วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โฟล์คอาร์ต ศิลปะท้องถิ่น


ทุกๆ แห่งในโลกนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะท้องถิ่น หรือ โฟล์คอาร์ต (Folk Art) ทว่า ศิลปะท้องถิ่น ชนิดที่ได้การยอมรับไปทั่วโลกในแง่ของความเป็นศิลปะอันโดดเด่นที่แท้จริง ได้แก่ อเมริกัน โฟล์คอาร์ต ที่นับเป็นรากฐานของศิลปะแห่งชนชาติอเมริกันอย่างแท้จริง

ไม่น่าเชื่อที่ ศิลปะท้องถิ่นในอเมริกา กลับมีต้นกำเนิดอยู่ที่ใกล้ๆ กับเมืองใหญ่ โดยย้อนไปเมื่อราวๆ 1850 ณ กรุงนิวยอร์ก ชายหนุ่มผู้ข้นแค้นและใกล้ตายจากโรคร้าย แกะสลักรูปหญิงสาวแสนสวยจากไม้ เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของศีรษะที่เขาแกะสลักเอาไว้อย่างเหมือนจริงนับว่าเป็นงานศิลปะที่ไม่ธรรมดา โดยหญิงสาวคนดังกล่าวมีชีวิตอยู่จริง และอาจจะเป็นคนที่ชายหนุ่มหลงรัก เธอเป็นบุตรีของแพทย์แผนทางเลือกที่รักษาคนไข้ด้วยแนวทางวารีบำบัด ซึ่งชายหนุ่มเข้ารับการรักษา ภาพแกะสลักจากไม้เป็นรูปศีรษะของหญิงสาว โดยศิลปินอายุสั้นคนหนึ่ง นับเป็นสมบัติล้ำค่า และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปะโฟล์คอาร์ตของอเมริกันชนในรุ่นถัดๆ มา

โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงโฟล์คอาร์ต เรามักจะนึกถึงงานศิลปะเรียบง่าย ทว่า โดยเนื้อแท้ของศิลปะแขนงนี้ แม้จะแสดงออกมาอย่างง่ายดาย คล้ายไม่มีสิ่งใดซับซ้อน หากทว่า กลับบรรจุเอาไว้ซึ่งจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโฟล์คอาร์ตในอเมริกานั้น นับเป็นรากฐานอันสำ�ัญของศิลปะอเมริกันในศตวรรษที่ 20 แม้จะเป็นเพียงโฟล์คอาร์ตก็ตาม

โฟล์คอาร์ตของอเมริกันเริ่มเข้มแข็งขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีศิลปินท้องถิ่นหลากหลาย ทั้งในแขนงของจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ รวมไปถึงศิลปะการออกแบบตกแต่งหรือ decorative arts ซึ่งหมายรวมถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ฉากละคร ออกแบบแลนด์สเคป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หมายความว่า ศิลปะโฟล์คอาร์ตนั้นเริ่มต้นจากผู้คนก่อนที่จะมีวิวัฒนาการแยกออกจากความเป็นศิลปะท้องถิ่นธรรมดา กลายเป็นโฟล์คอาร์ตที่เป็นจิตรกรรม หรือ pure art อย่างแท้จริง โดยศิลปินหันมาสร้างสรรค์ศิลปะอย่างจริงจัง และอย่างลึกซึ้งในความคิดที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงนำเสนอออกมาในรูปแบบและเทคนิควิธีของโฟล์คอาร์ต

สีสันหลักๆ ในศิลปะท้องถิ่นอเมริกันมักจะหยิบมาจากความเป็นอเมริกันเอง อย่างเช่น สีสันของธงชาติ ดาวบนธงชาติ หรือไม่ก็มีการนำเอาธงชาตินั่นเองมาใส่เอาไว้ในผลงานทางศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เกิดสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ รวมทั้งสงครามกลางเมืองระหว่างเหนือใต้ ขณะเดียวกันในแต่ละท้องถิ่น ก็อาจจะได้รับอิทธิพลที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น อิทธิพลของอังกฤษในนิวอิงแลนด์ซึ่งมีชาวอังกฤษอพยพย้ายถิ่นฐานมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หมู่บ้านริมน้ำในคอนเน็กติกัต การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และบ้านเรือนส่วนใหญ่ ยังยึดขนบเดิมจากอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือเทคนิค รวมทั้งภาพวาดรูปดอกกุหลาบ และภาพวาดที่แสดงถึงวิถีชีวิตแบบอังกฤษ

