การถ่ายภาพเซลฟี่ หรือเดี๋ยวนี้จิตแพทย์เรียกว่าเป็น “โรคเซลฟี่” (Selfie) เมื่อคนที่ถ่ายภาพตัวเองไปโพสต์แล้วหวังให้คนกดไลค์ หรือให้เพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์มาเขียนข้อความแสดงความเห็นกันให้มากๆ นั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ภาพแบบนี้ก็มีปรากฏอยู่แล้ว เพียงมิใช่ผ่านกระบวนการผลิตโดยกล้องหน้า กล้องหลัง ทว่า เป็นเซลฟี่ที่ถ่ายทอดผ่านปลายพู่กัน (ดินสอเครยอง ภาพพิมพ์ หรืองานปั้น) ที่เรียกกันว่า เซลฟ์-พอร์เทรต (Self-portrait)
จิตรกรและประติมากรนั้นวาด (เขียนและปั้น) “เซลฟี่” มาแต่ไหนแต่ไร มีทั้งการนำรูปหน้าตัวเองมาวาดเป็นตัวเด่นในภาพวาดทางศาสนา ทั้งบนเครื่องประดับแทนบูชา หรือวาดประกอบพระคัมภีร์ไบเบิล บ้างก็จัดภาพวาดตัวเองจากที่เห็นในกระจกเงา ส่วนช่วงที่เริ่มรุ่มรวยมากๆ คือในกลางศตวรรษที่ 15 โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินในยุโรปเหนือ ภาพดังอย่าง Portrait of a Man in a Turban (1433) ของแยน ฟาน ไอก์ น่าจะเป็นภาพแรกๆ ที่โลกได้รู้จักคำจำกัดความของภาพเซลฟ์-พอร์เทรต กันเลยทีเดียว
นอกเหนือจากเทคนิคที่ปลายพู่กันของจิตรกรแต่ละราย ภาพเซลฟ์-พอร์เทรต ยังทำหน้าที่แสดงตัวตนของพวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสไตล์ ฝีแปรง มุมมองความคิด หรือองค์ประกอบของภาพ ศิลปินหลายคนอาศัยภาพเซลฟ์-พอร์เทรตนี่แหละ เป็นการฝึกฝนฝีมือให้ก้าวล้ำ เพราะภาพที่วาดให้
ผู้จ้างมักจะมีคำเรียกร้องต่างๆ หากเซลฟ์-พอร์เทรตเป็นสิ่งที่จิตรกรสามารถจัดเต็มในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำหรือทดลอง ส่วนบางคนก็ใส่ภาพหน้าตัวเองเอาไว้ในงานของพวกเขาอย่างแนบเนียน เช่น The Four Philosophers (1611–1612) ของพอล รูเบนส์ หรือ ดิเอโก เบลาซเกซ ก็ใส่หน้าตัวเองไว้ในภาพเขียนอันเอกอุ อย่าง Las Meninas (1656)
จิตรกรหญิงเป็นกลุ่มที่ชอบวาดภาพตัวเองมากเช่นกัน ตั้งแต่ คาเทอรีน่า ฟาน เฮเมสเซ่น เอลิซาเบธ วิเก-เลอบรุน ไปจนถึงฟรีดา คาห์โล อย่างเอลิซาเบธนั้น เธอวาดเซลฟ์-พอร์เทรตมากถึงเกือบ 40 ภาพ ขณะที่ฟรีดาไม่วาดรูปอื่นใดนอกจากรูปของเธอ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องเพราะต้องการที่จะเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ในอดีตนั้น จิตรกรสตรีไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับสักเท่าไร หลายคนแอบเรียนวาดภาพ โดยพวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้วาดภาพนู้ดจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ทำให้ไม่ได้ฝึกฝนการวาดภาพหุ่นนิ่งที่มีองค์ประกอบภาพขนาดเท่าคนจริงมาก่อน การวาดภาพตัวเองถือเป็นฝึกฝนฝีมือได้ดีอย่างหนึ่ง
ภาพเซลฟ์-พอร์เทรตที่ถือได้ว่าเป็นการวาดภาพแบบ “โปรไฟล์” เห็นจะต้องยกให้อัลเบรชท์ ดูเรอร์ จิตรกรชาวเยอรมันผู้นี้เรียกว่ามาแรงแซงโค้ง ในด้านการวาดภาพเหมือนตัวเองมากกว่าจิตรกรคนก่อนๆ โดยเขามีภาพเซลฟ์-พอร์เทรตถึง 22 ภาพ อย่างเช่น Carnation (1493) The Madrid self-portrait (1498) และพอร์เทรตภาพสุดท้ายในชีวิต ปี 1500 ที่เขาวาดให้ตัวเองดูเหมือนพระเยซู ขณะที่ เรมบรานดท์ ฟาน ไรน์ จิตรกรชาวดัตช์ชื่อดัง ก็ใช้ภาพเซลฟ์-พอร์เทรตจำนวนมาก ทดลอง ฝึกฝน อะไรใหม่ๆ มาตั้งแต่เป็นจิตรกรรุ่นเยาว์
ไม่พูดถึงวินเซนต์ ฟาน โกห์ ก็คงไม่ได้ เพราะเขามีภาพเหมือนตัวเองจำนวนมากมายไม่แพ้ใครอื่น นับจากปี 1886-1889 เขาวาดรูปตัวเองมากถึง 37 ชิ้น ด้าน เอกอน ชีเล จิตรกรชาวออสเตรีย นอกจากชอบวาดภาพนู้ดหญิงสาวแล้ว ยังชอบวาดภาพนู้ดตัวเองอีกต่างหาก
เซลฟี่จากปลายพู่กันจิตรกร อาจเป็นได้ทั้งการมุ่งหวังจะโปรโมทตัวเอง โดยนักวิจารณ์ศิลปะและนักจิตวิเคราะห์ จัด แยน ฟาน ไอก์ อัลเบรชท์ ดูเรอร์ กับปาโบล ปิกัสโซไว้ในหมวดหมู่นี้ ที่อาศัยภาพเหมือนตัวเองเป็นพื้นที่โฆษณาความสามารถว่าทำอะไรได้บ้าง
ขณะที่ศิลปินบางส่วนก็ต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่อยู่ภายในใจ ดังเช่น ฟรีดา คาห์โล ที่นอกจากใส่หน้าตาของตัวเองไว้ในรูปทุกรูปแล้ว ยังบ่งบอกเรื่องราวความเจ็บปวดทางกายและใจเอาไว้ในทุกๆ รูป นักวิเคราะห์ภาพเขียน ยังจัดกรุ๊ปให้วินเซนต์ ฟาน โกห์ กับเอกอน ชีเล อยู่ในพวกมีปัญหาทางจิต โดยดูจากภาพเขียนหลายๆ ภาพ โดยเฉพาะรายหลังนี้ที่มีภาพวาดขณะช่วยตัวเองคงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น