วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อีกหนึ่ง เรอเนสซองซ์ ลูคัส ครานากซ์



นับเป็นครั้งแรกในอิตาลีที่มีโอกาสได้ต้อนรับภาพเขียนยุคเรอเนสซองซ์ของจิตรกรชาวเยอรมัน ลูคัส ครานากซ์ (คนพ่อ) ในนิทรรศการ "Lucas Cranach. The Other Renaissance" ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 13 ก.พ. 2011 ณ กาเยเรีย บอร์เกห์เซ (Galleria Borghese) ในกรุงโรม

งานนี้ผลงานของลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ อันเป็นหนึ่งในยุคเรอเนสซองซ์ แม้จะน่าสนใจใคร่ชมอยู่หลายส่วน แต่ก็ยังมีตัวช่วยที่คล้ายเป็นการอรรถาธิบายให้เห็นภาพของลูคัส ศิลปินเยอรมันผู้คล้ายดั่งคนปิดทองหลังพระ โดยแสดงงานร่วมกับศิลปินดังชาติเดียว/ยุคเดียวกัน อย่าง อัลแบรชต์ ดูเรอร์ ในแบบที่เรียกว่า ลูคัส เป็นพระเอก ส่วน อัลแบรชต์ เป็นน้ำจิ้ม

คือนอกจากจะเป็นการจัดแสดงผลงานของเขาครั้งแรกในอิตาลีแล้ว ยังเรียกว่ารวบรวมผลงานของเขาเอาไว้เกือบทั้งหมด ทั้งในยุคเรอเนสซองซ์ ผลงานที่ทำงานรับใช้ราชสำนักต่างๆ รวมทั้งผลงานที่ล้ำสมัย แบบที่ศิลปินชาวเฟลมิช (เช่น แยน ฟาน เมียร์) นิยมทำในยุคนั้น

ศาสตราจารย์แบร์นาร์ด ไอเคมา นักประวัติ ศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมันแห่งมหาวิทยาลัย เวโรนา คือภัณฑารักษ์สำหรับนิทรรศการ "Lucas Cranach - The Other Renaissance" ครั้งนี้ ร่วมกับ แอนนา โกลิวา ผู้อำนวยการ หอศิลป์กาเยรา บอร์เกห์เซ

ตามประวัติแล้ว ลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ รู้จักกันดีในฐานะเพื่อนและผู้สนับสนุน มาร์ติน ลูเธอร์ พระเยอรมันผู้เผยแผ่นิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งนับว่าเป็นนิกาย "นอกรีต" ในยุคกลาง ทั้งคู่ร่วมกันร่างทฤษฎีที่พวกเขาเรียกว่า "อิสรภาพแห่งคริสเตียน" จนกลายเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในยุคดังกล่าว

ลูคัสที่สร้างสรรค์งานส่วนใหญ่ของเขาใน สตูดิโอที่เมืองวิตเทนแบร์ก ผลงานของเขาได้ชื่อว่าแปลกใหม่ ล้ำสมัย ทั้งภาพเขียนนู้ด ภาพเชิงอีโรติก ภาพเหมือนคนจริงหรือพอร์เทรต (Portrait) แบบมีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ความ รู้สึก รวมทั้งงานสไตล์ก้าวล้ำอื่น จนกระทั่งได้ฉายา "เรอเนสซองซ์ที่แตกต่าง" (Another Renaissance) เพราะช่างไม่เหมือนกับสไตล์ เรอเนสซองซ์ตามขนบเดิมที่เคยทำกันมา

ผลงานของเขาแม้จะแสดงออกถึงความก้าวล้ำนำสมัย แตกต่างจากสไตล์ของ อัลแบรชต์ ดูเรอร์ หรือเรอเนสซองซ์แบบอิตาเลียนดั้งเดิมไปไกล กระนั้นก็แสดงให้เห็นถึงการผ่านการศึกษาในระบบมาอย่างเคร่งครัด ซึ่งการที่ลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ เป็นจิตรกรผู้ทำงานรับใช้ราชสำนัก หากยังสามารถสร้างสรรค์งานแบบก้าวหน้าได้ นับว่าหาได้ยากทีเดียว

