงอยู่ในส่วนแอนเนนเบิร์ก คอร์ตยาร์ด ลักษณะคล้ายผลงานส่วนใหญ่ของประติมากรท่านนี้ คือเป็นวัตถุสะท้อนแสงวนๆ ที่ดูราวไร้จุดสิ้นสุด ดูผิดรูปผิดร่าง และ ยากจะเข้าใจ ราวกับหลุดมาจากนอกโลก

นิทรรศการครั้งนี้เป็นความร่วมมือของรอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ กรุงลอนดอน ลิสสัน แกลเลอรี กรุงลอนดอน แกลดสโตน แกลเลอรี กรุงนิวยอร์ก และอนิช คาปูร์ สตูดิโอ กรุงลอนดอน โดยมี อง เดอ ลัวซี เป็นภัณฑารักษ์ร่วมกับ ดร.เอเดรียน ล็อกก์ ภัณฑารักษ์ประจำรอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์

อนิช คาปูร์ เกิดที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดียเมื่อปี 1954 เขาย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1970 เริ่มจากการศึกษาด้านศิลปะที่ ฮอร์นซีย์ คอลเลจ ออฟ อาร์ต ก่อนที่จะไปต่อที่ เชลซี สกูล ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์

เขาเริ่มมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากการแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่เทต แกลเลอรี และเฮย์เวิร์ด แกลเลอรี ในกรุงลอนดอน คุนส์ทัลเล บาเซล เฮาส์ เดอร์ คุนสต์ มิวนิก ดอยช์ กุกเกนไฮม์ ในกรุง เบอร์ลิน เรนา โซเฟีย ในกรุงมาดริด เอ็มเอเค กรุงเวียนนา และไอซีเอ บอสตัน ฯลฯ

ในปี 1990 เขาได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงงานที่เวนิส เบียนนาเล ครั้งที่ 44 และได้รับรางวัลเพรโม ดูเอมิลา ไพรซ์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับเหรียญเงินบนเวทีกีฬา กระทั่งปีถัดมาอนิชคว้ารางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ จากการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่โดดเด่นน่าจดจำที่สุด ทั้งที่คลาวด์ เกต มิลเลนเนียม ปาร์ก ที่ชิคาโก สกาย มิร์เรอร์ และร็อกกีเฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ที่นิวยอร์ก ก่อนจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น CBE ในปี 2003
อนิช คาปูร์

บ่อยครั้งที่อนิชสร้างสรรค์งานออกมาด้วยรูปทรงง่ายๆ ทั้งอาศัยโทนสีเดียว แบบสว่างสดใส เขามักจะตั้งใจให้ประติมากรรมเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกับผู้ชม โดยเฉพาะการสร้างเงาสะท้อน สร้างความพิศวงจากรูปทรงที่ง่ายๆ นั้น หรือบางครั้งก็เล่นมุขโปรยสีไว้บนพื้นให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมด้วยการเหยียบย่ำ ฯลฯ

อนิช คาปูร์ สร้างสรรค์ประติมากรรมขนาด มหึมาเอาไว้มากมาย ตั้งแต่ Taratantara (1999) ประติมากรรมสูง 35 เมตร ตั้งอยู่ที่เกตส์เฮด ประเทศอังกฤษ Marsyas (2002) ประติมากรรมเหล็กขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ 3,400 ตารางฟุตของทูร์ไบน์ ฮอลล์ แห่งเทต โมเดิร์น แกลเลอรี แล้วก็ยังมี ประติมากรรมหินโค้งที่เคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ อยู่ที่ริมทะเลสาบในโลดินเกน ทางตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์อีกด้วย

