วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อาร์ตเดโค ความงาม ณ ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่อิทธิพลของศิลปะจากต้นศตวรรษที่ 20 หรือที่รู้จักกันดีว่า ทศวรรษที่ 20 กลับมามีอิทธิพลต่อสังคมร่วมสมัย อาจจะด้วยเพราะสไตล์ที่ดูสง่างามและเรียบง่าย ทำให้ความงามของ "อาร์ตเดโค" ยังคงใช้การได้และเป็นที่นิยมข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน

lรู้จัก "อาร์ตเดโค"

"อาร์ตเดโค" คือ ยุคแห่งศิลปะที่เต็มไปด้วยสไตล์ที่งามสง่า ศิลปะ "อาร์ตเดโค" เฟื่องฟูอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 20 ถึงทศวรรษที่ 30 นับว่าเป็นช่วงต่อเนื่องจากงานศิลปะลวดลายวิจิตรแบบ "อาร์ตนูโว" ลายเครือเถาอันวิจิตรอ่อนช้อยค่อยคลี่คลายเป็นเส้นสายที่เรียบง่ายขึ้น คล้ายๆ กับลวดลายกราฟฟิกในยุคสมัยของ "อาร์ตเดโค" นี้

"อาร์ตเดโค" จัดอยู่ในศิลปะยุคโมเดิร์น โดยเป็นศิลปะในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งชิ้นงานที่เด่นๆ มักจะเป็นเรื่องที่ย้อนกลับมาใกล้ตัว หรือเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นงานศิลปะที่จับต้อง ใช้สอยได้ มากกว่าจะเป็นศิลปะที่ได้เพียงแต่ชื่นชมความงามด้วยสายตาเท่านั้น นอกจากชิ้นงานศิลปะแบบเพียวอาร์ต หรือไฟน์อาร์ตแล้ว "อาร์ตเดโค" ยังโดดเด่นสอดแทรกอยู่ในงานสถาปัตยกรรม และงานดีไซน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานออกแบบทางสายแฟชั่น ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และลายพิมพ์บนผืนผ้าต่างๆ ล้วนยังเป็นแรงบันดาลใจให้วงการแฟชั่นหลายยุคหลายสมัย มาจนถึงปัจจุบันทีเดียว

ศิลปะหลักๆ ในยุค "อาร์ตเดโค" นั้น ได้รับการสร้างสรรค์ระหว่างช่วงต่อของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยมีวิวัฒนาการมาจากศิลปินในยุคเริ่มต้นของยุคสมัย ซึ่งสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมาตอบสนองการปฏิวัติของวงการวิทยาศาสตร์ สังคม และเหตุการณ์ต่างๆ ทาง การเมืองในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

"อาร์ตเดโค" ต่างจากการเคลื่อนไหวของศิลปะในช่วงอื่นๆ เท่าที่เคยมีมา "อาร์ตเดโค" แพร่หลายสู่สังคมโลกในวงกว้างอย่างรวดเร็ว คล้ายๆ กับเป็นป๊อปอาร์ตของช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทุกวันนี้ ศิลปะ "อาร์ตเดโค" ยังคงได้รับการนำกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ ทั้งสไตล์ในงานปั้น งานแฟชั่น รวมทั้งลายพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นเพียงวิธีคิดและวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยอันเป็นจุดกำเนิดเท่านั้น ทว่า ยังคงมีอิทธิพลต่อยุคสมัยต่อๆ มาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะในแวดวงแฟชั่นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ครั้งแรกที่ "อาร์ตเดโค" กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังจากช่วงยุคสมัยของตัวเอง ก็คือ เมื่อปี 1966 โดยกลับมาในงานออกแบบ เครื่องตกแต่งบ้านในงานแสดงสินค้าตกแต่งบ้านย้อนยุคไปในปี 1925 ที่ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่บัดนั้น ศิลปะ "อาร์ตเดโค" ก็กลับมาโดดเด่นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

ศิลปะแบบ "อาร์ตเดโค" ส่วนมากออกมาในรูปแบบของโปสเตอร์ภาพพิมพ์ภาพโฆษณายุคแรกๆ โปสเตอร์ภาพยนตร์ หรือใบปิดหนังในช่วงทศวรรษที่ 20 นั้นล้วนเป็นอิทธิพลจาก "อาร์ตเดโค" เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น เช่น อาคารไครส์เลอร์ในอเมริกา ในฝั่งของแฟชั่น ก็วนเวียนอยู่ตั้งแต่ พอล ปัวเรต์ แอร์เต้ รวมไปถึงงานออกแบบฉากของ เซดดริก กิบบอน ในด้านงานจิตรกรรมที่มีสไตล์ของ "อาร์ตเดโค" ได้แก่ ผลงานของ ทามาร่า เลมปิกคา ฯลฯ


lประวัติศาสตร์ และอิทธิพลต่อ "อาร์ตเดโค"

ในยุคสมัยแห่งการกำเนิด "อาร์ตเดโค" จริงๆ นั้น ตัวตนของ "อาร์ตเดโค" เองไม่ได้เป็นสิ่งที่คนในยุคนั้นเชื่อถือว่าเป็น "ศิลปะ" สักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเรียกกันมาว่า เป็น "สไตล์" ของยุคสมัยเสียมากกว่า ความจริงแล้วในการออกแบบสถาปัตยกรรม เสื้อผ้า ภาพพิมพ์ รวมทั้งจิตรกรรมทั้งหลายนั้น ล้วนมีอิทธิพลของศิลปะยุคโมเดิร์น สำหรับชื่อเรียกว่า "อาร์ตเดโค" นั้นก็ได้มาจากงานแสดงสินค้าตกแต่งบ้านย้อนยุค ปี 1925 ที่จัดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อปี 1966 นั่นเอง

