วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความงามอย่างจิตรกรรมไทย


งามอย่างไทย มักเป็นคำที่ใช้บรรยายคุณลักษณะของหญิงสาวที่มีทีท่าอ่อนช้อย งดงาม ตามแบบเบญจกัลยาณี ความงามในลักษณะอื่นๆ ของไทยนั้นก็คงไม่น่าจะห่างไกลกันสักเท่าไร โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องสื่อสาร ออกมาถึงเรื่องราวของ “ความงาม” เป็นหลัก เช่น ศิลปะจิตรกรรมไทย

ความหมายของศิลปะไทย

ศิลปะไทยนั้น หมายถึง รูปแบบของศิลปะชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะเป็นของตัวเอง เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นศิลปะของไทย ซึ่งบางครั้ง เราก็เรียกว่าเป็น เอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะเป็น ลวดลายกระหนก หรือ เรื่องราวเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา

ศิลปะ “จิตรกรรม” ไทย

จิตรกรรมไทย คือ ศิลปะแขนงหนึ่งในศิลปะไทย โดยเป็นแขนงที่เกี่ยวกับการวาด การเขียนในแบบไทย งานจิตรกรรมของไทยมีรากเหง้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ย้อนกลับไปถึงสมัยหินที่ยังเป็นลวดลายเขียนสีนู่นเลย โดยในยุคแรกๆ ลวดลายแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ลายเรขาคณิต และลายก้านขด โดยใช้สีดำกับสีแดงในการวาด นอกจากนี้ ยังมีแผ่นอิฐเขียนสี ในลวดลายลักษณะเดียวกัน แต่อาศัยสีแดงกับสีขาวในการเขียน

ถัดมาในสมัยศรีวิชัย (พ.ศ.13-14) จิตรกรรมย้ายเข้ามาอยู่บนผนังถ้ำ โดยพบภาพเขียนสีเป็นภาพพระพุทธรูปปางมารวิชัยเขียนแค่อก ด้านซ้ายของพระพุทธรูปเป็นนางเงือก บ้างก็มีรูปอุบาสก อุบาสิกา อยู่ที่เบื้องซ้ายและเบื้องขวา รูปชาวบ้านในภาพจิตรกรรมไทยสมัยนั้น มีลักษณะเหมือนภาพหนังตะลุง คือเป็นภาพด้านข้างท่าทางตลกๆ นอกจากนั้น ยังมีรูปวาดเทพธิดา มีเครื่องประดับเศียร เอี้ยวกายในลักษณะอ่อนช้อย

ครั้นย่างเข้าสมัยสุโขทัย (พ.ศ.19-20) จิตรกรรมไทยเริ่มย้ายเข้ามาอยู่ตามผนังวัด เป็นภาพเขียนสีฝุ่นผสมกาวแบบเอกรงค์ โดยใช้สีแดงและสีดำที่ฝาผนังเจดีย์ สีที่ใช้ส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น ดิน ยางไม้ อย่างสีดินแดง สีดินเหลือง และดินดำ ลักษณะภาพเป็นเส้นและสี ระบายพื้นสีแดง ตัดเส้นด้วยสีดำ ผิวเนื้อขาว ลวดลายมีสีเหลืองบ้างเล็กน้อย

ส่วนสมัยอยุธยา (พ.ศ.20-23) นับว่าเป็นสมัยที่เจริญรุ่งเรืองมากสมัยหนึ่ง ทำให้งานศิลปะมีความเจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย จุดเด่นของจิตรกรรมไทยสมัยอยุธยา คือการเริ่มต้นของการเป็นจิตรกรรมบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ เริ่มมีสีสันหลากหลาย และเริ่มมีการใช้ “ทอง” ปิดลงบนรูปและลวดลาย และเริ่มมีอิทธิพลของภาพเขียนจีนเข้ามาปะปนอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทว่า เป็นการเขียนภาพฝาผนังที่เต็มรูปแบบทางศิลปะมากยิ่งขึ้น คือ แม้จะยังเป็นภาพในเชิง 2 มิติ ตามเอกลักษณ์ไทย รวมทั้ง เอกลักษณ์ของอิทธิพลภาพเขียนจีน ก็ยังมีการเขียนภาพให้มีมิติลดหลั่น ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยในภาพประกอบด้วยพระพุทธรูป ภาพคน สัตว์ ลวดลายไทย ดอกไม้ ส่วนสมุดภาพไตรภูมิพระร่วงนั้น เขียนภาพเรื่องราวไตรภูมิและ เรื่องชาดก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทศชาติครบทั้ง 13 กัณฑ์ โดยเป็นภาพที่ใช้หลากหลายสีในการระบาย

