วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ภาพถ่ายพอร์ตเทรต ของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน

ฟิลิปป์ อัลส์มัน คือ ช่างภาพ อเมริกันเชื้อสายลัตเวียน ภาพถ่ายชื่อดังที่สุดของเขา ก็คือ ภาพแนวเหนือจริง ชื่อ Dali Atomicus ซึ่งเป็นภาพที่ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ อย่าง ซัลวาดอร์ ดาลี กำลังกระโดด ร่วมกับแมวที่โผ ลงจากอากาศ กับกระป๋องน้ำที่ถูกโยนขึ้น อีกภาพหนึ่งที่ดัง ไม่แพ้กันก็คือ ภาพถ่ายหน้าตรงที่มากด้วยอารมณ์ความรู้สึกของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ โดยเบื้องหลังภาพนี้ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะกำลังพร่ำบ่นด้วยความเศร้าโศกเสียใจกับการค้นพบ ทางวิทยาศาสตร์ของตัวเอง ที่นำไปสู่การสร้างระเบิดปรมาณู ภายหลังภาพนี้นำมาใช้พิมพ์ลงแสตมป์ของสหรัฐในปี 1966

ระหว่างทศวรรษที่ 1940 ไปจนถึงทศวรรษที่ 1970 ภาพถ่ายพอร์ตเทรตรูปคนดังจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักแสดง นักคิด นักการเมือง ไฮโซ ไปจนถึงราชวงศ์ ฝีมือของ ฟิลิปป์ ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นปกหนังสือพิมพ์และนิตยสารชื่อดังของทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป อย่างเช่น นิตยสาร ลุค เอสไควร์ หนังสือพิมพ์ แซทเทอร์เดย์ อีฟนิ่ง โพสต์ แทบลอยด์ดัง อย่าง ปารีส์ มัตช์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิตยสาร ไลฟ์ นอกจากนั้น เขายังมีผลงานถ่ายภาพโฆษณาให้กับบริษัทใหญ่ๆ อย่าง เครื่องสำอางเอลิซาเบธ อาร์เดน เอ็นบีซี ไซมอน แอนด์ ชูสเตอร์ และฟอร์ด มอเตอร์

ในปี 1958 จากผลสำรวจฉบับหนึ่ง จัด ฟิลิปป์ อัลส์มัน ติดอันดับท็อปเทนช่างภาพที่ดีที่สุดของโลก พร้อมๆ กับช่างภาพคนดังๆ อย่าง เออร์วิง เพ็นน์ ริชาร์ด อเวดอน และแอนเซล อดัมส์ ฯลฯ

ชีวิตส่วนตัว

ฟิลิปป์ อัลส์มัน เกิดที่เมืองริกา ในประเทศลัตเวีย เขาศึกษาทางด้านวิศวกรรมที่เมืองเดรสเดน ในเยอรมนี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเขาได้เปิดสตูดิโอถ่ายภาพขึ้นในปี 1932

สไตล์ที่โดดเด่นในภาพถ่ายของเขาชนะใจผู้คนมากมายใน ไม่ช้า จึงไม่แปลกที่เขาจะได้งานถ่ายภาพคนเด่นคนดังขึ้นปกหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก และนิตยสารต่างๆ เป็นประจำ

หลังจากถ่ายภาพบุคคลหรือภาพพอร์ตเทรตจำนวนมากแล้ว ฟิลิปป์ ยังเริ่มจับงานถ่ายแฟชั่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฟชั่นหมวก รวมทั้งการรับจ้างถ่ายภาพส่วนตัวของลูกค้าไฮโซในเชิงแฟชั่น เพียง 4 ปีเท่านั้น เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นตากล้องภาพบุคคล ที่ดีที่สุดในฝรั่งเศส

ชีวิตมิใช่เรื่องง่ายๆ ช่างภาพอัจฉริยะอย่าง ฟิลิปป์ ก็เช่น คนธรรมดาที่มิใช่ข้อยกเว้น เมื่อกองทัพของนาซีเยอรมันบุกเข้ามายึดกรุงปารีส เป้าหมายของช่างภาพชื่อดังผู้นับถือศาสนายิวอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทว่า อเมริกาออกวีซ่าให้เพียงภรรยา ลูกสาว น้องสาว และน้องเขยของเขาที่ถือพาสปอร์ตฝรั่งเศส เท่านั้น ในขณะที่ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ผู้ถือพาสปอร์สลัตเวียหมดสิทธิ เขาจึงต้องหนีตายจากทหารนาซีมารออยู่ที่เมืองท่าอย่าง มาร์กเซยส์ ร่วมกับชาวยุโรปเชื้อสายยิวคนอื่นๆ ที่ถูกบีบ ให้ต้องออกจากยุโรป

ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเคยรู้จักกับน้องสาวของฟิลิปป์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 ช่างภาพชื่อดังจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศอเมริกาได้ เขาเดินทางมาถึงกรุงนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1940 โดยทั้งเนื้อทั้งตัวมีเพียงอุปกรณ์ถ่ายภาพเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น

ชีวิตใหม่ที่สดใส

จุดเปลี่ยนในชีวิตนอกจากจะเป็นการต้องเดินทางมาอเมริกาอย่างไม่ทันตั้งตัวแล้ว ยังต้องพูดถึงการที่ ฟิลิปป์ ได้พบกับ คอนนี ฟอร์ด นางแบบรุ่นใหม่ ไฟแรง และมีแนวคิดที่ไม่ เหมือนใคร เธอยอมให้เขาถ่ายรูปฟรี เพื่อแลกกับพอร์ตโฟลิโอส่วนตัวที่แปลกแหวกแนว

หลังจาก เอลิซาเบธ อาร์เดน เจ้าของเครื่องสำอางชื่อดัง ได้เห็นภาพถ่ายชุดนี้ ในพอร์ตโฟลิโอของ คอนนี ฟอร์ด โดยเฉพาะภาพที่เธอถ่ายคู่กับธงชาติอเมริกัน ทำให้ค่าย เครื่องสำอางชื่อดังแบรนด์อเมริกันได้ไอเดียใหม่ ออกแคมเปญลิปสติก วิคตอรี เร้ด ทำนองว่า ทาเพื่อชาติ อะไรประมาณนั้น (สีแดงสดเป็นที่นิยมมากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) และแน่นอนว่า ฟิลิปป์ และคอนนี กลายเป็นคู่ขวัญในการถ่ายภาพโฆษณาชุดดังกล่าว

ในปี 1942 นิตยสารชื่อดังของอเมริกาในขณะนั้น อย่าง ไลฟ์ จ้าง ฟิลิปป์ อัลส์มัน ถ่ายภาพแฟชั่นหมวกใหม่ล่าสุด เขาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพโคลสอัพนางแบบยิ้มกว้าง ภายใต้หมวกดีไซน์ล่าสุดซึ่งประดับด้วยขนนก ไลฟ์ ฉบับดังกล่าว ขายดิบขายดีจนกระทั่งนิตยสารดังฉบับนี้จ้างฟิลิปป์เป็นการถาวร โดยเขาได้ถ่ายภาพปกนิตยสารไลฟ์เล่มถัดๆ มาอีกกว่าร้อยฉบับ ก่อนที่นิตยสารจะเลิกออกเป็นรายสัปดาห์ในปี 1972

บุกเบิกมุมมองใหม่ในสายตาอเมริกันชน

ครั้งแรกที่ ฟิลิปป์ อัลส์มัน เริ่มทำงานให้นิตยสารไลฟ์นั้น หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกมาสู่ท้องตลาดได้เพียง 6 ปีเท่านั้น และการถ่ายภาพสไตล์ โฟโต้เจอร์นัลลิสม์ ก็ยังเป็นสิ่งใหม่มากที่อเมริกา

ก่อนหน้าที่จะมีนิตยสารไลฟ์ อเมริกันชนรู้เรื่องราวต่างๆ ของโลก จากหนังสือพิมพ์ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือรายงานข่าว ที่เหลือก็จากสื่อวิทยุ ทว่า การเกิดของนิตยสารเชิงข่าวสร้างมุมมองใหม่ให้พวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพถ่ายที่เข้ามาบอกเล่า ถ้อยคำนับพันที่ยากจะบรรยายเป็นความสละสลวยแห่งตัวอักษรได้ครบถ้วน

นอกจากนิตยสารไลฟ์จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง รวมไปถึงความเป็นไปต่างๆ ของโลกแล้ว ยังถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ต่างๆ ภาพแห่งความประทับใจ ภาพที่ยากจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ยังมีเรื่องราวของโลกบันเทิง ดารานักแสดง ศิลปินหลากหลาย ซึ่งคนที่ร่วมสมัยกล่าวว่า ไลฟ์ พูดถึง “โลก” ได้อย่างเหลือเกิน (so much of the world) อันเป็นสิ่งที่คนอเมริกันไม่เคยสัมผัสมาก่อน เมื่อมาพูดตอนนี้ คนในยุคเราอาจจะไม่เข้าใจ เนื่องเพราะปัจจุบันมีสื่อ มากมายที่ออกมาในทำนองคล้ายกัน เช่น นิตยสารไทม์ และนิวส์วีค และโฟโต้เจอร์นัลลิสม์ ก็กลายเป็นศาสตร์ที่คนจำนวนมากคุ้นเคยกันดี ต่างจากในสมัยแรกเริ่มของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คน ในแต่ละภาพที่เขาถ่ายขึ้นปกนิตยสาร ไลฟ์