"อาร์ตเดโค" คือศิลปะที่แสดงความผสมผสานระหว่างงานในทศวรรษที่ 20 และทศวรรษที่ 30 โดยเฉพาะอิทธิพลของ "เกย์" ที่เริ่ม มีการเปิดเผยตัวตนในสังคมมากขึ้น และส่วนใหญ่พวกชาวเกย์มักจะมีอิทธิพลในแวดวงบันเทิงและแฟชั่น นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าว ยังเป็นยุคสมัยแห่งความฟุ้งเฟ้อ และความเหลวไหลไร้สาระ

พร้อมๆ กับจุดพลิกผันทางสังคมที่ผู้หญิงทั้งหลายลุกขึ้นมาสลัด คอร์เส็ท หรือเครื่องรัดทรง กับกระโปรงทรงสุ่มทิ้งไป หันมานิยมใส่กางเกง หรือไม่ก็กระโปรงทรงหลวมสบาย ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิมีเสียง และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น สามารถที่จะสวมกระโปรงสั้นโชว์หัวเข่า และ สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ สำหรับอิทธิพลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็นับว่ามีอิทธิพลต่อศิลปะที่เรียกในภายหลังว่า "อาร์ตเดโค" ไม่น้อย ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในโลกของการทำงาน เนื่องจากผู้ชายต้องออกไปรบ แม้เมื่อสงครามสงบลงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ช่วงเวลาแห่งความอึมครึมหลังสงครามโลก มิใช่เพียงอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม ยังมีการ ล่มสลายของตลาดหุ้นวอลสตรีท ที่เพิ่มความขมุกขมัวและเคร่งเครียดให้บรรยากาศของสังคมยุคนั้นเข้าไปอีก ตึกรามบ้านช่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตึกระฟ้าที่สวยงามตระการตาจำนวนมาก คือการระบายออกถึงความเครียดแห่งยุคสมัย

ผู้คนส่วนใหญ่เกิดมาในยุคที่ไม่เคยมีกระแสไฟฟ้าและโทรศัพท์ใช้ มาก่อน ทั้ง 2 สิ่งนี้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างของช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษที่ 20 และ 30 วิถีชีวิตผู้คนที่ผันเปลี่ยน จากการมีเครื่องบินที่สามารถพาตัวเองข้ามทวีปได้ในระยะเวลาอันสั้น โทรศัพท์กลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน แล้วยังมีเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรทัศน์ ที่เป็นผลผลิตจากการมีกระแสไฟฟ้านั่นเอง


lสง่างามแบบ "อาร์ตเดโค" สไตล์

เนื่องเพราะส่วนมาก "อาร์ตเดโค" มักจะแพร่หลายในงานออกแบบตกแต่งบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ สไตล์ของ "อาร์ตเดโค" เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากและความหม่นมัวของสงครามและเศรษฐกิจอันตกต่ำ อาคาร บ้านเรือนจึงมักเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเรียบๆ ไม่มีลวดลายประดับประดาที่วิจิตรอ่อนช้อย ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเหมือนเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ที่เกิด ขึ้นมาจากอุตสาหกรรมและการมีกระแสไฟฟ้า

หากว่าเราจะมองกันในแง่ของศิลปะ "อาร์ตเดโค" ได้แรงบันดาลใจจากความเคลื่อนไหวของศิลปะยุคใหม่หลายๆ สไตล์ประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น คิวบิสม์ ฟิวเจอริสม์ รวมทั้ง คอนสตรัคทีฟิสม์ อย่างไรก็ตาม สไตล์ของ "อาร์ตเดโค" บางอย่างก็ดูคล้ายกับลวดลายเรขาคณิตสมัยโบราณ อย่างเช่น ลวดลายโบราณของอียิปต์ แอสซีเรีย กับเปอร์เชีย อีกด้วย

ศิลปิน "อาร์ตเดโค" อาศัยรูปทรงแบบขั้นบันได ความโค้งมนของมุม การประดับประดาด้วยรูปทรงสามเหลี่ยมและเส้นสายลายทาง สีที่นิยมใช้กันมากก็คือ สีดำ ที่สะท้อนให้เห็นความหม่นมัวแห่งยุคสมัย


ในยุคของ "อาร์ตเดโค" แวดวงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้แก่ ไฟน์อาร์ตสาขาต่างๆ รวมทั้ง การออกแบบทางอุตสาหกรรม ในส่วนของไฟน์อาร์ตนั้น ไม่ว่าจะเป็น ประติมากรรม ภาพเขียน หรือแม้แต่ หัตถศิลป์ ล้วนแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างสูง ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นงานที่เรียบง่าย เส้นสายสะอาดสะอ้าน สีสันมีชีวิตชีวา แสดงออกถึงความสง่างาม ทางด้านการออกแบบอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น การออกแบบรถยนต์ เรือโดยสารขนาดใหญ่ โทรทัศน์ ซึ่งล้วนสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากโดยเครื่องจักรกล

"อาร์ตเดโค" มีอิทธิพลต่อทุกสิ่งทุกอย่าง และด้วยความที่ส่วนมากจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน อย่างเช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ และกราฟฟิกดีไซน์ นั่นคงคือสาเหตุหนึ่งที่ "อาร์ตเดโค" ยังสามารถกลับมาได้อีกแทบทุกยุคทุกสมัย

1 ความคิดเห็น: