วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ซัลวาดอร์ ดาลี 'ผมไม่ได้บ้า'

ว่ากันว่า อัจฉริยภาพ กับ ความบ้า มักจะมีเส้นบางๆ คั่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งบางครั้งก็ยากแสนยากที่จะแยกแยะว่า คนไหนกันแน่คืออัจฉริยะ และจริงๆ แล้วคนไหนเป็นคนบ้า

เช่นที่ ซัลวาดอร์ ดาลี บอกมาตลอดชีวิตว่า เขาไม่ได้บ้า แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะลบล้างภาพเดิมๆ ที่มีคนเคยเชื่อเรื่องศิลปินเซอร์เรียลลิสต์อัจฉริยะคนนี้ จริงๆ แล้วสติไม่ค่อยจะดี อย่างไรก็ตาม ซัลวาดอร์ก็เป็นศิลปินแถวหน้าสำหรับยามที่เราเอ่ยถึงศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสม์ ทว่า ขณะเดียวกันเขาก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มศิลปินประเภท "โกรแตสเกอ" หรือ ศิลปินวิตถาร เข้าไปอีก

*วัยเด็ก

ซัลวาดอร์ ดาลี เกิดเมื่อปี 1904 ที่ฟิเกอรัส ในประเทศสเปน ดูเหมือนว่าเขาจะใช้ชีวิตในโลกที่ไม่เป็นจริงมาตั้งแต่เป็นเด็ก พี่ชายของเขาเสียชีวิตก่อนที่ซัลวาดอร์จะเกิด 9 เดือน พ่อของเขา ซัลวาดอร์ ดาลี ซีเนียร์ เชื่อว่าเขาคือพี่ชายที่กลับมาเกิดใหม่ และพยายามทำให้เขาเชื่อตลอดมา เขาถูกพาไปที่หลุมศพของพี่ชายและได้รับการปฏิบัติราวกับราชาที่บ้านด้วยความเชื่อดังกล่าว และพวกเขากลัวจะสูญเสียบุตรชาย (ที่อุตส่าห์กลับมาเกิดใหม่) เป็นครั้งที่สอง

เขาเริ่มรู้ตัวว่ามีความสามารถทางด้านศิลปะตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ครั้งหนึ่งเขาไปเยี่ยมครอบครัว ปิชอต ที่เป็นศิลปินกันทั้งบ้าน โดย รามอน ปิชอต เป็นจิตรกร ส่วน ริคาร์ด ปิชอต เป็นนักเชลโล คนในครอบครัวนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอย่างสูง กระทั่งภายหลังเขามีภาพเขียน ชื่อ Three Young Surrealists Women ออกมา

ในวัยเด็กเขาเริ่มต้นจากการวาดรูปทิวทัศน์ที่สวยงามในแคว้นคาตาลัน อันเป็นบ้านเกิด ภาพเหล่านี้ยังแสดงออกถึงความผูกพันกับถิ่นเกิด รวมทั้งครอบครัวของ ซัลวาดอร์ ดาลี

เขาศึกษาศิลปะกับอาจารย์ชื่อ ฆวน นูเยส ที่โรงเรียนมัลติเพิ่ล ดรออิง พื้นฐานของเขาดีมากแถมยังได้รับการสนับสนุนจากบิดาในการจัดนิทรรศการเดี่ยวภาพดรออิงให้ซัลวาดอร์ที่บ้านของตัวเองอีกด้วย แม้จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ แต่ก็พอที่จะทำให้ทุกคนต้องตื่นตะลึงกับความสามารถของเด็กน้อย

มารดาของซัลวาดอร์เสียชีวิตในปี 1921 ขณะนั้นเขาเรียกตัวเองว่า ศิลปินอิมเพรสชัน และยังคงได้แรงบันดาลใจจาก รามอน ปิชอต ในการเขียนภาพทิวทัศน์แห่งคาตาลัน บิดาของเขาสมรสครั้งใหม่กับน้องสาวมารดาเขาเองในเวลาไม่ช้า ในขณะที่ซัลวาดอร์เริ่มมีปัญหากับบุคลิกภาพของตัวเองขณะที่กำลังจะก้าวจากวัยรุ่นไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่เขาเริ่มจะไม่สนิทสนมกับบิดาและครอบครัวอีกต่อไป โดยเขาย้ายมาศึกษาต่อทางด้านศิลปะในกรุงมาดริด

ที่หอพักนักศึกษา ซัลวาดอร์ ในวัย 18 ได้เจอกับเพื่อนมากมายและกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญในกลุ่มหัวกะทิ กลุ่มของเขามีคนดังๆ อย่าง หลุยส์ บุนเนล (ภายหลังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง) และ เฟรเดอริโก การ์เซีย ลอร์กา (ภายหลังเป็นกวีชื่อดัง) ทั้ง 2 คนนิยมในแนวคิดแบบปัจเจกและมีอิทธิพลต่อความคิดและงานของซัลวาดอร์มากมาย