ศาสตราจารย์แบร์นาร์ด ไอเคมา และ แอนนา โกลิวา ได้คัดสรรผลงาน 45 ชิ้นที่แสดงความเป็นลูคัสอย่างสูงมาจัดแสดง โดยส่วน ใหญ่มาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นสูง รวมทั้ง สมบัติส่วนตัวจากยุโรปและอเมริกา หลายชิ้น ทีเดียวที่นำออกจากฝาบ้านมาจัดแสดงสู่สาธารณชนครั้งแรก

ลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ ผู้ตั้งนามสกุลตามเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของเยอรมนีอันเป็นบ้านเกิดของเขา นับว่าเป็นศิลปินในยุคเรอเนสซองซ์ที่มีคนรู้จักน้อยมาก

เขาเริ่มชีวิตจิตรกรในกรุงเวียนนา ซึ่งส่วนใหญ่แวดล้อมไปด้วยนักมานุษยวิทยา และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนาในยุคเริ่มต้น

ที่นั่นเขาเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ เช่น ภาพเหมือนของโยฮานเนส คุสพีเนียน อาจารย์มหาวิทยาลัยเวียนนา และภริยา แอนนา (Portrait of Johannes Cuspinian, and his wife Anna)

จิตรกรรมเกี่ยวกับศาสนาเองก็ได้รับการกล่าวขานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านความงามของทิวทัศน์ อย่างที่ศิลปินสายศิลปะดานูปนิยม เช่นภาพ The Rest on the Flight into Egypt ภาพครอบครัวของพระเยซูกำลังพักผ่อนอยู่กลางป่าสนในเยอรมนี

เขาย้ายไปวิตเทนแบร์กเพื่อที่จะเป็นจิตรกรประจำราชสำนักของพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 3 ในปี 1504 ชีวิตที่วิตเทนแบร์กคือยุคทองของลูคัส ครานากซ์ ดิ เอลเดอร์ อย่างแท้จริง นอกจากเป็นราษฎรชั้นหนึ่ง เป็นที่นับหน้าถือตาแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่สุดยอดเอาไว้มากมาย

โดยเฉพาะความสามารถพิเศษในการวาดภาพหญิงงาม ไม่ว่าจะเป็นชุด Reclining Nymph ซึ่งเป็นแนวอีโรติกและภาพนู้ด นอกจากนี้ยังมีภาพพอร์เทรตสตรียุคเรอเนสซองซ์ ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการจินตนาการพวกเธอให้เป็นตัวละครต่างๆ ในตำนาน หรือการวาดภาพเหมือนแบบเต็มตัว ที่ไม่มีศิลปินในยุคนั้นทำมาก่อน

ลูคัสยังคงสร้างสรรค์งานที่เกี่ยวกับศาสนา และนับเป็นจิตรกรรายแรกที่สร้างสรรค์ภาพเขียนจากคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธสัญญาใหม่ ในเวอร์ชันภาษาเยอรมัน และแน่นอนที่ภาพเหมือนของมาร์ติน ลูเธอร์ พระและเพื่อนของเขาก็กลายเป็นภาพดังภาพหนึ่ง

ปี 1550 เขาลี้ภัยตามเจ้านายไปยังอุกส์แบร์ก เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นบาวาเรีย นับว่าความเป็นอยู่ที่นี่เหมือนฟ้ากับเหว แต่ เขาก็ยังสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะการช่วยเหลือมาร์ติน ลูเธอร์ ก่อร่างสร้างนิกายใหม่ของศาสนาคริสต์

ในบั้นปลาย ลูคัสสอนศิลปะให้ลูกชาย ลูคัส ครานากซ์ เดอะ ยังเกอร์ ซึ่งโตมาเป็นจิตรกรคนสำคัญของวงการไม่แพ้บิดา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น