จากหลายๆ ครั้งที่เขาได้สร้างความตื่นตาตื่นใจในประติมากรรมบริเวณแลนด์มาร์กสำคัญๆ ของโลก อนิช เคยบอกไว้ว่า เขามักจะนึกถึงเรื่องราวอภินิหารมหัศจรรย์ของโลกที่เล่ากันมาในตำนาน "อย่างเช่น สวนในบาบิโลน หรือหอคอยบาเบล ผมสามารถพูดได้ว่าเป็นเรเฟอเรนซ์ที่ผมใช้ในการอ้างอิงเมื่อจะทำงานสักชิ้น มีแต่ต้องนึกถึงสิ่งไม่ธรรมดาเท่านั้นแหละครับ งานจึงจะออกมาได้อย่างที่ทุกคนเห็น"

แม้จะทำงานมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ดูเหมือนความฮอตของอนิชจะไม่แผ่วเลย ในปี 2012 เขามีผลงานออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนม.ค. Shooting into the Corner ที่เอ็มเอเค กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ตามด้วยนิทรรศการ Blood Relations ที่ฟาบริกา แกลเลอรี เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนเม.ย. และที่รอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ ตั้งแต่เดือน ก.ย. มาจนถึงเดือนธ.ค.

นางสิงห์แห่งศิลป์ โดโรธี เอียนโนนี

ภาพวาดหญิงที่กุมอำนาจเหนือชาย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางศาสนา จิตวิญญาณ หรือ เทพธิดา คือภาพแนวที่ใครๆ ก็คุ้นเคยว่าเป็นสไตล์ของศิลปินอเมริกัน ผู้เรียนรู้ด้านศิลปะด้วยตัวเอง โดโรธี เอียนโนนี ซึ่งคงรูปแบบนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 แล้ว หลายต่อหลายภาพถ่ายทอดผ่านการร่วมรักกับคู่รักที่ลายเส้น มีสไตล์คล้ายๆ กับภาพเขียนของอินเดีย อย่างกามสูตรา รวมทั้งภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่นและภาพโมเสกแบบไบแซนไทน์ ซึ่งบางครั้งก็ถ่ายทอดผ่านภาพวาดตัวแทนของโดโรธีเองกับแฟนหนุ่ม ดีเทอร์ รอธ

เรือนร่างของผู้หญิงที่นำเสนอในชิ้นงานอย่างเด่นชัด โดยไม่ได้ปิดบังว่า เป็นเรือนร่างของศิลปินเอง ซึ่งหมายความว่าเธอควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในเกมที่เธอเล่น

หากผลงานที่เห็นนี้สร้างสรรค์โดยศิลปินหญิงรุ่นใหม่ หลายๆ คนก็คงจะเรียกว่าเป็นยุคโพสต์เฟมินิสม์ ทว่าโดโรธีทำงานทำนองนี้มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 ต่อต้น 1970 อันเป็นช่วงที่กระแสเฟมินิสม์รุ่งเรืองสุดๆ

เธอวาดรูปตัวเองกำลังมีสัมพันธ์ทางเพศมาก่อนที่เจฟฟ์ คูนส์ ประติมากรและศิลปินสื่อผสมชื่อดังจะถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตบนเตียงของตัวเองกับภรรยาสาวอดีตดาวโป๊ เรื่อง La Cicciolina เสียอีก โดยในปี 1967 โดโรธีเขียนพ็อกเกตบุ๊กบรรจุรายชื่อผู้ชายทุกคนที่เธอเคยขึ้นเตียงด้วย -- หนังสือเล่มนี้สร้างกระแสเฟมินิสม์ไปถึงอังกฤษทีเดียว โดยมีศิลปินรุ่นใหม่ อย่าง เทรซี เอ็มมิน เอาตามทางของเธอในหลายๆ ด้าน

ในวัย 75 ขณะนี้ โดโรธี ยังไม่หมดไฟ แถมยังเป็นการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกของเธอ แม้จะอยู่บนเส้นทางศิลปะมาหลายทศวรรษแล้ว Dorothy Iannone: Lioness จัดแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยแห่งใหม่...ที่มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า หอศิลป์อเมริกันในกรุงลอนดอน

