ภาพเขียนสีหม่นที่ดูเหงา เศร้า เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย โหยหา หรือบางครั้งเหมือนอยู่ในอันตราย เป็นผลงานของ แอนดริว ไวเอธ ที่แม้ว่าเพิ่งจากโลกนี้ไปไม่นาน แต่ก็ยังไม่มีใครลืมเลือนภาพเขียนที่ให้อารมณ์สุดแสนเศร้าของเขาไปได้
ขึ้นชื่อว่าเป็นจิตรกรอันเป็นที่รักและรู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา เขาเคยได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ในทำเนียบขาวเมื่อปี 1970 ท่านประธานาธิบดียังต้องขอชนแก้วด้วย ในฐานะที่เขาเป็น "ขวัญใจอเมริกา"
ครอบครัวของแอนดริวนั้นยังเรียกว่าเป็นศิลปิน 3 เจเนอเรชัน เริ่มตั้งแต่ เอ็น.ซี.ไวเอธ อาร์ติสต์ นักวาดภาพประกอบชื่อดัง สืบทอดมาถึงรุ่นของเขา ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์จิตรกรร
มแบบไฟน์อาร์ตมากกว่า ต่อเนื่องมาถึงรุ่นลูกชาย เจมส์ ไวเอธ (นิโคลัส ลูกชายอีกคนเป็นนักค้างานศิลปะ)
มแบบไฟน์อาร์ตมากกว่า ต่อเนื่องมาถึงรุ่นลูกชาย เจมส์ ไวเอธ (นิโคลัส ลูกชายอีกคนเป็นนักค้างานศิลปะ)
แม้ว่าคนรุ่นหลังๆ จะออกมาวิจารณ์งานของเขาว่าจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา ดูแล้วป่วย หรือแม้กระทั่งบอกว่าน่าเบื่อเหมือนรายการของมาร์ธา สจวร์ต – อะไรก็แล้วแต่ แอนดริวก็ยังคงทำงานต่อไปในขนบเดิมของตัวเองอย่างชิลชิล เนื่องด้วยยังมีอเมริกันชนอีกมากมายนิยมชมชื่นกับอารมณ์แอบสแทรกต์ที่มีอยู่ในจิตรกรรมของเขา
ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาและยังเป็นผลงานชื่อดังที่สุดชิ้นหนึ่งของศตวรรษที่ 20 คือ Christina's World (อยู่ที่ Museum of Modern Art หรือ โมมา กรุงนิวยอร์ก) เป็นภาพของผู้หญิงนั่งพับเพียบหันหลังอยู่บนเนินเขาที่เป็นทุ่งกว้าง ทำท่าตะเกียกตะกายจะไปให้ถึงโรงนาเบื้องหน้าให้ได้ เช่นเดียวกับ Brown Swiss ที่เป็นภาพของโรงนาอันห่างไกลตัวเมืองเช่นกัน ตรงกลางภาพแอนดริววาดเงาสีดำทาบทับอยู่บนตัวบ้าน ให้อารมณ์อึดอัด ไม่ธรรมดา
แอนดริว ไวเอธ ถือเป็นศิลปินยุคโมเดิร์นนิสม์ที่สอบตกกับโจทย์แห่งยุคสมัย เขาปรับตัวไม่ได้ที่จะก้าวข้ามความเป็นตัวตนเดิมๆ ออกมาสู่ยุคสมัยแห่งศิลปะที่เปลี่ยนไปในรุ่นของตัวเอง
"ถ้าจะพูดให้เต็มปาก ผมขอเรียกตัวเองว่าเป็นพวกแอบสแทรกต์นะ" แอนดริว ให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งในปี 1965 ด้วยว่า ความล้มเหลวของตัวเองคือ การใส่ใจรายละเอียดมากเกินไปในภาพเขียนของตัวเอง แต่อารมณ์แบบเรียลิสติกนี่เองที่ทำให้ชนะใจคนอเมริกันนับล้านๆ
แอนดริว ไวเอธ เกิดในแชดส์ฟอร์ดทาวน์ รัฐเพนซิลเวเนีย โดยมีบิดาเป็นนักวาดภาพประกอบชื่อดัง มีผลงานในหนังสือ อย่าง Treasure Island และ The Last of the Mohicans ฯลฯ จะว่าไปภาพประกอบของบิดาก็ล้วนเป็นสีหม่นทั้งนั้น ซึ่งอาจจะเป็นมรดกตกทอดมาทางสายเลือด
"ผมชอบงานของพ่อนะ มันดูเศร้าแล้วก็แสดงออกถึงความเจ็บปวดได้ดีมากเลย ทุกๆ ภาพล้วนสวยทั้งนั้น แล้วก็เศร้า ดูไร้ความหวัง" แอนดริว ว่าไว้
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพวกหลงยุค แต่แอนดริวก็ใช่ว่าจะต้องเดินอย่างเดียวดาย เพราะศิลปินชื่อดังๆ อีกหลายคน อย่าง เอดเวิร์ด ฮอปเปอร์ มาร์ก รอธโก เรื่อยเลยไปถึง เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และไมล์ส เดวิส ด้วยก็ได้ ที่ไม่ได้ดำเนินรอยตามขนบแห่งโมเดิร์นนิสต์หรือป๊อปอาร์ต – ยิ่งไปกว่านั้นคือ เจมส์ (เจมี) ไวเอธ บุตรชายของเขาก็รับมรดกทางสไตล์ของครอบครัว ในการสร้างงานศิลปะ
ในวัยเด็ก แอนดริวเป็นจอมขี้โรค เขาจึงเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ทุกๆ ฤดูร้อน ครอบครัวจะเดินทางไปยังเมืองคูชิง รัฐเมน ซึ่งในความรู้สึกของเด็กชายแอนดริวแล้วเหมือนกับอยู่ที่นั่นแต่ละครั้งยาวนานเป็นศตวรรษ