*ปูทางสู่เซอร์เรียลลิสม์

ในขณะที่เพื่อนร่วมสถาบันยังคงยึดมั่นในแนวทางของอิมเพรสชันนิสม์อยู่ ซัลวาดอร์ ดาลี เริ่มทดลองแนวทางแบบคิวบิสม์ ในปี 1923 เวลาทำงานเขามักจะขังตัวอยู่เพียงลำพังในห้อง ไม่ยอมสมาคมกับใครจนกว่างานจะเสร็จ ว่ากันว่าเขาเป็นหนึ่งในคนที่บุกเบิกศิลปะแนวฟิวเจอริสม์ อันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างคิวบิสม์ไปสู่เซอร์เรียลลิสม์ และเขาก็กลายเป็นศิลปินรุ่นเยาว์ในกลุ่มอาวองต์-การด์ไปโดยปริยาย

เขาถูกไล่ออกจากสถาบันศิลปะ เนื่องเพราะปฏิเสธที่จะเข้าสอบของการสอบปากเปล่า เมื่อบอกอาจารย์ว่า โปรเจ็กต์สำหรับจบการศึกษาของเขาจะเกี่ยวกับ Raphael กระนั้น เขาก็ไม่สนใจใบปริญญาแต่อย่างใด

ในปี 1928 ซัลวาดอร์ ได้พบกับ ปาโบล ปิกัสโซ ซึ่งส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อผลงานของเขา รวมทั้งการหันไปสนใจแนวทางเซอร์เรียลลิสม์อย่างจริงจัง ปีเดียวกันนี้เองที่ผลงานของเขาได้รับการนำไปจัดแสดงยังต่างประเทศ โดยภาพวาดสีน้ำมัน Basket of Bread ได้ไปอวดผู้คนที่คาร์เนกี อินเตอร์เนชันแนล เอ็กซ์โพสิชัน ในพิตต์สเบอร์ก เพนซิลวาเนีย ร่วมกับผลงานแนวเรียลลิสม์อื่นๆ จากทั่วโลก

*ยุคเซอร์เรียลลิสม์เต็มตัว

ในปี 1929 มี 2 สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ซัลวาดอร์ ดาลี สิ่งแรกคือการที่เขาได้พบกับ กาล่า เอลูอาร์ด ภรรยาของ พอล เอลูอาร์ด กวีชาวฝรั่งเศส เขารู้สึกว่าไม่อาจจะแยกจากเธอได้ จึงย้ายมาปักหลักอยู่ที่ฝรั่งเศสและคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในกรุงปารีส

ทว่า เขาไม่อาจจะอยู่อย่างไม่มีรายได้ในกรุงปารีส ซัลวาดอร์กับกาล่าจึงย้ายไปอยู่ในชนบทอย่างสันโดษเพียง 2 คน เขาสร้างงานศิลปะเพื่อที่จะดำรงชีพอยู่ได้ โดยจัดแสดงงานเพื่อที่จะขายรูปและนำเงินมาจุนเจือครอบครัว ทว่า วิญญาณเซอร์เรียลลิสม์ในตัวของเขาทวีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจัดนิทรรศการครั้งถัดไปๆ ก็ยิ่งจะมีความเป็นเซอร์เรียลลิสม์มากขึ้น ในที่สุดซัลวาดอร์ก็ไม่อาจจะกักเก็บความรู้สึกต้องการแสดงออกทางด้าน เซอร์เรียลลิสม์อย่างแรงกล้าที่อยู่ในใจของเขาได้ แม้ว่าเขาจะลาออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในกรุงปารีสมานานแล้วก็ตาม

ในปี 1934 ซัลวาดอร์ ดาลี ต้องการจะวาดภาพของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หัวหน้าพรรคนาซีเยอรมันออกมาในแนวเซอร์เรียลลิสม์มาก ทว่า การจะได้วาดภาพใบหน้าของเขาคงจะเป็นเรื่องยากเย็น ซัลวาดอร์จึงแสดงออกมาด้วยการวาดสัญลักษณ์เกี่ยวกับเขา เป็นฉากสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างฮิตเลอร์กับลอร์ดแชมเบอร์เลน เป็นภาพ Beach Scene with Telephone ที่เล่าเรื่องเหตุการณ์การลงสนธิสัญญาที่กรุงมิวนิค ในปี 1938

ซัลวาดอร์ ดาลี เคยแต่งตัวเป็นผู้หญิงแถมประดับศีรษะด้วยดอกไม้เพื่อโปรโมตนิทรรศการศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ของตัวเองที่หอศิลป์แห่งชาติสเปน แม้จะลงทุนถึงขนาดนั้น ทว่า ภาพเขียนแนวดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ขายออกยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอังกฤษที่มีศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์อยู่เพียงคนเดียว ก็คือ เอ็ดเวิร์ด เจมส์ และคนอังกฤษก็ไม่เคยนิยมแนวทางนี้มาก่อนเลย

