วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

จิม นัตต์ กับสารพัดคาแรกเตอร์ (ส)

เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่ เจมส์ ที. นัตต์ หรือที่รู้จักกันในแวดวงศิลปะอเมริกันว่า จิม นัตต์ ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ชาวอเมริกัน สร้างสรรค์งานศิลปะเป็นภาพคาแรกเตอร์ต่างๆ มากมาย

งานศิลปะของจิม มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ศิลปะของอเมริกันชน แม้จะยึดมั่นในแนวทางเซอร์เรียลิสม์ ทว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยที่เขาจะได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากวัฒนธรรมป๊อปของกลางศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือการ์ตูนขายดีของ ดี.ซี. คอมิกส์ ภาพปิดโฆษณา ตู้เพลงจุกซ์บอกซ์ รวมถึงศิลปะตู้เกมพินบอล แล้วก็ป้ายโฆษณาบิลบอร์ด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับมรดกทางความคิดจากยุคสมัยใหม่มากมาย แต่จิมก็ยังยึดมั่นในเทคนิคทางศิลปะแบบโบราณ โดยเฉพาะสไตล์เดิมๆ จากยุโรปเหนือ ทั้งแบบแผนทางด้านเทคนิคและสีสันของจิตรกรจากศตวรรษที่ 15–16 รวมทั้ง ศิลปะอเมริกันยุคเก่าๆ ศิลปินดังที่เป็นที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา อย่างเช่น อองรี มาติสส์ และโฆอัน มิโร

นอกจากนี้ จิมยังศึกษาผลงานของศิลปินผู้มีตัวตนปัจเจกไม่ซ้ำใคร ไม่ว่าจะเป็น จอห์น แกรห์ม มักซ์ แอร์นส์ต อาร์ชิเล กอร์กี้ หรือแม้กระทั่ง ศิลปินภาพพิมพ์และสถาปนิก เอช. ซี. เวสเตอร์แมนน์

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ผลงานของเขาเน้นหนักไปที่คาแรกเตอร์ของผู้หญิง อันเป็นภาพที่จัดแสดงส่วนใหญ่ในนิทรรศการที่มี ลีนน์ วอร์เรน เป็นภัณฑารักษ์ครั้งนี้

ภาพเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งผลงานจากยุคเริ่มแรก จนเข้ามาถึงผลงานในยุค "คาแรกเตอร์ของผู้หญิง" ในนิทรรศการยังจัดทำในส่วนของการวิเคราะห์ผลงานของศิลปินคนดัง ให้เห็นพัฒนาการในผลงานของเขาด้วย โดยเฉพาะโครงสร้างของภาพพอร์เทรตรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า The Imaginary Portraits ของเขา ซึ่งเริ่มสร้างสรรค์ออกมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980

ทุกๆ คนที่ไปชมนิทรรศการ จะได้ร่วมกันศึกษาลายเส้น สีสัน และรายละเอียดต่างๆ กว่าจะมาเป็น Imaginary Portraits แต่ละภาพ รวมทั้งเบื้องหลังเบื้องลึกทางความคิดของแต่ละภาพที่มีคาแรกเตอร์ซึ่งแตกต่างกันไปอย่างมากด้วย
จิม นัตต์

จิม นัตต์ เกิดที่แมสซาชูเซตส์ เมื่อปี ค.ศ. 1938 เขาศึกษาศิลปะที่มหาวิทยาลัยแห่งแคนซัส ก่อนจะมาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย ในเซนต์หลุยส์ ตามด้วยสถาบันศิลปะในชิคาโก

ที่ชิคาโกนี่เอง ที่เขาได้พบกับภรรยา แกลดีส์ นีลส์สัน ซึ่งจิมได้เป็นโต้โผตั้งกลุ่มทางศิลปะ แฮรี ฮู (Hairy Who) ขึ้นมา เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางเซอร์เรียลิสม์ ที่สมาชิกก็มีเขากับภรรยาคู่ชีวิต ดอน โบม ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะไฮด์ปาร์ก ในชิคาโก นอกจากนั้น ก็ยังมีศิลปินร่วมยุคสมัยเดียวกัน อย่าง คอสโม คัมโปลิ จอร์จ โคเฮน โดมีนิก ดิ เมโอ เลออน โกลับ เตโอดอร์ ฮัลคิน จูน ลีฟ ฯลฯ โดยมีศาสตราจารย์วิตนีย์ ฮอลสตีด อาจารย์ที่สถาบันศิลปะชิคาโกเป็นที่ปรึกษา

แม้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ป๊อปอาร์ต" เช่นผลงานของ แอนดี วอร์ฮอล หรือ รอย ลิกเตนสไตน์ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ทั้งรับและส่งอิทธิพลไป-มากับศิลปะป๊อปอาร์ตอย่างแรง

ลีนน์ วอร์เรน ภัณฑารักษ์ ให้ฉายาจิมว่า เป็น "ต้นตระกูล" ของป๊อปอาร์ตอเมริกัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น