ล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.24-25) ภาพจิตรกรรมไทยยังคงคล้ายๆ กับสมัยอยุธยาตอนปลาย ทว่า หลังจากรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อมีการติดต่อกับต่างประเทศ จึงเริ่มมีอิทธิพลของต่างชาติเข้ามาปะปนอยู่ในจิตรกรรมไทย

ลักษณะร่วมของจิตรกรรมไทย

จิตรกรรมไทย หรือภาพไทย โดยทั่วไปจะมีลักษณะที่เป็นพิเศษของไทยโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดองค์ประกอบ สีสัน และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาพแต่ละภาพ ที่สำคัญคือจะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ประเพณี และการแต่งกายในยุคสมัยต่างๆ หรือไม่ก็เป็นเรื่องราวในพุทธชาดก รวมทั้งเรื่องราวที่บ่งบอกถึงลักษณะพิเศษของท้องถิ่น

จิตรกรรมไทยมีลักษณะร่วม คือ...


ภาพเขียน 2 มิติ


จิตรกรรมไทยเน้นให้ความสำคัญเรื่องเส้นและสี โดยที่ไม่ได้คำนึงถึง แสงเงา และระยะไกลใกล้ ภาพไทยจึงมักจะดูเป็นลักษณะ 2 มิติ หรือ เป็นภาพแบนๆ ไปตลอดทั้งภาพ

แสดงความรู้สึกด้วยเส้นและท่าทาง

สืบเนื่องมาจากการที่ภาพไทยเป็นภาพ 2 มิติ เป็นสีแบนๆ แล้วตัดเส้นนี่เอง ทำให้แสงและเงาไม่มีส่วนในการก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ หรือประทับใจแต่อย่างใด ทว่า ความรู้สึกของคนในภาพ ไม่ว่าจะเป็นความดีใจ เสียใจ โกรธ หรือกลัว ล้วนต้องแสดงออกด้วยเส้น แววตา และท่าทาง คล้ายๆ กับมหรสพไทยบางอย่าง เช่น ลิเก ที่ต้องมี ท่าทางบางอย่างในการแสดงอารมณ์ของ ตัวละครที่นอกเหนือจากการแสดงสีหน้า

แสดงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยสีและเครื่องแต่งกาย

ในภาพจิตรกรรมไทย มีลวดลายพื้นฐานอยู่เพียง 4 อย่างคือ กระหนก นารี กระบี่ และคช ฉะนั้น ภาพมนุษย์ เทวดา หรือยักษ์ มักจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน ในภาพเขียนไทยจึงอาศัยสีและเครื่องแต่งกายในการจำแนกความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยสี เช่น พระรามกายสีเขียว พระลักษณ์กายสีเหลือง หนุมานกายสีขาว และบางทีก็แสดงความแตกต่างเหล่านี้ด้วยเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และอาวุธ

ไม่คำนึงถึงส่วนสัดที่ต้องตรงกับ ความเป็นจริง

โดยเฉพาะส่วนที่ต้องการให้เป็นจุดเด่นของภาพนั้น มักจะวาดออกมาให้โดดเด่นเห็นชัดไปเลย โดยอาจจะลดส่วนประกอบอื่นๆ ลง และไม่คำนึงถึงสัดส่วนที่แท้จริงระหว่างคนกับสิ่งอื่นๆ ในภาพ แต่จะเน้นไปที่เรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสารออกมามากกว่าว่า ใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ความเป็นจริงไม่มีความสำคัญในภาพมากเท่ากับความสัมพันธ์ของเรื่องราวส่วนต่างๆ ที่จะพูดถึงในภาพ

เป็นภาพเขียนแบบเล่าเรื่อง

จิตรกรรมฝาผนัง และจิตรกรรมในช่วงแรกๆ ที่เป็นภาพไทยแนวคลาสสิกนั้น มักจะเป็นการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก รามเกียรติ์ วรรณคดี ฯลฯ โดยในภาพจะมีภาพธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา น้ำ เป็นเครื่องเชื่อมความสัมพันธ์กัน ให้ผู้ดูเข้าใจเรื่องราวได้เป็นตอนๆ

ทัศนียภาพแบบ “วิวตานก”

ศัพท์เทคนิคเรียกว่า Bird Eye View คนดูจะเห็นภาพแต่ละช่วง แต่ละตอนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน พระราชวัง ศาลา น้ำ ป่าเขา บุคคลที่ทำกิจกรรมต่างๆ ไปตามเรื่องราว ไม่ว่าคนจะอยู่ไกลหรือใกล้จะมีสัดส่วนเท่ากันหมด ลักษณะการเขียนภาพอย่างนี้คล้ายกับเวลาเรามองจากที่สูงลงมา ทำให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า ทัศนียภาพแบบ “วิวตานก” หรือ Bird Eye View นั่นเอง