ในส่วนของการออกแบบตกแต่งนั้น เริ่มต้นจากการออกแบบข้าวของเครืองใช้ภายในบ้านเรือน ที่โดดเด่นมากก็คือ อเมริกันคิลท์ หรือผ้าปะต่อแบบอเมริกันที่แสดงถึงความเป็นศิลปะท้องถิ่นอย่างสูง นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความเป็นอิสระและเสรีภาพจากการปกครองของอังกฤษ ซึ่งนอกจากอเมริกันคิลท์จะนิยมใช้เป็นผ้าปูโต๊ะ ผาคลุมเตียงแล้ว ในภายหลังยังมีการออกแบบประดิษฐ์อย่างสวยงาม ประหนึ่งภาพจิตรกรรมประดับผนังบ้านอีกด้วย

ในยุคสมัยของประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ็คสัน วงการศิลปะอเมริกันเรียกว่า ยุคสมัยแห่งความรู้สึกที่ดีๆ เนื่องเพราะบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในหลายๆ ทาง ขณะเดียวกันนอกจากชาวอังกฤษที่อพยพมามากมายแล้ว ยังมีอีกหลายเชื้อชาติที่อาศัยอเมริกาเป็นที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ ทั้งอิตาเลียน เยอรมัน กรีซ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานจนกลายเป็นศิลปะของอเมริกันเอง ทั้งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีบุคลิกใหม่ๆ รวมทั้งศิลปะแขนงจิตรกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม โดยมีศิลปินที่มีชื่อเสียงทางสายจิตรกรรม อย่างแอมมี ฟิลิปส์, เอราสทุส ซาลิสเบอรี ฟิลด์, โฮซี เฮย์เดน และจอห์น บรุนท์ ซึ่งกลายเป็นตำนานของอเมริกันโฟล์คอาร์ตไปแล้ว

การประกาศเลิกทาสของประธานธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น นับว่าส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อโฟล์คอาร์ต เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของศิลปินฝีมือดีหลายคน ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยตกอยู่ในสภาพของทาส อย่าง บิล เทรย์เลอร์ เมื่อได้รับอิสรภาพ ก็ลงมือสร้างสรรค์เรื่องราวชีวิตอันหดหู่ของตัวเขาออกมาจากภาพสเกตช์ เช่นเดียวกับศิลปินไร้ชื่อท่านหนึ่ง ซึ่งแกะสลักไม้เป็นรูปตึกระฟ้าจำนวนมาก ซึ่งผลงานของเขาได้รับการประดับอยู่ ณ ตึกเอ็มไพร์สเตท

เนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักชาติของอเมริกันมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากใน โฟล์คอาร์ต ของพวกเขา ไม่ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขหรือความเศร้า มีทั้งการแสดงออกแห่งเสรีภาพ ความหวัง การเฉลิมฉลอง รวมทั้งการแสดงออกแบบสลดหดหู่ จอห์น ฟานเดอร์ลิน เป็นศิลปินท้องถิ่นอเมริกันคนแรกที่สร้างจุดเปลี่ยนให้วงการ ด้วยการออกมาขายงานศิลปะของตัวเอง แม้ว่าจะเป็นงานท้องถิ่นที่ราคาถูก และไม่ได้มอบสุนทรียรสอันยิ่งใหญ่แบบศิลปินระดับโลกก็ตาม แต่กระนั้น ก็เป็นแรงกระเพื่อมให้วงการศิลปะท้องถิ่นเกิดการตื่นตัวมากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนเป้าหมายในการสร้างสรรค์งานเพื่อตอบสนองความเป็นศิลปะอย่างแท้จริง โดยเริ่มสลัดออกจากการทำงานศิลปะเพื่อใช้งานในบ้าน ซึ่งทำให้เกิดศิลปินท้องถิ่นอเมริกันตามมาอีกหลายคน ที่ต่างก็ถ่ายทอดลมหายใจ จิตวิญญาณ และประสบการณ์เฉพาะแบบอเมริกันชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น