แน่นอนหละ หลายๆ คนตั้งคำถามว่า ทำไมจึงใช้เวลานมนานขนาดนั้น ในการมีนิทรรศการเดี่ยวของศิลปินรุ่นคุณป้า นางสิงห์สาวตอบทันควัน... "ก็ผลงานที่ผ่านมาถูกเซ็นเซอร์หมดน่ะสิ ไม่ใช่ว่าฉันไม่อยากแสดงหรอกนะ อยู่ที่คนเลือก คนสกรีน บางทีพวกเขาก็เห็นว่าเป็นศิลปะบ้านๆ หรือไม่ก็ไม่สนใจจะพิจารณาด้วยซ้ำ"

โดโรธี ใช้ชีวิตส่วนใหญ่สร้างสรรค์ศิลปะในกรุงเบอร์ลินมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว โดยมีผลงานประติมากรรม I Was Thinking of You III แสดงในอังกฤษครั้งล่าสุดร่วมกับกลุ่มรอง แกลเลอรี (Wrong Gallery) ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเทต ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2006

สำหรับผลงานล่าสุดอันเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งแรก Dorothy Iannone: Lioness ได้ภัณฑารักษ์มือดีของหอศิลป์นิว มิวเซียม จาร์เรต เกรกอรี มาจัดงานแสดงบริเวณล็อบบี้ ซึ่งมีผลงานตั้งแต่เริ่มแรกงานในยุคทศวรรษ 1960 ของศิลปินหญิงเป็นภาพ วาด 4 ภาพ (แถมการแสดงประติมากรรมไม้ที่หอศิลป์แอนตัน เคิร์น ในย่านเชลซี ในช่วงเดียวกัน) กระทั่งถึงผลงานปัจจุบัน

โดโรธี เอียนโนนี เกิดในบอสตัน สหรัฐอเมริกา กับครอบครัวชาวอิตาเลียนอพยพ เธอศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยบอสตันและมหาวิทยาลัยแบรนเดส ก่อนที่จะเบนเข็มมาสนใจทางด้านศิลปะอย่างลึกล้ำจึงเริ่มศึกษาด้วยตัวเอง

ในปี 1958 โดโรธี สมรสกับจิตรกร และนักลงทุน เจมส์ อัพแฮม ทำให้เลิกเรียนเอาดอกเตอร์ที่สแตนฟอร์ดมาใช้ชีวิตครอบครัวที่นิวยอร์ก เธอและสามีคลุกคลีอยู่กับบรรดาคนในแวดวงศิลปะย่านเท็นธ์ สตรีต และเดินทางอยู่ตลอดเวลา

ระหว่างการเดินทางไปยุโรปและตะวันออกไกล โดโรธี ประทับใจในงานภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่น งานปั้นของกรีก รวมทั้งศิลปะประเพณีของอียิปต์ อินเดีย และโมเสกของไบแซนไทน์ ทั้งหมดทั้งหลายกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการ สร้างสรรค์งานศิลปะในสไตล์ของเธอเอง

ศิลปินเฟมินิสต์วัย 75 เริ่มมีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ภาพประกอบให้หนังสือของนักเขียนชื่อดัง เฮนรี มิลเลอร์ Tropic of Cancer แต่ก็เป็นชื่อเสียงในด้านฉาวพอๆ กับหนังสือเล่มนี้ เรียกว่าถูกแบนทั้งหนังสือทั้งภาพวาด

โดโรธี เดินทางไปไอซ์แลนด์ในปี 1967 นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอได้พบกับสามีคนปัจจุบัน ดีเทอร์ รอธ ซึ่งผลงานนิทรรศการครั้งนี้จะจัดแสดงหนังสือภาพ An Icelandic Saga รวมผลงานที่เกิดขึ้นที่ไอซ์แลนด์ด้วย รวมทั้งเหตุผลที่ทำให้เธอบอกศาลาสามีเก่า และเริ่มชีวิตกับสามีใหม่ในเรคยาวิก