แสดงออกถึงจินตนาการ

ด้วยความที่ภาพเขียนไทยแบบคลาสสิก รวมทั้งภาพไทยร่วมสมัยก็ตาม มักจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องของชาดก พุทธประวัติ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดี และประวัติศาสตร์ ภาพเขียนจึงมักเป็นการถ่ายทอดเรื่องราว เชิงนามธรรม และสอดแทรกจินตนาการของศิลปิน เช่น การเขียนภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพนรก สวรรค์ และส่วนประกอบอื่นๆ

lเป็นภาพเขียนที่ไม่แสดงเวลา

ภาพเขียนไทยมักจะไม่แสดงเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น จิตรกรสามารถใช้สีได้ อย่างมีอิสระตามความคิดสร้างสรรค์ เฉพาะตน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมการเขียนภาพทางตะวันตก ซึ่งมักจะเน้นอารมณ์ความเหมือนจริง ทำให้ต้องมีการระบายสี แสง เงา ที่แสดงเวลาได้ชัดเจน

ความงามในจิตรกรรมไทย

จิตรกรรมไทย จัดอยู่ในหมวดหมู่ของศิลปะโลกตะวันออก ซึ่งมีพื้นฐานที่มา แตกต่างจากโลกตะวันตก และแม้แต่ชาติในเอเชียเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย อินโดนีเชีย ซึ่งล้วนมีลักษณะเฉพาะในการแสดงออกทางศิลปะเฉพาะตนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสืบสานวัฒนธรรม แบบประเพณี การสืบสาน และการพัฒนา

จากลักษณะความงามของจิตรกรรมไทยแบบประเพณีนิยม เริ่มมาจากภาพเขียนสี ภาพเขียนผนังแบบ 2-3 สี มาเป็นภาพเขียนหลายสี และ ภาพเขียนสีแบบที่เป็นจิตรกรรมเต็มรูปแบบ สำหรับภาพเขียนไทยแนว ร่วมสมัย ได้อาศัยเทคนิคอันทันสมัยของสีสมัยใหม่ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สีอะครีลิก สีฝุ่น สีน้ำมัน เข้ามาผนวกกับลวดลายแบบไทย

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาพเขียนไทยแบบประเพณีนิยม ก็คือภายในภาพจะไม่เน้นการเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างในอดีตมากนัก รวมทั้งลักษณะภาพแบบ “วิวตานก” หรือลักษณะร่วมอื่นๆ อย่างการวาดเรื่องพุทธประวัติ ชาดก ฯลฯ อาจจะไม่หลงเหลือในภาพเขียนไทยร่วมสมัยมากนัก ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ ช่วง มูลพินิจ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หรือ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ล้วนไม่ได้พูดถึงเรื่องราวของพุทธประวัติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือเป็นบทเป็นตอน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำลวดลายความอ่อนช้อย งดงามอย่างไทยมาใช้ในชิ้นงานที่สร้างสรรค์ออกมาจากจินตนาการ ทว่า การสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องศาสนายังคงมีอยู่ แต่เป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ การวาดรูปนารี หรือรูปพระ-นาง ก็ต่างมีหน้าตาเปลี่ยนไป เป็นรูปแบบที่มีเอกลักษณะเฉพาะของจิตรกรแต่ละท่าน

คุณค่าในจิตรกรรมไทย

ความงามหรือสุนทรีย์ทางด้านคุณค่าของศิลปะจิตรกรรมไทย มีอยู่ มากมายด้วยกัน

คุณค่าทางความเชื่อ - เรื่องการทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว ภาพนรก สวรรค์ ในจิตรกรรมไทยแบบประเพณี รวมทั้งจิตรกรรมไทยร่วมสมัยบางส่วน จะมีเนื้อหาที่ตอบสนองด้านความเชื่อดังกล่าว

คุณค่าทางความงาม - จิตรกรรมไทยเน้นความงามเรื่องการใช้เส้น สี รูปร่าง รูปทรง และลวดลายที่อ่อนช้อย

คุณค่าทางประโยชน์ใช้สอย - จิตรกรรมไทยในอดีตเคยใช้สำหรับการตกแต่งสถาปัตยกรรม เช่น การเขียนภาพฝาผนัง บานประตู หน้าต่าง ล่วงมาถึงปัจจุบัน จิตรกรรมไทยได้รับการวาดออกมาเป็นรูปแบบเดียวกับภาพเขียนของทางตะวันตก คือเป็นรูปภาพในเฟรมขนาดต่างๆ ซึ่งก็ยัง มีประโยชน์ในการตกแต่งสถานที่เช่นเคย

คุณค่าทางความรู้สึก - ศิลปะจิตรกรรมไทยทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี บางคนมองภาพไทยแล้วรู้สึกดื่มด่ำ ภาพไทยร่วมสมัยบางภาพนั้นช่วยให้รู้สึกสงบ เลื่อมใสศรัทธา และมีจิตใจที่อ่อนโยน

2 ความคิดเห็น: