ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาหลายฉบับ เริ่มต้นเพิ่มยอดขายด้วยเนื้อหาประเภทการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า มังก้า เข้าไป ทำให้น่าสงสัยนักว่า การ์ตูนสไตล์เก๋ๆ แบบ อเมริกันกำลังจะถูกลืมหรืออย่างไร
คงไม่เป็นเช่นนั้นแน่ เนื่องเพราะผลงานของ การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง อย่าง คริส แวร์ ซึ่งเคยเป็นจุดขายของปกหนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์หลายฉบับในอดีต ได้กลายเป็นงานที่มีค่าทางศิลปะ และกำลังจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์โมกา (Museum of Contemporary Art) เมืองลอส แองเจลิส ร่วมกับผลงานของการ์ตูนนิสต์ระดับปรมาจารย์ท่านอื่นๆ ในนิทรรศการศิลปะ America: masters of American comics โดยการรวบรวมผลงานชื่อดังๆ ที่ได้รับความนิยม เป็นมาสเตอร์พีซของการ์ตูนนิสต์แต่ละท่านตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 20 กว่า 500 ชิ้นด้วยกัน
สำหรับ คริส แวร์ ผู้มีผลงานเด่นๆ เป็นเรื่องราวของคนในอาคาร หรือชุด Building stories ซึ่ง เป็นลักษณะของการ์ตูนช่องที่บอกเล่าเรื่องราวของ คนในสังคมเมือง นับเป็นชิ้นงานที่โดดเด่นที่สุดในนิทรรศการครั้งนี้ ชื่อจริงนามสกุลเต็มของเขาคือ แฟรงคลิน คริสเตนสัน แวร์ เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1967 เริ่มเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีกับ การ์ตูนชุด Acme Novelty Library นอกจากนั้น ยังมีนวนิยายกราฟฟิกชื่อดังของเขา Jimmy Corrigan, the Smartest Kid on Earth
คริส เกิดที่โอมาฮา รัฐเนแบรสกา ก่อนที่จะย้ายมาโตที่โอ๊ก พาร์ก รัฐอิลลินอยส์ ในการทำงานของเขา ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวรอบๆ ตัว นอกจากนี้ เขายังมีความสนใจและฝึกฝนทั้งด้านการวาดการ์ตูน กับกราฟฟิกดีไซน์ไปพร้อมๆ กัน ด้วยความสามารถของเขาอาจจะพัฒนาไปในด้านการเป็นจิตรกรเอกได้ไม่ยากนัก ทว่า เขากลับเลือกที่จะสร้างสรรค์งานในแนวทางป๊อปอาร์ต ทว่าเป็นศิลปะป๊อปแนวใหม่ ที่อาจจะเรียกให้เก๋ๆ ว่าเป็น เอ็กเพอริเมนทัล ป๊อป หรือป๊อปอาร์ตแนวทดลอง ออกมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไป ในสังคมด้วยสัญลักษณ์ง่ายๆ
การตูนนิสต์คนนี้ ยังได้แรงบันดาลใจ จากนักวาดการ์ตูนอเมริกันรุ่นเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็น วินเซอร์ แมคเคย์ แห่งดิสนีย์ เจ้าของผลงาน Gertie the Dinosaur หรือ แฟรงค์ คิง ผู้สร้างสรรค์ Gasoline Alley ถ้าใครได้ติดตามผลงาน ของปรมาจารย์การ์ตูน 2 คนนี้มาก่อนหน้า จะเห็นว่าเป็นแบบอย่างในงานของ คริส อยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของโครงร่าง และการนำเสนอเรื่องราวออกมาในภาพวาด จะว่าไปแล้ว เมื่อมองในยุคสมัยของ คริส แวร์ ผลงานของเขามีอารมณ์แบบ “ย้อนยุค” อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เส้น เล่นสี หรือความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในช่อง สีเหลี่ยม (ชุดที่ดังที่สุดในสไตล์นี้ คือ the Emily Dickinson of comics)
คริสเริ่มวาดการ์ตูนให้กับหนังสือพิมพ์ The Daily Texan ของนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส ที่เมืองออสติน โดยเขียนเป็นการ์ตูนช่องแบบสตริปเป็นประจำทุกวัน ก่อนที่จะเริ่มเขียนการ์ตูนชุดเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ Floyd Farland: Citizen of the Future ให้กับนิตยสารรายสัปดาห์ และเรื่องนี้ ก็ได้กลายเป็นการ์ตูนรวมเล่มเรื่องแรกของคริสกับ เอคลิปส์ พับลิชชิง ในปี 1988
ไม่นาน ผลงานของคริส แวร์ ก็ไปเตะตา การ์ตูนนิสต์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และนักออกแบบชาวแมนแฮตตัน อย่าง อาร์ต สปีเกลแมน ซึ่งชวนเขามาวาดให้หนังสือเชิงศิลปะการออกแบบชื่อ RAW และที่นี่เองที่บ่มเพาะชื่อเสียงของเขาให้ขจรขจายกลายเป็นการ์ตูนนิสต์ชื่อดัง โดยเฉพาะเมื่อเขาออกหนังสือ การ์ตูนชุด Acme Novelty Library ซึ่งทำให้ผลงานเก่าๆ ของเขาที่ The Daily Texan ได้รับการนำกลับมาพิมพ์ใหม่เป็นหนังสือรวมการ์ตูนด้วย อย่างเช่น Quimby the Mouse ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ในรูปร่างตัวการ์ตูนหัวมันฝรั่ง เป็นอาทิ
เขาเริ่มทำงานให้หนังสือ New City ก่อนที่จะมาประจำการอย่างถาวรกับ the Chicago Reader ที่คล้ายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเขา ภายหลังเขาสามารถพิมพ์หนังสือการ์ตูนเล่มออกมาขายด้วยตัวเอง เช่น Lonely Comics และเรื่องอื่นๆ เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น คริส แวร์ก็มีหนังสือการ์ตูนรวมเล่มเรื่องต่างๆ ออกมามากมาย
ในการเขียนการ์ตูนของคริส สิ่งสำคัญคือการ สร้างคาแรคเตอร์ คล้ายๆ กับการแคสติ้งตัวละคร ในภาพยนตร์ Quimby the Mouse ของคริส กลายเป็นตัวละครเอก ที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของมนุษย์หัวมัน กับแมวชื่อ สปาร์กกี้ ภาพการ์ตูนช่อง Quimby the Mouse เรื่องนี้ คล้ายกับเรา ได้ชมภาพยนตร์เงียบในยุคเก่า ที่เล่าเรื่องราวโดย ไม่ต้องมีช่องไดอะล็อกคำพูด และผลงานส่วนใหญ่ของเขา ไม่ว่าจะเป็น Acme Novelty Library, Jimmy Corrigan, the Smartest Kid on Earth และ Building Stories ก็ออกมาในสไตล์ที่ใช้คำพูดน้อยมาก
ในปี 2001 Jimmy Corrigan, the Smartest Kid on Earth ได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยม รางวัล การ์เดียน เฟิร์สต์ บุค อะวอร์ด โดยเป็นหนังสือประเภทกราฟฟิกเล่มแรกที่ได้รับรางวัลใหญ่ทางด้านวรรณกรรมของอังกฤษไปครอง คริส แวร์ ยังได้ รับเชิญไปเปิดนิทรรศการแสดงผลงานของเขาครั้งแรกในปี 2002 ณ วิทนีย์ มิวเซียม กรุงนิวยอร์ก หลังจากนั้น เขายังได้รับเชิญไปแสดงงานอีกหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอเมริกาและในยุโรป เช่นเดียวกับซีรีส์ Building Stories ซึ่งมาจากงานเด่นของเขา ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน The Sunday New York Times Magazine ในปี 2005 นี่เอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น