อย่างไรก็ตาม หลายๆ ภาพก็ยังคงสร้างความประทับใจ มากระทั่งถึงทุกวันนี้

โฟโต้เจอร์นัลลิสม์และเซอร์เรียลลิสม์

สิ่งที่โดดเด่นในผลงานภาพถ่ายบุคคลของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน นอกจากความเป็น โฟโต้เจอร์นัลลิสม์ แล้ว งานจำนวนมาก ของเขายังมีวิธีคิดแบบ เซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งมิใช่เรื่องใหม่สำหรับช่างภาพชื่อดัง หลังจากได้พบกับ ซัลวาดอร์ ดาลี แต่อย่างใด

ย้อนไปเมื่อครั้งยังทำสตูดิโอถ่ายภาพอยู่ในกรุงปารีส เขา ได้ศึกษาภาพเขียนและภาพถ่ายของศิลปินชื่อดังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพของศิลปินในแนว เซอร์เรียลลิสม์ ซึ่ง ตัวเขาเองก็เชื่อและยึดวิถีแห่งแนวทางดังกล่าวด้วย เนื่องเพราะเขาต้องการจะสร้างความแปลกใหม่ และสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมผลงาน บางครั้งเทคนิคเซอร์เรียลลิสม์ที่เขานำมาใช้ในงานถ่ายภาพพอร์ตเทรตก็เพื่อจะทำให้ภาพถ่ายบุคคลธรรมดา รวมทั้งภาพถ่ายแฟชั่น กลายเป็นภาพที่เต็มไปด้วยอารมณ์แบบสุดโต่ง และได้ผลงานภาพถ่ายที่ดูเหมือนจะยิ่งเน้นบุคลิกภาพของนาง/นายแบบให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

ผลงานชิ้นหนึ่งที่เขาทดลองถ่ายด้วยวิธีการนี้ คือ ภาพของนักแสดงตลกคนหนึ่งจากค่ายเอ็นบีซี ที่เขาถ่ายกับฉากขาว เปล่าเปลือย ศิลปินตลกยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีสิ่งอื่นใดประดับเพิ่มเข้าไป ทว่า ความเรียบง่ายครั้งนั้น กลับสามารถ ดึงบุคลิกตลกๆ ของนักแสดงผู้นั้นออกมาอย่างโดดเด่น

อีกหลายคราวที่เขาใช้วิธีการของเซอร์เรียลลิสม์ค้นหาความเซ็กซี่จากภายใน คือ ภาพถ่ายของ มาริลีน มอนโร และบริจิตต์ บาร์โดต์ เซ็กซ์สตาร์ของอเมริกาและฝรั่งเศส ภาพทั้ง 2 ชุด แสดงออกทั้งความสง่างามอันโดดเด่น ความเซ็กซี่อันล้นเหลือ รวมทั้งพลังอำนาจจากภายในของเธอทั้งคู่

ไม่น่าแปลกเลย ที่เขาจะเป็นเพื่อนสนิทกับ ซัลวาดอร์ ดาลี และมีภาพถ่ายที่สร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ท่านนี้หลายภาพด้วยกัน นับจากการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ตั้งแต่ปี 1941 เป็นต้นมา โดยเฉพาะภาพ Dali Atomicus ที่กล่าวถึงไปแล้ว

ความเคลื่อนไหวในความนิ่ง

ตั้งแต่ปี 1950 สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี ได้จ้างให้ ฟิลิปป์ ถ่ายภาพนักแสดงตลกในสังกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มิลตัน เบอร์ลี เอ็ด วินน์ ซิด ซีซาร์ กรูโช มาร์กซ์ บ็อบ โฮป เร้ด สเกลตัน และอื่นๆ อีกมากมาย ต่างเดินทางมายังสตูดิโอ ถ่ายภาพของฟิลิปป์ ด้วยทีท่าหลากหลาย จากบทบาทโดดเด่นทางการแสดงของพวกเขา

