Frida Kahlo y su mundo หรือโลกของฟรีดา คาห์โล จึงกลายเป็น 1 ใน 5 นิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นในเทศกาลเม็กซิกัน Imagenes del mexicano ณ พิพิธภัณฑ์โบซาร์ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยได้นำภาพวาดผลงานศิลปินหญิงเม็กซิกันจำนวน 19 ภาพ นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพพิมพ์ ภาพวาดลายเส้น และภาพถ่ายอีกจำนวนหนึ่งจากพิพิธภัณฑ์โดโลเรส โอลเมโด ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะที่รวบรวมผลงานและข้าวของส่วนตัวของฟรีดาเอาไว้มากที่สุดในโลก
นับตั้งแต่อุบัติเหตุรถรางตอนอายุ 17 ปี นอกจากจะต้องผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่แล้ว ก็นับว่าชีวิตของเธอได้รับการผ่าตัดครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน
ฟรีดา คาห์โล เปรียบดัง วินเซนต์ ฟาน โกะห์ ฝ่ายหญิง เธอถ่ายทอดความคิดความรู้สึกของตัวเองออกมาทางภาพพอร์เทรตที่งดงาม มีพลัง และไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ชีวิตคู่แบบลุ่มๆ ดอนๆ ของเธอ และสามี ศิลปินดัง ดิเอโก ริเวรา การเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ฯลฯ
โดโลเรส โอลเมโด เป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งของฟรีดามาตั้งแต่ที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งคู่เป็นผู้หญิงที่เติบโตมาคนละแบบ โดโลเรสโตมาในแวดล้อมยุคสมัยใหม่ ขณะที่ฟรีดาถูกเลี้ยงดูมาแบบเม็กซิกันดั้งเดิม หลังจากที่ฟรีดาเสียชีวิตลงเมื่อปี 1954 ดิเอโก ริเวรา ได้ติดต่อโดโลเรส ซึ่งแต่งงานกับอเลฆันโดร โกเมซ อารีอัส อดีตแฟนหนุ่มของฟรีดาในวัยเด็ก ที่ได้ดิบได้ดีทางการเมือง เพื่อที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เอาไว้เก็บ ผลงานของศิลปินหญิงเม็กซิกันผู้ยิ่งยง
ในเบื้องแรกโดโลเรสยกบ้านที่อะคาปุลโกให้ดิเอโกได้สร้างอนุสรณ์แด่อดีตภรรยา ต่อมาพวกเขาซื้อบ้านของเอดูอาร์โด มอริลโย ซาฟา เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ทว่า ความฝันของดิเอโกเป็นจริงหลังจากเขาเสียชีวิต (ปี 1957) ไปแล้ว โดยโดโลเรสได้สร้างสถานที่แสดงงานของฟรีดา คาห์โล อย่างถาวรที่เมืองโซชิมิลโก ใกล้ๆ กับเม็กซิโก ซิตี สำเร็จในทศวรรษที่ 1990 โดย โดโลเรสรับหน้าที่บริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยตัวเอง กระทั่งเสียชีวิตในปี 2002
ในเทศกาลเม็กซิโก หรือ Imagenes del mexicano สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ 200 ปีของเม็กซิโก ตั้งแต่สมัยพรี-โคลัมเบียน หรือก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบทวีปอเมริกา มาจนถึงเมื่อครั้งที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน และหลังได้รับอิสรภาพ นำเสนอผ่านภาพถ่ายและจิตรกรรมของช่างภาพและศิลปินชื่อดัง นอกจากผลงานของฟรีดาแล้ว ก็ยังมีผลงานของดิเอโก ริเวรา เอร์เมเนกิลโด บุสตอส ดาวิด อัลฟาโร ซิเกอิรอส ผลงานของช่างภาพหญิง ทีนา โมดอตติ รวมทั้งภาพยนตร์ของ เซอร์เกย์ ไอเซนสไตน์
Mundos Mexicanos เป็นส่วนนิทรรศการที่รวบรวมช่างภาพร่วมสมัย 25 คน โดยสร้างธีมให้ช่างภาพเหล่านี้ไปถ่ายภาพที่แสดงจิตวิญญาณของเม็กซิโก อย่างโรงงานยาสูบสมัยอาณานิคม ซึ่งต่างสะท้อนออกมาในมุมมองของตัวเอง
อีกส่วนหนึ่งเป็นนิทรรศการแสดงเม็กซิโกสมัยใหม่ หรือ Mexican Modernisms โดยมีหลุยส์ บาร์รากาน สถาปนิกชาวเม็กซิกันเป็นเป็นตัวแทนถ่ายทอดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเม็กซิกันแท้ๆ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมหลังสงครามที่เป็นแบบร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการภาพถ่าย The Mole's Horizon โดยหลากหลายช่างภาพคนดังที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมจากมุมต่างๆ ของเม็กซิโกทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการแสดงเวที ทั้งคอนเสิร์ต การอ่านบทกวีประกอบลีลา รวมถึงคอนเทมโพรารีแดนซ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น