ขณะที่บิดาของเขาศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ของชาวนา เพื่อที่จะนำไปวาดภาพประกอบหนังสือนิทาน แอนดริวพยายามหลีกให้ไกลจากพื้นที่การทำงานของบิดา แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่มีมากมายทำให้เขาเริ่มจับพู่กันวาดสีน้ำ จนกระทั่งได้แสดงงานเดี่ยวของตัวเองครั้งแรกที่วิลเลียม แมคเบธ แกลเลอรี ในนิวยอร์ก ตอนอายุเพียง 20 ปี
หลังจากสีน้ำเขาเริ่มทดลองวาดด้วยเทคนิคเทมเปอราหรืออาศัยสีผสมไข่แดง อันเป็นเทคนิคที่มีมาตั้งแต่ยุคกลางและมีศิลปินยุคใหม่ๆ จำนวนไม่มากนักที่ทดลองใช้กัน แต่เขากลับติดอกติดใจจนใช้ไม่ยอมเลิก "มันให้อารมณ์ความรู้สึกแบบเหงาๆ สูญเสีย อย่างที่ผมต้องการเลย"
เอ็น.ซี.ไวเอธ เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถยนต์ที่มีเขาและลูกสาววัย 4 ขวบ อยู่ในนั้น "ผมเพิ่งเป็นศิลปินสีน้ำดาวรุ่งตอนที่พ่อตาย ตอนที่เริ่มลองเทมเปอรา จึงต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพราะพ่อไม่อยู่สอนผมแล้ว"
Winter 1946 ภาพของเด็กชายวิ่งลงมาจากเนินเขาในฤดูหนาว เล่าความเจ็บปวดของตัวเองในการสูญเสียบิดาอย่างไม่มีวันกลับ เด็กชายในภาพลื่นไถลอยู่บนเนินหญ้าแห้งๆ ในจินตนาการของแอนดริว ฝั่งตรงกันข้ามมีทางรถไฟอันเป็นจุดเกิดเหตุ
ในช่วงเวลาไล่ๆ กัน เขาเริ่มวาดคาร์ลและแอนนา คูเออร์เนอร์ เพื่อนบ้านชาวนา – คาร์ลเคยร่วมรบกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขามองคาร์ลในบุคลิกของพ่อ ภาพ Karl (1948) นั้น เขาว่าเป็นพอร์ตเทรตที่ดีที่สุดที่เคยวาด ภาพชื่อดังอีกภาพ อย่าง Groundhog Day ก็วาดจากครัวของบ้านคูเออร์เนอร์ในฤดูหนาว
ในปี 1940 เขาสมรสกับเบตซี เจมส์ ซึ่งเข้ามาจัดการทุกอย่างในบ้าน โดยที่แอนดริวไม่ต้องกังวลเรื่องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทอง แถมยังเป็นแบบให้เขาวาดภาพนู้ดได้อีกด้วย โดยสามีจิตรกร ตั้งชื่อให้เธอว่า Helga
ไม่มีใครรู้จักเบตซี และไม่มีใครรู้ว่าแอนดริวแต่งงาน พวกนักข่าวจึงไปลือกันอยู่หลายปีว่าเขาช่วยเหลือชาวเยอรมันอพยพ แลกกับการได้วาดภาพนู้ดของ เฮลกา เทสทอฟ แถมยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับเธออีก (ว่าเข้าไปนั่น...) แม้กระทั่งมีการเปิดตัว เบตซีในทศวรรษที่ 1970 แล้ว ก็ไม่วายที่คนยังลือกันเหมือนเดิม ค่าที่เชื่อว่าเธอคือเฮลกาตัวจริงอยู่ดี
กลับมาที่ภาพเขียนของเขา นอกจากสีสันที่หม่นเศร้าแล้ว สิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ จะมีการสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครขึ้นมาในงานทุกๆ ชิ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่าคนที่เป็นแบบให้เขามีน้อยมาก จึงต้องสร้างสรรค์ให้เกิดความแตกต่าง
ด้วยความที่เขาสืบทอดวิถีและอารมณ์การวาดภาพแบบครอบครัวไวเอธรุ่นต่อรุ่น ทำให้ภาพมีอารมณ์ของการ "หวนรำลึก" (Nostalgia) ผสมผสานกับจินตนาการแบบแฟนตาซี (ตามภาพประกอบหนังสือของบิดา) ในขณะที่มีความเป็นเรียลิสติกอยู่มาก
ผลงานของแอนดริว ไวเอธ เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักวิจารณ์ศิลปะ ส่วนใหญ่จะลงความเห็นกันในด้านลบ แต่คนที่ชอบก็มักจะเป็นเพราะว่าเป็นงานศิลปะที่มีอารมณ์อย่างล้นเหลือ รวมทั้งภาษาสัญลักษณ์และความเป็นแอบสแทรกต์ แต่ที่ลงความเห็นเดียวกันอย่างไม่มีเฉไฉก็คือ ความชำนาญในการใช้เทคนิคเทมเปอราของเขานั้นปราศจากข้อกังขา
ปัจจุบัน ผลงานของแอนดริวมากมายอยู่ใน หอศิลป์ใหญ่ๆ ในอเมริกา ตั้งแต่ โมมา กรุงนิวยอร์ก หอศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก หอศิลปะอเมริกันวิทนีย์ หอศิลป์ซินซินเนติ หอศิลป์สมิธโซเนียน รวมทั้งทำเนียบขาว
ดีมากเลยครับ
ตอบลบ