ด้วยความสามารถพิเศษในตัวของศิลปินตลก ประกอบกับวิธีการถ่ายภาพแนวจิตวิทยาของ ฟิลิปป์ ทำให้เกิดชิ้นงานที่หลากหลาย แม้กระทั่งการถ่ายศิลปินเพียงคนเดียว ก็อาจจะทำให้เกิดผลงานจำนวนมากที่แตกต่างกัน โดยนักแสดงตลกส่วนใหญ่ มักจะชอบเคลื่อนไหวไปมาไม่หยุดนิ่ง โดยมักจะชอบกระโดดขณะถ่ายภาพ ทำให้ผลงานของฟิลิปป์ส่วนหนึ่งเต็มไปด้วยภาพคนกระโดด เช่นเดียวกับภาพซัลวาดอร์ ดาลี ที่เลื่องชื่อของเขา

เมื่อ ฟอร์ด มอเตอร์ มาจ้างให้เขาถ่ายภาพผู้บริหารในโอกาสครบรอบ 50 ปีของบริษัท ฟิลิปป์จึงลองให้ทั้งครอบครัวของเฮนรี่ ฟอร์ด กระโดดเพื่อถ่ายภาพพร้อมกัน โดยทั้งหมดเห็นด้วยกับไอเดียนี้ ทว่า เอ็ดเซล ฟอร์ด ภรรยาของ เฮนรี่ สงสัยเพียงว่า จะให้เธอกระโดดทั้งๆ ที่ใส่รองเท้าส้นสูงนี่เลย หรือ? หลังจากทดลองซ้อมโดดแล้ว ในที่สุด ก็ออกมาเป็น ภาพถ่ายที่น่าประทับใจ

หลังจากนั้น ฟิลิปป์ อัลส์มัน ยังขอให้ลูกค้าของเขาจำนวนมาก “กระโดด” ขณะถ่ายภาพ หลายคนปฏิเสธ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เห็นว่า ไม่เห็นจะเสียหายอะไร อย่าง ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ก็กระโดดให้เขาถ่ายภาพในทำเนียบขาว ขณะที่ อดีตกษัตริย์อังกฤษ อย่าง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ 8 ก็ทรงกระโดด ถ่ายภาพพร้อมกับคนรักชาวอเมริกันของพระองค์

เหตุที่ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ประทับใจภาพกระโดดเป็นพิเศษ จนกระทั่งนำมาเป็น “มุก” ในภาพถ่ายของเขาหลายๆ ครั้ง ก็เพราะเขาเห็นว่า คนจะแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาเมื่อยามที่เขากระโดด

ภาพถ่ายบุคคลเชิงจิตวิทยา

การเป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน มิใช่ได้มาด้วยการตั้งกล้องและกดชัตเตอร์เท่านั้น หากทว่า ในการ ถ่ายภาพพอร์ตเทรตของเขานั้น เต็มไปด้วยการตีความเข้าไปถึงความรู้สึกนึกคิดภายใจจิตใจของผู้เป็นแบบ รวมทั้ง การดึงเอาตัวตน และบุคลิกภาพที่แสดงความเป็นตัวของคนคนนั้นอย่างเปี่ยมล้น ถ่ายทอดลงในภาพถ่าย

ในปี 1952 ภาพของ มาริลีน มอนโร ที่ได้ตีพิมพ์ลงปกนิตยสารไลฟ์ สร้างชื่อเสียงมากมายให้ ฟิลิปป์ อีกครั้งหนึ่ง เขามอง มาริลีน ออกอย่างทะลุปรุโปร่ง กระทั่งสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายของเซ็กซี่สตาร์ ผู้กำลังถูกต้อนให้อยู่ใน มุมอับ ไม่อาจจะหนีออกไปจากสิ่งที่ผู้คนยกยอปอปั้น ผลักดันให้เธอมายืน ณ ตรงนี้ได้พ้น ภาพที่เธอยิ้ม ยั่วยวน และ หยอกล้อกับกล้อง ระหว่างกำแพง 2 ด้าน ด้านขาวและด้านดำนั้น ลึกๆ แล้วเต็มไปด้วยความเศร้า โดดเดี่ยว และไร้ทางออก

เหตุที่ ฟิลิปป์ มีวิธีคิดแบบนี้อาจเนื่องเพราะได้รับอิทธิพลจากนักคิดจำนวนมาก ในบรรยากาศบ้านเมือง และศิลปินที่ฝรั่งเศส

ขณะที่ฝั่งอเมริกา เพิ่งจะรู้จัก ตื่นเต้น และทดลองวิธีการ ทำงานแนวนี้ ก็กลายเป็นวิถีทางธรรมดาของ ฟิลิปป์ อัลส์มัน ไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น