Beach Scene with Telephone ที่เขาเขียนเสร็จในปี 1938 นั้นกลายเป็นภาพดังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องเพราะ ซัลวาดอร์ ดาลี ซึ่งเป็นผู้วาดขึ้นถูกนาซีตามล่าตัว เขาและกาล่าลี้ภัยไปหลบซ่อน ณ ชนบทของฝรั่งเศส แต่ภาพเขียนจำนวนมากในแนวเซอร์เรียลลิสม์ของเขาถูกทำลายไประหว่างสงคราม และภายหลังเจ้าตัวต้องหนีไปไกลถึงอเมริกา

*สูงสุดคืนสู่สามัญ

ซัลวาดอร์กลับคืนสู่ความเป็น "ดาลี" ยุคคลาสสิก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องเพราะข้าวยากหมากแพง รวมทั้งกาล่าก็บอกเขาว่า อย่าไปยึดติดกับเกียรติยศของเซอร์เรียลลิสม์เลย ลองหันมาวาดภาพที่เรียบง่ายและขายได้จะดีกว่า

ซัลวาดอร์เชื่อว่าเธอคิดถูกและเริ่มหันมาวาดภาพที่สะท้อนเนื้อหาความเป็นไปในสังคม โดยเฉพาะเรื่องของนิวเคลียร์หรือระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงหลังสงครามโลก

กระนั้น ภาพเขียนของเขาก็ยังคงมีกลิ่นอายของเซอร์เรียลลิสม์อยู่นิดหน่อย ภาพที่เด่นดังในยุคนี้ ได้แก่ Nature Morte Vivante (Still Life-Fast Moving)

*"ผมไม่ได้บ้า"

ไม่ว่าจะปฏิเสธอย่างไร หลายๆ คนก็ยังเชื่อว่า ซัลวาดอร์ ดาลี เป็นบ้า แม้เขาจะประสบความสำเร็จทางด้านศิลปะอย่างล้นเหลือ โดยนักวิจารณ์ศิลปะต่างพยายามที่จะพูดถึงเรื่องราวการสะท้อนความผิดปกติทางจิตที่ปรากฏออกมาในงานของเขา และต่างยังตั้งประเด็นให้ขบคิดกันว่า ภาพเขียนของเขานั้นเป็นงานศิลปะอันสูงส่ง หรือเป็นเพียงศิลปะวิตถารที่แสดงออกถึงความ "ไม่เต็ม" ในสมองของเขากันแน่

ความผิดปกติและความพิเศษก็คงแยกออกจากกันได้ยากลำบากพอๆ กับอัจฉริยะและความบ้า อย่างไรก็ตาม ความสามารถและความชำนาญในฝีแปรงที่สร้างสรรค์ให้เกิดรูปภาพที่มีสีสันสวยงาม ไม่ว่าเนื้อหาที่สื่อออกมาทางภาพจะเป็นเรื่องราวใดนั้น ปราศจากผู้ใดจะกังขาในฝีมือของเขา

ความคิดที่เบี่ยงเบนไปจากปกติ ผิดศีลธรรม และดูคล้ายจะเล่าถึงความรุนแรง เป็นสิ่งที่ยังคงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในเนื้อหาของผลงานของ ซัลวาดอร์ ดาลี ที่หลายคนบอกว่า บางครั้งมันก็รบกวนจิตใจในการที่จะรื่นรมย์กับผลงานเซอร์เรียลลิสม์ของศิลปินคนนี้

ในขณะที่คนที่เห็นไปเชิงที่ผลงานของซัลวาดอร์นั้นเลอเลิศเป็นพิเศษ ก็ว่าไปในทางตรงกันข้าม โดยบอกว่า ภาพเขียนเซอร์เรียลลิสม์ของ ซัลวาดอร์ ดาลี เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดอันลุ่มลึก รวมทั้งองค์ประกอบภาพและสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในภาพล้วนผ่านการกลั่นกรองและมาจากแรงบันดาลใจในส่วนลึก

ศิลปะอาจจะคล้ายกับแฟชั่นที่เป็นเรื่องของรสนิยม หลายคนอาจจะรื่นรมย์ในแนวทางที่แตกต่างกัน

ผลงานของ ซัลวาดอร์ ดาลี อาจไม่ใช่ชิ้นงานโรแมนติกที่มีสีสันหวานๆ ชวนรื่นรมย์ หรือเป็นผลงานสูงส่งที่พูดถึงเทพเจ้าองค์ต่างๆ ทว่า เขาก็เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญในการนำพาแวดวงศิลปะตะวันตกให้เข้าสู่ฟิวเจอริสม์และเซอร์เรียลลิสม์อย่างเต็มรูปแบบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น