วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อนิช คาปูร์ เจ้าของรางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ ปี 1991

เจ้าของรางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ปี 1991 อนิช คาปูร์ ถือว่าเป็นประติมากรผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ได้มากมายนัก

คราวนี้ที่รอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ กรุงลอนดอน เขาเป็นศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่คนแรกที่ได้พาผลงานชิ้นสำคัญๆ มาจัดแสดง ณ หอศิลป์แห่งชาติอังกฤษแห่งนี้

ผลงานชิ้นที่คุ้นเคยจากหนัง Source Code
นอกจากผลงานชิ้นสำคัญๆ ตลอดระยะเวลาการทำงานประติมากรรมของเขาแล้ว ยังได้นำเอา ชิ้นงานที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อนมาโชว์เป็นครั้งแรกด้วย ไฮไลต์ชิ้นสำคัญๆ อย่างเช่น Svayambh เป็นประติมากรรมเชิงอนุสรณ์สถาน ซึ่งตั้งชื่อ เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง การแบ่งตัว โดยจะมี Svayambh ให้เห็นตลอดช่วงแห่งการแสดง นิทรรศการที่อาคารเบอร์ลิงตันเฮาส์ แห่งรอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์

นิทรรศการหลักๆ อีกชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า Shooting into the Corner เป็นผลงานที่ผสมผสานการแสดงเข้าไปด้วย โดยอนิชได้ก่อประติมากรรมประกบกำแพงแกลเลอรี ก่อนที่จะสาธิตการยิงใส่ให้งานศิลปะของเขาถล่มลงมากองกับพื้น

ขณะที่ Tall Tree and the Eye เป็นประติ มากรรมชิ้นใหม่ สดๆ ซิงๆ ของเขา จัดแสดงอยู่ในส่วนแอนเนนเบิร์ก คอร์ตยาร์ด ลักษณะคล้ายผลงานส่วนใหญ่ของประติมากรท่านนี้ คือเป็นวัตถุสะท้อนแสงวนๆ ที่ดูราวไร้จุดสิ้นสุด ดูผิดรูปผิดร่าง และ ยากจะเข้าใจ ราวกับหลุดมาจากนอกโลก

นิทรรศการครั้งนี้เป็นความร่วมมือของรอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ กรุงลอนดอน ลิสสัน แกลเลอรี กรุงลอนดอน แกลดสโตน แกลเลอรี กรุงนิวยอร์ก และอนิช คาปูร์ สตูดิโอ กรุงลอนดอน โดยมี อง เดอ ลัวซี เป็นภัณฑารักษ์ร่วมกับ ดร.เอเดรียน ล็อกก์ ภัณฑารักษ์ประจำรอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์

อนิช คาปูร์ เกิดที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดียเมื่อปี 1954 เขาย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1970 เริ่มจากการศึกษาด้านศิลปะที่ ฮอร์นซีย์ คอลเลจ ออฟ อาร์ต ก่อนที่จะไปต่อที่ เชลซี สกูล ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์

เขาเริ่มมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากการแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่เทต แกลเลอรี และเฮย์เวิร์ด แกลเลอรี ในกรุงลอนดอน คุนส์ทัลเล บาเซล เฮาส์ เดอร์ คุนสต์ มิวนิก ดอยช์ กุกเกนไฮม์ ในกรุง เบอร์ลิน เรนา โซเฟีย ในกรุงมาดริด เอ็มเอเค กรุงเวียนนา และไอซีเอ บอสตัน ฯลฯ

ในปี 1990 เขาได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงงานที่เวนิส เบียนนาเล ครั้งที่ 44 และได้รับรางวัลเพรโม ดูเอมิลา ไพรซ์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับเหรียญเงินบนเวทีกีฬา กระทั่งปีถัดมาอนิชคว้ารางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ จากการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่โดดเด่นน่าจดจำที่สุด ทั้งที่คลาวด์ เกต มิลเลนเนียม ปาร์ก ที่ชิคาโก สกาย มิร์เรอร์ และร็อกกีเฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ที่นิวยอร์ก ก่อนจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น CBE ในปี 2003
อนิช คาปูร์

บ่อยครั้งที่อนิชสร้างสรรค์งานออกมาด้วยรูปทรงง่ายๆ ทั้งอาศัยโทนสีเดียว แบบสว่างสดใส เขามักจะตั้งใจให้ประติมากรรมเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกับผู้ชม โดยเฉพาะการสร้างเงาสะท้อน สร้างความพิศวงจากรูปทรงที่ง่ายๆ นั้น หรือบางครั้งก็เล่นมุขโปรยสีไว้บนพื้นให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมด้วยการเหยียบย่ำ ฯลฯ

อนิช คาปูร์ สร้างสรรค์ประติมากรรมขนาด มหึมาเอาไว้มากมาย ตั้งแต่ Taratantara (1999) ประติมากรรมสูง 35 เมตร ตั้งอยู่ที่เกตส์เฮด ประเทศอังกฤษ Marsyas (2002) ประติมากรรมเหล็กขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ 3,400 ตารางฟุตของทูร์ไบน์ ฮอลล์ แห่งเทต โมเดิร์น แกลเลอรี แล้วก็ยังมี ประติมากรรมหินโค้งที่เคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ อยู่ที่ริมทะเลสาบในโลดินเกน ทางตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์อีกด้วย

จากหลายๆ ครั้งที่เขาได้สร้างความตื่นตาตื่นใจในประติมากรรมบริเวณแลนด์มาร์กสำคัญๆ ของโลก อนิช เคยบอกไว้ว่า เขามักจะนึกถึงเรื่องราวอภินิหารมหัศจรรย์ของโลกที่เล่ากันมาในตำนาน "อย่างเช่น สวนในบาบิโลน หรือหอคอยบาเบล ผมสามารถพูดได้ว่าเป็นเรเฟอเรนซ์ที่ผมใช้ในการอ้างอิงเมื่อจะทำงานสักชิ้น มีแต่ต้องนึกถึงสิ่งไม่ธรรมดาเท่านั้นแหละครับ งานจึงจะออกมาได้อย่างที่ทุกคนเห็น"

แม้จะทำงานมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ดูเหมือนความฮอตของอนิชจะไม่แผ่วเลย ในปี 2012 เขามีผลงานออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนม.ค. Shooting into the Corner ที่เอ็มเอเค กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ตามด้วยนิทรรศการ Blood Relations ที่ฟาบริกา แกลเลอรี เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนเม.ย. และที่รอยัล อะคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ ตั้งแต่เดือน ก.ย. มาจนถึงเดือนธ.ค.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น